Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การป้องกันโรคมะเร็ง

การป้องกันโรคมะเร็ง

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
อัตราการตายที่ปรับอายุแล้ว (age-adjusted) ของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อประชากร 100,000 คนในปี 2004

การป้องกันโรคมะเร็ง เป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดความชุกโรคมะเร็งและอัตราการตาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนพฤติกรรมและการไปตรวจคัดกรองโรคของบุคคล ตลอดจนนโยบายป้องกันโรคมะเร็งของรัฐ การป้องกันมะเร็งทั่วโลกถือว่าสำคัญยิ่งเพราะมีผลต่อประชากรเป็นจำนวนมาก ช่วยโปรโหมตพฤติกรรมเพื่อสุขภาพซึ่งลดผลระยะยาวของมะเร็ง มีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าและทำได้ในคนทุกชนชั้น กรณีคนไข้มะเร็งโดยมากเนื่องกับปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนพฤติกรรมจะคุมปัจจัยเช่นนี้ได้หลายอย่าง กรณีการตายเกินกว่า 75% สามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งยาสูบ น้ำหนักเกิน/โรคอ้วน ขาดสารอาหาร ไม่ออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมลภาวะอากาศ แต่ก็ไม่สามารถคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมทุกอย่างได้ เช่น รังสีภูมิหลัง และก็ยังมีเหตุของมะเร็งอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สืบทอดได้ เทคนิกการตัดต่อยีนที่กำลังพัฒนาในปัจจุบันอาจช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ในอนาคต การตรวจคัดโรคปัจจุบันอาจปรับปรุงได้โดยลดการทำให้เจ็บ (invasiveness) และเพิ่มความจำเพาะ (specificity) โดยพิจารณาลักษณะทางชีวภาพของบุคคลเป็นราย ๆ (population-based personalized cancer screening)

วิธีการ

โฆษณาให้ทานอาหารที่ถูกสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็ง

ทุกคนสามารถเกิดมะเร็งได้ อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คือ มะเร็งอัตราร้อยละ 75 เกิดในผู้มีอายุ 55 ปีและยิ่งกว่านั้น

อาหาร

ดูบทความหลักที่: อาหารกับโรคมะเร็ง

มีการเสนอแนะนำอาหารหลายอย่างเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็ง แต่หลักฐานสนับสนุนก็ไม่ชัดเจน ปัจจัยหลักเกี่ยวกับอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงรวมทั้งโรคอ้วนและการดื่มแอลกอฮอล์ แม้อาหารที่มีผักผลไม้น้อยและมีเนื้อแดงมากจะโทษว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงแต่ก็ยังไม่ได้ยืนยันงานวิเคราะห์อภิมานปี 2014 ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างผักผลไม้กับโรคมะเร็ง การทานกาแฟสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งตับที่ลดลง งานศึกษาหลายงานเชื่อมการทานเนื้อบางอย่างเป็นจำนวนมาก คือเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูป กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับอ่อนที่สูงขึ้น เพราะเนื้อที่หุงด้วยอุณหภูมิสูงมีสารก่อมะเร็ง ข้อแนะนำอาหารเพื่อป้องกันมะเร็งปกติจะเน้นการให้ทานผักผลไม้ ข้าวกล้อง และปลา โดยหลีกเลี่ยงเนื้อสีแดง (รวมเนื้อวัว หมู และแกะ) และเนื้อแปรรูป ไขมันสัตว์ และคาร์โบไฮเดรตขัดสี (เช่น น้ำตาลทราย)

การออกกำลังกาย

งานวิจัยแสดงว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งหลายอย่างถึง 30% รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุมดลูก แม้กลไกทางชีวภาพของความสัมพันธ์เช่นนี้จะยังไม่ชัดเจน แต่งานวิจัยก็ได้แสดงว่า การออกกำลังกายอาจลดความเสี่ยงโดยคุมน้ำหนัก ลดระดับฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจนและอินซูลิน ลดการอักเสบ และทำระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

ยา

แนวคิดว่ายาสามารถใช้ป้องกันมะเร็งได้น่าสนใจ และมีหลักฐานในบางกรณี ในกลุ่มประชากรทั่วไป ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID) ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่มีผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดและหัวใจตลอดจนทางเดินอาหาร จึงมีผลลบมากกว่าผลบวกแอสไพรินลดความเสี่ยงตายจากมะเร็งประมาณ 7% ยากลุ่ม COX-2 inhibitor อาจลดอัตราการเกิดติ่งเนื้อเมือกในผู้มีโรค familial adenomatous polyposis แต่ก็มีผลที่ไม่ต้องการเช่นเดียวกันกับ NSAID

การใช้ยา tamoxifen หรือ raloxifene ทุกวันพบว่า ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงผู้เสี่ยงสูง ส่วนยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนคือ 5-alpha-reductase inhibitor เช่น finasteride มีผลลบเทียบกับผลบวกที่ไม่ชัดเจน

วิตามินไม่มีประสิทธิภาพป้องกันมะเร็ง แต่วิตามินดีในเลือดต่ำก็มีสหสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่สูงขึ้น แต่จะเป็นความสัมพันธ์แบบเหตุหรือไม่ หรือว่ามีฤทธิ์ป้องกันจริง ๆ หรือไม่ ก็ยังไม่ได้ระบุ

อาหารเสริมคือ บีตา-แคโรทีน พบว่าเพิ่มอัตรามะเร็งปอดในผู้เสี่ยงสูงกรดโฟลิกไม่ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และอาจเพิ่มติ่งเนื้อเมือกในลำไส้ใหญ่งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2018 สรุปว่า หลักฐานคุณสภาพสูงแสดงว่า ซีลีเนียมไม่มีผลลดความเสี่ยงมะเร็ง

วัคซีน

วัคซีนต้านมะเร็งสามารถใช้ป้องกันหรือรักษาโรค วัคซีนเหล่านี้ทั้งหมดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยช่วยให้ลิมโฟไซต์ คือ cytotoxic T lymphocyte (CTL) รู้จักและต่อต้านแอนติเจนของเนื้องอก (ทั้ง tumor-associated antigen และ tumor-specific antigen)

ยังมีวัคซีนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ก่อมะเร็ง วัคซีนฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส เช่น Gardasil และ Cervarix ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก วัคซีนตับอักเสบ บีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จึงลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ การฉีดวัคซีนเหล่านี้แนะนำในประเทศทั้งหมดถ้ามีงบประมาณพอ

วัคซีนมะเร็งบางอย่างทำงานอาศัยสารภูมิต้านทาน คือ immunoglobulin และเจาะจงแอนติเจนของมะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจให้เมื่อรักษาโรคที่เป็นแล้วเพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันรู้จักและเข้าทำลายเนื้องอกที่มีแอนติเจนของมะเร็งในฐานะเป็นสิ่งแปลกปลอม สารภูมิต้านทานที่ใช้เป็นวัคซีนเช่นนี้อาจมาจากคนไข้เอง (autologous vaccine) หรืออาจมาจากคนไข้อื่น ๆ (allogeneic vaccine) มีวัคซีนจากคนไข้เองหลายอย่าง เช่น Oncophage สำหรับมะเร็งไต และ Vitespen สำหรับมะเร็งหลายอย่าง ที่ได้วางตลาดขายแล้วหรือว่ากำลังทดสอบทางคลินิกอยู่ วัคซีนที่องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุมัติแล้ว เช่น Sipuleucel-T สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจายแล้ว หรือ Nivolumab สำหรับเมลาโนมาและมะเร็งปอด อาจออกฤทธิ์ต่อต้านโปรตีนที่แสดงออกเกินหรือที่กลายพันธุ์ไป หรือออกฤทธิ์ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไวขึ้น (inhibiting immune checkpoints)

การตรวจคัดโรค

วิธีการตรวจคัดโรคมะเร็งที่แพร่หลาย เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเพราะสามารถระบุและตรวจจับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ได้ดีขึ้น

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกปกติจะตรวจคัดด้วยการตรวจเซลล์ปากมดลูก (คือ Pap smear) การส่องตรวจช่องคลอด การตรวจระบบสืบพันธุ์โดยตรง หรือการตรวจหาดีเอ็นเอของฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัสซึ่งจัดเป็นไวรัสก่อมะเร็ง แนะนำให้เริ่มตรวจคัดโรคเมื่อมีอายุระหว่าง 20-30 ปี โดยให้ตรวจด้วย Pap smear ทุก ๆ 3 ปีสำหรับหญิงอายุระหว่าง 21-29 ปี และทุก ๆ 5 ปีเมื่ออายุมากกว่านั้น ส่วนหญิงอายุเกิน 65 ปีที่ไม่มีประวัติมะเร็งปากมดลูกหรือความผิดปกติที่ปากมดลูก โดยได้ผลลบเมื่อตรวจด้วย Pap smear มาก่อน ก็สามารถหยุดตรวจคัดโรคได้

อย่างไรก็ดี แม้การแนะนำให้ตรวจคัดโรคจะขึ้นกับอายุ แต่ก็อาจสัมพันธ์กับ "ระดับการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาทางจิต-สังคม และสถานะการแต่งงาน" ซึ่งแสดงความสำคัญของการศึกษาปัจจัยเหล่านี้เพิ่มขึ้นในการตรวจคัดโรค

มะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ (FOBT) ใช้ตรวจคัดมะเร็งลำไส้ใหญ่บ่อยที่สุด รูปแบบการตรวจเลือดในอุจจาระแฝงอื่น ๆ รวมทั้ง guaiac-based FOBT (gFOBT), fecal immunochemical test (FIT) และการตรวจดีเอ็นเอในอุจจาระ (sDNA) ถ้าพบเลือดในอุจจาระ อาจตรวจเพิ่มขึ้นด้วยการส่องตรวจไส้ใหญ่ส่วนคด (FS) การส่องตรวจไส้ใหญ่ทั้งหมด (TC) และการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT) การตรวจคัดโรคแนะนำให้เริ่มทำตั้งแต่อายุ 50 ปี แต่ก็ยังขึ้นกับประวัติคนไข้และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ โปรแกรมการตรวจคัดโรคที่มีประสิทธิผลพบว่า ลดความชุกโรคได้ 33% และอัตราการตายเพราะโรคได้ 43%

มะเร็งเต้านม

ในปี 2018 สหรัฐจะมีคนไข้มะเร็งเต้านมใหม่ประมาณ 1.7 ล้านคน (จากประชากร 324 ล้านคนโดยมีหญิงผู้ใหญ่ 128 ล้านคน) และมีคนตายเพราะโรค 600,000 คน ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งขนาดเต้านม การออกกำลังกายไม่เพียงพอ โรคอ้วน น้ำหนักเกิน ความเป็นหมันหรือไม่เคยมีลูก การรักษาทดแทนฮอร์โมน (HRT) และพันธุกรรม การถ่ายภาพเอ็กซเรย์แบบ mammograms ใช้อย่างกว้างขวางเพื่อตรวจคัดโรค และองค์กร USPSTF ก็แนะนำสำหรับหญิงอายุ 50-74 ปี แต่แนะนำไม่ให้ทำสำหรับหญิงอายุ 40-49 ปีเพราะอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกิน

เหตุมะเร็งที่ป้องกันได้

รายงานปี 2017 ระบุว่า การเปลี่ยนพฤติกรรม การไปตรวจคัดโรค และการฉีดวัคซีนเป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งหลัก ๆ ที่เนื่องกับปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งยาสูบ อาหาร การออกกำลังกาย โรคอ้วน/น้ำหนักเกิน การติดเชื้อ และสารก่อมะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงเช่นนี้กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งที่สามัญหลายอย่าง

ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีประวัติหูดอวัยวะเพศ (genital wart) หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีภูมิคุ้มกันทำงานอ่อนแอ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน อายุยังน้อยเมื่อมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรกหรือเมื่อตั้งครรภ์ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก ส่วนโรคอ้วน การทานเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูป การใช้ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีประวัติโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases) ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ (CRC) ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายและการทานผักผลไม้อาจลดความเสี่ยงต่อโรค

งานวิจัยเด่นปี 1981 เน้นเหตุที่ป้องกันได้หลายอย่าง และประเมินว่า การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง 11 อย่างสามารถป้องกันมะเร็ง 75-80% ได้ในสหรัฐ งานทบทวนวรรณกรรมปี 2013 เรื่องการป้องกันมะเร็ง ซึ่งสรุปความงานศึกษาระหว่างปี 2000-2010 ก็แสดงปัจจัยเดียวกันโดยมากกับงานปี 1981 ด้วย แต่พิจารณาปัจจัยเสี่ยงเป็นจำนวนน้อยกว่า (เช่น ไม่พิจารณาอาหาร) แล้วบ่งว่า การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ที่มีจำนวนน้อยกว่า) เช่นนี้จะป้องกันการตายเพราะมะเร็งได้ถึง 60%

ตารางต่อไปนี้ระบุสัดส่วนของการตายเพราะมะเร็งที่โทษปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งสรุปมาจากข้อมูลของงานทั้งสอง และจากงานวิจัยอื่น ๆ ซึ่งแสดงอิทธิพลของพฤติกรรมเพื่อป้องกันมะเร็ง เช่น การใช้ยาสูบ อาหารที่ไม่ถูกสุขภาพ โรคอ้วนและการติดเชื้อ

อัตราการตายเพราะมะเร็งในสหรัฐเนื่องกับปัจจัยต่าง ๆ
ปัจจัย งานปี 1981 งานปี 2013 งานอื่น ๆ
การสูบบุหรี่ 30% 30% ชาย 38% หญิง 23% 30% 25-30%
อาหารไม่ดี 35% - 32% 10% 30-35%
โรคอ้วน * 10% หญิง 14% ชาย 20% สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่ 10-20% 19-20% สหรัฐ, 16-18% บริเตนใหญ่, 13% บราซิล, 11-12% จีน
การติดเชื้อ 10% 5-8% 7-10%ประเทศพัฒนาแล้ว 8% ประเทศกำลังพัฒนา 26% ประเทศรายได้สูง 10% แอฟริกา 25%
การดื่มแอลกอฮอล์ 3% 3-4% 3.6% สหรัฐ 8% ฝรั่งเศส 20%
ปัจจัยทางอาชีพ 4% 3-5% 2-10% โดยชายอาจถึง 15-20%
การถูกรังสีพระอาทิตย์
หรือรังสีที่แยกอิเล็กตรอนได้
3% 3-4% อาจมากถึง 10%
การไม่ออกกำลังกาย * <5% 7%
พฤติกรรมทางเพศ 1-13% - -
มลภาวะ 2% - -
ยาและหัตถการทางแพทย์ 1% - -
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม <1% - -
สารเติมแต่งอาหาร <1% - -

*รวมในเรื่องอาหาร
†การติดเชื้อที่ก่อมะเร็ง - ปากมดลูก (HPV), ตับ (ไวรัสตับอักเสบบี [HBV], ไวรัสตับอักเสบซี [HCV]), กระเพาะอาหาร (Helicobacter pylori), เนื้อเยื่อน้ำเหลือง/lymphoid tissues (ไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์ [EBV]), คอหอยส่วนจมูก (EBV), กระเพาะปัสสาวะ (Schistosoma hematobium) และท่อน้ำดี (Opisthorchis viverrini, Clonorchis sinensis)

ประวัติ

มะเร็งเชื่อว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่สมัยโรมัน แพทย์ชาวกรีกคือเกเลนได้สังเกตว่า อาหารที่ไม่ถูกสุขภาพสัมพันธ์กับการเกิดโรค ในปี 1713 แพทย์ชาวอิตาลี (Ramazzini) ได้สันนิษฐานว่า แม่ชีเกิดมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าเพราะงดเว้นเพศสัมพันธ์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงพบว่า สารบางอย่าง เช่น ยาสูบ เขม่า และน้ำมันดิน (ทำให้ผู้ทำความสะอาดปล่องไฟเป็นมะเร็งลูกอัณฑะ ตามรายงานของแพทย์ชาวอังกฤษปี 1775) อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แม้แพทย์จะได้เสนอวิธีป้องกันเมื่อทำความสะอาดปล่องไฟ (คือให้ใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันการถูกต้องกับเขม่า) แต่ก็ได้นำไปใช้เพียงในประเทศฮอลแลนด์ซึ่งได้ลดการเกิดมะเร็งลูกอัณฑะสำหรับผู้ทำความสะอาดปล่องไฟ

เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 จึงได้เริ่มจัดหมวดหมู่สารเคมีก่อมะเร็ง แล้วในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มระบุปัจจัยก่อมะเร็งทั้งแบบทางกายภาพและทางชีวภาพ เช่น รังสีเอกซ์ และ Rous Sarcoma Virus (ค้นพบในปี 1911) แม้จะได้สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและเคมีกับการเกิดมะเร็ง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยเพื่อป้องกันโรค และการเปลี่ยนพฤติกรรม/วิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคก็ยังทำไม่ได้ในช่วงเวลานี้

เชิงอรรถ

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение