Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การเดินขบวนสู่แวร์ซาย

การเดินขบวนสู่แวร์ซาย

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย

การเดินขบวนสู่แวร์ซาย (อังกฤษ: March on Versailles) บ้างเรียก การเดินขบวนเดือนตุลาคม เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการเดินขบวนของสตรีชาวปารีสเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 สู่พระราชวังแวร์ซาย ที่พำนักของกษัตริย์และสถานที่ประชุมสภาร่างธรรมนูญแห่งชาติ

วิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงได้ส่งผลกระทบต่อสตรีซึ่งมีหน้าที่หาอาหารให้สามีและสมาชิกครอบครัว พวกเธอมองเห็นงานเลี้ยงอันใหญ่โตฟุ่งเฟือยในราชสำนักขณะที่ตัวเองกลับอดอยาก กลุ่มสตรีหลายพันคนซึ่งประกอบด้วยหญิงหาเช้ากินค่ำ, แม่ค้า, ช่างหัตกรรม, หญิงข้างถนน ตลอดจนโสเภณีชั้นสูง รวมตัวกันที่ออแตลเดอวีล (ศาลาว่าการกรุงปารีส) ในเช้าวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 จนกระทั่งมีจำนวนราว 7,000–9,000 คน จึงเริ่มเดินขบวนสู่แวร์ซายพร้อมด้วยอาวุธและปืนใหญ่ที่ยึดมาจากออแตลเดแซ็งวาลีดและการทลายคุกบัสตีย์เมื่อสองเดือนก่อนหน้า

การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย

กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเดินเท้าจากปารีสไปแวร์ซายราวหกชั่วโมงท่ามกลางสายฝนในฤดูใบไม้ร่วง พวกเธอเต็มไปด้วยความโกรธแค้นต่อราชวงศ์ หวังจะคุมองค์กษัตริย์กลับปารีสและต้องการคุยกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เมื่อพวกเธอไปถึงพระราชวังแวร์ซาย ก็พบกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งที่รายล้อมพระราชวังอยู่ก่อน สมาชิกสภาบางส่วนออกมาเชิญให้ผู้ชุมนุมเข้าไปหลบฝนและพักผ่อนในห้องประชุมสภา เหล่าฝูงชนต่างไปนั่งพักบนม้านั่งของสมาชิกสภาอย่างเหน็ดเหนื่อย แกนนำของพวกเธอพูดกับผู้แทนในสภาร่างธรรมนูญแห่งชาติว่าพวกเธอมาล้อมสภาเพื่อขอขนมปังเพียงเท่านั้น ในช่วงนี้มีสมาชิกสภาหลายคนออกมาต้อนรับและให้กำลังใจฝูงชน หนึ่งในนั้นคือมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอำนาจ

ฌ็อง โฌแซ็ฟ มูว์นีเย ประธานสภาร่างธรรมนูญนำตัวแกนนำผู้ชุมนุมจำนวนหกคนไปเข้าเฝ้าองค์กษัตริย์ในพระราชวัง องค์กษัตริย์แสดงความเห็นใจและปลอบปละโลมพวกเธอจนบางคนถึงกับล้มลงไปร้องให้ที่พื้น ทรงสัญญาว่าจะปันส่วนอาหารส่วนหนึ่งจากคลังหลวงให้ ฝูงชนบางส่วนจึงพอใจและเดินเท้ากลับปารีส อย่างไรก็ตาม ฝูงชนส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่ และมีข่าวลือว่ากษัตริย์ให้สัญญาหลอกๆ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงตระหนักถึงอันตรายที่รายล้อม จึงปรึกษากับข้าราชบริพาร ในเวลาหกโมงเย็น พระองค์ทรงประกาศยอมรับกฤษฎีกาสิงหาคม (กฎหมายเลิกระบบศักดินา) และทรงยอมรับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อคลายความไม่พอใจของฝูงชน

เช้าวันต่อมา ผู้ประท้วงบางส่วนค้นพบประตูขนาดเล็กของพระราชวังที่ไม่มียามเฝ้า พวกเขาจึงแอบเข้าไปในเขตพระราชฐานและเดินตามหาห้องบรรทมขององค์ราชินีเพื่อสังหารพระนาง ราชองค์รักษ์กรู่เข้ามาทั่วเขตพระราชฐานและยิงผู้บุกรุกตายไปหลายคน ฝูงชนจึงโกรธเคืองและพากันบุกเข้าเขตพระราชฐาน ความโกลาหลในจึงเกิดขึ้นในพระราชวัง ราชองครักษ์สู้ไม่ได้และถูกฆ่าตายไปอย่างน้อยหนึ่งนาย หน่วยของนายพลลาฟาแย็ต ต้องเข้ามาห้ามปราม ลาฟาแย็ต ทหารผู้ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางจนเหตุการณ์คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนอกพระราชวังยังคงดำเนินต่อไป พระบรมวงศ์จึงเสด็จออกจากแวร์ซายไปประทับที่พระราชวังตุยเลอรีในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 6 ตึลาคม ค.ศ. 1789 ตามคำทูลของนายพลลาฟาแย็ต ที่เชื่อว่าสถานการณ์คงจะคลี่คลายถ้ากษัตริย์อยู่ใกล้ประชาชนมากขึ้น


Новое сообщение