Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เซลล์ (ชีววิทยา)

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ระวังสับสนกับ ชีววิทยาเซลล์
เซลล์
Wilson1900Fig2.jpg
เซลล์ของรากหัวหอม (Allium cepa) ที่อยู่ในระยะต่าง ๆ ของการแบ่งเซลล์ (ภาพโดย E. B. Wilson, 1900)
Celltypes.svg
เซลล์ยูแคริโอต (ซ้าย) และเซลล์โพรแคริโอต (ขวา)
ตัวระบุ
MeSH D002477
TH H1.00.01.0.00001
FMA 686465
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

เซลล์ (อังกฤษ: cell จากภาษาละติน cella แปลว่าห้องเล็ก ๆ) เป็นโครงสร้างและหน่วยการทำงานพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ทราบกัน เซลล์เป็นหน่วยย่อยที่สุดที่จะเรียกว่า "ชีวิต" ได้ ในบางครั้งอาจเรียกว่า"หน่วยโครงสร้างของชีวิต" (the building block of life) การศึกษาเกี่ยวกับเซลล์เรียกว่าชีววิทยาของเซลล์ (cell biology), ชีววิทยาระดับเซลล์, หรือเซลล์วิทยา (cytology)

เซลล์ประกอบจากไซโทพลาซึมที่มีเยื่อหุ้มล้อมรอบ ภายในไซโทพลาซึมบรรจุสารชีวโมเลกุลเช่น โปรตีนและกรดนิวคลิอิก เซลล์ของพืชและสัตว์ส่วนใหญ่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงที่มีมิติ (dimension) ระหว่าง 1 ถึง 100  ไมโครเมตรกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนให้ความคมชัดและรายละเอียดที่มากกว่า สิ่งมีชีวิตถูกจำแนกออกเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (unicellular; เช่นแบคทีเรีย) และหลายเซลล์ (multicellular; เช่น พืชและสัตว์) โดยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวส่วนมากจัดเป็นจุลชีพ (microorganism)

จำนวนของเซลล์ในพืชและสัตว์แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสปีชีส์ มีการประมาณว่าร่างกายของมนุษย์มีจำนวนเซลล์ที่ 40 ล้านล้าน (4×1013) เซลล์ สำหรับเซลล์ในสมองอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านเซลล์

รอเบิร์ต ฮุก (Robert Hooke) เซลล์ค้นพบใน ค.ศ. 1665 โดยตั้งชื่อว่า cell เนื่องจากเขาเปรียบเซลล์ของไม้ก๊อกที่เห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับห้องที่นักบวชในศาสนาคริสต์ใช้อาศัยภายในอาราม ใน ค.ศ. 1839 มัตทิอัส ยาคอบ ชไลเดน (Matthias Jakob Schleiden) และทีโอดอร์ ชวานน์ (Theodor Schwann) พัฒนาทฤษฎีเซลล์ที่กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนประกอบขึ้นจากหนึ่งเซลล์หรือมากกว่าหนึ่ง เซลล์เป็นโครงสร้างและหน่วยการทำงานที่เป็นขั้นมูลฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และเซลล์ทั้งหมดกำเนิดมาจากเซลล์ที่มีอยู่ก่อน (preexisting cell) เซลล์ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 3.5 พันล้านปีก่อน

ประเภทของเซลล์

เซลล์มีสองประเภทคือ ยูแคริโอตที่มีนิวเคลียส และโพรแคริโอตที่ไม่มีนิวเคลียส โดยโพรแคริโอตจะพบเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเท่านั้น ในขณะที่ยูแคริโอตสามารถพบได้ทั้งสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์เดียวและหลายเซลล์

เซลล์โพรแคริโอต

ดูบทความหลักที่: โพรแคริโอต
โครงสร้างทั่วไปของเซลล์โพรแคริโอต

โพรแคริโอตประกอบด้วยแบคทีเรียและอาร์เคีย ซึ่งเป็นสองจากสามโดเมนของสิ่งมีชีวิต เซลล์โพรแคริโอตเป็นรูปแบบแรกของชีวิตบนโลก ซึ่งถูกกำหนดลักษณะด้วยการมีกระบวนการทางชีววิทยาที่จำเป็น อันรวมไปถึงการสื่อสารระหว่างเซลล์ เซลล์ประเภทนี้มีความซับซ้อนน้อยและขนาดที่เล็กกว่าเซลล์ยูแคริโอต และไม่มีนิวเคลียสกับออร์แกเนลล์ที่มีเยื่อหุ้ม ดีเอ็นเอของเซลล์โพรแคริโอตประกอบด้วยโครโมโซมแบบวงกลมเพียงหนึ่งวงที่สัมผัสกับไซโทพลาซึมโดยตรง บริเวณของไซโทพลาซึมที่มีสารพันธุกรรมเรียกว่า นิวคลีออยด์ (nucleoid) โพรแคริโอตเกือบทุกชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5 ถึง 2.0 μm

เซลล์โพรแคริโอตมีสามบริเวณ คือ

  • ส่วนห่อหุ้มเซลล์ – โดยทั่วไปประกอบขึ้นจากเยื่อหุ้มเซลล์ที่หุ้มด้วยผนังเซลล์อีกชั้นหนึ่ง ในแบคทีเรียบางชนิดอาจพบชั้นห่อหุ้มเซลล์ชั้นที่สามเรียกว่า แคปซูล (capsule) แม้วว่าโพรแคริโอตส่วนใหญ่จะมีชั้นของเยื่อหุ้มเซลล์และผนังเซลล์ แต่ก็มียกเว้นเช่น Mycoplasma (แบคทีเรีย) และ Thermoplasma (อาร์เคีย) ที่มีเพียงชั้นเยื่อหุ้มเซลล์เท่านั้น ส่วนห่อหุ้มเซลล์ให้แข็งแรงแก่เซลล์และแยกภายในของเซลล์ออกจากสิ่งแวดล้อม โดยเป็นตัวกรองที่ทำหน้าที่ป้องกันได้ด้วย (protective filter) ในแบคทีเรีย ผนังเซลล์ประกอบขึ้นจากเพปทิโดไกลแคน (peptidoglycan) ทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมเพื่อป้องกันแรงภายนอก และยังช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ขยายตัวและระเบิดออก (cytolysis) เนื่องจากแรงดันออสโมติกในสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าในเซลล์ (hypotonic solution) เซลล์ยูแคริโอตบางชนิด (เช่นเซลล์พืชและเซลล์เห็ดรา) สามารถพบผนังเซลล์ได้เช่นกัน
  • บริเวณของไซโทพลาซึมที่บรรจุจีโนม (ดีเอ็นเอ), ไรโบโซม, และอินคลูชันหลายชนิดไว้ สารพันธุกรรมสามารถพบได้เป็นอิสระในไซโทพลาซึม โพรแคริโอตมีสารพันธุกรรมที่อยู่นอกโครโมโซม (extrachromosomal DNA) ที่เรียกว่าพลาสมิด (plasmid) ซึ่งโดยปกติอยู่ในรูปวงกลม สำหรับพลาสมิดแบบเส้นมีการระบุในแบคทีเรียชั้นสไปโรคีทบางสปีชีส์ ทั้งในสกุล Borrelia ซึ่งเป็นที่ทราบกันเช่น Borrelia burgdorferi ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลายม์ (Lyme disease) ดีเอ็นเอขดตัวอยู่ที่บริเวณนิวคลีออยด์แม้ว่านิวเคลียสจะไม่ก่อตัว พลาสมิดเข้ารหัสสำหรับยีนส่วนเสริมเช่น ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ
  • ด้านนอกของเซลล์พบแฟลเจลลาและพิลัสยื่นออกมาจากผิวเซลล์ ซึงเป็นโครงสร้างที่ประกอบจากโปรตีนที่ช่วยให้เซลล์สามารถเคลื่อนไหวและสื่อสารกับเซลล์อื่นได้
โครงสร้างโดยทั่วไปของเซลล์สัตว์
โครงสร้างโดยทั่วไปของเซลล์พืช

เซลล์ยูแคริโอต

ดูบทความหลักที่: ยูแคริโอต

พืช, สัตว์, เห็ดรา, ราเมือก, โพรโทซัว, และสาหร่าย ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตยูแคริโอต เซลล์ประเภทนี้มีความกว้างมากกว่าเซลล์โพรแครโอตทั่วไปประมาณ 15 เท่า และอาจมีปริมาตรที่มากกว่าถึง 1000 เท่า คุณลักษณะสำคัญที่ใช้แยกเซลล์ยูแคริโอตออกจากเซลล์โพรแคริโอตคือ การจัดส่วนการทำงานภายในเซลล์ (compartmentalisation) ด้วยการมีออร์แกเนลล์ที่มีเยื่อหุ้ม (ส่วนการทำงาน) ที่ซึ่งเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเซลล์ โดยออร์แกเนลล์ที่สำคัญที่สุดคือนิวเคลียส อันบรรจุดีเอ็นเอของเซลล์ไว้ นิวเคลียสยังเป็นที่มาของของชื่อ ยูแคริโอต ที่แปลว่า แก่นแท้จริง (true kernel) และยังมีความแตกต่างอื่น ๆ เช่น

  • เยื่อหุ้มเซลล์ที่คล้ายคลึงกับของโพรแคริโอตในด้านของหน้าที่และการทำงาน โดยมีความแตกต่างเล็กน้อยในกระบวนการก่อรูป อาจพบผนังเซลล์หรือไม่ก็ได้
  • ดีเอ็นเอของยูแคริโอตจัดตัวร่วมกับโปรตีนฮิสโตนอยู่ในโมเลกุลเดียวหรือมากกว่า เรียกว่าโครโมโซม (chromosome) ดีเอ็นทั้งหมดที่อยู่ในโครโมโซมถูกเก็บไว้ในนิวเคลียสแยกต่างหากจากไซโทพลาซึมด้วยเยื่อหุ้ม ออร์แกเนลล์บางชนิดของยูแคริโอตเช่น ไมโทคอนเดรีย สามารถมีดีเอ็นเอของตัวเองได้
  • เซลล์ยูแคริโอตหลายชนิดเป็นพวกซิลิเอต (cilate) ที่มีซิเลียปฐมภูมิสำหรับทำหน้าที่รับรู้สิ่งเร้าในเชิงเคมี, เชิงกล, และเชิงอุณหภูมิ ซิเลียมแต่ละเส้นอาจถูกพิจารณา ได้ว่าเป็นหนวดรับความรู้สึกระดับเซลล์ที่ทำหน้าที่ประสานวิถีการสื่อสัญญาณระดับเซลล์ ในบางครั้งอาจควบสัญญาณเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวของซิเลียเองหรือนำไปสู่กระบวนการแบ่งเซลล์หรือกระบวนการพัฒนาไปทำหน้าที่เฉพาะ (cell differentiation)
  • เซลล์ยูแคริโอตที่เคลื่อนที่ได้จะใช้ซิเลียและแฟลเจลลา ในพืชตระกูลสนและพืชดอกไม่พบเซลล์ที่เคลื่อนที่ได้ และแฟลเจลลาของยูแคริโอตมีความซับซ้อนมากกว่าของในโพรแคริโอต
การเปรียบเทียบคุณลักษณะระหว่างเซลล์โพรแคริโอตและยูแคริโอต
โพรแคริโอต ยูแคริโอต
Typical organisms แบคทีเรีย, อาร์เคีย โพรทิสต์, เห็ดรา, พืช, สัตว์
ขนาดโดยทั่วไป ~ 1–5 μm ~ 10–100 μm
ประเภทของนิวเคลียส นิวคลีออยด์; ไม่มีนิวเคลียสแท้จริง นิวเคลียสแท้จริงที่มีเยื่อหุ้มสองชั้น
ดีเอ็นเอ แบบวงแหวน (โดยปกติ) แบบเส้น (โครโมโซม) พร้อมกับมีโปรตีนฮิสโตน
อาร์เอ็นเอ/การสังเคราะห์โปรตีน เกิดขึ้นควบคู่กันในไซโทพลาซึม การสังเคราะห์อาร์เอ็นเอเกิดขึ้นในนิวเคลียส
การสังเคราะห์โปรตีนเกิดขึ้นในไซโทพลาซึม
ไรโบโซม 50S และ 30S 60S และ 40S
โครงสร้างภายในไซโตพลาสซึม มีโครงสร้างน้อยมาก มีความซับซ้อนสูงจากการที่มีเอนโดเมมเบรนและไซโทสเกเลตัน
การเคลื่อนไหวของเซลล์ แฟลกเจลลาที่สร้างด้วยแฟลเจลลิน แฟลกเจลลาและซิเลียที่มีไมโครทิวบูล; ลาเมลลิโพเดียและฟิโลโพเดียที่มีแอกติน
ไมโทคอนเดรีย ไม่มี ตั้งแต่หนึ่งจนถึงหลายพัน
คลอโรพลาสต์ ไม่มี ในสาหร่ายและพืช
การจัดระเบียบ ปกติเป็นเซลล์เดี่ยว เซลล์เดี่ยว, โคโลนี, สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ชั้นสูงจะมีเซลล์หลายชนิดที่มีหน้าที่เฉพาะมากมาย
การแบ่งเซลล์ การแบ่งตัวออกเป็นสอง (การแบ่งเซลล์อย่างง่าย) ไมโทซิส (แบ่งออกเป็นสองหรือแตกหน่อ)
ไมโอซิส
โครโมโซม โครโมโซมหนึ่งอัน มีโครโมโซมมากกว่าหนึ่งอัน
เยื่อหุ้ม เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์และเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์

องค์ประกอบในระดับเล็กกว่าเซลล์

เซลล์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นโพรแคริโอตหรือยูแคริโอต ล้วนมีเยื่อหุ้มล้อมรอบเซลล์ เพื่อควบคุมการผ่านเข้าออกของสาร (เยื่อเลือกผ่าน), และรักษาศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ ด้านในของเยื่อหุ้ม ไซโทพลาซึมกินปริมาตรเกือบทั้งหมดของเซลล์ เซลล์ทุกชนิด (ยกเว้นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่มีนิวเคลียสและออร์แกเนลล์เกือบทุกชนิด เพื่อเอื้อให้มีพื้นที่สูงสุดสำหรับรองรับฮีโมโกลบิน) มีดีเอ็นเอที่เป็นสารที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมของยีน, และอาร์เอ็นเอมที่บรรจุข้อมูลที่จำเป็นสำหรับโปรตีนหลายชนิดเช่น เอนไซม์ (หน่วยปฏิบัติงานที่สำคัญของเซลล์) และยังมีชีวโมเลกุลอีกหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึงองค์ประกอบของเซลล์ที่สำคัญเท่านั้น

เยื่อหุ้ม

ดูบทความหลักที่: เยื่อหุ้มเซลล์
แผนภาพโดยละเอียดของเยื่อหุ้มเซลล์

เยื่อหุ้มเซลล์ หรือพลาสมาเมมเบรน เป็นเยื่อชีวภาพที่ล้อมรอบไซโทพลาซึม สำหรับในสัตว์ เยื่อหุ้มเป็นขอบเขตนอกสุดของเซลล์ ในขณะที่พืชและโพรแคริโอตมักหุ้มด้วยผนังเซลล์ เยื่อหุ้มทำหน้าที่แยกและปกป้องเซลล์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยประกอบจากชั้นคู่ของฟอสโฟลิพิดที่มีสมบัติเป็นแอมฟิฟิลิก (มีทั้งส่วนที่เป็นไฮโดรโฟบิกและไฮโดรฟิลิก) ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่าฟอสโฟลิพิดไบแลร์ (phospholipid bilayer) หรืออาจเรียกว่าฟลูอิดโมเซอิคเมมเบรน (fluid mosaic membrane) มีโครงสร้างระดับมหโมเลกุลที่เรียกว่าพอโรโซม (porosome) เป็นทางผ่านเอนกประสงค์สำหรับการหลั่งสารของเซลล์ และมีโมเลกุลของโปรตีนจำนวนมากทำหน้าที่เป็นทั้งช่องทางผ่านและปั๊มสำหรับเคลื่อนสารเข้าและออกจากเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ยอมให้สารบางอย่างผ่าน โดยให้สสาร (เช่นโมเลกุลหรือไอออน) ผ่านได้อย่างอิสระ, ผ่านได้ในจำนวนที่จำกัด, หรือผ่านไม่ได้เลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ผิวนอกของเยื่อหุ้มเซลล์ยังมีโปรตีนตัวรับ (receptor protein) ที่ทำให้เซลล์สามารถตรวจจับโมเลกุลสื่อสัญญาณเช่น ฮอร์โมน

ไซโทสเกเลตัน

ดูบทความหลักที่: ไซโทสเกเลตัน
ภาพฟลูออเรสเซนต์ของเอนโดธีเลียม นิวเคลียส, ไมโทคอนเดรีย, และไมโครฟิลาเมนต์ติดสีน้ำเงิน, แดง, และเขียว ตามลำดับ

ไซโทสเกเลตันทำหน้าที่จัดและรักษารูปร่างของเซลล์; ยึดออร์แกเนลล์ให้อยู่กับที่, ช่วยให้เกิดกระบวนการเอนโดไซโทซิสที่ทำให้เซลล์สามารถรับสารเข้ามาได้, และกระบวนการไซโทไคนีซิสซึ่งเป็นกระบวนการแยกเซลล์ลูกหลังจากการแบ่งเซลล์; และเคลื่อนส่วนของเซลล์ในระหว่างการเจริญเติบโตและการเคลื่อนที่ ไซโทสเกเลตันของยูแคริโอตประกอบด้วยไมโครฟิลาเมนต์, อินเทอร์มีเดียทฟิลาเมนต์, และไมโครทิวบูล อินเทอร์มีเดียตฟิลาเมนต์ของเซลล์ประสาทเรียกว่านิวโรฟิลาเมนต์ (neurofilament) โดยมีโปรตีนเข้ามาช่วยการทำงานทั้งการกำกับ, รวมกลุ่ม, และจัดเรียง ไซโทสเกเลตันในโพรแคริโอตยังไม่มีการศึกษาอย่างกระจ่างนัก แต่มีความเกี่ยวข้องกับรูปร่าง, ขั้วเซลล์ (polarity), และการแบ่งเซลล์ (cytokinesis) โปรตีนที่เป็นหน่วยย่อยของไมโครฟิลาเมนต์มีขนาดเล็กและเป็นโมโนเมอริกโปรตีน (monomeric protein) เรียกว่าแอกติน โปรตีนที่เป็นหน่วยย่อยของไมโครทิวบูลเป็นโมเลกุลไดเมอร์ (dimeric protein) ที่เรียกว่าทูบิวลิน สำหรับอินเทอร์มีเดียตฟิลาเมนต์เป็นเฮเทอโรโพลีเมอร์ (heteropolymer) ซึ่งมีหน่วยย่อยต่างกันไปตามชนิดของเซลล์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ โปรตีนหน่วยย่อยของอินเทอร์มีเดียทฟิลาเมนต์มีได้ตั้งแต่ไวเมนทิน, เดสมิน, ลามิน (ลามินเอ, บี, และซี), เคอราทิน (ทั้งที่มีสมบัติเป็นกรดและเบสหลายชนิด), โปรตีนนิวโรฟิลาเมนต์ (NF–L, NF–M)

สารพันธุกรรม

ดูบทความหลักที่: ดีเอ็นเอ และ อาร์เอ็นเอ

สารพันธุกรรมมีอยู่สองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ กรดดีออกซีไรโบนิวคลิอิก (ดีเอ็นเอ) และกรดไรโบนิวคลิอิก (อาร์เอ็นเอ) เซลล์ใช้ดีเอ็นเอเป็นแหล่งเก็บข้อมูลทางชีวภาพในระยะยาว โดยข้อมูลจะถูกเข้ารหัสอยู่ในลำดับของดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอใช้สำหรับขนส่งข้อมูล (เช่นเอ็มอาร์เอ็นเอ) และทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ (เช่นไรโบโซมัลอาร์เอ็นเอ) สำหรับทรานส์เฟอร์อาร์เอ็นเอมีหน้าที่เพิ่มกรดอะมิโนระหว่างกระบวนการแปลรหัสโปรตีน

สารพันธุกรรมของโพรแคริโอตจัดตัวเป็นวงกลมอยู่ในบริเวณนิวคลีออยด์ของไซโทพลาซึม และสารพันธุกรรมของยูแคริโอตจัดตัวเป็นเส้นที่แตกต่างกัน เรียกว่าโครโมโซม อยู่ภายในนิวเคลียส โดยอาจพบสารพันธุกรรมอยู่ภายในออร์แกเนลล์เช่นไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์ (ดู − ทฤษฎีเอนโดซิมไบโอติก)

เซลล์ของมนุษย์มีสารพันธุกรรมที่ถุกบรรจุอยู่ในนิวเคลียส (nuclear genome) และในไมโทคอนเดรีย (mitocondrial genome) ในมนุษย์ จีโนมในนิวเคลียสถูกแบ่งออกเป็นโมเลกุลดีเอ็นเอ 46 เส้นที่เรียกว่าโครโมโซม อันประกอบด้วยโฮโมโลกัสโครโมโซม 22 คู่ และโครโมโซมเพศหนึ่งคู่ จีโนมของไมโทคอนเดรียเป็นโมเลกุลดีเอ็นเอแบบวงกลมซึ่งต่างจากดีเอ็นเอในนิวเคลียส แม้ว่าดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโครโมโซมในนิวเคลียส แต่ก็เก็บรหัสสำหรับโปรตีน 13 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานของไมโทคอนเดรีย และทีอาร์เอ็นเอบางชนิด

สารพันธุกรรมแปลกปลอม (ส่วนมากเป็นดีเอ็นเอ) สามารถถูกนำเข้าสู่เซลล์ได้ด้วยกระบวนการทรานส์แฟกชัน (transfaction) โดยอาจอยู่ได้ชั่วคราวหากดีเอ็นเอไม่ถูกแทรกเข้าจีโนม หรือเสถียรหากแทรกตัวเข้าไปแแล้ว ไวรัสบางชนิดสามารถแทรกสารพันธุกรรมของมันเข้าสู่จีโนมของเจ้าบ้านได้

ออร์แกเนลล์

ดูบทความหลักที่: ออร์แกเนลล์

ออร์แกเนลล์เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ที่ปรับตัวและ/หรือพัฒนาไปทำหน้าที่สำคัญ เปรีบยได้กับอวัยวะ (organ) ของร่างกายมนุษย์เช่นหัวใจ, ไต, และตับ โดยแต่ละอวัยวะมีหน้าที่ต่างกันออกไป ทั้งโพรแคริโอตและยูแคริโอตมีออร์แกเนลล์ แต่ออร์แกเนลล์ของโพรแคริโอตมีความซับซ้อนน้อยกว่าและไม่มีเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์

ออร์แกเนลล์มีอยู่หลายชนิด บางชนิดพบแยกอยู่เดี่ยว ๆ (เช่น นิวเคลียสและกอลไจแอปพาราตัส) ในขณะที่บางชนิดพบได้จำนวนมาก ตั้งแต่หลายร้อยถึงหลายพัน (เช่น ไมโคอนเดรีย, คลอโรพลาสต์, เพอรอกซิโซม, และไลโซโซม) ไซโทซอลเป็นของเหลวคล้ายวุ้นที่เติมเต็มช่องว่างในเซลล์และล้อมรอบออร์แกเนลล์

ยูแคริโอต

เซลล์มะเร็งในมนุษย์ (ในที่นี้คือ HeLa cell) ดีเอ็นเอถูกย้อมด้วยสีน้ำเงิน เซลล์ตรงกลางและทางขวาอยู่ในระยะอินเทอร์เฟส จึงมองเห็นดีเอ็นเอได้ไม่ชัดเจนและนิวเคลียสถูกย้อมได้ตลอดทั้งโครงสร้าง เซลล์ทางด้านซ้ายกำลังอยู่ในกระบวนการไมโทซิสและโครโมโซมมีการหดตัว
แบบจำลองสามมิติของเซลล์ยูแคริโอต
  • นิวเคลียสของเซลล์ : เป็นศูนย์กลางข้อมูลของเซลล์ สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดในเซลล์ยูแคริโอต เป็นแหล่งจัดเก็บโครโมโซมและเป็นที่ซึ่งการจำลองตัวเองของดีเอ็นเอและการสังเคราะห์ อาร์เอ็นเอผ่าน เกิดขึ้น นิวเคลียสมีรูปร่างเป็นทรงกลมและถูกแยกจากไซโทพลาซึมด้วยเยื่อหุ้มสองชั้นที่เรียกว่านิวเคลียร์เอนเวลโลป (nuclear envelope) ซึ่งนอกจากนี้ยังมีหน้าที่ปกป้องดีเอ็นเอจากโมเลกุลที่อาจทำอันตรายต่อโครงสร้างหรือรบกวนกระบวนการของมัน ดีเอ็นเอถูกถอดรหัส (transcribed), หรือถูกคัดลอกไปยังอาร์เอ็นเอชนิดพิเศษที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่จะถูกขนส่งออกนอกนิวเคลียสไปยังไซโพลาซึม อันเป็นที่ซึ่งมันจะถูกแปลไปเป็นโมเลกุลโปรตีนที่จำเพาะ นิวคลีโอลัสเป็นบริเวณพิเศษภายในนิวเคลียสสำหรับประกอบหน่วยย่อยของไรโบโซม ในโพรแคริโอต กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอเกิดขึ้นในไซโทพลาซึม
  • ไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์: ทำหน้าที่สร้างพลังงานสำหรับเซลล์ ไมโทคอนเดรียเป็นออร์แกเนลล์ที่สามารถเพิ่มจำนวนได้เอง (self-replicating) พบได้หลากหลายในด้านจำนวน, รูปร่าง, และขนาดในไซโทพลาซึมของยูแคริโอต กระบวนการหายใจระดับเซลล์เกิดขึ้นในไมโทคอนเดรีย ซึ่งสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ด้วยกระบวนการออกซิเดทีฟฟอสโฟริเลชัน (oxydative phosphorylation) โดยใช้ออกซิเจนปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในสารอาหาร (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับกลูโคส) เพื่อสร้าง ATP ไมโทคอนเดรียเพิ่มจำนวนด้วยการแบ่งออกเป็นสองเช่นเดียวกับโพรแคริโอต คลอโรพลาสต์พบได้ในพืชและสาหร่ายเท่านั้น ทำหน้าที่จับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อสร้างคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
แผนภาพแสดงระบบเอนโดเมมเบรน
  • ร่างแหเอนโดพลาซึม: เป็นเครือข่ายสำหรับขนส่งโมเลกุลที่ถูกกำหนดให้รับการดัดแปลงหรือไปยังจุดหมายที่เฉพาะ (เทียบกับโมเลกุลที่ลอยอยูอย่างอิสระในไซโทพลาซึม) ร่างแหเอนโดพลาซึมมีสองรูปชนิดคือ ร่างแหเอนโดพลาซึมชนิดขรุขระที่มีไรโบโซมมาเกาะบนผิวเพื่อส่งโปรตีนเข้าไปข้างในร่างแห และร่างแหเอนโดพลาซึมชนิดเรียบที่ไม่มีไรโบโซมมาเกาะ โดยมีบทบาทเกี่ยวกับการคัดแยกและหลั่งแคลเซียม
  • กอลไจแอพพาราตัส: หน้าที่หลักของกอลไจแอพพาราตัสคือการแปรรูปและบรรจุโมเลกุลขนาดใหญ่ (macromolecule) เช่นโปรตีนและลิพิดที่เซลล์สังเคราะห์ขึ้นมา
  • ไลโซโซมและเพอรอกซิโซม: ไลโซโซมบรรจุเอนไซม์สำหรับย่อย (เอซิดไฮโดรเลส) ออร์แกเนลล์ที่เกินมาหรือหมดอายุแล้ว, อาหาร, และไวรัสหรือแบคทีเรียที่ถูกเซลล์กลืนกิน เพอรอกซิโซมมีเอนไซม์ที่ขจัดสารเพอร์ออกไซด์ที่เป็นพิษออกจากเซลล์ เซลล์จะไม่สามารถเก็บเอนไซม์ไวได้เลยหากไม่เก็บไว้ในระบบที่มีเยื่อหุ้ม
  • เซนโทรโซม: ทำหน้าที่เป็นตัวจัดระเบียบไซโทสเกเลตัน สร้างไมโครทิวบูลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของไซโทสเกเลตัน กำกับการขนส่งระหว่างร่างแหเอนโดพลาซึมและกอลไจแอปพาราตัส เซนโทรโซมประกอบด้วยเซนทริโอลสองอัน ที่จะแยกออกจากกันระหว่างกระบวนการแบ่งเซลล์และช่วยในการก่อตัวของไมโทติกสปินเดิล (mitotic spindle) เซลล์สัตว์พบเซนโทรโซมอันเดียว และยังอาจพบในเซลล์เห็ดราและสาหร่ายได้ด้วย
  • แวคิวโอล: แวคิวโอลแยกสารที่เซลล์ไม่ต้องการแล้ว ในพืชทำหน้าที่เก็บสะสมน้ำ มักถูกอธิบายว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยของเหลวและมีเยื่อหุ้มมาล้อมรอบ บางเซลล์ (โดยเฉพาะในสกุลอะมีบา) มีคอนแทร็กไทล์แวคิวโอลที่สามารถสูบน้ำออกจากเซลล์หากมีน้ำมากเกินไป แวคิวโอลในเซลล์พืชและเห็ดรามักมีขนาดใหญ่กว่าของเซลล์สัตว์

ยูแคริโอตและโพรแคริโอต

  • ไรโบโซม : ไรโบโซมเป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากโมเลกุลอาร์เอ็นเอและโปรตีน ประกอบขึ้นจากสองหน่วยย่อยและทำหน้าที่เป็นสายการประกอบ (assembly line) ที่มีการนำอาร์เอ็นเอมาใช้เพื่อสังเคราะห์โปรตีนขึ้นจากกรดอะมิโน ไรโบโซมสามารถพบลอยอยู่อย่างอิสระในไซโทพลาซึม หรือเกาะอยู่กับเยื่อหุ้ม (ร่างแหเอนโดพลาซึมแบบขรุขระในยูแคริโอต หรือที่เยื่อหุ้มเซลล์ในโพรแคริโอต)

โครงสร้างภายนอกเยื่อหุ้มเซลล์

เซลล์หลายชนิดมีโครงสร้างที่อยู่ภายนอกเยื่อหุ้มเซลล์ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน โครงสร้างเหล่านี้ค่อนข้างเด่นชัดเนื่องจากมันไม่ได้รับการปกป้องจากสภาพแวดล้อมภายนอกโดยเยื่อหุ้มเซลล์ที่เป็นเยื่อเลือกผ่าน องค์ประกอบของโครงสร้างเหล่านี้จำต้องมีกระบวนการส่งออกข้ามเยื่อหุ้มเซลล์สำหรับการประกอบเป็นโครงสร้างต่อไป

ผนังเซลล์

ข้อมูลเพิ่มเติม: Cell wall

เซลล์โพรแคริโอตและยูแคริโอตหลายชนิดมีผนังเซลล์ที่ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์จากสิ่งแวดล้อมทั้งเชิงกลและเชิงเคมี และเป็นชั้นเสริมการป้องกันให้กับเยื่อหุ้มเซลล์ เซลล์ต่างชนิดกันมีผนังเซลล์ที่องค์ประกอบต่างกันออกไปเช่น เซลล์พืชมีผนังเซลล์ที่ประกอบขึ้นจากเซลลูโลส, ผนังเซลล์ของเห็ดราที่ประกอบขึ้นจากไคทิน, และผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่ประกอบขึ้นจากเพปทิโดไกลแคน

โพรแคริโอต

แคปซูล

แคปซูลเจลาตินพบได้ภายนอกเยื่อหุ้มเซลล์และผนังเซลล์ของแบคทีเรียบางชนิด แคปซูลอาจเป็นได้ทั้งพอลิแซ็กคาไรด์เช่นใน pneumococci และ meningococci, เป็นพอลิเพปไทด์ดังเช่น Bacillus anthracis, หรือเป็นกรดไฮยาลูรอนิกดังที่พบใน streptococci แคปซูลไม่สามารถทำให้เด่นชัดได้ด้วยกระบวนการย้อมตามปกติ สีย้อมที่ใช้สำหรับตรวจหาแคปซูลเช่นอินเดียอิงค์, เมทิลบลู ทำให้แคปซูลมีความแตกต่าง (contrast) จากเซลล์มากพอที่จะทำการส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์ได้

แฟลเจลลา

แฟลเจลลาเป็นออร์แกเนลล์สำหรับการเคลื่อนไหวในระดับเซลล์ แฟลเจลลาของแบคทีเรียยืดออกมาจากไซโทพลาซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์และโผล่ออกทางผนังเซลล์ แฟลเจลลาเป็นรยางคล้ายเส้นด้ายที่ยาวและหนา ประกอบขึ้นจากโปรตีน ชนิดของแฟลเจลลาต่างกันออกไปในอาร์เคียและยูแคริโอต

ฟิมเบรีย

ฟิมเบรียเป็นฟิลาเมนต์คล้ายเส้นผมที่สั้นและบาง พบบนผิวเซลล์แบคทีเรีย ก่อตัวขึ้นจากโปรตีนที่เรียกว่าพิลิน (pilin) และมีความเกี่ยวข้องกับการจับตัวของแบคทีเรียกับตัวรับที่จำเพาะบนผิวเซลล์ของมนุษย์ และยังมีพิไลชนิดพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคอนจูเกชันในแบคทีเรีย

กระบวนการในระดับเซลล์

เซลล์โพรแคริโอตแบ่งตัวด้วยกระบวนการแบ่งออกเป็นสอง ในขณะที่เซลล์ยูแคริโอตแบ่งเซลล์ผ่านกระบวนการไมโทซิสหรือไมโอซิส

การจำลองตัวเอง

ดูบทความหลักที่: การแบ่งเซลล์

การแบ่งเซลล์เกี่ยวข้องกับการที่เซลล์หนึ่งแบ่งตัวออกเป็นเซลล์ลูกสองเซลล์ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (การเจริญของเนื้อเยื่อ) และการสืบพันธุ์ (แบบไม่อาศัยเพศ) ในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เซลล์โพรแคริโอตแบ่งตัวด้วยกระบวนการแบ่งออกเป็นสอง (binary fission) ในขณะที่เซลล์ยูแคริโอตแบ่งผ่านกระบวนการแบ่งนิวเคลียสที่เรียกว่าไมโทซิส (mitosis) ตามด้วยกระบวนการแบ่งเซลล์ที่เรียกว่าไซโทไคนีซิส (cytokinesis) เซลล์ดิพลอยด์อาจผ่านกระบวนการไมโอซิสเพื่อผลิตเซลล์แฮพลอยด์ ที่ปกติได้เซลล์ลูกสี่เซลล์ เซลล์แฮพลอยด์ที่ได้ทำหน้าที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ โดยรวมตัวกันเป็นเซลล์ดิพลอยด์

การจำลองดีเอ็นเอ (หรือกระบวนการทำสำเนาจีโนมของเซลล์) เกิดขึ้นเมื่อเซลล์แบ่งตัวผ่านกระบวนการไมโทซิสหรือการแบ่งออกเป็นสอง ในระยะ S ของวัฏจักรเซลล์

ในไมโอซิส ดีเอ็นเอถูกจำลองเพียงครั้งเดียว ในระยะที่เซลล์มีการแบ่งตัวสองครั้ง การจำลองดีเอ็นเอเกิดขึ้นก่อนระยะไมโอซิส I เท่านั้น โดยจะไม่เกิดขึ้นในการแบ่งเซลล์ระยะที่สองของระยะไมโอซิส II และเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่น ๆ ของเซลล์ การจำลองตัวเองต้องอาศัยโปรตีนที่พัฒนามาเป็นพิเศษสำหรับดำเนินกระบวนการ

แผนผังโดยสังเขปของกระบวนการแคแทบอลิซึมของโปรตีน, คาร์โบไฮเดรตและไขมัน

การซ่อมแซมดีเอ็นเอ

ดูบทความหลักที่: การซ่อมแซมดีเอ็นเอ

โดยปกติ เซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบรรจุเอนไซม์ที่ตรวจตราดีเอ็นเอเพื่อหาความเสียหายและดำเนินกระบวนการซ่อมแซมเมื่อตรวจพบ สิ่งมีชีวิตตั้งแต่แบคทีเรียจนถึงมนุษย์ได้พัฒนากระบวนการซ่อมแซมที่หลากหลาย อันเป็นสิ่งที่ระบุได้ถึงความสำคัญของการบำรุงรักษาดีเอ็นเอให้อยู่ในสภาวะปกติเพื่อหลีกเลี่ยงการตายของเซลล์หรือความผิดพลาดในกระบวนการจำลองตัวเองที่เป็นผลมาจากความเสียหายของดีเอ็นเอ ซึ่งอาจนำไปสู่การกลายพันธ์ (mutation) แบคทีเรีย E. coli เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์ (cellular organism) ที่มีการศึกษากระบวนการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่พัฒนามาเป็นอย่างดีและหลากหลาย อันประกอบด้วย: (1) การซ่อมแซมด้วยการตัดออกของนิวคลีโอไทด์ (nucleotide excision repair) (2) การซ่อมแซมดีเอ็นเอที่มีนิวคลีโอไทด์เข้าคู่กันผิด (DNA mismatch repair) (3) การเชื่อมปลายนอนโฮโมโลกัสของดีเอ็นเอที่ขาดทั้งสองสาย (non-homologous end joining of double-strand breaks) (4) การซ่อมแซมแบบรีคอมบิเนชัน (recombinational repair) และ (5) การซ่อมแซมแบบใช้แสง (light-dependent repair, photoreactivation)

การเจริญเติบโตและเมแทบอลิซึม

ภาพรวมของกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน: ภายในนิวเคลียสของเซลล์ (สีฟ้า) ยีน (สีน้ำเงิน) ถูกถอดรหัสไปเป็นอาร์เอ็นเอ ที่ซึ่งภายหลังจะเข้ารับการปรับแต่งและควบคุมหลังถอดรหัส (post-transcriptional modification and control) ทำให้ได้เอ็มอาร์เอ็นเอ (สีแดง) ที่จะถูกขนส่งออกนอกไซโทพลาซึมไปยังนิวเคลียส (สีพีช) อันเป็นที่เกิดกระบวนการแปลรหัสไปเป็นโปรตีนด้วยไรโบโซม (สีม่วง) ที่ทำหน้าที่จับคู่นิวคลีโอไทด์บนโคดอนทีละสามตัวกับคู่ทีอาร์เอ็นเอที่เหมาะสม โปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ (สีดำ) มักถูกนำไปแปรรูปต่อไป เช่นการเข้าจับกับโปรตีนปฏิบัติงาน (effector protein; สีดำ) เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมทำงาน

ระหว่างกระบวนการแบ่งเซลล์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่อง เซลล์เจริญเติบโตผ่านการทำงานของกระบวนการเมแทบอลิซึมระดับเซลล์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่แต่ละเซลล์มีการแปรรูปโมเลกุลของสารอาหาร โดยมีอยู่สองประเภทคือ แคแทบอลิซึมที่เป็นการแยกสลายโมเลกุลซับซ้อนเพื่อให้ได้พลังงานและความสามารถในการรีดิวซ์ (reducing power) และแอแนบอลิซึมซึ่งเซลล์ใช้พลังงานและความสามารถในการรีดิวซ์เพื่อสร้างโมเลกุลซับซ้อนแล[[ะดำเนินกระบวนการทางชีววิทยาอื่น ๆ น้ำตาลเชิงซ้อนที่สิ่งมีชีวิตบริโภคเข้าไปสามารถถูกย่อยสลายเป็นโมเลกุลน้ำตาลอย่างง่ายที่เรียกว่ามอโนแซ็กคาไรด์]] (monosaccharide) เช่นกลูโคส ที่เมื่ออยู่ภายในเซลล์จะถูกแยกสลายไปอีก เพื่อสร้างอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (adenosine triphosphate, ATP) อันเป็นโมเลกุลเป็นแหล่งพลังงานพร้อมใช้งานของเซลล์ ผ่านสองวิถีที่แตกต่างกัน

การสังเคราะห์โปรตีน

เซลล์มีความสามารถในการสังเคราะห์โปรตีนขึ้นมาใหม่ โปรตีนที่สร้างใหม่นี้มีความจำเป็นต่อการปรับสภาพและบำรุงรักษากิจกรรมต่าง ๆ ภายในเซลล์ การสังเคราะห์โปรตีนเกี่ยวข้องกับการก่อตัวของโมเลกุลโปรตีนขึ้นจากหน่วยย่อยกรดอะมิโนที่มีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสอยู่ในดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ โดยทั่วไปการสังเคราะห์โปรตีนประกอบด้วยสองขั้นตอนใหญ่คือ การถอดรหัสและการแปลรหัส

การถอดรหัสเป็นกระบวนการซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมในดีเอ็นเอถูกใช้เพื่อสร้างสายอาร์เอ็นเอคู่สม (complimentary RNA) ซึ่งจะถูกนำผ่านกระบวนการที่ทำให้ได้เอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA, mRNA) ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระทั่วเซลล์ โมเลกุลเอ็มอาร์เอ็นเอเข้าจับกับองค์ประกอบของโปรตีน-อาร์เอ็นเอที่เรียกว่าไรโบโซม ซึ่งพบในไซโทซอลอันเป็นที่ซึ่งเอ็มอาร์เอ็นเอถูกแปลรหัสไปเป็นลำดับพอลิเพปไทด์ ไรโบโซมควบคุมการก่อตัวของลำดับพอลิเพปไทด์ที่มีพื้นมาจากเอ็มอาร์เอ็นเอ ลำดับของเอ็มอาร์เอ็นเอสัมพันธ์โดยตรงกับลำดับพอลิเพปไทด์ด้วยการเข้าจับกับทรานส์เฟอร์อาร์เอ็นเอ (transfer RNA, tRNA) ที่เป็นโมเลกุลตัวแปลง ในช่องสำหรับเข้าจับในไรโบโซม สายพอลิเพปไทด์ที่สร้างใหม่จะพับตัวเป็นโปรตีนสามมิติที่พร้อมทำงานต่อไป

การเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหว สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวสามารถเคลื่อนที่เพื่อหาอาหารและหนีจากผู้ล่า กลไกการเคลื่อนไหวมักเกี่ยวข้องกับซิเลียและแฟลเจลลา

ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เซลล์สามารถเคลื่อนที่ระหว่างกระบวนการเช่น การรักษาบาดแผล, การตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อย่างในการรักษาบาดแผล เซลล์เม็ดเลือดขาวเคลื่อนที่ไปยังบาดแผลเพื่อฆ่าจุลชีพที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ การเคลื่อนไหวของเซลล์เกี่ยวข้องกับโปรตีนหลายชนิดที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับ, ตัวเชื่อมโยง, รวมกลุ่ม, ประสาน, ยึดติด, ขับเคลื่อน, และอื่นๆ การเคลื่อนไหวประกอบด้วยสามขั้นตอนคือ การยื่นขอบนำทาง (leading edge) ของเซลล์, การยึดติดกับพื้นผิวของขอบนำและการปล่อยตัวจากพื้นผิวของตัวและส่วนท้ายของเซลล์, และการหดตัวของไซโทสเกเลตันเพื่อดึงเซลล์ไปข้างหน้า แต่ละขั้นตอนขับเคลื่อนด้วยแรงเชิงกลที่เกิดจากส่วนที่แตกต่างกันของไซโทสเกเลตัน

การนำทาง, ควบคุม, และสื่อสาร

ดูเพิ่มที่: Cybernetics § In biology

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่าเซลล์วิถีเดียว (one way cell, ค้นพบจากเซลล์ของราเมือกและเซลล์มะเร็งตับอ่อนของหนู) มีความสามารถในการนำทางภายในร่างกายและการระบุเส้นทางที่ดีสุดผ่านเขาวงกตที่ซับซ้อน โดยสร้างระดับขั้นความเข้มข้น (gradient) ผ่านการแยกสลายสารเคโมแอดแทรกแตนท์ (chemoattractant) ที่ละลายอยู่ในตัวกลาง ซึ่งทำให้เซลล์สามารถรับรู้ถึงแยกในเขาวงกตก่อนที่จะไปถึง รวมไปถึงตามมุมต่าง ๆ ด้วย

การมีหลายเซลล์

ดูบทความหลักที่: สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์

การพัฒนาไปทำหน้าที่เฉพาะและการแบ่งแยกหน้าที่

ดูบทความหลักที่: Cellular differentiation
Caenorhabditis elegans ที่ถูกย้อมเพื่อเน้นให้เห็นนิวเคลียสของแต่ละเซลล์

สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์คือสิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นจากเซลล์หลาย ๆ เซลล์ ตรงกันข้ามกับสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว

ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ซับซ้อน เซลล์มีการพัฒนาไปเป็นหลายประเภทที่แตกต่างกันตามหน้าที่ที่จำเพาะ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดหลัก ๆ ของเซลล์คือ เซลล์ผิวหนัง, เซลล์กล้ามเนื้อ, เซลล์ประสาท, เซลล์เม็ดเลือด, ไฟโบรบลาสต์, สเต็มเซลล์, และอื่น ๆ เซลล์ต่างชนิดกันมักมีรูปร่างและการทำงานที่ต่างกันจากการแสดงออกที่ต่างกันของยีนที่เซลล์บรรจุไว้ แต่กระนั้นก็ยังเหมือนกันในทางพันธุกรรม โดยมีจีโนไทป์ที่เหมือนกัน

เซลล์แต่ละชนิดที่แตกต่างกันล้วนมีพัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดเพียงเซลล์เดียวที่เรียกว่าไซโกต ซึ่งพัฒนาไปเป็นเซลล์หลายร้อยชนิดที่แตกต่างกันระหว่างกระบวนการพัฒนาไซโกต การพัฒนาไปทำหน้าที่เฉพาะ (differentiation) ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม (เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับเซลล์ข้างเคียง) และจากความแตกต่างภายในเซลล์ (เช่น ที่เกิดจากการกระจายของโมเลกุลที่ไม่เท่ากันระหว่างกระบวนการแบ่งเซลล์)

ต้นกำเนิดของการมีหลายเซลล์

ดูบทความหลักที่: สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์

การมีหลายเซลล์มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นอิสระต่อกันอย่างน้อย 25 ครั้ง รวมถึงในโพรแคริโอตเช่น ไซยาโนแบคทีเรีย, myxobacteria, actinomycetes, Magnetoglobus multicellularis, หรือ Methanosarcina อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่มีความซับซ้อนพัฒนาขึ้นในยูแคริโอตเพียงหกกลุ่ม: สัตว์, เห็ดรา, สาหร่ายสีน้ำตาล, สาหร่ายสีแดง, สาหร่ายสีเขียว, และพืช พบว่ามีการวิวัฒน์ขึ้นซ้ำไปมาในพืช (Chloroplastida), หนึ่งหรือสองครั้งในสัตว์, หนึ่งครั้งในสาหร่ายสีน้ำตาล, และอาจหลายครั้งในเห็ดรา, ราเมือก, และสาหร่ายสีแดง การมีหลายเซลล์อาจวิวัฒน์ขึ้นจากโคโลนี (colony) ของสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาระหว่างกัน, การแบ่งออกเป็นเซลล์ (cellularisation), หรือจากสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์แบบอยู่ร่วมกัน (symbiotic relationship)

หลักฐานแรกของการมีหลายเซลล์มาจากสิ่งมีชีวิตคล้ายไซยาโนแบคทีเรียที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 3 ถึง 3.5 พันล้านปีที่แล้ว ฟอสซิลอื่นของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ยุคแรกมีทั้ง Grypania spiralis (ที่ยังคงมีการโต้แย้งกันอยู่) และฟอสซิลในหินดินดานสีดำจาก Francevillian Group Fossil B Formation ในกาบอง

วิวัฒนาการของการมีหลายเซลล์จากบรรพบุรุษที่มีเซลล์เดียวได้มีการจำลองในห้องปฏิบัติการ เป็นการทดลองเกี่ยวกับวิวัฒนาการที่ใช้การล่าเหยื่อเป็นปัจจัยกดดัน (selective pressure)

ต้นกำเนิด

กำเนิดเซลล์แรก

สโตรมาโทไลต์ที่ไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) ทิ้งไว้ เป็นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดบนโลกเท่าที่ทราบกัน ฟอสซิลที่มีอายุกว่าพันล้านปีนี้มาจากGlacier National Park ในสหรัฐอเมริกา

มีอยู่หลายทฤษฎีเกี่ยวกับโมเลกุลขนาดเล็กที่นำไปสู่สรรพชีวิตในโลกยุคแรก ซึ่งอาจถูกนำมาที่โลกด้วยอุกกาบาต (ดูเพิ่มที่อุกกาบาตเมอร์ชิสัน), ถูกสร้างขึ้นที่ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลลึก, หรืออาจถูกสังเคราะห์ด้วยฟ้าผ่าในบรรยากาศรีดิวซ์ (ดูเพิ่มที่การทดลองของมิลเลอร์–อูเรย์) มีข้อมูลจากการทดลองน้อยมากที่สามารถให้นิยามว่า "รูปแบบ" แรกที่สามารถจำลองตัวเองได้คืออะไร แต่เชื่อว่าอาร์เอ็นเออาจเป็นโมเลกุลจำลองตัวเองได้รูปแบบแรกสุด จากความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมและการเร่งปฏิกิริยาเคมี (ดูเพิ่มที่ทฤษฎีโลกของอาร์เอ็นเอ) ทั้งนี้ตัวตน (entity) ที่มีศักยภาพในการจำลองตัวเองอาจมีอยู่ก่อนหน้าอาร์เอ็นเอแล้ว เช่นมอนต์มอริลโลไนต์และกรดเพปไทด์นิวคลิอิก

เซลล์ปรากฏขึ้นเมื่อ 3.5 พันล้านปีที่แล้ว ในปัจจุบันเชื่อว่าเซลล์ที่เกิดขึ้นมาในยุคนั้นเป็นเฮเทอโรทรอพ (heterotroph) เยื่อหุ้มเซลล์มีความเป็นไปได้ว่าจะซับซ้อนน้อยกว่าและยอมให้สารผ่านเข้าออกได้ง่ายกว่าในยุคปัจจุบัน ด้วยการมีกรดไขมันเพียงสายเดียวต่อลิพิด จากที่ทราบกันว่าลิพิดจัดตัวเป็นเวสิเคิลเยื่อไขมันแบบสองชั้นในทันทีเมื่ออยู่ในน้ำ และอาจมีมาก่อนอาร์เอ็นเอ แต่เยื่อหุ้มเซลล์แบบแรก ๆ อาจถูกสร้างขึ้นโดยอาร์เอ็นเอที่เร่งปฏิกิริยาเคมีได้ และอาจต้องอาศัยโปรตีนโครงสร้างสำหรับการก่อตัว

กำเนิดเซลล์ยูแคริโอต

เซลล์ยูแคริโอตอาจวิวัฒน์ขึ้นมาจากกลุ่มสังคมเอนโดซิมไบโอซิสของเซลล์โพรแคริโอต ออร์แกเนลล์ที่บรรจุดีเอ็นเอเช่นไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์ สืบเชื้อมาจากโพรทีโอแบคทีเรียโบราณและไซยาโนแบคทีเรียที่หายใจโดยใช้ออกซิเจนตามลำดับ และถูกควบรวมให้เข้ามาอาศัยในเซลล์บรรพบุรุษที่เป็นอาร์เคีย

ปัจจุบันยังคงมีข้อถกเถียงกันว่าออร์แกเนลล์อย่างเช่นไฮโดรเจโนโซมมีมาก่อนกำเนิดของไมโทคอนเดรียหรือว่าเป็นไปในทางกลับกัน (ดูเพิ่มที่ สมมติฐานไฮโดรเจน สำหรับต้นกำเนิดของเซลล์ยูแคริโอต)

ประวัติศาสตร์ของการค้นคว้า

ดูบทความหลักที่: ทฤษฎีเซลล์
ภาพวาดของฮุคแสดงเซลล์ในไม้ก๊อก, 1665

หน้าที่เกี่ยวข้อง

เชิงอรรถ

รายการอ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение