Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

ภาวะเสียการระลึกรู้

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ภาวะเสียการระลึกรู้ (Agnosia)
Pp interrogation.gif
ภาวะเสียการระลึกรู้เป็นเหตุให้คนไข้เสียความสามารถในการรู้จำหรือเข้าใจความหมายของวัตถุ แม้ว่าประสาทรับความรู้สึกจะเป็นปกติ
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10 F80.2, F88.0 and R48.1
ICD-9 784.69
eMedicine agnosia/
MeSH D000377
รูปแสดงทางสัญญาณด้านหลัง (สีเขียว) และทางสัญญาณด้านล่าง (สีม่วง) ทางสัญญาณทั้งสองนั้นเริ่มต้นมาจากที่เดียวกันในคอร์เทกซ์สายตา ภาวะเสียการระลึกรู้เกิดจากความเสียหายของทางสัญญาณด้านล่าง

ภาวะเสียการระลึกรู้ หรือ ภาวะไม่รู้ (อังกฤษ: Agnosia มาจากภาษากรีกโบราณว่า ἀγνωσία ซึ่งแปลว่า ความไม่รู้ หรือ ความปราศจากความรู้, คำว่า gnosis ที่ไม่มี a ข้างหน้า แปลว่า ความรู้ความเข้าใจในเรื่องลี้ลับเช่นจิตวิญญาณเป็นต้น) เป็นการสูญเสียความสามารถในการรู้จำวัตถุ บุคคล เสียง รูปร่าง หรือกลิ่น ในขณะที่การรับรู้ทางประสาทเฉพาะอย่างๆ ไม่มีความเสียหาย และไม่มีการสูญเสียความทรงจำเป็นสำคัญ เป็นภาวะที่ปกติมีความเกี่ยวข้องกับความบาดเจ็บทางสมองที่เกิดขึ้น หรือโรคทางประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเกิดความเสียหายใน เขตบร็อดแมนน์ 37 คือช่วงต่อระหว่างสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับ (occipitotemporal area) ซึ่งเป็นส่วนของทางสัญญาณด้านล่างของระบบการเห็น

ภาวะไม่รู้จะมีผลกับการรับรู้ทางประสาทอย่างเดียวเท่านั้น เช่นการเห็นหรือการได้ยิน

ประเภท

ชื่อ คำอธิบาย
ภาวะบอดความเคลื่อนไหว (Akinetopsia) หรือรู้จักกันว่า ภาวะบอดความเคลื่อนไหวเหตุสมอง (Cerebral akinetopsia) เป็นความไม่สามารถเห็นความเคลื่อนไหว เหตุอย่างหนึ่งของภาวะนี้คือรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตานอกคอร์เทกซ์ลาย
ภาวะเสียสำนึกความพิการ (Anosognosia) เป็นภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลป้อนกลับ (feedback) เกี่ยวกับภาวะของตน และบางครั้งสับสนกับความไม่มีความเข้าใจ แต่ความจริงเกิดขึ้นจากปัญหาในกลไกเกี่ยวกับข้อมูลป้อนกลับในสมอง เกิดขึ้นจากความเสียหายทางประสาท และสามารถเกิดขึ้นร่วมกับความบกพร่องทางประสาทอย่างอื่นๆ โดยมากแล้ว ตรวจพบในคนไข้ที่ส่งไปหาแพทย์ในกรณีอัมพาตเพราะโรคลมปัจจุบัน (stroke) ผู้มีภาวะนี้พร้อมกับความบกพร่องอย่างอื่นๆ อาจจะรับรู้ความบกพร่องบางอย่างของตน แต่ไม่สามารถรับรู้ความบกพร่องทุกอย่างโดยสิ้นเชิง
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบวิสัญชาน (apperceptive visual agnosia) คือคนไข้ไม่สามารถจำแนกรูปร่างต่างๆ ทางตา และมีปัญหาในการรู้จำ การลอกแบบรูปภาพ และการแยกแยะระหว่างตัวกระตุ้นต่างๆ ทางตา โดยที่ต่างจากคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia) คนไข้แบบวิสัญชานไม่สามารถลอกแบบรูปภาพต่างๆ ได้เลย
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia) คือคนไข้สามารถพรรณนาถึงทัศนียภาพทางตาและประเภทต่างๆ ของวัตถุได้ แต่ไม่สามารถรู้จำวัตถุเหล่านั้นได้ (คือไม่รู้ว่าเป็นอะไร) ตัวอย่างเช่น คนไข้อาจจะรู้ว่าซ่อมนั้นเอาไว้ใช้ทานอาหาร แต่อาจจะสับสนซ่อมโดยเห็นว่าเป็นช้อน คนไข้มีภาวะนี้สามารถลอกแบบรูปภาพได้
Astereognosis หรือรู้จักกันว่า ภาวะเสียการระลึกรู้ความรู้สึกทางกาย (Somatosensory agnosia) เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกสัมผัส คนไข้อาจจะมีปัญหาในการรู้จำวัตถุโดยการสัมผัสที่ใช้เพื่อจะรู้เนื้อของวัตถุ (texture) ขนาด และน้ำหนัก แต่ว่า อาจจะสามารถพรรณนาถึงวัตถุโดยคำพูด หรือรู้จำวัตถุนั้นโดยภาพ และสามารถวาดรูปวัตถุนั้นได้ มีการสันนิษฐานว่า เป็นภาวะเกิดจากรอยโรคหรือความเสียหายในคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกาย (somatosensory cortex)
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางหู
(Auditory agnosia)
เป็นภาวะที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 คนไข้ภาวะนี้มีปัญหาในการแยกแยะเสียงในสิ่งแวดล้อมและคำพูด รวมทั้งปัญหาการแยกแยะเสียงพูดและเสียงที่ไม่ใช่คำพูดแม้ว่าการได้ยินจะเป็นปกติ ภาวะนี้มี 2 ประเภท คือ แบบสัมพันธ์ความหมาย (semantic associative) และแบบแยกแยะ (discriminative) แบบสัมพันธ์ความหมาย มีความเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองซีกซ้าย เปรียบเทียบกับ แบบแยกแยะซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองซีกขวา
ภาวะเสียการระลึกรู้ศัพท์ทางหู
(Auditory verbal agnosia)
หรือรู้จักกันว่า ภาวะหนวกคำล้วนๆ (Pure Word Deafness) เป็นภาวะที่มีความหนวกในความหมายของคำ คือ การได้ยินไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาอย่างสำคัญในการรู้จำคำพูดว่ามีความหมายอะไร
Autotopagnosia เกี่ยวกับความไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของอวัยวะในร่างกาย และมักเกิดขึ้นเพราะรอยโรคในสมองกลีบข้าง
ภาวะบอดสีเหตุสมอง (Cerebral achromatopsia) หรือรู้จักกันอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะเสียการระลึกสี (Color agnosia) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแยกประเภทของสีด้วย เกี่ยวกับการรู้จำสีด้วย ภาวะนี้มักจะเกิดเพราะความเสียหายทางประสาท มีเขต 2 เขตในสมองที่มีกิจเฉพาะในการรู้จำสี คือเขตสายตา V4 และเขตสายตา V8 ถ้ามีรอยโรคข้างเดียวในเขต V4 ก็จะเกิดการสูญเสียการรับรู้สีซึ่งเรียกว่า hemiachromatopsia (ภาวะบอดสีข้างเดียว)
ภาวะหนวกเหตุสมอง (Cortical deafness) หมายถึงคนไข้ผู้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทางหู แม้ว่าอวัยวะคือหูจะไม่ปรากฏว่ามีปัญหา
ภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อม (Environmental Agnosia) เป็นความไม่สามารถบ่งบอกตำแหน่งของห้องหรืออาคารที่มีความคุ้นเคย และความไม่สามารถบอกเส้นทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง คนไข้ภาวะนี้มีปัญหาในการเรียนรู้เส้นทาง มักเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองทั้งสองซีกหรือซีกขวาซีกเดียวทางด้านหลัง และยังมีความเกี่ยวข้องกับภาวะบอดใบหน้า (prosopagnosia) และโรคพาร์กินสัน
ภาวะไม่รู้นิ้ว
(Finger agnosia)
เป็นความไม่สามารถที่จะแยกแยะนิ้วมือทั้งของตนและของผู้อื่นได้ มีเหตุคือรอยโรคในสมองกลีบข้างในด้านซีกสมองที่เป็นใหญ่ (คือคนถนัดขวาจะมีสมองซีกซ้ายเป็นใหญ่) และเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของ Gerstmann syndrome
ภาวะไม่รู้รูปร่าง
(Form agnosia)
คนไข้รับรู้ได้แต่รายละเอียดเป็นส่วนๆ แต่ไม่สามารถรับรู้วัตถุโดยองค์รวมทั้งวัตถุได้
Integrative agnosia โดยปกติแล้วคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้มักจะเป็นแบบสัมพันธ์ (associative) หรือแบบวิสัญชาน (appreceptive) แต่ว่าในแบบ integrative คนไข้มีความสามารถระดับที่อยู่ในระหว่างแบบสัมพันธ์ และแบบวิสัญชาน คือามารถรู้จำองค์ประกอบของวัตถุได้ แต่ไม่สามารถประสานองค์ประกอบเหล่านั้นให้เป็นวัตถุโดยองค์รวมเพื่อที่จะรู้จำได้
ภาวะเสียการระลึกรู้ความเจ็บปวด (Pain agnosia) บางครั้งเรียกว่า Analgesia คนไข้มีปัญหาในการรับรู้และประมวลผลเกี่ยวกับความเจ็บปวด มีสันนิษฐานว่า เป็นภาวะที่เป็นมูลฐานของการทำร้ายตัวเองบางประเภท
Phonagnosia เป็นความไม่สามารถรู้จำเสียงที่คุ้นเคยได้ แม้ว่าผู้ฟังจะสามารถเข้าใจคำที่พูดได้
ภาวะบอดใบหน้า (Prosopagnosia) คนไข้ไม่สามารถรู้จำใบหน้าที่คุ้นเคยได้ด้วยจิตใต้สำนึก และในบางกรณีแม้แต่จะเป็นใบหน้าของตน บางครั้งสับสนกับความไม่สามารถจำชื่อ
ภาวะเสียการอ่านล้วน (Pure alexia) เป็นความไม่สามารถในการรู้จำหนังสือ คนไข้ภาวะนี้บ่อยครั้งมีความเสียหายใน corpus callosum และต่อเขตสายตาสัมพันธ์ของสมองซีกซ้าย ภาวะนี้เป็นความไม่สามารถในการอ่านหนังสือ แต่ยังเขียนหนังสือได้ คนไข้มักจะอ่านคำในหนังสือทีละอักษร แต่ว่า ความปรากฏบ่อยๆ ของคำ มีผลต่อการอ่าน คนไข้สามารถอ่านคำที่ปรากฏบ่อยได้ดีกว่าและเร็วกว่าคำที่เกิดขึ้นไม่บ่อย
ภาวะเสียการระลึกรู้ความหมาย (Semantic agnosia) คนไข้ภาวะนี้ "บอดวัตถุ" คือไม่เข้าใจว่าวัตถุที่เห็นคืออะไร มีประโยชน์อะไร และต้องใช้ระบบประสาทอื่นๆ นอกจากการเห็นเพื่อจะรู้จำวัตถุ ตัวอย่างเช่นต้องลูบคลำ แตะเบาๆ ดมกลิ่น หรือเขย่าวัตถุนั้น ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจวัตถุนั้นว่าคืออะไร
Social-Emotional Agnosia บางครั้งเรียกว่า Expressive Agnosia เป็นภาวะเสียการระลึกรู้ประเภทที่คนไข้ไม่สามารถรับรู้สีหน้า ภาษากาย และน้ำเสียง ทำให้ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นที่ไม่ได้สื่อโดยคำพูดได้ กีดกันคนไข้จากการเข้าสังคมเพราะเหตุนั้น
Simultagnosia คือความไม่สามารถในการประมวลข้อมูลทางสายตาให้เป็นองค์รวม แทนที่จะทำอย่างนั้นได้ คนไข้ประมวลใบหน้า ร่างกาย วัตถุ ห้อง สถานที่ และรูปภาพทีละอย่างๆ เมื่อมองดูภาพ คนไข้สามารถกล่าวถึงส่วนต่างๆ ของภาพนั้น แต่มีความยากลำบากในการเข้าใจภาพโดยองค์รวม ภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bálint syndrome แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะความบาดเจ็บในสมอง
ภาวะเสียการระลึกรู้โดยสัมผัส (Tactile agnosia) เป็นความเสียหายในความสามารถที่จะรู้จำวัตถุโดยการจับต้องเพียงอย่างเดียว
ภาวะเสียการระลึกรู้เวลา (Time agnosia) คือการสูญเสียความเข้าใจในลำดับและช่วงเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ
Topographical disorientation
(ภาวะงุนงนสับสนภูมิประเทศ)
รู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า Topographical agnosia (ภาวะเสียการระลึกรู้ภูมิประเทศ) หรือ Topographagnosia ซึ่งเป็นภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาแบบหนึ่งที่คนไข้ไม่สามารถอาศัยสิ่งที่เห็นทางตาเพื่อจะนำทางไปได้ เนื่องจากความไม่สามารถที่จะรู้จำวัตถุ แต่ว่า คนไข้อาจจะมีความสามารถที่เยี่ยมในการพรรณนาถึงแผนผังของสถานที่เดียวกัน คนไข้ภาวะนี้มีความสามารถในการอ่านแผนที่ แต่จะหลงทางแม้ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย
Visuospatial dysgnosia เป็นการสูญเสียความรู้สึกว่า "อยู่ที่ไหน" เกี่ยวกับตำแหน่งของตัวเองกับสิ่งแวดล้อม หรือของวัตถุกับวัตถุ ภาวะนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับ Topographical disorientation
ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia) เป็นภาวะที่สัมพันธ์กับรอยโรคในสมองกลีบท้ายทอยซีกซ้ายและสมองกลีบขมับ ภาวะนี้มีหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับความไม่สามารถในการรู้จำวัตถุ

ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา

ดูบทความหลักที่: ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา

ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia) เป็นกลุ่มของภาวะต่างๆ ที่คนไข้มีความบกพร่องในการรู้จำวัตถุทางตา ภาวะนี้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อย 2 อย่างคือ แบบวิสัญชาน (apperceptive visual agnosia) และแบบสัมพันธ์ (associative visual agnosia)

คนไข้แบบวิสัญชานสามารถเห็นเส้นรูปร่างของวัตถุ แต่มีปัญหาถ้าต้องแยกประเภทวัตถุ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายในสมองซีกหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนหลังของซีกขวา เปรียบเทียบกับคนไข้แบบสัมพันธ์ ผู้มีปัญหาในการบอกชื่อของวัตถุและมีความเสียหายในทั้งสมองซีกซ้ายทั้งซีกขวา ที่จุดเชื่อมของสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับ.

รูปแบบอย่างหนึ่งของแบบสัมพันธ์ก็คือ ภาวะบอดใบหน้า (Prosopagnosia) ซึ่งเป็นความไม่สามารถรู้จำใบหน้า ยกตัวอย่างเช่น คนไข้อาจมีปัญหาในการรู้จำเพื่อนๆ สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนร่วมทำงาน ถึงอย่างนั้น คนไข้ภาวะนี้ยังสามารถรู้จำวัตถุอื่นๆ ทางตาได้

การตรวจโรค

เพื่อจะตรวจว่าคนไข้มีภาวะนี้หรือไม่ ต้องตรวจว่า คนไข้ไม่ได้มีการสูญเสียความรู้สึกทางประสาท และว่า ทั้งความสามารถต่างๆ ในเรื่องภาษาและในเชาวน์ปัญญา ไม่มีความเสียหาย เพื่อจะวินิจฉัยว่ามีภาวะเสียการระลึกรู้ คนไข้ต้องมีความบกพร่องในประสาททางเดียว (มีทางตาหรือหูเป็นต้น)

แยกแยะระหว่างแบบวิสัญชานกับแบบสัมพันธ์

เพื่อจะทำการวินิจฉัย ต้องแยกว่า เป็นภาวะแบบวิสัญชานหรือแบบสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยให้คนไข้ทำข้อทดสอบในการลอกรูปแบบและจับคู่รูปแบบ ถ้าคนไข้มีภาวะแบบวิสัญชาน ก็จะไม่สามารถจับคู่รูปแบบที่เหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน คนไข้มีภาวะแบบสัมพันธ์ ก็จะไม่สามารถจับคู่ตัวกระตุ้นตัวเดียวกันที่ปรากฏต่างๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ทางตาอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถจับคู่รูปของโน้ตบุ๊กที่เปิดอยู่กับที่ปิดอยู่ได้

วินิจฉัยภาวะบอดใบหน้า

คนไข้ภาวะบอดใบหน้า มักจะรับการตรวจสอบโดยแสดงรูปของใบหน้ามนุษย์ที่มีความคุ้นเคย เช่นของดารา นักร้อง นักการเมืองที่มีชื่อเสียง และของสมาชิกในครอบครัว รูปที่ใช้จะเป็นรูปที่เหมาะสมต่อวัยและวัฒนธรรม คนตรวจจะถามคนไข้ให้บอกชื่อของแต่ละใบหน้า ถ้าคนไข้ไม่สามารถบอกชื่อของใบหน้าในรูปภาพ คนตรวจอาจจะถามคำถามที่ช่วยในการรู้จำใบหน้าในรูปภาพ

เหตุ

ภาวะเสียการระลึกรู้อาจจะเกิดจากโรคลมปัจจุบัน ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคทางประสาทอย่างอื่นๆ และก็อาจจะเกิดจากความบาดเจ็บที่ศีรษะ การอักเสบในสมอง หรือพันธุกรรม นอกจากนั้นแล้ว ประเภทบางอย่างของภาวะนี้ อาจจะเกิดจากโรคในช่วงพัฒนาการ (developmental disorder) ความเสียหายที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ได้ มักจะเกิดที่สมองกลีบท้ายทอยหรือสมองกลีบข้าง แม้ว่าการระลึกรู้ทางประสาททางหนึ่งอาจจะมีปัญหา (เช่นทางตา) แต่ว่าความสามารถในการรับรู้ต่างๆ อย่างอื่นจะไม่มีปัญหา

พบว่า คนไข้ที่ได้คืนการเห็นจากความบอดอย่างไม่คาดคิด จะมีภาวะเสียการระลึกรู้อย่างสำคัญ หรืออย่างบริบูรณ์

การรักษา

โดยแนวการปฏิบัติ ไม่มีวิธีรักษาโดยตรงสำหรับผู้มีภาวะนี้ คนไข้อาจจะกระเตื้องขึ้นถ้าแสดงตัวกระตุ้นให้ทางประสาทอื่นที่ไม่ได้เสียหาย การบำบัดบางอย่างอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของภาวะนี้ ในบางกรณี กิจกรรมบำบัดหรือการบำบัดวจีเภท (speech therapy) สามารถทำภาวะนี้ให้ดีขึ้น โดยขึ้นอยู่กับสมุฏฐานของโรค

ในเบื้องต้น คนไข้หลายท่านที่มีภาวะเสียการระลึกรู้บางประเภท อาจจะไม่รู้ถึงระดับขอบเขตของความบกพร่องในการรับรู้หรือการรู้จำของตน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีภาวะเสียสำนึกความพิการ (Anosognosia) ที่คนไข้ปราศจากการรับรู้ความบกพร่องนั้น และทำให้คนไข้ปฏิเสธหรือต่อต้านการช่วยเหลือและการรักษา

มีวิธีหลายอย่างที่สามารถช่วยคนไข้ให้รู้ถึงความเสียหายในการรับรู้หรือการรู้จำที่มี เช่น แสดงตัวกระตุ้นเพียงแต่ในทางประสาทที่คนไข้มีปัญหาเท่านั้น เพื่อช่วยเพิ่มความรู้สึกตัวถึงความบกพร่องของตน หรืออีกวิธีหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับกิจกรรมที่คนไข้มีปัญหา คือให้แยกกิจกรรมนั้นเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อชี้ให้คนไข้เห็นว่า มีปัญหาอยู่ที่ส่วนไหน

เมื่อคนไข้ยอมรับว่ามีความบกพร่องทางการรับรู้หรือการรู้จำ จึงอาจแนะนำการรักษาแบบใดแบบหนึ่ง กลวิธีการรักษาที่สามารถช่วยได้นั้นมีหลายอย่าง เช่น กลวิธีการทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น กลวิธีคำพูด กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่น หรือกลวิธีการจัดระเบียบ

กลวิธีการทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น

กลวิธีทดแทนโดยใช้ทางประสาทอื่น คือการใช้ทางประสาทที่ไม่เสียหายเพื่อทดแทนทางประสาทที่เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาอาจจะใช้ข้อมูลสัมผัสแทนที่ข้อมูลทางตา หรือว่า คนไข้ภาวะบอดใบหน้าอาจใช้ข้อมูลทางหูเพื่อทดแทนข้อมูลทางตา ตัวอย่างเช่น คนไข้ภาวะบอดใบหน้าสามารถรอให้บุคคลเป้าหมายพูด เพื่อที่จะรู้จำบุคคลนั้นได้จากการพูด

กลวิธีคำพูด

กลวิธีคำพูดอาจช่วยผู้มีภาวะเสียการระลึกรู้บางอย่าง คนไข้ภาวะบอดใบหน้าอาจได้ประโยชน์ในการฟังคำพรรณนาถึงเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัว แล้วรู้จำบุคคลเหล่านั้นด้วยลักษณะต่างๆ ในคำพรรณนานั้น ซึ่งอาจง่ายกว่าการสังเกตลักษณะอื่นๆ เองทางตา

กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่น

กลวิธีตัวช่วยอย่างอื่นอาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้มีภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อม (Environmental Agnosia) หรือภาวะบอดใบหน้า ตัวช่วยสำหรับผู้มีภาวะไม่รู้สิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นสีหรือตัวช่วยทางสัมผัส ที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับห้องใหม่ๆ หรือเขตและพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นความทรงจำ ส่วนตัวช่วยสำหรับคนไข้ภาวะบอดใบหน้ามีลักษณะที่ไม่ทั่วไปเป็นต้นว่า แผลเป็นบนใบหน้าหรือฟันที่คด เพื่อจะช่วยให้รู้จำบุคคลนั้นได้

กลวิธีการจัดระเบียบ

กลวิธีการจัดระเบียบอาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไข้ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (visual agnosia) ตัวอย่างเช่น จัดระเบียบเสื้อผ้าโดยใช้ที่แขวนที่แตกต่างกันเพื่อเป็นตัวช่วยทางสัมผัส ทำให้ง่ายในการหาเสื้อผ้าบางชนิด เปรียบเทียบกับการอาศัยเพียงแต่ตัวช่วยทางตาเท่านั้น

ประวัติ

ศัพท์ว่า "agnosia" (ภาวะเสียการระลึกรู้) ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยซิกมันด์ ฟรอยด์ ในปี ค.ศ. 1891 ว่า

สำหรับความปั่นป่วนในการรู้จำวัตถุต่างๆ ซึ่งฟิงเกลน์เบอร์กได้จัดเป็นประเภท asymbolia (ไม่รู้เครื่องหมาย) ข้าพเจ้าขอเสนอศัพท์ว่า agnosia

ก่อนการเสนอศัพท์นี้ของฟรอยด์ ความคิดเรื่องภาวะเสียการระลึกรู้มาจากเวอร์นิเก (ผู้ค้นพบเขตภาษาเวอร์นิเก ในสมอง) ผู้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะเสียการสื่อความด้านรับ (receptive aphasia) ขึ้นในปี ค.ศ. 1874 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า คนไข้ภาวะเสียการสื่อความด้านรับ ไม่สามารถเข้าใจคำพูดหรือกล่าวตามคำต่างๆ ได้ เวอร์นิเกเชื่อว่า ภาวะเสียการสื่อความด้านรับเกิดจากรอยโรคในส่วน 1/3 ท้ายของ รอยนูนกลีบขมับบน (superior temporal gyrus) และเพราะรอยโรคเหล่านี้ จึงเชื่อว่า คนไข้เหล่านี้มีความหนวกแบบจำกัดสำหรับเสียงบางอย่างและความถี่เสียงบางระดับในคำพูด

หลังจากเวอร์นิเก ในปี ค.ศ. 1877 กุสมอล์ได้พยายามอธิบายเหตุของ ภาวะเสียการระลึกรู้ศัพท์ทางหู (Auditory verbal agnosia) ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะหนวกศัพท์ (word deafness) แต่โดยไม่เหมือนกับคำอธิบายของเวอร์นิเก กุสมอล์เชื่อว่า ภาวะนี้เกิดจากความเสียหายอย่างสำคัญต่อรอยนูนกลีบขมับ "ส่วนแรก" ซีกซ้าย และได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำเนิดของภาวะเสียการอ่าน (Alexia) ซึ่งรู้จักอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะบอดศัพท์ (word blindness) ว่า เกิดจากรอยโรคที่รอยนูนแองกูลาร์ (angular gyrus) และที่ Supramarginal gyrus ซีกซ้าย

ส่วนเฮ็นริค ลิสเซาร์ ได้ให้ความคิดของเขาเกี่ยวกับภาวะเสียการระลึกรู้หลังเวอร์นิเกและกุสมอล์ ในปี ค.ศ. 1890 เขาได้ตั้งทฤษฎีขึ้นว่า มี 2 แบบ ที่การรู้จำวัตถุสามารถเกิดความเสียหายได้ คือ มีความเสียหายต่อการประมวลผลเพื่อการรับรู้ในระยะต้น หรือว่า มีความเสียหายต่อตัวแทนของวัตถุ (object representation) นั้น ถ้าตัวแทนวัตถุมีความเสียหาย วัตถุนั้นจะไม่สามารถบันทึกลงในความทรงจำทางตาได้ และดังนั้น บุคคลนั้นก็จะไม่สามารถรู้จำวัตถุนั้นได้

ในสมัยของเวอร์นิเก กุสมอล์ และลิสเซาร์ พวกเขายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเปลือกสมอง แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเทคนิคการสร้างภาพประสาท (neuroimaging) ต่างๆ เราสามารถที่จะเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับภาวะเสียการระลึกรู้ได้อย่างกว้างขวาง

กรณีศึกษา

ดีเอ็ฟ

คนไข้ชื่อว่าดีเอ็ฟมีความเสียหายในสมองในทางสัญญาณด้านล่างของระบบการเห็น แต่ว่าทางสัญญาณด้านหลังของดีเอ็ฟไม่เป็นอะไร ความเสียหายทางสัญญาณด้านล่างทำให้ดีเอ็ฟเกิดภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา ดีเอ็ฟมีปัญหาในการรู้จำทางตา ไม่สามารถรู้จำวัตถุง่ายๆ และไม่สามารถแยกแยะวัตถุต่างๆ จากกันได้ นอกจากนั้นแล้ว ดีเอ็ฟไม่สามารถบอกทิศทางหรือความกว้างของวัตถุ

แต่ว่า ดีเอ็ฟสามารถสามารถลอกแบบทิศทางของเส้นหนึ่งๆ ได้ เมื่อมีเวลาไม่จำกัด ในอีกการทดสอบหนึ่ง ผู้ทดสอบให้ดีเอ็ฟมองดูสี่เหลี่ยมจัตุรัสและรูปกลมรี แล้วถามว่า วัตถุไหนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและวัตถุไหนเป็นรูปกลมรี ในกรณีที่ดีเอ็ฟสามารถหยิบวัตถุนั้นขึ้นมาได้ เธอก็จะสามารถบอกได้ว่า วัตถุไหนเป็นอะไร แต่ถ้าไม่สามารถ เธอก็ไม่สามารถบอกความแตกต่างของวัตถุเหล่านั้นได้

ดร.พี

โอลิเวอร์ แซคส์ ผู้เป็นนักประสาทวิทยา ได้กล่าวถึงคนไข้ที่น่าสนใจของเขาผู้ชื่อว่า ดร.พี ดร.พีเป็นบุคคลทั่วๆ ไปผู้เป็นครูสอนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย ที่ในปัจจุบันรู้จักกันว่า "ชายผู้สับสนภรรยาของตนว่าเป็นหมวก" เขามีปัญหาในการรู้จำนักศึกษาผู้เข้ามาหาเขา ต่อเมื่อนักศึกษาเหล่านั้นพูด เขาจึงจะสามารถบอกว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็นใคร ดร.พีไม่สามารถเห็นภาพโดยองค์รวมและสามารถเพียงแต่สังเกตดูลักษณะเฉพาะอย่างๆ ของรูปภาพ หรือส่วนเล็กๆ ของภาพเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในรูปที่แสดงทิวทัศน์หลายอย่างรวมทั้งทะเลสาบ ภูเขา และป่าไม้ เขาสามารถที่จะสังเกตดูเพียงแค่ภูเขาเท่านั้น หลังจากการนัดเจอกับคุณหมอแซคส์ครั้งหนึ่ง ดร.พีลุกขึ้นและพยายามที่จะยกเอาศีรษะของภรรยาของตนขึ้นเพราะคิดว่า ศีรษะของเธอเป็นหมวกของเขา ดร.พีมีภาวะเสียการระลึกรู้ทางตาประเภทหนึ่ง แต่โดยเฉพาะเจาะจงก็คือภาวะบอดใบหน้า นอกจากนั้นแล้ว เขายังมีกลุ่มอาการละเลย (neglect syndrome) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นเมื่อให้เขาจินตนาการเดินไปตามทางระเบียง เขาก็จะพรรณนาแต่ด้านขวาของทางเดินเท่านั้นและละเลยด้านซ้าย

ดู

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение