Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (อังกฤษ: Air defense identification zone: ADIZ) คือพื้นที่ทางอากาศเหนือเขตแดนทางบกและทางทะเลรวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล หรือพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ถูกกำหนดขึ้นมาโดยละประเทศ เพื่อสังเกตเห็นและเฝ้าระวังอากาศยาน รวมถึงเข้าควบคุมอากาศยานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ
หลายครั้งเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศถูกขยายออกไปนอกเส้นเขตแดนของประเทศซึ่งแม้ในหลักการยังถือว่าพื้นที่นั้นเป็นน่านฟ้าสากลอยู่ ซึ่งเส้นแนวเขตดังกล่าว ไม่ได้มีกฎหมายหรือระเบียบระหว่างประเทศใด ๆ ให้การรับรองแต่อย่างใด แต่มักจะมีระบุในเอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publications: AIP) ของแต่ละประเทศ
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามเย็น กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดหรืออาวุธนิวเคลียร์ โดยสหรัฐอเมริกาประกาศใช้หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติระหว่างสงครามเกาหลี
เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศมักจะถูกสับสนกับอาณาเขตแถลงข่าวการบิน (Flight information region: FIR) ซึ่งใช้สำหรับการจัดการจราจรทางอากาศในการบินพาณิชย์โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ระยะขอบเขต
ระยะขอบเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศนั้นในแต่ละประเทศจะถูกกำหนดแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่และผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายครั้งมีการประกาศทับซ้อนกันระหว่างประเทศ
เอเชียตะวันออก
ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นมีเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ ถูกกำหนดโดยกองกำลังสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรมแดนของเขตด้านตะวันตกสิ้นสุดที่ 123° องศาตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะโยะนะกุนิเท่านั้น และทางฝั่งตะวันตกครึ่งหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน
ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ญี่ปุ่นได้ประกาศขยายเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศออกไปโดยรอบเกาะโยะนะกุนิออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร เพื่อสอดคล้องกับน่านน้ำอาณาเขตของตน จนเกิดการทับซ้อนกับเขตของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองประเทศได้พูดคุยถึงแนวปฏิบัติบริเวณดังกล่าวร่วมกันเรียบร้อยแล้ว
ในขณะเดียวตามรายงานของไชนาเน็ทเวิร์กเทเลวิชั่นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ประเทศจีนและรัสเซียประกาศว่าไม่ยอมรับเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่น
ไต้หวัน
ไต้หวันมีเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ช่องแคบไต้หวันเกือบทั้งหมด ครอบคลุมไปถึงส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง และเจียงซีของจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนหนึ่งของทะเลจีนตะวันออก
น่านฟ้าของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไต้หวันถูกออกแบบโดยกองทัพสหรัฐเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นข้อมูลฐานของอาณาเขตแถลงข่าวการบินไทเปอีกด้วย
ถึงแม้การประกาศเขตจะครอบคลุมไปยังพื้นที่แผ่นดินของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เที่ยวบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจะไม่ถูกรายงานว่าเป็นภัยคุกคาม จนกว่าจะมาถึงเส้นคั่นกลางระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันบริเวณช่องแคบไต้หวัน โดยงบประมาณประมาณ 9 เปอร์เซ็นในการป้องกันประเทศของไต้หวันถูกใช้เพื่อตอบโต้สกัดกั้นการก่อกวนของประเทศจีน บริเวณพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ที่ล้ำเส้นคั่นกลางช่องแคบไต้หวัน คือช่องแคบ Bashi ระหว่างไต้หวันและฟิลิปปินส์
เกาหลีใต้
ประเทศเกาหลีใต้มีพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกือบครอบคลุมน่านฟ้าทั้งหมด ยกเว้นบางพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งก่อตั้งโดยกองทัพอากาศสหรัฐในระหว่างสงครามเกาหลีเมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อใช้สำหรับสกัดกั้นกองกำลังของลัทธิคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น
ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อตอบโต้การประกาศเขตที่ครอบคลุมพื้นที่พิพาทโดยประเทศจีน เกาหลีใต้ประกาศขยายเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะมาราโดและฮองโด และไอโอโด (Socotra Rock) ซึ่งเป็นกลุ่มหินใต้น้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งมีเนื้อที่ทับซ้อนกันกับประเทศจีน
แนวปฏิบัติเมื่ออากาศยานมีเส้นทางบินเข้าสู่หรือตัดผ่านพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกาหลี (KADIZ) จะต้องส่งแผนการบินล่วงหน้า 1 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สำหรับเครื่องบินพลเรือนที่มีเส้นทางการปินปกติจะต้องยื่นแผนการบินไปยังศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศทุก ๆ ครั้ง ซึ่งหากทำตามแผนการบินที่ได้ยื่นไว้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงแผนหรือเส้นทางการบินอย่างกระทันหัน กองทัพอากาศเกาหลีใต้จะนำเครื่องบินขึ้นเพื่อติดตามและพร้อมที่จะสกัดกั้น
หลังจากการปรับปรุงเขตระหว่างจีนและเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2556 ความตรึงเครียดบริเวณพื้นทีทับซ้อนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่ออาณาเขตแถลงข่าวการบินของทั้งสามชาติที่อยู่บริเวณนั้นทับซ้อนกัน คือเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยเครื่องบินรบจีนได้ล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเกาหลี (KADIZ) ถึง 5 ครั้งในปี พ.ศ. 2561
จีน
ประเทศจีนมีพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศหลักอยู่เหนื่อแผ่นดินจีน ซึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จีนได้ประกาศจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรก เป็นการประกาศเขตในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาในการประกาศเขตขณะนั้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ครอบคลุมหมู่เกาะเซ็งกากุที่อยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น และไอโอโด (Socotra Rock) ซึ่งเป็นกลุ่มหินใต้น้ำที่พิพาทกับเกาหลีใต้ รูปแบบที่สอง คือเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของจีนที่ทับซ้อนกับเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศประเทศเพื่อนบ้าน โดยบังคับใช้พื้นที่ดังกล่าวกับทั้งอากาศยานพลเรือนและอากาศยานทางทหารที่บินผ่านเข้าไป โดยไม่คำนึงถึงปลายทางของอากาศยานนั้น
ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธรายงานที่ระบุว่ากำลังพิจารณาเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ที่คล้ายคลึงกันในทะเลจีนใต้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนนั้นไม่ใช่ภัยคุกคามของตน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไทย
ประเทศไทยกำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (Thailand Air Defense Identification Zone: TADIZ) ในบริเวณเหนือพื้นดินและผืนน้ำของประเทศไทย โดยกองทัพอากาศได้กำหนดเขตออกเป็น 2 ชั้น ประกอบไปด้วย
-
เขตพิสูจน์ฝ่ายเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศล่วงหน้า (Thailand Air Defense Identification Buffer Zone: TAD-BUZ) กำหนดระยะ 100 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ เป็น 2 ชั้นคือ
- เขตนอก (Twilight Zone: TIZ) คือระยะตั้งแต่ 50-100 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ
- เขตใน (Midnight Zone: MIZ) คือระยะตั้งแต่ 0-50 ไมล์ทะเลจากเขต TADIZ
- เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (Thailand Air Defense Identification Zone: TADIZ) กำหนดเป็นเส้นเหนือเขตแดนประเทศไทยบนพื้นดิน รวมไปถึงบนผืนน้ำลากคลุมพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ
สำหรับเครื่องบินที่จะเข้ามาในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (TADIZ) หากอากาศยานอยู่ภายในพื้นที่จะต้องยื่นแผนการบิน IFR หรือ VFR ต่อศูนย์ควบคุมการบินในสนามบินนั้น ๆ เพื่อดำเนินการส่งต่อมายังศูนย์ควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร (VTBBZRZX) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อากาศยานที่เดินทางจากภายนอกเขต TADIZ จะต้องยื่นรายงานต่อผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศอย่างน้อย 10 นาที หากไม่สามารถติดต่อหอควบคุมการบินได้อาจจะติดต่อกับสถานีควบคุมการสกัดกั้นภาคพื้นในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับการปฏิบัติเมื่อมีอากาศยานไม่สามารถระบุตัวตนเข้ามาในระยะของเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศไทย (TADIZ) หรืออากาศยานปฏิบัตินอกแผนการบิน ออกนอกเส้นทางการบิน หรือเบี่ยงออกจากเส้นทาง 10 ไมล์ทะเลเหนือพื้นดิน 20 ไมล์ทะเลเหนือพื้นน้ำจากเส้นทางที่กำหนดให้ กองทัพอากาศไทยจะดำเนินการส่งอากาศยานขึ้นบินเพื่อสกัดกั้น และพิจารณาการใช้อาวุธได้หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเจ้าของเครื่องบินจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภารกิจสกัดกั้น
ในกรณีอากาศยานจากภายนอกเขต หากอากาศยานนั้นบินเข้ามาในระยะเขตนอก (Twilight Zone) อากาศยานนั้นจะถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ทราบฝ่าย และหากเข้ามาในระยะเขตใน (Midnight Zone) และยังพิสูจน์ทราบไม่ได้จะดำเนินการสั่งการให้อากาศยานขึ้นติดต่อสื่อสารด้วยสายตา เพื่อแสดงตัวตน และดำเนินการผลักดันหรือดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป
เอเชียใต้
บังคลาเทศ
ประเทศบังคลาเทศมีการประกาศเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเหนือจากพรมแดนออกไปทางทะเลตามพิกัดต่อไปนี้
- 21°07′44.80″N 89°13′56.50″E / 21.1291111°N 89.2323611°E / 21.1291111; 89.2323611
- 18°15′54.12″N 89°21′47.56″E / 18.2650333°N 89.3632111°E / 18.2650333; 89.3632111
- 16°43′28.74″N 89°25′54.37″E / 16.7246500°N 89.4317694°E / 16.7246500; 89.4317694
- 20°13′06.30″N 92°00′07.60″E / 20.2184167°N 92.0021111°E / 20.2184167; 92.0021111
- 20°03′32.00″N 91°50′31.80″E / 20.0588889°N 91.8421667°E / 20.0588889; 91.8421667
- 17°52′34.06″N 90°15′04.66″E / 17.8761278°N 90.2512944°E / 17.8761278; 90.2512944
ทุกเที่ยวบินของอากาศยาน ทั้งอากาศยานพลเรือน อากาศยานทหาร ทั้งของบังคลาเทศเองและต่างชาติที่มีต้นทางภายในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ และเที่ยวบินที่จะเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ จะต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้าและผ่านกระบวนการ Air Defense Clearance (ADC)
หากอากาศยานที่ล่วงล้ำเข้ามาและไม่ผ่านขั้นตอนการยืนยันตัวตนหรือกระบวนการ Air Defense Clearance (ADC) จะถูกกองทัพอากาศบังคลาเทศบินขึ้นสกัดกั้น
อินเดีย
ประเทศอินเดียกำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โดยอากาศยานที่จะบินผ่านเข้ามาจะต้องแจ้งล่วงหน้า 10 นาทีก่อนเข้าเขต โดยแบ่งเป็น 6 เขต เหนือเขตแดนประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบไปด้วย
- เหนือพรมแดนปากีสถาน
- เหนือพรมแดนเนปาล
- เหนือพรมแดนจีน
- เหนือพรมแดนด้านตะวันออกที่ติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน พม่า
- เหนือทะเลทางตอนใต้ของประเทศ
- เหนือทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
การบังคับใช้เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของประเทศอินเดียนั้นเป็นหน้าที่ของกองทัพอากาศอินเดีย โดยตรวจสอบผ่านระบบเรดาร์ และดำเนินการด้วยอากาศยานหรือจรวดพื้นสู่อากาศในพื้นที่ดูแลเฉพาะของกองทัพบกและกองทัพเรืออินเดีย สำหรับการสกัดกั้นตามสถานการณ์
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การบินพลเรือนจะช่วยยืนยันหมายเลข Air Defense Clearance (ADC) ให้กับอากาศยานที่บินเข้ามาในพื้นที่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศเพื่อจัดการจราจรทางอากาศในกรณีที่มีความจำเป็น
อเมริกาเหนือ
สหรัฐและแคนาดา
ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้กำหนดเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศร่วมกันในภาคพื้นทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐดูแล 2 เขตในอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐ และเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศบริเวณรัฐอลาสก้า และอีก 2 เขต นอกทวีปอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศฮาวาย และเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศกวม
ในขณะที่แคนาดาดูแลอีก 2 เขตในทวีปอเมริกาเหนือ คือ เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศนอกชายฝั่งทะเลแปซิฟิกเหนือชายฝั่งบริติชโคลัมเบีย และอีกส่วนครอบคลุมหมู่เกาะอาร์กติกของแคนาดาและเมืองในมหาสมุทรแอตแลนติก
ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ พื้นที่ดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ที่ต้องการเข้าสู่น่านฟ้าสหรัฐเท่านั้น สำหรับการบัญชาการและควบคุมการป้องกันภัยทางอากาศนั้นถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยแบ่งเขตเป็น 5 เขตในทวีปอเมริกาเหนือ หากการตรวจสอบทางวิทยุสื่อสารไม่สามารถทำได้จะส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐขึ้นตรวจสอบผู้บุกรุกด้วยสายตา