Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การป้องกันภาวะสมองเสื่อม
จุดประสงค์ของ การป้องกันภาวะสมองเสื่อม ก็เพื่อชลอหรือป้องกันภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทางสุขภาพสำหรับคนทั้งโลก จึงควรมีการร่วมมือกันทั่วโลก โครงการที่ริเริ่มเมื่อไม่นานรวมทั้งเครือข่ายการวิจัยนานาชาติเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม (IRNDP) ซึ่งมุ่งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยทั่วโลก และตั้งระบบ Global Dementia Observatory ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาวะสมองเสื่อมจากรัฐสมาชิกผ่านเว็บ แม้ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมยังรักษาไม่ได้ แต่ก็ชัดเจนแล้วว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนได้บางอย่างมีอิทธิพลต่อทั้งโอกาสและอายุที่เกิดโรค ภาวะสมองเสื่อมสามารถป้องกันโดยลดปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด (vascular disease) (เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การนั่งนอนเฉย ๆ ไม่ออกกำลังกาย) และความซึมเศร้า งานศึกษาปี 2014 และ 2017 สรุปว่า กรณีสมองเสื่อมเกิน 1/3 โดยทฤษฎีป้องกันได้ ในบรรดาคนชรา ทั้งการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี และปัจจัยเสี่ยงสูงทางพันธุกรรม ต่างสัมพันธ์อย่างเป็นอิสระจากกันและกันกับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้น การดำเนินชีวิตที่ดีสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงไม่ว่าปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมจะเป็นเช่นไร งานศึกษาปี 2017 ได้ระบุปัจจัยการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนได้ 9 อย่าง โดยการรักษาการเสียการได้ยินตั้งแต่เนิ่น ๆ ประเมินว่าเป็นปัจจัยสำคัญสุด คืออาจป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 9
การดำเนินชีวิต
การใช้สมอง
สุภาษิตอังกฤษว่า "Use it or lose it" คือ ใช้มันหรือเสียมัน สามารถใช้กับสมองเมื่อกล่าวถึงภาวะสมองเสื่อม กิจกรรมที่ใช้สติปัญญาจะช่วยรักษาสุขภาพสมองเมื่ออายุมากขึ้น กิจกรรมเช่น การอ่าน การเรียนรู้ภาษาใหม่ การเล่นเกมไม่ว่าจะเป็นเกมกระดานหรือเกมที่ใช้ไพ่ และการเล่นเครื่องดนตรีสามารถชลอการเกิดหรือชลอการดำเนินของทั้งโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด (vascular dementia) ความเสี่ยงลดลงตามความบ่อยของการเล่น การทำงานทางประชานที่เสื่อมช้าลงสัมพันธ์กับการใช้สมองทั้งในต้นชีวิตและปลายชีวิต
นอกเหนือจากกิจกรรมเวลาว่าง งานที่ต้องใช้สมองอาจป้องกันภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในช่วงอายุวัย 30–40–50–60 การใช้สมองอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมเพราะเป็นการสร้าง "ส่วนสำรอง" ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทเชื่อมต่อระหว่างกันยิ่งขึ้น และต้านการเสื่อมดังที่พบในภาวะสมองเสื่อม
การออกกำลังกาย
เพราะภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด (vascular dementia) เป็นรูปแบบภาวะสมองเสื่อมซึ่งสามัญที่สุดเป็นอันดับสองต่อจากโรคอัลไซเมอร์ การลดโรคหลอดเลือดสมองก็จะลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมด้วย ดังนั้น การออกกำลังกาย การมีคอเลสเตอรอลในเลือดดี การมีน้ำหนักและความดันเลือดที่ถูกสุขภาพ จึงล้วนลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อม การดำเนินชีวิตอย่างกระตือรือร้นจึงลดความเสี่ยงเกือบครึ่งเทียบกับชีวิตแบบอยู่เฉย ๆงานวิเคราะห์อภิมานซึ่งตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายกับความเสี่ยงความเสื่อมทางประชานในคนที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมพบว่า การออกกำลังกายมีผลสำคัญและสม่ำเสมอในการป้องกันความเสื่อมทางประชาน โดยการออกกำลังกายอย่างหนักมีผลมากสุด งานวิเคราะห์อภิมานอีกงานหนึ่งแสดงว่าการออกกำลังกายใช้ออกซิเจนไม่เพียงลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม แต่ก็ยังลดความเสื่อมทางประชานของคนไข้ภาวะสมองเสื่อมด้วย
ผลการออกกำลังกายไม่จำกัดต่อหลอดเลือดเท่านั้น เพราะยังทำให้เกิดเซลล์ประสาทใหม่ ๆ ในสมองและทำให้หลั่งสารที่ป้องกันเซลล์ประสาท โปรตีนที่เรียกว่า brain-derived neurotrophic factor (BDNF) สำคัญต่อพัฒนาการ การรอดชีวิต และสภาพพลาสติกของเซลล์ประสาท และการออกกำลังกายก็สามารถเพิ่มระดับ BDNF เป็น 2–3 เท่า
อาหาร
โรคอ้วนโดยเฉพาะเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ผลของแอลกฮอล์ต่อความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเป็นเส้นโค้งที่ลดลงเล็กน้อยแล้วต่อจากนั้นสูงขึ้นเป็นอย่างมาก (เหมือนตัวอักษรอังกฤษ J) คือการดื่มแอลกอฮอล์มากเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม เทียบกับการดื่มน้อย ๆ อาจช่วยป้องกัน แต่การดื่มน้อย ๆ ก็อาจไม่ได้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดและความเสื่อมทางประชานโดยทั่วไป การดื่มแอลกฮอล์อย่างน้อย ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและภาวะสมองเสื่อมก็เพราะมันเพิ่มระดับไลโพโปรตีนหนาแน่นสูง (HDL) ในเลือด เพราะลดฤทธิ์ของสารลิ่มเลือด เช่น fibrinogen จึงช่วยป้องกันปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดและการขาดเลือดในสมองเล็ก ๆ แบบที่ไม่ปรากฏอาการ (subclinical) ปัญหาซึ่งปกติรวม ๆ กันแล้วในที่สุดก็จะก่อความเสียหายแก่สมอง
ผลป้องกันภาวะสมองเสื่อมของกรดไขมันโอเมกา-3 ยังไม่ชัดเจน ผักผลไม้และถั่วอาจมีประโยชน์ เพราะมีไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่หลายคู่มาก และเนื้อที่ไม่ใช่ปลาก็เพิ่มความเสี่ยงอัลไซเมอร์ เพราะมีไขมันอิ่มตัวมาก ไนอาซิน (คือ วิตามินบี3) เชื่อว่าป้องกันภาวะสมองเสื่อมเพราะงานวิจัยแสดงว่า ผู้ที่มีระดับไนอะซีนสูงสุดในเลือด เชื่อว่าเสี่ยงน้อยสุดในการเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือเกิดความเสื่อมทางประชาน ไนอาซินมีบทบาทในการสังเคราะห์และซ่อมแซมดีเอ็นเอ มีบทบาทในการส่งสัญญาณ (signaling) ของเซลล์ประสาท ช่วยให้เลือดเดินได้ดีขึ้นและลดระดับคอเลสเตอรอล เพื่อจะให้มีผลดีต่อสมอง ก็แนะนำให้คนไข้กินไนอาซินระหว่าง 100–300 ม.ก./วัน ยังมีหลักฐานว่าความเสื่อมทางประชานสัมพันธ์กับระดับโฮโมซิสตีน (homocysteine) และระดับวิตามินบีชนิดต่าง ๆ ในเลือดโดยเฉพาะบี12บี6และบี9 (กรดโฟลิก) โดยเฉพาะก็คือการขาดวิตามินบี12 และ/หรือการขาดโฟเลตอาจเพิ่มระดับโฮโมซิสตีนในเลือด ซึ่งเป็นพิษต่อระบบหลอดเลือดและประสาท
การขาดวิตามินดีมีสหสัมพันธ์กับความพิการทางประชานและภาวะสมองเสื่อม แต่การกินอาหารเสริมเป็นวิตามินดีเพื่อแก้ความพิการทางประชานก็ดูจะไม่มีผล
การนอน
การนอนเกิน 9 ชม./วันรวมการนอนกลางวัน อาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมที่สูงขึ้น การขาดนอนก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเพราะเพิ่มการตกตะกอนของแอมีลอยด์เบตา (Amyloid beta)
บุคลิกภาพและสุขภาพจิต
การเป็นคนช่างวิตกกังวล (neuroticism) เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง และสัมพันธ์กับการฝ่อสมองและความพิการทางประชานยิ่งขึ้นเทียบกับความพิถีพิถันที่มีผลป้องกันการฝ่องานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งพบว่า ความเปิดรับประสบการณ์และความยินยอมเห็นใจมีผลบวกบ้าง
ความซึมเศร้า
อาการซึมเศร้าอาจเป็นอาการปรากฏของภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นเรื่องยังไม่ยุติว่า ความซึมเศร้าเป็นเหตุหรือเป็นอาการของภาวะสมองเสื่อม งานศึกษาปี 2014 รายงานว่า เป็นไปได้ทางชีวภาพว่า ความซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม และก็มีหลักฐานบ้างว่าความซึมเศร้าในปลายชีวิตเพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อม ซึ่งแสดงนัยว่า การรักษาโรคซึมเศร้าในวัยกลางคนอาจชลอหรือป้องกันภาวะสมองเสื่อม
ยา
ความดันสูง
งานศึกษาบางงานระบุว่า โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ อาจมีเหตุจากความดันสูง เพราะทำให้หลอดเลือดตีบและเสียหาย สมุฏฐานของภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือดรวมความดันสูง และดังนั้น การลดความดันเลือดด้วยยาลดความดันอาจมีผลป้องกันภาวะสมองเสื่อม เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย
แต่งานศึกษาหนึ่งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างความดันสูงกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม งานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet Neurology ปี 2008 พบว่า ยาลดความดันไม่ลดความชุกของภาวะสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และงานวิเคราะห์อภิมานงานหนี่งที่ใช้ข้อมูลจากงานศึกษานี้และอื่น ๆ แนะนำว่า ควรทำงานศึกษาเพิ่ม
งานศึกษาอาสาสมัครของงาน Leisure World Cohort Study และ The 90+ Study พบว่า คนที่ความดันเลือดเริ่มสูงเมื่อถึงวัย 80–90 มีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่มีความดันเลือดสูง
แม้ผลที่ได้ในงานศึกษาต่าง ๆ จะไม่สม่ำเสมอ แต่ก็แนะนำว่า ความดันเลือดสูงในวัยกลางคน (45–65 ปี) และในวัยชรา (65+ ปี) ควรรักษาเพื่อลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม
ยารักษาโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด และดังนั้น จึงลดความเสี่ยงได้ด้วยยารักษาโรคเบาหวาน
อนึ่ง ยา rosiglitazone (ปัจจุบันถอนจากตลาดบางประเทศเหตุความปลอดภัย) ทำให้ความจำและการคิดดีขึ้นสำหรับคนไข้โรคอัลไซเมอร์แบบอ่อน ๆ กลไกของฤทธิ์นี้อาจมาจากสมรรถภาพการลดการดื้ออินซูลินของยา ดังนั้น ร่างกายจึงต้องหลั่งอินซูลินน้อยลงเพื่อให้ได้ผลทางเมแทบอลิซึม เพราะอินซูลินในเลือดเป็นตัวจุดนวนการสร้างแอมีลอยด์เบตา (Amyloid beta) ดังนั้น การลดระดับอินซูลินก็จะลดระดับแอมีลอยด์เบตา ซึ่งลดการเกิดคราบแอมีลอยด์ดังที่พบในโรคอัลไซเมอร์
ฮอร์โมนสเตอรอยด์
งานศึกษาปี 2009 และ 2012 เกี่ยวกับผลป้องกันโรคอัลไซเมอร์ของฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจนทำให้ไม่สามารถแนะนำให้ให้เอสโตรเจนเสริม และระบุว่าช่วงเวลาที่ให้เอสโตรเจนเสริมเป็นเรื่องสำคัญ คือ การให้หลังหยุดมีประจำเดือน (postmenopausal) ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าให้ภายหลังในชีวิต
ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์
ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID) สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์คินสัน ระยะเวลากินยาที่จำเป็นเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมต่าง ๆ กัน แต่งานศึกษาโดยมากระบุว่าปกติอยู่ระหว่าง 2–10 ปี งานศึกษายังแสดงด้วยว่าต้องใช้ในขนาดรักษาเพราะการให้ในขนาดน้อย ๆ (ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า baby aspirin) ไม่มีผลรักษาภาวะสมองเสื่อม
โรคอัลไซเมอร์เป็นเหตุให้เซลล์ประสาทอักเสบเพราะการตกตะกอนของแอมีลอยด์เบตา และ neurofibrillary tangle ซึ่งทำให้ระคายเคืองจนร่างกายหลั่งสารต่าง ๆ รวมทั้งโปรตีนกลุ่ม cytokine และกลุ่ม acute phase protein เมื่อสารเหล่านี้สะสมต่อ ๆ กันเป็นเวลาหลายปี ก็จะก่อผลที่เป็นส่วนของโรคอัลไซเมอร์ ยากลุ่ม NSAID ช่วยยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบเหล่านี้ จึงป้องกันผลลบของพวกมัน
วัคซีน
ยังไม่มีวัคซีนต้านภาวะสมองเสื่อม แต่มีทฤษฎีว่า วัคซีนที่เป็นไปได้อาจออกฤทธิ์ให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายคราบแอมีลอยด์เบตาที่พบในโรคอัลไซเมอร์ อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ต้องข้ามก็คือป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาเกินแล้วก่อสมองอักเสบ