Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ทฤษฎีความผูกพัน

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
สำหรับทั้งทารกและเด็กหัดเดิน "เป้าหมาย" ของระบบความผูกพันโดยพฤติกรรมก็เพื่ออยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน ปกติเป็นพ่อแม่

ทฤษฎีความผูกพัน (อังกฤษ: Attachment theory) หรือ ทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์ เป็นแบบจำลองทางจิตวิทยาเพื่อกำหนดพลศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งในระยะยาวระยะสั้น แต่ว่า "ทฤษฎีความผูกพันไม่ได้ตั้งเป็นทฤษฎีทั่วไปของความสัมพันธ์ (แต่) ใช้กล่าวถึงด้าน ๆ หนึ่งเพียงเท่านั้น" คือ การตอบสนองของมนุษย์ภายในสัมพันธภาพเมื่อเจ็บ ถูกพรากจากคนรัก หรือว่ารู้สึกอันตราย โดยพื้นฐานแล้ว ทารกอาจผูกพันกับคนเลี้ยงคนไหนก็ได้ แต่ว่า คุณลักษณะของความสัมพันธ์กับ/ของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ในทารก ความผูกพันโดยเป็นส่วนของระบบแรงจูงใจและพฤติกรรมจะสั่งการให้เด็กเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับคนดูแลที่คุ้นเคยเมื่อตกใจ โดยคาดหวังว่าจะได้การคุ้มครองและการปลอบใจ บิดาของทฤษฎีผู้เป็นนักจิตวิทยาทรงอิทธิพลชาวอังกฤษจอห์น โบลบี้ เชื่อว่า ความโน้มเอียงของทารกวานร (รวมทั้งมนุษย์) ที่จะผูกพันกับคนเลี้ยงที่คุ้นเคย เป็นผลของความกดดันทางวิวัฒนาการ เพราะว่าพฤติกรรมผูกพันอำนวยให้รอดชีวิตเมื่อเผชิญกับอันตรายเช่นการถูกล่าหรือต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อม

หลักสำคัญที่สุดของทฤษฎีก็คือว่า ทารกจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนเลี้ยงหลักอย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและทางอารมณ์ได้อย่างสำเร็จ โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อควบคุมอารมณ์ตนเองอย่างมีประสิทธิผล พ่อหรือคนอื่น ๆ มีโอกาสกลายเป็นผู้ผูกพันหลักถ้าให้การดูแลเด็กและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สมควรโดยมากที่สุด เมื่อมีคนดูแลที่ไวความรู้สึกและตอบสนองต่อเด็ก ทารกจะอาศัยคนดูแลเป็น "เสาหลัก" เมื่อสำรวจสิ่งแวดล้อม ควรจะเข้าใจว่า "แม้คนดูแลที่ไวความรู้สึกจะรู้ใจถูกก็ประมาณแค่ 50% เพราะการสื่อสารอาจจะไม่ลงรอยกัน ไม่สมกัน บางครั้งพ่อแม่ก็อาจรู้สึกเหนื่อยหรือสนใจเรื่องอื่นอยู่ มีโทรศัพท์ที่ต้องรับหรืออาหารเช้าที่จะต้องทำ กล่าวอีกอย่างก็คือ ปฏิสัมพันธ์ที่เข้ากันอย่างดีอาจเสียไปได้อย่างบ่อยครั้ง แต่ลักษณะของคนดูแลที่ไวความรู้สึกคนแท้ก็คือ ความเสียหายนั้นจะได้การบริหารหรือซ่อมแซม"

ความผูกพันระหว่างทารกกับผู้ดูแลเกิดขึ้นแม้เมื่อคนดูแลไม่ไวความรู้สึกและไม่ตอบสนองต่อเด็ก ซึ่งทำให้มีผลตามมาหลายอย่าง คือ ทารกจะไม่สามารถออกจากความสัมพันธ์กับคนดูแลที่ไว้ใจไม่ได้หรือไม่ไวความรู้สึก ทารกจะต้องบริหารเองเท่าที่ทำได้ภายในความสัมพันธ์เช่นนี้ โดยอาศัยเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก (Strange situation) งานวิจัยของนักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอังกฤษ ดร. แมรี่ เอนสเวอร์ธ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 พบว่า เด็กจะมีรูปแบบความผูกพันที่ต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับประสบการณ์เบื้องต้นที่ได้จากคนดูแล รูปแบบความผูกพันในชีวิตต้น ๆ นี้ก็จะมีอิทธิพล แม้จะไม่ใช่ตัวกำหนด ความคาดหวังของบุคคลในความสัมพันธ์ต่อ ๆ มา มีหมวดหมู่ความผูกพัน 4 อย่างที่ได้ระบุในเด็ก คือ

  • แบบมั่นใจ (secure attachment)
  • แบบวิตกกังวล-คละ (anxious-ambivalent attachment)
  • แบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง (anxious-avoidant attachment)
  • แบบไม่มีระเบียบ (disorganized attachment)

ทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นทฤษฎีหลักที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อศึกษาพฤติกรรมของทารกและเด็กหัดเดินในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสุขภาพจิตทารก การปฏิบัติต่อเด็ก เป็นต้น ความผูกพันแบบมั่นใจจะเกิดเมื่อเด็กรู้สึกว่าสามารถพึ่งคนดูแลให้อยู่ใกล้ ๆ ปลอบใจ และช่วยป้องกัน เป็นรูปแบบที่พิจารณาว่าดีที่สุด ส่วนแบบวิตกกังวล-คละจะเกิดเมื่อเด็กรู้สึกวิตกกังวลเมื่อพรากจากคนดูแล และไม่กลับไปรู้สึกมั่นใจเมื่อคนดูแลกลับมา ส่วนแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยงเกิดเมื่อเด็กหลีกเลี่ยงพ่อแม่ และแบบไม่มีระเบียบก็คือเด็กจะไม่แสดงพฤติกรรมความผูกพัน ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ทฤษฎีนี้ได้ขยายไปใช้กับความผูกพันในผู้ใหญ่ โดยใช้เมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือคู่รัก

ระบบความผูกพันมีหน้าที่ให้ได้หรือรักษาการอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน เมื่ออยู่ใกล้ ๆ ระบบนี้จะไม่ทำงาน และทารกสามารถสนใจแต่โลกภายนอกได้

ความผูกพันของทารก

ในทฤษฎีความผูกพัน ความผูกพันหมายถึง "สัญชาตญาณทางชีวภาพ ที่สืบหาการอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน เมื่อเด็กรู้สึกว่ามีภัยหรือไม่สบาย พฤติกรรมความผูกพันหวังการตอบสนองจากคนที่ผูกพันว่า จะช่วยกำจัดภัยหรือความรู้สึกไม่สบาย" ความสัมพันธ์เช่นนี้จะเป็นแบบกันและกันระหว่างผู้ใหญ่ แต่ระหว่างเด็กกับคนดูแล ความสัมพันธ์จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของเด็กในเรื่องสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และการป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสุดในวัยทารกและวัยเด็ก

จอห์น โบลบี้ เริ่มต้นโดยให้ข้อสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตที่มีระดับวิวัฒนาการชาติพันธุ์ที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมทางสัญชาตญาณที่ไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่พฤติกรรมคล้ายรีเฟล็กซ์แบบง่าย ๆ เป็นรูปแบบการกระทำเฉพาะ จนกระทั่งถึงพฤติกรรมที่มีแผนซับซ้อนเป็นชั้น ๆ โดยมีทั้งเป้าหมายย่อย ๆ และการเรียนรู้ที่จำเป็น ในสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนที่สุด พฤติกรรมทางสัญชาตญาณอาจแก้ได้ตามเป้าหมายโดยปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง (เช่น นกล่าเหยื่อปรับการบินตามการเคลื่อนไหวของเหยื่อ) ดังนั้น แนวคิดของระบบพฤติกรรมที่ควบคุมโดยไซเบอร์เนติกส์และจัดระเบียบเป็นลำดับชั้นการวางแผน (Miller, Galanter, and Pribram, 1960) จึงได้กลายมาแทนที่แนวคิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์ในเรื่องแรงขับ (drive) กับสัญชาตญาณ (instinct) ระบบเช่นนี้สามารถควบคุมพฤติกรรมโดยที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาแต่กำเนิดโดยส่วนเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิต ที่สามารถปรับตามความเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง โดยจำกัดว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ต่างไปจากที่มีในสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมากเกินไป แต่ว่าก็มีราคาสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ยืดหยุ่นได้ขนาดนี้ เพราะว่าระบบพฤติกรรมที่ปรับตัวได้สามารถพัฒนาได้โดยไม่ดำเนินไปตามทางที่ดีที่สุด สำหรับมนุษย์ โบลบี้สันนิษฐานว่า สภาพแวดล้อมทางวิวัฒนาการของมนุษย์น่าจะคล้ายกับที่พบในสังคมนักล่า-เก็บพืชผล

ทฤษฎีความผูกพันไม่ได้ใช้อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ และก็ไม่ใช่เป็นไวพจน์ของคำว่าความรักและความชอบใจด้วย ทารกบางคนจะเริ่มมีพฤติกรรมผูกพัน คือการหาความใกล้ชิด ต่อคนดูแลมากกว่าหนึ่งทันทีที่เริ่มแยกแยะผู้ดูแลได้ และโดยมากจะเริ่มในปีที่สอง โดยแบ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นชั้น ๆ และมีผู้ดูแลหลักอยู่ยอดสุด เป้าหมายของระบบพฤติกรรมผูกพันก็คือดำรงรักษาการเข้าถึงและการมีคนดูแลไว้ให้ได้

"Alarm" (ตกใจ) เป็นคำที่ใช้เมื่อระบบพฤติกรรมผูกพันเกิดทำงานเหตุกลัวอันตราย "Anxiety" (วิตกกังวล) หมายถึงการคาดหวังหรือความกลัวว่าจะพรากจากคนที่ผูกพัน และถ้าคนที่ผูกพันไม่อยู่หรือไม่ตอบสนอง ความทุกข์แบบถูกพราก (separation distress) ก็จะเกิดขึ้น

ในทารก การถูกพรากทางกายอาจเป็นเหตุแห่งความวิตกกังวลและความโกรธ ตามมาด้วยความเศร้าและความสิ้นหวัง แต่ว่าโดยอายุ 3-4 ขวบ การถูกพรากทางกายจากผู้ที่ผูกพันไม่ใช่เป็นภัยเหมือนอย่างที่เคยเป็น เพราะว่าภัยต่อความปลอดภัยของเด็กที่โตกว่าและของผู้ใหญ่ มาจากการไม่อยู่ด้วยนาน ๆ การยุติการสื่อสาร การไม่ให้การสนับสนุนทางจิตใจ หรือมีสัญญาณว่าจะถูกไม่ยอมรับหรือถูกทอดทิ้ง

รูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นใจสามารถขัดขวางการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวและความมั่นใจในตัวเอง เพราะว่าเด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจจะเป็นอิสระเพื่อสนใจในสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรม

ระบบพฤติกรรมผูกพันจะช่วยให้ได้หรือรักษาความอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ผูกพัน ส่วนพฤติกรรมก่อนความผูกพันจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ในระยะแรก (คือในช่วง 8 อาทิตย์แรก) ทารกจะยิ้ม พูดไม่เป็นภาษา และร้องไห้ดึงความสนใจจากคนที่อาจเป็นผู้เลี้ยง แม้ว่าทารกในวัยนี้เริ่มจะจำแนกผู้เลี้ยงดูต่าง ๆ แต่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้จะเป็นอย่างเดียวกันกับทุกคนที่อยู่ใกล้ ๆ ในระยะที่สอง (2-6 เดือน) ทารกจะจำแนกผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น และตอบสนองต่อผู้ดูแลมากกว่า การตามและติดจะเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนความผูกพันอย่างชัดเจนจะเกิดในระยะที่ 3 ระหว่างวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ พฤติกรรมต่อผู้ดูแลจะมีระเบียบคือมีเป้าหมายเพื่อให้ได้สถานการณ์ที่ตนรู้สึกปลอดภัย หลังจากสุดปีแรก ทารกจะสามารถแสดงพฤติกรรมผูกพันที่มุ่งรักษาความใกล้ชิด ซึ่งปรากฏโดยประท้วงการจากไปของคนเลี้ยง ทักทายเมื่อกลับมา เกาะติดเมื่อกลัว และติดตามเมื่อสามารถ

เมื่อเริ่มเคลื่อนที่ได้ ทารกจะเริ่มอาศัยคนดูแลเป็นเสาหลักในการสำรวจสิ่งแวดล้อม การสำรวจจะมีมากกว่าเมื่อคนดูแลอยู่ด้วย เพราะว่าระบบความผูกพันของทารกไม่ต้องทำงานและทารกจึงเป็นอิสระที่จะสำรวจ ถ้าคนดูแลไม่อยู่หรือไม่ตอบสนอง พฤติกรรมผูกพันจะปรากฏมากกว่า ความวิตกกังวล ความกลัว ความเจ็บป่วย และความเหนื่อยจะทำให้เด็กเพิ่มพฤติกรรมผูกพัน

หลังจากปีที่สอง เด็กเริ่มเห็นผู้ดูแลว่าเป็นคนอีกคนหนึ่ง ดังนั้นก็จะเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน โดยเป็นหุ้นส่วนแบบปรับให้เข้ากับเป้าหมาย คือ เด็กจะเริ่มเห็นเป้าหมายและความรู้สึกของคนอื่น และจะวางแผนการกระทำของตนตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น เทียบกับทารกที่จะร้องไห้เพราะเจ็บ เด็ก 2 ขวบจะร้องไห้เพื่อเรียกคนดูแล และถ้าไม่สำเร็จ ก็จะร้องดังขึ้น ตะโกน หรือตาม

หลัก

พฤติกรรมผูกพันและอารมณ์ที่สามัญ ดังที่พบในสัตว์พวกวานรที่อยู่เป็นสังคมรวมทั้งมนุษย์เป็นการปรับตัวที่ดี คือ วิวัฒนาการระยะยาวของสปีชีส์เหล่านี้ รวมการคัดเลือกพฤติกรรมทางสังคมที่ทำให้โอกาสรอดชีวิตของบุคคลหรือกลุ่มมีมากขึ้น พฤติกรรมผูกพันที่เห็นได้ทั่วไปของเด็กหัดเดินที่อยู่ใกล้ ๆ กับคนที่คุ้นเคย เป็นประโยชน์ให้ความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการมนุษย์ในยุคต้น ๆ และก็ยังมีประโยชน์เช่นเดียวกันทุกวันนี้ จอห์น โบลบี้เห็นสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการที่ว่านี้ว่าคล้ายกับสังคมนักล่า-เก็บพืชผลที่เห็นในปัจจุบัน มีประโยชน์ในการรอดชีวิตถ้าสามารถรู้สึกถึงสภาวะที่อาจเป็นอันตรายเช่น ความไม่คุ้นเคย การอยู่คนเดียว หรือการเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว ตามโบลบี้ การหาความใกล้ชิดกับคนที่ผูกพันเมื่อเผชิญกับภัย เป็นเป้าหมายของระบบพฤติกรรมผูกพัน

ประสบการณ์เบื้องต้นจะค่อย ๆ สร้างระบบความคิด ความจำ ความเชื่อ ความคาดหวัง อารมณ์ และพฤติกรรมเกี่ยวกับตนเองและคนอื่น

คำอธิบายเบื้องต้นของโบลบี้เกี่ยวกับระยะไว (sensitivity period) ที่ความผูกพันจะเกิดขึ้นคือระหว่าง 6 เดือน ถึง 2-3 ปี ต่อมาได้เปลี่ยนโดยนักวิจัยต่อ ๆ มา นักวิจัยได้แสดงว่า มีระยะไวจริง ๆ ที่ความผูกพันจะเกิดขึ้นถ้าเป็นไปได้ แต่ระยะเวลาจริง ๆ กว้างกว่านั้นและผลที่เกิดไม่ได้ตายตัวเปลี่ยนไม่ได้เหมือนอย่างที่เสนอมาก่อน คือ งานวิจัยต่อ ๆ มาได้พบว่า ความสัมพันธ์ทั้งในเบื้องต้นและต่อ ๆ มาจะมีผลต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก

ขั้นต้น ๆ ของความผูกพันเกิดขึ้นง่ายที่สุดถ้าเด็กมีคนดูแลคนเดียว หรือมีคนดูแลจำนวนน้อยหลายคนที่ช่วยดูเป็นบางครั้งบางคราว ตามโบลบี้ เกือบตั้งแต่แรก เด็กจำนวนมากมีคนมากกว่าคนเดียวที่แสดงพฤติกรรมผูกพันด้วย แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกันทุกคน เด็กโน้มเอียงอย่างสำคัญที่จะผูกพันกับบุคคลหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งเขาใช้คำว่า "monotropy" เพื่อกล่าวถึงความเอนเอียงเช่นนี้ แต่นักวิจัยและนักทฤษฎีต่อ ๆ มาได้ทิ้งแนวคิดนี้เพราะว่าคำดูเหมือนจะแสดงว่า ความสัมพันธ์กับคนพิเศษนั้นมีลักษณะต่างจากกับคนอื่น ๆ ความคิดในปัจจุบันสมมุติว่าความสัมพันธ์จะมีไปตามลำดับชั้น

ประสบการณ์เบื้องต้นกับคนดูแลจะค่อย ๆ สร้างระบบความคิด ความจำ ความเชื่อ ความคาดหวัง อารมณ์ และพฤติกรรมเกี่ยวกับตนเองและคนอื่น ระบบนี้ซึ่งเรียกว่า แบบจำลองใช้งานภายในของความสัมพันธ์ทางสังคม (internal working model of social relationships) จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามอายุและประสบการณ์ และใช้ควบคุม ตีความ และพยากรณ์พฤติกรรมเกี่ยวกับความผูกพันทั้งในตนเองและในบุคคลที่ผูกพัน เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่พัฒนาไปตามสิ่งแวดล้อมและช่วงพัฒนาการ จึงสามารถสะท้อนและแสดงความสัมพันธ์ที่เคยมีในอดีตและอาจจะมีในอนาคต เป็นแบบซึ่งช่วยให้เด็กรับมือกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ๆ ได้ เช่น ให้รู้ว่า ทารกควรจะปฏิบัติต่างจากเด็กที่โตกว่า หรือว่าปฏิสัมพันธ์กับคุณครูและกับพ่อแม่มีอะไรที่คล้ายกัน แบบจำลองนี้จะพัฒนาไปจึงตลอดวัยผู้ใหญ่ ช่วยรับมือกับมิตรภาพ การแต่งงาน และการเป็นพ่อแม่ ซึ่งล้วนแต่ต้องมีพฤติกรรมและความรู้สึกที่ต่าง ๆ กัน

พัฒนาการของความผูกพันเป็นกระบวนการแบบดำเนินการ (transactional process) แต่พฤติกรรมผูกพันในวัยทารกโดยเฉพาะ ๆ จะเริ่มด้วยพฤติกรรมที่พยากรณ์ได้โดยมีมาแต่กำเนิด แล้วเปลี่ยนไปตามวัยที่กำหนดส่วนหนึ่งโดยประสบการณ์และส่วนหนึ่งโดยปัจจัยทางสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อพฤติกรรมความผูกพันกำลังพัฒนาตามอายุ ก็จะได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ที่มี พฤติกรรมของเด็กเมื่อกลับมาพบคนดูแลกำหนดไม่ใช่เพียงแค่โดยพฤติกรรมที่คนดูแลมีต่อเด็ก แต่กำหนดโดยประวัติด้วยว่าพฤติกรรมเด็กเคยมีผลต่อคนดูแลอย่างไร

การจัดหมวดเด็กโดย Strange Situation Protocol

วิธีที่สามัญที่สุดและมีหลักฐานยืนยันมากที่สุดเพื่อใช้ประเมินความผูกพันของทารก (11-17 เดือน) เรียกว่า เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก (Strange Situation Protocol) ที่พัฒนาโดย ดร. แมรี่ เอนสเวอร์ธ ซึ่งเป็นผลของสังเกตการณ์อย่างละเอียดของปฏิสัมพันธ์ระหว่างทารกและมารดา แต่เป็นเทคนิคงานวิจัยที่ไม่ได้หมายให้ใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ แม้ว่าวิธีนี้จะสามารถใช้ช่วยให้ข้อมูลทางคลินิก หมวดที่จัดไม่ควรสับสนกับเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวชในเรื่อง Reactive attachment disorder (RAD) เพราะว่า แนวคิดทางคลินิกของ RAD ต่างโดยพื้นฐานหลายอย่างจากทฤษฎี และต่างจากการจัดหมวดหมู่ความผูกพันโดยอาศัยเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ขับเคลื่อนโดยแนวคิดงานวิจัย ดังนั้น ไอเดียว่าความผูกพันที่ไม่มั่นใจ (insecure attachment) เหมือนกับอาการ RAD ไม่ตรงกับความจริงและทำให้เกิดความไม่ชัดเจนทางวิชาการเมื่อกล่าวถึงทฤษฎีความผูกพันดังที่พัฒนาไปตามวรรณกรรมงานวิจัย นี่ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดเกี่ยวกับ RAD ไม่สมเหตุสมผล แต่ว่า แนวคิดในการรักษาเรื่อง attachment disorder และแนวคิดงานวิจัยเรื่องความผูกพันแบบไม่มั่นใจ (insecure attachment) เป็นคนละเรื่องกัน

เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกเป็นวิธีการในแล็บ ใช้เพื่อประเมินรูปแบบความผูกพันของทารกกับคนดูแล โดยมีการแสดงภัยที่ไม่คาดฝันหนึ่งอย่าง การแยกจากมารดาสั้น ๆ 2 ครั้ง ตามด้วยการเจอกันใหม่ ในกระบวนการนี้ มีการให้มารดาและทารกอยู่ในห้องเล่นที่ไม่คุ้นเคยเต็มไปด้วยของเล่นในขณะที่นักวิจัยถ่ายวิดีโอของเหตุการณ์ผ่านกระจกเห็นทางเดียว มีระยะ 8 ระยะที่ทารกประสบกับการพรากจากและการเจอแม่ใหม่และการเจอกับคนที่ไม่คุ้นเคย คือคนแปลกหน้า โดยทำตามลำดับดังต่อไปนี้นอกจากนักวิจัยจะระบุการยกเว้น

  • ตอน 1: แม่ (หรือคนเลี้ยงดูที่คุ้นเคย) ทารก และผู้ทำการทดลอง (30 วินาที)
  • ตอน 2: แม่และทารก (3 นาที)
  • ตอน 3: แม่ ทารก และคนแปลกหน้า (3 นาที)
  • ตอน 4: คนแปลกหน้าและทารก (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 5: มารดาและทารก (3 นาที)
  • ตอน 6: ทารกคนเดียว (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 7: คนแปลกหน้าและทารก (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 8: แม่และทารก (3 นาที)

โดยมากขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเมื่อมาเจอกันอีก (แม้ว่า พฤติกรรมอื่น ๆ ก็อาจจะเกี่ยวด้วย) ทารกสามารถจัดอยู่ในหมวดการผูกพันแบบ "มีระเบียบ" 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม B (ภายหลังเรียกว่า แบบมั่นใจ) กลุ่ม A (ภายหลังเรียกว่า แบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง) และกลุ่ม C (ภายหลังเรียกว่า แบบวิตกกังวล-คละ) โดยแต่ละกลุ่มจะมีกลุ่มย่อย ๆ ดังจะกล่าวต่อไป เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการเพิ่มต่อเติมรูปแบบดั้งเดิมของ ดร. เอนสเวอร์ธ รวมทั้งกลุ่ม B4 (1970) กลุ่ม A/C (1985) กลุ่มไม่มีระเบียบ D (1986) กลุ่ม B5 (1988, 1992) กลุ่ม A+ C+ และเศร้า (Depressed) (1992, 2010) ถ้ามีอายุมากขึ้น ก็จะมีกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก โดยแต่ละกลุ่มสะท้อนรูปแบบความผูกพันของทารกต่อคนดูแล ทารกสามารถมีรูปแบบความผูกพันที่ต่างกันระหว่างพ่อแม่และระหว่างคนดูแล ดังนั้น รูปแบบความผูกพันจึงไม่ได้เป็นส่วนของทารก แต่เป็นลักษณะการป้องกันและการปลอบใจที่ทารกได้จากความสัมพันธ์หนึ่ง ๆ รูปแบบเหล่านี้สัมพันธ์กับรูปแบบพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถช่วยพยากรณ์บุคลิกภาพของทารกในอนาคตได้


รูปแบบความผูกพัน

"ความชัดเจนทางพฤติกรรมความผูกพันของเด็กในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ไม่ได้บ่งถึงกำลังของความผูกพันที่มีจริง ๆ เด็กที่ไม่มั่นใจบางคนจะแสดงพฤติกรรมความผูกพันที่ชัดเจนเป็นปกติ ๆ แต่เด็กที่มั่นใจอาจจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมความผูกพันอย่างชัดเจนหรือบ่อย ๆ"

ผังแสดงการดำเนินงานของความผูกพันแบบมั่นใจ

ความผูกพันแบบมั่นใจ

เด็กหัดเดินที่ผูกพันกับพ่อแม่ (หรือคนเลี้ยงดูอื่น ๆ) อย่างมั่นใจจะทำการสำรวจอย่างเป็นอิสระเมื่อผู้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ มีพฤติกรรมปกติกับคนแปลกหน้า บ่อยครั้งอารมณ์เสียเมื่อคนดูแลจากไป และโดยทั่วไปดีใจเมื่อเห็นคนดูแลกลับมา แต่ขอบเขตการสำรวจและความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นอยู่กับนิสัย (temperament) กับปัจจัยทางสถานการณ์ และกับสถานะของความผูกพัน ความผูกพันของเด็กโดยมากขึ้นอยู่กับความไวความต้องการ/ความรู้สึกของเด็ก ของคนดูแลหลัก พ่อแม่ที่ตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ หรือเกือบสม่ำเสมอ ต่อความต้องการของเด็กจะทำให้เด็กเกิดความผูกพันแบบมั่นใจ คือเด็กเช่นนี้แน่ใจว่าพ่อแม่จะตอบสนองต่อความต้องการและต่อการสื่อสารของตน

ในวิธีการลงรหัสของ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะ (1978) ทารกแบบมั่นใจจะลงรหัสว่า กลุ่ม B โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ คือ B1, B2, B3, และ B4 แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้สะท้อนถึงการตอบสนองโดยเฉพาะ ๆ ของการมาและการไปของคนดูแล แต่ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะก็ไม่ได้ตั้งชื่อให้กลุ่มย่อย และพฤติกรรมที่ปรากฏก็ได้ทำให้นักวิจัยอื่น ๆ (รวมทั้งนักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธเอง) ได้ใช้ศัพท์อภิธานกว้าง ๆ สำหรับกลุ่มย่อย ๆ เหล่านี้ เช่น B1 เรียกว่า "มั่นใจ-สงวนท่าที" (secure-reserved), B2 "มั่นใจ-ไม่แสดงออก" (secure-inhibited), B3 "มั่นใจ-สมดุล" (secure-balanced) และ B4 "มั่นใจ-มีปฏิกิริยา" (secure-reactive) แต่ว่าในวรรณกรรมวิชาการ การจัดกลุ่มทารก (ถ้ามีการแบ่งกลุ่มย่อย) จะเรียกโดยรหัส เช่น "B1" เป็นต้น แม้ว่าเอกสารทางทฤษฎีหรือที่เป็นงานทบทวนวรรณกรรมในเรื่องนี้อาจใช้ศัพท์ต่าง ๆ ดังที่ว่า

เด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจสามารถสำรวจสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด เมื่อรู้สึกว่ามีเสาหลัก (คือคนดูแล) เพื่อกลับไปหาเมื่อต้องการ เมื่อได้รับการช่วยเหลือ นี่จะช่วยให้รู้สึกปลอดภัย และถ้าสมมุติว่าช่วยได้จริง ๆ ก็จะเป็นการสอนเด็กให้รับมือกับปัญหาอย่างเดียวกันในอนาคตด้วย ดังนั้น ความผูกพันแบบมั่นใจจึงมองว่าเป็นสไตล์ความผูกพันที่เป็นการปรับตัวดีที่สุด ตามนักวิจัยทางจิตวิทยาบางคน เด็กจะมีความผูกพันอย่างมั่นใจถ้าพ่อแม่อยู่ด้วยและสามารถสนองความต้องการของเด็กอย่างสมควรและเมื่อจำเป็น ดังนั้น ในวัยทารกและวัยเด็กเบื้องต้น ถ้าพ่อแม่เอื้ออาทรและใส่ใจลูกของตน เด็กมักจะมีความผูกพันแบบมั่นใจ

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-คละ

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-คละ (Anxious-ambivalent attachment) บางครั้งเรียกอย่างผิด ๆ ว่า ความผูกพันแบบขัดขืน (resistant attachment) โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่มีรูปแบบความผูกพันแบบนี้จะทำการสำรวจน้อยเมื่อใช้เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก และบ่อยครั้งจะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า แม้กระทั่งเมื่อพ่อแม่ยังอยู่ด้วย เมื่อแม่จากไป เด็กบ่อยครั้งจะเป็นทุกข์มาก แต่จะรู้สึกทั้งดีและไม่ดี (คละ) เมื่อแม่กลับมา กลยุทธ์นี้ใช้ตอบสนองกับการดูแลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และการแสดงความโกรธ (ที่เรียกว่าแบบคละ-ขัดขืน [ambivalent resistant]) หรือความทำอะไรไม่ได้ (แบบคละ-เฉย [ambivalent passive]) ต่อคนดูแลเมื่อกลับมา สามารถมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์แบบมีเงื่อนไขเพื่อรักษาการมีคนดูแลอยู่ใกล้ ๆ ไว้โดยเข้าควบคุมการปฏิสัมพันธ์กับคนดูแล

จะจัดอยู่ในกลุ่ม C1 (แบบคละ-ขัดขืน) เมื่อ "... เมื่อพฤติกรรมขัดขืนเห็นได้ชัดเป็นพิเศษ การผสมกันระหว่างการหาแต่ก็ขัดขืนการกลับมาอยู่ร่วมกันมีลักษณะโกรธที่ชัดเจน และจริง ๆ แล้วความโกรธก็ยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมก่อนระยะจากกันอีกด้วย"

จะจัดอยู่ในกลุ่ม C2 (แบบคละ-เฉย) เมื่อ "ลักษณะที่อาจเห็นได้ชัดที่สุดของทารกกลุ่ม C2 ก็คือการอยู่เฉย ๆ (passivity) พฤติกรรมการสำรวจของทารกจะจำกัดตลอดเกณฑ์วิธีนี้ และพฤติกรรมทางปฏิสัมพันธ์ของทารกจะค่อนข้างไร้การเริ่มทำอะไรเอง อย่างไรก็ดี ในระยะการกลับมาเจอกัน ทารกชัดเจนว่าต้องการอยู่ใกล้และการเข้าหามารดา แม้ว่ามักจะเป็นเพียงแค่การส่งสื่อไม่ใช่การเข้าไปหาจริง ๆ และประท้วงการถูกวางลงแทนที่จะพยายามจับไม่ให้ปล่อยโดยตรง... คือโดยทั่วไปแล้ว ทารกกลุ่ม C2 จะไม่ปรากฏว่าโกรธอย่างชัดเจนเท่ากับทารกกลุ่ม C1"

งานวิจัยปี 2542 พบว่า เด็กที่ถูกทารุณในวัยเด็กมีโอกาสพัฒนาความผูกพันแบบคละ และเด็กที่มีความผูกพันแบบคละมีโอกาสมีปัญหารักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่สูงกว่า

ผังแสดงการดำเนินงานของความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง

ทารกที่มีรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง จะหลีกเลี่ยงหรือไม่สนใจคนดูแล โดยแสดงอารมณ์น้อยมากเมื่อคนดูแลจากไปหรือกลับมา และจะไม่ทำการสำรวจมากไม่ว่าใครจะอยู่ที่นั่น ทารกประเภทนี้เป็นเรื่องปริศนาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เพราะไม่แสดงความทุกข์เมื่อถูกพราก และไม่สนใจคนดูแลเมื่อกลับมา (กลุ่มย่อย A1) หรือไม่ก็แสดงแนวโน้มการเข้าหาพร้อมกับแนวโน้มไม่สนใจแล้วหันหลังให้คนดูแล (กลุ่มย่อย A2) ดร. เอนสเวอร์ธและเพื่อนร่วมงานตั้งทฤษฎีว่า พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่เป็นไรของเด็กจริง ๆ แล้วเป็นการอำพรางความทุกข์ ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ต่อมาได้หลักฐานผ่านการศึกษาที่ตรวจอัตราหัวใจเต้นของทารก

ทารกจะจัดกลุ่มว่าเป็นแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยงเมื่อ "...จะหลีกเลี่ยงแม่อย่างชัดเจนในช่วงมาเจอกันอีกซึ่งน่าจะเป็นแบบไม่สนใจเธอโดยสิ้นเชิง แม้ว่าอาจจะเมินหน้าไปทางอื่น หันหลังให้ หรือหลีกไปจาก... ถ้าทักทายเมื่อแม่กลับมา มักจะเป็นเพียงแค่มองหรือยิ้ม ทารกจะไม่เข้าหาแม่เมื่อเจอกันอีก หรือไม่ก็จะเข้าหาแบบขาด ๆ คือเด็กจะเดินผ่านแม่ไป หรือว่ามักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ต้องเกลี้ยกล่อมมาก... ถ้าอุ้ม เด็กจะไม่แสดงพฤติกรรมที่รักษาการอยู่ด้วยกัน คือ มักจะไม่กอด หรืออาจจะมองไปทางอื่นและดิ้นที่จะลง"

บันทึกเรื่องของ ดร. เอนสเวอร์ธแสดงว่า ทารกจะหลีกเลี่ยงคนดูแลในเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ก่อความเครียด เมื่อมีประวัติประสบกับการถูกปฏิเสธเมื่อแสดงพฤติกรรมผูกพัน คือ เด็กบ่อยครั้งไม่ได้ตามความต้องการและได้กลายไปเชื่อว่า การสื่อความต้องการทางจิตใจจะไม่มีผลต่อคนดูแล

นักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธ คือ ศ. ดร. แมรี่ เมน ให้สมมติฐานว่า พฤติกรรมหลีกเลี่ยงในเกณฑ์วิธีควรพิจารณาว่าเป็น "กลยุทธ์ที่มีเงื่อนไข ซึ่งให้ผลขัดแย้งเป็นการได้ความใกล้ชิดมากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ถูกแม่ปฏิเสธ" โดยไม่แสดงความต้องการความผูกพัน ดร. เมนเสนอว่า การหลีกเลี่ยงทำหน้าที่สองอย่างสำหรับทารกที่คนดูแลไม่ตอบสนองต่อความต้องการอย่างสม่ำเสมอ อย่างแรกคือ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงทำให้ทารกสามารถรักษาความใกล้ชิดอย่างมีเงื่อนไขกับคนดูแล คือ ใกล้พอที่จะได้รับการป้องกัน แต่ไกลพอที่จะหลีกเลี่ยงถูกปฏิเสธ อย่างที่สองคือ กระบวนการรู้คิดที่วางแผนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงอาจจะเปลี่ยนความใส่ใจไปจากความต้องการจะอยู่ใกล้คนดูแลที่ไม่ได้ตามต้องการ ดังนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เด็กจะรู้สึกทุกข์อย่างควบคุมไม่ได้ (disorganised distress) ที่ไม่สามารถแม้แต่ควบคุมตนเองได้ และที่ไม่ได้แม้แต่อยู่ใกล้ ๆ แม้จะมีเงื่อนไข

ความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ/ไม่มีทิศทาง

ดร. เอนสเวอร์ธเป็นนักวิจัยคนแรกเองที่มีปัญหาจัดพฤติกรรมทารกเข้าในหมวดหมู่ 3 อย่างแรกที่เธอเสนอ คือ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะบางครั้งสังเกตเห็น "การเคลื่อนไหวแบบเครียดเช่นเกร็ง/ยกไหล่ เอามือไปไว้ที่ท้ายทอย และทำคอแข็งเป็นต้น เป็นความรู้สึกที่ชัดเจนของเราว่าอาการเช่นนี้หมายถึงความเครียด เพราะมักจะเกิดขึ้นโดยมากในระยะถูกพราก และมักจะเกิดก่อนการร้องไห้ จริง ๆ แล้ว สมมติฐานของเราก็คือว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเด็กพยายามจะควบคุมการร้องไห้ เพราะอาการมักจะหายไปถ้าเกิดร้องไห้" ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ปรากฏในปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธด้วย

ยกตัวอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ของ ดร. แพทริเซีย คริตเท็นเด็น ให้ข้อสังเกตว่า ในตัวอย่างที่ใช้ในวิทยานิพนธ์ของเธอ นักศึกษาปริญญาตรีได้ลงรหัสทารกคนหนึ่งที่ถูกทารุณกรรมโดยจัดว่าอยู่ในกลุ่มมั่นใจ (B) เพราะทารกมีพฤติกรรมที่ "ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงหรือการคละ เธอได้แสดงอาการคอแข็งที่แสดงอาการเครียดตลอดสถานการณ์แปลก แต่ว่าพฤติกรรมที่มีอยู่ทั่วไปนี่แหละ เป็นตัวช่วยอย่างเดียวที่บอกถึงความเครียดของเธอ" เริ่มต้นในปี 2526 ดร. คริตเท็นเด็นได้เสนอหมวดหมู่ย่อยของ A, C, และอื่น ๆ ดังที่จะกล่าวต่อไป ส่วน ดร. เมนได้เพิ่มหมวดหมู่ที่ 4 คือ หมวด D โดยอาศัยพฤติกรรมที่ไม่เข้ากับหมวด A, B และ C

ในสถานการณ์แปลก คาดว่าระบบความผูกพันจะทำงานเหตุการจากไปและกลับมาของผู้ดูแล ถ้าพฤติกรรมของทารกไม่ปรากฏว่าประสานอย่างคล้องจองกันผ่านระยะต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความใกล้ชิดหรือความใกล้ชิดโดยเปรียบเทียบกับผู้ดูแล ก็จะพิจารณาว่าอยู่ในหมวด "ไม่มีระเบียบ" ซึ่งบ่งถึงการขัดขวางหรือการท่วมท้นของระบบผูกพัน (เช่นโดยความกลัว) พฤติกรรมทารกในเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ลงรหัสเป็น ไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย รวมทั้งการแสดงความกลัวอย่างโต้ง ๆ การแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน โดยแสดงออกพร้อม ๆ กัน หรือตามลำดับกัน การเคลื่อนไหวอย่างเป็นแบบอย่าง (stereotypic) อย่างอสมมาตร (asymmetric) อย่างมีจุดหมายผิดพลาด (misdirected) หรือกระตุก ๆ หรือตัวแข็งและแยกตัวจากสถานการณ์ (dissociation) แต่ก็มีนักวิชาการที่เตือนว่า "ควรเข้าใจว่า 52% ของทารกในกลุ่มไม่มีระเบียบก็ยังเข้าหาผู้ดูแล หาการปลอบโยน และจะหยุดเป็นทุกข์โดยไม่มีพฤติกรรมแบบคละหรือหลีกเลี่ยงอย่างชัดเจน"

มีความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเรื่องความผูกพันแบบไม่มีระเบียบทั้งจากผู้รักษาพยาบาล ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิจัย แต่ว่า หมวดไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย (D) ถูกวิจารณ์ว่ากว้างเกินไป รวมทั้งโดย ดร. เอนสเวอร์ธเอง คือในปี 2533 ดร. เอนสเวอร์ธเขียนให้การรับรองหมวดหมู่ D แม้ว่าเธอจะเน้นว่า การเพิ่มควรพิจารณาว่า "ยังเป็นประเด็นไม่ยุติ เพราะอาจจะเพิ่มหมวดย่อยต่าง ๆ" คือเธอกังวลว่า รูปแบบพฤติกรรมหลายอย่างมากเกินไปจะปฏิบัติเหมือนกับเป็นอย่างเดียวกัน และจริง ๆ แล้ว หมวด D รวมเอาทารกที่ใช้กลยุทธ์แบบมั่นใจ (B) แบบขาด ๆ กับทารกที่ดูจะสิ้นหวังและแสดงพฤติกรรมผูกพันที่น้อยมาก มันยังรวมเด็กทารกที่วิ่งไปซ่อนเมื่อเห็นคนดูแลในหมวดเดียวกันกับทารกที่แสดงพฤติกรรมแบบหลีกเลี่ยง (A) ในการกลับมาเจอกันครั้งแรก และแบบคละ-ขัดขืน (C) ในการกลับมาเจอกันครั้งที่สอง โดยอาจเป็นการตอบสนองต่อประเด็นเช่นนี้ จึงมีผู้เขียนที่แบ่งรหัสกลุ่ม D โดยปฏิบัติต่อพฤติกรรมบางอย่างว่าเป็น "กลยุทธ์แบบสิ้นหวัง" (strategy of desperation) และแบบอื่นว่าระบบความผูกพันถูกท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก เช่นความกลัวความโกรธเป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้ที่อ้างว่า พฤติกรรมบางอย่างที่จัดหมวดว่าไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย สามารถมองว่าเป็นรูปแบบฉุกเฉินของกลยุทธ์หลีกเลี่ยงหรือคละ-ขัดขืน และทำหน้าที่เพื่อรักษาการป้องกันจากคนดูแลโดยระดับหนึ่ง และก็มีผู้ที่เห็นด้วยว่า "แม้แต่พฤติกรรมผูกพันแบบไม่มีระเบียบ (การเข้าหาและหลีกเลี่ยงพร้อม ๆ กัน ตัวแข็ง เป็นต้น) ก็ยังสามารถให้อยู่ใกล้ ๆ ในระดับหนึ่งเมื่อเผชิญกับพ่อแม่ที่น่ากลัวหรือเข้าใจยาก" แต่ว่า "การสมมุติว่า แบบย่อยของแบบไม่มีระเบียบหลายอย่างเป็นด้านต่าง ๆ ของรูปแบบที่มีระเบียบไม่ได้ห้ามการยอมรับแนวคิดเกี่ยวกับความไม่มีระเบียบ โดยเฉพาะในกรณีที่ความซับซ้อนและความเป็นอันตรายของภัยเกินสมรรถภาพของเด็กที่จะตอบสนอง" ยกตัวอย่างเช่น "เด็กที่ยกให้คนอื่นเลี้ยง โดยเฉพาะเมื่อทำมากกว่าครั้งเดียว บ่อยครั้งมีความคิด/ความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน ที่พบในวิดีโอของเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก ความคิด/ความรู้สึกมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กที่ถูกปฏิเสธ/ถูกละทิ้งจะเข้าหาคนแปลกหน้าเพราะต้องการให้ปลอบ ควบคุมตัวไม่ได้แล้วล้มลงที่พื้น เพราะรับความกลัวต่อคนที่ไม่รู้จัก อาจเป็นอันตราย และแปลกหน้าไม่ได้"

ดร. เมนและเพื่อนร่วมงาน พบว่า มารดาของเด็กเหล่านี้โดยมากเกิดความสูญเสียหรือการบาดเจ็บทางกายใจก่อนหรือหลังทันทีที่คลอดทารก และได้มีปฏิกิริยาโดยมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง และจริง ๆ แล้ว แม่ 56% ที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนจบโรงเรียนมัธยมปลาย ต่อมาจะมีลูกที่มีความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ แต่งานศึกษาต่อ ๆ มา แม้ว่าจะเน้นความสำคัญที่เป็นไปได้ของการสูญเสียที่รู้สึกอย่างไม่จบ ก็ได้ให้ข้อแม้ต่อการค้นพบเยี่ยงนี้ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาคู่หนึ่งพบว่า การสูญเสียของแม่อย่างรู้สึกไม่จบสิ้นมักจะสัมพันธ์กับความผูกพันแบบไม่มีระเบียบในทารก ก็ต่อเมื่อถ้าแม่ประสบกับความบาดเจ็บทางกายใจอื่นที่ยังไม่จบก่อนการสูญเสียนั้น

รูปแบบภายหลังและอื่น ๆ

มีการพัฒนาเทคนิคที่ช่วยให้สามารถตัดสินภาวะทางใจของเด็กเกี่ยวกับความผูกพันได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้เติมเรื่อง ที่เล่านิทานในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความผูกพันแล้วให้เด็กเล่าต่อให้จบ สำหรับเด็กที่โตกว่า วัยรุ่น และผู้ใหญ่ อาจใช้การสัมภาษณ์กึ่งมีโครงที่วิธีการสื่ออาจจะสำคัญเท่ากับสิ่งที่สื่อเอง แต่ว่า ก็ยังไม่มีการวัดความผูกพันในวัยเด็กช่วงกลางหรือวัยรุ่นช่วงต้น (อายุประมาณ 7-13 ปี) ที่ตรวจสอบความสมเหตุสมผลแล้ว

งานศึกษาในเด็กโตกว่าบางงานได้กำหนดหมวดความผูกพันอื่น ๆ ดร. เมนและเพื่อนร่วมงานให้ข้อสังเกตว่า พฤติกรรมแบบไม่มีระเบียบในวัยทารก อาจพัฒนาเป็นพฤติกรรมแบบควบคุมหรือแบบลงโทษเพื่อบริหารผู้ดูแลที่ช่วยอะไรไม่ได้หรือเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างเป็นอันตราย ในกรณีเช่นนี้ พฤติกรรมของเด็กมีระเบียบ แต่นักวิจัยปฏิบัติต่อมันเหมือนกับไม่มี (กลุ่ม D) เพราะว่า ลำดับในครอบครัวไม่ได้จัดตามอำนาจของพ่อแม่อีกต่อไป

ดร. แพทริเซีย คริตเท็นเด็น ได้ขยายหมวดหมู่เพื่อรวมรูปแบบพฤติกรรมผูกพันแบบหลีกเลี่ยงและคละแบบอื่น ๆ รวมทั้งพฤติกรรมควบคุมและลงโทษตามที่ ดร. เมนได้พบ (กลุ่ม A3 และ C3 ตามลำดับ) แต่ก็รวมรูปแบบอื่น ๆ เช่น การถูกบังคับให้ทำตามโดยพ่อหรือแม่ที่น่ากลัว (A4)

แนวคิดของ ดร. คริตเท็นเด็นมาจากคำเสนอของโบลบี้ว่า "ในสถานการณ์ทุกข์ยากบางอย่างในวัยเด็ก การเลือกเว้นข้อมูลบางอย่างอาจเป็นการปรับตัวที่ดี แต่ว่า เมื่อถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไป และการเว้นข้อมูลประเภทเดียวกันอย่างคงยืนอาจจะเป็นการปรับตัวผิด"

ดร. คริตเท็นเด็นเสนอว่า องค์ประกอบพื้นฐานของความรู้สึกมีภัยในมนุษย์เป็นข้อมูลสองชนิด

  1. ข้อมูลทางอารมณ์ (Affective information) เป็นอารมณ์ที่ก่อขึ้นโดยสิ่งที่อาจเป็นอันตราย อารมณ์เช่นความโกรธหรือความกลัว ในวัยเด็กนี่อาจรวมอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการไม่อยู่ของผู้ที่ผูกพันโดยไม่มีคำอธิบาย เมื่อทารกต้องเผชิญการดูแลของพ่อแม่แบบไม่ไวต่อความต้องการหรือแบบปฏิเสธ กลยุทธ์อย่างหนึ่งเพื่อรักษาการอยู่ใกล้ ๆ คนที่ผูกพันก็คือพยายามกำจัดจากจิตใจหรือจากพฤติกรรมที่แสดงออก ซึ่งการแสดงอารมณ์ที่อาจมีผลให้ถูกปฏิเสธ
  2. ความรู้เรื่องเหตุหรือเหตุการณ์ที่เป็นไปตามลำดับอื่น ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจเป็นไปได้ ในวัยเด็ก นี่อาจจะรวมความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่บ่งว่า ผู้ที่ติดพันเข้าหาได้เพื่อความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าความรู้เรื่องพฤติกรรมแสดงว่า การอยู่เป็นเสาหลักของผู้ที่ผูกพันอาจจะไม่คงยืน ทารกก็จะพยายามรักษาความสนใจของผู้ดูแลไว้โดยเกาะติดหรือโดยพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสลับพฤติกรรมทั้งสองอย่างนั้น

พฤติกรรมที่ว่าอาจเพิ่มการเข้าหาคนที่ผูกพันได้ ผู้ที่ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะตอบสนองอย่างไม่สม่ำเสมอหรืออย่างชวนให้เข้าใจผิดต่อพฤติกรรมผูกพันของทารก ซึ่งแสดงความเชื่อถือไม่ได้ของการป้องกันและความปลอดภัย ดร. คริตเท็นเด็นเสนอว่า ข้อมูลทั้งสองชนิดสามารถระงับไม่ใส่ใจหรือไม่แสดงออกทางพฤติกรรม โดยเป็นกลยุทธ์เพื่อรักษาความเข้าหาผู้ที่ผูกพันไว้ได้ คือ "กลยุทธ์แบบ A (แบบหลีกเลี่ยง) สันนิษฐานว่า อาศัยการลดความรู้สึกว่ามีภัย เพื่อลดความต้องการจะตอบสนอง (แบบผูกพัน) ส่วนแบบ C (แบบวิตกกังวล-คละ) สันนิษฐานว่า อาศัยการเพิ่มความรู้สึกว่ามีภัย เพื่อเพิ่มความต้องการที่จะตอบสนอง" คือ กลยุทธ์แบบ A เอาความรู้สึกว่ามีภัยออกจากใจ และแบบ C ไม่สนใจความรู้เกี่ยวกับว่าผู้ที่ผูกพันสามารถเข้าถึงได้แค่ไหนและทำไม โดยเปรียบเทียบกัน กลยุทธ์แบบ B (แบบมั่นใจ) ใช้ข้อมูลทั้งสองแบบโดยไม่บิดเบือนข้อมูล

ยกตัวอย่างเช่น เด็กรุ่นหัดเดินคนหนึ่งอาจกลายมาอาศัยกลยุทธ์แบบ C คือมีอารมณ์เกรี้ยวกราดเพื่อรักษาคนที่ผูกพันไว้ใกล้ ๆ ผู้ที่ความเข้าถึงได้อย่างไม่แน่นอนทำให้เด็กไม่เชื่อหรือบิดเบือนเหตุผลทางพฤติกรรมของผู้ดูแลที่เห็นได้ ซึ่งอาจทำให้คนดูแลเข้าใจความต้องการดีขึ้นและให้การตอบสนองที่สมควรต่อพฤติกรรมผูกพัน และเมื่อประสบกับข้อมูลที่เชื่อถือได้พยากรณ์ได้เกี่ยวกับการเข้าถึงได้ของผู้ดูแล เด็กก็จะไม่ต้องใช้พฤติกรรมแบบบังคับเพื่อรักษาความเข้าถึงได้ของผู้ดูแลอีกต่อไป แล้วจึงสามารถพัฒนาความผูกพันแบบมั่นใจเพราะเชื่อว่าความต้องการและการสื่อสารของตนจะได้การตอบสนอง

ความสำคัญของรูปแบบ

งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากงานศึกษาตามยาว เช่น National Institute of Child Health and Human Development Study of Early Child Care และ Minnesota Study of Risk and Adaption from Birth to Adulthood และข้อมูลจากงานศึกษาตามขวางแสดงอย่างคล้องจองกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบความผูกพันในเบื้องต้นของชีวิต กับความสัมพันธ์กับเพื่อนต่อ ๆ มาทั้งโดยปริมาณและโดยคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาผู้หนึ่งพบว่า "สำหรับพฤติกรรมถอยห่าง (withdrawing behavior) ที่แม่แสดงเพิ่มขึ้นแต่ละอย่างตอบสนองต่อพฤติกรรมผูกพันของทารกในระหว่างเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก โอกาสที่แพทย์จะส่งต่อเพื่อการรักษาเพิ่มขึ้น โดย 50%"

มีงานวิจัยมากมายที่แสดงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างรูปแบบความผูกพันกับการใช้ชีวิตของเด็กในหลาย ๆ ด้าน ความผูกพันแบบไม่มั่นใจในชีวิตเบื้องต้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีปัญหา แต่มันเป็นโอกาสเสี่ยงต่อเด็ก โดยเฉพาะถ้าพฤติกรรมของพ่อแม่เป็นอย่างเดียวกันตลอดวัยเด็ก เทียบกับเด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจ การปรับตัวของเด็กที่ไม่มั่นใจในหลาย ๆ ด้านของชีวิตอาจจะไม่มั่นคง ทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ ของเด็กในอนาคตอาจเป็นอันตราย แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ว่ายังไม่สามารถสรุปได้โดยงานวิจัย และก็ยังมีปัจจัยที่มีอิทธิพลอื่น ๆ นอกจากความผูกพัน แต่เด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจมีโอกาสสูงกว่าที่จะมีสมรรถภาพทางสังคมที่ดีกว่าเพื่อนที่ไม่มั่นใจ และความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนมีอิทธิพลต่อการได้ทักษะทางสังคม พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา และการสร้างเอกลักษณ์ทางสังคม

การจัดหมวดเด็กโดยสถานะทางสังคม (เพื่อนนิยม เพื่อนไม่สนใจ เพื่อนไม่ยอมรับ) พบว่าสามารถพยากรณ์การปรับตัวในด้านต่าง ๆ ได้ เด็กที่ไม่มั่นใจโดยเฉพาะแบบหลีกเลี่ยง เสี่ยงต่อเหตุที่เกิดในครอบครัวสูง พฤติกรรมทางสังคมและทางพฤติกรรมของเด็กอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงตามทักษะการเลี้ยงเด็กของพ่อแม่ แต่ว่า ความผูกพันแบบมั่นใจตั้งแต่ต้น ๆ ดูเหมือนจะมีผลป้องกันโดยระยะยาว และเหมือนกับความผูกพันกับพ่อแม่ ประสบการณ์ต่อ ๆ มาก็อาจจะเปลี่ยนวิถีพัฒนาการของเด็กได้ด้วย

งานศึกษาต่าง ๆ แสดงว่า ทารกที่มีโอกาสเสี่ยงโรคออทิซึม (Autism Spectrum Disorders) สูง อาจแสดงความผูกพันต่างจากทารกที่มีโอกาสเสี่ยงน้อย

มีนักวิชาการที่ตั้งข้อสงสัยกับไอเดียว่า การพัฒนาอนุกรมวิธานของหมวดหมู่ที่สะท้อนความแตกต่างกันของความผูกพันสามารถเป็นไปได้จริง ๆ เพราะว่า งานที่ตรวจสอบข้อมูลจากเด็กอายุ 15 เดือน 1,139 คนแสดงว่า การแปรผันของรูปแบบความผูกพันเป็นแบบกระจายไปทั่วแทนที่จะเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งตั้งคำถามสำคัญในเรื่องหมวดหมู่ของความผูกพันและกลไกทางกายภาพที่เป็นมูลฐานของพฤติกรรม แต่ว่า นี่ไม่เป็นปัญหาต่อทฤษฎีโดยตรง เพราะว่าทฤษฎี "ไม่ได้บังคับให้มีหรือพยากรณ์รูปแบบความผูกพันที่รวมเป็นกลุ่ม ๆ"

มีหลักฐานบ้างว่าความแตกต่างระหว่างเพศเกี่ยวกับรูปแบบความผูกพัน จะเริ่มเกิดขึ้นในวัยเด็กตอนกลาง ความผูกพันแบบไม่มั่นใจและความเครียดทางจิตสังคมในระยะต้น ๆ เป็นตัวชี้ว่า เด็กมีความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม (เช่น ความยากจน ความผิดปกติทางจิต ชีวิตไม่มีเสถียรภาพ ความเป็นชนกลุ่มน้อย ปัญหาความรุนแรง) ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นเหตุความผูกพันแบบไม่มั่นใจ และยังกดดันให้มีเพศสัมพันธ์เร็วอีกด้วย โดยกลยุทธ์การสืบพันธุ์ที่ต่างกันระหว่างหญิงชาย จะทำให้ปรับตัวต่างกัน ชายที่ไม่มั่นใจมักจะใช้กลยุทธ์แบบหลีกเลี่ยง เทียบกับหญิงที่ไม่มั่นใจที่มักใช้กลยุทธ์แบบวิตกกังวล-คละนอกจากจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความเสี่ยงสูงมาก มีการเสนอว่าพัฒนาการทางเพศช่วง Adrenarche เป็นกลไกทางต่อมไร้ท่อที่เปลี่ยนรูปแบบความผูกพันในวัยเด็กตอนกลาง รวมทั้งความผูกพันแบบไม่มั่นใจด้วย

ความเปลี่ยนแปลงในระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น

แบบจำลองใช้งานภายในที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความผูกพัน จะพัฒนาขึ้นในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น โดยจะสัมพันธ์กับภาวะจิตใจที่พัฒนาขึ้นตามความผูกพันโดยทั่วไป และแสดงว่าความผูกพันจะทำงานเช่นไรภายในปฏิสัมพันธ์ของความสัมพันธ์โดยอาศัยประสบการณ์ในวัยเด็กและวัยรุ่น การสร้างแบบจำลองภายในพิจารณาว่า นำไปสู่ความผูกพันที่เสถียรกว่าในบุคคลที่ได้พัฒนาแบบจำลองเช่นนี้ เทียบกับบุคคลที่อาศัยความรู้สึกในใจเพียงอย่างเดียวเมื่อสร้างความผูกพันใหม่ ๆ อายุ พัฒนาการทางการรู้คิด และประสบการณ์ทางสังคมจะเพิ่มการพัฒนาและความซับซ้อนของแบบจำลองภายใน โดยพฤติกรรมความผูกพันจะลดลักษณะบางอย่างที่ปรากฏในวัยทารก-เด็ก แล้วเพิ่มลักษณะอื่น ๆ ตามอายุ เช่น วัยก่อนอนุบาลจะมีการเจรจาและต่อรอง ยกตัวอย่างเช่น เด็ก 4 ขวบจะไม่ทุกข์เพราะความพรากถ้าเด็กและคนดูแลได้เจรจาแผนร่วมกันในการจากกันแล้วมาพบกันอีก

เพื่อนกลายเป็นเรื่องสำคัญในช่วงวัยเด็กตอนกลางและมีอิทธิพลที่ไม่เหมือนกับของพ่อแม่

โดยอุดมคติแล้ว ทักษะทางสังคมเหล่านี้จะรวมเข้ากับแบบจำลองภายใน แล้วสามารถใช้กับเด็กอื่น ๆ และต่อไปกับเพื่อนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ โดยมากจะเริ่มมีความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนที่ปรับเป้าหมายได้กับพ่อแม่ ซึ่งหุ้นส่วนแต่ละคนจะยอมประนีประนอมเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อรักษาความพอใจของทั้งสองฝ่าย และโดยวัยเด็กช่วงกลาง จุดหมายของระบบพฤติกรรมผูกพัน จะเปลี่ยนจากการต้องอยู่ใกล้ ๆ ไปเป็นการเข้าถึงคนที่ผูกพันได้ โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะพอใจกับการจากกันที่นานกว่า ถ้าสามารถติดต่อกันได้ แม้กระทั่งมาเจอกันอีกถ้าจำเป็น พฤติกรรมผูกพันแบบเกาะติดและตามจะลดลงและจะพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยวัยเด็กช่วงกลาง (อายุ 7-11 ขวบ) อาจจะเปลี่ยนเป็นการควบคุมเสาหลักร่วมกัน ที่คนดูแลและเด็กต่อรองวิธีการคุยกันและการควบคุมดูแล เมื่อเด็กพัฒนามีอิสระมากขึ้น

ในผู้ใหญ่

ทฤษฎีความผูกพันได้ขยายไปใช้กับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของผู้ใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมีการจำแนกหมวดหมู่ 4 อย่าง คือ มั่นใจ (secure) วิตกกังวล-มัววุ่นวาย (anxious-preoccupied) ไม่สนใจ-หลีกเลี่ยง (dismissive-avoidant) และกลัว-หลีกเลี่ยง (fearful-avoidant) ซึ่งโดยรวม ๆ คล้อยตามหมวดเหล่านี้ของทารก คือ มั่นใจ (secure) ไม่มั่นใจ-คละ (insecure-ambivalent) ไม่มั่นใจ-หลีกเลี่ยง (insecure-avoidant) และไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย ผู้ใหญ่ที่ผูกพันอย่างมั่นใจมองตัวเอง คู่ขา และความสัมพันธ์ร่วมกันในเชิงบวก โดยรู้สึกสบาย ๆ ทั้งกับความใกล้ชิดและความเป็นอิสระโดยสมดุลกัน

ส่วนผู้ใหญ่ที่วิตกกังวล-มัววุ่นวายต้องการความใกล้ชิด การยอมรับ และการตอบสนองจากคู่สูง กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งอาศัยมากเกินไป มักจะเชื่อใจน้อยกว่า มีมุมมองที่ดีน้อยกว่าเกี่ยวกับตนและคู่ และอาจแสดงอารมณ์ ความกังวล และความหุนหันพลันแล่นมากในความสัมพันธ์

ส่วนแบบไม่สนใจ-หลีกเลี่ยงต้องการความเป็นอิสระสูง บ่อยครั้งดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงความผูกพันทั้งหมด คือมองว่าช่วยตัวเองได้ ไม่อ่อนไหวต่อความผูกพันและไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด มักจะระงับความรู้สึกของตน รับมือกับการถูกปฏิเสธโดยทำตัวเองให้ห่างเหินจากคู่ความสัมพันธ์ที่บ่อยครั้งตนมีความเห็นไม่ดี

ส่วนแบบกลัว-หลีกเลี่ยงมักจะรู้สึกครึ่ง ๆ กลาง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทั้งอยากจะได้ทั้งไม่รู้สึกสบายกับความใกล้ชิด มักจะไม่เชื่อใจคู่สัมพันธ์และมักมองตัวเองว่าไม่คุ้มค่า โดยเหมือนกับแบบไม่สนใจ-หลีกเลี่ยง ผู้ใหญ่ประเภทนี้ต้องการความใกล้ชิดที่น้อยกว่า และจะยับยั้งความรู้สึกของตน

รูปแบบความผูกพันในระหว่างคู่รักจากมุมมองกว้าง ๆ เป็นไปตามรูปแบบความผูกพันในทารก แต่ว่า ผู้ใหญ่สามารถมีแบบจำลองใช้งานภายในหลายอย่างสำหรับความสัมพันธ์ต่าง ๆ

มีการศึกษาความผูกพันในผู้ใหญ่หลัก ๆ สองด้าน คือ (1) ทั้งการจัดระเบียบและเสถียรภาพของแบบจำลองใช้งานในใจที่เป็นมูลฐานของสไตล์การผูกพัน ได้รับความสนใจจากนักจิตวิทยาสังคมที่สนใจความผูกพันแบบคู่รัก (2) ส่วนนักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สนใจสภาพจิตใจของบุคคลในเรื่องความผูกพัน จะตรวจสอบว่าความผูกพันทำงานในปฏิสัมพันธ์ของความสัมพันธ์อย่างไร และมีผลเช่นไรต่อความสัมพันธ์ แบบจำลองใช้งานในใจจะเสถียรกว่าเมื่อเทียบกับสภาพจิตใจเกี่ยวกับความผูกพันที่เปลี่ยนไปมาบ่อยกว่า

แต่มีนักวิชาการที่เสนอว่า ผู้ใหญ่ไม่ได้มีแบบจำลองใช้งานเพียงแค่ชุดเดียว ในระดับหนึ่ง จะมีกฎและข้อสมมุติชุดหนึ่งเกี่ยวกับความผูกพันโดยทั่วไป ในอีกระดับหนึ่ง ก็ยังมีข้อมูลโดยเฉพาะ ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์และเหตุการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์หนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลในระดับต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเข้ากัน ดังนั้น บุคคลจึงสามารถมีแบบจำลองใช้งานภายในต่าง ๆ สำหรับความสัมพันธ์ต่าง ๆ

มีแบบวัดความผูกพันสำหรับผู้ใหญ่หลายอย่าง แบบที่สามัญที่สุดเป็นคำถามที่ตอบเอง และการสัมภาษณ์ที่เข้ารหัส แบบต่าง ๆ พัฒนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมืองานวิจัย โดยมีเป้าหมายต่าง ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เพื่อความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และความสัมพันธ์กับเพื่อน มีบางอย่างที่จัดหมวดสภาพใจของผู้ใหญ่เกี่ยวกับความผูกพันและรูปแบบความผูกพันโดยอ้างประสบการณ์ในวัยเด็ก ในขณะที่อย่างอื่นประเมินพฤติกรรมความผูกพันและความมั่นใจเกี่ยวกับพ่อแม่และเพื่อน

ประวัติ

การขาดแม่

ความคิดในเบื้องต้นของทฤษฎี Object relations theory ของสาขาจิตวิเคราะห์ มีอิทธิพลต่อจอห์น โบลบี้มาก แต่ว่า เขาก็ยังไม่เห็นด้วยกับความเชื่อทางจิตวิเคราะห์ว่า การตอบสนองของทารกเป็นเรื่องชีวิตจินตนิมิตในภายในแทนที่จะเป็นเหตุการณ์จริง ๆ ในชีวิต เมื่อโบลบี้กำลังสร้างไอเดียของเขา เขาได้อิทธิพลจากงานศึกษาเค้สของเด็กที่มีปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย ดังงานที่พิมพ์ในปี 2486 และ 2488

เด็กสวดมนต์ที่สถานเลี้ยงเด็ก Five Points House of Industry residential nursery ปี 2431 ทฤษฎีขาดแม่ที่โบลบี้พิมพ์ในปี 2494 ได้ปฏิวัติการใช้สถานที่เลี้ยงเด็กต่อมา

นักวิชาการร่วมสมัยคนหนึ่งของโบลบี้ได้สังเกตเห็นความเศร้าโศกของเด็กที่พรากจากพ่อแม่ แล้วเสนอว่ามีผลเป็นพิษทางจิต (psychotoxic) จากประสบการณ์เลี้ยงเด็กที่ไม่เหมาะสม และนักจิตวิเคราะห์เพื่อนร่วมงานของโบลบี้คนหนึ่งได้ถ่ายภาพยนตร์ผลของการพรากจากพ่อแม่ของเด็กในโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาทำงานร่วมกันในปี 2495 เพื่อสร้างภาพยนตร์สารคดี เด็กสองขวบไปโรงพยาบาล (A Two-Year Old Goes to the Hospital) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรณรงค์ให้เปลี่ยนข้อจำกัดการเยี่ยมเด็กในโรงพยาบาลของพ่อแม่

ในเอกสารที่เขาเขียนเพื่อองค์การอนามัยโลกในปี 2494 การดูแลของแม่และสุขภาพจิต (Maternal Care and Mental Health) โบลบี้ได้เสนอสมมติฐานว่า "ทารกและเด็กเล็ก ๆ ควรจะประสบกับความสัมพันธ์ที่อบอุ่น ใกล้ชิด และต่อเนื่องกับแม่ ที่ทั้งสองจะพบความพอใจและความสุข" ซึ่งถ้าขาดแล้วอาจมีผลทางสุขภาพจิตที่สำคัญและแก้ไม่ได้ ซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นเอกสารสาธารณชนชื่อว่า การดูแลเด็กและการเพิ่มพูนความรัก (Child Care and the Growth of Love) สมมติฐานหลักของเอกสารเป็นเรื่องทรงอิทธิพลแต่ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาก เพราะว่า ในช่วงนั้น มีหลักฐานทางประสบการณ์ที่น้อยมากและไม่มีทฤษฎีที่ครอบคลุมที่สามารถอธิบายข้อสรุปเช่นนี้ได้

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของโบลบี้ได้สร้างความสนใจอย่างพอสมควรในเรื่องธรรมชาติของความสัมพันธ์ในต้นชีวิต เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยอย่างมากมายในประเด็นที่ยากและซับซ้อน งานของโบลบี้ (และหนังของเพื่อร่วมงาน) เป็นเหตุการปฏิวัติการเยี่ยมเด็กที่โรงพยาบาลของพ่อแม่ การจัดเตรียมให้เด็กเล่นในโรงพยาบาล การใช้สถานเลี้ยงเด็กเพื่อความจำเป็นทางการศึกษาและทางสังคม ต่อมา ในประเทศพัฒนาโดยมาก สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจึงเลิกใช้เปลี่ยนเป็นการให้เลี้ยงเด็กในบ้านแทน

ต่อจากการพิมพ์บทความเหล่านั้น โบลบี้ได้สืบหาความเข้าใจใหม่ ๆ จากสาขาชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ พฤติกรรมวิทยา จิตวิทยาพัฒนาการ ประชานศาสตร์ และทฤษฎีระบบควบคุม แล้วเสนออย่างสร้างสรรค์ว่า กลไกที่เป็นเหตุความผูกพันของทารกต่อผู้ดูแลเกิดจากความกดดันทางวิวัฒนาการ เขาจึงได้เริ่มสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการควบคุมแรงจูงใจและพฤติกรรมทางวิทยาศาสตร์แทนที่จะต่อเติมแบบจำลองทางจิตของซิกมุนด์ ฟรอยด์ โบลบี้ได้อ้างว่า ทฤษฎีความผูกพันเป็นตัวแก้ "ความขาดข้อมูลและขาดทฤษฎี ที่สัมพันธ์กับเหตุและผลที่อ้าง" ในเอกสาร การดูแลของแม่และสุขภาพจิต

พฤติกรรมวิทยา

การสำรวจของทารกจะมากว่าเมื่อผู้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ เพราะระบบความผูกพันไม่ต้องทำงาน เด็กจึงเป็นอิสระเพื่อจะสำรวจ

โบลบี้เริ่มสนใจในเรื่องพฤติกรรมวิทยาจากอิทธิพลของนักวิชาการ 3 ท่าน (รวมทั้งคอนแรด ลอเร็นซ์, Nikolaas Tinbergen และ Robert Hinde) โดยปี 2496 โบลบี้ได้กล่าวว่า "ถึงเวลาอันควรแล้วเพื่อรวมแนวคิดทางจิตวิเคราะห์กับแนวคิดทางพฤติกรรมวิทยา..."

คอนแรด ลอเรนซ์ได้ตรวจสอบปรากฏการณ์การฝังใจ (imprinting) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เฉพาะกับสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เป็นการเรียนรู้โดยการรู้จำอย่างรวดเร็วของสัตว์เล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกับสัตว์ชนิดเดียวกันหรือกับวัตถุที่เทียบกันได้อื่น ๆ ซึ่งเมื่อจำได้แล้ว สัตว์มักโน้มเอียงที่จะติดตาม

การเรียนรู้บางอย่างเป็นไปได้ แล้วแต่ละอย่าง ภายในช่วงระยะอายุจำกัดที่เรียกว่า critical period แนวคิดของโบลบี้รวมไอเดียว่า ความผูกพันเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในช่วงอายุที่จำกัด โดยมีอิทธิพลจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ แม้เขาจะไม่ได้ใช้ไอเดียเกี่ยวกับ imprinting โดยตรงกับมนุษย์ แต่เขาก็พิจารณาว่าพฤติกรรมผูกพันอธิบายได้ดีที่สุดว่าเป็นสัญชาติญาณ ร่วมกับผลทางประสบการณ์ โดยเน้นความพร้อมเปลี่ยนที่เด็กมีเพื่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อต่อมาชัดเจนว่า ทฤษฎี impriting แตกต่างมากกว่าคล้ายคลึงกันกับทฤษฎีความผูกพัน จึงเลิกใช้การศึกษาแบบเปรียบเทียบกัน

นักพฤติกรรมวิทยาได้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยที่เป็นมูลฐานของทฤษฎีมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะการนำนัยจากพฤติกรรมสัตว์มาขยายใช้ในมนุษย์ ยังมีนักพฤติกรรมวิทยาที่วิจารณ์การใช้หลักพฤติกรรมวิทยาในทฤษฎีความผูกพันว่า ไม่ติดตามความก้าวหน้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในศาสตร์ นอกจากนั้น รูปแบบพฤติกรรมที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ความผูกพันก็ขยายเพิ่มขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งนักพฤติกรรมวิทยาก็ได้ตั้งความสงสัย

กวางมูสที่เลี้ยงด้วยนมขวดนี้ได้เกิดความผูกพันกับคนดูแล

งานศึกษาในเด็กเล็ก ๆ ในสถานที่ทำเหมือนสถานจริงได้แสดงพฤติกรรมอย่างอื่นที่อาจเป็นตัวบ่งชี้ความผูกพัน ยกตัวอย่างเช่น อยู่ใกล้ ๆ แม่โดยแม่ไม่ต้องพยายามทำอะไร เก็บของเล็ก ๆ แล้วนำมาให้แม่แต่ไม่ให้คนอื่น แม้ว่านักพฤติกรรมวิทยามักจะเห็นด้วยกับโบลบี้ แต่ก็ยืนยันให้หาข้อมูลเพิ่ม โดยค้านการเขียนของนักจิตวิทยาว่าเหมือนกันมี "อะไรบางอย่างที่เป็น 'ความผูกพัน' นอกเหนือไปจากสิ่งที่วัดและเห็นได้" แต่ว่า ก็มีนักพฤติกรรมวิทยา (Robert Hinde) ที่พิจารณาคำว่า "ระบบพฤติกรรมผูกพัน (attachment behaviour system)" ว่าเป็นคำที่เหมาะสมโดยไม่มีปัญหาอย่างเดียวกัน "เพราะว่ามันหมายถึงระบบควมคุมสมมุติที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมต่าง ๆ กัน"

การอพยพหลบภัยของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นที่ยิ้ม ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจากหนังสือ ถนนสู่หายนะ (Road to Catastrophe)

จิตวิเคราะห์

แนวคิดทางจิตวิเคราะห์มีอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องความผูกพันของโบลบี้ โดยเฉพาะสังเกตการณ์ในเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกพรากจากคนดูแลที่คุ้นเคยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ว่า โบลบี้ปฏิเสธคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับความผูกพันของเด็กทารกรวมทั้ง drive theory ซึ่งแสดงว่าแรงจูงใจในการผูกพันมาจากการสนองความหิวและสัญชาตญาณทางเพศ ในแนวคิดของเขา แนวคิดจิตวิเคราะห์นี้ล้มเหลวเพราะไม่เห็นความผูกพันว่า เป็นปรากฏการณ์ทางจิตอีกอย่างที่นอกเหนือไปจากสัญชาตญาณการกินและเรื่องเพศ โดยอาศัยแนวคิดจากทฤษฎีวิวัฒนาการ โบลบี้ได้ระบุสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความผิดพลาดขั้นพื้นฐานของจิตวิเคราะห์ ซึ่งก็คือ การเน้นว่าเป็นภัยภายในไม่ใช่เป็นภัยภายนอกมากเกินไป และมุมมองว่าบุคลิกภาพพัฒนาเป็นระยะ ๆ เป็นแนวเส้นตรง โดยอาจย้อนกลับ (regression) ไปยังจุดใดจุดหนึ่งเมื่อเกิดความทุกข์

โบลบี้เสนอว่า พัฒนาการที่แยกเป็นหลายเส้นเป็นไปได้ และผลที่ได้จะขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ในทฤษฎีความผูกพัน นี่หมายความว่าแม้ว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดความผูกพัน แต่ธรรมชาติของความผูกพันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้ เริ่มตั้งแต่ระยะต้นของการพัฒนาทฤษฎี มีข้อวิจารณ์ว่าทฤษฎีไม่เข้ากับสาขาต่าง ๆ ของจิตวิเคราะห์ แนวคิดของโบลบี้ทำให้เขาถูกวิจารณ์โดยคนที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่กำลังทำงานในเรื่องเดียวกัน

แบบจำลองใช้งานภายใน

นักปรัชญาคนหนึ่ง (Kenneth Craik) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสามารถของความคิดที่จะพยากรณ์เหตุการณ์ ซึ่งเขาเน้นว่ามีคุณค่าทางการอยู่รอดและจะมีการคัดเลือกโดยธรรมชาติสำหรับความสามารถนี้ แบบจำลองใช้งานภายใน (internal working model) ช่วยให้บุคคลลองตามทางเลือกในใจ โดยใช้ความรู้ในอดีตเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคต โบลบี้ได้ใช้แนวคิดนี้กับความผูกพัน เมื่อนักจิตวิทยาพวกอื่นกำลังใช้แนวคิดนี้กับการรับรู้และการรู้คิดของผู้ใหญ่

แบบจำลองใช้งานภายในของทารกจะพัฒนาขึ้นตามประสบการณ์ของผลที่ได้รับเมื่อพยายามเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ถ้าผู้ดูแลยอมรับพฤติกรรมเช่นนี้แล้วให้โอกาส ทารกก็จะพัฒนาความผูกพันแบบมั่นใจ ถ้าคนดูแลไม่ให้โอกาสอย่างคงที่คงวา รูปแบบหลีกเลี่ยงก็จะเกิดขึ้น และถ้าผู้ดูแลให้โอกาสแต่ไม่สม่ำเสมอ แบบคละก็จะเกิดขึ้น

ส่วนในมารดา แบบจำลองใช้งานภายในที่อำนวยให้เกิดความสัมพันธ์แบบผูกพันกับทารกของเธอ จะสามารถเข้าถึงได้โดยตรวจเครื่องหมายทางจิตที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก (mental representation) งานวิจัยที่ตีพิมพ์ปี 2558 แสดงว่า การอธิบายเหตุในเหตุการณ์ของแม่ (attribution) ที่ใช้บ่งชี้เครื่องหมายทางจิตที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก (mental representation) สามารถสัมพันธ์กับโรคจิตของแม่บางอย่าง ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ภายในระยะค่อนข้างสั้นโดยใช้การแทรกแซงทางจิตบำบัด

กราฟแสดงการกระจายตัวของรูปแบบความผูกพันในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น

การพัฒนา

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ปัญหาในการมองความผูกพันว่าเป็นลักษณะนิสัย (trait) คือลักษณะที่ค่อนข้างเสถียรในบุคคล แทนที่จะเป็นรูปแบบพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ที่มีหน้าที่และผลที่ให้ถึงเป้าหมาย ทำให้นักวิชาการบางท่านสรุปว่า พฤติกรรมความผูกพันควรจะเข้าใจโดยหน้าที่ของมันต่อชีวิตของเด็ก แนวคิดนี้เห็นความเป็นเสาหลักของผู้ดูแลว่าเป็นเรื่องสำคัญทางตรรกะ ต่อความคล้องจองกัน และต่อสถานะของทฤษฎีความผูกพัน ในฐานะเป็นบทสร้าง (construct) ที่ช่วยจัดระเบียบ ดังนั้น จึงมีการตรวจสอบว่า ความผูกพันจะเหมือนกันในมนุษย์วัฒนธรรมต่าง ๆ หรือไม่ งานวิจัยพบว่า แม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมบ้าง แต่รูปแบบพื้นฐาน 3 อย่าง คือ มั่นใจ (secure) หลีกเลี่ยง (avoidant) และคละ (ambivalent) สามารถพบได้ในทุกวัฒนธรรมที่ศึกษา แม้กระทั่งในวัฒนธรรมที่การนอนอยู่รวมกันจะเป็นเรื่องปกติ

งานวิจัยแสดงวา รูปแบบความผูกพันเหมือนกันในวัฒนธรรมต่าง ๆ แม้ว่าการแสดงความผูกพันอาจจะต่างกันบ้าง

เด็กในวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ศึกษามักมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นใจ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะทฤษฎีความผูกพันกำหนดว่า ทารกจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยเลือกกลยุทธ์พฤติกรรมที่ดีที่สุด แต่การแสดงความผูกพันจะต่างกันในวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องต้องกำหนดก่อนจะทำงานวิจัยในด้านอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น คน Gusii ทักทารกด้วยการจับมือแทนที่จะกอด ดังนั้น ทารกที่ผูกพันแบบมั่นใจจะหวังและสืบหาพฤติกรรมเช่นนี้ และวัฒนธรรมต่าง ๆ มีอัตราการกระจายของรูปแบบที่ไม่มั่นใจต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับวิธีเลี้ยงเด็ก

ในปี 2517 นักจิตวิทยาคนหนึ่ง (Michael Rutter) ศึกษาความสำคัญในการแยกแยะระหว่างผลของการขาดความผูกพันต่อพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา กับผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ในเด็ก เขาได้สรุปว่า ลักษณะของแม่ต้องมีการระบุและแยกแยะก่อนที่จะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้

ปัญหาใหญ่ที่สุดต่อแนวคิดว่าทฤษฎีนี้ทั่วไปในมนุษย์ทั้งหมดมาจากงานศึกษาที่ทำในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอ้างว่าแนวคิดเรื่อง amae มีบทบาทสำคัญเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว คือ amae เป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงเมื่อเรียกร้องให้บุคคลที่มีอำนาจกว่า เช่น พ่อแม่ คู่ครอง ครู หรือเจ้านายให้ช่วยดูแลตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นการขอหรือแม้แต่ทำงอนโดยรู้ว่าพฤติกรรมจะมีผลตามที่ต้องการ ดังนั้น จึงมีข้อขัดแย้งว่า เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกใช้ได้หรือไม่ในที่ที่ amae เป็นพฤติกรรมปกติ

ถึงเช่นนั้น งานวิจัยโดยมากมักจะยืนยันความทั่วไปของทฤษฎีนี้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ งานวิจัยล่าสุดปี 2550 ที่ทำในนครซัปโปะโระพบว่า การกระจายตัวของพฤติกรรมความผูกพันที่ศึกษาเข้ากับเกณฑ์ปกติทั่วโลก (โดยใช้แบบวัด six-year Main and Cassidy scoring system)

นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยในคริสต์ทศวรรษ 1990 (เช่น ดร. จูดิธ แฮร์ริส, ศ. ดร. สตีเฟน พิงเกอร์ และ ศ. ดร. เจโรม เคแกน) โดยทั่วไปตั้งความสงสัยในเรื่องทารกนิยัตินิยม (infant determinism) ที่ถกประเด็นว่าเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู คือสงสัยการเน้นผลของประสบการณ์ที่ได้ภายหลังต่อบุคลิกภาพของเด็ก โดยเป็นการเสริมงานเรื่องพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament) ดร. เคแกนไม่เห็นด้วยกับข้อสมมุติทางพฤติกรรมวิทยาเกือบทุกอย่างที่ทฤษฎีความผูกพันมีมูลฐาน คือ ดร. เคแกนอ้างว่า กรรมพันธุ์สำคัญต่อพัฒนาการมากกว่าผลแบบชั่วคราวจากสิ่งแวดล้อมที่มีในเบื้องต้นชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีพื้นอารมณ์แต่กำเนิดไม่ดี จะไม่ชวนให้ผู้ดูแลตอบสนองแบบไวความรู้สึก

แต่ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้เกิดงานวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานศึกษาตามยาวที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นต่อ ๆ มา และงานก็ไม่ได้พบหลักฐานยืนยันข้ออ้างของ ดร. เคแกน ซึ่งอาจจะหมายความว่า มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ดูแลที่จะสร้างสไตล์ความผูกพันในเด็ก แต่ว่าการแสดงออกอาจจะต่าง ๆ กันไปเนื่องจากพื้นอารมณ์แต่กำเนิดของเด็ก ส่วน ดร. แฮร์ริสและ ดร. พิงเกอร์ ได้เสนอแนวคิดว่า อิทธิพลของพ่อแม่ต่อเด็กกล่าวกันเกินจริง โดยอ้างว่า กระบวนการเข้าสังคมของเด็กเกิดขึ้นโดยหลักในกลุ่มเพื่อน ๆ มีจนถึงนักวิชาการที่ได้สรุปว่า พ่อแม่และเพื่อนมีหน้าที่ต่างกัน และมีบทบาทที่ต่างกันในพัฒนาการของเด็ก

นักจิตวิทยา/จิตวิเคราะห์คู่หนึ่ง (Peter Fonagy และ Mary Target) ได้พยายามเชื่อมทฤษฎีความผูกพันและจิตวิเคราะห์ให้ใกล้กันยิ่งขึ้นผ่านแนวคิดทางประสาทวิทยา คือ ทฤษฎีจิต (theory of mind, mentalization) ซึ่งเป็นสมรรถภาพของมนุษย์ที่จะคาดเดาความคิด ความรู้สึก และความตั้งใจที่เป็นเหตุของพฤติกรรมแม้ที่ละเอียดอ่อนเช่น สีหน้า ของคนอื่น โดยสามารถเดาอย่างแม่นยำจนถึงระดับหนึ่ง มีการเก็งว่าความเชื่อมต่อระหว่างทฤษฎีจิตและแบบจำลองใช้งานภายในอาจทำให้เกิดการศึกษาในเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งในที่สุดจะเป็นตัวเปลี่ยนทฤษฎีความผูกพัน

เริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ทฤษฎีความผูกพันและจิตวิเคราะห์ก็ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยเหตุความคิดที่มีร่วมกันกับนักทฤษฎีและนักวิจัยเรื่องความผูกพัน และความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดในจิตวิเคราะห์ คือ แบบจำลองทางจิตวิเคราะห์คือ Object relations ซึ่งเน้นความสำคัญของความสัมพันธ์กับคนอื่นโดยเฉพาะ ได้กลายเป็นทฤษฎีหลัก ซึ่งเชื่อมกับความเข้าใจที่กำลังเพิ่มขึ้นในวงจิตวิเคราะห์ ถึงความสำคัญของพัฒนาการของทารกโดยความสัมพันธ์และโดยเครื่องหมายภายในที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก คือ วงการจิตวิเคราะห์ได้ยอมรับสภาพแวดล้อมในชีวิตเบื้องต้นว่าเป็นตัวการในพัฒนาการของเด็ก รวมถึงปัญหาการบอบช้ำทางจิตใจในวัยเด็กด้วย ดังนั้น จึงเกิดคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์ในเรื่องระบบความผูกพันและวิธีการรักษา โดยเกิดขึ้นพร้อมกับความเข้าใจว่าจำเป็นต้องมีการวัดผลของการรักษา

นักวิชาการที่ได้ตรวจสอบความผูกพันในวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนตะวันตก ได้สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างทฤษฎีความผูกพันกับครอบครัวชาวตะวันตก และกับรูปแบบการเลี้ยงลูกที่ทั่วไปในสมัยของจอห์น โบลบี้

ประเด็นหนึ่งที่งานวิจัยเพ่งก็คือปัญหาของเด็กที่มีประวัติความผูกพันที่ไม่ดี รวมทั้งเด็กที่ดูแลโดยคนอื่นไม่ใช่พ่อแม่ ความกังวลเรื่องให้คนอื่นดูแลเด็กค่อนข้างรุนแรงในประเทศตะวันตกช่วงปลายคริสต์ศศวรรษที่ 20 ซึ่งมีนักวิชาการบางท่านที่เน้นผลอันตรายของสถานที่เลี้ยงเด็ก โดยเป็นผลจากความขัดแย้งเช่นนี้ การฝึกคนดูแลเด็กจึงได้เริ่มเน้นประเด็นความผูกพัน รวมทั้งความจำเป็นที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเด็กโดยให้มีคนดูแลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แม้ว่า น่าจะมีเพียงสถานเลี้ยงเด็กคุณภาพสูงเท่านั้นที่สามารถทำอย่างนี้ได้ แต่ทารกก็ได้รับการดูแลอย่างผูกพันดีขึ้นในสถานที่เลี้ยงเด็กเทียบกับในอดีต

การทดลองที่เป็นเองตามธรรมชาติทำให้สามารถทำการศึกษาอย่างกว้างขวางในประเด็นความผูกพัน เมื่อนักวิจัยติดตามเด็กกำพร้าชาวโรมาเนียเป็นพัน ๆ ที่ได้รับเลี้ยงเป็นลูกในครอบครัวชาวตะวันตกหลังยุติการปกครองของประเทศโดยนายนิโคไล เชาเชสกู กลุ่มนักวิจัยติดตามเด็กบางคนจนถึงช่วงวัยรุ่น เพื่อพยายามไขผลของความผูกพันที่ไม่ดี การรับเลี้ยงเป็นบุตร ความสัมพันธ์ใหม่ ปัญหาทางกายและทางการแพทย์ที่สัมพันธ์กับชีวิตในเบื้องต้น งานศึกษาเด็กที่ได้รับเลี้ยงเหล่านี้ ที่มีสภาพเบื้องต้นที่น่าตกใจ มีผลที่ให้ความหวัง คือ เด็กจำนวนมากพัฒนาขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า การพรากจากคนที่คุ้นเคยเป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวในปัจจัยหลายอย่างที่กำหนดคุณภาพทางพัฒนาการของเด็ก แม้ว่าจะพบรูปแบบความผูกพันแบบ่ไม่มั่นใจที่ไม่ทั่วไป (atypical insecure attachment) ในอัตราที่สูงกว่าเด็กที่เกิดในประเทศหรือที่รับเลี้ยงเมื่อเด็กกว่า เด็กที่รับมาเลี้ยงเมื่อโตกว่าประมาณ 70% ไม่แสดงพฤติกรรมที่แสดงความผูกพันผิดปกติที่รุนแรงหรือชัดเจน

นักวิชาการที่ได้ตรวจสอบความผูกพันในวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนตะวันตกสังเกตเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างทฤษฎีความผูกพันกับครอบครัวชาวตะวันตก และกับรูปแบบการเลี้ยงลูกชาวตะวันตกที่ทั่วไปในสมัยของจอห์น โบลบี้

เมื่อการดูแลเด็กเปลี่ยนไป ประสบการณ์ทางความผูกพันของเด็กก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมเรื่องทางเพศของหญิง ได้เพิ่มเด็กเป็นจำนวนมาก ผู้อยู่กับแม่ที่ยังไม่เคยแต่งงานหรือผู้ได้รับการดูแลนอกบ้านเมื่อแม่ไปทำงาน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ไม่มีลูก ลำบากในการรับทารกมาเลี้ยงในประเทศของตนมากขึ้น ได้มีการรับเด็กที่โตกว่ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้น และได้เด็กมาจากประเทศที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และการรับเด็กมาเลี้ยงและการให้กำเนิดเด็กในคู่ชีวิตเพศเดียวกันก็ได้เพิ่มขึ้นและได้รับการรับรองป้องกันทางกฎหมาย เทียบกับสถานะที่ต่างกันในช่วงสมัยของโบลบี้

มีผู้ที่ยกปัญหาว่า ลักษณะความผูกพันที่แบ่งเป็นสอง (dyadic model) ของทฤษฎีไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของประสบการณ์ทางสังคมในชีวิตจริง ๆ ได้ เพราะว่าทารกบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับคนหลายคนในครอบครัวและในสถานที่เลี้ยงเด็ก และความสัมพันธ์กับคนต่าง ๆ จะมีอิทธิพลต่อกันและกัน อย่างน้อยก็ภายในครอบครัว

หลักทฤษฎีความผูกพันได้ใช้อธิบายพฤติกรรมทางสังคมของผู้ใหญ่ รวมทั้งการจับคู่ ภาวะความเป็นเด่นในสังคม (social dominance) โครงสร้างอำนาจที่แบ่งเป็นชั้น ๆ การระบุคนพวกเดียวกัน การร่วมมือในกลุ่ม การต่อรองเพื่อการแลกเปลี่ยน/การพึ่งพาอาศัยกัน และความยุติธรรม เป็นคำอธิบายที่ใช้ออกแบบการฝึกอบรมพ่อแม่ในการดูแลลูก และประสบความสำเร็จเป็นพิเศษในการออกแบบโปรแกรมป้องกันทารุณกรรมต่อเด็ก

แม้ว่าจะมีงานมากมายหลายประเภทที่สนับสนุนหลักพื้นฐานของทฤษฎีความผูกพัน แต่งานวิจัยก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ความผูกพันในชีวิตเบื้องต้นที่รายงานเอง สัมพันธ์กับความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นภายหลังหรือไม่

ชีววิทยาของความผูกพัน

นอกจากจะมีงานศึกษาตามยาวต่าง ๆ แล้ว ยังมีงานวิจัยทางจิตสรีรวิทยาเกี่ยวกับชีววิทยาของความผูกพันด้วย รวมทั้งด้านการเติบโตทางสมอง (neural development) พันธุศาสตร์ทางพฤติกรรม และแนวคิดพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament)

โดยทั่วไปแล้วพื้นอารมณ์แต่กำเนิดและความผูกพันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ว่าด้านต่าง ๆ ของแนวคิดทั้งสองมีผลต่อพัฒนาการระหว่างบุคคลและภายในบุคคล พื้นอารมณ์แต่กำเนิดบางอย่างอาจทำให้บุคคลเสี่ยงต่อความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่เชื่อใจไม่ได้หรือเป็นปฏิปักษ์กับคนดูแลในชีวิตต้น ๆ เมื่อไม่มีผู้ดูแลที่เข้าถึงได้หรือไวความรู้สึก เด็กบางคนปรากฏว่าเสี่ยงต่อความผิดปกติทางความผูกพัน (attachment disorder)

ในการวิจัยทางจิตสรีรวิทยา ประเด็นศึกษาหลักก็คือ การตอบสนองโดยอัตโนวัติ เช่น การเต้นหัวใจหรือการหายใจ และการทำงานของสมองเขตแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล มีการวัดการตอบสนองทางสรีรภาพของทารกเมื่อกำลังทำเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก เพื่อตรวจสอบความแตกต่างระหว่างบุคคลในพื้นอารมณ์แต่กำเนิดของทารก และขอบเขตที่ความผูกพันอาจเป็นตัวช่วยบรรเทา มีหลักฐานว่า การดูแลที่ดีมีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทที่ควบคุมความเครียด

อีกประเด็นหนึ่งก็คือบทบาทของปัจจัยทางกรรมพันธุ์ต่อรูปแบบของความผูกพัน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะพหุสัณฐานของการเข้ารหัสของยีนตัวรับโดปามีน D2 สัมพันธ์กับความผูกพันแบบวิตกกังวล และของยีนตัวรับเซโทนิน 5-HT2A สัมพันธ์กับความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ซึ่งแสดงว่า อิทธิพลของการดูแลของแม่ต่อความผูกพันแบบมั่นใจ/ไม่มั่นใจของเด็กไม่ใช่เหมือนกันทุกคน มีนักวิชาการที่เสนอว่า มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางชีวภาพที่เด็กจะได้รับอิทธิพลจากการดูแลในระดับต่าง ๆ กัน เพราะความต่าง ๆ กันเหล่านี้สามารถมองได้ว่าเป็นการปรับตัวที่ให้ผลบวกทางสังคมและทางกายภาพโดยขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ต่าง ๆ กัน

การประยุกต์ใช้

โดยเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์อย่างหนึ่ง ทฤษฎีความผูกพันแสดงนัยที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ในนโยบายทางสังคมของรัฐ ในการตัดสินใจเรื่องการดูแล เรื่องสวัสดิภาพ และเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก

นโยบายดูแลเด็ก

นโยบายทางสังคมเกี่ยวกับการดูแลเด็กเป็นแรงจูงใจหลักที่จอห์น โบลบี้พัฒนาทฤษฎีความผูกพันขึ้น ส่วนที่ยากก็คือการประยุกต์ใช้แนวคิดในนโยบายและการปฏิบัติจริง ในปี 2551 ศาตราจารย์จิตแพทย์เด็กชาวอเมริกัน (C.H. Zeanah) และเพื่อนร่วมงานกล่าวว่า "การสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูกตั้งแต่ต้นชีวิตเริ่มกลายเป็นเป้าหมายเด่นของผู้ทำการทางสุขภาพจิต ผู้ให้ความดูแลในชุมชน และผู้ก่อตั้งนโยบาย... ทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับความผูกพันได้แสดงแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในระยะต้น ๆ และได้จุดชนวนให้สร้างโปรแกรมสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-พ่อแม่ตั้งแต่ต้น ๆ"

โดยประวัติแล้ว ทฤษฎีความผูกพันมีผลสำคัญทางนโยบายสำหรับเด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลหรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ดูแล และสำหรับเด็กที่อยู่ในสถานที่เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพไม่ดี ส่วนประเด็นที่ยังไม่ยุติก็คือ การดูแลของคนที่ไม่ใช่แม่ โดยเฉพาะที่ทำเป็นกลุ่ม จะมีผลอันตรายต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กหรือไม่ มันชัดเจนในงานวิจัยว่า การดูแลที่ไม่ดีก่อความเสี่ยง และผู้ที่ได้การดูแลดีก็ได้ผลดีแม้ว่ายากที่จะให้การดูแลที่ดีโดยทำเป็นรายบุคคล ในสถานที่ ๆ ทำเป็นกลุ่ม (เช่นในสถานที่เลี้ยงเด็กเป็นต้น)

ทฤษฎีความผูกพันมีผลต่อคดีพิพาทเรื่องการกำหนดที่อยู่ของเด็กและโอกาสการเยี่ยมลูกหลังพ่อแม่หย่ากัน และต่อพ่อแม่ที่รับเด็กอื่นมาเลี้ยง ในอดีต โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ ทฤษฎีที่ใช้เป็นโครงคือจิตวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีความผูกพันได้ทดแทนทฤษฎีจิตวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปมุ่งที่คุณภาพและความสืบต่อของความสัมพันธ์กับผู้ดูแล แทนที่จะมุ่งความเป็นอยู่ทางฐานะหรือสิทธิที่ได้ก่อนของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ของแม่ที่คลอดบุตร ในปี 2542 นักจิตวิทยาคนหนึ่ง (Michael Rutter) ให้ข้อสังเกตว่าในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2523 ศาลครอบครัวได้เปลี่ยนไปอย่างสำคัญเป็นการยอมรับความซับซ้อนทางความสัมพันธ์ที่มาจากความผูกพัน

เด็กมักจะผูกพันกับทั้งพ่อแม่และบ่อยครั้งกับปู่ย่าตายายและญาติอื่น ๆ เมื่อตัดสิน ศาลต้องพิจารณาเรื่องนี้รวมทั้งอิทธิพลจากครอบครัวใหม่ ทฤษฎีความผูกพันเป็นหลักสำคัญที่เน้นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบพลวัตแทนที่จะเป็นอะไรที่อยู่นิ่ง ๆ ทฤษฎียังสามารถช่วยตัดสินใจในงานสงเคราะห์สังคม โดยเฉพาะที่ช่วยบุคคลให้เข้าถึงศักยภาพของตนในชีวิต (humanistic social work) และกระบวนการทางกฎหมายที่ตัดสินให้เลี้ยงเด็กหรือส่งเด็กไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เพราะว่าการพิจารณาความจำเป็นทางความผูกพันของเด็กสามารถช่วยกำหนดความเสี่ยงที่เกิดจากข้อตัดสิน

ในเรื่องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม การเปลี่ยนการรับแบบปิด (ไม่บอกให้เด็กรู้ถึงญาติจริง ๆ) ไปเป็นแบบเปิด และการให้ความสำคัญในการสืบหาพ่อแม่จริง ๆ เป็นเรื่องที่คาดหวังได้โดยอาศัยทฤษฎี และก็มีนักวิจัยที่ทำงานในสาขาที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีอย่างสูง

เด็กมักจะผูกพันกับทั้งพ่อแม่และบ่อยครั้งกับปู่ย่าตายายและญาติอื่น ๆ

การรักษาเด็ก

แม้ว่าทฤษฎีความผูกพันจะได้กลายมาเป็นทฤษฎีสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์ โดยมีการวิจัยที่กว้างขวางที่สุดในสาขาจิตวิทยาแบบปัจจุบัน แต่ว่ามันก็ไม่ได้ใช้ในการรักษาเด็กจนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโบลบี้ไม่ได้สนใจเรื่องการรักษา และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากความหมายที่กว้างขวางของคำว่า attachment (ความผูกพัน) ในหมู่ผู้ทำการรักษา และอาจเป็นเพราะการสัมพันธ์ทฤษฎีกับวิธีการรักษาที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งเรียกอย่างให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่า attachment therapy

การป้องกันและการรักษา

ในปี 2531 จอห์น โบลบี้ได้เผยแพร่เล็กเช่อร์ชุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับความผูกพันสามารถใช้เพื่อเข้าใจและบำบัด ทั้งเด็กและความผิดปกติในครอบครัวได้อย่างไร เขาพุ่งความสนใจไปที่การเปลี่ยนแบบจำลองใช้งานภายในของพ่อแม่ พฤติกรรมของพ่อแม่ และความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับผู้รักษา

งานวิจัยที่ยังเป็นไปอยู่ได้สร้างวิธีการรักษาแบบรายบุคคลและโปรแกรมการป้องกันและการแทรกแซง มีทั้งการรักษารายบุคคล โปแกรมสาธารณสุข และแม้แต่โปรแกรมการแทรกแซงออกแบบสำหรับพ่อแม่บุญธรรมที่รับเลี้ยงดูเด็ก สำหรับทารกและเด็กเล็ก ๆ ความสนใจอยู่ที่การเพิ่มการตอบสนองและความไวความรู้สึกของผู้ดูแล และถ้านั่นเป็นไปไม่ได้ ให้คนอื่นเลี้ยงเด็กแทน การประเมินสถานะความผูกพันหรือการดูแลตอบสนองมักจะรวมอยู่ด้วย เพราะว่า ความผูกพันเป็นกระบวนการแบบถนนสองทางซึ่งรวมพฤติกรรมผูกพันบวกกับการตอบสนองของผู้ดูแล มีโปรแกรมบางอย่างที่มุ่งพ่อแม่บุญธรรมที่รับเลี้ยงเด็ก เพราะว่าพฤติกรรมผูกพันของทารกและเด็กที่มีปัญหาเรื่องความผูกพัน บ่อยครั้งไม่น้อมผู้ดูแลให้ตอบสนองอย่างสมควร โดยโปรแกรมการป้องกันและการแทรกแซงมีผลสำเร็จโดยสมควร

ความผิดปกติทางความผูกพัน

รูปแบบความผูกพันที่ไม่ปกติอย่างหนึ่งพิจารณาว่าเป็นโรค โดยเรียกว่า reactive attachment disorder (ตัวย่อ RAD ความผิดปกติทางความผูกพันแบบปฏิกิริยา) ในเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวช (ICD-10 F94.1/2 และ DSM-IV-TR 313.89) แต่นี่ไม่เหมือนกับความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างสามัญ

ลักษณะหลักของโรคก็คือความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีปัญหาหรือไม่สมวัยในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เริ่มก่อนอายุ 5 ขวบเพราะเหตุการดูแลที่แย่ถึงทำให้เป็นโรค (gross pathological care) มีแบบย่อยสองอย่าง อย่างแรกเป็นรูปแบบความผูกพันแบบไม่ยับยั้ง และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นแบบยับยั้ง แต่ RAD ไม่ใช่สไตล์ความผูกพันแบบไม่มั่นใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าสไตล์นั้นจะสร้างปัญหาแค่ไหน แต่ว่า เป็นตัวบ่งชี้พฤติกรรมความผูกพันที่ไม่สมวัย ที่อาจปรากฏเหมือนกับความผิดปกติอย่างอื่น ๆ

แม้ว่าอาจจะมีการใช้ชื่อโรคนี้ในปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ตรงเกณฑ์ของ DSM หรือ ICD โดยเฉพาะที่ปรากฏในเว็บไซต์และที่เกี่ยวโยงการรักษาแบบวิทยาศาสตร์เทียม คือ attachment therapy ความผิดปกตินี้เชื่อว่ามีน้อยมาก

ส่วนคำว่า "Attachment disorder" เป็นคำที่กำกวม ซึ่งอาจหมายถึง RAD หรือหมายถึงสไตล์ความผูกพันแบบไม่มั่นใจที่สร้างปัญหา (แม้ว่า สไตล์เหล่านั้นจะไม่จัดเป็นโรค) ใช้ใน attachment therapy โดยเป็นการวินิจฉัยที่ไม่มีการวัดความสมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์ และยังอาจจะหมายถึงเกณฑ์วินิจฉัยใหม่ที่กำลังเสนอโดยนักทฤษฎีในสาขาอีกด้วย โดยเกณฑ์วินิจฉัยใหม่อย่างหนึ่งก็คือ secure base distortion (ความบิดเบือนของเสาหลัก) ที่พบว่าสัมพันธ์กับความบอบช้ำทางจิตใจของผู้ดูแล

การรักษาสำหรับผู้ใหญ่และครอบครัว

เนื่องจากทฤษฎีความผูกพันแสดงมุมมองที่กว้างขวางลึกซึ้งของชีวิตมนุษย์ มันสามารถช่วยให้ผู้รักษาเข้าใจคนไข้และความสัมพันธ์กับคนไข้ได้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดรูปแบบการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง การบำบัดโดยจิตวิเคราะห์บางอย่างสำหรับผู้ใหญ่ ก็ใช้ทฤษฎีความผูกพันด้วย

เชิงอรรถ

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение