Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การคัดแยกผู้ป่วย

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การคัดแยกผู้ป่วยจากสัญญาณชีพโดยใช้รหัสสี โดย RR หมายถึง อัตราการหายใจ, SpO2 หมายถึง ความอิ่มตัวออกซิเจน (การวัดระดับออกซิเจนในเลือด), HR หมายถึง อัตราหัวใจเต้น, GCS หมายถึง แบบประเมินความรู้สึกตัวของกลาสโกว, Tp หมายถึง อุณหภูมิ การมีสัญญาณชีพผิดปกติที่เป็นตัวชี้ชัดถึงการเข้าแผนกผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิตในโรงพยาบาลในผู้ที่ถูกคัดแยกที่แผนกฉุกเฉิน

ในทางการแพทย์ การคัดแยกผู้ป่วย หรือ การคัดกรองผู้ป่วย (อังกฤษ: triage) เป็นแนวปฏิบัติเมื่อไม่สามารถมอบการดูแลผู้ป่วยได้อย่างฉับพลันเนื่องจากการขาดทรัพยากร กระบวนการปันส่วนจะให้ความสำคัญกับผู้ที่ต้องการการดูแลอย่างทันท่วงทีและผู้พึงได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึงการจัดลำดับความสำคัญของการรักษาพยาบาลโดยรวม ในความฉับพลันนั้นมักเกิดขึ้นในสนามรบ ในระหว่างเกิดโรคระบาดทั่ว หรือยามปกติสุขซึ่งเกิดอุบัติเหตุให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพของสถานพยาบาลในบริเวณใกล้เคียง

การคัดแยกผู้ป่วยมักปฏิบัติตามการตีความคำสาบานของฮิปพอคราทีสในสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีการตีความแบบอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่ความคิดอันพร้อมกันที่มากกว่าหนึ่งอย่างของการคัดแยกผู้ป่วย ทฤษฎีที่ดีที่สุดและระบบการให้คะแนนที่ถูกนำมาใช้นั้นมาจากลักษณะอาการบาดเจ็บของร่างกายอย่างฉับพลันในห้องฉุกเฉิน เหตุกระดูกหักย่อมมีความฉุกเฉินน้อยกว่าเหตุเลือดออกผ่านหลอดเลือดแดงที่ไม่สามารถควบคุม เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งนี้เนื่องจากการคัดแยกผู้ป่วยจำเป็นต้องอาศัยความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์หลายข้อที่บางครั้งก็ขัดแย้งกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยพื้นฐานด้านสภาพของปัจเจกบุคคล ได้แก่ โอกาสในการเสียชีวิต ประสิทธิภาพในการรักษา อายุขัยที่เหลือของผู้ป่วย จริยธรรม และศาสนา

ประวัติ

ในภาษาอังกฤษ คำว่า triage (ทริอาช) มาจากคำกิริยาในภาษาฝรั่งเศสคำว่า trier (ทรีเย) หมายถึง การแยก การจัดเรียง การเคลื่อน หรือการคัดเลือก

"การคัดแยกผู้ป่วยตามโครงสร้าง" (structured triage) ถูกนำมาใช้ในยุคโดยจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการคัดแยกทหารที่ได้รับบาดเจ็บและมีการรักษาตามลำดับความสำคัญในกองทัพของพระองค์ กล่าวคือ ในยามสงคราม เจ้าหน้าที่ทหารจะมีอันดับความสำคัญสูงกว่าพลเรือน และทหารยศสูงจะมีอันดับความสำคัญสูงกว่ายศต่ำ การปฏิบัตินี้ได้แพร่ไปยังกองทัพอื่นในช่วงศตวรรษต่อมา และในที่สุดจึงได้มีการบัญญัติคำว่า triage โดยชาวฝรั่งเศส

สถานีคัดแยกผู้ป่วย เทศบาลซุยป์ ประเทศฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในการแพทย์ยุคใหม่การคัดแยกผู้ป่วยถูกประดิษฐ์โดยโดมินิก ฌอง ลาร์เร ศัลยแพทย์ในยุคสงครามนโปเลียน ผู้ซึ่ง "ให้การรักษาผู้บาดเจ็บโดยอาศัยการสังเกตความสำคัญของอาการบาดเจ็บและความเร่งด่วนในการรักษาพยาบาล โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหรือสัญชาติ" แม้ว่าแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญจากการพยากรณ์จะมีเค้าลางมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ก่อนคริสตกาลในเอกสารอียิปต์ การคัดแยกผู้ป่วยถูกนำมาใช้เพิ่มเติมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ผู้ที่ทำการรักษาพยาบาลจากสนามรบโดยมีการจำแนกผู้บาดเจ็บออกเป็นสามประเภท ได้แก่

  • ผู้ที่มีแนวโน้มจะรอดชีวิตโดยไม่คำนึงถึงการรักษาที่ได้รับ
  • ผู้ที่มีแนวโน้มจะไม่รอดชีวิตโดยไม่คำนึงถึงการรักษาที่ได้รับ
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาอย่างทันทีทันใดแล้วจะอาจเกิดผลลัพธ์แง่บวกขึ้น

สำหรับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) จำนวนมาก อาจมีการนำแบบจำลองที่คล้ายกันไปปรับใช้ ในระยะแรกสุดของเหตุอุบัติเหตุ เช่น เมื่อมีบุคลากรทางการแพทย์หนึ่งถึงสองคนต่อผู้ป่วย 20 คนขึ้นไป โดยสถานการณ์จริงทำให้จำต้องนำแบบจำลอง "ดั้งเดิม" ข้างต้นมาใช้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตอบสนองอย่างเต็มที่และมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการ บุคลากรทางการแพทย์มักจะใช้แบบจำลองที่อยู่ในนโยบายการให้บริการและคำสั่งที่ได้รับขณะนั้น

เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้แนวทางการคัดแยกผู้ป่วยที่ทันสมัย ซึ่งจะใช้การอ้างอิงตามแบบจำลองวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ การจำแนกผู้ป่วยมักใช้คะแนนการคัดแยกผู้ป่วย (triage scores) จากการประเมินที่เจาะจงทางสรีรวิทยา ขณะที่บางแบบจำลอง เช่น แบบจำลองการคัดแยกอย่างง่ายและการทำหัตถการอย่างรวดเร็ว (START) อาจอ้างอิงจากขั้นตอนวิธี เมื่อแนวคิดการคัดแยกผู้ป่วยมีความซับซ้อนมากขึ้น และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยและคุณภาพในการรักษา จึงได้มีการใช้ตัวช่วยสนับสนุนการตัดสินใจวังวนมนุษย์ (human-in-the-loop decision-support tools) หลายตัวกับกระบวนการคัดแยกผู้ป่วยเพื่อให้การคัดแยกผู้ป่วยมีมาตรฐานและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ (เช่น eCTAS, NHS 111) ทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาขึ้นของระเบียบวิธีการเรียนรู้ของเครื่องแบบใหม่ได้ทำให้มีความเป็นไปได้ในการเรียนรู้นโยบายการคัดแยกผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดจากข้อมูล และสามารถปรับปรุงหรือแทนที่ด้วยแบบจำลองจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงที

แนวคิดของการคัดแยกผู้ป่วย

การคัดแยกผู้ป่วยอย่างง่าย

การคัดแยกผู้ป่วยอย่างง่าย (simple triage) มักใช้ในสถานที่เกิดเหตุหรือในอุบัติภัยหมู่ (MCI) เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกเป็นผู้ที่จำต้องได้รับการดูแลสำคัญและต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที กับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บน้อยกว่า ขั้นตอนนี้สามารถเริ่มกระทำได้ก่อนที่บริการลำเลียงจะพร้อมให้บริการ

เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินเบื้องต้นโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยแต่ละรายอาจได้รับการติดป้ายระบุตัวผู้ป่วย ซึ่งแสดงผลการประเมินและระบุความสำคัญด้านความต้องการในการรับการรักษาและการลำเลียงจากสถานที่เกิดเหตุ ในขั้นแรกสุด ผู้ป่วยอาจได้รับการทำเครื่องหมายอย่างง่ายด้วยเทปสีหรือปากกามาร์คเกอร์ นอกจากนี้ยังมีบัตรซึ่งมีการพิมพ์ไว้ล่วงหน้าและถูกนำมาใช้ด้วย เรียกว่า ป้ายการคัดแยกผู้ป่วย (triage tags)

ป้าย

ดูบทความหลักที่: ป้ายการคัดแยกผู้ป่วย
ระบบการคัดแยกผู้ป่วยหลายแห่งมีการใช้ป้ายการคัดแยกผู้ป่วยในรูปแบบของตน
ไฟการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน (E/T) – มีประโยชน์ในเวลากลางคืนหรือในสภาวะไม่เอื้ออำนวย

ป้ายการคัดแยกผู้ป่วยเป็นป้ายสำเร็จรูปที่ติดไว้บนตัวผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะทำหน้าที่หลายวัตถุประสงค์ ได้แก่

  • ระบุตัวผู้ป่วย
  • บันทึกผลการประเมิน
  • ระบุลำดับความสำคัญด้านความจำเป็นในการรักษาพยาบาลและการลำเลียงผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุ
  • ติดตามความคืบหน้าของผู้ป่วยตลอดกระบวนการคัดแยกผู้ป่วย
  • ระบุความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การปนเปื้อน

ป้ายการคัดแยกผู้ป่วยอาจมีหลายรูปแบบ บางประเทศมีการวางมาตรฐานของป้ายการคัดแยกผู้ป่วยไว้ในระดับประเทศ ขณะที่บางประเทศอาจใช้ป้ายที่มีจำหน่ายทั่วไปและอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละเขต ระบบป้ายเชิงพาณิชย์ที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ระบบ METTAG, SMARTTAG, E/T LIGHT tm และ CRUCIFORM ระบบการติดป้ายที่มีความซับซ้อนขึ้นอาจรวมไปถึงเครื่องหมายพิเศษเพื่อระบุว่าผู้ป่วยได้รับการปนเปื้อนด้วยสารอันตรายหรือไม่ และอาจมีป้ายแบบฉีกเพื่อติตดามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยตลอดกระบวนการ ระบบการติดตามเหล่านี้บางระบบมีการริเริ่มใช้คอมพิวเตอร์พกพา และในบางกรณีมีการใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด

การคัดแยกผู้ป่วยขั้นสูง

สำหรับการจำแนก ดูที่ส่วนเฉพาะสำหรับหัวข้อดังกล่าว

ในการคัดแยกผู้ป่วยขั้นสูง (advanced triage) แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษอาจตัดสินใจว่าผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสใดไม่สมควรได้รับการรักษาขั้นสูงเนื่องจากมีแนวโน้มไม่รอดชีวิต โดยเพื่อเบนทรัพยากรอันจำกัดออกจากผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดชีวิตต่ำ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีโอกาสรอดสูง

การใช้การคัดแยกผู้ป่วยขั้นสูงอาจมีความจำเป็นเมื่อผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตัดสินใจว่า ทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะรักษาทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ การรักษาที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญอาจรวมไปถึงเวลาที่ใช้รักษาพยาบาลหรือยาหรือทรัพยากรอื่นที่มีจำกัด สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในภัยพิบัติ เช่น การโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย กราดยิง ภูเขาไฟปะทุ แผ่นดินไหว ทอร์นาโด พายุฟ้าคะนอง และอุบัติเหตุทางรถไฟ ในกรณีเหล่านี้ผู้ป่วยบางส่วนจะเสียชีวิตไม่ว่าจะรักษาอย่างไรเนื่องจากความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ ส่วนผู้อื่นจะรอดชีวิตหากได้รับการรักษาโดยทันทีแต่จะเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา

ในสถานการณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ การดูแลทางการแพทย์ใด ๆ ที่มอบให้แก่ผู้ที่จะเสียชีวิตในที่สุด จะถือได้ว่าเป็นการดูแลที่เพิกเฉยต่อผู้ที่อาจรอดชีวิตหากผู้นั้นได้รับการรักษาแทน สิ่งนี้จึงกลายเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านการแพทย์ภัยพิบัติที่จะแยกผู้ประสบภัยพิบัติบางคนที่ไร้ความหวังโดยสิ้นเชิงออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงการพยายามช่วยชีวิตบุคคลหนึ่งโดยที่ต้องแลกกับอีกหลายชีวิต

หากการรักษาโดยทันทีประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยอาจอาการดีขึ้น (แม้เพียงชั่วคราว) และการดีขึ้นนี้อาจทำให้การจัดอันความสำคัญของผู้ป่วยลดลงในระยะสั้นได้ การคัดแยกผู้ป่วยจึงควรเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง และควรตรวจสอบการจำแนกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าลำดับความสำคัญนั้นยังคงถูกต้องตามภาวะของผู้ป่วย คะแนนการบาดเจ็บ (trauma score) อาจถูกนำมาพิจารณาอย่างสม่ำเสมอเมื่อผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรก และคะแนนการบาดเจ็บจะถูกนำมาพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในตัวแปรด้านสรีรวิทยาของผู้บาดเจ็บ หากมีการบันทึกคะแนนเก็บไว้ แพทย์ในโรงพยาบาลจะสามารถดูคะแนนการบาดเจ็บตามอนุกรมเวลาได้ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ ซึ่งอาจช่วยให้การรักษาขั้นสุดท้ายกระทำได้เร็วกว่าปกติ

การคัดแยกผู้ป่วยย้อนกลับ

มีแนวทางบางแนวที่เรียกว่าการคัดแยกผู้ป่วยย้อนกลับ (Reverse Triage) ประการแรกเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้มีทรัพยากรพร้อมในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ามา ประการที่สองคือการใช้เงื่อนไขบางประการ เช่น การบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า ซึ่งผู้ที่ดูเหมือนจะเสียชีวิตอาจได้รับการรักษาก่อนผู้ป่วยรายอื่น ประการที่สามเป็นแนวคิดในการรักษาผู้ที่บาดเจ็บน้อยที่สุดก่อน เพื่อให้สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเป็นแนวทางที่กำเนิดมาจากกองทัพ ซึ่งการกลับเข้าสู่สนามรบอาจนำไปสู่ชัยชนะ (และความอยู่รอด) ได้

การคัดแยกผู้ป่วยย้อนกลับ - การปล่อยตัวผู้ป่วยก่อนกำหนด

โดยปกติแล้ว การคัดแยกผู้ป่วยจะหมายถึงการจัดลำดับความสำคัญในการรับเข้า กระบวนการที่คล้ายกันนี้สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ถูกปล่อยตัวก่อนกำหนดเนื่องจากความตึงเครียดในระบบการแพทย์ได้ กระบวนการนี้เรียกว่า "การคัดแยกผู้ป่วยย้อนกลับ" เมื่อผู้ป่วยจำนวนมากมาถึงยังโรงพยาบาล เช่น ทันทีหลังเกิดภัยธรรมชาติและเตียงในโรงพยาบาลจำนวนมากจะถูกครองโดยผู้ป่วยไม่วิดฤตทั่วไป เพื่อการรองรับผู้ป่วยวิกฤตรายใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น ผู้ป่วยเดิมอาจถูกคัดแยกและผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันทีสามารถออกจากโรงพยาบาลได้จนกว่าระลอกผู้ป่วยจะหมดไป เช่น จากการจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวในส่วนภูมิภาค

การคัดแยกผู้ป่วยต่ำไปและการคัดแยกผู้ป่วยสูงไป

การคัดแยกผู้ป่วยต่ำไป (undertriage) คือ การประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บต่ำเกินไป นั่นคือ การจำแนกผู้ป่วยที่มีความสำคัญลำดับที่ 1 (ทันที) เป็นลำดับที่ 2 (รอได้) หรือลำดับที่ 3 (น้อยที่สุด) ในอดีต อัตราการคัดแยกผู้ป่วยต่ำไปที่ยอมรับได้คือร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า

การคัดแยกผู้ป่วยสูงไป (overtriage) คือ การประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บสูงเกินไป นั่นคือ การจำแนกผู้ป่วยที่มีความสำคัญลำดับที่ 3 (น้อยที่สุด) เป็นลำดับที่ 2 (รอได้) หรือลำดับที่ 1 (ทันที) โดยทั่วไปแล้ว อัตราการคัดแยกผู้ป่วยสูงไปที่ยอมรับได้จะสูงถึงร้อยละ 50 เพื่อหลีกเลี่ยงการคัดแยกผู้ป่วยต่ำไป งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าการคัดแยกผู้ป่วยสูงไปมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เมื่อมีการตรวจโดยทีมแพทย์ในโรงพยาบาล

การคัดแยกผู้ป่วยทางโทรศัพท์

การคัดแยกผู้ป่วยทางโทรศัพท์ (telephone triage) เป็นการตัดสินใจผ่านทางโทรศัพท์เพื่อประเมินอาการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและการสั่งการโดยเร่งด่วน ซึ่งควรทำในเวลาที่เหมาะสมในขณะที่ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง

แนวคิดทั่วไปในการคัดแยกผู้ป่วยอิงกับทางเลือกและผลลัพธ์ในการรักษา

การบริบาลบรรเทา

สำหรับผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดีและคาดว่าจะเสียชีวิตไม่ว่าจะได้รับการรักษาใดที่มีอยู่ การบริบาลบรรเทา เช่น ยาระงับปวด อาจมีการนำมาใช้เพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนเสียชีวิตได้

การอพยพ

ในโรงพยาบาลสนาม การคัดแยกผู้ป่วยจะมีการกำหนดความสำคัญให้กับการอพยพหรือการย้ายไปยังสถานพยาบาลอื่น

สิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาทางเลือก

สถานพยาบาลทางเลือกเป็นสถานที่ที่จัดตั้งขึ้่นเพื่อดูแลผู้ป่วยจำนวนมากหรือเป็นสถานที่ที่สามารถจัดตั้งได้ เช่น โรงเรียน สนามกีฬา และค่ายขนาดใหญ่สามารถถูกจัดเตรียมและใช้สำหรับการรักษาพยาบาล มอบอาหาร และรับรองผู้ประสบภัยจำนวนมากหรือเหตุการณ์ประเภทอื่น ๆ ได้ โดยทั่วไปแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกจะได้รับการพัฒนาขึ้นโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่สามารถรองรับคลื่นผู้บาดเจ็บได้ ขณะที่โรงพยาบาลยังคงเป็นจุดหมายสำหรับผู้ป่วยทุกราย ในระหว่างเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกนั้่น เพื่อเปลี่ยนเส้นทางผู้ป่วยที่มีความรุนแรงต่ำออกจากโรงพยาบาลเพื่อป้องกันผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

การคัดแยกผู้ป่วยทุติยภูมิ (ในโรงพยาบาล)

ในการคัดแยกผู้ป่วยขั้นสูง การคัดแยกผู้ป่วยทุติยภูมิ (secondary triage) อาจถูกดำเนินการโดยพยาบาลฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ หรือแพทย์ในสนามรบ ภายใต้หน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลในระหว่างภัยพิบัติ โดยผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม

การบาดเจ็บที่ทำให้บุคคลพิการ แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม อาจได้รับการยกระดับความสำคัญตามศักยภาพที่มีอยู่ ในช่วงเวลาสงบสุข การบาดเจ็บที่ทำให้เกิดการขาดของอวัยวะอาจได้รับการคัดแยกเป็นกลุ่ม "สีแดง" เนื่องจากจำเป็นต้องผ่าตัดต่ออวัยวะภายในเวลาไม่กี่นาที แม้ว่าในความน่าจะเป็นทั้งหมดแล้ว บุคคลจะไม่เสียชีวิตหากขาดนิ้วโป้งหรือมือ

ระเบียบวิธีและระบบการคัดแยกผู้ป่วยจำเพาะ

ป้ายแสดงการจำแนกการคัดแยกผู้ป่วยในแผนกฉุกเฉินของเม็กซิโก โดยมีการระบุเวลารอของผู้ป่วยตามความรุนแรงของอาการ

การคัดแยกผู้ป่วยประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ

ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ ผู้ตอบสนองเหตุการณ์ใช้การคัดแยกกด้วยขอบเขตของผู้ป่วยและการบาดเจ็บ เทคนิคหนึ่งที่มีประโยชน์มาก คือ ระเบียบวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วย (Patient Assist Method หรือ PAM) โดยผู้ตอบสนองเหตุการณ์จะตั้งจุดรวมผู้บาดเจ็บ (casualty collection point หรือ CCP) ขึ้นอย่างรวดเร็วและให้คำแนะนำไม่ว่าจะด้วยวิธีการตะโกนหรือใช้ลำโพงขยายเสียง โดยว่า "ผู้ใดต้องการความช่วยเหลือควรย้ายไปยังพื้นที่ที่กันไว้ (CCP)" โดยสามารถดำเนินการหลายอย่างได้พร้อมกัน ได้แก่ การระบุผู้ป่วยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องรับการรักษาในทันที เคลียร์พื้นที่เกิดเหตุ และช่วยหาการช่วยเหลือที่เป็นไปได้แก่ผู้ตอบสนองเหตุการณ์ ผู้ที่สามารถเคลื่อนไหวได้จะย้ายไปยังจุดดังกล่าว โดยผู้ตอบสนองเหตุการณ์จะถามต่อว่า "มีใครที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกหรือไม่ ช่วยตะโกนหรือยกมือขึ้น" ซึ่งจะช่วยแยกผู้ป่วยที่ตอบสนองได้แต่เคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ตอบสนองเหตุการณ์สามารถประเมินผู้ป่วยที่เหลือได้อย่างรวดเร็ว จากจุดนั้น ผู้ตอบสนองเหตุการณ์คนแรกจะสามารถระบุผู้ที่ต้องการการดูแลได้อย่างทันที โดยไม่ถูกรบกวนหรือครอบงำด้วยสถานการณ์ แต่การใช้วิธีดังกล่าวจะยึคเอาความสามารถทางการได้ยินเป็นหลัก ผู้พิการทางการได้ยินหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดที่รุนแรงอาจไม่ได้ยินคำแนะนำเหล่านี้

การจำแนกทั่วไป

ในการคัดแยกผู้ป่วยขั้นสูง ผู้บาดเจ็บจะถูกแบ่งเป็นประเภท ตามธรรมเนียมแล้วจะมีอยู่ห้าระดับสอดคล้องกับสีและตัวเลข แม้ว่าอาจจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค

  • สีดำ / ตามธรรมชาติ คือ ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสมากจนอาจถึงแก่ชีวิตได้จากอาการบาดเจ็บ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือเป็นวัน (แผลไหม้ขนาดใหญ่ บาดเจ็บสาหัส ปริมาณรังสีทื่ทำให้ถึงแก่ชีวิต) หรือวิกฤติทางการแพทย์ที่คุกคามถึงชีวิตจนไม่มีโอกาสรอดจากศักยภาพการรักษาที่มีอยู้ (หัวใจหยุดเต้น ช็อกเหตุพิษติดเชื้อ บาดแผลรุนแรงบนศีรษะหรือหน้าอก) การรักษามักเป็นการรักษาแบบการบริบาลบรรเทาหรือประคับประคอง เช่น การให้ยาระงับปวด เพื่อบรรเทาความทรมาน
  • สีแดง / โดยทันที คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดโดยทันทีหรือต้องได้รับการแทรกแซงเพื่อช่วยชีวิต และมีความสำคัญอันดับแรกสำหรับทีมศัลยแพทย์หรือกการลำเลียงไปยังสถานพยาบาลขั้นสูง คนกลุ่มนี้ถือว่า "รอไม่ได้" และมีแนวโน้มจะรอดชีวิตหากได้รับการรักษาทันที
  • สีแดง / สังเกตอาการ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ณ ขณะนั้น แต่จำต้องได้รับการดูแลโดยผู้ที่ได้รับการอบรมและต้องได้รับการคัดแยกผู้ป่วยใหม่บ่อยครั้ง จะต้องได้รับการบริบารในโรงพยาบาล (และจะต้องได้รับการดูแลทันทีภายใต้สถานการณ์ "ปกติ")
  • สีเขียว / รอ (มีบาดแผลแต่เคลื่อนไหวได้) คือ ผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์ในระยะเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันแต่ไม่ใช่ทันที โดยอาจได้รับการส่งกลับบ้านและนัดหมายมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น (กระดูกหักโดยไม่มีการหักหลายส่วน การบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน)
  • สีขาว / ปล่อยตัว (มีบาดแผลแต่เคลื่อนไหวได้) คือ ผู้ป่วยที่มีความบาดเจ็บน้อย เพียงได้รับปฐมพยาบาลและการดูแลที่บ้านก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ เป็นการบาดเจ็บเช่นถูกของมีคมเป็นรอย แผลถลอก หรือแผลไหม้เล็กน้อย

ประเทศไทย

ในประเทศไทยมีการแนะนำระบบการคัดแยกผู้ป่วย “MOPH” ED. Triage จัดทำโดยกรมการแพทย์ถือเป็นกระบวนการคัดกรองของประเทศไทย (Thailand National Triage Guideline) โดยเป็นการคัดแยก 5 ระดับที่ใช้สำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินผ่านการประเมินลักษณะและทรัพยากรที่มี ได้แก่        คัดแยกระดับ 1,        คัดแยกระดับ 2,        คัดแยกระดับ 3,        คัดแยกระดับ 4 และ        คัดแยกระดับ 5

ลักษณะคือเมื่อผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลจะมีการประเมินอาการ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ชัก การหยุดหายใจ หรือต้องได้รับการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพจะถือเป็นผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันทีและจะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 1 หากไม่มีอาการเหล่านั้น จะมีการประเมินอาการต่อไป หากผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยง ซึม ปวดหรือมีความเสี่ยงหากต้องรอจะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 2 หากไม่ใช่ จะมีการประเมินถึงแนวโน้มในความต้องการทำกิจกรรมทางการแพทย์ เช่น ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ หัตถการ หรือต้องได้รับสารน้ำผ่านหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยต้องได้รับกิจกรรมเหล่านั้นมากกว่า 1 อย่าง จะมีการประเมินสัญญาณชีพ หากสัญญาณชีพผิดปกติจะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 2 หากปกติจะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 3 ถ้าผู้ป่วยต้องการกิจกรรม 1 อย่าง จะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 4 และหากไม่ต้องการเลยจะจัดเป็นการคัดแยกระดับ 5

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เผยแพร่เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลำดับการบริบาลในห้องฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) โดยมีการแบ่งกลุ่มอาการนำออกเป็น 25 กลุ่มอาการ ได้แก่ 1. ปวดท้อง/ปวดหลัง/ปวดเชิงกรานและขาหนีบ, 2. แอนาฟิแล็กซิส/ปฏิกิริยาภูมิแพ้, 3. สัตว์กัด, 4. เลือดออกโดยไม่มีการบาดเจ็บ, 5. หายใจลำบาก, 6. หัวใจหยุดเต้น, 7. เจ็บแน่นทรวงอก/หัวใจ, 8. สำลักอุดทางหายใจ, 9. เบาหวาน, 10. ภอันตรายจากสภาพแวดล้อม, 11. เว้นว่าง, 12. ปวดศีรษะ/ลำคอ, 13. คลุ้มคลั่ง/จิตประสาท/อารมณ์, 14. ยาเกินขนาด/ได้รับพิษ, 15. มีครรภ์/คลอด/นรีเวช, 16. ชัก, 17. ป่วย/อ่อนเพลีย (ไม่จำเพาะ)/อื่น ๆ, 18. แขนขาอ่อนแรง/พูดลำบาก/ปากเบี้ยวจากหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก, 19. หมดสติ/ไม่ตอบสนอง/หมดสติชั่ววูบ, 20. กุมารเวชกรรม, 21. ถูกทำร้าย/บาดเจ็บ, 22. ไหม้/ลวก - ความร้อน/กระแสไฟฟ้า/สารเคมี, 23. จมน้ำ/หน้าคว่ำจมน้ำ/บาดเจ็บเหตุดำน้ำ/บาดเจ็บทางน้ำ, 24. พลัดตกหกล้ม/อุบัติเหตุ/เจ็บปวด, 25. อุบัติเหตุยานยนต์ โดยมีการแบ่งทั่ว ๆ ไปด้านหลักเกณฑ์การประเมินเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

หลักเกณฑ์ประเมิน ความหมาย ตัวอย่างอาการ
ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว หัวใจหยุดเต้น, ทางเดินอากาศหายใจอุดตัน, หายใจลำบากอย่างรุนแรง, โคม่า
ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หรือเจ็บปวดรุนแรงอันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิต หรือพิการในระยะต่อมาได้ การเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว, ปวดอย่างมาก กระสับกระส่าย, ผื่นที่สงสัยว่าแพ้รวมกับอาการอื่น ๆ เช่น ใบหน้าบวมหรือหายใจขัด, สัตว์มีพิษกัด, อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด, เลือดกำเดาไหลไม่หยุด, ปวดศีรษะพร้อมอาการเสี่ยง เช่น ตาพร่า, คลุ้มคลั่งพร้อมทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น, แสบปาก กลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียนมากหลังได้รับยาหรือสารเคมี
ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและหากปล่อยไว้เกินเวลาอันสมควรแล้วจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ -
ผู้ป่วยทั่วไป บุคคลที่เจ็บป่วยแต่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอาจรอรับหรือเลือกสรรบริการสาธารณสุขในเวลาทำการปกติได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา -
ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่น บุคคลซึ่งมารับบริการสาธารณสุขอื่นหรือบริการอื่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร -

Новое сообщение