Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ไตเสียหายเฉียบพลัน
ไตเสียหายเฉียบพลัน (Acute kidney injury) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Acute renal failure (ARF) |
ภาพไตที่ถูกตัดส่งตรวจทางพยาธิวิทยา แสดงให้เห็นบริเวณเปลือกไต (cortex) มีสีซีด แตกต่างจากบริเวณเนื้อไต (medulla) ซึ่งยังมีสีเข้ม ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตจากภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน | |
สาขาวิชา | Nephrology, Urology |
ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute kidney injury, AKI) หรือเดิมใช้ชื่อว่าภาวะไตวายเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute renal failure, ARF) คือภาวะซึ่งร่างกายมีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างเฉียบพลัน มีสาเหตุหลากหลายตั้งแต่ภาวะปริมาตรเลือดต่ำทุกแบบ การได้รับสารซึ่งเป็นอันตรายต่อไต การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ และสาเหตุอื่น ๆ การวินิจฉัยภาวะไตเสียหายเฉียบพลันอาศัยลักษณะเฉพาะของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การมีระดับของยูเรียไนโตรเจนในเลือดและครีแอทินีนขึ้นสูง หรือการตรวจพบว่าไตผลิตปัสสาวะออกมาได้น้อยกว่าปกติ ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดเหตุเมตะบอลิก ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ยูเรียคั่งในเลือด เสียสมดุลของปริมาณสารน้ำในร่างกาย และส่งผลต่อระบบอวัยวะอื่น ๆ การให้การรักษาทำได้โดยให้การรักษาประคับประคอง เช่น การบำบัดทดแทนไต และการรักษาภาวะซึ่งเป็นสาเหตุ
อาการและอาการแสดง
อาการของภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเป็นผลมาจากความผิดปกติของการทำงานของไตที่เกิดจากโรคซึ่งเป็นสาเหตุ การมียูเรียและสารซึ่งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ คั่งในเลือด ทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน การมีโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นมากอาจทำให้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นมากจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้สมดุลสารน้ำในร่างกายมักเสียไป แต่ไม่ค่อยพบเกิดเป็นความดันเลือดสูง
อาการปวดชายโครงอาจพบได้ในบางภาวะ เช่น การมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดไต หรือไตอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดโดยผ่านการยืดของเยื่อหุ้มไต หากไตเสียหายเฉียบพลันนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำ อาจมีอาการและอาการแสดงของภาวะขาดน้ำให้ตรวจพบได้ เช่น อาการกระหายน้ำ และอาการแสดงอื่น ๆ เป็นต้น การตรวจร่างกายอาจช่วยให้พบภาวะซึ่งอาจเป็นสาเหตุของไตเสียหายได้ เช่น ผื่นซึ่งอาจพบในเนื้อไตอักเสบบางชนิด หรือคลำได้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอาจเป็นจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
นอกจากนี้การที่ไตไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ทำให้มีสารน้ำคั่งในร่างกาย คั่งในแขนขาทำให้แขนขาบวม คั่งในปอดทำให้น้ำท่วมปอด หรืออาจคั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อาจเป็นมากจนเกิดภาวะหัวใจถูกบีบรัดได้
สาเหตุ
การจำแนกประเภท
ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน ได้รับการวินิจฉัยจากประวัติทางคลินิกและข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการลดลงอย่างรวดเร็วในการทำงานของไต โดยวัดจากระดับครีแอทินินในซีรัม หรือจากการลดลงอย่างรวดเร็วของปัสสาวะที่เรียกว่าภาวะปัสสาวะน้อย (oliguria) (ในเวลา 24 ชั่วโมง ปัสสาวะน้อยกว่า 400 มล.)
ชนิด | UOsm | UNa | FeNa | BUN/Cr |
---|---|---|---|---|
ก่อนถึงไต | >500 | <10 | <1% | >20 |
ภายในไต | <350 | >20 | >2% | <10-15 |
พ้นจากไต | <350 | >40 | >4% | >20 |
ไตเสียหายเฉียบพลัน อาจเกิดจากโรคทางระบบ (เช่น อาการของโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่างเช่น โรคไตอักเสบลูปัส) การบาดเจ็บจากการกดทับ, สารทึบรังสี, ยาปฏิชีวนะบางชนิด และอื่น ๆ ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นเนื่องจากหลายกระบวนการ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดน้ำ และภาวะติดเชื้อร่วมกับยาที่เป็นพิษต่อไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัด หรือจากสารทึบรังสี
สาเหตุของไตเสียหายเฉียบพลันโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น ตำแหน่งก่อนถึงไต, ภายในไต และทางเดินปัสสาวะที่พ้นจากไต
ไตเสียหายเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ถึง 30% ของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจ มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 60–80% ในผู้ป่วยที่ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ระดับครีแอทินินก่อนการผ่าตัดที่มากกว่า 1.2 มก./ดล., หัตถการที่ทำกับลิ้นหัวใจและทำทางเบี่ยงหลอดเลือด, การผ่าตัดฉุกเฉิน และการใช้บอลลูนในหลอดเลือดแดงก่อนการผ่าตัด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับภาวะไตเสียหายเฉียบพลันหลังการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ปัจจัยเสี่ยงเล็กน้อยอื่น ๆ ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผู้ป่วยเพศหญิง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคเบาหวานที่ต้องใช้อินซูลิน และประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายที่ลดลง
ประวัติ
ก่อนความก้าวหน้าของการแพทย์แผนปัจจุบัน ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันถูกเรียกว่าเป็นภาวะของเสียคั่งในกระแสเลือด หรือ ยูรีเมีย (uremia) ซึ่งมีการปนเปื้อนของเลือดโดยปัสสาวะ ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1847 คำว่ายูรีเมีย ถูกใช้เพื่อหมายถึงภาวะปริมาณปัสสาวะออกลดลง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า oliguria โดยมาจากการสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ปัสสาวะผสมกับเลือดแทนที่จะถูกขับถ่ายออกทางท่อปัสสาวะ
ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเนื่องจากการตายของท่อไตเฉียบพลัน ได้ถูกวินิจฉัยในสหราชอาณาจักรในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 จากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดอะบลิตซ์ในลอนดอน ได้เกิดเนื้อร้ายของท่อไตเป็นบางส่วนขึ้น ซึ่งนำไปสู่การทำงานของไตที่ลดลงอย่างกะทันหัน ในช่วงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามอุบัติการณ์ของภาวะไตเสียหายเฉียบพลันลดลง เนื่องจากการให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำและการจัดการภาวะเฉียบพลันที่ดีขึ้น
แหล่งข้อมูลอื่น
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
ทั่วไป | |
---|---|
หลายระบบ |