Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การเผาศพ
การเผาศพ หรือ ฌาปนกิจ หรือ การฌาปนกิจศพ คือ การแปรสภาพร่างกายของผู้วายชนม์ด้วยเพลิง เพื่อให้ร่างกายซึ่งเน่าเสียง่ายแปรเป็นเศษอัฐิซึ่งเก็บรักษาไว้ได้นาน อาจทำหลังจากพิธีบำเพ็ญกุศลศพเสร็จสิ้นแล้ว หรืออาจทำก่อนพิธีบำเพ็ญกุศลศพก็กระทำได้ การเผาศพในอดีตนิยมทำในประเทศอินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคซึ่งรับวัฒนธรรมอินเดีย แต่ในปัจจุบันนิยมทำกันทั่วโลก การเผาศพเป็นเรื่องต้องห้ามในบางลัทธิศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาโซโรอัสเตอร์
การเผาศพในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็นการเผาในเมรุเปิด กล่าวคือ ใช้ฟืนก่อเป็นแท่นแล้ววางศพด้านบนสุด อีกแบบคือก่อแท่นหรือรางสำหรับวางฟืนแล้ววางศพทับอีกที เมื่อจุดเพลิง เพลิงก็จะลุกไหม้เผาร่างกายของผู้วายชนม์ไปจนหมดพร้อมกับเชื้อเพลิง แล้วกลายเป็นเถ้าถ่านยุบตัวลง หากศพบรรจุในโกศซึ่งทำด้วยโลหะ ก็ใช้วิธีก่อจิตกาธานทำด้วยไม้หรือปูน ด้านบนบรรจุดินเพื่อวางฟืน เหนือฟืนก็จะเป็นตะแกรงสำหรับวางโกศ เมื่อจะเผาก็จะเปิดฝาแล้วสุมเพลิงเข้าไปในโกศจนกระทั่งศพและอัฐิในโกศแตกเป็นชิ้นเล็ก ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ได้มีการสร้างเมรุปิด ประกอบด้วยห้องเผาทำด้วยอิฐทนไฟ มีกระบะบรรจุถ่านหรือฟืนติดไว้กับราง ด้านล่างติดล้อให้เข็นเข้าเข็นออกได้ ด้านล่างของรางเมื่อเข็นรางเข้าไปจะเป็นช่องเจาะสำหรับให้เถ้าถ่านตกลงไปยังที่รองรับซึ่งวางไว้ในห้องเบื้องล่าง และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาเตาเผาศพซึ่งใช้น้ำมันดีเซลหรือแก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยมีหัวเผาทำหน้าที่พ่นเพลิงเผาร่างผู้วายชนม์ หัวเผารองสำหรับเผาควันซ้ำ และมีพัดลมสำหรับอัดอากาศเลี้ยงเพลิง เมื่อเผาไปได้ระยะหนึงพนักงานจัดการศพก็จะกวาดอัฐิลงในภาชนะรองรับ หรืออาจจัดการดับกองฟอนตามวิธีปฏิบัติตามสำนักของตน
ในภาษาไทย การเผาศพนั้นเรียกได้หลายคำ อาทิ บุคคลสามัญชนเมื่อวายชนม์ลงแล้ว ใช้ ฌาปนกิจศพ บ้างก็ใช้ ประชุมเพลิงศพ หรือหากได้รับพระราชทานเกียรติยศก็จะใช้ พระราชทานเพลิงศพ พระบรมวงศานุวงศ์เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะได้รับ พระราชทานเพลิงพระศพ ส่วนพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อเสด็จสวรรคตได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะปลูกพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในงานศพของพระภิกษุสงฆ์ มักใช้ ถวายเพลิงศพ เพื่อแสดงอาการคารวะต่อผู้วายชนม์
กระบวนการเผาศพแบบสมัยใหม่
การเผาศพแบบสมัยใหม่ กระทำในเตาเผาซึ่งก่อจากอิฐทนไฟ คือ อิฐที่ไม่ขยายตัวมากเมื่อได้รับความร้อน และให้มีความร้อนสูงพอสมควรเพื่อทำให้ศพสลายตัวได้ดีในขณะที่ยังคงเศษอัฐิไว้พอสมควร ภายในห้องเผาจะมีหัวเผาซึ่งใช้น้ำมันดีเซลแก๊สธรรมชาติ หรือแก๊สถ่านหิน เตาเผาบางรุ่นมักจะมีประตูกระจกทนไฟสำหรับให้พนักงานจัดการศพสังเกตว่าการเผาเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ก็มักจะมีช่องเจาะสำหรับขยับร่างกายของผู้วายชนม์ให้ต้องเพลิงเป็นคราว ๆ ได้ การเผาศพนั้นมักจะใช้เวลาแตกต่างกันแล้วแต่ขนาดของร่างกาย โดยมากมักจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง เตาเผาสมัยใหม่มีข้อเสียคือ ไม่ทนทาน หากเผาศพไปได้สักระยะหรือเผาศพจำนวนมาก ๆ ก็มักจะต้องซ่อมแซมเปลี่ยนอิฐที่บุภายในออกหรืออาจต้องเปลี่ยนเตาเผาใหม่
ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ศพที่จะเผาจะต้องบรรจุในหีบทำด้วยไม้ กระดาษ หรือวัสดุอื่นซึ่งไหม้ไฟได้เพื่อให้เข็นเข้าสู่เตาเผาได้สะดวก อีกทั้งเพื่อลดโอกาสในการรับสารคัดหลั่ง อาทิ เลือด น้ำเหลือง หนอง น้ำลาย ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่พนักงานจัดการศพ บางครั้ง เจ้าหน้าที่ฌาปนสถานอาจอนุญาตให้ญาติผู้วายชนม์สังเกตการนำศพเข้าสู่ห้องเผา ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อบังคับในบางลัทธิศาสนา อาทิ ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ตามกฎข้อบังคับการเผาศพของสหราชอาณาจักรยังระบุด้วยว่า เมื่อเคลื่อนศพมาถึงเมรุแล้วห้ามมิให้เปิดหีบศพ ให้เชิญหีบศพเข้าสู่ห้องเผาทันที นอกจากนี้เมื่อสวดศพได้แล้ว 72 ชั่วโมงต้องทำการเผา และด้วยเหตุที่ห้ามมิให้เปิดหีบศพนี้เอง ก็ทำให้จำเป็นต้องนำโลหะต่าง ๆ ออกจากศพ เช่น เครื่องประดับ ครั้นเผาศพเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานจัดการศพมักนำอัฐิ (เศษกระดูก) และอังคาร (เถ้ากระดูกและเถ้าอื่น ๆ) ไปเข้าเครื่องบด ก่อนที่จะนำอัฐิที่บดแล้วมอบคืนแก่ญาติเพื่อจัดการฝัง หรือโปรยต่อไป
พิธีเผาศพในประเทศไทย
การเคลื่อนศพและการเผาหลอก
เมื่อวาระสุดท้ายของพิธีศพมาถึง ศพจะถูกเชิญจากสถานที่ตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นบ้านหรือศาลาวัดไปยังเมรุ บางท้องที่อาจกำหนดให้เชิญศพเวียนเมรุในลักษณะอุตราวัฏ 3 รอบ บางท้องที่ไม่เวียน จากนั้นจึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ หากเป็นศพที่ได้รับพระราชทานโกศ (อาทิ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดและชั้นที่หนึ่งของแต่ละตระกูล บุคคลผู้มีตำแหน่งสำคัญ) จะเชิญหีบขึ้นไปพักไว้ในห้องเผารอการพระราชทานเพลิงศพจริง ส่วนโกศจะเชิญขึ้นไปวางที่จิตกาธานซึ่งเตรียมไว้ด้านหน้า จากนี้ก็จะเป็นพิธีการศพตามแต่ที่บัญญัติรูปแบบไว้ตามประเพณีของท้องถิ่นหรือตามความประสงค์ของผู้วายชนม์ โดยมากมักจะเป็นการสวดพระพุทธมนต์และทอดผ้าบังสุกุล เมื่อปฏิบัติพิธีการเหล่านี้เสร็จแล้ว จึงทำพิธีวางดอกไม้จันทน์ "เผาหลอก" ครั้นผู้ร่วมงานวางดอกไม้จันทน์เสร็จ จึงประกอบพิธีเผาจริงต่อไป
การเผาจริง
การเผาศพในประเทศไทย หากเป็นการเผาในเตาปิด กระบวนการจะคล้ายกับต่างประเทศเป็นส่วนน้อย มีข้อยกเว้นหลายประการ อาทิ
- เมื่อจะเผา พนักงานจัดการศพจะเปิดหีบออก เพื่อล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าวแก้ว บางสำนักอาจปิดหีบคืนก่อนเชิญเข้าเตา แต่ส่วนมากจะไม่ปิด และนำไม้ฝาหีบไปใช้ประโยชน์อื่น
- การเผาศพมักใช้อุณหภูมิไม่สูงมาก เพื่อรักษาสภาพอัฐิให้ไม่เสียหายจนเกินไป ต่างจากการเผาศพในต่างประเทศที่มักเผาด้วยอุณหภูมิสูง
- เชื้อเพลิงที่ใช้มีหลายแบบ ทั้งถ่านหรือฟืน ถ่านผสมน้ำมัน น้ำมัน หรือแก๊ส โดยหากเป็นแบบถ่านผสมน้ำมันก็จะใช้หัวเผาทำหน้าที่ในช่วงแรก เมื่อได้ที่แล้วจึงปล่อยให้ถ่านทำหน้าที่ต่อเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ต่างประเทศมักจะใช้น้ำมันหรือแก๊สอย่างเดียว
- เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว อัฐิและอังคารจะถูกแยกจากกัน ไม่บด โดยอัฐิจะถูกเก็บรักษาไว้โดยญาติ หรือนำไปประกอบพิธีอย่างอื่น ส่วนอังคารและอัฐิส่วนเกินมักจะนำไปลอยอังคารยังแม่น้ำหรือทะเล หรือนำไปโปรยยังสถานที่ที่เหมาะสม
หากเป็นการเผาในเตาเปิด มักจะใช้วิธีก่อเตาขึ้นจากอิฐทนไฟ ลักษณะคล้ายกล่อง ด้านล่างเป็นหีบหรือถาดสำหรับรองรับอัฐิ ถัดขึ้นไปเป็นตะแกรงสำหรับรองรับเชื้อเพลิง บนสุดวางศพ และอาจมีเครื่องกำบังสำหรับป้องกันฝนและลมหรือไม่ก็ได้ บางครั้งอาจเป็นเตาเปิดซึ่งมีเพียงเครื่องรองรับเชื้อเพลิงเท่านั้น หรือกรณีที่ง่ายที่สุดก็จะเป็นเพียงกองฟืนธรรมดา อาจมีเครื่องตกแต่งด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น วอวิมานหรือปราสาท ซึ่งเครื่องตกแต่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงด้วยเช่นกัน
การเก็บอัฐิ
เมื่อเผาศพจนบริบูรณ์ดีแล้ว ก็จะต้องจัดเก็บอัฐิให้เรียบร้อย ในบางท้องที่โดยเฉพาะภาคกลาง พนักงานจัดการศพจะนำอัฐิมาประมวลและแปรธาตุเป็นรูปคนนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก จากนั้นจึงนิมนต์พระภิกษุบังสุกุลตาย โดยว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข" แปลความได้ว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้มไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข" เสร็จแล้วจึงหันหัวคนไปทิศตะวันออก นิมนต์พระภิกษุบังสุกุลเป็น โดยว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ" แปลความได้ว่า "กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้ว ไม่มีวิญญาณแล้ว จักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้หาประโยชน์มิได้" เสร็จแล้ว จึงเก็บอัฐิจากส่วนต่าง ๆ ของรูปคน เช่นจากหน้าอก 2 ชิ้น จากแขน ขา ศีรษะที่ละหนึ่งชิ้น รวมเป็น 7 ชิ้น หรือตามความต้องการ บรรจุลงในโกศสำหรับเก็บไว้บูชาต่อไป ส่วนอังคารและอัฐิส่วนเกิน จะเก็บไว้ในลุ้งแยกต่างหากเพื่อนำไปโปรย ลอย หรือบรรจุ
การเผาบุพโพ
ในอดีตเมื่อครั้งยังไม่มีการฉีดยารักษาศพ ศพที่บรรจุไว้ในโกศก็จะเกิดการเน่าเปื่อยผุพัง มีบุพโพ (น้ำเหลือง) และโลหิตไหลออกมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการบุก้นโกศด้วยตะแกรงให้บุพโพและโลหิตไหลออกผ่านท่อซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ทะลุปล้องลงไปในไห เรียกว่า ถ้ำบุพโพ เมื่อจะเผาศพ ก็จะจัดการถอนเครื่องสุกำศพ (คือ ผ้าและเชือกที่มัดศพ) รวมกับบุพโพไปประมวลลงในกระทะซึ่งมีน้ำมันและเครื่องหอม ก่อนจุดไฟเผาจนเหลือแต่เถ้า การเผาบุพโพถือเป็นพิธีภายในเนื่องจากส่งกลิ่นแรงมาก เมื่อบุพโพและเครื่องสุกำไหม้หมดแล้วจึงนำเถ้าบุพโพไปลอยพร้อมกับอังคาร ส่วนศพที่เหลือก็จะบรรจุคืนลงในโกศ เพื่อนำไปประกอบพิธีเผาจริงแยกต่างหากต่อไป การเผาบุพโพนั้นมักกระทำในบรรดาเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์บางคน โดยจะแยกบุพโพ เครื่องสุกำศพ และบรรดาสรรพสิ่งของที่เปื้อนออกจากศพบรรจุลงในภาชนะอย่างดี ตั้งกระบวนแห่ไปยังเมรุที่ทำไว้โดยเฉพาะ แล้วจัดการเผาหรือเคี่ยวจนไหม้หมด ในสมัยหลัง เช่นการพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และการพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีการถวายพระเพลิงพระบุพโพในเตาเผา ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส แทนการเคี่ยวในกระทะแบบเดิม สำหรับศพสามัญชนในอดีตซึ่งบรรจุหีบ มักจะนำไปฝังหรือบรรจุไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งให้แห้ง ปราศจากบุพโพที่อาจไหลเยิ้ม ก่อนนำศพซึ่งแห้งดีแล้วไปเผาในฤดูแล้งเพื่อมิให้เป็นการเปลืองเชื้อเพลิง ในสมัยต่อมาเมื่อมีการฉีดยาหรือแช่เย็นศพ การที่จะต้องเผาบุพโพก็หมดความจำเป็นไป
การพระราชทานเพลิงศพ
การขอพระราชทานเพลิงศพแก่ผู้มีสิทธิได้รับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การพระราชทานเพลิงศพกรณีปกติ และ การพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ โดยจะไม่พระราชทานเพลิงศพแก่ผู้ต้องอาญาแผ่นดินและผู้ทำลายชีพตนเอง
ในอดีต ญาติของผู้วายชนม์ที่จะขอพระราชทานเพลิงศพจะต้องไปติดต่อที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดของผู้วายชนม์ เพื่อให้ทำหนังสือถึงเลขาธิการพระราชวัง ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เครื่องเกียรติยศประกอบศพ และเพลิงเผาศพ กรณีที่ศพอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญเพลิงหลวงในโคมเทียน ดอกไม้จันทน์ กระทงข้าวตอกดอกไม้ขมาศพไปในรถยนต์พระประเทียบเพื่อไปปฏิบัติ ณ ฌาปนสถาน เมื่อประธานในพิธีขึ้นสู่เมรุแล้ว จะหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้ขมาศพวางไว้ที่ข้างหีบหรือโกศศพ จากนั้นจึงหยิบดอกไม้จันทน์จุดเทียนที่เจ้าหน้าที่ชูแล้ววางใต้หีบหรือโกศศพ กรณีที่ศพอยู่ต่างจังหวัด จะให้ญาติผู้วายชนม์มารับพระราชทานกล่องเพลิงพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้จันทน์ เทียนชนวน และไม้ขีดไฟ (ในอดีตใช้ศิลาหน้าเพลิง) ทั้งหมดบรรจุในกล่องหุ้มด้วยแพรสีดำ เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพ จึงให้ประธานในพิธีจุดไม้ขีดไฟแล้วจุดที่เทียนชนวนซึ่งเจ้าหน้าที่ถือไว้ หากผู้วายชนม์เป็นทหารหรือตำรวจก็จะให้เป่าแตรนอนก่อน เมื่อแตรนอนจบ ประธานจึงถือดอกไม้จันทน์จุดไฟที่แล้ววางด้านล่างหีบหรือโกศศพ ขณะนี้หากมีกองเกียรติยศ ก็จะเป่าแตรเพลงคำนับ 1 จบ หรือถ้าเป็นวงโยธวาทิตก็บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ต่อด้วยเพลงพญาโศก หากเป็นวงปี่กลองชนะก็จะบรรเลงเพลงสำหรับบท เมื่อประธานลงจากเมรุแล้วจึงอนุญาตให้ผู้ร่วมพิธีขึ้นวางดอกไม้จันทน์ได้
เนื่องจากความลำบากในการปฏิบัติพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในต่างจังหวัด กล่าวคือ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร จะไม่พระราชทานโกศและเครื่องประกอบเกียรติยศเว้นแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ เช่นเป็นบุคคลใกล้ชิดและทรงคุ้นเคย ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค จึงทำให้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ปฏิบัติพิธีพระราชทานเพลิงศพตลอดถึงพิธีอันเกี่ยวกับศพที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศแทนสำนักพระราชวัง และจัดให้มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ทั้งหีบ โกศ ฉัตรเบญจา และเครื่องประกอบอื่นไว้ประจำแต่ละจังหวัด ในปัจจุบันการขอพระราชทานเพลิงศพจึงสามารถกระทำได้ที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด หรือที่กระทรวงวัฒนธรรมส่วนหน้าในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายรับสั่ง ในระยะหลัง เจ้าหน้าที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานอาจใช้วิธีจุดเพลิงพระราชทานไว้ในโคมไว้พร้อม แล้วเดินทางไปยังฌาปนสถานเพื่อปฏิบัติพิธีการตามที่กำหนด ครั้นเสร็จพิธี เจ้าหน้าที่จะมอบกล่องเพลิงพระราชทานให้แก่ญาติผู้วายชนม์ให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก
อนึ่ง กรณีผู้วายชนม์เป็นพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี และรัชทายาท การเคารพของทหารกองเกียรติยศเมื่อจุดเพลิงจะใช้เพลงคำนับ 3 จบ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี และกรณีที่ผู้วายชนม์เป็นพระบรมวงศ์ จะใช้เพลงคำนับ 2 จบ หรือเพลงมหาชัย
เมื่อเสร็จพิธีการพระราชทานเพลิงศพ (เผาหลอก) แล้ว จึงประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพจริง โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับศพทั่วไปแต่จุดด้วยเพลิงหลวงที่จัดเตรียมไว้เมื่อครั้งเผาหลอก เมื่อศพไหม้บริบูรณ์ดีแล้ว จึงประกอบพิธีเก็บอัฐิตามประเพณีนิยมหรือราชประเพณีต่อไป
สำหรับลัทธิศาสนาที่ไม่เผาศพนั้น จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดินฝังศพ ซึ่งทำด้วยดินสอพองปั้นเป็นก้อนกลม ตากแห้ง แล้วห่อด้วยผ้าขาว มีทั้งหมด 10 คู่ แต่ละคู่จะห่อด้วยผ้าสีขาวหนึ่งลูกและผ้าสีดำหนึ่งลูก ดินพระราชทานนั้นใช้สำหรับวางบนหีบศพก่อนการฝัง (เช่นศพชาวจีนหรือชาวคริสต์) หรือวางบนหลุมศพหลังการฝัง (เช่นศพชาวมุสลิม)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การเผาศพก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการจัดการศพประเภทอื่น โดยเป็นแหล่งของการปล่อยคาร์บอนตลอดจนมลสารนานาชนิดสู่บรรยากาศ แต่มีข้อดีกว่าการฝังศพโดยเฉพาะการฝังศพทั้งหีบหรือการฝังศพแบบมีกล่องคอนกรีตล้อม เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก ในสหรัฐ การฝังศพมักจะต้องมีการขุดหลุม กรุหลุมด้วยคอนกรีต แล้วจึงนำศพลงไปในลักษณะบรรจุ ส่วนในญี่ปุ่น หลุมฝังศพปกติมีราคาสูงมากจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถหาเช่าได้ ในกรุงลอนดอน เคยมีการเสนอให้มีการขุดศพเก่าออกแล้วฝังศพใหม่ซ้อนกันหลายชั้นคล้ายกับรถโดยสาร ในบางประเทศเช่นเยอรมนี เมื่อศพถูกฝังไว้จนหมดสัญญาเช่าหลุมฝังศพแล้ว อัฐิจะถูกขึ้นมาจารึกรายละเอียดไว้ที่กะโหลกศีรษะ ก่อนนำไปบรรจุรวมกันในห้องใต้ดิน ในประเทศไทย การฝังศพบุคคลอนาถา หรือบุคคลที่ไม่มีญาติมาขอรับจะฝังไว้ระยะหนึ่งพอให้ศพสำรอกมังสาออก แล้วจึงนำอัฐิที่เหลือไปเผาจนละเอียดก่อนจัดเก็บ พร้อมกับบำเพ็ญกุศลด้วย
การเผาศพหนึ่งศพใช้น้ำมันประมาณ 110 ลิตร และผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 240 กิโลกรัมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ในสหรัฐ มีการเผาศพปีละประมาณ 1 ล้านศพ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 240,000 ตัน ซึ่งมีประมาณพอ ๆ กับบ้านจำนวน 22,000 หลัง
เพื่อเป็นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศเขตหนาว การเผาศพมักอุ่นเตาให้ร้อนตลอดเวลาทำการเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการจุดเตาให้ร้อนซ้ำแล้วซ้ำอีก อันเป็นการเปลืองเชื้อเพลิง และมักจะมีข้อกำหนดว่าหากศพมาถึงยังฌาปนสถานก็ให้จัดการเผาเสียทีเดียวในวันนั้น นอกจากนี้ ฌาปนสถานหลายแห่งใช้หีบรองในซึ่งทำด้วยกระดาษทับหีบชั้นนอก เมื่อจะเผาก็จะเชิญหีบรองในพร้อมกับศพออก
การย่อยศพ หรือการเผาเขียว (green cremation) เป็นวิธีการ "เผาศพ" โดยการนำร่างกายของผู้วายชนม์ไปต้มในสารละลายด่างจนกระทั่งมังสาและอวัยวะทั้งหมดย่อยละลายไป เหลือแต่อัฐิ วิธีนี้เป็นการแปรสภาพศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในขณะนี้