Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์
ส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐ | |
ภาพจับหน้าจอจากวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเดริก ชอวิน กำลังคุกเข่าบนคอของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งส่งผลให้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา
| |
วันที่ | 25 พฤษภาคม 2563 (2563-05-25) |
---|---|
เวลา | ป. 20:08–20:28 น. (เขตเวลากลาง) |
ที่ตั้ง | มินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐ |
พิกัด | 44°56′03″N 93°15′45″W / 44.9343°N 93.2624°W / 44.9343; -93.2624พิกัดภูมิศาสตร์: 44°56′03″N 93°15′45″W / 44.9343°N 93.2624°W / 44.9343; -93.2624 |
ผู้เข้าร่วม |
|
เสียชีวิต | 1 คน (จอร์จ ฟลอยด์) |
ที่ตั้งเมืองมินนีแอโพลิส (สถานที่เกิดเหตุ) ในเทศมณฑลเฮนเนพินและในรัฐมินนิโซตา |
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา เสียชีวิตในย่านพาวเดอร์ฮอร์นทางทิศใต้ของย่านกลางเมืองมินนีแอโพลิสในสหรัฐ ขณะที่ฟลอยด์ถูกใส่กุญแจมือและนอนคว่ำหน้ากับพื้นถนนระหว่างถูกจับกุม เดริก ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีแอโพลิสซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปใช้เข่ากดคอด้านหลังของฟลอยด์เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที โดย 2 นาที 53 วินาทีในระยะเวลาดังกล่าวดำเนินไปหลังจากฟลอยด์ไม่ตอบสนอง เจ้าหน้าที่อีกสามคนคือ ทอมัส เค. เลน, ทู ทาว และเจ. อเล็กซานเดอร์ คูเอง มีส่วนร่วมในการจับกุมฟลอยด์ โดยคูเองจับหลังของฟลอยด์ในขณะที่เลนจับขาของฟลอยด์ไว้ ส่วนทาวยืนดูอยู่ใกล้ ๆ การชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นพบว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าฟลอยด์เสียชีวิตจากการหายใจไม่ออกเหตุบีบรัดคอหรือการขาดอากาศหายใจเหตุช่องอกถูกกดทับ แต่ผลกระทบที่ผสมกันจากความตึงเครียดระหว่างถูกควบคุมตัว โรคประจำตัวซึ่งได้แก่โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและโรคหัวใจเหตุความดันสูง และสารมึนเมาที่อาจมีอยู่ในร่างกายของเขานั้นน่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่การชันสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ครอบครัวของฟลอยด์มอบอำนาจให้พบว่า การเสียชีวิตของฟลอยด์ "เกิดจากภาวะขาดอากาศหายใจเนื่องมาจากแรงกดทับที่คอและหลังซึ่งนำไปสู่การขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง"
การจับกุมเกิดขึ้นหลังจากฟลอยด์ถูกกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมในร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง ตำรวจกล่าวว่าฟลอยด์ขัดขืนการจับกุม แต่องค์การสื่อบางแห่งให้ความเห็นว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดของร้านอาหารใกล้เคียงไม่แสดงให้เห็นว่าฟลอยด์มีพฤติการณ์เช่นนั้น คำร้องทุกข์ทางอาญาในภายหลังระบุว่า ภาพจากกล้องติดตัวตำรวจแสดงให้เห็นว่า ฟลอยด์กล่าวหลายครั้งว่าเขาหายใจไม่ออกขณะยืนอยู่นอกรถตำรวจโดยไม่ยอมเข้าไปในรถและจงใจล้มลง ผู้ใกล้เหตุการณ์หลายคนบันทึกเหตุการณ์นี้ลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยวิดีโอหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าฟลอยด์กล่าวซ้ำ ๆ ว่า "ขอร้องล่ะ" "ผมหายใจไม่ออก" "แม่" และ "อย่าฆ่าผม" ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในฐานช่องทางสื่อสังคมและในการแพร่ภาพกระจายเสียงของสื่อต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ทั้งสี่นายถูกไล่ออกในวันถัดมา
สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) กำลังสอบสวนเหตุการณ์นี้ในแง่สิทธิพลเมืองตามคำร้องขอของสำนักงานตำรวจมินนีแอโพลิส และสำนักวิเคราะห์อาชญากรรมมินนิโซตา (บีซีเอ) ก็กำลังสืบสวนความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดบทกฎหมายของรัฐมินนิโซตาเช่นกัน ณ วันที่ 29 พฤษภาคม ชอวินถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทำให้คนตายโดยไม่เจตนาฆ่า แต่เจตนาก่อให้เกิดอันตราย (third-degree murder) และข้อหาทำให้คนตายโดยประมาท (second-degree manslaughter) ไมเคิล โอ. ฟรีแมน อัยการเทศมณฑลเฮนเนพิน กล่าวว่า เขาคาดว่าจะมีการตั้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่อีกสามนายที่อยู่ในเหตุการณ์
หลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ การเดินขบวนและการประท้วงในเขตมหานครมินนีแอโพลิส–เซนต์พอลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เป็นไปด้วยความสงบในช่วงแรก แต่ต่อมาในวันเดียวกันก็ลุกลามเป็นการจลาจล โดยกระจกหน้าต่างสถานีตำรวจแห่งหนึ่งถูกทุบแตก ร้านค้าสองร้านถูกวางเพลิง และร้านค้าอีกหลายร้านถูกฉกชิงทรัพย์สินและถูกทำลาย ผู้ประท้วงบางคนปะทะกับตำรวจซึ่งยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง การประท้วงเพิ่มเติมเกิดขึ้นในมากกว่า 100 เมืองทั่วทั้ง 50 รัฐในสหรัฐเช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ การเสียชีวิตของฟลอยด์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตของเอริก การ์เนอร์ ใน พ.ศ. 2557 การ์เนอร์ซึ่งเป็นชายผิวดำที่ไม่มีอาวุธเช่นกันได้กล่าวว่า "ผมหายใจไม่ออก" สิบเอ็ดครั้งหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กนายหนึ่งล็อกคอไว้กับพื้นระหว่างการจับกุมในเกาะสแตเทน