Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

โรคคาวาซากิ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
โรคคาวาซากิ
ชื่ออื่น Kawasaki syndrome, lymph node syndrome, mucocutaneous lymph node syndrome
Kawasaki symptoms B.jpg
ผู้ป่วยเด็กแสดงอาการ "strawberry tongue" ซึ่งพบในโรคคาวาซากิ
สาขาวิชา กุมารเวช
อาการ มีไข้ > 5 วัน, ต่อมน้ำเหลืองโต, มีผื่น, เจ็บคอ, ท้องเสีย
ภาวะแทรกซ้อน หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง
การตั้งต้น อายุ < 5 ปี
ระยะดำเนินโรค ≈ 3 สัปดาห์
สาเหตุ ไม่ทราบ
วิธีวินิจฉัย ขึ้นอยู่กับอาการ, ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง
โรคอื่นที่คล้ายกัน ไข้ดำแดง, ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก, กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็กซึ่งเกี่ยวข้องกับ COVID-19
ยา แอสไพริน, อิมมูโนโกลบูลิน
ความชุก 8–124 ต่อ 100,000 ประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
การเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิต 0.2% (โดยมีการรักษา)

โรคคาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎病; อังกฤษ: Kawasaki disease) หรือ กลุ่มอาการเยื่อเมือกผิวหนังต่อมน้ำเหลือง (อังกฤษ: Mucocutaneous lymph node syndrome; MCLS, MLNS หรือ MCLNS) เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 5 ปี และมีอาการเด่นคือมีไข้ โรคนี้เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีไข้มากกว่า 5 วัน โดยไข้มักไม่ลดลงหลังกินยาลดไข้ทั่ว ๆ ไป อาการอื่นที่พบได้บ่อยคือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ผื่นตามร่างกายและอวัยวะเพศ ตาแดง ปากแดง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดง สามสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการผิวหนังบริเวณมือและเท้ามักลอก และผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองตามมาเป็นภาวะแทรกซ้อน

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ แต่เชื่อกันว่ากลไกการเกิดอาการของโรคนี้มาจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากตอบสนองต่อการติดเชื้อบางประเภทในเด็กที่มีพันธุกรรมไวต่อการเกิดโรค โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการและอาการแสดง การตรวจพิเศษอื่น ๆ อาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยได้ เช่น การตรวจอุลตราซาวนด์หัวใจ การตรวจเลือด เป็นต้น กระบวนการวินิจฉัยจะต้องพิจารณาถึงโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย เช่น ไข้ดำแดง โรคข้ออักเสบในเด็ก เป็นต้น

การรักษาโรคคาวาซากิในระยะแรกจะใช้ยาแอสไพรินขนาดสูงควบคู่กับอิมมูโนโกลบูลิน หากได้ผลผู้ป่วยมักหายจากอาการไข้ภายใน 24 ชั่วโมง และฟื้นตัวเป็นปกติ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะต้องมีการติดตามรักษาและอาจต้องผ่าตัด หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้ 25% และประมาณ 1% จะเสียชีวิต ในขณะที่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอัตราการเสียชีวิตจะลดเหลือ 0.17% รายที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองจะต้องได้รับการตรวจหัวใจต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โรคคาวาซากิถือเป็นโรคหายาก พบได้ประมาณ 8-67 ต่อ 100,000 ประชากรเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบโรคนี้ประมาณ 124 ต่อ 100,000 ประชากร พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โรคนี้ได้รับการบรรยายไว้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1967 โดยนายแพทย์โทมิซากุ คาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎 富作โรมาจิKawasaki Tomisaku) ที่ประเทศญี่ปุ่น

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่นอนถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่มีการระบาดเป็นครั้งคราวในชุมชน ทำให้น่าจะเชื่อว่าเป็นสาเหตุมาจากจุลชีพได้มีการเสนอถึงสาเหตุจากจุลชีพหลายชนิด ที่อาจจะสัมพันธ์กับโรคนี้เช่น ริกเก็ตเซีย (Rickettsia), ไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์, จากไรฝุ่นบ้าน (Dermatophagoides), หัด, หัดเยอรมัน และอื่น ๆ อีก แต่ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าจุลชีพชนิดไหนเป็นสาเหตุของโรคคาวาซากิ แต่เป็นไปได้ที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยบางคนตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) ผิดปกติทำให้เกิดโรค

อาการ

อาการแสดงของผู้ป่วยโรคคาวาซากิ
  1. ไข้สูงเฉียบพลันทันทีทันใด สูงเกิน 104 องศาฟาเรนไฮต์ ไข้จะขึ้น ๆ ลง ระยะเวลา 4-14 วัน แต่บางราย อาจถึง 30 วัน
  2. ตาแดงทั้ง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา (ocular conjunctival injection) เป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
  3. การเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและในช่องปาก ซึ่งอาจพบได้ดังนี้คือ ริมฝีปากแห้ง แดงแตก ลิ้นอาจมีลักษณะหนาขึ้นและออกเป็นสีชมพูคล้ายผลสตรอเบอรี (strawberry tongue) และเยื่อบุในช่องปากแดง
  4. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โตข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่แต่อาจโตหลายต่อมก็ได้ เมื่อกดที่ต่อมไม่มีอาการเจ็บ
  5. มีผื่นที่ลำตัวหน้าแขน ขา ผื่นเป็นปื้น ๆ หลายรูปแบบบางครั้งพบว่ามีผิวหนังแดง และลอกที่บริเวณก้น (perineal) มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์
  6. มีการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า โดยจะบวมแดง ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า (ประมาณ 10-20 วันหลังมีไข้) และลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าบางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau's line)
  7. อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ท้องเสีย เป็นต้น

โรคแทรกซ้อน

ถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนมาก และรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ประมาณร้อยละ 1-2)

ในสัปดาห์แรกมือเท้าบวมและเจ็บ

ในสัปดาห์ที่สอง ผิวหนังลอกที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า มีข้ออักเสบมักเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน เป็นได้ทั้งข้อใหญ่ข้อเล็กในระยะแรกอาจจะมีอาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง กล้ามเนื้ออักเสบ

นอกจากนี้ยังพบแก้วหูอักเสบ แผลในปาก ไอ เมื่อมีอาการแทรกซ้อนคือ ปอดอักเสบรุนแรง ถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กซึม ตับโต ม้ามโต และกระสับกระส่าย ความผิดปกติที่หัวใจพบได้ร้อยละ 10-40 ของเด็กซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาอย่างใกล้ชิด

โรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) ได้แก่

หากเกิดมีอาการมากอาจทำให้เสียชีวิตภายใน สัปดาห์ที่ 2-4 เกิดจาก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial ischemia), กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) จากหลอดเลือดโป่งแตกออก หรือลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis) พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคแทรกซ้อน ที่หัวใจ และหลอดเลือด ได้แก่ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) อักเสบเกิดเป็นหลอดเลือดแดงโป่งพอง (aneurysm) ซึ่งอาจเกิดที่หลอดเลือดเส้นเดียว ตำแหน่งเดียว หรือเกิดหลายเส้นเลือด และหลายตำแหน่งก็ได้ โดยพบความผิดปกติดังกล่าวได้ในช่วง 10-28 วันของโรค

ในผู้ป่วยที่ไม่พบโรคแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจจะมีการหายขาดจากโรค (complete recovery) ในเด็กส่วนใหญ่ที่มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ มักจะสบายดีไม่มีอาการ จากการรวบรวมในญี่ปุ่นพบว่า 1-2 % ของผู้ป่วยด้วยโรคคาวาซากิ เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนทางหัวใจซึ่งมักเกิดใน 1-2 เดือน แต่การพยากรณ์โรคในระยะยาวยังไม่ทราบ

ความสัมพันธ์กับ COVID-19

ตั้งแต่เมษายน พ.ศ. 2563 อาการป่วยในเด็กที่เพิ่มขึ้นซึ่งคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิได้รับการสังเกตพบในสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรปองค์การอนามัยโลกกำลังตรวจสอบความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้กับโรค COVID-19 ราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กแห่งสหราชอาณาจักรได้ออกเอกสารคำแนะนำและได้ตั้งชื่อว่า "กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก"

การวินิจฉัย

Angiography showing ectatic LAD, with largest aneurysm = 6.5 mm in diameter

โรคคาวาซากิวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดงทางคลินิกร่วมกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการตัวใดตัวหนึ่งที่จำเพาะต่อโรคนี้ การวินิจฉัยโรคนี้ให้ทันเวลาจึงต้องอาซัยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ซึ่งอาจทำได้ยากโดยเฉพาะในช่วงต้นของการดำเนินโรค ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยแม้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลมาแล้วหลายแห่ง มีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายกันและเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องถูกนำมารวมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น ไข้ดำแดง กลุ่มอาการช็อกจากพิษ ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก และภาวะพิษจากปรอท

อาการตามแบบฉบับในการวินิจฉัยโรคคาวาซากิคือ มีไข้ห้าวันขึ้นไป และมีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัยต่อไปนี้อย่างน้อย 4 จาก 5 ข้อ ได้แก่

  1. ริมฝีปากหรือช่องปากแดง หรือริมฝีปากแตก
  2. มีผื่นตามตัว
  3. มือเท้าบวมหรือแดง
  4. ตาแดง
  5. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ขนาดไม่ต่ำกว่า 15 มิลลิเมตร

มีผู้ป่วยโรคคาวาซากิจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นเด็กเล็กไม่ได้แสดงอาการครบตามเกณฑ์ในช่วงแรก ปัจจัยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งแนะนำให้เริ่มการรักษาโรคคาวาซากิไปเลยในผู้ป่วยที่มีเกณฑ์วินิจฉัย 3 ข้อ และมีไข้มา 3 วัน โดยเฉพาะในรายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เข้าได้กับโรคคาซากิ นอกจากนี้แล้วยังอาจวินิจฉัยโดยการตรวจเจอหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้อีกทาง

การรักษา

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ควรจะเป็นการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจเด็ก พบว่าการบำบัดโดยการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน Intravenous gammaglobulin (IVIg) ในขนาดสูงสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจของผู้ป่วย โดยให้ในขนาด 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ครั้งเดียว ในกรณีที่ไข้ไม่ลงใน 48 ชั่วโมง สามารถให้ซ้ำได้อีกครั้ง และให้แอสไพริน 80-100 มก./กก. ในระยะเฉียบพลันของโรค และลดเป็น 5 มก./กก. ต่อวัน อีก 6-8 สัปดาห์

แนวทางการให้การรักษา

  1. แกมมา โกลบูลิน (Gamma globulin) ร่วมกับยากลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates)
  2. ยาลดไข้และลดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและผนังหลอดเลือด
  3. ยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เพื่อลดอุบัติการของเส้นเลือดอุดตัน
  4. ให้สารภูมิต้านทาน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของหลอดเลือดโคโรนารี
  5. IVIg (intravenous gammaglobulin) เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจ โดยจะให้ผลดีมาก ในระยะ 10 วันแรกของโรค (ยามีราคาสูงมาก)

การพยากรณ์โรค

โรคนี้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีหลอดเลือดแดงโคโรนารีอักเสบจะหายขาดจากโรค พบป่วยเป็นครั้งที่ 2 น้อยมาก เด็กที่ป่วยแล้วพิการหรือเสียชีวิตจะพบในผู้ที่มีความผิดปกติที่หัวใจ เช่น หลอดเลือดโคโรนารีโป่งพอง

การป้องกัน

ดูแลร่างกายให้แข็งแรง โรคนี้หายได้เอง แต่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อย ๆ ได้ การรักษาด้วยยาตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของโรค ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้มาก เด็กที่เป็นโรคคาวาซากิจำเป็นต้องได้รับการติดตาม เพื่อระวังภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดต่อเนื่อง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว 2-3 เดือนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพียงการปรับระยะเวลาการให้ยาให้เหมาะสมในแต่ละรายเท่านั้น อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ไม่แสดงอาการให้เห็นจนกว่าจะรุนแรงมากแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบกุมารแพทย์โรคหัวใจเป็นระยะ ๆ ตามนัดอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี

แหล่งข้อมูลอื่น


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Новое сообщение