Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การปฏิสนธินอกร่างกาย
การปฏิสนธินอกร่างกาย | |
---|---|
หัตถการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ | |
ICD-10-PCS | 8E0ZXY1 |
MeSH | D005307 |
การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือ เด็กหลอดแก้ว (อังกฤษ: in vitro fertilisation/fertilization - IVF) คือเทคนิคของการปฏิสนธิสังเคราะห์ โดยการนำเซลล์ไข่ซึ่งถูกปฏิสนธิภายนอกร่างกายของผู้หญิง วิธีการนี้คือวิธีหลักๆ ในการแก้ไขปัญหาการที่ผู้หญิงนั้นไม่สามารถมีบุตรได้ (Infertility) โดยสรุปแล้ว กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการการผลิตไข่ของสตรี ด้วยการนำไข่ออกมาจากผู้หญิง และปล่อยให้สเปิร์ม นั้นทำปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงภายในภาชนะบรรจุของเหลว หลังจากนั้น จึงถ่ายไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว หรือเอ็มบริโอ ไปยังมดลูกของผู้ป่วย เพื่อทำให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์
"In Vitro" เป็นภาษาละตินแปลว่า "ภายนอกสิ่งมีชีวิต" (ในที่นี้มักถูกแปลว่าอยู่ภายในแก้ว หรือภายในหลอดทดลอง) ซึ่งตรงข้ามกับ in vivo แปลว่า "ภายในสิ่งมีชีวิต" แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งแก้วและหลอดทดลองต่างไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำเด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้ว
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากที่ให้ผลสำเร็จดี คือ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ร่วมกับการใส่ตัวอ่อนกลับในระยะ blastocyst (5 วันหลังการปฏิสนธิ) การเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะฝังตัว (Blastocyst) เป็นกระบวนการที่นำไข่และอสุจิมาทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกายและเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายนาน 5 วัน ให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตจนถึงระยะพร้อมจะฝังตัว ที่เรียกว่า Blastocyst ก่อนจะใส่คืนเข้าไปในโพรงมดลูก
เด็กหลอดแก้วคืออะไร
เป็นการรักษาภาวะการมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยนำไข่ที่ดีและตัวอสุจิที่แข็งแรงมาช่วยทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ในห้องปฏิบัติการ (IVF) เพื่อให้เกิดตัวอ่อน (EMBRYO) ของทารก จากนั้นย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูกเพื่อการฝังตัว
เราจะเลือกวิธีนี้เมื่อไร
การเลือกการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้ว จะพิจารณาจากปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสได้แก่
- ระบบท่อนำไข่ เช่น มีการอุดตัน หรือเคยรับการผ่าตัด
- เชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ การเคลื่อนไหวน้อย
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ระบบฮอร์โมนรังไข่ เช่น ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การทำผสมเทียมไม่สำเร็จ
- ความจำเป็นในการรักษาโดยใช้ไข่หรือตัวอ่อนบริจาค
- การรักษาโรคทางพันธุกรรมโดยการทำ EMBRYO BIOPSY
- ภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก
ขั้นตอนการรักษา
- การเตรียมพร้อมก่อนการรักษาโดยการสรุปประวัติการรักษา การตรวจร่างกาย ระบบฮอร์โมนรังไข่ การตรวจอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ การตรวจความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ
- การวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
- การกระตุ้นรังไข่โดยใช้ยาฮอร์โมน
- การตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยอัลตราซาวนด์
- การเก็บไข่เพื่อทำการปฏิสนธินอกร่างกายพร้อมการเก็บเชื้ออสุจิ
- การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ
- การย้ายตัวอ่อนเพื่อฝังตัวในโพรงมดลูก
- การตรวจระดับฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์
ปัญหาในการรักษาที่อาจเกิดขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะรักษา เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองฮอร์โมนมากผิดปกติ การตั้งครรภ์แฝด การติดเชื้อ ภาวะแท้ง ความสำเร็จในการรักษาในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สาเหตุของการมีบุตรยาก การตอบสนองของรังไข่ การปฏิสนธิ ความแข็งแรงของตัวอ่อน