Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โรคกามวิปริต

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคกามวิปริต
Paraphilia
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10 F65
MeSH D010262

โรคกามวิปริต (อังกฤษ: paraphilia, sexual perversion, sexual deviation) หรือ กามวิปริต เป็นประสบการณ์ความตื่นตัวทางเพศระดับสูงต่อวัตถุ สถานการณ์ หรือบุคคลที่ไม่ทั่วไป แต่ก็ไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิชาการว่าเส้นแบ่งระหว่างความสนใจทางเพศที่แปลก กับโรคกามวิปริตอยู่ที่ไหน มีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ยุติว่า กามวิปริตแบบไหน ควรจะมีรายชื่ออยู่ในคู่มือวินิจฉัยทางแพทย์เช่น คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) หรือ บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD) หรือถ้าจะต้องมีโดยประการทั้งปวง

จำนวนประเภทและอนุกรมวิธาน (taxonomy) ของกามวิปริตก็ยังโต้เถียงยังไม่ยุติอีกด้วย มีหนังสือเล่มหนึ่งที่มีรายการถึง 549 ประเภท ส่วน DSM-5 มีรายการความผิดปกติทางกามวิปริต (paraphilic disorder) 8 ประเภท นักวิชาการได้เสนอการจัดหมวดหมู่ย่อยแบบต่าง ๆ โดยอ้างว่า วิธีการจัดหมวดหมู่แบบอื่น ๆ เช่นวิธีการที่รวมมิติทั้งหมด วิธีกำหนดอาการเป็นพิสัย หรือวิธีกำหนดตามคำให้การของคนไข้ (complaint-oriented) จะเข้ากับหลักฐานได้ดีกว่า

ศัพท์อภิธาน

มีศัพท์หลายอย่างที่หมายถึงความสนใจทางเพศที่ไม่ทั่วไปต่าง ๆ แต่ก็ยังมีการโต้เถียงเกี่ยวกับความแม่นยำของคำเหล่านั้น และเกี่ยวกับความเข้าใจของอาการต่าง ๆ เหล่านั้น นักเพศวิทยา ดร.จอห์น มันนี่ เป็นผู้สร้างความนิยมให้กับคำว่า paraphilia เพื่อใช้เป็นคำกลาง ๆ ไม่ใช่เป็นคำดูถูก ของความสนใจทางเพศที่ไม่ทั่วไป โดยกล่าวถึงกามวิปริตว่า เป็นการตกแต่งเพิ่มรสชาติ หรือเป็นทางเลือก ของข้อปฏิบัติทางเพศทั่วไป แต่จิตแพทย์ท่านอื่นก็เขียนไว้ว่า แม้จะมีความพยายามโดยบุคคลต่าง ๆ รวมทั้ง ดร.มันนี่ คำว่า paraphilia ก็ยังเป็นคำดูถูกในกรณีทั่ว ๆ ไป

นักเพศวิทยาชาวโครเอเชีย-ออสเตรีย ฟรีดริก ครอส เป็นผู้ได้เครดิตการบัญญัติคำในปี ค.ศ. 1903 ที่ต่อมาเริ่มใช้ในภาษาอังกฤษในปี 1913 เป็นคำจากภาษากรีกโบราณว่า παρά (para) ซึ่งแปลว่า "เคียงข้างนอกจาก" และจาก φιλία (-philia) ซึ่งแปลว่า "มิตรภาพ, ความรัก"

เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ก็ได้เริ่มจัดหมวดหมู่กามวิปริตแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นระบบการอธิบายความชอบใจแบบต่าง ๆ นอกเหนือจากที่มีในด้านกฎหมายและศาสนาในยุคนั้นเกี่ยวกับการร่วมเพศทางทวารหนัก และกามวิปริตอื่น ๆ ในเรื่องคู่มือวินิจฉัยแพทย์ ก่อนที่จะเริ่มใช้คำว่า paraphilia ใน DSM-III (ค.ศ. 1980) คู่มือ 2 ฉบับแรกได้ใช้คำว่า "sexual deviation" แทน ในปี ค.ศ. 1981 บทความพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์อเมริกัน แสดงกามวิปริตว่าเป็น "จินตนาการที่เร้าความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรง ความอยากทางเพศ หรือพฤติกรรมทางเพศ ที่เกิดซ้ำ ๆ โดยทั่วไปเกี่ยวกับ"

  1. วัตถุที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์
  2. การได้รับทุกข์หรือการถูกทำให้อับอาย ของตนเองหรือของคู่ (BDSM)
  3. เด็ก
  4. คนที่ไม่ยินยอม

รักร่วมเพศหรือรักแบบไม่ต่างเพศ

รักร่วมเพศครั้งหนึ่งเคยจัดว่าเป็นความวิปริตทางเพศ โดยเฉพาะต่อประสาทแพทย์ ดร.ซิกมุนด์ ฟรอยด์ และนักจิตวิเคราะห์ต่อ ๆ มา ที่พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับรักร่วมเพศและกามวิปริตอื่น ๆ ดังนั้น ในหมู่ชาวตะวันตกจึงมีคำอื่น ๆ ที่ใช้กล่าวถึงความวิปริตทางเพศ (เช่น sexual perversion, pervert) โดยหมายถึงชายรักร่วมเพศ หรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีรสนิยมทางเพศที่ไม่นับว่าปกติ

โดยกลางคริตส์ศตวรรษที่ 20 แพทย์พยาบาลเกี่ยวกับสุขภาพจิตเริ่มจัดหมวดหมู่กามวิปริตโดยเป็นเพศสภาพที่เบี่ยงเบน (deviant sexuality) มีหมายเลขเริ่มต้นเป็น 000-x63 ใน DSM โดยมีรักร่วมเพศอยู่ในอันดับแรก (หมายเลข 302.0) จนกระทั่งสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกัน (APA) ถอนรักร่วมเพศออกจากความเป็นโรคที่วินิจฉัยในคู่มือในปี ค.ศ. 1974 จิตแพทย์ผู้ชำนาญในโรคกามวิปริตกล่าวว่า "ความผิดปกติทางเพศหลายอย่างที่ครั้งหนึ่งพิจารณาว่าเป็นโรคกามวิปริต (เช่น รักร่วมเพศ) เดี๋ยวนี้พิจารณาว่า เป็นความแตกต่างทางเพศสภาพที่ปกติ"

งานศึกษาวรรณกรรมปี ค.ศ. 2012 ของนักจิตวิทยาที่รักษาคนไข้คนหนึ่งพบว่า รักร่วมเพศต่างจากโรคกามวิปริตต่าง ๆ มากพอที่จะพิจารณาว่าไม่ใช่แนวคิดเรื่องเดียวกัน

เหตุ

เหตุของความชอบใจทางเพศแบบกามวิปริตในมนุษย์ไม่ชัดเจน แม้ว่าจะมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ชี้ว่าอาจจะมีสหสัมพันธ์กับพัฒนาการทางประสาทก่อนคลอด งานวิจัยที่ศึกษาจินตนาการทางเพศของชายรักต่างเพศ 200 คนโดยใช้การทดสอบโดยคำถาม Wilson Sex Fantasy Questionnaire พบว่า ชายที่มีระดับกามวิปริตสูง มีพี่ชายมากกว่า มีอัตราส่วนของนิ้วชี้ต่อนิ้วนาง (2D:4D digit ratio) ที่ต่ำกว่าซึ่งแสดงว่าได้รับฮอร์โมนเพศชายก่อนกำเนิดในระดับที่ต่ำกว่า และมีโอกาสสูงขึ้นที่จะถนัดมือซ้าย ซึ่งแสดงนัยว่า การกระจายหน้าที่สมองไปยังซีกสมองทั้งสองข้าง (brain lateralization) มีปัญหา ซึ่งอาจจะมีบทบาทในความสนใจทางเพศที่ผิดแปลกออกไป

ส่วนงานศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมเสนอว่า โรคกามวิปริตเกิดจากการปรับภาวะแบบคลาสสิก (classical conditioning) ในช่วงแรก ๆ ของชีวิต ที่บุคคลมีประสบการณ์ที่จัดคู่สิ่งเร้าแบบกามวิปริตกับความตื่นตัวทางเพศระดับสูง และว่า เมื่อตั้งขึ้นแล้ว จินตนาการถึงสิ่งเร้าเหล่านั้นเมื่อสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ก็จะช่วยเสริมกำลังและขยายขอบเขตของความตื่นตัวทางเพศแบบกามวิปริต

การวินิจฉัย

มีการโต้เถียงกันทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางการเมืองเกี่ยวกับการรวมการวินิจฉัยทางเพศเช่นกามวิปริตใน DSM เพราะเหตุว่า การเป็นโรคจิตถือว่าเป็นดวงด่างทางสังคม กลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการความเข้าใจและความยอมรับเกี่ยวกับความแตกต่างทางการเพศ ได้วิ่งเต้นให้เปลี่ยนสถานะทางกฎหมายและการแพทย์ของความสนใจและพฤติกรรมทางเพศที่แปลก ส่วนแพทย์ที่เป็นเสียงให้ต่อชนส่วนน้อยในเรื่องเพศ อ้างว่าการวินิจฉัยเช่นนี้ไม่ควรมีในคู่มือการวินิจฉัย

ความสนใจที่ทั่วไปและไม่ทั่วไป

วรรณกรรมทางแพทย์มีรายงานมากมายเกี่ยวกับกามวิปริตต่าง ๆ แต่ว่ามีบางอย่างเท่านั้นที่มีรายชื่อของตนเอง ในอนุกรมวิธานความผิดปกติทางจิตของสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกันและองค์การอนามัยโลก

มีความเห็นขัดแย้งกันว่า ความสนใจทางเพศชนิดไหนควรจัดเป็นความผิดปกติแบบกามวิปริต และชนิดไหนควรจัดเป็นความแตกต่างทางเพศที่ปกติ ยกตัวอย่างเช่น DSM-IV-TR ในเดือนพฤษภาคม 2000 กล่าวว่า "เพราะว่าความซาดิสม์ทางเพศในบางกรณีไม่มีผู้เสียหาย (เช่น เมื่อทำคู่ที่ยินยอมให้อับอาย) คำว่าความซาดิสม์ทางเพศจึงเป็นการรวมความหมายจากทั้ง DSM-III-R และ DSM-IV (คือ บุคคลนั้นได้ทำการเกี่ยวกับความรู้สึกเช่นนั้นกับบุคคลที่ไม่ยินยอม หรือว่า ความรู้สึกเช่นนั้น หรือจินตนาการทางเพศ หรือพฤติกรรม ทำให้เกิดความทุกข์หรือปัญหาระหว่างบุคคลอย่างสำคัญ)"

ส่วนคู่มือ DSM-IV-TR ยอมรับว่า การวินิจฉัยและการจัดหมวดหมู่ของโรคกามวิปริตข้ามวัฒนธรรมและศาสนา "เกิดความยุ่งยากโดยความจริงว่า สิ่งที่พิจารณาว่าเบี่ยงเบนในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจจะยอมรับได้มากกว่าในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง" และก็มีนักวิชาการที่อ้างว่า การพิจารณาว่าอะไรเป็นโรคกามวิปริตควรจะพิจารณาในบริบทของวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล เพราะว่า มีความแตกต่างว่า อะไรยอมรับได้ทางเพศ ในวัฒนธรรมต่าง ๆ

แต่ว่ากิจกรรมทางเพศของผู้ใหญ่ที่ยินยอม, การบันเทิงทางเพศต่าง ๆ เช่นการเล่นบทบาท การเกิดอารมณ์จากสิ่งเฉพาะ ๆ แบบใหม่ ๆ ที่เป็นไปอย่างผิวเผิน หรือเป็นเรื่องเล็กน้อย, หรืออุปกรณ์ของเล่นทางเพศ (เช่นดิลโด) อาจไม่จัดว่าเป็นกามวิปริต คือ จิตพยาธิแบบกามวิปริตไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับพฤติกรรม จินตนาการ และการละเล่นทางเพศที่เป็นปกติในผู้ใหญ่

ความรุนแรงและความจำกัดเฉพาะ

แพทย์ผู้รักษาจำแนกกามวิปริตเป็นแบบมีก็ได้ (optional) ชอบใจ (preferred) และจำกัดเฉพาะ (exclusive) แม้ว่า ศัพท์ภาษาอังกฤษเหล่านี้ยังจะไม่ใช้เป็นมาตรฐาน กามวิปริตแบบมีก็ได้ เป็นหนทางการตื่นตัวทางเพศอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ชายที่มีความสนใจทางเพศที่ไม่แปลกอะไรเลย บางครั้งอาจจะหาวิธีปลุกอารมณ์ทางเพศโดยใส่ชุดชั้นในของผู้หญิง ส่วนแบบชอบใจ เป็นกรณีที่บุคคลชอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับกามวิปริตนั้น มากกว่ากิจกรรมทางเพศทั่วไปอื่น ๆ แม้ว่าจะยังร่วมกิจกรรมทั่ว ๆ ไปอยู่

มีงานศึกษาเค้สเดียวของกามวิปริตที่มีน้อยมากและแปลก ๆ เช่นเรื่องเด็กชายวัยรุ่นที่มีความสนใจทางเพศเฉพาะวัตถุ (fetish) เกี่ยวกับท่อไอเสียของรถ เรื่องชายเยาวชนอีกคนที่สนใจท่อไอเสียเหมือนกันแต่ต้องเป็นของรถเฉพาะประเภทเท่านั้น หรือเรื่องชายอีกคนหนึ่งที่สนใจการจามทั้งของตนเองและของผู้อื่น

DSM-I และ DSM-II

ในจิตเวชศาสตร์อเมริกัน ก่อนจะมีคู่มือ DSM-I กามวิปริตจัดอยู่ในหมวดหมู่ "บุคลิกภาพต่อต้านสังคมพร้อมกับเพศสภาพที่เป็นจิตพยาธิ" (psychopathic personality with pathologic sexuality) ต่อมาในปี 1952 คู่มือ DSM-I รวม "ความเบี่ยงเบนทางเพศ" (sexual deviation) โดยเป็นแบบย่อยของ "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่อต้านสังคม" (sociopathy) ส่วนแนวทางวินิจฉัยเดียวที่คู่มือกล่าวถึงก็คือ ความเบี่ยงเบนทางเพศควร "จำกัดให้กับเพศสภาพที่เบี่ยงเบน ที่ไม่ใช่เป็นส่วนของกลุ่มอาการที่กว้างขวางกว่านั้น เช่น โรคจิตเภทหรือโรคย้ำคิดย้ำทำ" แพทย์รักษาจะเป็นผู้กำหนดบทที่ให้รายละเอียดโดยเฉพาะของความผิดปกติ (supplementary term) ในการวินิจฉัยความเบี่ยงเบนทางเพศนั้น โดยไม่มีกำหนดใน DSM-I ว่า คำนั้นจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่ว่า มีตัวอย่างที่ให้โดย DSM-I รวมทั้ง "รักร่วมเพศ โรคชอบแต่งกายลักเพศ (transvestism) โรคใคร่เด็ก การเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ (fetishism) และความซาดิสม์ทางเพศรวมทั้งการข่มขืน การทำร้ายทางเพศ การทำให้เสียอวัยวะ"

ต่อมาในปี 1968 DSM-II ก็ยังใช้คำว่า ความเบี่ยงเบนทางเพศ อยู่ แต่ไม่ได้เป็นหมวดหมู่ย่อยของความผิดปกติทางบุคลิกภาพอีกต่อไป แต่ว่า เป็นหมวดหมู่กว้าง ๆ ในในระดับเดียวกันชื่อว่า "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพและความผิดปกติทางจิตที่ไม่ใช่วิกลจริตอย่างอื่น ๆ" (personality disorders and certain other nonpsychotic mental disorders) ประเภทของควาเบ่งเบียนทางเพศใน DSM-II รวมทั้งการรบกวนทางรสนิยมทางเพศ (คือรักร่วมเพศ) การเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ โรคใคร่เด็ก โรคชอบแต่งกายลักเพศ การแสดงอนาจาร โรคถ้ำมอง โรคซาดิสม์ โรคมาโซคิสม์ และ "ความเบี่ยงเบนทางเพศอื่น ๆ" แม้ว่าจะไม่มีนิยามหรือตัวอย่างให้กับ "ความเบี่ยงเบนทางเพศอื่น ๆ" แต่ก็หมายจะแสดงถึงความชอบใจทางเพศของบุคคล "ที่พุ่งไปยังวัตถุแทนที่เพศตรงข้าม ไปยังกิจกรรมทางเพศที่ทั่วไปไม่เกี่ยวกับการร่วมเพศ หรือการร่วมเพศทำในสถานการณ์แปลก ๆ เช่นที่พบในอาการชอบสมสู่กับศพ โรคใคร่เด็ก โรคซาดิสม์ทางเพศ และการเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ" ยกเว้นการถอนรักร่วมเพศออกจากคู่มือ DSM-III และฉบับต่อ ๆ มา คำนิยามนี้ก็ได้ใช้เป็นมาตรฐานทั่วไปของการนิยามโรคกามวิปริตประเภทเฉพาะต่าง ๆ ในฉบับต่อ ๆ มาจนถึง DSM-IV-TR

DSM-III จนถึง DSM-IV

ส่วนคำว่า โรคกามวิปริต (paraphilia) ใช้เป็นครั้งแรกใน DSM-III ปี 1980 โดยเป็นหมวดหมู่ย่อยของหมวดใหม่คือ ความผิดปกติทางความต้องการทางเพศ (psychosexual disorder) DSM-III-R ในปี 1987 เปลี่ยนชื่อหมวดใหม่เป็น "ความผิดปกติทางเพศ" (sexual disorder) เปลี่ยนชื่อโรคกามวิปริตแบบไม่ทั่วไปเป็น "กามวิปริตที่ไม่ได้กำหนดไว้อย่างอื่น" (paraphilia NOS) เปลี่ยนชื่อ transvestism (โรคชอบแต่งกายลักเพศ) ไปเป็น transvestic fetishism เพิ่มอาการ frotteurism (โรคถูอวัยวะอนาจาร) และย้ายหมวดโรคใคร่สัตว์ (zoophilia) เข้าไปเป็นส่วนของ paraphilia NOS และก็ยังให้ตัวอย่างโดยไม่ใช่รวมทั้งหมดของ paraphilia NOS ที่นอกเหนือจากโรคใคร่สัตว์ คือ telephone scatologia (โรคโทรศัพท์อนาจาร), อาการชอบสมสู่กับศพ, partialism (โรคใคร่อวัยวะที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ), coprophilia (โรคใคร่อุจจาระ), klismaphilia (โรคใคร่การสวนทวารหนัก), และอาการชอบน้ำปัสสาวะ (urophilia)

ต่อมาคู่มือ DSM-IV ในปี 1994 ก็ยังใช้หมวดหมู่ "ความผิดปกติทางเพศ" สำหรับโรคกามวิปริตอยู่ แต่สร้างหมวดหมู่ย่อยที่กว้างกว่าคือ "sexual and gender identity disorders" แล้วรวมโรคกามวิปริตใต้หมวดหมู่ย่อยนั้น และคู่มือก็ยังมีประเภทต่าง ๆ ของโรคกามวิปริตที่กำหนดใน DSM-III-R รวมทั้งตัวอย่างในหมวดหมู่ paraphilia NOS แม้ว่าจะเปลี่ยนนิยามของโรคโดยเฉพาะ ๆ

DSM-IV-TR

ส่วน DSM-IV-TR อธิบายกามวิปริตว่าเป็น "จินตนาการที่เร้าความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรง ความอยากทางเพศ หรือพฤติกรรมทางเพศ ที่เกิดซ้ำ ๆ โดยทั่วไปเกี่ยวกับ (1) วัตถุที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ (2) การได้รับทุกข์หรือการถูกทำให้อับอาย ของตนเองหรือของคู่ (BDSM) และ (3) เด็กหรือคนที่ไม่ยินยอมอื่น ๆ โดยเกิดเป็นระยะเวลา 6 เดือน" (เกณฑ์ 1) ซึ่ง "ทำให้เกิดความทุกข์อย่างสำคัญที่จะต้องรักษา หรือเกิดความเสียหายต่อหน้าที่ด้านสังคม อาชีพ หรือด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ" (เกณฑ์ 2) DSM-IV-TR กำหนดความผิดปกติแบบกามวิปริตโดยเฉพาะ 8 ประเภท คือ การแสดงอนาจาร การเกิดอารมณ์เพศจากสิ่งเฉพาะ การถูอวัยวะอนาจาร โรคใคร่เด็ก โรคมาโซคิสม์ทางเพศ โรคซาดิสม์ทางเพศ โรคถ้ำมอง และโรคชอบแต่งกายลักเพศ โดยจัดกามวิปริตที่เหลือในหมวดหมู่ "กามวิปริตที่ไม่ได้กำหนดไว้อย่างอื่น" (paraphilia not otherwise specified) เกณฑ์ที่ 2 จะแตกต่างในโรคต่อไปนี้คือ

  • การแสดงอนาจาร การถูอวัยวะอนาจาร และโรคใคร่เด็ก รวมการปฏิบัติการเนื่องจากความอยาก
  • โรคซาดิสม์รวมการปฏิบัติการเนื่องจากความอยากต่อบุคคลที่ไม่ยินยอม

ส่วนความตื่นตัวทางเพศต่อวัตถุที่ออกแบบเพื่อประโยชน์ทางเพศไม่มีการวินิจฉัย

โรคกามวิปริตบางจำพวกอาจจะรบกวนสมรรถภาพในการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกับผู้ใหญ่ผู้ยินยอม และใน DSM-IV-TR กามวิปริตจะไม่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติทางจิตนอกจากจะก่อให้เกิดความทุกข์ต่อคนไข้ หรือเป็นการทำร้ายผู้อื่น

DSM-5

ส่วนคู่มือ DSM-5 แยกแยะระหว่าง "กามวิปริต" (paraphilia) และ "ความผิดปกติแบบกามวิปริต" (paraphilic disorder) โดยกล่าวว่า กามวิปริตเพียงเท่านั้น ยังไม่จำเป็นที่จะบำบัดรักษาทางจิตเวช และนิยาม "ความผิดปกติแบบกามวิปริต" ว่า "กามวิปริตที่กำลังสร้างความทุกข์หรือก่อความบกพร่องให้กับบุคคลนั้น หรือกามวิปริตที่การสนองมีผลเสียหายต่อผู้อื่น หรือว่าเสี่ยงที่จะให้ผู้อื่นเสียหาย"

คือคณะทำงานของ DSM-5 กลุ่มย่อยเรื่องกามวิปริตได้ถึง "มติส่วนใหญ่ว่า กามวิปริตไม่จำเป็นที่จะเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างแน่นอน" และเสนอ "ให้ DSM-V แยกแยะระหว่าง paraphilias (กามวิปริต) และ paraphilic disorders (ความผิดปกติแบบกามวิปริต)" คือแพทย์สามารถ "ถึงความมั่นใจ" (ascertain) ว่าผู้ป่วยมีกามวิปริต (ตามลักษณะของความอยาก จินตนาการ หรือพฤติกรรม) แต่จะ "วินิจฉัย" ความผิดปกติแบบกามวิปริต (ต่อเมื่อมีมูลเกี่ยวกับความทุกข์ ความบกพร่อง หรือการกระทำสนองที่เสียหาย) โดยแนวคิดเช่นนี้ การมีกามวิปริตจะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นแต่ยังไม่พอในการจัดว่ามีความผิดปกติแบบกามวิปริต หัวข้อ "เหตุผล" (Rationale) ของกามวิปริตทุกอย่างใน DSM-5 ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ร่าง กล่าวต่อไปว่า

วิธีการนี้ยังคงยืนความแตกต่างกันระหว่างพฤติกรรมทางเพศที่ปกติและไม่ปกติ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักวิจัย แต่จะไม่ขึ้นป้ายพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปกติโดยอัตโนมัติว่าเป็นโรคจิต และก็จะกำจัดความเหลวไหลทางตรรกะบางอย่างที่มีใน DSM-IV-TR ยกตัวอย่างเช่น ในฉบับนั้น ชายจะไม่จัดว่าเป็นโรคชอบแต่งกายลักเพศ ไม่ว่าเขาจะชอบแต่งกายลักเพศและเกิดการเร้าอารมณ์เพศแค่ไหน ยกเว้นถ้าเขาไม่มีความสุขในการกระทำเยี่ยงนี้ หรือเกิดความบกพร่องเพราะมัน การเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ จะสะท้อนให้เห็นในเกณฑ์วินิจฉัยต่าง ๆ โดยการเพิ่มคำว่า "ความผิดปกติ" (disorder) ต่อกามวิปริตทุกประเภท ดังนั้น Sexual Sadism (ความซาดิสม์ทางเพศ) ก็จะกลายเป็น Sexual sadism disorder (ความผิดปกติแบบซาดิสม์ทางเพศ) Sexual Masochism ก็จะกลายเป็น Sexual masochism disorder เป็นต้น

ศาสตราจารย์ทางชีวจริยธรรมผู้หนึ่งตีความการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่า "เป็นวิธีแยบยลที่จะกล่าวว่า ความสนใจแปลก ๆ ทางเพศไม่มีปัญหาโดยพื้นฐาน ไม่มีปัญหาจนกระทั่งว่า คณะทำงานย่อยไม่ได้พยายามที่จะนิยามกามวิปริต แต่ได้นิยามความผิดปกติแบบกามวิปริต ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อความสนใจทางเพศที่ไม่ทั่วไปก่อให้เกิดทุกข์หรือความบกพร่องต่อบุคคลนั้น หรือมีผลเสียหายต่อผู้อื่น" เมื่อศาสตราจารย์ผู้นี้สัมภาษณ์ ดร.เรย์ แบล็งเชิร์ด ผู้เป็นประธานกลุ่มทำงานย่อยเรื่องกามวิปริต ดร.แบล็งเชิร์ดได้อธิบายว่า "เราได้พยายามสุดความสามารถเพื่อจะจัดกามวิปริตอ่อน ๆ และไม่มีผลเสียหายให้ไม่เป็นโรค โดยทำอย่างเข้าใจว่า กามวิปริตรุนแรงที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือความบกพร่องต่อบุคคล หรือเป็นเหตุทำร้ายผู้อื่น ได้รับพิจารณาอย่างสมเหตุผลว่า เป็นความผิดปกติ"

แต่ก็มีนักวิชาการท่านอื่นที่ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอะไร เนื่องจากว่า DSM-IV ก็ยอมรับอยู่แล้วว่า โรคกามวิปริตแตกต่างจากความสนใจทางเพศที่ไม่ทั่วไปแต่ไม่เป็นโรค ซึ่งเหมือนกับข้อเสนอสำหรับ DSM-5 แต่เป็นความแตกต่างที่มักจะมองข้ามไปในการปฏิบัติ ส่วนนักภาษาศาสตร์ผู้หนึ่งอ้างว่า "การรวมความสนใจทางเพศบางอย่างเข้าใน DSM แต่ไม่รวมอย่างอื่น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขั้นพื้นฐาน และสื่อความรู้สึกเชิงลบต่อความสนใจทางเพศที่รวมอยู่" แล้วจัดกามวิปริตไว้ในสถานการณ์คล้ายกับความรักร่วมเพศที่ผู้มีรู้สึกเป็นทุกข์ (ego-dystonic homosexuality) ที่ DSM ได้เอาออกจากคู่มือแล้วเพราะว่าไม่ใช่ความผิดปกติ

แม้ว่า DSM-5 จะยอมรับว่า มีความผิดปกติแบบกามวิปริตเป็นโหล ๆ แต่ว่าก็ให้รายชื่อโดยเฉพาะเพียงแค่ 8 อย่างที่สามัญและสำคัญในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความผิดปกติถ้ำมอง ความผิดปกติแสดงอนาจาร ความผิดปกติถูอวัยวะอนาจาร ความผิดปกติมาโซคิสม์ ความผิดปกติซาดิสม์ทางเพศ ความผิดปกติใคร่เด็ก ความผิดปกติเกิดอารมณ์จากสิ่งเฉพาะ ความผิดปกติชอบแต่งกายลักเพศ ส่วนกามวิปริตอื่น ๆ จะวินิจฉัยภายใต้หมวด Other Specified Paraphilic Disorder (ความผิดปกติแบบกามวิปริตที่กำหนดอื่น) หรือ Unspecified Paraphilic Disorder (ความผิดปกติแบบกามวิปริตที่ไม่กำหนดอื่น)

การบริหาร

นักจิตวิทยาโดยมากเชื่อว่า ความสนใจทางเพศแบบกามวิปริตไม่สามารถเปลี่ยนได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการบำบัดโดยปกติก็เพื่อลดความอึดอัดของบุคคลเกี่ยวกับกามวิปริตของตน และจำกัดไม่ให้มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย โดยมีทั้งวิธีบำบัดทางจิต (psychotherapy) และวิธีใช้ยา

การบำบัดพฤติกรรมทางประชาน (cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) สามารถช่วยคนกามวิปริตให้พัฒนากลยุทธ์เพื่อหยุดตัวเองไม่ให้ทำการตอบสนองความสนใจทางเพศของตน ซึ่งสอนคนไข้ให้รู้จักและจัดการองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะทำให้มีโอกาสสูงขึ้นในการมีพฤติกรรมกามวิปริต เช่นความเครียด นี่เป็นวิธีบำบัดทางจิตอย่างเดียวของกามวิปริตที่มีหลักฐานแสดงว่าได้ผล

การบำบัดด้วยยาสามารถช่วยให้คนไข้สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตนได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนกามวิปริตได้ การบำบัดนี้มักจะใช้กับ CBT เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ยา selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) มักจะใช้กับคนแสดงอนาจาร คนใคร่เด็กที่ไม่ทำผิด และคนที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอย่างหมกมุ่น และเป็นยาที่เสนอว่าทำงานโดยลดความตื่นตัวทางเพศ ความหมกมุ่น และอาการเศร้าซึมต่าง ๆ แต่ว่า หลักฐานของ SSRI ค่อนข้างจำกัด

ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (antiandrogens) ใช้ในกรณีที่อาการหนัก คล้ายกับการถูกตอน ยานี้ทำงานโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และดังนั้น ชาวตะวันตกบางครั้งจึงเรียกว่า การตอนทางเคมี (chemical castration) ยาต้านฮอร์โมน cyproterone acetate พบว่าช่วยลดจินตนาการทางเพศและพฤติกรรมเป้าหมายอย่างสำคัญ ส่วนยา medroxyprogesterone acetate และ gonadotropin-releasing hormone agonist (เช่น leuprolide acetate) พบว่าสามารถช่วยลดความต้องการทางเพศ เนื่องจากมีผลข้างเคียง สหพันธ์สมาคมชีวจิตเวชศาสตร์ (World Federation of Societies of Biological Psychiatry) จึงแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยฮอร์โมนเมื่อมีความเสี่ยงสูงต่อพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศ หรือว่าเมื่อวิธีอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล ส่วนการตอนด้วยการผ่าตัดไม่นิยมใช้แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากทางเลือกโดยใช้ยาเหล่านี้ได้ผลคล้ายกันและไม่มีผลเสียอย่างอื่น

ข้อมูลวิทยาการระบาด

งานวิจัยพบว่า กามวิปริตมักไม่เกิดในหญิง แต่ก็ยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับหญิงที่มีกามวิปริต ซึ่งพบว่าโรคมาโซคิสม์ทางเพศ เป็นกามวิปริตที่สามัญที่สุดในหญิง โดยมีอัตรา 1 ต่อ 20 ของหญิงต่อชาย

แต่นักวิชาการก็ยอมรับว่า มีงานวิจัยน้อยมากเกี่ยวกับกามวิปริตในหญิง และงานศึกษาโดยมากก็ทำในผู้ถูกศาลตัดสินว่าทำผิดทางเพศ และเพราะว่า จำนวนนักโทษชายมีจำนวนมากกว่านักโทษหญิงอย่างมาก งานวิจัยในหญิงจึงมีน้อยมาก และก็มีนักวิชาการที่อ้างว่า หญิงใคร่เด็กปรากฏน้อยกว่าความเป็นจริง และเพราะมีหญิงจำนวนน้อยมากในงานศึกษาเกี่ยวกับคนใคร่เด็ก งานโดยจึงมาจากตัวอย่างชายล้วน ๆ แต่การปรากฏน้อยกว่าความเป็นจริงอาจจะเกิดจาก "ความโน้มเอียงของสังคมที่จะไม่สนใจผลเชิงลบของความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กชายกับหญิงผู้ใหญ่" มีนักจิตวิทยาที่ได้ทำงานวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการทารุณเด็กทางเพศที่ทำโดยหญิง แล้วพิมพ์หนังสือเพื่อแก้ความเอนเอียงของข้อมูลเพราะเหตุแห่งเพศในเรื่องอาชญากรรมทางเพศ นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า ข้อจำกัดทางกายในงานศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาพของหญิงและกามวิปริต ก็เป็นประเด็นอย่างหนึ่ง คือ การตื่นตัวทางเพศของชายสามารถวัดได้โดยการแข็งตัวขององคชาต แต่การตื่นตัวทางเพศของหญิงไม่สามารถวัดได้ชัดเจนเท่า และดังนั้น งานวิจัยเกี่ยวกับเพศสภาพของหญิงสรุปได้ไม่ชัดเจนเท่ากับงานวิจัยในชาย

ประเด็นทางกฎหมาย

ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากคดีสำคัญต่าง ๆ ในศาลสูงสุดโดยเฉพาะที่ตัดสินในปี 1997 (Kansas v. Hendricks) และ 2002 (Kansas v. Crane) บุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีกามวิปริตโดยเฉพาะโรคใคร่เด็กหรือโรคแสดงอนาจาร (exhibitionism) ที่มีประวัติพฤติกรรมต่อต้านสังคมและประวัติอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกัน สามารถถูกจำขังได้อย่างไม่มีกำหนดโดยกฎหมายของรัฐต่าง ๆ และของรัฐบาลกลาง

ดูเพิ่ม

  • Laws, D. Richard; O'Donohue, William T, บ.ก. (2008). Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment (2nd ed.). Guilford Press. ISBN 978-1-59385-605-2. {{cite book}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  • American Psychiatric Association (2000). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders-IV (4th Text Revision ed.). Arlington, VA, USA: American Psychiatric Publishing, Inc. doi:10.1176/appi.books.9780890423349. ISBN 978-0-89042-024-9.
  • American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (5th ed.). American Psychiatric Publishing.

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение