Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การชักจากไข้สูง

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การชักจากไข้สูง
(Febrile seizure)
ชื่ออื่น Fever fit, febrile convulsion
Clinical thermometer 38.7.JPG
ปรอทวัดไข้แสดงอุณหภูมิ 38.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
สาขาวิชา เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ประสาทวิทยา, กุมารเวชศาสตร์
อาการ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
การตั้งต้น อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปั
ระยะดำเนินโรค มักไม่เกิน 5 นาที
ประเภท แบบทั่วไป, แบบซับซ้อน
สาเหตุ พันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม
ปัจจัยเสี่ยง ประวัติครอบครัว
โรคอื่นที่คล้ายกัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ความผิดปกติทางเมตาบอลิก
การรักษา รักษาตามอาการ
ยา เบนโซไดอาซีปีน (ใช้เป็นส่วนน้อย)
พยากรณ์โรค ดี
ความชุก พบในเด็กประมาณ 5%

การชักจากไข้สูงคืออาการชักที่เกิดร่วมกับภาวะไข้สูง โดยไม่มีสาเหตุร้ายแรงอื่น ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี อาการชักส่วนใหญ่เป็นอยู่ไม่เกิน 5 นาที หลังชักมักฟื้นกลับเป็นปกติภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แบ่งออกเป็นสองชนิดหลักๆ คือชักจากไข้สูงแบบทั่วไป (simple) และชักจากไข้สูงแบบซับซ้อน (complex) โดยในการชักจากไข้สูงแบบทั่วไปเด็กจะมีสุขภาพโดยทั่วไปปกติ มีอาการชักแบบเกร็ง-กระตุก ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ในขณะที่การชักจากไข้สูงแบบซับซ้อนเด็กอาจมีอาการเฉพาะที่ร่วมด้วย หรือชักนานกว่า 15 นาที หรือชักมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน โดยเด็กที่ชักจากไข้สูงกว่า 80% จะเป็นการชักจากไข้สูงแบบทั่วไป

สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการมีไข้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เด็กที่มีคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้จะมีโอกาสมีภาวะนี้มากกว่าเด็กที่ไม่มี กลไกที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาของสมอง และสารสื่อกลางการอักเสบบางอย่าง การวินิจฉัยทำได้โดยการพิจารณาจากประวัติและผลการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุที่มาจากการติดเชื้อในสมอง เมตาบอลิซึม และไม่เคยมีประวัติการชักที่ไม่ได้เป็นพร้อมกับการมีไข้ โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด สแกนสมอง หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่อาจต้องมีการตรวจเพื่อหาตำแหน่งของการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของไข้การตรวจน้ำไขสันหลังมีความจำเป็นในบางราย แต่ไม่เสมอไป

ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยากันชักหรือยาลดไข้เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันภาวะชักจากไข้ ในกรณีที่เด็กมีอาการชักนานกว่า 5 นาทีอาจจำเป็นต้องหยุดอาการชักด้วยยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนเช่นลอราซีแพมหรือมิดาโซแลม การพยายามลดไข้ (เช่น การเช็ดตัว) ให้ไข้ลงอย่างรวดเร็วขณะที่กำลังชักอยู่ถือว่าไม่มีความจำเป็น

ภาวะชักจากไข้เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยพบในเด็กประมาณ 2-10% พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เด็กที่เคยมีภาวะชักจากไข้มาแล้วครั้งหนึ่งจะมีโอกาสเป็นซ้ำในช่วงวัยเด็กประมาณ 35% พยากรณ์โรคส่วนใหญ่ดี โดยเด็กที่เคยมีภาวะชักจากไข้แบบทั่วไปส่วนใหญ่มีผลการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กที่ไม่เคยมีภาวะชักจากไข้และไม่เปลี่ยนแปลงอัตราการเสียชีวิต มีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนนักบ่งชี้ว่าคนที่เคยมีภาวะชักจากไข้อาจมีโอกาสเป็นโรคลมชักมากกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 2%

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение