Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

กาฬมรณะ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ระวังสับสนกับ กาฬโรค
การแพร่กระจายของกาฬมรณะในยุโรปและตะวันออกใกล้ (1346–1353)

กาฬมรณะ (อังกฤษ: Black Death) หรือ กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague) หรือ มฤตภาพครั้งใหญ่ (Great Mortality) คือเหตุการณ์โรคระบาดทั่วซึ่งสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีผู้เสียชีวิตราว 75 ถึง 200 ล้านคนในทวีปยูเรเชีย ระบาดรุนแรงสูงสุดในยุโรปช่วงปี 1347 ถึง 1351 เชื่อกันว่าเกิดจากแบคทีเรีย Yersinia pestis ซึ่งก่อให้เกิดกาฬโรคหลายรูปแบบ (กาฬโรคเลือด, กาฬโรคปอด, กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง)

เหตุครั้งนี้ถือเป็นการระบาดครั้งแรกของกาฬโรคในแผ่นดินยุโรป และเป็นการระบาดที่สองในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นราว 800 ปีก่อนหน้า) กาฬมรณะก่อให้เกิดกลียุคทางศาสนา สังคมและเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ยุโรป

ประเมินกันว่ากาฬมรณะมีผู้เสียชีวิต 30% ถึง 60% ของประชากรในทวีปยุโรป ลดประชากรโลกจากประมาณ 450 ล้านคน ลงเหลือ 350–375 ล้านคนในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และใช้เวลาราว 200 ปี ในการเพิ่มประชากรยุโรปกลับมาดังเดิม บางพื้นที่อย่าง ฟลอเรนซ์ต้องใช้เวลาเกือบ 500 ปีกว่าประชากรจะกลับมาเท่าเดิม กาฬโรคกลับมาระบาดซ้ำเป็นครั้งคราวกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

คาดกันว่ากาฬมรณะมีจุดกำเนิดในจีนหรือเอเชียกลาง จากนั้นแพร่มาตามเส้นทางสายไหมจนถึงไครเมียในปี 1343 และมีหมัดหนูตะวันออก (Xenopsylla cheopis) ซึ่งอาศัยอยู่ในหนูท้องขาวที่ติดมากับเรือพาณิชย์ของเจโนวานำโรคจากไครเมียแพร่กระจายไปทั่วลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงส่วนที่เหลือของยุโรปผ่านคาบสมุทรอิตาลี

ที่มาของชื่อ

วลี "กาฬมรณะ" (mors nigra) ถูกใช้ในปี 1350 โดยซิมมอน เดอ โควิโน (Simon de Covino) หรือโควิน (Couvin) นักดาราศาสตร์ชาวเบลเยียมผู้ประพันธ์บทกวี "De judicio Solis in convivio Saturni" (คำพิพากษาของดวงอาทิตย์ในงานเลี้ยงฉลองของดาวเสาร์) ซึ่งให้เหตุผลว่ากาฬโรคเกิดจากการรวมตัวกันของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ในปี 1908 ฟรังซีส ไอแดน กาสเกต (Francis Aidan Gasquet) อ้างว่าชื่อ atra mors สำหรับโรคระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ปรากฏครั้งแรกในหนังสือปี 1631 ชื่อประวัติศาสตร์เดนมาร์ก เขียนโดย เจ.ไอ. พอนเทนนัส (Johannes Isacius Pontanus) "ที่พวกเขาเรียกกาฬมรณะนั้นมาจากอาการของโรค" (Vulgo & ab effectu atram mortem vocitabant). ชื่อกาฬมรณะได้แพร่กระจายผ่านสแกนดิเนเวียไปจนถึงเยอรมนี และค่อยๆกลายเป็นชื่อของโรคระบาดกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14

อย่างไรก็ตาม atra mors ยังถูกใช้อ้างถึงการระบาดของไข้หวัด (febris pestilentialis) ในหนังสือคริสต์ศตวรรษที่ 12 De signis et sinthomatibus egritudinum (สัญญาณและอาการของโรค) เขียนโดยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ฌีล เดอ คอร์เบล (Gilles de Corbeil) ในภาษาอังกฤษ วลีนี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1755 นักเขียนร่วมสมัยเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague)" หรือ "โรคระบาดครั้งใหญ่ (great pestilence)"

ลำดับเหตุการณ์

ภาพวาดหมอกาฬโรค ซึ่งเป็นหมอที่รับรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

ต้นกำเนิด

กาฬโรคมีสาเหตุมาจากเชื้อ Yersinia pestis ซึ่งมีวงจรชีวิตในประชากรหมัดในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น มาร์มอต ในหลายพื้นที่ประกอบด้วยเอเชียกลาง, เคอร์ดิสถาน, เอเชียตะวันตกเฉียงใต้, อินเดียเหนือ, และ ประเทศยูกันดา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชีย สัตว์ฟันแทะจึงเริ่มหนีจากทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งไปยังพื้นที่ที่มีประชากรมนุษย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และแพร่กระจายโรค ในเดือนตุลาคม 2010 นักพันธุศาสตร์การแพทย์ได้เสนอว่า การระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคทั้งสามครั้งมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ในปี 2017 การวิจัยหลุมฝังศพคริสต์ศาสนาเนสตอเรียนระหว่างปี 1338–1339 ใกล้กับอือซึก-เกิลในประเทศคีร์กีซสถานซึ่งมีจารึกที่อ้างถึงกาฬโรค ทำให้นักระบาดวิทยาจำนวนมากคิดว่าพวกเขาระบุจุดเริ่มในการระบาดของโรคระบาดได้ ซึ่งจากจุดนี้โรคสามารถแพร่กระจายไปยังจีนและอินเดียได้อย่างง่ายดาย

การวิจัยในปี 2018 พบหลักฐานของ Yersinia pestis ในหลุมฝังศพโบราณในสวีเดน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่อธิบายถึงการลดลงของประชากรในยุคหินใหม่ประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งประชากรในยุโรปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2013 นักวิจัยยืนยันการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคระบาดยุสตินิอานุส (ปี 541–542 และกลับมาระบาดซ้ำจนกระทั่งปี 750) คือ Yersinia pestis

คริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อมองโกลพิชิตประเทศจีน ส่งผลให้การเกษตรและการค้าตกต่ำ เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1330 ด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดส่งผลให้เกิดทุพภิกขภัยในวงกว้าง เริ่มในปี 1331 ด้วยกาฬโรคระบาดมาถึงหลังจากนั้นไม่นาน โรคระบาดซึ่งอาจรวมถึงกาฬโรคด้วยนั้น คร่าชีวิตผู้คนทั่วเอเชียไปประมาณ 25 ล้านคนในช่วงสิบห้าปีก่อนที่โรคจะไปถึงคอนสแตนติโนเปิลในปี 1347

โรคได้ล่องตามเส้นทางสายไหมไปกับกองทัพมองโกลและเหล่าพ่อค้า หรืออาจรวมถึงเรือเดินสมุทรด้วย สิ้นปี 1346 รายงานเกี่ยวกับกาฬโรคก็เดินทางมาถึงท่าเรือในทวีปยุโรป: "อินเดียประชากรลดลง ขณะที่ในทาทารี, เมโสโปเตเมีย, ซีเรีย, อาร์มีเนียถูกปกคลุมไปด้วยศพ"

มีรายงานว่ากาฬโรคถูกนำสู่ยุโรปด้วยพ่อค้าชาวเจโนวาจากเมื่อท่าคัฟฟาในคาบสมุทรไครเมียในปี 1347 ระหว่างการโอบล้อมโจมตีเมืองของกองทัพมองโกล ภายใต้การนำของยานี เบจ (Jani Beg) ทางฝ่ายกองทัพมองโกลต้องเผชิญกับกาฬโรค กองทัพจึงได้ใช้แคทะพัลต์ยิงศพที่ติดเชื้อกาฬโรคข้ามกำแพงเมืองคัฟฟา เพื่อแพร่เชื้อโรคไปยังชาวเมือง พวกพ่อค้าชาวเจโนวาต่างพากันหลบหนี และได้นำเอากาฬโรคไปด้วยผ่านทางเรือเดินสมุทรไปถึงแคว้นซีชีเลีย อิตาลีแผ่นดินใหญ่และกระจายขึ้นเหนือไป ไม่ว่าข้อสันนิษฐานนี้จะถูกต้องหรือไม่ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเหตุหลายประการ เช่น สงคราม ความอดอยาก สภาพอากาศที่เลวร้าย มีส่วนช่วยให้เหตุการณ์กาฬมรณะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในบรรดาต้นเหตุอื่นๆ ของการระบาด การขาดสารอาหาร แม้จะเป็นเหตุทางอ้อมแต่ก็มีส่วนทำให้ประชากรยุโรปสูญเสียมหาศาลเช่นกันเพราะมันทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

การแพร่ระบาดในเอเชีย

จากประวัติศาสตร์ การแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศจีนในช่วงปี ค.ศ. 1330 กาฬโรคเริ่มระบาดในแถบหูเป่ย ในปี ค.ศ. 1334 และเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในระหว่างปี ค.ศ. 1353-1354 จากบันทึกเก่าแก่ของจีน บันทึกไว้ว่า การแพร่ระบาดได้กระจายไปใน 8 พื้นที่ของจีน ได้แก่ หูเป่ย เจียงซี ซานซี หูหนาน กวางตุง กวางซี เหอหนาน และซุยยวน เพียงแต่ว่าข้อมูลนี้ได้มาจากผู้ที่รอดชีวิตจากยุคนั้น และยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมในเบื้องลึก ซึ่งคาดว่ากองคาราวานพ่อค้าชาวมองโกล จะเป็นผู้นำเอากาฬโรคที่ระบาดที่เอเชียตอนกลางมายังยุโรป

การแพร่ระบาดในยุโรป

การแพร่ของแบล็กเดทในทวีปยุโรป

ในเดือนตุลาคม ปี 1347 กองเรือสินค้าที่อพยพมาจากเมืองคัฟฟ่ามาที่ท่าเรือเมสซีนา ประเทศอิตาลี่ ในเวลาที่เรือเทียบท่า ลูกเรือทุกคนติดเชื้อหรือเสียชีวิตแล้ว จึงสัณนิษฐานได้ว่า เรือได้นำเอาหนูติดเชื้อที่เป็นพาหะนำโรคมาด้วย เรือบางลำยังไม่เทียบท่า แต่กลายเป็นเรือร้างลอยลำอยู่กลางน้ำ เพราะว่าทุกคนเสียชีวิตหมด พวกโจรสลัดที่เข้าไปปล้นเรือ ก็ได้ช่วยให้กาฬโรคแพร่ระบาดอีกทางหนึ่ง การระบาดได้กระจายไปยังเจโนวาและเวนิสในช่วงปี 1347-1348

จากประเทศอิตาลี แพร่ระบาดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามยุโรป จู่โจมฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคมปี 1348 หลังจากนั้น ก็แพร่ไปกระจายไปทาง ทิศตะวันออกไปยังประเทศเยอรมนี และแถบสแกนดิเนเวียในช่วงปี 1348-1350 ทั้งยังพบการระบาดที่นอร์เวย์ในปี 1349 และในที่สุดก็ระบาดลุกลามไปยังแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ของรัสเซียในปี 1351 แต่อย่างไรก็ตามการระบาดก็ได้แพร่กระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะที่ยุโรป โปแลนด์ เบลแยี่ยม หรือแม้กระทั่งเนเธอร์แลนด์

การแพร่ระบาดในตะวันออกกลาง

กาฬโรคแพร่กระจายไปในหลายประเทศ ในแถบตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนลงของประชากรอย่างยิ่งยวด และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมไปตลอดนับจากนั้น โดยการแพร่ระบาดมาจากทางตอนใต้ของรัสเซีย ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1347 การแพร่ระบาดได้เข้าไปถึงเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ บางทีอาจผ่านทางเมืองท่า จากการค้าขายกับ คอนสแตนติโนเปิล และเมืองท่าแถบทะเลดำ ในช่วงปี 1348 การระบาดได้ลุกลามไปทางตะวันออกถึงกาซา และไปทางเหนือ ตลอดชายฝั่งทางตะวันออกของ เลบานอน ซีเรีย ปาเลสไตน์ รวมไปทั้งแอชเคลอน อาช เยรูซาเลม ซิดอน ดามัสคัส ฮอมส์ อเลปโป และในปี 1348-1349 โรคระบาดก็ได้เข้าไปถึง แอนทิออช ซึ่งชาวเมืองได้พากันอพยพหนีไปทางทิศเหนือ และส่วนมากจะเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง

นครมักกะฮ์ กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดในปี 1349 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง จากบันทึกได้แสดงให้เห็นถึง เมืองโมซุลที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะโรคระบาดร้ายแรง และนครแบกแดดต้องพบกับการแพร่ระบาดรอบสองในปี 1351 เยเมนก็ประสบปัญหาเดียวกัน อันเนื่องมาจากกษัตริย์มูจาฮิด ของเยเมน ถูกจองจำที่กรุงไคโร ประเทศอิยิปต์ โดยคณะผู้ติดตามของกษัตริย์มูจาฮิดได้ติดเชื้อกาฬโรคจากประเทศอิยิปต์ และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังที่อื่น ๆ

สัญญาณและอาการของโรค

มือที่แสดงให้เห็นถึงนิ้วที่เนื้อตายเน่าเพราะกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองส่งผลให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อตายและเปลี่ยนเป็นสีดำ
ฝีมะม่วงที่ขาหนีบบนต้นขาด้านบนของบุคคลที่ติดเชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง อาการต่อมน้ำเหลืองบวมมักเกิดที่คอ รักแร้ และขาหนีบของผู้ป่วย

ในบันทึกร่วมสมัยจากช่วงเวลาของการระบาดมักจะแตกต่างกันหรือไม่แน่ชัด อาการที่พบบ่อยที่สุดคือพบฝีมะม่วงที่ในขาหนีบ คอ และรักแร้ มีหนองหรือเลือดเมื่อแตกออกโจวันนี บอกกัชโชได้บรรยายไว้ดังนี้:

{{คำพูด | style=font-size:100% | ในชายและหญิงมีความเหมือนกัน เขาทั้งหลายเมื่อแรกเริ่มแพ้ภัยจักมีฝีปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วที่ขาหนีบหรือไม่ก็รักแร้ บางจำพวกโตใหญ่จนมีขนาดเท่าแอปเปิ้ลทั่วไปผลหนึ่ง บางจำพวกโตเพียงเท่าไข่ไก่ ... จากทั้งสองบริเวณ เจ้าก้อนเนื้อแห่งความตายนี้ก็จะเริ่มแพร่และกระจายตัวไปทุกทิศทุกทางในไม่ช้า หลังการนั้น โรคจะมีอาการเปลี่ยนแปลง ในหลายกรณีจะมีจุดดำหรือจุดแดงเข้มขึ้นที่แขนหรือต้นขาหรือที่อื่นๆ จากไม่กี่จุดเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ฝีและจุดดำเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายที่ใกล้เข้ามา

รายละเอียดทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวที่น่าสงสัยในคำอธิบายของบอกกัชโชคือฝีนั้นเป็น "สัญลักษณ์แห่งความตายที่ใกล้เข้ามา" ในขณะที่ถ้าระบายฝีออกมาจะสามารถรักษาได้

ตามด้วยไข้เฉียบพลันและอาเจียนเป็นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตในสองถึงเจ็ดวันหลังจากการติดเชื้อ จุดและผื่นคล้ายกระซึ่งอาจเกิดจากหมัดกัดถูกระบุว่าเป็นสัญญาณของกาฬโรค

ความเสียหายในยุโรป

การฝังศพผู้เสียชีวิตจากกาฬมรณะในเมืองตูร์แน ภาพจากบันทึกของฌีล ลี มุยซี (Gilles Li Muisis) อธิการวัดนักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์แน

มีการประมาณผู้เสียชีวิตจากกาฬมรณะที่เป็นชาวยุโรปอย่างน้อย 1/4 ถึง 2/3 ของประชากรชาวยุโรปทั้งหมด ในระหว่างช่วงปี 1348-1350 หมู่บ้านเล็ก ๆ ตามชนบทมีประชากรลดลง ผู้รอดชีวิตส่วนมากจะพากันอพยพเข้าตัวเมืองที่ใหญ่กว่า แล้วทิ้งหมู่บ้านไป จนเป็นหมู่บ้านร้าง

กาฬมรณะจู่โจมไปถึงวัฒนธรรมอย่างรุนแรง หมู่บ้านที่เคยมีคนอาศัยอยู่มากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีคนอาศัยอยู่เบาบางและโดดเดี่ยวอย่างโปแลนด์กับลิทัวเนียได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ส่วนพื้นที่อื่นอย่างฮังการี บราบันต์ แอโน ลิมบวร์ค ซันติอาโก​ เด​ โกมโปสเตลา กลับไม่ได้รับผลกระทบโดยไม่ทราบสาเหตุ นักประวัติศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานว่าอาณาจักรและดินแดนเหล่านั้นมีมาตราการกักกันโรค หรือไม่ก็มีการระบาดของกาฬโรค แต่ก็เป็นระยะเวลาอันสั้นและไม่มีผลกระทบร้ายแรง

อย่างไรก็ตามพื้นที่เหล่านี้ก็ถูกเล่นงาน ในการแพร่ระบาดใหญ่รอบที่ 2 ในปี 1360-1363 ซึ่งเริ่มมีกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด ของกาฬโรคขึ้นมาหลายกลุ่มแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นที่เป็นที่อพยพหนีกาฬโรคจะเป็น เขตพื้นที่ภูเขาโดดเดี่ยว เพราะว่าเขตตัวเมืองที่มีขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นของประชากรสูง จะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อกาฬโรคได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเมืองในเขตที่สกปรก เต็มไปด้วยแมลงปรสิตอย่าง เห็บ หมัด หนู รวมไปถึงสภาพความอดอยากและ ไม่มีสุขอนามัยที่ดีพอ

ในประเทศอิตาลี เมืองฟลอเรนซ์ในช่วงปี 1338 มีประชากรอยู่ประมาณ 110,000-120,000 คน ถูกกาฬโรคเล่นงานจนเหลือประชากรเพียง 50,000 คนในปี 1351 ที่นครฮัมบวร์คกับเบรเมิน ประชากรเสียชีวิตจากกาฬโรคไปราว ๆ 60%-70% ของประชากรทั้งหมด ในพื้นที่อื่นบางพื้นที่ ประชากร 2/3 ตายเรียบ ที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคราว 70% ซึ่งทำให้ประชากรลดลงจาก 7 ล้านคน เหลือเพียง 2 ล้านคนในปี 1400

กาฬโรคมีผลต่อประชากรทุกระดับชั้นโดยไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นคนระดับล่างที่อยู่ในที่สกปรก หรือชนชั้นสูง พระเจ้าอัลฟองโซที่ 11 แห่งคาสตีล เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่เสด็จสวรรคตจากกาฬโรค พระเจ้าปีเตอร์ที่ 4 อารากอน สูญเสียมเหสี ลูกสาว และหลานสาวในเวลาหกเดือน จักรพรรดิไบเซนไทน์สูญเสียพระโอรส

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม

รัฐบาลในยุโรปไม่มีนโยบายที่แน่ชัด ในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อกาฬโรค เพราะว่าไม่มีใครรู้สาเหตุของการแพร่ระบาด พวกผู้มีอำนาจปกครองส่วนใหญ่ จึงใช้วิธีห้ามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค กวาดล้างตลาดมืด ควบคุมราคาธัญพืช และการหาปลาบริเวณกว้างแบบผิดกฎหมาย ความพยายามต่าง ๆ นานา นี้ส่งผลกระทบไปถึงประเทศที่เป็นหมู่เกาะ อย่างเช่น อังกฤษไม่สามารถนำเข้าธัญพืชจากฝรั่งเศสได้ เพราะฝรั่งเศสระงับการส่งออก อีกทั้งยังผู้ผลิตส่วนมากไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เต็มที่ เพราะว่าขาดแคลนแรงงาน ซ้ำร้ายผลผลิตที่เตรียมส่งออกแต่ถูกระงับ ก็ถูกปล้นสะดมโดยพวกโจรสลัด และหัวขโมยที่จะเอาไปขายต่อในตลาดมืด ในขณะเดียวกัน ประเทศที่ค่อนข้างใหญ่อย่างอังกฤษ และสก็อตแลนด์ก็ตกอยู่ในช่วงภาวะสงคราม และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการรับมือ ปัญหาสินค้าราคาสูง

ในปี 1337 อังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ในช่วงสงครามที่รู้จักกันในชื่อสงครามร้อยปี จากงบประมาณที่ร่อยหรอ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก บ้านเมืองถูกทำลายจากภาวะสงคราม ความอดอยากหิวโหย โรคระบาด และเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ภาวะช่วงกลางของศตวรรษที่ 14 นี้ของยุโรป เหมือนตกอยู่ในฝันร้าย

กาฬโรคไม่เพียงแต่ทำให้ประชากรล้มตายราวใบไม้ร่วง จนกระทั่งจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยลดลงเท่านั้น แต่มันยังส่งผลทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผิดคาดอีกด้วย นักประวัติศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ เฟอร์นัล บรูเดล (Fernand Braudel) ได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับกาฬมรณะไว้อย่างน่าสนใจว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ระหว่างภายหลังศตวรรษที่ 14 กับช่วงศตวรรษที่ 15 ศาสนจักรเสื่อมอำนาจลงผู้ดำรงตำแหน่งทางสังคมเปลี่ยนจากพวกศาสนจักรเป็นสามัญชน และทำให้เกิดการประท้วงของชนชั้นสามัญไปทั่วทั้งยุโรป

ยุโรปก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาภาวะประชากรล้นเมือง มีความเห็นว่ากาฬมรณะทำให้ประชากรลดลงราว 30%-50% ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น มีที่ดินและอาหารเพียงพอจัดสรรให้ชนชั้นสามัญ แต่ว่าความเห็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอยู่ เพราะว่าประชากรชาวยุโรป เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1420 จนกระทั่งเริ่มเพิ่มขึ้นอีกทีในปี 1470 ดังนั้นกาฬมรณะจึงยังไม่มีเหตุผลสนับสนุนที่มีน้ำหนักพอ กับประเด็นที่ว่ามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจพัฒนาขึ้นหรือไม่

การสูญเสียประชากรอย่างมาก ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงแรงงานระหว่างนายที่ดิน โดยการเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการแรงงานเพื่อดึงดูดใจแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัด จากภาวะขาดแคลนแรงงานนี้เอง ทำให้ชนชั้นสามัญมีโอกาสเรียกร้องสิทธิที่มากขึ้น และเป็นเวลากว่า 120 ปี ประชากรชาวยุโรปจึงจะเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ดูเพิ่ม

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น



Новое сообщение