Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ความเครียด (จิตวิทยา)

    ความเครียด (จิตวิทยา)

    Подписчиков: 0, рейтинг: 0
    ชายผู้มีกิริยาแสดงว่าเครียดคือจับศีรษะด้วยมือทั้งสอง

    ในสาขาจิตวิทยา ความเครียด เป็นความรู้สึกตึง/ล้าทางใจ หรือการเสียศูนย์/ความสมดุลทางใจที่มีมาก่อน เนื่องจากการได้รับสิ่งเร้า/ปัจจัยไม่ว่าทางกายหรือใจ ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจริง ๆ หรือไม่ เช่น อากาศร้อน ถูกติเตียนต่อหน้าสาธารณชน หรือได้รับสิ่งเร้า/ประสบการณ์อื่น ๆ ที่ไม่น่าชอบใจ และโดยทั่วไปหมายถึงอารมณ์เชิงลบซึ่งบุคคลปกติพยายามจะหลีกเลี่ยง เป็นอารมณ์ที่เกิดพร้อมกับการปรับตัวทางสรีรภาพ ทางประชาน และทางพฤติกรรม เป็นความทุกข์ทางใจอย่างหนึ่ง ความเครียดเล็กน้อยอาจเป็นเรื่องที่น่าต้องการ มีประโยชน์ และแม้แต่ดีต่อสุขภาพ เช่น ความเครียด "เชิงบวก" ที่ช่วยให้นักกีฬาเล่นกีฬาได้ดีขึ้น มันยังเป็นปัจจัยสร้างแรงจูงใจ การปรับตัว และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม แต่การเครียดมากอาจทำอันตรายต่อร่างกาย เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดอุดตันในสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด แผลเปื่อย และโรคทางใจ เช่น โรคซึมเศร้า

    ความเครียดอาจมาจากปัจจัยภายนอกและเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็อาจมีเหตุจากการรับรู้ภายในที่ทำให้บุคคลรู้สึกวิตกกังวลหรือเกิดอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ เช่น รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ เป็นต้น แล้วทำให้เครียด นักวิชาการจึงได้นิยามความเครียดไว้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมที่บุคคลจัดว่าสำคัญต่อตน และรู้สึกหนักเกินกว่าที่ตนจะรับมือได้

    การรวมความเครียดแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

    มุมมองเกี่ยวกับความเครียดที่ไม่ค่อยพิจารณาอย่างหนึ่งก็คือทำให้ปรับตัวได้ดี คือ ความเครียดแบบดีจะเป็นแรงจูงใจและสร้างความท้าทายแทนที่จะทำให้วิตกกังวล ความเครียดแบบดี (eustress) จะต่างกับความเครียดที่ไม่ดี (distress) อย่างสำคัญ แม้จะเรียกรวม ๆ ว่าความเครียดเหมือนกัน แต่ก็ควรมองเป็นแนวคิดที่ต่างกัน

    รูปแบบต่าง ๆ

    แพทย์ชาวออสเตรีย-แคนาดา แฮนส์ เซ็ลเย (Hans Selye ผู้บางคนเรียกว่า "บิดาเรื่องความเครียด") เสนอว่า มีความเครียด 4 รูปแบบ ในแนวหนึ่ง มีความเครียดแบบดี (eustress) และแบบไม่ดี (distress) ที่จุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างความเครียดแบบดีให้มากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในอีกแนวหนึ่ง มีความเครียดเกิน (hyperstress) และความเครียดน้อยเกิน (hypostress) ที่จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้สมดุลเท่าที่จะเป็นไปได้ แนวคิดเช่นนี้มีผลดีกับการทำประโยชน์ในชีวิตอย่างมาก เพราะเป็นเหตุให้ทำงานอย่างสุขใจแทนที่จะเบื่อซึ่งเกิดเมื่อเครียดแบบไม่ดี

    ความเครียดที่ดีและไม่ดี

    คำว่า eustress มาจากรากภาษากรีก “eu” ซึ่งแปลว่าดี ดังที่ใช้ในคำว่า euphoria (ความเป็นสุขอย่างที่สุด) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมองสิ่งที่ก่อความเครียด (stressor) ในแง่ดี ส่วนคำว่า distress มาจากรากคำภาษาละติน คือ “dis” ซึ่งเปลี่ยนคำให้มีความหมายตรงกันข้าม เช่นคำว่า dissonance (ความไม่กลมกลืน) และ disagreement (ข้อขัดแย้ง)

    ความเครียดที่ไม่ดี/ความทุกข์มีผลไม่ดีต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเกิดเมื่อความต้องการเหนือสมรรถภาพการรับมือของบุคคลอย่างมาก

    ผลต่อสุขภาพ

    หญิงเครียดกำลังรอพบแพทย์

    ความเครียดน่าจะสัมพันธ์กับความเจ็บป่วย ทฤษฎีที่เชื่อมความเครียดกับความเจ็บป่วยเสนอว่า ทั้งความเครียดฉับพลันและเรื้อรังอาจทำให้ป่วย โดยมีงานศึกษาหลายงานที่พบเช่นนี้ ตามทฤษฎี ความเครียดทั้งสองแบบอาจเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมและร่างกาย พฤติกรรมรวมทั้งการสูบบุหรี่ การกิน และการออกกำลัง ความเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพรวมทั้งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก/แกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล และระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดี กำลังของความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับความเจ็บป่วยที่พบก็ต่าง ๆ กันมาก

    ความเครียดอาจทำให้บุคคลเสี่ยงโรคกายต่าง ๆ เช่น เป็นหวัด เหตุการณ์เครียดในชีวิต เช่น การเปลี่ยนงาน อาจทำให้นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือมีปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ

    งานวิจัยแสดงว่า รูปแบบตัวก่อความเครียด (เช่น แบบฉับพลันหรือแบบเรื้อรัง) และลักษณะบุคคล เช่น อายุและสุขภาพ ที่มีอยู่แล้ว จะมีอิทธิพลต่อความเครียดที่เกิด บุคลิกภาพของบุคคล (เช่น ระดับ neuroticism) กรรมพันธุ์ และประสบการณ์ในวัยเด็ก เมื่อประกอบกับตัวก่อความเครียดหนักหรือความบาดเจ็บ อาจเป็นตัวกำหนดการตอบสนองต่อตัวก่อความเครียด

    ความเครียดเรื้อรังและการไม่มีหรือไม่ใช้ทรัพยากรเพื่อรับมือกับความเครียดบ่อยครั้งจะสร้างปัญหาทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับตัอก่อความเครียดแบบเรื้อรัง เป็นตัวก่อความเครียดที่อาจไม่หนักเท่ากับความเครียดฉับพลัน เช่น ภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ แต่จะคงยืนเป็นเวลานาน และมักจะมีผลลบต่อสุขภาพมากกว่า เพราะมันคงยืนและทำให้ต้องตอบสนองทุก ๆ วัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายหมดกำลังได้เร็วกว่าและปกติจะเกิดเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่น ความเครียดเนื่องจากอยู่อาศัยในที่ไม่ปลอดภัย) ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาได้พบว่า ผู้ดูแลคนป่วยโดยเฉพาะคนป่วยโรคสมองเสื่อม มีระดับความซึมเศร้าที่สูงกว่า และมีสุขภาพแย่กว่าผู้ไม่ต้องดูแลผู้ป่วย

    งานศึกษายังพบด้วยยว่า ความเครียดเรื้อรังและความดุที่สัมพันธ์กับบุคลิกภาพแบบ A (ช่างแข่งขัน ชอบเข้าสังคม ทะเยอทะยาน ใจร้อน ดุ) บ่อยครั้งสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า ซึ่งมีเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอและระดับความตื่นตัวของระบบประสาทซิมพาเทติกซึ่งสูง โดยเป็นส่วนของการตอบสนองทางสรีรภาพต่อเหตุการณ์เครียด

    อย่างไรก็ดี บางคนอาจมีใจแข็งแกร่ง (hardiness) ซึ่งหมายถึงสมรรถภาพในการมีสุขภาพทางจิตดีแม้จะเครียดอยู่เสมอ ๆ นักจิตวิทยาในปัจจุบันกำลังศึกษาปัจจัยที่ทำให้คนที่แข็งแกร่งสามารถรับมือกับความเครียดและหลีกเลี่ยงปัญหาทางร่างกายจิตใจที่สัมพันธ์กับการมีความเครียดสูง

    ปัญหาเช่นอาการหลงผิด (delusion)โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ อาจสัมพันธ์กับความเครียด

    ถึงกระนั้น ทุกคนก็จะเครียดบ้าง และแพทย์เท่านั้นที่จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเครียด ตามงานทบทวนวรรณกรรมปี 2016 ความวิตกกังวลระดับเป็นโรคและความเครียดเรื้อรังจะทำให้เขตสมองคือฮิปโปแคมปัสเสื่อมและทำงานพิการ

    มันเชื่อมานานแล้วว่า อารมณ์เชิงลบ เช่น ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า อาจมีอิทธิพลต่อโรคกาย ซึ่งก็จะมีผลต่อกระบวนการทางชีวภาพอันอาจทำให้เสี่ยงโรคเพิ่มขึ้นในที่สุด แต่งานศึกษาต่าง ๆ ก็ได้แสดงว่า นี่ไม่จริงเป็นบางส่วน คือแม้ความเครียดดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่ดี แต่ความรู้สึกว่า ความเครียดเป็นอันตรายก็จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเครียดอย่างเรื้อรัง ก็จะเสี่ยงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรทางสรีรภาพ ทางอารมณ์ และทางพฤติกรรม ซึ่งอาจก่อโรค ความเครียดเรื้อรังเป็นผลของเหตุการณ์เครียดเป็นระยะเวลานาน เช่น การดูแลคู่ชีวิตที่สมองเสื่อม หรือเป็นผลของเหตุการณ์เครียดชั่วคราวแต่รู้สึกเครียดเป็นระยะเวลานาน เช่น การถูกทำร้ายทางเพศ แม้ความเครียดบ่อยครั้งจะเชื่อมกับความเจ็บป่วยหรือโรค แต่คนปกติโดยมากก็ยังไร้โรคแม้หลังจากประสบกับเหตุการณ์เครียดแบบเรื้อรัง อนึ่ง บุคคลที่ไม่เชื่อว่าความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพของตน ก็ไม่เสี่ยงเพิ่มต่อความเจ็บป่วย โรค หรือความตาย ซึ่งแสดงว่า ความเครียดมีอิทธิพลการก่อโรคในแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน เป็นความต่างเนื่องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์และทางจิตใจ อนึ่ง อายุที่ประสบกับความเครียดจะเป็นตัวกำหนดผลต่อสุขภาพด้วย งานวิจัยแสดงว่า ความเครียดเรื้อรังในวัยเด็กจะมีผลต่อการตอบสนองทางชีวภาพ ทางจิตใจ และทางพฤติกรรมต่อความเครียดที่ได้รับต่อ ๆ มาตลอดชีวิต

    เพราะความเครียดมีผลต่อกาย บางคนก็อาจไม่แยกแยะปัญหานี้กับโรคอื่น ๆ ถ้าอาการชัดเจน (เช่น มีก้อนที่หน้าอก) บุคคลจะไปหาหมอไม่ว่าจะเครียดอยู่หรือไม่ แต่ถ้าอาการไม่ชัดเจน (เช่น ปวดหัว) ก็จะไม่ไปหาหมอเพราะเข้าใจว่าอาการมาจากความเครียดเมื่อสิ่งที่ทำให้เครียดเริ่มเกิดเร็ว ๆ นี้คือไม่เกิน 3 อาทิตย์ และจะไปหาหมอถ้าสิ่งที่ทำให้เครียดมีมานานกว่านั้น

    มะเร็ง

    ในสัตว์ ความเครียดมีผลต่อการเกิด การเติบโต และการแพร่กระจายของเนื้องอกที่ตรวจดู แต่งานศึกษาซึ่งพยายามเชื่อมความเครียดกับความชุกโรคมะเร็งในมนุษย์ก็มีผลไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะออกแบบและทำงานศึกษาที่เหมาะสมได้ยาก ในงานศึกษาในสหราชอาณาจักรงานหนึ่ง ความเชื่อว่าความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเป็นเรื่องสามัญ แต่ความสำนึกถึงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งโดยทั่วไปก็จัดว่าน้อย

    ตัวก่อความเครียดที่เป็นกลาง

    ความเครียดเป็นการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง คือเป็นกลาง แต่ก็จะต่าง ๆ กันในระดับการตอบสนอง มันเกี่ยวกับบริบทของบุคคลและว่า บุคคลมองสถานการณ์นั้นอย่างไร นพ. เซ็ลเยได้นิยามความเครียดว่า "ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง (คือ สามัญ) ต่อความจำเป็นที่เกิดต่อร่างกาย ไม่ว่าจะทางจิตใจหรือทางกาย" นิยามนี้ครอบคลุมนิยามทางการแพทย์ที่กำหนดว่าเป็นความจำเป็นทางกาย และครอบคลุมนิยามของภาษาพูดโดยทั่วไปว่า เป็นความจำเป็นทางจิตใจ

    แม้ตัวก่อความเครียดก็เป็นกลางโดยธรรมชาติเหมือนกัน คือ อาจทำให้ตอบสนองเป็นความเครียดที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับบุคคลว่าจะทำให้เป็นความเครียดที่ดีหรือไม่ดี

    รูปแบบตัวก่อความเครียด

    ตัวก่อความเครียด (stressor) เป็นเหตุการณ์ ประสบการณ์ หรือสิ่งเร้าใดก็ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้บุคคลเครียด โดยบุคคลมองว่าเป็นภัยหรือเป็นข้อท้าทาย และอาจเป็นเรื่องทางกายหรือทางใจ นักวิจัยพบว่า ตัวก่อความเครียดสามารถทำให้เสี่ยงโรคทางกายและใจมากขึ้น เช่น โรคหัวใจและความวิตกกังวล

    ตัวก่อความเครียดมีโอกาสมีผลต่อสุขภาพของบุคคลมากกว่าเมื่อมันเรื้อรัง ทำให้วุ่นวายมาก และมองว่าควบคุมไม่ได้ ในสาขาจิตวิทยา นักวิชาการปกติจะจัดตัวก่อความเครียดเป็นหมวด 4 หมวดคือ วิกฤติการณ์/หายนะ เหตุการณ์สำคัญในชีวิต ปัญหาในชีวิตประจำวัน และตัวก่อความเครียดพื้นหลัง

    วิกฤติการณ์/หายนะ

    ตัวก่อความเครียดเช่นนี้ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าหรือพยากรณ์ได้ และดังนั้น จึงควบคุมไม่ได้ ตัวอย่างรวมทั้งภัยพิบัติใหญ่ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว และสงครามเป็นต้น แม้จะมีน้อย แต่ก็เป็นเหตุให้เครียดมาก งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า หลังภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้ประสบภัยจะเครียดมากขึ้น

    ส่วนความเครียดเนื่องจากการสู้รบเป็นทั้งแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง เพราะต้องทำการอย่างรวดเร็วและเพราะแรงกดดันให้โจมตีก่อน อุบัติเหตุฆ่าฝ่ายเดียวกันจึงอาจเกิดได้ วิธีการป้องกันต้องลดความเครียด เน้นการฝึกระบุยานพาหนะและตัวระบุฝ่ายชนิดอื่น ๆ เพิ่มสำนึกถึงยุทธวิธี และการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องของผู้นำทุกระดับ

    เหตุการณ์สำคัญในชีวิต

    ตัวอย่างสามัญของเหตุการณ์สำคัญในชีวิตรวมทั้งการแต่งงาน การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย การเสียชีวิตของบุคคลที่รัก การได้สมาชิกใหม่ในครอบครัว การย้ายที่อยู่เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะจัดว่าดีหรือไม่ดี อาจทำให้รู้สึกไม่แน่ใจหรือกลัว ซึ่งในที่สุดก็จะก่อความเครียด ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบระดับความเครียดที่สูงขึ้นสำหรับนักเรียนมัธยมที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาปี 1 มีโอกาสเครียดเป็น 2 เท่าของนักศึกษาปีสุดท้าย

    แต่งานวิจัยก็พบว่า เหตุการณ์สำคัญในชีวิตไม่ค่อยเป็นตัวก่อความเครียดที่สำคัญ เพราะเกิดน้อยมาก ระยะเวลาหลังจากเริ่มเกิดและความเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เป็นปัจจัยกำหนดว่า มันเป็นเหตุให้เครียดหรือไม่และเครียดแค่ไหน นักวิจัยได้พบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเดือนที่ผ่านมาโดยทั่วไปจะไม่เชื่อมกับความเครียดหรือความเจ็บป่วย แต่เหตุการณ์เครียดเรื้อรังที่เกิดมากกว่า 2-3 เดือนก่อนจะเชื่อมกับทั้งความเครียด ความเจ็บป่วย และการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ

    อนึ่ง เหตุการณ์ดี ๆ ในชีวิตจะไม่เชื่อมกับความเครียด หรือว่าเชื่อมกับความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ในขณะที่เหตุการณ์ไม่ดีอาจเชื่อมกับความเครียดและปัญหาสุขภาพที่มาด้วยกัน อย่างไรก้ดี ประสบการณ์ดี ๆ และการเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดี อาจเป็นตัวพยากรณ์การลดระดับ neuroticism

    ในชีวิตประจำวัน

    หมู่นี้รวมความรำคาญและความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างรวมการตัดสินใจ การทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือสถานศึกษา รถติด การประสบกับคนน่ารำคาญ ความขัดแย้งกับผู้อื่น เป็นต้น อย่างไรก็ดี แต่ละคนจะมีตัวก่อความเครียดในชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนกัน เพราะทุกคนไม่ได้รู้สึกเหมือนกันว่า เหตุการณ์หนึ่ง ๆ ก่อความเครียด ยกตัวอย่างเช่น คนโดยมากอาจจะรู้สึกเครียดกับการกล่าวปาฐกถา แต่นักการเมืองมืออาชีพอาจไม่รู้สึกเช่นนี้

    ความยุ่งยากในชีวิตประจำวันเป็นตัวก่อความเครียดที่มีบ่อยที่สุดสำหรับผู้ใหญ่โดยมาก จึงทำให้มีผลทางสรีรภาพมากที่สุดต่อบุคคล นักวิชาการได้ตรวจระดับความเครียดเพราะความยุ่งยากในชีวิตเทียบกับอัตราการตาย แล้วสรุปว่า มีสหสัมพันธ์อย่างมีกำลังระหว่างบุคคลที่จัดความยุ่งยากในชีวิตประจำวันว่าเครียดมากกับอัตราการตายที่สูง ดังนั้น ความรู้สึกว่า ความยุ่งยากทำให้เครียดแค่ไหน อาจบรรเทาผลทางสรีรภาพของตัวก่อความเครียดในชีวิตประจำวัน

    ตามจิตวิทยา มีความขัดแย้ง 3 อย่างที่ก่อความเครียด

    • ความขัดแย้งแบบสู้-สู้ (approach-approach conflict) ซึ่งเกิดเมื่อเลือกทางเลือกที่ดูดีเท่า ๆ กัน เช่น จะไปดูภาพยนตร์หรือคอนเสิร์ตดี
    • ความขัดแย้งแบบหลีก-หลีก (avoidance-avoidance conflict) ซึ่งเกิดเมื่อเลือกทางเลือกที่ไม่ดีเท่า ๆ กัน เช่น การต้องกู้ธนาคารเพิ่มโดยมีข้อตกลงที่ไม่ดีเพื่อจ่ายหนี้การจำนอง หรือบ้านที่อยู่ถูกบังคับจำนอง
    • ความขัดแย้งแบบสู้-หลีก (approach-avoidance conflict) เกิดเมื่อต้องเลือกทำสิ่งหนึ่ง ๆ ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย เช่น เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราคาแพง (เช่น ต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่ได้การศึกษาที่ดีกว่าและได้โอกาสการบรรจุงานที่ดีกว่าเมื่อจบการศึกษา)

    ส่วนความเครียดเนื่องกับการเดินทางมีอยู่ 3 หมู่ คือ เสียเวลา เรื่องไม่คาดฝัน (เหตุการณ์ที่ไม่รู้ล่วงหน้า เช่น กระเป๋าเดินทางหายหรือมาช้า) และการไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน

    พื้นหลัง

    ตัวก่อความเครียดพื้นหลัง (ambient stressors) เป็นตัวก่อความเครียดทั่ว ๆ ไป (เทียบกับตัวก่อความเครียดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ) ในระดับต่ำ ที่เป็นส่วนของพื้นหลังสิ่งแวดล้อม และนิยามว่า "เรื้อรัง มีค่าเชิงลบ ไม่เร่งด่วน รู้สึกได้ และพยายามเปลี่ยนพวกมันไม่ได้" ตัวอย่าง เช่น มลภาวะ เสียง ประชากรแออัด และรถติด ไม่เหมือนกับตัวก่อความเครียด 3 อย่างอื่น ๆ ตัวนี้อาจ (แต่ไม่จำเป็นต้อง) มีผลลบต่อความเครียดโดยไม่รู้สึกตัว

    ในองค์กร

    งานศึกษาในกองทัพทหารและสนามรบแสดงว่า ตัวก่อความเครียดที่มีกำลังมากที่สุดอาจเกิดจากปัญหาการจัดระบบองค์กร/หน่วย ความเครียดเช่นนี้สามารถเกิดทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

    การแก้

    การแก้ความเครียด (stress management) หมายถึงเทคนิกและจิตบำบัดมากมายหลายอย่างที่มุ่งควบคุมระดับความเครียด โดยเฉพาะแบบเรื้อรัง ปกติเพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น โดยควบคุมและลดความรู้สึกตึง ๆ ที่เกิดในสถานการณ์เครียดโดยเปลี่ยนอารมณ์หรือเปลี่ยนสถานการณ์

    การป้องกันและการสร้างความยืดหยุ่น

    แม้จะมีเทคนิกที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับผลของความเครียด แต่ก็มีงานศึกษาเรื่องการป้องกันความเครียดด้วย ซึ่งเป็นประเด็นใกล้เคียงกับเรื่อง "psychological resilience" (ความยืดหยุ่นได้ทางใจ) ในจิตวิทยา และมีวิธีที่ทำเองได้เพื่อป้องกันความเครียดและเพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ที่ได้แนวคิดมาจากการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT)

    biofeedback (คือการวัดการตอบสนองทางสรีรภาพด้วยเครื่องมือโดยมีจุดประสงค์เพื่อจะควบคุมการตอบสนองเช่นนั้น ๆ) อาจช่วยแก้ความเครียด งานศึกษาปี 2015 ประเมินผลของ resonant breathing biofeedback (เป็นการสำนึกและควบคุมความต่าง ๆ กันของอัตราการเต้นหัวใจ) ในกลุ่มพนักงานควบคุมการผลิต แล้วพบว่า เทคนิกช่วยลดความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียดอย่างสำคัญ

    กลไกการรับมือ

    ดูบทความหลักที่: การรับมือ (จิตวิทยา)

    แบบจำลองหนึ่งแสดงว่า เหตุการณ์ภายนอกสร้างแรงกดดันให้ทำกิจให้เกิด ให้มีส่วนร่วมกับ หรือให้ประสบกับเหตุการณ์เครียด ความเครียดไม่ใช่เหตุการณ์ภายนอกเอง แต่เป็นการตีความและตอบสนองต่อภัยที่อาจมี ดังนั้น จึงสามารถใช้วิธีการรับมือกับความเครียดได้

    มีวิธีการหลายอย่างที่สามารถรับมือกับภัยที่อาจทำให้เครียด แต่บุคคลก็มักจะตอบสนองด้วยรูปแบบการรับมืออย่างใดอย่างหนึ่งโดยมาก เช่น โดยไม่สนใจความรู้สึก หรือเปลี่ยนสถานการณ์ที่ทำให้เครียด มีหมวดหมู่การรับมือ/กลไกป้องกันตัวหลายอย่างโดยเป็นไปตามแนวคิดทั่วไปที่เหมือนกัน คือมีวิธีการรับมือกับความเครียดที่ดี/ให้ประโยชน์ และที่ไม่ดี/ไม่มีประโยชน์ เพราะความเครียดเป็นความรู้สึก วิธีการที่จะกล่าวดังต่อไปนี้บางอย่างอาจไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์ที่ทำให้เครียด แต่จัดว่าเป็นวิธีการรับมือก็เพราะช่วยให้บุคคลแก้ความรู้สึกเชิงลบและความวิตกกังวลได้ดีกว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาที่เป็นเหตุ กลไกเหล่านี้ปรับมาจาก DSM-IV Adaptive Functioning Scale (1994) ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA)

    กลไกที่ปรับตัวได้ดี ต้องทำการ มุ่งแก้ปัญหา

    ทักษะเหล่านี้ช่วยเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง หรืออย่างน้อยก็จัดการอารมณ์เชิงลบอย่างเป็นประโยชน์ คือ โดยทั่วไปเป็นการปรับตัวได้ดี (generally adaptive)

    • การผูกพัน (affiliation) เช่น การดูแลและหาเพื่อน ซึ่งจัดการความเครียดโดยหาความช่วยเหลือ/หาการสนับสนุนจากผู้อื่น/เครือข่ายสังคม แต่ไม่ใช่โดยไม่รับผิดชอบหรือทำให้เป็นหน้าที่ของผู้อื่น
    • อารมณ์ขัน (humor) คือมองออกนอกสถานการณ์เพื่อให้ได้มุมมองกว้าง ๆ และเพื่อเน้นจุดขำ ๆ ที่พบในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย
    การรับมือผ่านอารมณ์ขัน
    สมาคมอารมณ์ขันประยุกต์และเพื่อบำบัดโรค (Association for Applied and Therapeutic Humor) นิยามอารมณ์ขันบำบัดว่าเป็น "วิธีการรักษาที่โปรโหมตสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยกระตุ้นการค้นพบ การแสดงออก หรือการเห็นคุณค่าแบบเล่น ๆ ของความน่าขันหรือความไม่กลมเกลียวกันของชีวิตตนเอง การรักษานี้อาจปรับปรุงสุขภาพหรือใช้รักษาความเจ็บป่วยแบบเสริม เพื่ออำนวยให้หายหรือให้รับมือกับสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะทางกาย ทางอารมณ์ ทางประชาน หรือทางจิตวิญญาณ"
    ประสาทแพทย์ผู้มีชื่อเสียง คือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้เสนอว่า อารมณ์ขันเป็นกลยุทธ์ป้องกันตัวที่ดีในสถานการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสีย เพราะเมื่อหัวเราะในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ก็จะทำให้หายวิตกกังวลแล้วคิดได้ดีขึ้น เมื่อสามารถมองสถานการณ์ในแง่มุมอื่น ๆ ก็จะรู้สึกว่าสามารถควบคุมปฏิกิริยา/การตอบสนองของตนได้ แล้วแก้ปัญหาที่เป็นเหตุให้เครียดได้
    นักจิตวิทยาผู้หนึ่ง (HM Lefcourt) เสนอว่า อารมณ์ขันซึ่งเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้มีประสิทธิผลดีเพราะแยกตนเองออกจากสถานการณ์และความเครียด งานศึกษาได้แสดงว่า การหัวเราะและอารมณ์ขันจะบรรเทาความเครียดโดยผลอาจคงยืนถึง 45 นาทีหลังหัวเราะ.
    อนึ่งพบว่า เด็กที่เข้า รพ. หัวเราะและเล่นเพื่อบรรเทาความกลัว ความเจ็บปวด และความเครียด การหัวเราะและอารมณ์ขันจึงสำคัญมากเพื่อรับมือกับความเครียด มนุษย์ควรใช้อารมณ์ขันเป็นวิธีข้ามความเข้าใจเบื้องต้นของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ภายนอก เพื่อให้ได้มุมมองอื่น ๆ เพื่อลดความวิตกกังวล
    • การเปลี่ยนความคิดที่ไม่ดีให้เป็นการกระทำที่ยอมรับได้ (sublimation) ช่วยให้แก้ปัญหาโดยอ้อมโดยไม่มีผลลบหรือเสียความสุขที่พึงได้ วิธีนี้ช่วยให้เปลี่ยนอารมณ์หรือแรงดลใจที่เป็นปัญหาให้เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้
    • การคิดเรื่องดี ๆ (positive reappraisal) คือเปลี่ยนความคิดไปในสิ่งที่ดี ๆ ที่กำลังเกิดหรือยังไม่เกิด ซึ่งอาจช่วยให้พัฒนาตนเอง (personal growth) ให้สำนึกรู้จักตนเอง (self-reflection) และให้สำนึกถึงอำนาจและประโยชน์ของความพยายามของตน ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาในทหารผ่านศึก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผ่านสงครามหรือการรักษาสันติภาพพบว่า ผู้ที่ตีความประสบการณ์การต่อสู้หรืออันตรายในเชิงบวกมักจะปรับตัวได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ทำเช่นนี้

    วิธีการรับมือแบบปรับตัวได้ดีอย่างอื่น ๆ รวมทั้งความหวัง (anticipation) ความเอื้ออาทร (altruism) และการสังเกตตนเอง (self-observation)

    วิธียับยั้งใจ/ปฏิเสธไม่ยอมรับ

    วิธีเหล่านี้ทำให้สำนึกน้อยลง (ในบางกรณีไม่มีเลย) ถึงความวิตกกังวล ภัยต่าง ๆ ความหวาดกลัวเป็นต้น ที่มาจากความรู้สึกว่ามีภัย

    • การเปลี่ยนความคิด (displacement) เป็นการเปลี่ยนความรู้สึกเดือดร้อนไปยังสถานการณ์อื่นที่เป็นภัยน้อยกว่า
    • การเก็บกดความคิด (repression) - เป็นวิธีที่บุคคลพยามยามกำจัดความคิด ความรู้สึก และอารมณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นภัยหรือทำให้กลุ้มใจ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้นาน ๆ นี่ยิ่งกว่า "การปฏิเสธว่าไม่จริง" (denial) ที่เสนอโดยซิกมุนด์ ฟรอยด์
    • ปฏิกิริยาตรงกันข้าม (reaction formation) - เปลี่ยนความรู้สึก ความคิด หรือพฤติกรรมไปในทางตรงกันข้าม เช่น แทนความคิดที่ไม่ต้องการด้วยความคิดตรงกันข้าม (เช่นอาจระงับความรู้สึกรักร่วมเพศโดยเปลี่ยนเป็นเกลียดคนรักร่วมเพศทั้งหมด)

    วิธีอื่น ๆ รวมทั้งการแก้คืน (undoing) การแยกตัวออกจากสถานการณ์ (dissociation) การปฏิเสธว่าไม่จริง (denial) การปฏิเสธว่าตัวเองไม่เป็นโดยโทษคนอื่น (projection) และการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (rationalization) แม้นักวิชาการบางพวกจะอ้างว่า วิธีการรับมือโดยยับยั้งอาจจะเพิ่มระดับความเครียดในที่สุดเพราะไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แต่การแยกตนเองออกจากตัวก่อความเครียดบางครั้งช่วยบรรเทาความเครียดอย่างชั่วคราว แล้วเพิ่มความพร้อมรับมือกับปัญหาในภายหลัง

    วิธีที่ต้องทำการ

    วิธีเหล่านี้ใช้รับมือกับความเครียดเมื่อต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถอยตัวออก

    • แสดงออกสิ่งที่ไม่ควร (acting out) คือทำสิ่งที่ไม่สมควรซึ่งสังคมพิจารณาว่าเป็นปัญหา คือ แทนที่จะพิจารณาหรือแก้ปัญหา บุคคลจะทำสิ่งที่จัดว่า เป็นการปรับตัวที่ไม่ดี
    • งอน (passive aggression) คือบุคคลรับมือโดยอ้อมกับความวิตกกังวลหรือความคิด/ความรู้สึกที่ไม่ดีซึ่งมาจากความเครียด โดยทำกระฟัดกระเฟียดหรือไม่พอใจต่อผู้อื่น การบ่นแต่ปฏิเสธความช่วยเหลือก็รวมอยู่ในหมวดนี้

    การเสริมสุขภาพ

    มีวิธีการอื่นเพื่อรับมือกับความเครียด ทำโดยป้องกันความวิตกกังวลและความเครียด ถ้าฝึกรับมือกับความเครียดทุกวัน ความรู้สึกเครียดและการรับมือกับมันโดยจัดเป็นเหตุการณ์ภายนอกก็จะรู้สึกว่าเป็นภาระน้อยลง

    กลยุทธ์ที่แนะนำเพื่อปรับปรุงการแก้ความเครียดรวมทั้ง

    1. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ คือวางแผนการออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์
    2. หาผู้ช่วยสนับสนุน เพื่อฟัง ให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนแก่กันและกัน
    3. บริหารเวลาที่มี - ตั้งระเบียบการใช้เวลา
    4. จินตนาการภาพตามแนะนำ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ
    5. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตามลำดับ
    6. ฝึกเพื่อสื่อสารความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ (assertiveness training)
    7. เขียนบันทึกประจำวัน เพื่อแสดงออกอารมณ์ที่แท้จริง เป็นการพิจารณาตนเอง
    8. ลดความเครียดในที่ทำงาน คือเปลี่ยนระบบการทำงาน เปลี่ยนสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความเครียด

    วิธีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คือจัดว่าเป็นการปรับตัวที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

    การตอบสนองทางสรีรภาพ

    ความเครียดที่มีผลต่อการสื่อสาร

    ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดโดยประการต่าง ๆ การปรับระดับสารเคมีในร่างกายเป็นวิธีอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนในร่างกายที่มีผลต่อการสื่อสาร

    general adaptation syndrome

    เมื่อวัดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด นักจิตวิทยามักจะใช้แบบจำลอง general adaptation syndrome ของ นพ. แฮนส์ เซ็ลเย ซึ่งบ่อยครั้งเรียกว่าการตอบสนองต่อความเครียดแบบคลาสสิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะธำรงดุล และมีระยะสามขั้นตอนคือ

    1. ปฏิกิริยาตกใจ (alarm reaction) เป็นระยะที่เกิดเมื่อตัวก่อความเครียดปรากฏ ซึ่งร่างกายก็จะเตรียมตัวรับมือ ส่วนสมอง คือ แกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัลและระบบประสาทซิมพาเทติกจะเริ่มทำงาน มีผลให้หลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เช่น cortisol, เอพิเนฟรีน และ norepinephrine เข้าไปในเลือดเพื่อปรับการทำงานของร่างกาย คือ เพิ่มพลังงาน เพิ่มแรงกล้ามเนื้อ ลดความไวเจ็บ หน่วงระบบย่อยอาหาร และเพิ่มความดันโลหิต อนึ่ง กลุ่มนิวรอน locus coeruleus ภายในพอนส์ของก้านสมอง ซึ่งส่งแอกซอนไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง ก็หลั่ง norepinephrine ไปที่นิวรอนอื่น ๆ โดยตรงด้วย norepinephrine ในระดับสูงซึ่งทำงานเป็นสารสื่อประสาทโดยออกฤทธิ์ที่หน่วยรับของมันในเขตสมองต่าง ๆ เช่นที่คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) เชื่อว่ามีผลต่อ executive functions เช่น ความจำใช้งาน (working memory) ที่ทำงานไม่สมบูรณ์เนื่องจากความเครียด
    2. ระยะต่อต้าน/ขัดขืน (resistance) - ร่างกายจะต่อต้านความเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะนี้ จนกระทั่งหมดทรัพยากร ซึ่งนำไปสู่ระยะหมดแรง หรือจนกระทั่งหมดสิ่งเร้าที่ทำให้เครียด เมื่อร่างกายใช้ทรัพยากรหมดไปเรื่อย ๆ บุคคลก็จะรู้สึกเหนื่อยขึ้น ๆ และเสี่ยงต่อโรค นี่เป็นระยะที่โรคกายเหตุจิต (psychosomatic disorder) เริ่มปรากฏ
    3. ระยะเหนื่อย/หมดทรัพยากร (exhaustion) - ร่างกายได้หมดฮอร์โมนและทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องใช้เพื่อจัดการตัวก่อความเครียด บุคคลจะเริ่มแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น วิตกกังวล หงุดหงิด เลี่ยงความรับผิดชอบและความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีพฤติกรรมทำลายตนเอง และตัดสินใจไม่ดี เมื่อมีอาการเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสกระทบกระทั่งกับผู้อื่นสูงขึ้น ทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมโดยสิ้นเชิง การตอบสนองที่ระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานมากเช่นนี้ บ่อยครั้งเรียกว่าการตอบสนองโดยสู้หรือหนี (fight or flight response) ซึ่งรวมการขยายม่านตา หลั่งเอ็นดอร์ฟิน เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ระงับกระบวนการย่อยอาหาร หลั่งเอพิเนฟรีน ขยายหลอดเลือดแดงเล็ก และยุบหลอดเลือดดำ การตอบสนองในระดับสูงเช่นนี้บ่อยครั้งไม่จำเป็นเพื่อรับมือต่อตัวก่อความเครียดและอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ก็เป็นรูปแบบการตอบสนองที่พบในมนุษย์ และบ่อยครั้งนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพซึ่งปกติสัมพันธ์กับความเครียดในะระดับสูง

    คุณภาพการนอน

    การนอนหลับเป็นการพักผ่อนและฟื้นกำลังหลังจากทำงานทั้งวัน ดังนั้น การนอนให้พอจึงสำคัญมากสำหรับคนเครียดเพราะช่วยให้คิดได้ดีขึ้น แต่โชคไม่ดีว่า ความเครียดเปลี่ยนแปลงสภาพทางเคมีของร่างกายแล้วทำให้นอนยาก เช่น ฮอร์โมนสเตอรอยด์ที่หลั่งตอบสนองความเครียดคือ glucocorticoid สามารถขัดการนอน การนอนหลับมี 4 ระยะและระยะที่ลึกสุดและทำให้พักผ่อนได้มากสุด จะได้ก็ต่อเมื่อหลับแล้ว 1 ชม. ถ้าการนอนถูกขัดเรื่อย ๆ ก็จะไม่สามารถพักผ่อนได้เพียงพอ ซึ่งทำให้หงุดหงิดและไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ประสบการณ์เครียดทางสังคมที่มีผลต่อการสื่อสาร

    ความเครียดอาจก่อปัญหาหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่รู้ก็คือสื่อสารได้ไม่ดี ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ความเครียดมีผลต่อการสื่อสาร

    ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

    วัฒนธรรมต่าง ๆ ของโลกสามารถจัดเป็น 2 หมู่ คือสังคมแบบปัจเจกบุคคล และสังคมแบบชุมชนนิยม

    • สังคมแบบปัจเจกบุคคล เช่นที่พบในสหรัฐ ทุกคนเป็นอิสระจากกันและกัน มีความสำเร็จและเป้าหมายเป็นของตนเอง
    • สังคมแบบชุมชนนิยม เช่นที่พบในประเทศเอเชียต่าง ๆ มองสังคมว่าต้องพึ่งซึ่งกันและกัน และให้ค่านิยมแก่ความถ่อมตัวและครอบครัว

    ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้อาจมีผลต่อการสื่อสารระหว่างบุคคลเมื่อเครียด ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของวัฒนธรรมแบบปัจเจกบุคคลอาจลังเลในการขอยาแก้ปวดเพราะไม่ต้องการถูกดูถูกว่าอ่อนแอ แต่สมาชิกของสังคมแบบชุมชนนิยมไม่จำเป็นต้องลังเล เพราะเป็นสังคมที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    การเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว

    การหย่าร้าง ความตาย และการแต่งงานใหม่ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์สร้างความยุ่งเหยิงในครอบครัว แม้ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รับผล แต่ก็อาจมีผลแก่เด็กมากที่สุด เพราะอายุน้อยจึงยังไม่มีทักษะรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ เพราะเหตุนี้ เหตุการณ์เครียดอาจเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก การคบเพื่อนกลุ่มใหม่ หรือการเกิดนิสัยใหม่ที่ไม่ดี เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ความเครียดอาจเป็นตัวจุดชนวน

    การตอบสนองต่อความเครียดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือการคุยกับเพื่อนจินตนาการ เด็กอาจจะรู้สึกโกรธพ่อแม่หรือเพื่อนซึ่งตนรู้สึกว่าทำให้ชีวิตของตนต้องเปลี่ยนไป และต้องการหาคนคุยด้วยแต่ต้องไม่ใช่คนที่โกรธ ดังนั้น จึงคุยกับเพื่อนที่ไม่มี แต่นี่เท่ากับไม่คุยกับบุคคลรอบ ๆ ตัว

    การช่วยเหลือทางสังคมและผลต่อสุขภาพ

    นักวิจัยได้สนใจว่า รูปแบบและระดับความช่วยเหลือทางสังคมที่บุคคลหนึ่ง ๆ ได้รับจะมีผลต่อความเครียดและสุขภาพของบุคคลนั้นเท่าไร งานศึกษาต่าง ๆ ได้พบอย่างสม่ำเสมอว่า ความช่วยเหลือทางสังคมสามารถป้องกันผลความเครียดต่อร่างกายและจิตใจ โดยมีกลไกหลายอย่าง

    แบบจำลองแบบ "ผลโดยตรง" (direct effect) แสดงว่า ความช่วยเหลือทางสังคมมีผลดีโดยตรงต่อสุขภาพเพราะเพิ่มอารมณ์ดี เพิ่มการปรับตัวได้ดี เพิ่มเสถียรภาพพร้อมความแน่นอนของอนาคต และช่วยกันปัญหาทางสังคม ทางกฎหมาย และทางเศรษฐกิจที่อาจมีผลลบต่อสุขภาพ ส่วนแบบจำลองแบบ "ผลกันชน" (buffering effect) แสดงว่า ความช่วยเหลือทางสังคมมีอิทธิพลสูงสุดต่อสุขภาพเมื่อเครียด ไม่ว่าจะช่วยให้มองสถานการณ์อย่างมีภัยน้อยลงหรือช่วยรับมือกับความเครียด และนักวิชาการก็ได้พบหลักฐานสนับสนุนแบบจำลองทั้งสองนี้

    การช่วยเหลือทางสังคมนิยามโดยเฉพาะว่า เป็นการช่วยเหลือทางจิตใจหรือทางสิ่งของที่เครือข่ายสังคมให้ โดยมุ่งช่วยบุคคลให้รับมือกับความเครียด นักวิชาการโดยทั่วไปจะแยกแยะรูปแบบต่าง ๆ ของการช่วยเหลือทางสังคมรวมทั้ง การช่วยเหลือทางสิ่งของ (instrumental support) เช่น ทางการเงิน หรือการช่วยไปส่งหาหมอ, ทางข้อมูล (informational support) เช่น ให้ความรู้ ช่วยเรื่องการศึกษา หรือคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหา, และทางอารมณ์ (emotional support) เช่น ให้ความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ เป็นต้น

    การช่วยเหลือทางสังคมสามารถลดความเครียดที่เกิดช่วงตั้งครรภ์

    การสื่อสารกับคนเครียด

    การช่วยเหลือของเพื่อนและชุมชนจะช่วยให้บุคคลสามารถสื่อสารได้เมื่อเครียด เพราะจะรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมที่ห่วงใยและสนใจกันและกัน ช่วยลดความเครียดและให้รับมือกับมันได้ดีกว่า การช่วยเหลือทางสังคมและทางจิตใจแก่กันและกันบ่งว่า สมาชิกสำคัญและมีคุณค่า

    ความเครียดของบุคคลจะมีผลต่อคนรอบ ๆ ข้างโดยเฉพาะครอบครัว สมาชิกครอบครัวอาจประสบกับอารมณ์ที่ขัดแย้งกันหลายอย่างเมื่อต้องดูแลบุคคลที่รัก คือ ความกรุณา ความต้องการป้องกันภัย และความห่วงใยอาจผสมรวมกับความรู้สึกว่าหมดหนทางและเหมือนกับถูกติดกับ การให้ความช่วยเหลือทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญเมื่อช่วยสมาชิกครอบครัวให้รับมือกับปัญหาเมื่อต้องดูแลบุคคลที่รัก (ผู้เป็นคนเครียด)

    การวัด

    ความเครียดที่บุคคลกำลังประสบในชีวิตสามารถประเมินโดยเทียบกับค่าวัดเหตุการณ์ชีวิต ตัวอย่างเช่น มาตราที่จิตแพทย์พัฒนาขึ้นในปี 1967 และกำหนดเหตุการณ์เครียด 43 อย่างในชีวิต คือ Holmes and Rahe stress scale หรือ Social Readjustment Rating Scale (SRRS)

    เพื่อคำนวณคะแนนรวม ให้บวกค่าการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา คะแนนเกิน 300 แสดงว่ามีโอกาสป่วย คะแนนระหว่าง 150-299 หมายถึงโอกาสเสี่ยงที่รองลงมา และคะแนนน้อยกว่า 150 คือมีโอกาสเสี่ยงป่วยเพียงเล็กน้อย

    เหตุการณ์ชีวิต ค่า
    คู่ครองเสียชีวิต 100
    หย่ากับคู่ครอง 73
    แยกอยู่กับคู่ครอง 65
    ถูกจำคุก 63
    สมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดเสียชีวิต 63
    บาดเจ็บหรือป่วย 53
    แต่งงาน 50
    ถูกไล่ออกจากงาน 47
    กลับดีกับคู่ครอง 45
    เกษียณ 45
    สุขภาพของสมาชิกครอบครัวไม่ดี 44
    ตั้งครรภ์ 40
    ปัญหาทางเพศ 39
    ได้สมาชิกใหม่ในครอบครัว 39
    การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ 39
    การเงินเปลี่ยน 38
    เพื่อนสนิทเสียชีวิต 37
    เปลี่ยนอาชีพใหม่ 36
    ทะเลาะกันมากขึ้น 35
    การจำนอง/หนี้สินสำคัญ 32
    การถูกบังคับเอาทรัพย์จำนอง 30
    หน้าที่รับผิดชอบในการงานเปลี่ยน 29
    บุตรแยกไปอยู่ต่างหาก 29
    ปัญหากับญาติของสามีภรรยา 29
    ประสบความสำเร็จที่ดีเยี่ยม 28
    คู่ครองเริ่มหรือเลิกทำงาน 26
    เริ่มหรือหยุดเรียน 26
    สถานะความเป็นอยู่เปลี่ยนไป 25
    การเปลี่ยนนิสัยตนเอง 24
    ปัญหากับเจ้านาย 23
    เวลาหรือสภาพการทำงานเปลี่ยนไป 20
    เปลี่ยนที่อยู่ 20
    เปลี่ยนสถานศึกษา 20
    เปลี่ยนการพักผ่อนหย่อนใจ 19
    เปลี่ยนกิจกรรมทางศาสนา 19
    เปลี่ยนกิจกรรมทางสังคม 18
    การจำนอง/หนี้สินย่อย ๆ 17
    เปลี่ยนนิสัยการนอน 16
    เปลี่ยนจำนวนการนัดพบกันของครอบครัว 15
    เปลี่ยนนิสัยการกิน 14
    พักร้อน 13
    ทำผิดกฎหมายย่อย ๆ 10

    มีมาตราอีกรุ่นหนึ่งสำหรับเด็ก ดังต่อไปนี้

    เหตุการณ์ชีวิต ค่า
    ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ 100
    พ่อแม่เสียชีวิต 100
    แต่งงาน 95
    พ่อแม่หย่ากัน 90
    เสียรูปโฉมอย่างมองเห็นได้ 80
    เป็นพ่อโดยไม่ได้แต่งงาน 70
    พ่อแม่ถูกจำคุกมากกว่า 1 ปี 70
    พ่อแม่แยกกันอยู่ 69
    พี่น้องเสียชีวิต 68
    เพื่อน ๆ เปลี่ยนการยอมรับ 67
    พี่หรือน้องสาวตั้งครรภ์โดยไม่ได้แต่งงาน 64
    พบว่าตนเป็นลูกเลี้ยง 63
    พ่อแม่แต่งงานใหม่กับพ่อ/แม่เลี้ยง 63
    เพื่อนสนิทเสียชีวิต 63
    มีความพิการแต่กำเนิดที่มองเห็นได้ 62
    ป่วยหนักต้องเข้า รพ. 58
    ตกวิชา 56
    ไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมนอกชั้นเรียน 55
    พ่อหรือแม่เข้า รพ. 55
    พ่อแม่ถูกจำคุกเกิน 30 วัน 53
    เลิกกับแฟน 53
    เริ่มออกเดต 51
    ถูกพักเรียน 50
    เริ่มใช้ยาเสพติดหรือเหล้า 50
    ได้น้องใหม่ 50
    พ่อแม่ทะเลาะกันเพิ่มขึ้น 47
    พ่อแม่เสียงาน 46
    ประสบความสำเร็จที่ดีเยี่ยม 46
    ฐานะทางการเงินของพ่อแม่เปลี่ยนไป 45
    เข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ 43
    เป็นนักเรียนปีสุดท้ายในไฮสกูล 42
    พี่น้องเข้า รพ. 41
    พ่อแม่ไม่อยู่บ้านเพิ่มขึ้น 38
    พี่น้องแยกออกไปอยู่เอง 37
    มีผู้ใหญ่คนที่สามเพิ่มขึ้นในบ้าน 34
    เป็นสมาชิกของโบสถ์อย่างสมบูรณ์ 31
    พ่อแม่ทะเลาะกันน้อยลง 27
    ทะเลาะกับพ่อแม่น้อยลง 26
    พ่อแม่เริ่มทำงาน 26

    เกณฑ์นี้ใช้ในจิตเวชเพื่อกำหนดผลของเหตุการณ์ชีวิต

    ดูเพิ่ม


    Новое сообщение