Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

เภสัชกร

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
เภสัชกร
Woman consults with pharmacist.jpg
เภสัชกรกำลังให้คำแนะนำการใช้ยา
รายละเอียด
ชื่อ เภสัชกร หรือเรียกอย่างง่ายว่า หมอ
ประเภทอาชีพ
วิชาชีพ
กลุ่มงาน บริการสุขภาพ, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, เคมี
ความสามารถ ศาสตร์ ศิลป์ และจรรยาบรรณของแพทยศาสตร์, ทักษะการวิเคราะห์, การคิดวิเคราะห์
สถานที่ปฏิบัติงาน
เภสัชกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง
แพทย์, ผู้ช่วยเภสัชกร, นักพิษวิทยา, นักเคมี, การแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ

เภสัชกร (อังกฤษ: pharmacist) คือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข (health profession) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามากที่สุดในสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ เนื่องจากสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นมีความหลากหลาย จึงทำให้หน้าที่ของเภสัชกรจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละสายงาน ถ้าเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริบาลผู้ป่วย เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล อาจมีหน้าที่หลักเช่นการจ่ายยาให้ผู้ป่วย การแนะนำการใช้ยา ติดตามการใช้ยาให้ผู้ป่วย แต่หากเป็นเภสัชกรที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม การทำงานอาจเป็นการควบคุมและดูแลกระบวนการในการผลิตยา....

คุณสมบัติของเภสัชกร

การจะเป็นเภสัชกรได้นั้น จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจากคณะเภสัชศาสตร์ และจะเป็นเภสัชกรได้โดยสมบูรณ์เมื่อสอบผ่านการสอบวัดผลรวบยอดของวิชาชีพสัชกรรมและได้ใบประกอบโรคศิลป์ แต่ทั้งนี้ ในบางสายงานอาจไม่บังคับใช้ใบประกอบโรคศิลป์สำหรับเป็นคุณสมบัติในการรับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเภสัชกรควรมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น

  • มีสุขภาพกายที่ดี ไม่พิการ ไม่เป็นโรคร้าย
  • มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีบุคลิกภาพดี สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้
  • มีความรับผิดชอบในงานที่ทำ มีความละเอียดรอบคอบ
  • สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรมเข้ากับงานที่ทำได้
  • หมั่นศึกษาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา เนื่องจากความรู้ในด้านการรักษาโรคและด้านยานั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  • สามารถสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำความรู้ที่มีไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว
  • เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านยาและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรม

ความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับการขึ้นทะเบียน (Registration) เป็นเภสัชกรรับอนุญาตจะต้องเป็น ผู้ที่เรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับปริญญาดังนี้

ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาแตกต่างกันในแต่ละประเทศดังนี้

  1. ประเทศไทย ใช้เวลาเรียน 6 ปี ได้วุฒิเภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) (Doctor of Pharmacy : Pharm.D.)
  2. สหภาพยุโรป (European Union) รวมถึงสหราชอาณาจักร เดิมเรียน 4 ปีได้ ภ.บ. (B.Pharm.)
  3. ประเทศออสเตรเลีย เดิมใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันเรียน 4 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.)
  4. สหรัฐอเมริกา เดิมใช้เวลา 4-5 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.) ปัจจุบันต้องเรียนหลักสูตรเตรียมเภสัชศาสตร์ ใช้เวลา 2-3 ปี และบางมหาวิทยาลัยต้องเรียนจบปริญญาตรี 4 ปีก่อน จากนั้นจึงเรียนต่อ Doctor of Pharmacy (Pharm.D.) อีก 4 ปี รวมระยะเวลาเรียน 6-8 ปี มีฐานะเทียบเท่ากับ แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine : MD)

เพิ่มเติม The Master of Sciences of Pharmacy (MPharm) เป็นหลักสูตรมาตรฐานทางเภสัชศาสตร์ในระดับปริญญาโท อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Master_of_Pharmacy

หลักสูตรการเรียนเภสัชศาสตร์

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ นิสิต/นักศึกษาจะต้องเรียนรู้หลายรายวิชา ทั้งวิชาที่ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา แต่จำเป็นต้องเรียนเพื่อใช้เป็นความรู้พื้นฐาน และวิชาที่เกี่ยวข้องกับยา

หลักสูตรมาตรฐานที่ใช้เรียนในคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะแตกต่างกันออกไป

วิชาพื้นฐาน

ตัวอย่างเช่น

  • แคลคูลัส (Calculus)
  • หลักเคมี (Principal of chemistry)
  • เคมีอินทรีย์ (Organic Chemistry)
  • เคมีเชิงฟิสิกส์และการนำไปประยุกต์ใช้ (Physical Chemistry and Applications)
  • ฟิสิกส์เบื้องต้น (Introductory physics)
  • เซลล์และชีววิทยาระดับโมเลกุล (Cell and Molecular Biology)
  • ชีวเคมีการแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Biochemistry)
  • สรีรวิทยาการแพทย์ (Medical Physiology)
  • กายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน (Basic Anatomy)
  • ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ (General Medical Parasitology)
  • จุลชีววิทยาทางการแพทย์ (Medical Microbiology)
  • หลักการสาธารณสุข (Principle of Public Health)
  • ประสบการณ์สาธารณสุขในชุมชน (Public Health Experience in Community)
  • ภาษาอังกฤษพื้นฐาน (Fundamental English)
  • ภาษาอังกฤษพัฒนา (Developmental English)
  • ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ (English for Academic Purposes)
  • ภาษาอังกฤษวิชาชีพ (Professional English)

วิชาที่เกี่ยวข้องกับเภสัชศาสตร์

  • บทนำสู่วิชาชีพเภสัชกรรม (Introduction to Pharmacy Profession)
  • บทนำทางเภสัชกรรมสำหรับเภสัชศาสตร์ (Introduction to Pharmaceutics for Doctor of Pharmacy)
  • การควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์สำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Quality Control for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชกรรมสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutics for Doctor of Pharmacy)
  • บทนำสู่เภสัชเวท (Introduction to Pharmacognosy)
  • เภสัชเวทสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmacognosy for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชวิทยา (Pharmacology)
  • ชีวเภสัชกรรมและเภสัชจลนศาสตร์ (Biopharmaceutics and Pharmacokinetics)
  • เภสัชเคมีสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Chemistry for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชบำบัดประยุกต์ (Applied Pharmacotherapeutics)
  • กฎหมายทางเภสัชกรรม (Laws in Pharmacy)
  • เภสัชสนเทศสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmacoinformatics for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชระบาดวิทยาเบื้องต้น (Basic Pharmacoepidemiology)
  • การทบทวนข้อมูลยาใหม่ (Current Drug Review)
  • การบริหารทางเภสัชศาสตร์และบทบาทเภสัชกร (Pharmacy administration and Pharmacist role)
  • จริยธรรมเชิงวิชาชีพ (Professional Ethics)
  • การจัดการคุณภาพในองค์กรสุขภาพ (Quality Management in Health Care Organization)
  • ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติสำหรับบริบาลเภสัชกรรม (Research Methodology and Biostatistics for Pharmaceutical Care)
  • เภสัชเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น (Basic Pharmacoeconomics)
  • การสื่อสารเชิงวิชาชีพ (Professional Communication)
  • เภสัชศาสตร์สังคมและพฤติกรรม (Social and Behavioral Aspects in Pharmacy)
  • บทนำสู่ปฏิบัติการทางบริบาลเภสัชกรรม (Introduction to Clerkship for Doctor of Pharmacy)
  • การฝึกงานวิชาชีพเภสัชกรรม (Pharmacy Training)
  • โครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ (Research Project in Pharmaceutical Sciences)

การจดทะเบียนเป็นเภสัชกร

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ประชาชนทั่วไป ประเทศต่าง ๆ จึงได้กำหนดบุคคลที่จะมาเป็นเภสัชกรจะต้องถูกฝึกอบรมมาอย่างถูกต้องและพอเพียงโดยการจดทะเบียน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการสอบ ดังนี้

  1. ประเทศไทย ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์ และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร ต้องผ่านการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จากสภาเภสัชกรรม ก่อน
  2. ประเทศอังกฤษ ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องฝึกงานทางด้านเภสัชกรรมอย่างน้อย 1 ปี ก่อนสอบรับใบอนุญาตจากสมาคมเภสัชกรรมอังกฤษ (Royal Pharmaceutical Society of Great Britain)
  3. สหรัฐอเมริกา ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องการสอบ 2 ด่าน ดังนี้

สาขาวิชาชีพเภสัชกรรม

สาขาวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย และใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งการเรียนการสอนในบางมหาวิทยาลัยอาจมีการแบ่งแยกสาขาของวิชาชีพเภสัชกรรมตั้งแต่ตอนเรียน และแต่ละสาขาที่เรียนจะทำให้เภสัชกรที่จบออกมามีความเชี่ยวชาญในด้านเภสัชกรรมที่แตกต่างกันไป แต่ในการทำงานเภสัชกรอาจสามารถเลือกทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่ตนเรียนมาได้ หากมีคุณสมบัติเพียงพอตามที่หน่วยงานนั้น ๆ ต้องการ สำหรับสาขาวิชาชีพเภสัชกรรม อาจแบ่งเป็น 2 สาขาใหญ่ และแม้ทั้ง 2 สาขา จะมีการเรียนการสอนในวิชาที่แตกต่างกัน แต่นิสิต/นักศึกษาจะต้องเรียนความรู้พื้นฐานของแต่ละสาขาด้วย เนื่องจากเภสัชกรทุกคนจำเป็นต้องใช้ความรู้ทั้งสองด้านนี้ในการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และในการทำงานก็จำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้ความรู้ของจากทั้งสองสาขาเข้าด้วยกัน

สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care)

บริบาลเภสัชกรรมนั้น จะมุ่งเน้นความรู้ในด้านการให้บริบาลผู้ป่วย หรือการใช้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยาในการรักษาโรค ตัวอย่างอาชีพเภสัชกรในด้านสาขาบริบาลเภสัชกรรม เช่น

  • เภสัชกรโรงพยาบาล (Hospital pharmacist): หรืออาจเรียกได้ว่า เภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist) ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนจะมีเภสัชกรทำงานร่วมกับสหวิชาชีพด้านสุขภาพในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา การจ่ายยาเภสัชกรจะเป็นผู้จ่ายยาจากใบสั่งแพทย์ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับยาและวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย การให้คำปรึกษาเพื่อหาปัญหาจากยาแก่ผู้ป่วยในคลินิกของโรงพยาบาลก่อนหรือหลังพบแพทย์ เช่น คลินิกวัณโรค คลินิกโรคไต คลินิกโรคเบาหวานและความดัน คลินิกยาวาร์ฟาริน แต่ทั้งนี้งานของเภสัชกรโรงพยาบาลยังมีความหลากหลาย เพราะเภสัชกรจะต้องดูแลระบบยาของทั้งโรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลนั้นได้มาตรฐาน ดังนั้นนอกจากทำหน้าที่จ่ายยา เภสัชกรอาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคลังยาของโรงพยาบาล การจัดซื้อจัดหายาเข้าโรงพยาบาล การออกหน่วยเยี่ยมบ้านลงชุมชนในเขตที่โรงพยาบาลนั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ การเตรียมยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งอาจมีเฉพาะในบางโรงพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ตอบคำถามด้านยาให้แก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเภสัชกรโรงพยาบาลมีหน้าที่จ่ายยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ เภสัชกรโรงพยาบาลยังมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลความคลาดเคลื่อนหรือความเสี่ยงด้านยาต่าง ๆ เพื่อนำมาทบทวน วางแผนหรือสร้างระบบป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากยาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

หน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาล

บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาลที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ คือเภสัชกรจะทำงานในห้องจ่ายยา โดยมีหน้าที่เพียงจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์และให้คำแนะนำในการใช้ยาแก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนอกจากการจ่ายยาแล้ว เภสัชกรยังทำหน้าที่อีกหลายอย่างทั้งหน้าที่ทีเกี่ยวข้องกับการให้บริบาลเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย และยังมีหน้าที่ด้านการบริหารจัดการระบบยาในโรงพยาบาลอีกด้วย หน้าที่ของเภสัชกรในโรงพยาบาล ได้แก่

การจ่ายยา

หน้าที่หลักของเภสัชกรโรงพยาบาลคือการจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์ให้แก่ผู้ป่วย แต่การจ่ายยาของเภสัชกรไม่ใช่เพียงจ่ายยาตามรายการที่แพทย์สั่งเท่านั้น ก่อนจ่ายยาเภสัชกรจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาร่วมกับข้อมูลของผู้ป่วยว่ามีข้อห้ามใช้ยาตัวใดหรือไม่ เนื่องจากโรคหรือยาบางชนิดนั้นอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ยาตัวอื่น

  • การตรวจสอบความถูกต้องใบสั่งยา

เป็นขั้นตอนก่อนที่จะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายยา โดยทั่วไปเภสัชกรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาและเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยาควรจะเป็นคนละคนกัน เพื่อช่วยกันตรวจสอบไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในขณะที่กำลังทำการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย และหากพบความคลาดเคลื่อนจากการสั่งใช้ยาเกิดขึ้น เภสัชกรจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อยืนยันหรือปรับเปลี่ยนคำสั่งใช้ยาต่อไป การตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยามีหลายขั้นตอน ได้แก่

- ตรวจสอบยาที่ถูกจัด ให้ตรงชนิด ขนาด และจำนวน ตามที่แพทย์สั่ง

- ตรวจสอบวิธีใช้ยาบนฉลากยา เนื่องจากในบางครั้งแพทย์อาจไม่ได้พิมพ์วิธีใช้ยามา หรือพิมพ์วิธีใช้ยามาเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ เภสัชกรจะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ยาบนฉลากให้ผู้ป่วยสามารถอ่านได้เข้าใจ หรือพิมพ์ฉลากยาเองกรณีที่แพทย์เขียนคำสั่งใช้ยาด้วยลายมือ

- กรณีที่เป็นยาโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังของผู้ป่วย เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน จะต้องตรวจสอบว่าแพทย์มีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษา มีการปรับเพิ่มลดหยุดยาตัวใดหรือไม่ หรือแพทย์ลืมสั่งใช้ยาโดยที่ไม่ได้ตตั้งใจหยุดยาหรือไม่ โดยตรวจสอบจากใบสั่งยากับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อที่จะได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบได้อย่างถูกต้อง

- ตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีภาวะที่ห้ามสั่งใช้ยาตัวใดหรือไม่

- ตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยา (drug interactions) หรือการตรวจสอบว่ายาที่ผู้ป่วยได้รับนั้นสามารถให้ร่วมกันได้หรือไม่ โดยตรวจสอบกับทั้งรายการยาในใบสั่งยาเดียวกัน และตรวจสอบย้อนหลังกับยาโรคประจำตัวของผู้ป่วย เนื่องจากยาหลายชนิดไม่ควรใช้ร่วมกันหรือห้ามใช้ร่วมกันเพราะอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงแก่ผู้ป่วยได้

- ตรวจสอบว่ามีการสั่งใช้ยาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เช่น การสั่งใช้ยาในกลุ่มเดียวกัน เพราะนอกจากจะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษายังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพิ่มขึ้น

- ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ยาซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ กรณีที่แพทย์มีการสั่งใช้ยาในกลุ่มเดียวกันกับที่ผู้ป่วยแพ้เภสัชกรจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น

- ตรวจสอบประวัติการเกิดอาการข้างเคียงจากยาของผู้ป่วย การใช้ยาบางชนิดแม้ผู้ป่วยจะไม่ได้แพ้ยาแต่หากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่สามารถทนได้ ผู้ป่วยอาจไม่ใช้ยานั้นหากแพทย์มีการสั่งใช้ยานั้นซ้ำ

- กรณีที่เป็นประชากรกลุ่มพิเศษที่มีข้อจำกัดในการใช้ยา เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังการใช้ยา เช่น G-6PD ต้องตรวจสอบว่ามียาที่ห้ามใช้หรือไม่

การตรวจสอบขนาดยา

- คำนวณขนาดยาบางชนิดที่ต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย เช่น ยาน้ำสำหรับผู้ป่วยเด็ก ยารักษาโรควัณโรค

- ตรวจสอบขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตหรือตับบกพร่อง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องใช้ยาในขนาดต่ำกว่า หรือมีระยะเวลาการใช้ยาที่ห่างกว่าผู้ป่วยปกติ เภสัชกรอาจต้องคำนวณค่าการทำงานของไตกรณีที่ไม่มีโปรแกรมคำนวณ

- ตรวจสอบขนาดยาที่แพทย์สั่งใช้ จะต้องไม่ต่ำกว่าขนาดที่ให้ผลในการรักษา และต้องไม่สูงเกินขนาดยาสูงสุดที่สามารถใช้ได้

- ยาบางชนิดที่มีช่วงการรักษาแคบ หมายถึงระดับยาที่ก่อให้เกิดผลในการรักษาและก่อให้เกิดพิษจากยาอยู่ในช่วงใกล้เคียงกันอาจต้องคำนวณละเอียดจากระดับยาในเลือดของผู้ป่วย

  • การส่งมอบยาให้ผู้ป่วย

การจ่ายยาเป็นขั้นตอนการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยหลังจากผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการจ่ายยาในผู้ป่วยแต่ละราย และการจ่ายยาแต่ละชนิดจะต้องอาศัยเทคนิคการจ่ายยาที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้เภสัชกรจะต้องซักถามข้อมูลผู้ป่วยเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการให้คำแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ขั้นตอนการจ่ายยา ดังนี้

- ถามชื่อ-นามสกุล ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องแจ้งชื่อและนามสกุลของตนแก่เภสัชกรแม้จะมีชื่อของผู้ป่วยบนใบสั่งยา เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยมารับยาถูกคน เนื่องจากบางครั้งชื่อนามสกุลของผู้ป่วยอาจใกล้เคียงกับผู้ป่วยรายอื่นได้ กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มารับยาเองหรือผู้ที่มารับยาแทนไม่ทราบชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยอาจใช้เอกสารอื่นเช่นบัตรประจำตัวของผู้ป่วยเพื่อช่วยในการยืนยันตัวตน

- ถามประวัติแพ้ยา กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยากับโรงพยาบาลที่ไปรักษาจะมีการแสดงชื่อยาและอาการที่ผู้ป่วยแพ้บนใบสั่งยา ซึ่งเภสัชกรจะสามารถเห็นและตรวจสอบได้ แต่หากผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาจากที่อื่นการแจ้งประวัติแพ้ยาจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประวัติการแพ้ยาจากแหล่งอื่นจะไม่มีในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล และหากผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาซ้ำจะทำให้เป็นอันตรายรุนแรงได้

- ถามโรคประจำตัว ภาวะอื่น เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ยาตัวใดหรือไม่

แนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย

  • เภสัชกรชุมชน (Community pharmacist): หรือ เภสัชกรร้านยา หน้าที่หลักของเภสัชกรร้านยาคือให้การวินิจฉัยโรคผู้ป่วยในเบื่องต้นและจ่ายยาที่ตรงกับโรคนั้น ๆ หรือหากประเมินแล้วพบว่าโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาในร้านยาจะต้องทำการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อไปยังโรงพยาบาล ดังนั้นเภสัชกรชุมชนจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูแลผู้ป่วยนอกเหนือจากการให้บริการของโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงร้านยาได้ง่าย จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาในเบื่องต้นได้อย่างรวดเร็ว
  • เภสัชกรสาธารณสุข: เภสัชกรที่ทำงานในสายงานนี้ ได้แก่ เภสัชกรที่ทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และเภสัชที่ทำงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ. เภสัชกรในสายงานนี้จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตรวจสอบเรื่องยา อาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ นอกจากนี้ยังตรวจสอบควบคุมการทำงานของเภสัชกรรวมทั้งร้านยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ป่วยและผู้บริโภค
  • เภสัชกรการตลาด: เภสัชกรในสาขานี้ จะถูกเรียกว่า "ผู้แทนยา" โดยมีหน้าที่หลักคือนำเสนอข้อมูลยาที่ตนรับผิดชอบให้โรงพยาบาลหรือร้านยาเพื่อให้รับยานั้น ๆ เข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือร้านยา ซึ่งผู้แทนยาจะมีความเชี่ยวชาญในข้อมูลยาที่ตนรับผิดชอบเป็นพิเศษ ดังนั้นผู้แทนยาจึงถือว่ามีความสำคัญในการกระจายยาจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้คิดค้นยาไปยังร้านยาและโรงพยาบาลต่าง ๆ

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science)

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมนั้น แตกต่างจากสาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรมตรงที่ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้ความรู้ด้านเภสัชกรรมเพื่อให้บริบาลผู้ป่วยโดยตรง แต่จะเป็นการใช้ความรู้ด้านเภสัชกรรมเพื่อการผลิต คิดค้น ตรวจสอบ รวมถึงควบคุมคุณภาพของยาหรือเภสัชภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน ดังนั้นสาขาวิชานี้จึงมีความสำคัญไม่ต่างจากสาขาบริบาลเภสัชกรรม ตัวอย่างเช่น

  • เภสัชกรอุตสาหกรรมฝ่ายการผลิต
  • เภสัชกรอุตสาหกรรมการควบคุมคุณภาพ
  • เภสัชกรวิทยาศาสตร์การแพทย์

ดูเพิ่ม

หนังสืออ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение