Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
กนิษฐา วิเชียรเจริญ
คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545) นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี เยาวชน และแม่ชีในศาสนาพุทธ ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี และ "มหาประชาบดีเถรีวิทยาลัย" วิทยาลัยแม่ชีแห่งแรกของประเทศไทย เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 ที่กรุงเทพมหานคร ในสกุล "สามเสน"
บิดาของคุณหญิงกนิษฐา เป็นทนายความและคหบดีที่มีชื่อเสียง ได้รับแต่งตั้งให้มีบทบาทเสมือน วุฒิสมาชิก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ใหม่ ๆ ทำให้ น.ส.กนิษฐา สามเสน ในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อด้านบัญชีและกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หลังจบมัธยมปลาย จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ในยุคที่สตรีไม่ค่อยจะได้รับการสนับสนุนให้เรียนสูงๆ ทำให้เป็นนักศึกษาหญิงเพียง 1 ใน 10 คนของผู้เรียนกฎหมาย ในชั้นปีเดียวกันกว่า 300 คน และคุณหญิงกนิษฐาเคยเป็นดาวเด่นได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ในการแข่งขัน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ อีกด้วย
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี ธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปีพ.ศ. 2488 ได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่ American University , Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Geneva University ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นผู้สนใจในงานด้านสังคมสงเคราะห์ จึงศึกษาเพิ่มเติมที่ Howard University ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเริ่มต้นทำงานที่ กรมสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ
คุณหญิงกนิษฐา สมรสกับ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 มีบุตรธิดาด้วยกันรวม 3 คนคือ
- 1. นายเอม วิเชียรเจริญ (สมรสกับ นางสาวศศี จินดาวณิค)
- 2.นางอานิก อัมระนันทน์ (สมรสกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน)
- 3. นายอาจ วิเชียรเจริญ (สมรสกับ ม.ล.วัลลีวรรณ วรวรรณ)
หลังจากแต่งงานและมีบุตร คุณหญิงกนิษฐาได้ลาหยุด เพื่อเลี้ยงดูบุตรอยู่ 3 ปี จึงได้เริ่มงานอีกครั้งที่ บริษัทแสตนดาร์ดแวคคัมออยส์จำกัด (ปัจจุบันคือ ESSO) และ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ปัจจุบันคือ ททท.) ตามลำดับ หลังจากนั้นได้ทำงานที่องค์การยูซอม (USOM ปัจจุบันคือ UNAID) และในที่สุดได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมไทยอเมริกัน ยาวนานถึง 21 ปี
ในปี พ.ศ. 2505 คุณหญิงกนิษฐารับตำแหน่ง นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย อีกตำแหน่งหนึ่งควบคู่กับตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมไทยอเมริกัน มีภารกิจหลัก คือการระดมนักกฎหมายสตรี มาให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ให้ประชาชนฟรีทุกวันเสาร์ โดยขอยืมใช้สถานที่ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่มาของ การได้รับรู้ปัญหาสตรีอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ได้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ ต่อสตรี และความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ อันนำไปสู่ การลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและเด็ก เช่น ล่อลวง ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ บังคับให้ค้าประเวณี เกิดปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม บ้างก็ถูกทารุณกรรม ทอดทิ้ง ติดเชื้อ HIV/AIDS จากบุคคลในครอบครัว ทำให้คุณหญิงกนิษฐาตัดสินใจเริ่มงานส่งเสริมสถานภาพสตรี ด้านกฎหมาย ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านศาสนา ตามลำดับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี แม่ชีในพุทธศาสนา และเยาวชน อย่างต่อเนื่องถึง 50 ปีในเวลาต่อมา
การทำงานเพื่อสิทธิสตรี แม่ชีในพุทธศาสนา และเยาวชน
เริ่มด้วยการรณรงค์ให้เกิดการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้หญิงและเด็ก ก่อตั้งกลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรีขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จัดให้มีโครงการบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อเป็นที่พักพิงของผู้หญิง ที่ประสบปัญหาเดือดร้อน โดยเริ่มต้นขึ้นที่บ้านของตัวเอง ต่อมาเมื่อสถานที่คับแคบ เพราะมีผู้เดือดร้อนมาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น จึงได้หาที่ทำการใหม่ และจดทะเบียนเป็น สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
บ้านพักฉุกเฉินนี้ ได้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของสตรี และเยาวชนที่ประสบปัญหาครอบครัว เช่น ท้องเมื่อไม่พร้อม หรือ ติดเชื้อ HIV/AIDS ถึงประมาณวันละ 150-200 คน โดยแต่ละคนได้รับการดูแลจากนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ตามหลักสังคมสงเคราะห์
เมื่อตั้งบ้านพักฉุกเฉินเป็นที่พึ่งเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว คุณหญิงกนิษฐาเห็นว่า การศึกษา เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนา คุณภาพชีวิต จึงได้จัดตั้ง ศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพสตรี เพื่อเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกลสายสามัญ ในระดับชั้นมัธยมศึกษา และเสริมหลักสูตรวิชาชีพ ให้แก่สมาชิก บ้านพักฉุกเฉินและผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งจัดตั้งคลินิกเพื่อรับปรึกษาปัญหาสุขภาพผู้หญิง ขึ้นในบริเวณเดียวกัน จากการทุ่มเททำงานเพื่อสังคม อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า จึงได้ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" ตั้งแต่นั้นมา และต่อมาก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. 2522 และ ทุติยจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. 2531
ในปี พ.ศ. 2533 เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และสร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับมิติของหญิงชาย คุณหญิงกนิษฐาได้ร่วมกับ คุณหญิงกนก สามเสน วิล (น้องสาว) และ ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ ก่อตั้ง สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ขึ้น เพื่อดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และรณรงค์ในระดับนโยบาย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสตรี ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่าง หญิงชายในสังคม
จนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536 ระหว่างที่ไปร่วมประชุมสตรีชาวพุทธสากล ครั้งที่ 3 ที่ประเทศศรีลังกา คุณหญิงกนิษฐาได้ตัดสินใจบวชเป็นแม่ชี ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่สาวๆ เพื่อมุ่งศึกษาพุทธธรรม และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง โดยมีภาพของภคินีคาทอลิกเป็นต้นแบบ และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสถานภาพแม่ชีไทย ให้ได้รับการศึกษาและได้รับการยอมรับ จนในที่สุดได้ก่อตั้ง "มหาประชาบดีเถรีวิทยาลัย" ซึ่งเป็นวิทยาลัยการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับสตรี แห่งแรกในประเทศไทยขึ้น ในสังกัดคณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้แม่ชี สามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เผยแพร่ธรรมะ กล่อมเกลาจิตใจแก่ประชาชน ให้ได้ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน
แม่ชีคุณหญิงกนิษฐาเห็นว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของชาติ จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์เยาวชนดอนเมืองร่วมพัฒนาสังคมไทย ขึ้นเพื่อฝึกอบรมเยาวชน ให้เป็นผู้นำ กล่อมเกลาให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม เคารพในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งปลูกฝังจิตสำนึก ให้รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเททำงานถึง 50 ปี ทำให้ แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา ได้รับยกย่องอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในฐานะบุคคลที่อุทิศตน เพื่อสังคมอย่างแท้จริง เป็นสตรี 1 ใน 12 คน ที่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นของโลก, เป็น 1 ใน 5 คนที่ได้รับรางวัล Sacred Souls Award, ได้รับรางวัล สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา, ได้รับโล่เกียรติคุณ ในฐานะบุคคลที่มีผลงานและบทบาทดีเด่น สาขาแก้ไขปัญหาโสเภณี อีกทั้งยังได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาสังคม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 สิริอายุที่สร้างคุณูปการแก่สังคมไทยได้ 82 ปี โดยได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
ประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์
- พ.ศ. 2484 : จบมัธยมศึกษา จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
- พ.ศ. 2488 : ปริญญาตรี ธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2489 : ศึกษาต่อทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ American University, D.C. และ Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่ L'Institut des Hautes Études Internationale, Geneva ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ ที่ Haward University Washington D.C. ประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2489-2492)
- พ.ศ. 2531 : ปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2538 : ปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประวัติการทำงาน
- พ.ศ. 2505 : นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ (พ.ศ. 2505-2508)
- พ.ศ. 2512 : นายกสมาคมสตรีนานาชาติแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2518 : ประธานกลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรี (พ.ศ. 2518-2525)
- พ.ศ. 2521 : ประธานกรรมการฝ่ายสตรีและแรงงาน สภาสตรีแห่งชาติ (พ.ศ. 2521-2523)
- พ.ศ. 2523 :
- เลขาธิการมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ. 2523-2537)
- ประธานโครงการช่วยเหลือหญิงและเด็กผู้มีความเดือดร้อนเฉพาะหน้า (พ.ศ. 2523-2541)
- พ.ศ. 2525 :
- นำกลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรี จดทะเบียนเป็นสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
- นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ (พ.ศ. 2525-2541)
- พ.ศ. 2531 : ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพฯ (พ.ศ. 2531-2541)
- พ.ศ. 2533 : ร่วมกับ คุณหญิงกนก สามเสน วิล และ ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ ก่อตั้ง สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
- พ.ศ. 2537 : เสนอรัฐบาลขอให้พิจารณาออกกฎหมายรับรองสถานภาพของแม่ชี
- พ.ศ. 2538 : เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยแม่ชี
- พ.ศ. 2539 : เป็นประธานโครงการจัดตั้งวิทยาลัยแม่ชี
- พ.ศ. 2541
- เสนอร่างพระราชบัญญัติคณะแม่ชี ต่อที่ประชุมใหญ่สถาบันแม่ชีไทย
- เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยแม่ชี โดยขอเข้าอยู่ในสังกัด มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- ประธานศูนย์เยาวชนดอนเมืองร่วมพัฒนาสังคมไทย
- กรรมการที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
- อุปนายกสมาคมเพื่อการพัฒนาสังคมไทย
- พ.ศ. 2542
- ได้รับอนุมัติให้เปิดโครงการนำร่อง มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ณ สมาคมฯ
- ประธานโครงการนำร่อง-มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในพระสังฆราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2543 : เสนอให้มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย เข้าอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ รับเข้าอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และทรงอนุมัติเงินจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้สร้างอาคารปฏิบัติธรรมฯ
กรรมการด้านสังคม
- กรรมการบริหารมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี
- กรรมการในคณะอนุกรรมการประสานการปฏิบัติการแก้ปัญหาธุรกิจทางเพศ ของคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.)
- กรรมการในคณะอนุกรรมการศึกษา อาชีพ และวัฒนธรรมของ กสส.
- กรรมการในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือ โสเภณีเด็ก ของ กสส.
- กรรมการในคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของ กสส.
- กรรมการในคณะอนุกรรมการ การมีส่วนร่วมในทางสังคมและการเมืองของ กสส.
- กรรมการในคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลเร่ร่อนขอทาน กระทรวง แรงงานและสวัสดิการสังคม - คณะอนุกรรมการประสานกิจกรรมองค์กรเอกชน ในคณะกรรมการอำนวยการ รณรงค์วันป้องกันโรคเอดส์ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข
- คณะอนุกรรมการด้านป้องกันควบคุมโรคเอดส์ และการจัดบริการในชุมชน (คณะที่ 1) ในคณะกรรมการประสานงานป้องกันและควบคุม โรคเอดส์ กระทรวง สาธารณสุข
- คณะอนุกรรมการด้านประสานงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับโรคเอดส์ (คณะที่ 8) ในคณะกรรมการประสานงานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการด้านโรคเอดส์ ที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก (คณะที่ 10)
ประสบการณ์ดูงานและร่วมประชุมนานาชาติ
- พ.ศ. 2504 : ดูงานศาลครอบครัวและสถานพินิจหญิงวัยรุ่น ประเทศญี่ปุ่น (จัดโดยสายการบินญี่ปุ่น)
- พ.ศ. 2516 : ดูงานสถานพินิจหญิงวัยรุ่น ประเทศไต้หวัน (จัดโดยสมาคมจีน-อเมริกัน)
- พ.ศ. 2518 : องค์การยูซอมและยูซิส เชิญไปสหรัฐอเมริกา และแวะดูงานต่างๆ คือ
- ดูงานสถานพินิจหญิงวัยรุ่น ประเทศอิสราเอล เยอรมนี และเดนมาร์ค
- ประชุมสหพันธ์นักกฎหมายสตรีนานาชาติที่เมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี
- ดูงานศาลครอบครัว ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, นิวยอร์ก, วอชิงตัน ดี ซี, และฮาวาย
- พ.ศ. 2520 : รัฐบาลออสเตรเลีย เชิญไปดูงานศาลครอบครัว บ้านพักผู้หญิง (Women's Shelter)
- พ.ศ. 2522 : ได้รับทุนยูเซต และมูลนิธิเอเชีย ไปประชุม National Women's Studies Association Conference ครั้งที่ 1 ที่ แคนซัส สหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสดูงานต่างๆ คือ
- ดูงานศูนย์สตรี (Women's Center) บ้านพักผู้หญิง (Women's Shelter) ที่แคนซัส วอชิงตันดีซี ซานฟรานซิสโก
- ดูงานศูนย์สุขภาพหญิงที่ลอสเองเจลลิส และศูนย์ช่วยเหลือหญิงที่ถูกข่มขืน 2 แห่ง ในนิวยอร์ก
- ดูงานสตรีศึกษา (Women's Studies) ที่ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
- ดูงานบ้านพักผู้หญิง โครงการพัฒนาสตรีและเยี่ยมสมาคมสตรี ประเทศเดนมาร์ค สวีเดน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮังการี
- พ.ศ. 2524 : ไปประชุม International Exchange Program เรื่องการศึกษาของสตรี โดยได้รับเชิญจากศูนย์การศึกษาสตรีแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น (National Women's Education Center, Ministry of Education, Japan)
- พ.ศ. 2527 : ไปประชุม Asian Women for Peace โดยได้รับเชิญจากสหพันธ์สตรีเวียดนาม ที่ประเทศเวียดนาม
- พ.ศ. 2530 : ได้รับเชิญจากสหพันธ์สตรีโซเวียต ประชุมครั้งแรกที่กรุงปรากค์ และมอสโค
- พ.ศ. 2531 : ประชุม NORIC FORUM ที่ประเทศนอร์เวย์ โดยได้รับเชิญจากสมาคมบ้านพักผู้หญิง ในสวีเดน และได้ไปบรรยายที่สมาคมสตรีหลายแห่ง ในสวีเดน
- พ.ศ. 2532 : ได้รับเชิญจากสหพันธ์สตรีโซเวียต ประชุมครั้งที่สอง ที่เมืองทัชเดนท์
- พ.ศ. 2533
- ได้รับเชิญประชุมเรื่อง "เอดส์" ที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย (มิถุนายน)
- ประชุมเรื่อง "การละเลิกสิ่งเสพติด" ที่ประเทศเดนมาร์ค (กรกฎาคม)
- พ.ศ. 2536
- ได้รับเชิญจาก Japan International Social Service (JISS) ประชุมเรื่อง "Our Children, Our Future" ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (1-5 มีนาคม)
- ได้รับเชิญจาก Sasakawa Foundation ไปประชุมเรื่อง "International Symposium on AIDS'93" ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (25 มีนาคม)
- ประชุม 4th Women in Asia Conference ที่มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ในหัวข้อ "The Need to Shelter the Battered Women of Asia"
- ประชุม Third International Conference on Buddhist Women ที่เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา จัดโดย สมาคมสตรีชาวพุทธนานาชาติ (Sakyadhita) (25-29 ตุลาคม)
- บวชเป็นแม่ชี ในพุทธศาสนา ที่ Sri Dhamma Buddhist Center เมือง Dehiwala, ศรีลังกา ไปปฏิบัติธรรมที่วัด Amaravati Buddhist Center, Hertfordshire ประเทศอังกฤษ (27 ตุลาคม)
- พ.ศ. 2537
- ไปประชุม 10th International Conference on AIDS ที่เมือง Yokohama ประเทศญี่ปุ่น (7-13 สิงหาคม)
- ไปปฏิบัติธรรมที่วัด Amaravati Buddhist Center ประเทศอังกฤษ (7-24 กันยายน)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)
รางวัลเกียรติยศอื่น ๆ
- พ.ศ. 2533 : ได้รับรางวัลสตรีดีเด่น 1 ใน 12 คน เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (มีนาคม)
- พ.ศ. 2537 : ได้รับรางวัล Sacred Souls Award 1 ใน 5 คน จาก Culture Care Foundation, New York, สหรัฐอเมริกา โดยมีพิธีที่เมืองจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย (17 ธันวาคม)
- พ.ศ. 2538 : ได้รับโล่เกียรติคุณ บุคคลที่มีผลงานและบทบาทดีเด่น ประจำปี 2537 สาขาการแก้ไขปัญหาโสเภณี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2538 จาก นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สำนักนายกรัฐมนตรี (1 มีนาคม)
- พ.ศ. 2545 : ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี 2545 จากคณะกรรมการมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก