Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
โรคฮีโมฟิเลียในราชวงศ์ยุโรป
โรคฮีโมฟิเลียมีบทบาทสำคัญอย่างเด่นชัดมากในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียทรงถ่ายทอดพันธุกรรมกลายพันธุ์ไปสู่ราชวงศ์ต่างๆ บนภาคพื้นทวีปยุโรป อันรวมไปถึงราชวงศ์สเปน เยอรมนีและรัสเซีย ผ่านทางพระราชธิดาสองในห้าพระองค์ (เจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าหญิงเบียทริซแห่งสหราชอาณาจักร) เจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์ พระราชโอรสพระองค์เล็ก ก็ทรงพระประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลีย ด้วยเหตุนี้โรคฮีโมฟิเลียในครั้งหนึ่งจึงเป็นที่นิยมเรียกว่า "โรคราชวงศ์" (Royal Disease) การทดสอบเถ้ากระดูกจากราชวงศ์โรมานอฟแสดงว่าลักษณะเฉพาะของโรคฮีโรคฮีโมฟิเลียที่ส่งผ่านมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียน่าจะเป็นโรคฮีโมฟีเลีย ชนิดบี (Haemophilia B)
ความผิดปกติทางพันธุกรรมในโครโมโซม X แสดงออกให้เห็นในเพศชายเป็นส่วนมากจนเกือบทั้งหมด แม้หน่วยพันธุกรรมความบกพร่องจะถ่ายทอดจากมารดาก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม เพศหญิงซึ่งมีโครโมโซม X อันผิดปกติสามารถส่งผ่านโครโมโซมนั้นไปยังลูกหลานได้ การแสดงออกของความผิดปกติจะเกิดกับเพศชายมากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเพศหญิงมีโครโมโซม X สองตัว ในขณะที่เพศชายมีเพียงตัวเดียว หากโครโมโซม X ในเพศชายผิดปกติ จะไม่มีโครโมโซมอีกหนึ่งตัวมาช่วยปกปิดความผิดปกติในพันธุกรรม แต่กระนั้นในจำนวนกรณีศึกษาร้อยละ 30 ไม่พบประวัติของความผิดปกติทางพันธุกรรมเกิดขึ้นภายในครอบครัวและเป็นสภาวะของผลการกลายพันธุ์ของหน่วยพันธุกรรมแบบเฉียบพลัน
สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียทรงมีการกลายพันธุ์แบบใหม่เกิดขึ้นในระบบพันธุกรรม และทรงเป็นต้นกำเนิดของการแพร่กระจายโรคดังกล่าวนี้ โดยเจ้าหญิงวิกตอเรีย ดัชเชสแห่งเคนต์ พระราชมารดาไม่ทรงมีประวัติการเป็นโรคฮีโมฟิเลียในพระราชวงศ์ของพระองค์ และเชื้อสายของเจ้าหญิงฟีโอดอรา พระภคินีต่างพระมารดาในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ก็ไม่ทรงมีประวัติของการเป็นโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน ในด้านของเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์ พระราชบิดานั้น ไม่ได้ทรงเป็นโรคฮีโมฟิเลีย และความเป็นไปได้ของการมีชู้รักที่เป็นโรคฮีโมฟิเลียของพระชนนียิ่งเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะช่วงอายุขัยที่สั้นของเพศชายซึ่งเป็นโรคฮีโมฟิเลียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย พระวรราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมิได้ทรงมีพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย เนื่องจากมิปรากฏการเป็นโรคดังกล่าวในเชื้อสายของพระองค์ ส่วนเจ้าฟ้าหญิงเฮเลนา พระราชธิดาพระองค์ที่ห้าอาจจะทรงเป็นหรือมิได้ทรงเป็นพาหะก็ได้ เพราะมีพระโอรสที่มีพระพลานามัยแข็งแรงสองพระองค์ที่เจริญพระชันษาถึงวัยหนุ่ม แต่ก็มีพระโอรสสองพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่เมื่อแรกประสูติ ส่วนพระธิดาสองพระองค์ไม่มีพระโอรสหรือธิดาเลย ในขณะที่เจ้าหญิงหลุยส์ พระราชธิดาพระองค์ที่หกสิ้นพระชนม์โดยไม่มีพระโอรสและธิดา นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เจ้าฟ้าชายอัลเฟรด และเจ้าฟ้าชายอาร์เธอร์ พระโอรสทั้งสามพระองค์ไม่ได้ประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลียเลย อย่างไรก็ดีเจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์เป็นพระโอรสที่ประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลีย ส่วนเจ้าฟ้าหญิงอลิซและเจ้าฟ้าหญิงเบียทริซนั้นทรงเป็นพาหะของโรค
เจ้าฟ้าหญิงอลิซ
-
เจ้าฟ้าหญิงอลิซ พระราชธิดาพระองค์ที่สาม ทรงส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปยังพระโอรสและธิดาอย่างน้อย 3 พระองค์ ดังนี้
- เจ้าชายฟรีดริช วิลเฮล์มแห่งเฮสส์และไรน์ สิ้นพระชนม์ก่อนวันประสูติครบ 3 พรรษา จากการตกพระโลหิตในสมองหลังจากตกลงมาจากพระบัญชร
-
เจ้าหญิงไอรีนแห่งเฮสส์และไรน์ (ต่อมาคือ เจ้าหญิงไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย) ซึ่งทรงส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปยังพระโอรสสองในสามพระองค์คือ
- เจ้าฟ้าชายวัลเดมาร์แห่งปรัสเซีย ทรงเจริญพระชันษาจนถึง 56 พรรษา และไม่มีพระโอรสและธิดา
- เจ้าฟ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา
-
เจ้าหญิงอลิกซ์แห่งเฮสส์และไรน์ (ภายหลังคือ สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย) ทรงได้รับการสู่ขอให้อภิเษกสมรสจากเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) หากได้ทรงตอบรับการสู่ขออภิเษกสมรส โรคฮีโมฟิเลียคงจะกลับมาสู่ลำดับการสืบราชบัลลังก์สายตรงของประเทศอังกฤษ แต่ก็ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย และส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปยังพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ
- มกุฎราชกุมารอเล็กซิสแห่งรัสเซีย ทรงถูกสังหารโดยพวกบอลเชวิคขณะที่มีพระชนมายุ 13 พรรษา การประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลียของมกุฎราชกุมารอเล็กซิสนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียในช่วงการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2460 นอกจากนั้นแล้วยังไม่เป็นที่ทราบแนชัดอีกว่าพระเชษฐภคินีทั้งสี่พระองค์ทรงเป็นพาหะของโรคหรือไม่ เนื่องจากทั้งสี่ทรงถูกสังหารพร้อมกับมกุฎราชกุมารอเล็กซิสก่อนที่จะมีพระโอรสและธิดา อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนเห็นว่า แกรนด์ดัชเชสมาเรีย พระธิดาองค์หนึ่งของจักรพรรดินีอเล็กซานดรา น่าจะทรงเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย เพราะพระองค์ทรงมีโลหิตออกมากระหว่างการผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (tonsillectomy)
- เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ (ต่อมาคือ วิกตอเรีย เมานท์แบ็ตเต็น มาร์ชเนสแห่งมิลด์ฟอร์ด ฮาเว็น) พระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าหญิงอลิซ และพระอัยยิกาในเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ อาจทรงได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมกลายพันธุ์ แม้หน่วยพันธุกรรม (gene) ได้ซ่อนตัวมาหลายรุ่นก่อนที่จะเกิดขึ้นมาอีกครั้งในเชื้อสายของเจ้าฟ้าหญิงมาร์การิตาแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระนัดดาองค์ใหญ่
- เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเฮสส์และไรน์ (ภายหลังคือ แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย) อาจเป็นหรือไม่ได้เป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรสธิดาเมื่อทรงถูกปลงพระชนม์โดยพวกบอลเชวิคในปี พ.ศ. 2461
- เจ้าหญิงมารีแห่งเฮสส์และไรน์ พระธิดาองค์เล็ก ก็ทรงอาจจะเป็นหรือไม่เป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลียด้วยเช่นกัน แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคคอตีบเมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา
เจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์
-
เจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์ พระราชโอรสองค์ที่แปดในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลีย และได้สิ้นพระชนม์ลงจากการตกพระโลหิตหลังจากหกล้ม พระองค์ทรงเจริญพระชนม์ถึง 30 พรรษา ซึ่งนานพอที่จะส่งผ่านพันธุกรรมโรคฮีโมฟิเลียสู่พระธิดาเพียงองค์เดียวคือ
-
เจ้าฟ้าหญิงอลิซแห่งออลบานี (ต่อมาคือ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน) ซึ่งทรงส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปสู่พระโอรสองค์ใหญ่คือ
- เจ้าชายรูเพิร์ตแห่งเท็ค สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์
-
เจ้าฟ้าหญิงอลิซแห่งออลบานี (ต่อมาคือ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน) ซึ่งทรงส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปสู่พระโอรสองค์ใหญ่คือ
เจ้าชายมอริสแห่งเท็ค พระโอรสองค์เล็กในเจ้าฟ้าหญิงอลิซ สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงเป็นทารก จึงไม่เป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นโรคฮีโมฟิเลียหรือไม่ ส่วนเลดี้ เมย์ อาเบล สมิธ พระนัดดาในเจ้าชายเลโอโพลด์ ไม่ได้เป็นพาหะอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากยังไม่ปรากฏโรคฮีโมฟิเลียในเชื้อสายเลย
เจ้าฟ้าหญิงเบียทริซ
-
เจ้าฟ้าหญิงเบียทริซ (ต่อมา เจ้าหญิงเฮนรีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก) พระราชธิดาองค์ที่เก้าและองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงส่งผ่านโรคฮีโมฟิเลียไปยังพระโอรสธิดาสองหรือไม่ก็สามพระองค์คือ
-
เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีเนียแห่งสเปน) ทรงส่งผ่านต่อไปยังพระโอรสสองพระองค์คือ
- เจ้าฟ้าชายอัลฟองโซแห่งสเปน เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 31 พรรษา จากการทรงตกพระโลหิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์
- เจ้าฟ้าชายกอนซาโลแห่งสเปน สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา จากการทรงตกพระโลหิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์
- เจ้าฟ้าหญิงเบียทริซและเจ้าฟ้าหญิงมาเรีย คริสตินาแห่งสเปน พระธิดาสองพระองค์ในเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนี ไม่ได้ทรงเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย เนื่องจากไม่มีเชื้อสายคนใดได้แสดงอาการของโรคนี้เลย
- เจ้าชายเลโอโพลด์แห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (ต่อมาคือ ลอร์ด เลโอโพลด์ เมานท์แบ็ตเต็น) สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 32 พรรษา ระหว่างการผ่าตัดหัวเข่า
- เจ้าชายมอริสแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก สิ้นพระชนม์ขณะทรงปฏิบัติการรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อพระชนมายุ 23 พรรษา การประชวรโรคฮีโมฟิเลียของเจ้าชายมอริสยังที่ถกเถียงกันอยู่ในแหล่งข้อมูลต่างๆ เพราะไม่น่าเป็นไปได้ว่าคนที่ป่วยด้วยโรคฮีโมฟิเลียจะได้รับอนุญาตให้ร่วมทำสงครามในสนามรบ
-
เจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจีเนียแห่งสเปน) ทรงส่งผ่านต่อไปยังพระโอรสสองพระองค์คือ
โรคฮีโมฟิเลียในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน โรคฮีโมฟิเลียได้สูญหายไปจากพระราชวงศ์ในทวีปยุโรปแล้ว เชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ประชวรด้วยโรคนี้คือ เจ้าชายกอนซาโลแห่งสเปน (24 ตุลาคม พ.ศ. 2457 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2477) นับแต่นั้นมีพระโอรสหลายพระองค์ได้ประสูติมาและไม่มีพระองค์ใดประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลียเลย แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังคงมีพันธุกรรมโรคฮีโมฟิเลียหลบซ่อนอยู่ในผู้หญิงแค่หน่วยพันธุกรรมเลวเพียงหนึ่งเดียว และเชื้อพระวงศ์สตรีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียยังคงมีชีวิตอยู่ในหลายพระราชวงศ์ในปัจจุบัน จึงยังคงมีโอกาสอยู่บ้างที่โรคฮีโมฟิเลียจะปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์สเปนของเจ้าหญิงเบียทริซ
- พระโอรสสององค์ในเจ้าหญิงเบียทริซแห่งสเปนไม่ได้ทรงเป็นโรคฮีโมฟิเลีย ส่วนเจ้าหญิงแซนดรา ตอร์โลเนีย พระธิดาองค์ใหญ่มีพระโอรสและธิดาสององค์ โดยพระโอรสของเจ้าหญิงแซนดรามิได้เป็นโรคฮีโมฟิเลีย และพระธิดามีบุตรชายสองคน ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีปรากฏโรคฮีโมฟิเลียเช่นกัน เจ้าหญิงโอลิมเปีย พระธิดาองค์เล็กในเจ้าหญิงเบียทริซ มีพระโอรสและธิดาหกองค์ โดยพอล ไวล์เลอร์ พระโอรสเพียงองค์เดียว ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุได้เพียง 4 ปี เขาอาจป่วยด้วยโรคฮีโมฟิเลียก็เป็นได้ ส่วนลอรา พระธิดาอีกคนหนึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็กเช่นกัน ส่วนพระธิดาคนโตสองคนคือ เบียทริซและซิบิลลา ได้สมรสและมีบุตรธิดา โดยไม่มีปรากฏว่ามีบุตรชายคนใดของทั้งสองคนเป็นโรคฮีโมฟิเลียเลย ส่วนพระธิดาองค์เล็กอีกสามคนยังไม่ได้สมรส แต่ก็ยังคงมีโอกาสที่จะเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลียด้วยเหมือนกัน
- เจ้าหญิงมาเรีย คริสตินาแห่งสเปนมีพระธิดาสี่องค์ ทั้งหมดมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลีย เคานเตสวิตตอเรีย มาโรเน พระธิดาคนโตมีบุตรีหนึ่งคนและบุตรชายสองคน ซึ่งไม่ได้เป็นโรคฮีโมฟิเลีย เคานท์เตสโจวานนา มาโรเน พระธิดาคนที่สองมีบุตรชายหนึ่งคน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นโรคฮีโมฟิเลียด้วยเช่นกัน ส่วนพระธิดาองค์เล็กจำนวนสองคนคือ เคานท์เตสมาเรีย เทเรซา มาโรเน และ เคานท์เตสแอนนา แซนดรา มาโรเน มีเพียงแต่บุตรีกันเท่านั้น โดยอิซาเบล บุตรีคนที่สองของเคานท์เตสมาเรีย เทเรซา ได้สมรสและมีเพียงบุตรสาวคนหนึ่งเท่านั้น นับว่ามีโอกาสที่พันธุกรรมโรคฮีโมฟิเลียยังคงอยู่ในเชื้อสายของเจ้าหญิงเบียทริซแห่งสหราชอาณาจักร
เฟอร์ดินานด์ ซอลท์มันน์
เชื้อพระวงศ์ยุคใหม่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียคนหนึ่งนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคฮีโมฟิเลียคือ เฟอร์ดินานด์ ซอลท์มันน์ พระโอรสในเจ้าหญิงซีเนียแห่งโฮเฮ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์ก ซึ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2548 เจ้าหญิงซีเนียทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ทางสายพระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่โรคทางพันธุกรรมไม่ได้ตกทอดมาทางสายราชตระกูลของพระมารดาของเจ้าหญิงคือ ราชตระกูลโครย (the Croÿs) หากโรคนี้ถ่ายทอดมาจากเจ้าหญิงซีเนีย จะมีความเป็นไปได้สองประการ อย่างแรกคือพระองค์ทรงได้รับพันธุกรรมของโรคนี้มาจากพระบิดาคือ เจ้าชายคราฟท์แห่งโฮเฮ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์ก ซึ่งเป็นสายพระโลหิตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียผ่านทางพระราชธิดา เจ้าชายคราฟท์ทรงมีปัญหาโลหิตแข็งตัวยาก ซึ่งทำให้เชื่อกันว่าพระองค์อาจทรงเป็นฮีโมฟิเลียแบบอ่อน หากเจ้าชายประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลีย ในฐานะที่เป็นพระธิดาของคนป่วยโรคฮีโมฟิเลีย เจ้าหญิงซีเนียมีโอกาสร้อยละร้อยในการเป็นพาหะ ส่วนความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ เจ้าหญิงซีเนียทรงมีการกลายพันธุ์แบบใหม่เกิดขึ้นในระบบพันธุกรรม เช่นเดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
เจ้าหญิงซีเนียทรงสืบเชื้อสายจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรมาในด้านพระบิดาจำนวนสองชั้น ผ่านทางพระราชโอรสและธิดาคือ เจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุคแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา เจ้าชายอัลเฟรดไม่ได้ทรงเป็นโรคฮีโมฟิเลีย แต่เจ้าหญิงอลิซทรงเป็นพาหะ ผ่านเชื้อสายลงมาถึงเจ้าหญิงซีเนีย และในที่สุดตกทอดมาสู่พระโอรสคือ เฟอร์ดินานด์ ซอลท์มันน์ ดังแผนภูมิต่อไปนี้
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย | ||||||||||||||
เจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร | ||||||||||||||
เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ | ||||||||||||||
เจ้าหญิงอลิซแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก | ||||||||||||||
เจ้าฟ้าหญิงมาร์การิตาแห่งกรีซและเดนมาร์ก | ||||||||||||||
เจ้าชายคราฟท์ เจ้าครองรัฐที่ 9 แห่งโฮเฮ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์ก | ||||||||||||||
เจ้าหญิงซีเนียแห่งโฮเฮ็นโลเฮ-แล็งเก็นบูร์ก | ||||||||||||||
เฟอร์ดินานด์ ซอลท์มันน์ | ||||||||||||||
ลำดับเวลาการสิ้นพระชนม์
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2444 จึงมีพระชนม์ชีพอยู่จนได้เห็นพระราชโอรสและพระราชภาคิไนย (หลานชาย) สิ้นพระชนม์ด้วยโรคฮีโมฟิเลีย มีการวินิจฉัยว่าพระราชภาคิไนยพระองค์หนึ่งประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลียเช่นกัน สำหรับสตรีคนหนึ่งที่ให้ความสนใจเรื่องการมี "เลือดบริสุทธิ์" ในพระราชวงศ์ การเปิดเผยเรื่องโรคทางพันธุกรรมที่อาจจะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ทายาทหลายรุ่นเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก ในปัจจุบันไม่มีสัญญาณของโรคเกิดขึ้นในทายาทรุ่นหลังๆ แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าโรคพันธุกรรมนี้เคยเกิดข้ามรุ่นมาแล้วหลายครั้ง
นอกจากมีการสิ้นพระชนม์ด้วยโรคฮีโมฟิเลียแล้ว พระราชโอรสและธิดาจำนวนสองพระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้สิ้นพระชนม์ก่อนพระองค์ ส่วนอีกหนึ่งพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไม่กี่เดือนหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์
# | พระนาม | สิ้นพระชนม์ | ความเกี่ยวข้องกับวิกตอเรีย |
---|---|---|---|
1 | เจ้าชายฟรีดริชแห่งเฮสส์และไรน์ | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2416 | พระราชภาคิไนย |
2 | เจ้าฟ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งอัลบานี | 28 มีนาคม พ.ศ. 2427 | พระราชโอรส |
3 | เจ้าฟ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย | 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 | พระราชปนัดดา |
4 | เจ้าชายมอริสแห่งบัตเต็นแบร์ก (การสิ้นพระชนม์ไม่เป็นที่ยืนยัน) | 27 ตุลาคม พ.ศ. 2457 | พระราชภาคิไนย |
5 | ลอร์ด เลโอโพลด์ เมานท์แบ็ตเต็น | 23 เมษายน พ.ศ. 2465 | พระราชภาคิไนย |
6 | เจ้าชายรูเพิร์ตแห่งเท็ค | 15 เมษายน พ.ศ. 2471 | พระราชปนัดดา |
7 | เจ้าฟ้าชายกอนซาโลแห่งสเปน | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2477 | พระราชปนัดดา |
8 | เจ้าฟ้าชายอัลฟองโซ เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส | 6 กันยายน พ.ศ. 2481 | พระราชปนัดดา |
9 | เจ้าฟ้าชายวัลเดมาร์แห่งปรัสเซีย | 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 | พระราชปนัดดา |
ประเภทของโรคฮีโมฟิเลียที่ค้นพบ
เนื่องจากสายพระโลหิตพระองค์สุดท้ายซึ่งเป็นโรคฮีโมฟิเลียในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2488 ประเภทของโรคฮีโมฟิเลียที่พบในพระราชวงศ์ของพระองค์ยังไม่ทราบแน่ชัดจนกระทั่งปี พ.ศ. 2552 การวิเคราะห์พันธุกรรมในกระดูกของราชวงศ์โรมานอฟที่ถูกสังหาร โดยเฉพาะกระดูกของแกรนด์ดยุคอเล็กซิส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ทำให้นายเยฟเจนี โรกาเอฟและทีมงานสามารถระบุได้ว่า โรคราชวงศ์ แท้จริงแล้วเป็น โรคฮีโมฟิเลีย ชนิดบี
- Potts, D.M. and W.T.W, Queen Victoria's Gene: Haemophilia and the Royal Family, Sutton Publishing, 2004. ISBN 0-7509-1199-9
- "Hemophilia: The Royal Disease" เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Family tree เก็บถาวร 2012-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน of Queen Victoria and her descendants
- Case Closed: Famous Royals Suffered From Hemophilia by Michael Price (October 8, 2009) เก็บถาวร 2010-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Genotype Analysis Identifies the Cause of the "Royal Disease" by Evgeny I. Rogaev (October 8, 2009)
- Another family tree