Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ความผิดปกติของการรับประทาน
ความผิดปกติของการรับประทาน | |
---|---|
สาขาวิชา | จิตเวชศาสตร์ |
อาการ | มีนิสัยการกินผิดปกติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายหรือจิต |
ภาวะแทรกซ้อน | โรควิตกกังวล ซึมเศร้า การใช้สารเสพติด |
ประเภท | ความผิดปกติของการรับประทานแบบตะกละ โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ อาการหิวไม่หาย อาการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร ความผิดปกติแบบสำรอก ความผิดปกติการเลี่ยง/จำกัดการกินอาหาร |
สาเหตุ | ไม่ชัดเจน |
ปัจจัยเสี่ยง | โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ประวัติการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นนักเต้นรำ |
การรักษา | การให้คำปรึกษา อาหารเหมาะสม และการออกกำลังกายปริมาณปกติ |
ความผิดปกติของการรับประทาน (อังกฤษ: eating disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตซึ่งนิยามจากนิสัยการกินที่มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพทางกายหรือจิตของบุคคล ได้แก่ ความผิดปกติของการรับประทานแบบตะกละ (binge eating disorder) ซึ่งบุคคลกินปริมาณมากในเวลาอันสั้น โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจซึ่งบุคคลกินน้อยมากและมีน้ำหนักตัวต่ำ โรคบูลิเมีย เนอร์โวซา ซึ่งบุคคลกินมากและพยายามล้วงเอาอาหารออกเอง อาการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (pica) ความผิดปกติแบบสำรอก (rumination) ความผิดปกติเลี่ยง/จำกัดการกินอาหาร (avoidant/restrictive food intake disorder) ซึ่งบุคคลไม่อยากอาหาร และกลุ่มความผิดปกติของการให้อาหารหรือการรับประทานที่จำแนกไว้อื่น มักพบโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้าและการใช้สารเสพติด (substance abuse) ในผู้ที่มีความผิดปกติของการรับประทาน โรคอ้วนไม่นับว่าเป็นโรคกลุ่มนี้
สาเหตุของความผิดปกติของการรับประทานยังไม่ชัดเจน ดูเหมือนทั้งปัจจัยทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมมีผลทั้งคู่ เชื่อว่าวัฒนธรรมยกยอความผอมก็มีส่วนเช่นกัน ความผิดปกติของการรับประทานพบในร้อยละ 12 ของนักเต้นรำ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมีโอกาสเกิดความผิดปกติของการรับประทานมากขึ้น ความผิดปกติบางชนิด เช่น อาการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารและความผิดปกติแบบสำรอกเกิดในผู้มีสติปัญญาบกพร่องมากกว่า ทั้งนี้ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของการรับประทานได้อย่างเดียวเท่านั้น
การรักษาได้ผลสำหรับความผิดปกติของการรับประทานหลายชนิด ตรงแบบมักใช้การให้คำปรึกษา อาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายปริมาณปกติ และการลดความพยายามล้วงอาหารออก บางกรณีอาจจำเป็นต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล อาจใช้ยาสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการร่วม ในเวลาห้าปี ผู้ป่วยโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจร้อยละ 70 และอาการหิวไม่หายร้อยละ 50 กลับเป็นปกติ การฟื้นจากความผิดปกติของการรับประทานแบบตะกละมีความชัดเจนน้อยกว่าและประมาณไว้ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 60 ทั้งโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจและอาการหิวไม่หายเพิ่มโอกาสเสียชีวิต
ในปีหนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้วพบความผิดปกติของการรับประทานแบบตะกละในหญิงประมาณร้อยละ 1.6 และชายร้อยละ 0.8 โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจพบในประชากรประมาณร้อยละ 0.4 และอาการหิวไม่หายในหญิงอายุน้อยประมาณร้อยละ 1.3 หญิงมากถึงร้อยละ 4 มีโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ ร้อยละ 2 มีอาการหิวไม่หาย และร้อยละ 2 มีความผิดปกติของการรับประทานแบบตะกละในช่วงใดช่วงหนึ่ง โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจและอาการหิวไม่หายเกิดในหญิงมากกว่าชายเกือบ 10 เท่า ตรงแบบเริ่มในปลายวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อัตราของความผิดปกติของการรับประทานแบบอื่นไม่ชัดเจน อัตราของความผิดปกติของการรับประทานดูพบน้อยกว่าในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า