Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ชนิดใกล้สูญพันธุ์
สถานะการอนุรักษ์ |
---|
ตามบัญชีแดงของ IUCN |
สูญพันธุ์ |
สูญพันธุ์ไปแล้ว (EX) สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW) |
เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ |
ขั้นวิกฤติ (CR) ใกล้การสูญพันธุ์ (EN) เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU) |
เสี่ยงระดับต่ำ |
เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยง (NT) จำเป็นต่อการอนุรักษ์ (CD) ความเสี่ยงต่ำ (LC) |
ดูเพิ่ม สหภาพอนุรักษ์นานาชาติ บัญชีแดงของสหภาพอนุรักษ์ |
สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ คือสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ วลีนี้ถูกใช้เรียกอย่างคลุมเครือถึงสปีชีส์ที่มีคำอธิบายเป็นดังข้างต้น แต่สำหรับนักชีววิทยาอนุรักษ์จะหมายถึงสปีชีส์ที่อยู่ในกลุ่มใกล้การสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นสถานะการอนุรักษ์ที่มีความร้ายแรงเป็นลำดับที่สอง รองจากกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันมีสัตว์และพืช 3079 และ 2655 ชนิดตามลำดับที่จัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ เทียบกับในปี พ.ศ. 2541 ที่มีสัตว์และพืชในกลุ่มนี้เพียง 1102 และ 1197 ชนิดตามลำดับ
หลายชาติมีกฎหมายสำหรับปกป้องสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยการเข้าแทรกแซงของมนุษย์เพื่อการอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่น การห้ามการล่า การจำกัดการพัฒนาพื้นที่ หรือการจัดสร้างป่าสงวน
สถานะการอนุรักษ์
สถานะการอนุรักษ์ของสปีชีส์หนึ่งๆ คือตัวชี้วัดที่แสดงถึงความเป็นไปได้ที่สปีชีส์นั้นๆ จะสูญพันธุ์ ตัวแปรจำนวนมากอย่างจำนวนประชากรที่เหลือ อัตราการเพิ่มหรือลดของประชากรในอนาคต โอกาสความสำเร็จในการผสมพันธุ์ ภัยคุกคาม และอื่นๆ ถูกนำไปใช้เพื่อประเมินถึงสถานะของสปีชีส์นั้นๆ บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติคือบัญชีที่รวมรวมและประเมินสถานะการอนุรักษ์ของสปีชีส์ทั่วโลกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด
มีการประเมินว่ามากกว่าร้อยละ 40 ของสปีชีส์ที่ยังมีอยู่ในโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต 199 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในข้อตกลงที่จะสร้างแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อปกป้องสปีชีส์ที่ถูกคุกคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหมายถึงหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามและอาจหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติด้วย โดยวลี สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์' อยู่ระหว่าง สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ กับสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจำแนกสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดังตัวอย่าง
- สูญพันธุ์ ตัวอย่างเช่น เสือโคร่งบาหลี เสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา นกช้าง คางคกสีทอง พิราบสื่อสาร ไทลาซีน โดโด้
- สูญพันธุ์จากธรรมชาติ เหลือรอดอยู่แต่ในความควบคุมของมนุษย์ ไม่พบในธรรมชาติอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น สิงโตบาร์บารี (อาจสูญพันธุ์) กาฮาวายเอียน คางคกไวโอมิง
- ใกล้การสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ เผชิญกับความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ตัวอย่างเช่น แอดแดกซ์ ลาป่าแอฟริกา เสือดาวอามูร์ เต่าป่าอาระกัน แอกโซลอเติล แอลลิเกเตอร์จีน แร้งแคลิฟอร์เนีย ซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีน ตะโขงอินเดีย ลิงซ์สเปน แรดชวา นกแก้วคาคาโป เต่ามะเฟือง กุย จระเข้น้ำจืด อุรังอุตังสุมาตรา กระซู่ โลมาแม่น้ำจีน
- ใกล้การสูญพันธุ์ เผชิญกับความเสี่ยงขั้นรุนแรงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ตัวอย่างเช่น ช้างเอเชีย สิงโตอินเดีย วาฬสีน้ำเงิน โบโนโบ อุรังอุตังบอร์เนียว ชิมแปนซี หมาใน นากยักษ์ แพนด้ายักษ์ เต่าตนุ ม้าลายเกรวี นกกระเรียนมงกุฎแดง สมเสร็จมลายู เสือดาวเปอร์เซีย ลิงจมูกยาว เสือดาวหิมะ เสือโคร่ง ควายป่า โอกาปิ
- อยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (ไม่มั่นคง) เผชิญกับความเสี่ยงขั้นสูงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต ตัวอย่างเช่น ช้างแอฟริกา ปลาฉลามปากเป็ด ปลาไน เสือลายเมฆ เสือชีตาห์ พะยูน เต่ายักษ์กาลาปาโกส กระทิง ปลาฉลามวาฬ นกกระเรียนมงกุฎเทา ฮิปโปโปเตมัส เพนกวินฮัมโบลด์ แรดอินเดีย มังกรโคโมโด สิงโต ม้าลายภูเขา หมีขาว แพนด้าแดง ทาคิน จามรี
- เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาจถูกจัดอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ตัวอย่างเช่น เสือไฟ เพนกวินจักรพรรดิ เสือจากัวร์ เสือดาว เพนกวินมาเจลลัน หมาป่าเคราขาว นาร์วาล แรดขาว ปลาฉลามเสือ
- ความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ ไม่มีภัยคุกคามเด่นชัดที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของสปีชีส์ ตัวอย่างเช่น แอลลิเกเตอร์อเมริกา ลิงบาบูน อินทรีหัวขาว หมีสีน้ำตาล หนูบ้าน เสือพูม่า วาฬเพชฌฆาต ยีราฟ หมาป่า หนูหริ่งบ้าน มนุษย์ นกกระตั้วดำ เป็ดมัลลาร์ด เมียร์แคต นกพิราบ ตุ่นปากเป็ด
การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
ก่อนการเกิดภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากมนุษย์ สปีชีส์ต่างๆจะได้รับปัจจัยคุกคามจากภายในท้องถิ่นนั้นๆ เช่นการล่าที่มากเกินไป หรือการที่ที่อยู่อาศัยถูกทำลาย แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลให้ภาวะโลกร้อนเกิดเร็วขึ้น เริ่มเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของสปีชีส์ต่างๆ ไนเจล สตอร์คได้อธิบายไว้ว่าสาเหตุหลักของการที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์นั้นคือการเปลี่นแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า สตอร์คอ้างว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สืบพันธุ์ได้ยากขึ้น
การอนุรักษ์
การบังคับผสมพันธุ์
การบังคับผสมพันธุ์คือกระบวนการผสมพันธุ์สปีชีส์ที่หายากหรือถูกคุกคามในสภาวะที่มนุษย์ควบคุมได้ จุดประสงค์หลักของการบังคับนี้คือเพื่อป้องกันสปีชีส์นั้นสูญพันธุ์ โดยทำเพื่อให้จำนวนประชากรมีเสถียรภาพและไม่มีความเสี่ยงในการหายไป
เทคนิคดังกล่าวถูกใช้และประสบสำเร็จมานานพอสมควรในสปีชีส์มากมาย ทว่าในบางสปีชีส์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนที่ไปมาง่ายอย่างนกและปลา มักประสบปัญหาในการบังคับผสม นอกจากนี้หากสปีชีส์นั้นมีประชากรน้อยเกินไป การผสมไปมาอาจทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดภูมิคุ้มกันต่อโรคได้
แหล่งข้อมูลอื่น
- รายชื่อสปีชีส์ที่ถูกจัดในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตามบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
- Endangered Species (สปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์) เก็บถาวร 2008-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากUCB Libraries GovPubs
- Endangered Species & Wetlands Report(สปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์และรายงานพื้นที่ชุ่มน้ำ) เก็บถาวร 2019-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- USFWS สรุปตัวเลขข้อมูลต่างๆ ของสปีชีส์ในสหรัฐและอื่นๆ โดย USFWS เก็บถาวร 2004-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน