Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
กลุ่มในและกลุ่มนอก
ในสาขาสังคมศาสตร์และจิตวิทยาสังคม กลุ่มใน (อังกฤษ: ingroup) เป็นกลุ่มสังคมที่บุคคลนับว่าตนเป็นสมาชิก โดยเปรียบเทียบกัน กลุ่มนอก (อังกฤษ: outgroup) ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมที่บุคคลไม่นับว่าตนเป็นสมาชิก ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเห็นว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ที่จำแนกโดยเชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ อายุ หรือศาสนา และมีการพบว่า ความรู้สึกทางจิตใจว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคม มีบทบาทในปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ มากมาย
คำภาษาอังกฤษว่า ingroup และ outgroup เกิดความนิยมเพราะงานของเฮ็นรี่ ทัชเฟ็ล และเพื่อนร่วมงาน เมื่อกำลังสร้างทฤษฎีเอกลักษณ์ทางสังคม (social identity theory) และได้ศึกษาความแตกต่างของกลุ่มในกลุ่มนอก โดยวิธีที่เรียกว่า minimal group paradigm พวกเขาพบว่า เราสามารถสร้างกลุ่มในตามความชอบใจของตน ภายในไม่กี่นาที และกลุ่มเช่นนี้อาจจะมีเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ความชอบใจในภาพศิลป์บางอย่าง
ปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กัน
การจำแนกประเภทบุคคลในใจ ออกเป็นกลุ่มในและกลุ่มนอก สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคมหลายอย่าง ตัวอย่างต่อไปนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่นักวิชาการได้ให้ความสนใจ
ความลำเอียงกับกลุ่มใน
ในสถานการณ์บางอย่าง เราจะชอบใจและผูกพันกับกลุ่มในเหนือกลุ่มนอก หรือเหนือบุคคลใดก็ได้ที่ไม่ใช่คนในกลุ่มใน ซึ่งสามารถเห็นได้ในการประเมินคนอื่น การเชื่อมต่อสัมพันธ์ การแบ่งของที่มี และเรื่องอื่น ๆ
การดูถูกกลุ่มนอก
การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มในต่างจากกลุ่มนอก เป็นเรื่องของความลำเอียงที่ให้กับคนในกลุ่มใน ที่ไม่ให้กับกลุ่มนอก การดูถูกกลุ่มนอก (Outgroup derogation) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเรารู้สึกว่าสมาชิกกลุ่มนอก เป็นภัยต่อสมาชิกกลุ่มใน ซึ่งมักจะประกอบด้วยความลำเอียงต่อกลุ่มใน (แต่ไม่เสมอไป) เพราะว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาศัยความสนิทสนมคุ้นเคยกับสมาชิกกลุ่มใน มีงานวิจัยที่เสนอว่า การดูถูกกลุ่มนอก เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่า กลุ่มนอกหยุดยั้งหรือขัดขวางเป้าหมายของกลุ่มใน และว่า การดูถูกกลุ่มนอก เป็นผลตามธรรมชาติของการจัดประเภทตน (และผู้อื่น)
อิทธิพลทางสังคม
เรามักจะได้รับอิทธิพลจากคนในกลุ่มในมากกว่า คือ ในสถานการณ์ที่การแบ่งกลุ่ม เป็นสิ่งที่ชัดเจนในใจ เราจะเปลี่ยนความคิดของเราให้เข้ากับคนในกลุ่ม
การเพิ่มความรุนแรงของกลุ่ม
การเพิ่มความรุนแรงของกลุ่ม (group polarization) หมายถึงความโน้มเอียงของกลุ่ม ที่จะตัดสินใจไปในทางที่รุนแรงกว่าความปรารถนาในเบื้องต้นของสมาชิก แต่ว่า การตัดสินใจที่น้อมไปในความเชื่อหลักของกลุ่ม ก็มีด้วยเหมือนกัน มีหลักฐานที่แสดงว่า ปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับสถานการณ์ที่มีการแบ่งกลุ่มในกลุ่มนอกที่ชัดเจนทางใจ
ความเหมือนกันของสมาชิก
การแบ่งเป็นกลุ่มสังคม ทำให้เรารู้สึกมากขึ้นว่า สมาชิกในแต่ละกลุ่มเหมือนกัน ซึ่งมีผลเป็นปรากฏการณ์ "เอกพรรณของกลุ่มนอก" (outgroup homogeneity) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกว่า สมาชิกของคนกลุ่มนอกเหมือน ๆ กัน คือเป็น "เอกพรรณ" ในขณะที่รู้สึกว่า สมาชิกกลุ่มใน มีความหลากหลายมากกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าเมื่อเป็นเรื่องไม่ดี แต่ในบางสถานการณ์ เราจะรู้สึกว่า สมาชิกกลุ่มในเหมือน ๆ กันเมื่อกล่าวถึงเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เอกพรรณของกลุ่มใน" (ingroup homogeneity)
บทบาทตามทฤษฎี ในวิวัฒนาการมนุษย์
ในจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ ความลำเอียงกับกลุ่มใน อาจเป็นกลไกทางจิตใจที่ได้การคัดเลือก เพราะมีประโยชน์ในการสร้างพวกหรือแนวร่วม จนถึงกับอ้างว่า คุณสมบัติบางอย่างเช่นเพศหรือผิวพันธุ์ เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นไม่ได้ หรืออาจเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในระบบที่ได้วิวัฒนาการมาเช่นนี้ แต่ว่า ก็มีหลักฐานแล้วว่า องค์ประกอบบางอย่างเกี่ยวกับความลำเอียง เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นได้ เพราะสามารถกำจัดได้โดยเปลี่ยนการจัดประเภททางสังคมใหม่ งานวิจัยหนึ่งในสาขาพันธุศาสตร์เชิงพฤติกรรม (behavioural genetics) เสนอว่า อาจมีกลไกทางชีวภาพ ที่กำหนดให้มีทั้งระบบที่ยืดหยุ่นได้ และยืดหยุ่นไม่ได้แต่ขาดไม่ได้
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิพจนานุกรม มีความหมายของคำว่า: ingroup, outgroup