Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

หวง เฟย์หง

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
หวง เฟย์หง
Wong Fei-hung - Kwong Kei-tim.jpg
เกิด 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1847(1847-07-09)
ฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง จีน
เสียชีวิต 17 เมษายน ค.ศ. 1925(1925-04-17) (79 ปี)
กวางโจว มณฑลกวางตุ้ง จีน
ที่อยู่ ฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง จีน
กวางโจว มณฑลกวางตุ้ง จีน
รูปแบบ กังฟู
หงฉวน
ครูผู้สอน หวง ฉีอิง
อันดับ ปรมาจารย์
อาชีพ นักกังฟู, แพทย์, นักปฏิวัติ
คู่สมรส สตรีแซ่หลอ (สมรส ค.ศ. 1871)
สตรีแซ่หม่า (สมรส ค.ศ. 1896)
สตรีแซ่เฉิน (สมรส ค.ศ. 1902)
มอก ไกวหลาน (สมรส ค.ศ. 1915)
นักเรียนเด่น เหลิง ฟุน
หลำ ไซหวิ่ง
Dang Fong
Ling Wan-kai

หวง เฟย์หง (สำเนียงจีนกลาง) หรือ หว่อง เฟ้ย์ห่ง (ภาษากวางตุ้ง: Wong4 Fei1-hung4) หรือ อึ่ง ปวยฮ้ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) (จีนตัวเต็ม: 黃飛鴻; จีนตัวย่อ: 黄飞鸿; พินอิน: Huáng Fēihóng; เยลกวางตุ้ง: Wòhng Fēihùhng; อังกฤษ: Wong Fei Hung, Hwang Fei Hung; 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1847 — 17 เมษายน ค.ศ. 1925) เป็นปรมาจารย์กังฟูที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้และภาพยนตร์กำลังภายใน ในฐานะที่เป็นวีรบุรุษต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีชาวจีนจากการคุกคามของชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับ หง ซีกวน และ ฮั่ว หยวนเจี๋ย

ปฐมวัย

หวง เฟย์หง เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1847 ตรงกับปีที่ 25 ในรัชสมัยฮ่องเต้เต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง (บางข้อมูลบอกว่า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1856 ตรงกับปีที่ 6 ในรัชสมัยฮ่องเต้เสียนเฟิง) ที่หมู่บ้านหลูเจ้า ใกล้ภูเขาสีเฉียว เมืองฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง เป็นบุตรของหวง ฉีอิง (黃麒英, หว่อง เข่ยฺ เย้ง ในสำเนียงกวางตุ้ง) ซึ่งเป็นปรมาจารย์กังฟูผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม "10 พยัคฆ์กวางตุ้ง" (伏虎拳) ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน

ถึงแม้จะเป็นบุตรของปรมาจารย์กังฟู แต่ หวง ฉีอิง ก็มิได้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้แก่บุตรชาย ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัดนัก หวง เฟย์หง ได้มีอาจารย์สอนวิชากำลังภายในให้คือ ลู่ อาไฉ (陸阿采) ผู้เป็นสหายร่วมสำนักเส้าหลินกับ หง ซีกวน (洪熙官) วีรบุรุษกังฟูที่มีชื่อเสียงอีกคน ถ่ายทอดวิชามวย "หงฉวน" (洪拳) โดยมีกระบวนท่าที่มีชื่ออย่าง "หมัดพยัคฆ์ดำ-กะเรียนขาว" (黑虎拳, 白鶴拳) ให้

นอกจากได้ ลู่ อาไฉเป็นอาจารย์แล้ว ในวัยเยาว์ หวง เฟย์หง ยังได้ร่ำเรียนวิชาหงฉวนเพิ่มเติมจาก หล่ำ ฟกซิง (Lín Shìróng, 林世榮) จากนั้นก็ได้รับการสั่งสอนเพิ่มเติมจาก หวง ฉีอิง ผู้เป็นบิดา ในวัยเด็กครอบครัวของ หวง เฟย์หง มีฐานะยากจน ต้องตระเวนรอนแรมไปเปิดทำการแสดงวิชาฝีมือและขายยาตามท้องถนน โดยสรุปแล้วชีวิตในช่วงวัยเยาว์และวัยหนุ่มของ หวง เฟย์หง เป็นระยะเวลาของการฝึกฝนวิชาฝีมือต่อสู้ป้องกันตัว และการรับมรดกสืบทอดวิชาแพทย์จากบิดา ซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณที่ได้รับการยกย่องนับถือ

สร้างชื่อ

หวง ฮั่นซี (จีนตัวย่อ: 黄汉熙; จีนตัวเต็ม: 黃漢熙; พินอิน: Huáng Hànxī) บุตรชายคนหนึ่งของหวง เฟย์หง ซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่ 3

จากนั้น หวง เฟย์หงได้สร้างวีรกรรมอันลือชื่อขึ้นมา 2 เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อ หวง เฟย์หง มีอายุ 16 ปี มีชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งคิดค้นกิจกรรมสร้างความบันเทิง โดยฝึกฝนสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด จนดุร้ายกระหายเลือด จากนั้นก็เปิดเวทีท้าประลองให้ชาวจีนสู้กับสุนัข ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูง แต่หากพลาดพลั้งบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ที่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ กิจกรรมนี้กลายเป็นเรื่องโจษจันเกรียวกราวไปทั่ว ผู้คนจำนวนมากที่เข้าประลองล้วนแล้วแต่พ่ายแพ้ บ้างโชคดีก็แค่บาดเจ็บ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตไปอย่างไร้เปล่า

เมื่อ หวง เฟย์หง ล่วงรู้เรื่องดังกล่าว จึงเข้าประลองเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีให้แก่ชาวจีน และเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดาย ด้วยกระบวนท่าที่เรียกว่า "ฝ่าเท้าไร้เงา" ซึ่งเป็นไม้ตายประจำตัวที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากสุดของเขา เหตุการณ์ต่อมาคือ เมื่อครั้งที่ท่าเรือฮ่องกงเพิ่งเปิดทำการ หวง เฟย์หงในวัย 21 ปี ไม่อาจทนเห็นผู้อ่อนแอโดนนักเลงท้องถิ่นจำนวนมากรุมรังแก จึงยื่นมือเข้าขัดขวาง ด้วยการใช้กระบองไม้ไผ่เป็นอาวุธบุกเดี่ยวเข้าสู้กับฝ่ายตรงข้ามจำนวนหลายสิบคน กลายเป็นศึกตะลุมบอนอันลือลั่น (บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว ปัจจุบันคือสวนสาธารณะที่ถนนฮอลลีวูด บนเกาะฮ่องกง)

ผลการต่อสู้ หวง เฟย์หง สามารถหลบหนีไปได้ และทำร้ายบรรดานักเลงอันธพาลบาดเจ็บไปหลายคน แต่การปะทะครั้งนั้น ก็ส่งผลให้ หวง เฟย์หงไม่อาจพำนักอยู่ในฮ่องกงได้อีกต่อไป และต้องเดินทางกลับไปยังกวางเจา ช่วงชีวิตของหวง เฟย์หง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากสุด โดยผ่านการบอกเล่าของภาพยนตร์ต่าง ๆ มากมาย ในยุคปัจจุบัน คือ ช่วงวัยอายุประมาณ 30 ปี หวง เฟย์หง กลายเป็นปรมาจารย์กังฟูมีชื่อเสียง พร้อม ๆ กันนั้นเขาก็ได้เปิดร้านขายยาและสถานพยาบาล ชื่อ "เป่าจือหลิน" (โปจี๋หลำ, 寶芝林)

เป่าจือหลินกลายเป็นร้านขายยาที่โด่งดังเป็นตำนานเช่นเดียวกับชื่อเสียงของ หวง เฟย์หง (บริเวณที่ตั้งของร้านเป่าจือหลิน สันนิษฐานว่าอยู่ที่ตรอกหยั่นออน ถนนสายที่ 13 เขตกวางเจาตะวันตกในปัจจุบัน) ด้วยเหตุที่ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับผู้ยากไร้ บ่อยครั้งยังเป็นการเยียวยาพยาบาลโดยไม่คิดเงิน วิชาแพทย์ของหวง เฟย์หง ได้รับการยกย่องไม่น้อยหน้าวิชาการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกระดูก ตำรับยาเฉพาะประจำตระกูล หรือการรักษาโดยวิธีการฝังเข็ม

ในปี ค.ศ. 1888 นายพล หลิว หยงฟู่ (เหลา หวิงฟก, 劉永福) ผู้บัญชาการกองธงดำประสบอุบัติเหตุขาหัก และได้รับการรักษาโดย หวง เฟย์หง จนกระทั่งหายดี นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างทั้งสอง หลิว หยงฟู่ ชักชวน หวง เฟย์หง ให้เป็นหมอประจำกองทัพ และต่อมาทั้งคู่ก็ได้เข้าร่วมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานไต้หวัน

หวง เฟย์หง ผ่านการแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง มีลูกทั้งหมด 10 คน ภรรยาสามคนแรกล้วนเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้เขานึกโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุแห่งเคราะห์ร้ายแก่คนที่ตนรัก และตัดสินใจว่าจะไม่ยอมแต่งงานอีก แต่แล้วในปี ค.ศ. 1903 เขาได้พบกับหญิงสาววัย 16 ปีชื่อ "มอก ไกวหลาน" (ม่อกุ้ยหลาน, 莫桂蘭) และตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การแต่งงานในที่สุด

บั้นปลายชีวิต

หลิน ซื่อหรง (หลำ ไซหวิ่ง) ลูกศิษย์ผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วีรกรรมของหวง เฟย์หง

เดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1924 (บางข้อมูลระบุว่าเป็นวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1924) เกิดเหตุจลาจลในย่านการค้าของกวางเจา ห้างร้านจำนวนมากถูกทำลายเสียหายยับเยิน รวมทั้งร้านเป่าจือหลินของ หวง เฟย์หง ที่ถูกเผาจนราบคาบ ถัดจากนั้นไม่นาน หว่อง ฮอนซัม (หวง หันเซิน; Huáng Hànsēn, 黃漢森) บุตรชายคนโตของหวง เฟย์หง ก็เสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาทกับ แก๊งค้ายาเสพติด (ข้อมูลบางแหล่งแย้งต่างกันมาก แต่ที่น่าจะถูกต้องที่สุดคือ เหตุดังกล่าวเกิดในปี ค.ศ. 1890) การสูญเสียบุตรชาย ทำให้หวง เฟย์หง ประกาศไม่ถ่ายทอดวิชาฝีมือให้แก่ลูกหลานของตน จะสอนเฉพาะกับลูกศิษย์เท่านั้น

หวง เฟย์หง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1924 สิริอายุได้ 76 ปี หลังจากนั้น มอก ไกวหลานพร้อมด้วยลูกศิษย์ 2 คนของหวง เฟย์หง คือ หลิน ซื่อหรง (หลำ ไซหวิ่ง) และ ตั่ง เซาขิ่ง (Deng Shiqiong, 鄧世瓊;) ก็ได้พากันอพยพไปยังฮ่องกง

ตลอดชีวิตหวง เฟย์หงมีลูกศิษย์ทั้งหมด 18 คน (ตั่ง เซาขิ่งเป็นคนเดียวที่เป็นผู้หญิง) ว่ากันว่าคนที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาในทุก ๆ ด้าน (ทั้งวิชากำลังภายใน, วิชาแพทย์ และการเชิดสิงโต) คือ เหลิง ฟุน (เหลียง ควน; Liáng Kuān, 梁寬) แต่โชคร้ายที่ศิษย์เอกรายนี้ เสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้น ๆ

ในบรรดาศิษย์ทั้งหมดของหวง เฟย์หง คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากสุดคือ หลิน ซื่อหรง (Lam Sai-wing; Lín Shìróng; 林世榮) ซึ่งต่อมาได้เปิดสำนักขึ้นที่ฮ่องกง และเขียนตำราหมัดมวยที่สำคัญเอาไว้หลายต่อหลายเล่ม รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทในการถ่ายทอดเผยแพร่วีรกรรมของอาจารย์

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

พิพิธภัณฑ์หวง เฟย์หง ในเมืองฝัวชาน ซึ่งคือบ้านของเขาเอง ในปัจจุบัน

หลังจากหวง เฟย์หงเสียชีวิต เรื่องราวของเขาก็ได้รับการนำมาถ่ายทอดเป็นนวนิยาย ตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ และเป็นที่นิยมในวงกว้าง มีการแต่งเติมสีสันเพิ่มจินตนาการต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งเรื่องราวของหวง เฟย์หงกลายเป็นตำนานพิสดารในวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างในปัจจุบัน จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของ หวง เฟย์หง ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์มาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างในภาพยนตร์ชุด Once Upon a Time in China ที่มีอยู่ด้วยถึง 6 ภาค ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991-ค.ศ. 1997 ซึ่งนักแสดงผู้รับบท หวง เฟย์หง คือ หลี่ เหลียนเจี๋ย และ จ้าว เหวินจั๋ว นักแสดงผู้รับบท หวง เฟย์หง ในภาคที่ 4 และภาคที่ 5 และในแบบซีรีส์

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение