Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ประสาทหลอนเสียงดนตรี
Другие языки:

ประสาทหลอนเสียงดนตรี

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ประสาทหลอนเสียงดนตรี (อังกฤษ: Musical Hallucination) หรือ อาการเสียงดนตรีหลอน เป็นประเภทหนึ่งของประสาทหลอนทางหู (auditory hallucination) เป็นคำเรียกความผิดปกติที่ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีหรือเสียงเพลง เป็นความผิดปกติที่หายาก ในงาน cohort study งานหนึ่ง ซึ่งเป็นงานวิจัยมีบุคคลเข้าร่วม 3,678 คน แต่มีเพียง 0.16% เท่านั้นที่รายงานว่ามีอาการนี้

กรณีแรก ๆ ที่มีการรายงาน

ตามหนังสือ Hallucinations (ประสาทหลอน) ของ น.พ. โอลิเวอร์ แซ็กซ์ รายงานการแพทย์เกี่ยวกับอาการนี้พิมพ์ครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Jules Baillarger ในปี ค.ศ. 1846 แต่ว่า บทความวิทยาศาสตร์ที่พรรณนาถึงโรคนี้มีครั้งแรกในต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 ส่วนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยเบอร์รีโอส์ได้รายงานถึงเคสต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1990 และ 1991 และนักวิจัยเคชะวานและคณะในปี ค.ศ. 1992

เบอร์รีโอส์ได้สรุปว่า การมีหูหนวก โรคหู โรคสมอง วัยสูงอายุ และการใช้ยาเสพติด ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเกิดอาการนี้ และหลังจากที่ได้ทำการวิเคราะห์เคสถึง 46 กรณี เบอร์รีโอส์พบว่ามีผู้หญิงเป็นถึง 80% และมีอายุโดยเฉลี่ยที่ 60 ปี งานวิจัยได้สรุปว่า อาการนี้มีโอกาสที่จะมีในหญิงสูงอายุผู้มีหูหนวกหรือมีโรคสมอง สูงกว่าผู้ที่ไม่มีอาการทางจิตเวช

นักวิจัยเคชะวานและเบอร์รีโอส์เป็นผู้พิมพ์งานพวกแรกที่ระบุประเภทของอาการนี้ ประเภทย่อยจัดเป็น การสูญเสียการได้ยิน เนื้องอกในสมอง โรคชัก โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีการวิเคราะห์โดยสถิติ ผู้พิมพ์งานวิจัยกล่าวว่า สภาวะหูหนวกมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดกับอาการนี้ และผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจจะบ่งถึงความเป็นโรคทางพันธุกรรม

คำพรรณนาถึงโรค

เพราะเหตุเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เราเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่คนไข้ได้ยินเพราะอาการนี้ได้ดีขึ้น ในคนไข้ 73 คนที่ตรวจสอบโดยนักวิจัยเอเวอร์สและเอ็ลล์เกอร์ คนไข้ 57 คนได้ยินทำนองดนตรีที่คุ้นเคย คนไข้อีก 5 คนได้ยินทำนองที่ไม่คุ้นเคย ทำนองที่ได้ยินเป็นเสียงดนตรีต่าง ๆ กันเริ่มต้นตั้งแต่เกี่ยวกับศาสนาไปจนถึงดนตรีโปรดในวัยเด็ก รวมทั้งเพลงยอดนิยมจากวิทยุ คนไข้บางพวกได้ยินเสียงนักร้องหรือเสียงเครื่องดนตรีประเภทคลาสสิก นักวิจัยเคชะวานพบว่า ลักษณะที่ทั่วไปกับอาการนี้ทั้งหมดคือ มันเป็น memory trace (แปลว่า รอยความทรงจำ) ของคนไข้ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่คนไข้คุ้นเคย ดังนั้น ข้อค้นพบนี้จึงอธิบายการที่คนไข้ได้ยินเสียงเพลงที่คุ้นเคยหรือที่เคยได้ยินในวัยเด็ก

การสร้างภาพสมองโดยกิจ

การสร้างภาพสมองโดยใช้โพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟี (PET) และ fMRI แสดงว่า อาการเสียงดนตรีหลอนเกิดขึ้นพร้อมกับการทำงานในเขตหลายเขตในสมองรวมทั้ง เขตประมวลข้อมูลเสียง (auditory areas), คอร์เทกซ์สั่งการ, เขตสายตา, basal ganglia, ก้านสมอง, พอนส์, tegmentum, ซีรีเบลลัม, ฮิปโปแคมปัส, อะมิกดะลา, และระบบการได้ยินรอบ ๆ (peripheral auditory system)

สาเหตุ

นักวิจัยประสบความสำเร็จในการระบุองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาการนี้ คือ นักวิจัยเอเวอร์สและเอ็ลล์เกอร์ได้รวบรวมบทความและกรณีศึกษาเกี่ยวกับอาการนี้เป็นจำนวนมาก แล้วจำแนกสมุฏฐานของโรคออกเป็น 5 จำพวก คือ

  • หูตึง (Hypoacusis)
  • โรคทางจิตเวช (Psychiatric Disorders)
  • รอยโรคในสมองเฉพาะส่วน
  • โรคลมชัก (Epilepsy)
  • ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Intoxication)

หูตึง

หูตึง (Hypoacusis) กำหนดโดยความบกพร่องทางการได้ยินหรือหูหนวก ภาวะหูตึงเป็นสมุฏฐาน 1 ใน 5 ของอาการเสียงดนตรีหลอน และสามัญที่สุดในเคสที่นักวิจัยเอเวอร์สและเอ็ลล์เกอร์ทำการปริทัศน์ ตามงานวิจัยของซานเชสและคณะในปี ค.ศ. 2011 มีนัยที่บอกว่า รอยโรคในพอนส์ อาจเปลี่ยนการทำงานของระบบประมวลข้อมูลเสียงในระบบประสาทกลางทำให้เกิดภาวะหูตึงและประสาทหลอนเสียงดนตรี

โรคทางจิตเวช

ในปี ค.ศ. 2006 นักวิจัยจานะคีระมันและคณะแสดงเค้สของหญิงอายุ 93 ปีที่มีโรคซึมเศร้า ผู้ประสบกับประสาทหลอนเสียงดนตรีในขณะที่กำลังบำบัดด้วยการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) นักวิจัยพบว่า อาการประสาทหลอนมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอาการซึมเศร้าของคนไข้ และเกิดจากการบำบัดโดย ECT คนไข้ไม่มีความผิดปกติทางการได้ยิน ซึ่งบอกเป็นนัยว่า อาการนี้สามารถเกิดจากเหตุต่าง ๆ รวมทั้งความเจ็บป่วยทางจิตเวช หลังจากที่สำเร็จการบำบัด อาการประสาทหลอนของคนไข้ก็หายไป ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สามารถเป็นอาการแบบเฉียบพลันแต่ชั่วคราว

ตามนักวิจัยเอเวอร์สและเอ็ลล์เกอร์ โรคจิตเวชอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอนรวมทั้งโรคจิตเภทและโรคซึมเศร้า คนไข้โรคจิตเวชประสบอาการหลอนเสียงดนตรีเพราะอาการโรคจิตของตนที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่มีบางกรณีที่เกิดขึ้นแม้ไม่มีอาการทางจิตอย่างอื่น และยังมีกรณีที่น้อยมากที่เกี่ยวข้องกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) อีกด้วย (แต่นักวิจัยเฮอร์เมชพบอาการนี้ใน 41% ของคนไข้โรคย้ำคิดย้ำทำ )

รอยโรคในสมองเฉพาะส่วน

ในบางกรณีของคนไข้ที่เอเวอร์สและเอ็ลล์เกอร์ทำการศึกษา รอยโรคที่คนไข้มีหลัก ๆ อยู่ในคอร์เทกซ์กลีบขมับ แต่ว่า ตำแหน่งโดยเจาะจงและซีกสมอง (ซ้ายหรือขวา) ต่าง ๆ กันไป เค้สรอยโรคเฉพาะในสมองเกิดร่วมกันความบกพร่องทางการได้ยิน (ดูหูตึง) อาการชักและความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีหลายกรณีที่คนไข้ที่มีรอยโรคที่พอนส์ด้านบน (dorsal) เหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือสมองอักเสบ เกิดอาการนี้แบบฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดจากการขาดการติดต่อกันระหว่างคอร์เทกซ์รับความรู้สึกกับ reticular formation

โรคลมชัก

การทำงานของสมองเมื่อมีอาการเสียงดนตรีหลอนในคนไข้โรคลมชักเกิดขึ้นที่สมองกลีบขมับซีกซ้ายหรือขวา ในกรณีหนึ่งที่วิลเลียมส์และคณะได้ทำการศึกษาในปี ค.ศ. 2008 คนไข้รับการตัดสมองกลีบขมับด้านซ้ายออก (left temporal lobectomy) เพื่อรักษาโรคลมชัก และได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการเสียงดนตรีหลอนหลังการผ่าตัด คนไข้ยังมีองค์ความเสี่ยงหลายอย่างอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นเหตุของอาการหลอน รวมทั้ง การทำหน้าที่ผิดปกติทางจิตประสาท (neuropsychiatric dysfunction) และอาการมีเสียงในหู (tinnitus)

การเมายา

อาการเมายา (หรือความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) เป็นเหตุของอาการหลอนในกรณีมีจำนวนน้อย ความเมายานำไปสู่อาการขาดยาหรือโรคสมองอักเสบ (inflammatory encephalopathy) ซึ่งเป็นเหตุสำคัญต่ออาการประสาทหลอน ยาที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการประสาทหลอนก็คือ salicylates, benzodiazepines, triazolam, pentoxifylline, โพรพาโนลอล, clomipramine, แอมเฟตามีน, quinine, imipramine, phenothiazine, carbamazepine, กัญชา, พาราเซตามอล, phenytoin, procaine, และสุรา. ยาสลบทั่วไป (general anesthesia) ก็มีความสัมพันธ์กับอาการประสาทหลอนนี้ด้วย

ในกรณีศึกษาโดยกอนดิมและคณะในปี ค.ศ. 2010 คนไข้หญิงวัย 77 ปีผู้มีโรคพาร์กินสัน ได้รับยา amantadine หลังจากที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่นมาปีหนึ่ง หลังที่เริ่มใช้ยา เธอก็เริ่มประสบอาการเสียงดนตรีหลอนเป็นเพลง 4 เพลง เธอได้ยินเสียงดนตรีนั้นจนกระทั่ง 3 วันให้หลังจากการเลิกยา แม้ว่า คนไข้จะได้ใช้ยาอื่นด้วยในขณะเดียวกัน แต่ว่า ช่วงเวลาที่อาการหลอนเกิดขึ้นและหยุดลงบอกเป็นนัยว่า amantadine เป็นตัวช่วยยาอื่น ๆ หรือเป็นยาที่ก่อให้เกิดอาการหลอนเอง แม้ว่า กรณีนี้จะไม่เกี่ยวกับการเมายา แต่ก็เป็นกรณีที่ให้ไอเดียว่า คนไข้โรคพาร์กินสันที่รับการบำบัดโดยใช้ยาบางประเภทอาจเกิดอาการหลอนเสียงดนตรี

การรักษาบำบัด

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีหรือยาที่ใช้บำบัดรักษาอาการหลอนเสียงดนตรี แต่มีเค้สเดี่ยว ๆ ที่แพทย์สามารถลดหรือกำจัดอาการหลอนไปได้ ยาทีใช้ได้ผลเป็นยารักษาโรคจิต (neuroleptics) ยาแก้ซึมเศร้า (antidepressant) และยากันชัก (anticonvulsive) บางประเภท ยกตัวอย่างเช่น มีคนไข้โรคซึมเศร้าที่มีอาการหลอนเสียงดนตรีลดลงเมื่อใช้ยาแก้ซึมเศร้า ส่วนนักวิจัยซานเชสรายงานว่า นักวิจัยบางท่านเสนอว่า การใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง (hearing aid) อาจช่วยอาการหลอนให้ดีขึ้น พวกเขาเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่ออาการหลอน คือที่เงียบทำให้เกิดอาการหลอนมากกว่าที่มีเสียง

คนไข้ของ น.พ.โอลิเวอร์ แซ็กส์ คือ นาง O’C รายงานว่าตนอยู่ภายใน “มหาสมุทรแห่งดนตรี“ แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะอยู่ในห้องที่เงียบ เป็นอาการหลอนที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis) หรือเนื้อตายเหตุขาดเลือด (infarction) ในสมองกลีบขมับซีกขวา ภายหลังการบำบัดรักษาที่แก้อาการหลอน นางได้กล่าวว่า “ฉันคิดถึงเพลงเก่า ๆ สมัยนี้มีเพลงเยอะแยะ ฉันจึงไม่สามารถจำเพลงเหล่านั้นได้ มันเหมือนกับได้คืนส่วนเล็ก ๆ ของวัยเด็กมาอีกครั้งหนี่ง” คุณหมอแซ็กส์รายงานถึงหญิงวัยชราอีกคนหนึ่งคือนาง O’M ผู้มีหูตึงและได้ยินเสียงดนตรี เมื่อบำบัดรักษาด้วยยากันชัก (anticonvulsive) อาการหลอนก็ยุติไป แต่เมื่อถามนางว่า คิดถึงเสียงดนตรีเหล่านั้นบ้างไหม นางบอกว่า "ถึงตายก็ไม่เอาอีก"


Новое сообщение