Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ผลระยะยาวของโควิด-19
ผลระยะยาวของโควิด-19 (long COVID) หรือชื่อเรียกอื่น เช่น ผลตามหลังระยะเฉียบพลันของการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection), ผลตามหลังระยะเฉียบพลันของโควิด-19 (post-acute sequelae of COVID-19 (PASC)), กลุ่มอาการโควิดเรื้อรัง (chronic COVID syndrome (CCS)) และ โควิดลากยาว (long-haul COVID) คือภาวะในทางทฤษฎีที่ผู้ป่วยที่หายจากระยะป่วยเฉียบพลันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้วยังมีอาการอยู่ อาการเหล่านี้เช่น ความอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไข้ต่ำ และมึนงง เป็นต้น
ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ประมาณ 10% จะมีอาการอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์ และประมาณ 2% มีอาการอยู่นานกว่า 12 สัปดาห์ เรียกว่ากลุ่มอาการหลังโควิด-19
ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลระยะยาวของโควิด-19 ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดย ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์เกี่ยวกับภาวะนี้ แต่มีการศึกษาฉบับหนึ่งบ่งชี้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ส่งผลกับการเกิดผลระยะยาว ระบบบริการสุขภาพของบางประเทศหรือเขตปกครองได้เริ่มการให้การดูแลกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้โดยจัดเป็นคลินิกพิเศษเพื่อให้การดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีผลระยะยาวจากโควิด-19
ผลระยะยาวของโควิด-19 พบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่ม รวมไปถึงคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี และรวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกเพียงเล็กน้อยด้วย
ข้อมูลนับถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ยังไม่มีรายงานว่าตรวจพบอาการที่คล้ายคลึงกับผลระยะยาวของโควิด-19 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 100,000 ราย
ศัพท์และนิยาม
Long COVID เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ป่วย มีรายงานว่ามีการใช้ครั้งแรกเป็นแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยเอลิสา เปเรโก (Elisa Perego) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน
ผลระยะยาวของโควิด-19 ไม่มีคำจำกัดความที่เข้มงวดเพียงนิยามเดียว เป็นเรื่องปกติและคาดว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น กลุ่มอาการหลังเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนัก หรือการติดเชื้อทุติยภูมิจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและไม่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ความผันแปรตามธรรมชาติอาจทำให้ยากที่จะระบุว่ากลุ่มอาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละบุคคลนั้นแสดงถึงภาวะปกติโดยพื้นฐานของการใช้เวลาฟื้นตัวนาน หรือผลระยะยาวของโควิด-19 หลักคิดประการหนึ่งคือ ผลระยะยาวของโควิด-19 แสดงถึงอาการที่มีนานกว่าสองเดือน แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลใดที่จะเชื่อได้ว่าทางเลือกนี้เจาะจงกับการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
คำจำกัดความของสหราชอาณาจักร
สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (NICE) ของอังกฤษ แบ่งคำจำกัดความทางคลินิกของโควิด-19 ออกเป็น 3 แบบ:
- โควิด-19 เฉียบพลัน สำหรับอาการและอาการแสดงในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- อาการใหม่หรือต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังจากเริ่มโควิด-19 เฉียบพลัน แบ่งออกเป็น:
- 2.1 โควิด-19 ที่มีอาการต่อเนื่อง ที่มีผลตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ
- 2.2 กลุ่มอาการหลังโควิด-19 สำหรับผลที่คงอยู่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปหลังจากเริ่มมีอาการ
NICE อธิบายคำว่า ผลระยะยาวของโควิด-19 ว่าใช้ "นอกเหนือจากคำจำกัดความของกรณีทางคลินิก" โดยเป็น "ที่ใช้กันทั่วไปในการอธิบายอาการและอาการแสดงที่ดำเนินต่อไปหรือพัฒนาหลังจากโควิด-19 เฉียบพลันซึ่งมีทั้ง โควิด-19 ที่มีอาการต่อเนื่อง (ตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์) และกลุ่มอาการหลังโควิด-19 (12 สัปดาห์ขึ้นไป)"
NICE ให้คำจำกัดความของกลุ่มอาการหลังโควิด-19 ว่า "อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังการติดเชื้อที่สอดคล้องกับโควิด‑19 ดำเนินต่อไปนานกว่า 12 สัปดาห์และไม่ได้รับการอธิบายด้วยการวินิจฉัยในทางอื่น โดยปกติแล้วบ่อยครั้งจะแสดงเป็นกลุ่มของกลุ่มอาการที่ทับซ้อนกัน ซึ่งอาจแปรผันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอาจส่งผลต่อระบบใด ๆ ในร่างกาย กลุ่มอาการหลังโควิด-19 อาจได้รับการวินิจฉัยก่อน 12 สัปดาห์ในขณะที่มีการประเมินความเป็นไปได้ในการเกิดโรคอื่น
คำจำกัดความของสหรัฐ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) กล่าวว่าอาการของผลระยะยาวของโควิด-19 อาจรวมถึงความเหนื่อยล้า หายใจถี่ "ภาวะสมองล้า (Brain Fog)" ความผิดปกติของการนอนหลับ มีไข้เป็นพัก ๆ อาการระบบทางเดินอาหาร ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า อาการอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนและมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงทำให้ทุพพลภาพ โดยจะมีอาการใหม่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาของการติดเชื้อ ผู้อำนวยการ NIH ฟรานซิส คอลลินส์ กล่าวว่าเงื่อนไขนี้สามารถเรียกรวมกันว่าผลสืบเนื่องฉับพลันหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (Post-Acute Sequelae of SARS-CoV-2; PASC)
อาการ
ผู้ป่วยโควิดระยะยาวรายงานอาการต่อไปนี้ ประกอบด้วย
- อ่อนเพลียมาก
- ไอเรื้อรัง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ไข้ต่ำ
- ตั้งสมาธิลำบาก
- เสียความทรงจำ
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีมาคู่กับโรคซึมเศร้าและอาการทางจิตอย่างอื่น
- ปัญหาการหลับ
- ปวดศีรษะ
- ปวดข้อ
- ปวดเหมือนเข็มต่ำตามแขนขา
- ท้องร่วง และอาเจียนเป็นคราว ๆ
- เสียการรับรสและกลิ่น
- เจ็บคอและกลืนลำบาก
- เริ่มเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง
- ผื่นผิวหนัง
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น
- ปัญหาของไต
- ปัญหาสุขภาพปาก (ฟัน น้ำลายและเหงือก)
- ไม่ได้กลิ่น
- รู้กลิ่นผิดธรรมดา
- มีเสียงในหู