Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โทลูป
โทลูป คือการกระโดดท่าที่ง่ายที่สุดสำหรับการแข่งขันในกีฬาสเกตลีลา เป็นการกระโดดโดยใช้ "โทฟิก" ของเท้าซ้าย (สำหรับผู้กระโดดแบบทวนเข็มนาฬิกา) ในระหว่างที่เคลื่อนหันหลัง ในการเริ่มกระโดด แล้วลงสู่พื้นด้วยเท้าขวาด้วยด้านนอกของใบมีด ตามอย่างการกระโดดโดยทั่วไป ปัจจุบันสามารถพบเห็นท่า "โทลูป" ในการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยนิยมใช้เป็นท่ากระโดดแบบครั้งเดียว 3 รอบ (สำหรับประเภทหญิงเดี่ยวและประเภทคู่) บางครั้งสำหรับนักสเก็ตระดับชั้นนำของโลกประเภทชายเดี่ยวบางคนสามารถกระโดดแบบครั้งเดียว 4 รอบได้ และยังเป็นท่าที่นิยมใช้เป็นท่ากระโดดต่อเนื่องสำหรับการกระโดดครั้งที่สองอีกด้วย
วิธีการกระโดดโทลูป
นิยมกระโดดโดยเริ่มต้นจากการเคลื่นไปข้างหน้าเป็นเส้นตรงเพื่อเตรียมพร้อม จากนั้นให้เปลี่ยนกลับตัวหันหลังด้วยท่าทรีเทิร์น (หรือการกลับตัวแบบเลข 3) ด้วยขาซ้าย ด้วยที่ขาขวาจะต้องลอยจากพื้นในระหว่างการกลับตัว ให้ทำการวางขาขวาดังกล่าวขนานกับขาซ้าย จากนั้นจึงใช้โทฟิกของเท้าซ้ายอ้อมจิกน้ำแข็งเพื่อสร้างแรงส่งพร้อมกระโดดขึ้นด้วยด้านนอกของใบมีดของเท้าขวา เมื่อทำการหมุนบนอากาศแบบทวนเข็มนาฬิกาครบตามจำนวนรอบของผู้เล่นแล้ว ให้ทำการลงสู่พื้นด้วยด้านนอกของใบมีดของเท้าขวาในลักษณะเคลื่อนที่ไปด้านหลังตามเช่นเดียวกับการกระโดดทุกชนิด สำหรับผู้เล่นที่หมุน หรือกระโดดแบบตามเข็มนาฬิกา ให้กลับด้านเท้าและขาขวาเป็นด้านซ้ายทั้งหมด
การกระโดดโทลูปที่นิยมไม่แพ้กัน คือการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หากแต่ให้ทำการกลับตัวโดยเริ่มด้วยเท้าขวา แทนที่จะเป็นเท้าซ้าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำท่ากลับตัวแบบ ทรีเทิร์น ด้วยใบมีดด้านในของเท้าขวา จากนั้นเมื่อกลับตัวแล้วระหว่างที่เท้าซ้ายอยู่ในอากาศให้จิกน้ำแข็งตามเช่นท่าโทลูปทั่วไป
สำหรับท่านี้ ผู้เล่นพึงต้องระมัดระวังมิให้เกิดการบิดตัวล่วงหน้าของลำตัวช่วงบนก่อนการจิกพื้นด้วยเท้าซ้าย อันจะทำให้เกิดความผิดพลาดของการกระโดด แต่หากผู้เล่นจิกพื้นน้ำแข็งนานเกินไปแล้วกลับตัวก่อนกระโดด จะทำให้ท่านี้แลดูคล้ายท่า "แอกเซล"
เปรียบเทียบกับท่ากระโดดอื่น ๆ
หลายคนสับสนการทำท่าโดดโทลูปที่เริ่มต้นจากเท้าซ้ายที่กลับตัวแบบทรีเทิร์น ว่า "โทแวลลีย์" ซึ่งแท้จริงแล้ว "โทแวลลีย์" จะต้องโดดขึ้นจากใบมีดด้านในของเท้าขวา มิใช่ใบมีดด้านนอกตามแบบโทลูป ตามกติกาการแข่งขันของ สหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ แล้ว โทลูป และโทแวลลีย์ มีความต่างกัน เนื่องจากการครบรอบของโทแวลลีย์มีองศาที่มากกว่า และใกล้เคียงกลับท่า ลัทซ์ ซึ่งนับว่าเป็นท่าที่ยากกว่าโทลูป จึงเป็นเหตุหนึ่งที่มีผู้นิยมโดดโทลูป หากแต่มักเข้าใจว่ากำลังทำท่าโทแวลลีย์ ซึ่งมิใคร่มีผู้ใดกระทำโดยจริงแล้ว เพราะยากกว่า
อย่างไรก็ดีคำว่า "โทลูป" มีที่มาจากท่า ลูป เพราะโดดขึ้นจากเท้าขวาเหมือนกัน จึงมักมีผู้เข้าใจว่าเป็นทักษะที่คล้ายคลึงกันต่างกันแค่ "ลูป" ไม่ใช้โทฟิกในการกระโดด หากแท้จริงแล้วทักษะของทั้งสองชนิดท่าดังกล่าวมีความแตกต่างกันอย่างมาก ท่า ลูป นั้นต้องเข้าโค้งในระหว่างการเตรียมกระโดดมากกว่าทั้งยังต้องให้ไหล่ขวาควบคุมไปยังจุดศูนย์กลางของวงเลี้ยว เพื่อให้เกิดแรงบิด ต่างจากโทลูปที่ต้องปล่อยไหล่ขวาจากจุดศูนย์กลาง เพื่อเตรียมเข้าเกลียวในระหว่างการระโดด เพราะแรงบิดจะมาจากการง้างของแรงส่งระหว่างการกลับตัวและง้ด (หรือสะดุด) ด้วยโทฟิกเสียมากกว่า เพราะว่าทั้ง"ลูป" และ "โทลูป" จะกระโดดขึ้นจากเท้าขวาเหมือนกัน ดังนั้นการโดดลูป และโทลูป จึงนิยมใส่ในการกระโดดครั้งที่สองสำหรับการกระโดดแบบ "คอมบิเนชั่น" หรือการการโดดหลายครั้งในคราวเดียวกัน) เพราะการกระโดดครั้งแรกจะต้องลงสู่พื้นด้วยด้านนอกของใบมีดของเท้าขวา อันเป็นจุดเริ่มต้นการกระโดดของทั้งสองท่าพอดี จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเท้า หรือเปลี่ยนด้านใบมีดแต่อย่างใด จึงให้ให้พร้อมทำการกระโดดครั้งที่สองได้อย่างต่อเนื่องทันที ต่างจากการโดดต่อเนื่องด้วยท่าอื่น ซึ่งอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเท้าด้วยท่า "ครึ่งลูป" จึงทำให้ง่าย และต่อเนื่องกว่า หากแต่ท่า "โทลูป" ในการโดดต่อเนื่องนั้นจะนิยมกว่ามาก เพราะง่ายกว่า มีโอกาสผิดพลาดได้น้อยกว่า เพราะธรรมชาติของผู้เล่นจะต้องตวัดเท้าอิสระ (free leg) ในระหว่างการลงสู่พื้นไปด้านหลังอยู่แล้ว ซึ่งพร้อมสำหรับการจิกน้ำแข็งต่อเนื่องไปยังท่า "โทลูป" ได้ทันที
สำหรับผู้ชมการแข่งขัน มักสับสนระหว่างโทลูปกับท่าฟลิป เนื่องจากทั้งสองท่าเริ่มต้นมาจากการเคลื่นไปข้างหน้าแล้วกลับตัว จากนั้นจึงใช้ "โทฟิก" จิกน้ำแข็งแล้วกระโดด หากแต่แตกต่างกันชัดเจนที่เท้าที่เริ่มต้นกระโดดจะตรงข้ามกันเสมอ
ประวัติศาสตร์
ถูกแสดงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920 โดย Bruce Mapes
โทลูปสามารถโดด 1 รอบ (ซิงเกิล), 2 รอบ (ดับเบิล), 3 รอบ (ทริปเปิล), หรือแม้แต่ 4 รอบ (ควอดรุปเปิล) ในอากาศได้ ในอดีต เราสามารถพบเห็นการโดด 4 รอบ หรือที่นิยมเรียกง่าย ๆ ว่า "ควอตโท" ในการแข่งขันชายเดี่ยว หากแต่ในปัจจุบัน ผลจากกติกาที่เข้มงวด ของระบบการให้คะแนนแบบใหม่ และความก้าวหน้าของการตรวจจับการให้คะแนน ทำให้มีผู้นิยมใช้ท่านี้ในการแข่งขันชายเดี่ยวน้อยลง เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดและเสียคะแนนได้ง่าย แม้ว่าคะแนนของการกระโดด 4 รอบจะสูงกว่า 3 รอบก็ตามที อย่างไรก็ดี สำหรับการแข่งขันหญิงเดี่ยวยังไม่ถือว่ามีผู้ใดกระโดดได้ครบ 4 รอบ และสมบูรณ์แบบในการแข่งขันระดับนานาชาติมาก่อน
หมายเหตุ
ทั่วไปแล้ว "โทลูป" มักถูกเรียกง่าย ๆ ว่า โท ตัวอย่างเช่น ดับเบิลโท สำหรับการกระโดดโทลูป 2 รอบในอากาศ, "ทริปเปิลโท" สำหรับการกระโดดหมุน 3 รอบในอากาศ เป็นต้น