Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
หลักระวังไว้ก่อน
หลักระวังไว้ก่อน (อังกฤษ: precautionary principle) เป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงที่มีหลักว่า ถ้าการกระทำหรือนโยบายมีข้อน่าสงสัยว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์หรือต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ โดยไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ว่า การกระทำหรือนโยบายนั้นจะไม่ทำความเสียหาย การพิสูจน์ว่าจะไม่ก่อความเสียหาย ตกเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องการทำการนั้น ๆ ผู้ออกนโยบายได้ใช้หลักนี้เป็นเหตุผลการตัดสินใจ ในสถานการณ์ที่อาจเกิดความเสียหายเพราะการตัดสินใจบางอย่าง (เช่นเพื่อจะทำการใดการหนึ่ง หรืออนุมัติให้ทำการใดการหนึ่ง) ในกรณีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจน หลักนี้แสดงนัยว่า ผู้ออกนโยบายมีหน้าที่ทางสังคมที่จะป้องกันสาธารณชนจากการได้รับสิ่งที่มีอันตราย เมื่อการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ได้พบความเสี่ยงที่เป็นไปได้ และการป้องกันเช่นนี้จะสามารถเพลาลงได้ ก็ต่อเมื่อมีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น กฎหมายของเขตบางเขต เช่นในสหภาพยุโรป ได้บังคับใช้หลักนี้ในบางเรื่อง
ส่วนในระดับสากล มีการยอมรับใช้หลักนี้เป็นครั้งแรกในปี 2525 เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตกลงใช้กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) แล้วต่อมาจึงมีผลเป็นกฎหมายจริง ๆ ในปี 2530 ผ่านพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ต่อจากนั้นจึงมีการใช้หลักนี้ตามสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายต่าง ๆ เช่น ปฏิญญารีโอ (Rio Declaration) และพิธีสารเกียวโต
กำเนิดและทฤษฎี
คำภาษาอังกฤษว่า "precautionary principle" พิจารณาว่ามาจากภาษาเยอรมันว่า Vorsorgeprinzip ที่เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1980 แต่ว่า แนวคิดนี้เกิดมานานก่อนการใช้คำนี้แล้ว ดังที่แสดงในคำไทยว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน"
ในเศรษฐศาสตร์ มีการวิเคราะห์หลักนี้โดยเป็นผลของการตัดสินใจตามเหตุผล เมื่อมีองค์ประกอบเกี่ยวกับการผันกลับไม่ได้ (irreversibility) และความไม่แน่นอน (uncertainty) มีนักเศรษฐศาสตร์บางพวกที่แสดงว่า การผันกลับไม่ได้ของผลที่จะมีในอนาคต ควรจะชักจูงสังคมมนุษย์ที่ไม่ชอบเสี่ยง ให้ชอบใจการตัดสินใจในปัจจุบันที่ให้ความยืดหยุ่นในอนาคตได้มากที่สุด ส่วนบางพวกก็สรุปว่า "ความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกระจายตัวของความเสี่ยงในอนาคต คือการมีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ต่าง ๆ กันมาก ควรจะชักจูงสังคมมนุษย์ให้ทำการป้องกันที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในปัจจุบัน"
หลักและนิยาม
นิยามของหลักนี้มีหลายอย่าง และอาจจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเช่น ความระมัดระวังในบริบทของความไม่แน่นอน หรือความรอบคอบอย่างรอบรู้ แต่ก็ล้วนแต่มีแนวคิด 2 อย่าง คือ
- ความจำเป็นของผู้ออกนโยบายที่จะต้องระวังอันตรายก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลับหน้าที่ของฝ่ายที่ต้องให้ข้อพิสูจน์ คือ กลายเป็นหน้าที่ของบุคคลที่สนับสนุนให้ทำการที่จะต้องพิสูจน์ว่า กิจกรรมที่เสนอจะไม่มีผล (หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะ) เป็นอันตรายอย่างสำคัญ
- แนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง กับผลประโยชน์และความเป็นไปได้ของการกระทำที่เสนอ
นิยามที่ยอมรับกันทั่วโลกเป็นผลของงานประชุมรีโอ (Rio Conference) หรือว่างานประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit) ในปี 2535 คือหลักที่ 15 ของปฏิญญารีโอ (Rio Declaration) กำหนดว่า "เพื่อที่จะป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกจะประยุกต์ใช้วิธีการแบบระวังไว้ก่อนอย่างกว้างขวางที่สุดตามความสามารถของตน เมื่อมีภัยที่หนักหรือว่าเสียหายแบบแก้ไม่ได้ การไม่มีความแน่นอนสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จะไม่อาจใช้เป็นเหตุผลเพื่อผัดผ่อนปฏิบัติการที่คุ้มค่ากับต้นทุนเพื่อป้องกันความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม"
ส่วนงานประชุมนักวิชาการในปี 2541 (Wingspread Conference on the Precautionary Principle) สรุปหลักนี้ไว้ว่า "เมื่อกิจกรรมจะเพิ่มภัยหรืออันตรายต่อสุขภาพมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม การป้องกันแบบระวังไว้ก่อนควรจะทำแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลอาจจะยังไม่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์"
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้กล่าวถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนว่า "หลักป้องกันไว้ก่อนไม่ได้นิยามไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งกล่าวถึงมันเพียงแค่ครั้งเดียวโดยเป็นการเพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม แต่ว่าปฏิบัติการจริงกว้างขวางยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะในกรณีเมื่อการประเมินทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นกลาง ๆ ในขั้นเบื้องต้นชี้ว่า มีเหตุผลที่จะเป็นห่วงว่า ผลอันตรายที่เป็นไปได้ต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ หรือพืช อาจไม่สมกับการป้องกันในระดับสูงที่เลือกทำภายในประชาคม(ยุโรป)"
ส่วนพิธีสารคาร์ทาเกนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ในวันที่ 29 มกราคม 2543 กล่าวในเรื่องข้อโต้เถียงของอาหารดัดแปรพันธุกรรมไว้ว่า "การไม่มีความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์เนื่องจากมีข้อมูลวิทยาศาสตร์ในประเด็นไม่เพียงพอ จะไม่เป็นข้อห้ามต่อประเทศสมาชิก เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงและจำกัดโอกาสของผลที่ไม่พึงประสงค์ ให้ตัดสินใจตามสมควร ในเรื่องการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมที่เป็นประเด็น"
การประยุกต์ใช้
การประยุกต์ใช้หลักนี้จำกัดโดยการขาดความแน่วแน่ทางการเมือง และการตีความมากมายหลายอย่างเกี่ยวกับหลัก งานศึกษาหนึ่งพบการตีความของหลัก 14 อย่างในบทความทั้งที่เป็นสนธิสัญญาและไม่ใช่ ในปี 2545 นักวิชาการผู้หนึ่งแบ่งการตีความเหล่านี้ออกเป็นหลัก ๆ 4 อย่าง คือ
- ความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นตัวห้ามการควบคุมกิจกรรมที่เสี่ยงสร้างความเสียหายสำคัญอย่างอัตโนมัติ (Non-Preclusion PP - หลักไม่ห้ามการควบคุม)
- การควบคุมดูแลของรัฐควรจะมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย กิจกรรมต่าง ๆ ควรจะจำกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าขีดที่สังเกตเห็นผลที่ไม่พึงประสงค์ หรือที่พยากรณ์ว่าจะมี (Margin of Safety PP - หลักส่วนเผื่อความปลอดภัย)
- กิจกรรมที่มีโอกาสอันตรายที่สำคัญแม้ไม่แน่นอน ควรจะอยู่ภายใต้กฎบังคับเทคโนโลยีที่เข้มงวดที่สุดที่มีอยู่ เพื่อจำกัดโอกาสอันตรายยกเว้นถ้าผู้เสนอการกระทำจะแสดงว่า ไม่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายในระดับที่วัดได้ (BAT PP - หลักกฎบังคับที่เข้มงวด)
- กิจกรรมที่มีความเสี่ยงอันตรายที่สำคัญแม้ไม่แน่นอน ควรจะห้ามยกเว้นถ้าผู้เสนอการกระทำจะแสดงว่า ไม่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายในระดับที่วัดได้ (Prohibitory PP - หลักห้าม)
ในการตัดสินใจว่าจะใช้หลักนี้อย่างไร อาจสามารถใช้การวิเคราะห์โดยค่าใช้จ่าย-ประโยชน์ (cost-benefit analysis) ที่รวมองค์ประกอบต่าง ๆ รวมทั้งค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ที่จะไม่ทำอะไร และค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีโอกาสทำในอนาคต (option value) ถ้ารอข้อมูลเพิ่มก่อนที่จะทำการใด ๆ ความยากลำบากในการประยุต์ใช้หลักนี้ในการออกนโยบายของรัฐก็คือ บ่อยครั้งเป็นเรื่องขัดแย้งที่ลงกันไม่ได้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทำให้การอภิปรายต้องอาศัยกระบวนการทางการเมือง ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
แบบแข็งและแบบอ่อน
หลักแบบแข็งถือว่า การควบคุมเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อมีโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือสิ่งแวดล้อม แม้ว่า หลักฐานที่สนับสนุนว่าเสี่ยงอาจจะยังไม่ชัดเจน และค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมป้องกันสูง ในปี 2525 กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) ของสหประชาชาติให้การยอมรับหลักแบบแข็งในระดับสากลโดยกล่าวว่า "เมื่อโอกาสได้ผลที่ไม่พึงประสงค์ยังไม่ชัดเจน การกระทำเช่นนั้น ๆ ไม่ควรให้ดำเนินการต่อไป" ส่วนงานประชุมนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในปี 2541 (Wingspread Declaration) ที่สื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ก็ใช้หลักแบบแข็งเช่นเดียวกัน หลักแบบแข็งอาจจะคิดได้ว่าเป็นหลัก "ไม่เสียใจภายหลัง" โดยที่ไม่สนใจเรื่องค่าใช้จ่ายในการป้องกัน
ส่วนหลักแบบอ่อนถือว่า การไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ห้ามการควบคุมป้องกันถ้าความเสียหายหนักและแก้ไขไม่ได้ และมนุษย์ก็มีปฏิบัติการแบบอ่อนทุก ๆ วัน ที่บ่อยครั้งมีค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่ไม่แน่นอน เช่น เราไม่ไปในที่เปลี่ยว ๆ เป็นอันตรายในเวลากลางคืน เราออกกำลังกาย เราใช้เครื่องตรวจควันไฟ และเราคาดเข็มขัดนิรภัย
ตามกระทรวงการคลังของประเทศนิวซีแลนด์
แบบอ่อนของ[หลัก] มีข้อบังคับน้อยที่สุดและอนุญาตให้ทำการป้องกันเมื่อมีความไม่แน่นอน แต่ไม่ได้บังคับให้ทำ (เช่น ปฏิญญารีโอ 1992 และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 1992) เพื่อที่จะแสดงว่าถึงขีดอันตราย ก็จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับโอกาสเกิดและระดับความเสียหายที่จะเกิด บางรูปแบบแต่ไม่ใช่ทุกอัน ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายของการป้องกันล่วงหน้า แบบอ่อนไม่ได้ห้ามการชั่งดุลระหว่างประโยชน์และค่าใช้จ่าย องค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเหตุอันสมควรที่จะผัดผ่อนการกระทำ (การป้องกัน) ออกไป ในแบบอ่อน การต้องมีเหตุผลเพื่อที่จะทำ ตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่เสนอให้ทำการป้องกัน และไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบให้แก่กลุ่มต่าง ๆ เมื่อสิ่งแวดล้อมเสียหาย ... ส่วนแบบแข็งให้เหตุผลหรือบังคับให้ทำการป้องกัน และบางรูปแบบก็กำหนดความรับผิดชอบเมื่อสิ่งแวดล้อมเสียหายด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นรูปแบบแข็งของ "คนก่อพิษเป็นผู้รับผิดชอบ" ยกตัวอย่างเช่น กฎบัตรโลก (Earth Charter) กำหนดว่า "เมื่อความรู้จำกัดก็ให้ใช้วิธีแบบระวังไว้ก่อน ให้การพิสูจน์ตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่อ้างว่า การกระทำที่เสนอจะไม่สร้างปัญหาเป็นสำคัญ และให้ความผิดตกเป็นของผู้ที่เป็นเหตุเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม" การกลับหน้าที่การพิสูจน์ บังคับให้ผู้ที่เสนอการกระทำพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือเทคโนโลยี ปลอดภัยก่อนที่จะให้อนุมัติ การบังคับให้มีข้อพิสูจน์ว่าจะไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะให้ดำเนินการ แสดงนัยว่า สาธารณชนไม่ยอมรับความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมเพียงไร (Peterson, 2006) ถ้าทำแบบสุด ๆ ข้อบังคับเช่นนี้อาจจะห้ามการกระทำและสารที่มีโอกาสเสี่ยงอันตรายอย่างเป็นหมวด ๆ (Cooney, 2005) ตามเวลาที่ผ่านไป หลักป้องกันไว้ก่อนที่พบในปฏิญญารีโอได้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบแข็ง ที่จำกัดการพัฒนาเมื่อไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสิ่งนั้นจะไม่มีผลเป็นอันตราย
ข้อตกลงและปฏิญญานานาชาติ
กฎบัตรเพื่อธรรมชาติแห่งโลก (World Charter for Nature) ซึ่งยอมรับโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2525 เป็นการยอมรับอย่างเป็นสากลครั้งแรกของกฎระวังไว้ก่อน และมีผลในสนธิสัญญานานาชาติเป็นครั้งแรกในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ในปี 2530 และพบในสนธิสัญญาและปฏิญญานานาชาติอื่น ๆ รวมทั้ง ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ในปี 2535
โดยเป็นหลักหรือโดยเป็นวิธี
นักวิชาการท่านหนึ่งสรุปความแตกต่างของการใช้เป็นหลักหรือการใช้เป็นวิธีไว้ว่า
การแนะนำหลักระวังไว้ก่อนจะไม่สมบูร์ณถ้าไม่กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่าง "หลัก" หรือ "วิธี" ระวังไว้ก่อน หลักที่ 15 ของปฏิญญารีโอกำหนดว่า "เพื่อที่จะป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกจะประยุกต์ใช้วิธีการแบบระวังไว้ก่อนอย่างกว้างขวางที่สุดตามความสามารถของตน เมื่อมีภัยที่หนักหรือว่าเสียหายแบบแก้ไม่ได้ การไม่มีความแน่นอนสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จะไม่อาจใช้เป็นเหตุผลเพื่อผัดผ่อนปฏิบัติการที่คุ้มค่ากับต้นทุนเพื่อป้องกันความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม" ดังที่การ์เซีย (1995) ได้ชี้ "การเรียงความเช่นนี้ แม้ว่าจะคล้ายกับที่พบในหลัก แตกต่างอย่างละเอียดอ่อน คือ (1) ข้อความยอมรับว่าอาจจะมีความแตกต่างทางสมรรถภาพของประเทศในการประยุกต์ใช้วิธีนี้ และ (2) มันเรียกร้องให้มีการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิผลในการประยุกต์ใช้วิธี คือ ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและทางสังคม" คำว่า "วิธีการ" พิจารณาว่าเป็นการผ่อนผันการใช้เป็น "หลัก" ... ดังที่ Recuerda ได้ตั้งข้อสังเกต ความแตกต่างระหว่าง "หลักระวังไว้ก่อน" และ "วิธีระวังไว้ก่อน" ซึมกระจายไปทั่ว และในบางบริบท เป็นเรื่องก่อความขัดแย้ง ในการต่อรองปฏิญญาสากล ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ต่อต้านการใช้คำว่า "หลัก" เพราะว่า คำนี้มีความหมายพิเศษในภาษากฎหมาย เพราะคำว่า "หลักกฎหมาย" หมายถึงตัวกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า นี่เป็นเรื่องบังคับ ดังนั้น ศาลอาจจะยกเลิกหรือคงยืนการตัดสินใจโดยประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อน ในบริบทเช่นนี้ หลักระวังไว้ก่อนไม่ใช่เป็นแค่ไอเดียหรือสิ่งที่ต้องการเพียงเท่านั้น แต่เป็นตัวกฎหมายเอง และนี่ก็เป็นสถานะทางกฎหมายของหลักระวังไว้ก่อนในสหภาพยุโรปด้วย โดยเปรียบเทียบกันแล้ว "วิธีการ" ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน แม้ว่าในบางกรณี กฎหมายก็อาจจะบังคับให้ใช้วิธีการ
ดังนั้น วิธีระวังไว้ก่อนจึงเป็น "เลนส์" ส่องหาความเสี่ยงอันหนึ่ง ที่คนที่ระมัดระวังทุกคนมี
คณะกรรมาธิการยุโรป
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เผยแพร่สารเกี่ยวกับหลักระวังไว้ก่อน ที่คณะกรรมาธิการได้ยอมรับวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดเช่นนี้ แต่ไม่ได้ให้นิยามอย่างละเอียดเกี่ยวกับมัน คือ วรรคที่ 2 ของมาตรา 191 ของสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) กำหนดว่า
นโยบายของสหภาพในเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งเป้าเพื่อให้มีการป้องกันในระดับสูงโดยพิจารณาถึงความต่าง ๆ กันในสถานการณ์ในเขตต่าง ๆ ของสหภาพ นโยบายมีมูลฐานอยู่ที่หลักระวังไว้ก่อนและหลักที่ว่า การป้องกันควรจะทำ ว่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดก่อน และบุคคลที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบ
หลังจากที่คณะกรรมธิการยุโรปได้ยอมรับ นโยบายต่าง ๆ ก็เริ่มใช้หลักระวังไว้ก่อน รวมทั้งในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในปี 2006 หลักได้รวมอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยทั่ว ๆ ไป การใช้สารแต่งเติมในอาหารสัตว์ การเผาขยะ และการควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และเพราะเป็นการใช้ในระบบกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาก่อนเป็นบรรทัดฐาน มันจึงกลายเป็น "หลักทั่วไปของกฎหมายสหภาพยุโรป"
สหรัฐอเมริกา
ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ซานฟรานซิสโกได้ผ่านข้อบัญญัติการจัดซื้อโดยหลักระวังไว้ก่อน ซึ่งบังคับให้เทศบาลเมืองต้องชั่งดุลความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเมื่อจัดซื้อของทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดไปจนถึงคอมพิวเตอร์
ญี่ปุ่น
ในปี 2540 ประเทศญี่ปุ่นพยายามใช้หลักระวังไว้ก่อนในการสู้คดีเกี่ยวกับสนธิสัญญา Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures คือมีการฟ้องคดีเรื่องการควบคุมของญี่ปุ่นที่บังคับให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์การเกษตรนำเข้าหลายอย่าง (รวมทั้งแอปเปิล เชอร์รี ลูกท้อ วอลนัต เอพริคอต สาลี่ พลัม และลูกควินซ์) เพื่อป้องกันไม่ให้มีผีเสื้อกลางคืนพันธุ์ "Cydia pomonella" (codling moth) เพราะว่า ผีเสื้อกลางคืนพันธ์นี้เป็นศัตรูพืชที่ไม่มีใประเทศ และการนำผีเสื้อเข้าประเทศอาจจะทำให้เกิดความเสียหายหนัก ส่วนสหรัฐอเมริกาอ้างว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบผลไม้ทุกอย่างว่าได้รับการบำบัดที่มีประสิทธิผลแล้วหรือไม่ และข้อบังคับเช่นนี้เป็นภาระมากเกินไป
ออสเตรเลีย
คดีที่สำคัญที่สุดในศาลออเสตรเลียที่ผ่านมาเพราะมีการพิจารณาหลักระวังไว้ก่อนอย่างละเอียดลออที่สุด ผ่านการไต่สวนในศาลเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 ซึ่งศาลสรุปหลักโดยอ้างกฎหมายที่ออกในปี 2534 ที่มีนิยามของหลักระวังไว้ก่อนว่า
ถ้ามีความเสี่ยงความเสียหายหนักและแก้ไขไม่ได้ต่อสิ่งแวดล้อม การขาดความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์แบบสมบูรณ์ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลที่จะผัดผ่อนการกระทำเพื่อป้องกันความเสื่อมทางสิ่งแวดล้อม และในการประยุกต์ใช้หลักนี้... การตัดสินใจควรจะทำตามแนวทางนี้คือ (i) การประเมินที่ระมัดระวังเพื่อจะหลีกเลี่ยงเท่าที่ทำได้ ความเสียหายที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ต่อสิ่งแวดล้อม และ (ii) การประเมินผลของทางเลือกต่าง ๆ โดยดุลกับความเสี่ยง
ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการตัดสินของศาลก็คือ
- หลักและความจำเป็นที่จะทำการเพื่อป้องกัน จะลั่นไกเมื่อเกิดสถานการณ์สองอย่างก่อนคือ ภัยของความเสียหายหนักหรือแก้ไขไม่ได้ และความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ว่าจะเสียหายแค่ไหน
- และเมื่อลั่นไกแล้ว "การทำการป้องกันไว้ก่อนที่ควรแก่เหตุ สามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงภัยความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่คาดหวัง แต่ต้องทำให้สมกับเหตุ"
- ภัยของความเสียหายที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ต้องพิจารณาองค์ 5 คือ ขอบเขตของภัย (เช่นเฉพาะพื้นที่ ทั้งภูมิภาค เป็นต้น) คุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่มีภัยตามที่รู้ได้ ผลกระทบที่ว่าสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่ ระดับความเป็นห่วงของสาธารณชน และมีมูลทางทางวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลหรือไม่สำหรับความเป็นห่วงในเรื่องนั้น
- การพิจารณาระดับความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์ควรจะมีองค์การตัดสินรวมทั้ง อะไรเป็นหลักฐานที่เพียงพอ ระดับและประเภทของความแน่นอน และความเป็นไปได้ที่จะลดความไม่แน่นอน
- หลักนี้จะกลับหน้าที่ในการพิสูจน์ คือถ้าหลักผ่านเกณฑ์ให้ประยุกต์ใช้ หน้าที่การพิสูจน์จะเปลี่ยน คือ "ผู้ตัดสินใจต้องสมมุติว่า ภัยของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้เป็น...ความจริง [และ]หน้าที่แสดงว่าภัยเช่นนี้...มีแค่เล็กน้อยกลับตกเป็นของผู้ที่เสนอ"
- หลักนี้ เรียกร้องให้ทำการป้องกัน คือ "หลักอนุญาตให้ทำการป้องกันโดยไม่ต้องรอให้รู้จักภัยหรือความสาหัสของภัยอย่างเต็มที่"
- หลักระวังไว้ก่อนไม่ควรใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกอย่าง
- การป้องกันแบบระวังไว้ก่อนที่สมควรขึ้นอยู่กับผลรวมของ "ระดับความเสียหายกับระดับการแก้ไม่ได้ของภัย และระดับความไม่แน่นอน... ภัยยิ่งหนักเท่าไรหรือไม่แน่นอนเท่าไร... การป้องกันก็จะต้องมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น... การป้องกันควรทำ... ให้สมควรกับภัยที่มีโอกาสเสี่ยง"
ฟิลิปปินส์
ในปี 2556 กลุ่มกรีนพีซเอเชียอาคเนย์และกลุ่มเกษตรกร-นักวิทยาศาสตร์ Masipag ได้ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์หยุดการปลูกมะเขือยาวดัดแปรพันธุกรรมแบบ Bt ในแปลงทดสอบ โดยอ้างว่า ผลของพืชทดสอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อพืชธรรมดา และต่อสุขภาพมนุษย์ยังไม่ชัดเจน ศาลอุทธรณ์ตกลงให้ตามคำเรียกร้อง โดยอ้างหลักระวังไว้ก่อนคือ "เมื่อกิจกรรมของมนุษย์อาจเป็นภัยเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่หนักหรือแก้ไขไม่ได้ ที่เป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์แม้จะไม่แน่นอน ควรจะปฏิบัติการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดทอนภัยนั้น"
ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่สองครั้งในปีเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้การตัดสินใจเบื้องต้นคงยืนโดยกล่าวว่า แปลงทดสอบละเมิดสิทธิบุคคลตามรัฐธรรมมนูญที่จะมี "ระบบนิวเวศน์ที่สมดุลและดี" ต่อมาศาลสูงสุดจึงตัดสินในปี 2558 ให้หยุดการทดสอบมะเขือยาว Bt อย่างถาวร ให้ข้อตัดสินของศาลอุทธรณ์คงยืน โดยเป็นศาลแรกในโลกที่ใช้หลักนี้ในการตัดสินคดีเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
บริษัท
มีบริษัทเครื่องสำอางในสหราชอาณาจักรบริษัทหนึ่งที่เริ่มใช้หลักนี้ในการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ในปี 2549
สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในโลกที่อาจจะเกี่ยวข้องกับหลักระวังไว้ก่อนรวมทั้ง
- ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแบบฉับพลันโดยทั่วไป
- การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
- การปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะมีผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (เช่น สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม)
- ภัยต่อสาธารณสุข เนื่องจากโรคและเทคนิคใหม่ ๆ (เช่น เอดส์ที่ติดต่อผ่านการถ่ายเลือด)
- ผลระยะยาวของเทคโนโลยีใหม่ ๆ (เช่น ผลจากการแผ่รังสีของมือถือและอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ)
- การก่อมลพิษที่เรื้อรังหรือฉับพลัน (เช่นการใช้แร่ใยหิน และสารระงับระบบต่อมไร้ท่อ endocrine disruptor)
- ความปลอดภัยของอาหาร (เช่น โรควัวบ้า)
- ปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพอื่น ๆ (เช่น สิ่งมีชีวิตประดิษฐ์ และโมเลกุลใหม่ต่าง ๆ)
หลักระวังไว้ก่อนมักจะใช้ในด้านชีวภาพเพราะว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถจำกัดได้ง่ายและมีโอกาสที่จะมีผลต่อทั้งโลก แต่จำเป็นน้อยกว่าในบางสาขาเช่นทางอากาศยานศาสตร์ ที่คนไม่กี่คนที่เสี่ยงได้ให้ความยินยอมที่ประกอบด้วยความรอบรู้แล้ว (เช่น นักบินทดสอบ) ในเรื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การจำกัดผลที่เกิดอาจจะยากขึ้นถ้าเทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างก๊อปปี้ของตนเองได้ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์บิล จอย เน้นอันตรายของเทคโนโลยีพันธุกรรม นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สร้างก๊อปปี้ของตนเองได้ในบทความของเขาว่า "ทำไมอนาคตไม่จำเป็นต้องมีเรา (Why the future doesn't need us)" การประยุกต์ใช้หลักนี้สามารถเห็นได้ในนโยบายของรัฐ ที่บังคับให้บริษัทผลิตยาทำการทดลองทางคลินิกเพื่อที่จะแสดงว่า ยาใหม่นั้นปลอดภัย นักปรัชญาประจำมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตซูเปอร์ฉลาดในอนาคต และความเสี่ยงที่เรามีถ้ามันพยายามที่จะควบคุมสสารระดับอะตอม
การใช้หลักนี้เปลี่ยนสถานะของนวัตกรรมและการประเมินความเสี่ยง คือมันไม่ใช่ความเสี่ยงเองที่ต้องแก้หรือหลีกเลี่ยง แต่แม้โอกาสของความเสี่ยงก็จะต้องป้องกัน ดังนั้น ในกรณีเรื่องการควบคุมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องแค่ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับผู้ควบคุม มันยังมีบุคคลที่สามร่วมด้วยก็คือผู้บริโภค
ในประเด็นการประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อนกับนาโนเทคโนโลยี นักวิชาการคู่หนึ่งเสนอว่ามีหลักอยู่สองแบบ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า "แบบเข้ม" และ "แบบเชิงรุก" แบบเข้ม "บังคับให้ไม่ทำอะไรถ้าการกระทำเป็นความเสี่ยง" ในขณะที่แบบเชิงรุกหมายถึง "การเลือกทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่าถ้ามี และการมีผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่มี" มีนักวิชาการที่เสนอให้ประยุกต์ใช้หลักระวังไว้ก่อนแบบเข้มสำหรับองค์กรที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับสารเคมีและเทคโนโลยีสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้อนุภาคนาโนของ Ti02 และ ZnO ในสารกันแดด การใช้เงินนาโนในแหล่งน้ำ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่การผลิต การจัดการ หรือการแปรใช้ใหม่ จะทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการได้รับท่อนาโนคาร์บอนทางลมหายใจ
การจัดการทรัพยากร
ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างเช่นประชากรปลา ปัจจุบันเริ่มมีการจัดการโดยใช้วิธีระวังไว้ก่อน เช่นกฎควบคุมการตกปลา (Harvest Control Rules) ภาพแสดงหลักที่ใช้ในการจัดการควบคุมการตกปลาค็อด ดังที่เสนอโดยสภาการสำรวจทะเลนานาชาติ (International Council for the Exploration of the Sea)
ในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ การใช้หลักระวังไว้ก่อนหมายความว่าถ้าสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตเช่นนี้มีสถานะการอนุรักษ์เช่นไร ก็ควรจะใช้ระดับการป้องกันสูงสุดสำหรับสิ่งมีชีวิตนั้น ดังนั้น สปีชีส์เช่นนกเขาพันธุ์ Columba argentina (silvery pigeon) ซึ่งอาจจะมีจริง ๆ เป็นจำนวนหนึ่ง เพียงแต่มีการบันทึกจำนวนน้อยเกินไป หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จะไม่จัดว่า "ข้อมูลไม่พอ" หรือ "สูญพันธุ์ไปแล้ว" (ซึ่งหมวดทั้งสองไม่ต้องทำการป้องกันอะไร) แต่จัดว่า "เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์" (ซึ่งเป็นสถานะอนุรักษ์ที่ต้องทำการป้องกันระดับสูงสุด) เปรียบเทียบกับนกกิ้งโครงพันธุ์ Lamprotornis iris (emerald starling) ที่จัดว่า "ข้อมูลไม่พอ" เพราะว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำงานวิจัยเพื่อเคลียร์สถานะของมันแทนที่จะทำการป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่คนจำนวนมากใช้เป็นน้ำดื่ม แล้วเกิดปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค (เช่น e-coli 0157 H7) และแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนสงสัยอย่างสำคัญว่ามาจากวัวนม แต่ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ก็ควรจะเอาวัวออกจากสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นจนกระทั่งอุตสาหกรรมนมวัวพิสูจน์ได้ว่า วัวไม่ใช่แหล่งกำเนิด หรือจนกระทั่งอุตสาหกรรมทำการให้มั่นใจได้ว่า การปนเปื้อนจะไม่มีอีกในอนาคต
ข้อวิจารณ์
ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หลักนี้ใช้ข้ออ้างแบบเดียวกับที่ใช้ต่อต้านแนวคิดอนุรักษนิยมทางเทคโนโลยีในรูปแบบอื่น ๆ
ความไม่สอดคล้อง - การใช้หลักนี้แบบแข็งอาจมีโทษ
หลักนี้ในรูปแบบแข็ง ถ้าไม่ใส่ใจเงื่อนไขพื้นฐานว่าควรใช้หลักเมื่อความเสี่ยงมีโอกาสสูงและคำนวณได้ไม่ง่ายเท่านั้น แล้วประยุกต์ใช้ต่อตัวหลักเองเพื่อตัดสินใจว่าควรใช้หลักเป็นนโยบายหรือไม่ อาจจะห้ามไม่ให้ใช้หลักนี้เอง สถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้จริง ๆ ก็คือ การห้ามไม่ให้ใช้นวัตกรรมหมายความว่าให้ใช้แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่ และเทคโนโลยีที่มีอยู่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่มีประโยชน์พอเพียง ดังนั้น จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะก่ออันตรายโดยห้ามไม่ให้ใช้นวัตกรรม ดังที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งเขียนไว้ในบทประพันธ์ของเขาว่า "หลักระวังไว้ก่อน ถ้าประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง ก็จะห้ามใช้หลักระวังไว้ก่อนเอง" ยกตัวอย่างเช่น การห้ามใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะว่าโอกาสเสี่ยง ก็จะหมายความว่าให้ใช้โรงงานไฟฟ้าที่เผาเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ต่อไป ซึ่งก็จะปล่อยแก๊สเรือนกระจกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือกฎหมายห้ามปล่อยสารเคมีบางอย่างสู่อากาศในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2533 เป็นการใช้หลักระวังไว้ก่อนที่ผู้ปล่อยจะต้องพิสูจน์ว่าสารเคมีที่อยู่ในรายชื่อนั้นไม่มีโทษ แต่เนื่องจากว่า ไม่มีการแยกแยะว่าสารเคมีในรายการอันไหนมีโอกาสเสี่ยงสูงหรือโอกาสเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ผู้ปล่อยสารเคมีก็เลยเลือกปล่อยสารเคมีที่ไม่ค่อยมีข้อมูลแต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ
การห้ามนวัตกรรมและความก้าวหน้าโดยทั่วไป
หลักนี้แบบแข็งอาจใช้ห้ามนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์เพราะโอกาสมีผลลบ ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ ดังนั้น หลักนี้จึงสร้างประเด็นเชิงจริยธรรมว่า การใช้หลักอาจระงับความก้าวหน้าในประเทศกำลังพัฒนาได้
ความคลุมเครือและความเป็นไปได้
หลักนี้เรียกร้องให้ไม่ทำการเมื่อมีความไม่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ แต่รูปแบบที่ใช้บางอย่างไม่กำหนดขีดตายที่โอกาสความเสี่ยงจะลั่นไกการใช้หลักนี้ ดังนั้น เครื่องชี้ทุกอย่างว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งอาจมีผลลบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องเพียงพอที่จะใช้หลักนี้ ในปี 2551 ในสหรัฐอเมริกา ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องกังวลยอดนิยม ว่าเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่จะทำลายโลกด้วยหลุมดำ โดยกล่าวว่า
- ความเสียหายจะต้องมี "ภัยหรืออันตรายที่น่าเชื่อถือ" [Cent. Delta Water Agency v. United States, 306 F.3d 938, 950 (9th Cir. 2002)] อย่างมากที่สุด แว็กเนอร์ (ผู้ฟ้อง) ก็เพียงอ้างว่า การทดลองทำที่เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (หรือว่า "เครื่องชน") มี "ผลที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นไปได้" (แต่ว่า) ความกลัวแบบลม ๆ แล้ง ๆ เกี่ยวกับภัยในอนาคตไม่ใช่เป็นความเสียหายจริง ๆ เพียงพอที่จะได้จุดยืนจากศาล (Mayfield, 599 F.3d at 970)
ดูเพิ่ม
สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ
- Kai Purnhagen, "The Behavioural Law and Economics of the Precautionary Principle in the EU and its Impact on Internal Market Regulation", Wageningen Working Papers in Law and Governance 2013/04, [1]
- Arrow, K.J.; และคณะ (1996). "Is There a Role for Cost-Benefit Analysis in Environmental, Health, and Safety Regulation?". Science. 272 (5259): 221–2. doi:10.1126/science.272.5259.221. PMID 8602504.
- Andorno, Roberto (2004). "The Precautionary Principle: A New Legal Standard for a Technological Age" (PDF). Journal of International Biotechnology Law. 1: 11–19. doi:10.1515/jibl.2004.1.1.11.
- Communication from the European Commission on the precautionary principle Brusells (2000)
- European Union (2002), European Union consolidated versions of the treaty on European Union and of the treaty establishing the European community, Official Journal of the European Union, C325, 24 December 2002, Title XIX, article 174, paragraph 2 and 3.
- Greenpeace, "Safe trade in the 21st Century, Greenpeace comprehensive proposals and recommendations for the 4th Ministerial Conference of the World Trade Organisation" pp. 8-9 [2] เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
-
Harremoës, Poul, David Gee, Malcolm MacGarvin, Andy Stirling, Jane Keys, Brian Wynne, Sofia Guedes Vaz (Oct 2002). "The Precautionary Principle in the 20th Century: Late Lessons from Early Warnings — Earthscan, 2002. Review". Nature. 419 (6906): 433. doi:10.1038/419433a.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - O’Riordan, T. and Cameron, J. (1995), Interpreting the Precautionary Principle, London: Earthscan Publications
- Raffensperger, C., and Tickner, J. (eds.) (1999) Protecting Public Health and the Environment: Implementing the Precautionary Principle. Island Press, Washington, DC.
- Recuerda Girela, M.A., (2006), Seguridad Alimentaria y Nuevos Alimentos, Régimen jurídico-administrativo. Thomson-Aranzadi, Cizur Menor.
- Recuerda Girela, M.A., (2006), "Risk and Reason in the European Union Law", European Food and Feed Law Review, 5.
-
Ricci PF, Rice D, Ziagos J, Cox LA (Apr 2003). "Precaution, uncertainty and causation in environmental decisions". Environ Int. 29 (1): 1–19. doi:10.1016/S0160-4120(02)00191-5. PMID 12605931.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - Sandin, P. "Better Safe than Sorry: Applying Philosophical Methods to the Debate on Risk and the Precautionary Principle," (2004) .
- Stewart, R.B. "Environmental Regulatory Decision making under Uncertainty". In An Introduction to the Law and Economics of Environmental Policy: Issues in Institutional Design, Volume 20: 71-126 (2002) .
- Sunstein, Cass R. (2005), Laws of Fear: Beyond the Precautionary Principle. New York: Cambridge University Press
แหล่งข้อมูลอื่น
- A Small Dose of Toxicology เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Bay Area Working Group on the Precautionary Principle เก็บถาวร 2021-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Roberto Andorno, "The Precautionary Principle: A New Legal Standard for a Technological Age", Journal of International Biotechnology Law, 2004, 1, p. 11-19 [3]
- Report by the UK Interdepartmental Liaison Group on Risk Assessment, 2002. "The Precautionary Principle: Policy and Application" เก็บถาวร 2013-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- David Appell, Scientific American, January 2001: "The New Uncertainty Principle"
- The Times, July 27, 2007, Only a reckless mind could believe in safety first
- The Times, January 15, 2005, "What is . . . the Precautionary Principle?"
- Bill Durodié, Spiked, March 16, 2004: The precautionary principle assumes that prevention is better than cure เก็บถาวร 2007-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- European Environment Agency (2001), Late lessons from early warnings: the precautionary principle 1896-2000 เก็บถาวร 2005-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Applying the Precautionary Principle to Nanotechnology, Center for Responsible Nanotechnology 2004
- 1998 Wingspread Statement on the Precautionary Principle เก็บถาวร 2005-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Science and Environmental Health Network, The Precautionary Principle in Action - a Handbook
- Gary E. Marchant, Kenneth L. Mossman: Arbitrary and Capricious: The Precautionary Principle in the European Union Courts. American Enterprise Institute Press 2004, ISBN 0-8447-4189-2; free online PDF เก็บถาวร 2006-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Umberto Izzo, La precauzione nella responsabilità civile. Analisi di un concetto sul tema del danno da contagio per via trasfusionale (e-book reprint) [The Idea of Precaution in Tort Law. Analysis of a Concept against the Backdrop of the Tainted- Blood Litigation], UNITN e-prints, 2007, first edition Padua, Cedam 2004.free online PDF
- Better Safe than Sorry: Applying Philosophical Methods to the Debate on Risk and the Precautionary Principle เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Communication from the European Commission on the precautionary principle
- UK Interdepartmental Liaison Group on Risk Assessment (ILGRA) : The Precautionary Principle: Policy and Application [4] เก็บถาวร 2006-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Report of UNESCO's group of experts on the Precautionary Principle (2005) [5]
- Max More (2010), The Perils Of Precaution เก็บถาวร 2010-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน