Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ChAdOx1
ChAdOx1 คือไวรัสอะดีโนซึ่งใช้เป็นพาหะของวัคซีน ที่พัฒนาโดยสถาบันเจนเนอร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไวรัสเวกเตอร์นี้เป็นไวรัสอะดีโนในลิงชิมแปนซีที่ถูกดัดแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงการจำลองแบบ
ไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ (เวคเตอร์) ที่มีประสิทธิผลในการเหนี่ยวนำและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเซลล์ต่อแอนติเจนสายผสมที่เข้ารหัส อย่างไรก็ตามความชุกของตัวอย่างที่มีปริมาณแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ต่อเซโรไทป์ของไวรัสอะดีโนของมนุษย์ทำให้การใช้งานจำกัด แต่ไวรัสอะดีโนซิเมียนไม่มีข้อเสียในกรณีนี้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทดสอบวัคซีนใหม่โดยใช้ไวรัสอะดีโน ChAdOx1 ของลิงชิมแปนซีเป็นพาหะ ตัวอย่างเช่น วัคซีนสำหรับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้รับการออกแบบโดยใช้เวกเตอร์ที่แสดงแอนติเจนของไข้หวัดใหญ่ นิวคลีโอโปรตีน (NP) และโปรตีนเมทริกซ์ 1 (M1) เพื่อสร้างวัคซีนที่ชื่อ ChAdOx1 NP+M1
วิทยาไวรัส
ChAdOx1 ได้มาจากซีโรไทป์ของไวรัสอะดีโนซิเมียน (ChAd) Y25 ที่ดัดแปลงโดยกระบวนการผสมสารพันธุกรรมแลมบ์ดาเรด (λ red recombination) เพื่อแลกเปลี่ยนยีน E4 orf4, orf6 และ orf6/7 กับยีนจากไวรัสอะดีโน HAdV-C5 ของมนุษย์
การทดลองทางคลินิก
มีการแสดงให้เห็นว่าเวคเตอร์ไวรัส ChAdOx1 ในวงศ์ adenoviridae สามารถใช้ทำวัคซีนที่ป้องกันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ในหนูทดลอง และสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อ MERS ในมนุษย์ได้
ไวรัสพาหะยังใช้ในการสร้างวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ซึ่งมีประสิทธิภาพในหนูแฮมสเตอร์ (แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในมนุษย์) นอกจากนั้นยังมีการสร้างวัคซีนที่มีศักยภาพสำหรับโรคไข้ริฟต์แวลลีย์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันในแกะ แพะ และโค (แต่ไม่ได้มีการพิสูจน์ในมนุษย์)
ไวรัสอะดีโนที่แสดงแอนติเจน 85A (ChAdOx1 85A) ถูกใช้เป็นพาหะสำหรับวัคซีนวัณโรค
ในปี พ.ศ. 2560 มีการใช้ไวรัสพาหะ ChAdOx1 ในการทดลองวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียในมนุษย์ นักวิจัยได้ศึกษาวัคซีนทดลองสองชนิดคือ ChAdOx1 LS2 และ MVA LS2 โดยชนิดแรกได้เข้ารหัสแอนติเจน LS2 สองชนิดสำหรับโรคมาลาเรียระยะที่อยู่ในเซลล์ตับ (LSA1 และ LSAP2) ที่หลอมรวมกับโดเมนข้ามผ่านเยื่อหุ้มเซลล์จากสายโซ่ที่ไม่แปรเปลี่ยนของปลาฉลาม และชนิดหลังใช้ไวรัสพาหะ Modified Vaccinia Ankara (MVA) ที่เข้ารหัส LS2 โดยหลอมรวมกับปลาย C-terminal ของลำดับนำของตัวกระตุ้นพลาสมิโนเจนจากเนื้อเยื่อ (tPA) การทดลองดำเนินมาถึงระยะที่ I/IIa
นอกจากนี้ยังมีการตรวจค้นหาสายพันธุ์ที่ใช้เป็นไวรัสพาหะสำหรับวัคซีนต่อต้านไวรัสซิกา (ChAdOx1 ZIKV) และต่อต้านไวรัสชิคุนกุนยา (ChAdOx1 sCHIKV)
ไวรัสเวกเตอร์ ChAdOx1 ถูกใช้เป็นฐานสำหรับพัฒนาวัคซีนต่อต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดซาราห์ กิลเบิร์ตเป็นผู้นำโครงการวิจัยวัคซีนนี้ร่วมกับแอนดรูว์ พอลลาร์ด และคณะ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ChAdOx1 nCoV-19 หรือ AZD1222 ใช้ประโยชน์จากไวรัสพาหะนี้ โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม (peplomer) ของไวรัสโคโรนา การศึกษาในสัตว์ทดลองเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และการทดลองในมนุษย์มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วม 510 คนสำหรับการทดลองในระยะ I/II ซึ่งเริ่มในวันที่ 27 มีนาคม และผลการทดลองถูกนำเสนอในเดือนตุลาคม ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 วัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้ ในโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสหราชอาณาจักร