Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
หน่วยเสียงย่อย
ในทางสัทวิทยา หน่วยเสียงย่อย (อังกฤษ: allophone) คือเสียงพูดเสียงหนึ่งในชุดของเสียงพูดที่เป็นไปได้ที่ใช้เปล่งเสียงหน่วยเสียงในภาษาหนึ่ง ๆ ตัวอย่างเช่น ในภาษาอังกฤษ เสียงไม่พ่นลม [t] (อย่างในคำ stop [stɒp]) และเสียงพ่นลม [tʰ] (อย่างในคำ top [ˈtʰɒp]) เป็นหน่วยเสียงย่อยของหน่วยเสียง /t/ แต่เสียงทั้งสองมีสถานะเป็นหน่วยเสียงคนละหน่วยในภาษาไทย (อย่างในคำ ตา /tāː/ และ ทา /tʰāː/) ในทางกลับกัน ในภาษาสเปน เสียงหยุด [d] (อย่างในคำ dolor [doˈloɾ]) และเสียงเสียดแทรกหรือเสียงเปิด [ð] (อย่างในคำ nada [ˈnaða]) เป็นหน่วยเสียงย่อยของหน่วยเสียง /d/ แต่เสียงทั้งสองมีสถานะเป็นหน่วยเสียงคนละหน่วยในภาษาอังกฤษ (อย่างในคำ day /deɪ/ และ they /ðeɪ/)
หน่วยเสียงย่อยที่ปรากฏในสถานการณ์หนึ่ง ๆ มักสามารถคาดเดาได้จากสัทบริบท โดยหน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นจะถูกเรียกว่ารูปแปรตามตำแหน่ง (positional variant) แต่หน่วยเสียงย่อยบางหน่วยก็ปรากฏในลักษณะแปรอิสระ (free variation) การแทนที่เสียงหนึ่ง ๆ ด้วยหน่วยเสียงย่อยอื่นของหน่วยเสียงเดียวกันโดยปกติไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป แต่เสียงที่เปล่งออกมาอาจฟังดูไม่เหมือนที่เจ้าของภาษาออกเสียงหรืออาจฟังไม่รู้เรื่อง
เจ้าของภาษาหนึ่ง ๆ รับรู้ว่าหน่วยเสียงแต่ละหน่วยในภาษาของตนเป็นเสียงหนึ่งเสียงต่างหาก และ "ทั้งไม่ตระหนักถึงและตกใจกับ" การแปรของหน่วยเสียงย่อยที่ใช้ในการเปล่งเสียงหน่วยเสียงเดียวกัน
ประเภท
เมื่อใดก็ตามที่คำพูดหนึ่ง ๆ ถูกเปล่งเสียงออกมาเป็นหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ มันจะมีลักษณะทางเสียงต่างจากถ้อยคำอื่น ๆ เล็กน้อย แม้จะมาจากผู้พูดคนเดียวกันก็ตาม สิ่งนี้นำไปสู่การถกเถียงกันว่าที่จริงแล้วหน่วยเสียงมีความเป็นรูปธรรมและมีความเป็นสากลมากน้อยอย่างไร มีการแปรเพียงไม่กี่แบบเท่านั้นที่มีนัยสำคัญ (เนื่องจากสามารถตรวจพบหรือรับรู้ได้) สำหรับผู้พูด
หน่วยเสียงย่อยมีสองประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้พูดจะต้องเปล่งเสียงหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ โดยใช้หน่วยเสียงย่อยที่เฉพาะเจาะจงในบริบทที่เฉพาะเจาะจง หรือว่าผู้พูดมีอิสระ (โดยไม่รู้สึกตัว) ที่จะเลือกใช้หน่วยเสียงย่อยเพื่อเปล่งเสียงหน่วยเสียงนั้น
หากหน่วยเสียงย่อยหนึ่ง ๆ ของหน่วยเสียงหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องปรากฏในบริบทหนึ่ง ๆ และการแทนที่หน่วยเสียงย่อยนั้นด้วยหน่วยเสียงย่อยอื่น (แม้จะเป็นสมาชิกของหน่วยเสียงเดียวกัน) อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือทำให้ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติสำหรับเจ้าของภาษา จะกล่าวได้ว่าหน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นมีการแจกแจงแบบสับหลีก (complementary distribution) ดังนั้น หน่วยเสียงย่อยเหล่านั้นจึงเติมเต็มกันและกัน และหนึ่งในนั้นจะไม่ถูกใช้ในสถานการณ์ที่ซึ่งการใช้หน่วยเสียงอีกหน่วยถือเป็นมาตรฐาน สำหรับหน่วยเสียงย่อยที่มีการแจกแจงแบบสับหลีก หน่วยเสียงย่อยแต่ละหน่วยจะถูกใช้ในสัทบริบทที่เฉพาะเจาะจงและอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางระบบเสียง
ในกรณีอื่น ผู้พูดสามารถเลือกใช้หน่วยเสียงย่อยที่มีการแปรอิสระตามความเคยชินหรือความนิยมส่วนตัว แต่บรรดาหน่วยเสียงย่อยที่แปรอิสระจะยังคงปรากฏในบริบทที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม
หน่วยเสียงย่อยยังอาจเกิดจากการกลมกลืนเสียง (assimilation) ซึ่งทำให้หน่วยเสียงหนึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับอีกหน่วยเสียงที่ปรากฏใกล้กัน ตัวอย่างหนึ่งของการกลมกลืนเสียงคือ การเพิ่มความก้อง (voicing) และการลดความก้อง (devoicing) ของเสียงพยัญชนะ โดยเสียงพยัญชนะไม่ก้องจะถูกเพิ่มความก้องเมื่อปรากฏหน้าและหลังเสียงพยัญชนะก้อง และเสียงพยัญชนะก้องจะถูกลดความก้องเมื่อปรากฏหน้าและหลังเสียงพยัญชนะไม่ก้อง