Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
จานดาวเทียม
จานดาวเทียม จานดาวเทียม หรือจานรับสัญญาณดาวเทียมหมายถึง สายอากาศชนิดหนึ่งซึ่งออกแบบเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมกับการรับสัญญาณจากดาวเทียม ที่ลอยอยู่ในอวกาศและส่งสัญญาณกลับลงมายังพื้นโลก โดยทั่วไปมักมีรูปทรงเป็นรูปจานโค้งแบบพาราโบลา เพื่อให้เกิดการรวมและสะท้อนสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นผิวสำหรับของจานรับสัญญาณสามารถเป็นได้ทั้งพื้นผิวแบบทึบ และพื้นผิวแบบโปร่ง ซึ่งพื้นผิวแบบทึบลมจะไม่สามารถผ่านได้จึงต้านลมมากกว่าแบบโปร่ง
ขนาดของจานรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญสองประการ
- ขนาดของสัญญาณที่รับมาจากดาวเทียม
- ขนาดของสัญญาณรบกวน
ถ้าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณจากดาวเทียมกับสัญญาณรบกวนมีค่ามากเท่าใด ขนาดของจานก็จะเล็กมากเท่านั้น สัญญาณรบกวนมีที่มาได้ 3 ทางหลัก ๆ คือ
- สัญญาณจากฟากฟ้า
- สัญญาณจากพื้นโลกที่มาจากธรรมชาติ
- สัญญาณจากพื้นโลกที่มิใช่จากธรรมชาติ (เกิดจากมนุษย์)
โดยปกติแล้วกำลังสัญญาณจากดาวเทียมจะมีค่าต่ำมาก จึงต้องได้รับการขยายสัญญาณจากอุปกรณ์ที่เรียกว่า แอลเอ็นบี (LNB) ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีจานดาวเทียมหลากหลายยี่ห้อ เช่น ไทยแซท ไอเดียแซท เคเอสทีวี พีเอสไอ ไอพีเอ็ม ดีทีวี จีเอ็มเอ็มแซท ลีโอเทค คิวแซท ทรูวิชั่น ซีทีเอช ฯลฯ ซึ่งมีทั้งแบบ Free To Air และแบบบอกรับสมาชิก
ระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม (ข้อมูลเบื้องต้นประวัติจานดาวเทียม จานดาวเทียม)
จานดาวเทียมแบบฟิกซ์ (รับดาวเทียมดวงเดียว)
- จานดาวเทียมระบบ KU-Band
- จานดาวเทียมระบบ C-Band
- จานดาวเทียมระบบ C/KU-Band
จานดาวเทียมแบบมูฟ (รับดาวเทียมได้หลายดวง)
- จานดาวเทียมแบบมูฟ ระบบ C-Band
- จานดาวเทียมแบบมูฟ ระบบ C/KU-Band
จานดาวเทียมระบบ C-Band
จานดาวเทียมลักษณะโปร่งคล้ายตะแกรงอะลูมิเนียมชุบดำหรือที่เรียกว่าจานดำ C-Bandจะส่งคลื่นความถี่กลับมายังโลกอยู่ในช่วงความถี่ 3.4 - 4.2 GHz ซึ่งจะมีฟุตปริ้นท์ ที่มีขนาดกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ การให้บริการได้หลายประเทศ เช่น ของดาวเทียมไทยคม 2/5 พื้นที่ให้บริการ คือทวีปเอเซีย และยุโรปบางส่วน ข้อดี การเพิ่มจุดรับชมสามารถทำได้ง่ายเนื่องจากรีซีฟเวอร์ระบบราคาไม่แพง ติดตั้งครั้งเดียวจบไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะเป็นช่องฟรีทีวี ข้อเสีย ขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ในการติดตั้ง
จานดาวเทียมระบบ KU-Band
จานสี KU-Band ก็คือ จานดาวเทียมอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะทึบ โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 35 cm., 60 cm. และ 75 cm.จะส่งคลื่นความถี่ 10 - 12 GHz สูงกว่าความถี่ C-Band สัญญาณที่ส่งจะครอบคลุมพื้นที่ได้น้อย จึงเหมาะสำหรับการส่งสัญญาณเฉพาะภายในประเทศ ข้อดี มีขนาดเล็กติดตั้งง่ายใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย รายการช่องจะมีมาก และจะมีการผลิตช่องรายการเพิ่มอยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนย้ายจารดาวเทียมทำได้ง่าย ข้อเสีย ไม่สามารถรับชมรายการได้ในขณะที่ฝนตกหนักหรือขณะที่ท้องฟ้าครื้มมากๆ
ความแตกต่างระหว่าง C-Band กับ KU-Band
สัญญาณที่ส่งลงมา จากดาวเทียมที่สามารถรับในประเทศไทย ปัจจุบัน จะมีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบ C-Band และ KU-Band ระบบ C-Band จะส่งคลื่นความถี่กลับมายังโลกในช่วงความถี่ 3.4-4.2 GHz แบบนี้จะมีฟุตปริ้นกว้างสามารถส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้หลายประเทศ ซึ่งสัญญาณดาวเทียมที่รับได้ จากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นระบบนี้ แต่เนื่องจากสัญญาณครอบคลุมพื้นที่กว้าง ความเข้มสัญญาณจะต่ำ จึงต้องใช้จานขนาด 4-10 ฟุต รับสัญญาณ ภาพจึงจะชัด (รายการส่วนใหญ่เป็นฟรีทีวีของแต่ละประเทศ และส่วนมากสามารถรับชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน ) ระบบ KU-Band จะส่งคลื่นความถี่กลับมายังโลกในช่วงความถี่ 10-12 GHz สัญญาณที่ส่งครอบคลุมพื้นที่ได้น้อย ใช้กับการส่งสัญญาณภายในประเทศ ส่วนใหญ่ใช้กับระบบการให้บริการ เคเบิลทีวี ภายในประเทศ ความเข้มสัญญาณจะสูง จึงใช้จานขนาดเล็ก 35-75 ซม. เช่น UBC (การรับทีวีผ่านดาวเทียมในระบบ KU-Band ส่วนใหญ่ต้องสมัครสมาชิกจึงจะรับชมได้)
- ความเข้มของสัญญาณในการส่ง C-Band จะเบากว่า Ku-Band เป็นเหตุผลในทางเทคนิค ตามข้อที่ 2
- พื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณ ( Beam Coverage Area) ระบบ C-Band จะใช้งานเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่รับสัญญาณได้กว้างขวางทั่วทั้งทวีป แต่ระบบ Ku-Band จะใช้เพื่อครอบคลุมพื้นที่เฉพาะในประเทศ ในทางเทคนิคต้องส่งสัญญาณ C-Band ให้มีความเข้มของสัญญาณน้อยกว่า Ku-Band เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันได้
- ลักษณะของใบจานรับสัญญาณ C-Band จะเป็นตะแกรงโปร่ง หรือทึบ ทรงกลม ขึ้นรูปพาราโบลิค ขนาดทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 - 10 ฟุต ส่วน Ku-Band จะเป็นจานทึบ Offset รูปไข่ ขนาด 0.35 - 1.80 เมตร
- ขนาดของจานรับสัญญาณดาวเทียม จากเหตุผลข้อที่ 1 ทำให้ระบบ Ku-Band สามารถใช้ใบจานขนาดเล็กกว่า C-Band ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น UBC จะใช้ใบจาน offset ขนาด 35 - 75 ซม. ก็สามารถรับสัญญาณได้ดี ในขณะที่ระบบ C-Band ต้องใช้จานขนาดใหญ่กว่าถึง 2-3 เท่า เพื่อให้รับสัญญาณได้ดี
- ลักษณะของแผ่นสะท้อนของใบจาน ระบบ Ku-Band จะเป็นโลหะแผ่นเรียบจะเป็นอลูมีเนียม หรือ เหล็กชุบสี ในขณะที่ C-Band ส่วนใหญ่จะเป็นตะแกรงปั้มเป็นรูเล็กๆ จาน C-Band จานแบบทึบมีให้เห็นบ้างแต่น้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากน้ำหนักมาก และต้านลม แล้วถ้าหากว่า จะใช้จานแบบ C-Band รับสัญญาณระบบ Ku-Band ได้หรือไม่
ตอบว่าได้แต่ในทางกลับกันจะเอาจาน Ku-Band มารับสัญญาณ C-Band ไม่ได้ นอกจากจะใช้จานขนาดใหญ่จริง ๆ
- หัวรับสัญญาณ ซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่า LNBF (Low Noise Block Down Frequency) เป็นตัวแปลงสัญญาณความถี่สูงให้ตำลงมาจนเหมาะสมกับภาครับของเครื่องรับสัญญาณ (Receiver) ซึ่งระบบ C-band จะรองรับความถี่ 3.4-4.2 GHz ในขณะที่ Ku-Band รองรับความถี่ 10-12 GHz จึงใช้แทนกันไม่ได้ อาจมีบางรุ่นที่ทำแบบ 2 in 1 คือ เอาหัว 2 ระบบบรรจุไว้ใน Case เดียวกัน
- เครื่องรับสัญญาณ (Receiver) โดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนอกจากผู้ผลิตจะเจตนาให้ตัวเครื่องรับได้เฉพาะระบบ เช่น เครื่องรับสัญญาณของ UBC จะไม่สามรถนำมาใช้รับสัญญาณระบบ C-Band ได้ โดยทั่วไปเครื่องรับสามารถรับสัญญาณได้ทั้ง 2 ระบบ เพียงตั้งค่า LNBF ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง
ข้อควรรู้เพิ่มเติม คือ ระบบ Ku-Band เป็นระบบที่ส่งสัญญาณด้วยความถี่สูง ซึ่งจะมีปัญหาการรับสัญญาณในขณะฝนตกหนัก การเพิ่มขนาดใบจานอาจช่วยได้บ้างแต่ถ้าฝนตกหนัก เมฆหนาทึบ จะรับสัญญาณไม่ได้ ในขณะที่ C-Band จะเหนือกว่าตรงที่ไม่มีปัญหาขณะฝนตก