Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การให้ทารกกินนมจากอกแม่
สัญลักษณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สากล (Matt Daigle, ผู้ชนะการประกวดของนิตยสาร Mothering ปี ค.ศ. 2006)

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อังกฤษ: breastfeeding, nursing) คือการป้อนนมให้กับทารกหรือเด็กด้วยน้ำนมจากหน้าอกของผู้หญิง ทารกจะมีกลไกอัตโนมัติในการดูดที่จะทำให้เขาสามารถดูดและกลืนน้ำนมได้

มีหลักฐานจากการทดลองชี้ให้เห็นว่า น้ำนมคนเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าควรให้ทารกกินนมแม่นานเท่าไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเท่าไรจากการให้สารทดแทนน้ำนมคนแก่ทารก

ทารกอาจจะกินน้ำนมจากอกของแม่ของตัวเองหรือผู้หญิงอื่นที่ร่างกายสามารถผลิตน้ำนมได้ (ซึ่งอาจจะเรียกว่า แม่นม) น้ำนมอาจจะถูกบีบออกมา (เช่น ใช้เครื่องปั๊มนม) และป้อนให้ทารกโดยใช้ขวด และอาจเป็นน้ำนมที่รับบริจาคมาก็ได้ สำหรับแม่หรือครอบครัวที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการให้ลูกกินนมแม่ก็อาจให้สารทดแทนนมแม่แทน การศึกษาวิจัยยังมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับคุณค่าสารอาหารในสารทดแทนนมแม่ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าการให้ทารกกินนมผสมที่มีขายในท้องตลาดจะไปรบกวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งในทารกที่คลอดตามกำหนดและคลอดก่อนกำหนด ในหลายๆ ประเทศการให้ลูกกินสารทดแทนนมแม่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงในทารกเพิ่มขึ้น แต่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดมีเพียงพอ การให้ลูกกินสารทดแทนนมแม่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

มีนโยบายของรัฐบาลและความพยายามจากหน่วยงานนานาชาติในการส่งเสริมและสนับสนุนให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเลี้ยงทารกในช่วงปีแรกและนานกว่านั้น องค์การอนามัยโลกและสถาบันกุมารแพทย์ของอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ก็มีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การหลั่งน้ำนม

การหลั่งน้ำนม (Lactation) คือ กระบวนการในการสร้าง การหลั่ง และการไหลออกมาของน้ำนม การหลั่งน้ำนม เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ใช้นิยาม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

น้ำนมแม่

คุณสมบัติของนมแม่ยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด แต่คุณค่าสารอาหารของน้ำนมที่สมบูรณ์แล้วจะค่อนข้างคงที่ องค์ประกอบของน้ำนมจะมาจากอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป, สารอาหารต่างๆ ในกระแสเลือดของแม่ในระหว่างที่ให้น้ำนม และสารอาหารที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ ในการศึกพบว่าผู้หญิงที่ให้ลูกกินนมแม่ล้วนๆ จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกวันละ 500-600 แคลอรีในการผลิตน้ำนมให้ลูก ส่วนประกอบของน้ำนมจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และแต่ละชั่วโมง ขึ้นอยู่กับลักษณะการให้ทารกกินนม, อาหารที่แม่รับประทาน, และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดังนั้นอัตราส่วนของน้ำต่อไขมันในน้ำนมแม่ จึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ช่วงอายุของลูกหลังจากที่คลอดแล้วฮอร์โมนในร่างกายแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วจะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมขึ้นในช่วงแรกน้ำนมจะเป็นสีเหลืองเมื่อลูกดูดกินไปเรื่อยๆจะกลายเป็นน้ำนมสีขาวในที่สุด

น้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) ซึ่งเป็นน้ำนมที่ไหลออกมาในช่วงแรกของการให้นม จะค่อนข้างใส ไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง น้ำนมส่วนหลัง (Hindmilk) ซึ่งเป็นน้ำนมจะไหลออกมาหลังจากให้นมทารกไปได้ระยะหนึ่ง จะมีลักษณะข้นกว่า แต่ไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างน้ำนมส่วนหน้ากับน้ำนมส่วนหลัง น้ำนมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง งานวิจัยของ Human Lactation Research Group ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮาร์ทมันน์ (Peter Hartmann) แสดงว่าปริมาณไขมันจะแปรผันไปตามความสามารถในการดึงน้ำนมออกจนหมดเต้า ยิ่งมีน้ำนมในเต้าน้อยเท่าไร ปริมาณไขมันในน้ำนมจะยิ่งมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงเต้านมจะไม่มีทางหมดเต้าได้ เพระต่อมน้ำนมจะผลิตน้ำนมออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ประโยชน์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อทั้งแม่และทารก ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ สารอาหารและภูมิต้านทานต่างๆ จะถูกส่งผ่านไปยังทารก ในขณะที่ฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในร่างกายของแม่ สายสัมพันธ์ระหว่างทารกและแม่จะแนบแน่นมากขึ้นในระหว่างการให้ลูกกินนมแม่

ประโยชน์ต่อทารก

มีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับประโยชน์ทางสุขภาพ ตามที่สถาบันกุมารแพทย์ของอเมริกากล่าวไว้ว่า

การทำงานวิจัยมากมาย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่หลากหลายและน่าทึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อทารก, แม่, สมาชิกในครอบครัว และสังคม และการใช้น้ำนมแม่เป็นอาหารสำหรับทารก ประโยชน์ที่ได้คือ สุขภาพที่ดีกว่า สารอาหาร ภูมิต้านทาน ผลดีต่อสภาพจิตใจ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

— คำแถลงนโยบายของสถาบันกุมารแพทย์อเมริกา

ทารกที่กินนมแม่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) และโรคอื่นๆ น้อยกว่า การดูดที่อกแม่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการของฟันและอวัยวะในการออกเสียงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้น้ำนมแม่ยังมีอุณภูมิที่เหมาะสมและมีพร้อมให้ทารกกินได้ทันที

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่เด็กจะได้รับ จากการดื่มนมแม่ก็คือ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้หลายชนิด นอกจากนี้การให้ลูกดื่มนมยังช่วยให้ ลูกน้อยรู้สึกใกล้ชิดกับแม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความอบอุ่นใจและทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยอีกด้วย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคต่อไปนี้ได้
  1. โรคภูมิแพ้ (Allergies)
  2. โรคหอบหืด (Asthma)
  3. โรคไทรอยด์ (Autoimmune thyroid diseases)
  4. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)
  5. โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer)
  6. โรคขาดสารอาหาร (Celiac disease)
  7. โรคโครห์น (Crohn's disease)
  8. โรคเบาหวาน (Diabetes)
  9. โรคท้องร่วง (Diarrhea)
  10. โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น (Eczema)
  11. กระเพาะและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)
  12. โรคมะเร็งปุ่มน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma)
  13. ลำไส้เล็กและใหญ่อักเสบ (Necrotizing enterocolitis)
  14. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
  15. โรคอ้วน (Obesity)
  16. หูชั้นกลางหรือแก้วหูอักเสบ (Otitis media)
  17. โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ (Respiratory infection และ Wheeze)
  18. โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  19. โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

ประโยชน์ต่อแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อแม่ เพราะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซีโทซินและโปรแลกติน ซึ่งทำให้แม่รู้สึกผ่อนคลายและมีความรู้สึกรักใคร่ทะนุถนอมทารก การให้ลูกกินนมแม่ทันทีหลังจากคลอดลูกจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนออกซีโทซินในร่างกาย ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วและลดอาการตกเลือด

ไขมันที่ถูกสะสมในร่างกายในช่วงตั้งครรภ์จะถูกใช้ในการผลิตน้ำนม การยืดระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานขึ้นจะช่วยให้แม่สามารถลดน้ำหนักตัวได้เร็ว การให้ลูกกินนมบ่อยๆ หรือให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้การมีประจำเดือนช้าลง จึงมีส่วนในการช่วยคุมกำเนิด บางครั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงถูกนำมาใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิด ซึ่งอาจจะสามารถคุมกำเนิดได้ 98% โดยจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้

  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต้องเป็นแหล่งอาหารเพียงอย่างเดียวของทารก และทารกจะต้องดูดน้ำนมจากอกแม่เท่านั้น การให้ทารกกินนมผสม หรือการใช้เครื่องปั๊มนมแทนที่จะให้ทารกดูดจากอก และการให้กินอาหารเสริม จะลดความสามารถในการคุมกำเนิด
  • ทารกจะต้องได้กินนมจากอกแม่ทุกๆ 4 ชั่วโมง ในตอนกลางวัน และทุกๆ 6 ชั่วโมง ในตอนกลางคืน เป็นอย่างน้อย
  • ทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนและสามารถรับประทานต่อได้ถึง 2ปีหรือ3 ปี
  • แม่จะต้องไม่มีประจำเดือนอย่างน้อย 56 วันหลังคลอด

อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีการคุมกำเนิด เนื่องจากการตกไข่หลังคลอดบุตรอาจเกิดขึ้นก่อนการมีประจำเดือน ดังนั้นผู้หญิงจึงสามารถ (และบ่อยครั้ง) ตั้งท้องได้ก่อนที่จะเริ่มกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง

แม่ยังคงสามารถให้ลูกกินนมแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การผลิตน้ำนมจะลดลงหลังจากตั้งครรภ์ได้ระยะหนึ่ง

แม่ที่ให้ลูกกินนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายๆ โรคลดลง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение