Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
สาวน้อยเดือดร้อน
สาวน้อยเดือดร้อน (อังกฤษ: damsel in distress) เป็นหญิงสาวตามท้องเรื่องแบบดั้งเดิมและยอดนิยมในวรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของโลก โดยเธอมักเป็นหญิงงาม อ่อนหวาน และอ่อนวัย กำลังถูกเหล่าร้ายหรืออสุรกายคุกคาม และต้องการวีรบุรุษโดยด่วน ปรกติแล้ว "สาวน้อย" มักเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ในหลาย ๆ เรื่องเป็นเทพธิดา, พราย, เงือก หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็มี แต่ลักษณะสากลของสาวน้อยเดือดร้อน คือ ต้องช่วยเหลือตนเองมิได้ (helpless) และบางทีก็ "ไม่ฉลาดนัก" (partly foolish) และ "อ่อนต่อโลก" (naive) ซึ่งเป็นลักษณะที่ชายหนุ่มทั่วไปต้องใจ อย่างไรก็ดี ทัศนคติเช่นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายนิยมสิทธิสตรีเป็นอันมาก
คำ "damsel" ในภาษาอังกฤษนั้นมาแต่คำ "demoiselle" (เดมัวแซล) ในภาษาฝรั่งเศส อันแปลว่า "สาวน้อย" เช่นเดียวกับถ้อยคำ "damsel in distress" ที่มาจาก "demoiselle en détresse" (เดมัวแซล อ็อง เดแทร็ส) ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า "สาวน้อยกำลังแย่" ถ้อยคำเหล่านี้ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งอาจนับถอยหลังไปถึงสมัยอัศวินพเนจร (knight-errant) ในยุโรปมัชฌิมยุค ซึ่งมีอัศวินออกเที่ยวไปในแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวผู้ตกที่นั่งลำบากเป็นหลัก
เนื้อเรื่องแบบสาวน้อยเดือดร้อนนี้พบมากในละครประโลมโลก (melodrama)
ประวัติ
โบราณกาล
ตัวอย่างดั้งเดิมที่สุดของเนื้อเรื่องแบบสาวน้อยเดือดร้อนนั้น มีอยู่ในเทพปกรณัมกรีกเกือบทุกเรื่อง ที่แม้ประกอบด้วยบรรดาเทพีทรงฤทธานุภาพ แต่ก็มักมีหญิงสาวที่สละตัวหรือถูกบังคับให้สละตัวบูชายัญ เช่น แอนดรอมีดา (Andromeda) เจ้าหญิงที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพอร์ซีอุส (Perseus) หลังจากแคสซีออเพีย (Cassiopeia) มารดา ดูหมิ่นเจ้าบาดาลโพไซดอน และเจ้าบาดาลส่งสัตว์ร้ายมารังควาญอาณาจักรของเธอเป็นการตอบโต้ แล้วบิดามารดาของเธอตั้งใจจับเธอถ่วงน้ำบูชายัญเจ้าบาดาลเพื่อให้คลายโทสะ แอนดรอมีดาเป็นหัวเรื่องที่จิตรกรในสมัยต่อ ๆ มานิยมวาดเป็นอันมาก ทั้งยังเป็นรากของปรัมปราอีกหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องนักบุญจอร์จปะทะพญานาค (Saint George and the Dragon)
อีกตัวอย่างหนึ่งของสาวน้อยเดือดร้อน คือ สีดาในมหากาพย์อินเดียเรื่อง รามายณะ (Ramayana) ซึ่งถูกท้าวราพณ์ บิดาของเธอเอง ลักพาตัวไปยังกรุงลงกาด้วยหมายจะทำเป็นภริยา และพระราม สามี ติดตามมาช่วยเหลือได้ในที่สุด
สมัยกลาง
เทพนิยายยุโรปหลายเรื่องมีแก่นสารเป็นสาวน้อยเดือดร้อน อาทิ ราพันเซลที่ถูกแม่มดขังไว้ในหอคอย สโนว์ไวต์ที่ถูกแม่มดฆ่าด้วยแอปเปิลอาบยาพิษ ตลอดจนเจ้าหญิงนิทราที่หลับไปเพราะมนตราแม่มด โดยหญิงสาวเหล่านี้ล้วนได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชายรูปงาม (prince charming) และต่อมาก็ครองคู่กัน
ไม่เพียงเทพนิยาย นิทานจำนวนหนึ่งก็ว่าด้วยสาวน้อยเดือดร้อน เช่น อาหรับราตรี (One Thousand and One Nights) ซึ่งตอนหนึ่งว่าด้วยเจ้าชายกามาร์ อัล-อักมาร์ (Qamar al-Aqmar) ขี่ม้าพยนต์ไปช่วยเจ้าหญิงแห่งซานา (Sana'a) คนรัก จากพ่อมดแห่งอิหร่าน และจากจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ อาหรับราตรีตอนดังกล่าวยังส่งอิทธิพลต่อนิทานยุโรปอีกหลาย ๆ เรื่อง เป็นต้นว่า เกลโอมาด (Cleomades) ของ อาเดอเนส เลอ รัว (Adenes Le Roi) และ เรื่องเล่าของอัศวินสํารอง (The Squire's Tale) ของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ อนึ่ง สาวน้อยเดือดร้อนยังเป็นตัวละครหลักในนิยายรักใคร่สมัยมัชฌิมยุคด้วย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักให้อัศวินพเนจรมาพบเธอถูกขังไว้บนหอคอยสูงตระหง่าน และช่วยเธอไว้ได้ เช่น ใน เรื่องเล่าของเสมียน (The Clerk's Tale) ของชอเซอร์นั้น หญิงสาวชื่อ กรีเซลดา (Griselda) ถูกไต่สวนและลงทัณฑ์หนักจนอัศวินผ่านมาช่วย
ในชีวิตจริง เมื่อ ค.ศ. 1399 มีการจัดตั้งกลุ่มอัศวิน ชื่อ วิสาหกิจโล่เขียวและพระแม่พิสุทธิ์ (Emprise de l'Escu vert à la Dame Blanche) ขึ้น มีวัตถุประสงค์ช่วยหญิงสาวที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นหลัก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเรื่องรักเทิดทูน (courtly love)
เนื้อเรื่องทำนองสาวน้อยเดือดร้อนนี้ก็มีอยู่ในวรรณกรรมประเภทชีวประวัตินักบุญ (hagiography) ด้วย ที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ เรื่องนักบุญจอร์จ ป้องกันมิให้เจ้าหญิงองค์หนึ่งถูกพญานาคกิน