Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
กลุ่มอาการมือแปลกปลอม
กลุ่มอาการมือแปลกปลอม (Alien hand syndrome) | |
---|---|
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-9 | 781.8 |
MeSH | D055964 |
กลุ่มอาการมือแปลกปลอม (อังกฤษ: alien hand syndrome, Dr Strangelove syndrome) หรือ กลุ่มอาการมือต่างดาว เป็นความผิดปกติทางประสาทที่มือของคนไข้เหมือนกับมีใจเป็นของตน เป็นกลุ่มอาการที่มีการรายงานมากที่สุดในกรณีที่คนไข้ได้รับการตัด corpus callosum ออก ซึ่งบางครั้งใช้เป็นวิธีบรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคลมชัก (epilepsy) ชนิดรุนแรง แต่ก็เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นด้วยในกรณีอื่น ๆ เช่นการผ่าตัดสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ เนื้องอก หลอดเลือดโป่งพอง และโรคสมองเสื่อมบางชนิดเช่นโรคอัลไซเมอร์ และ Creutzfeldt-Jakob disease ถึงอย่างนั้น ตั้งแต่ได้รับการค้นพบ ก็มีกรณีผู้ป่วยเพียงแค่ 40–50 กรณีเท่านั้นที่ได้รับการบันทึกไว้ เขตสมองที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการนี้ก็คือสมองกลีบหน้า สมองกลีบท้ายทอย และสมองกลีบข้าง
ประวัติ
กรณีแรกสุดที่รับการกล่าวถึงในเอกสารทางการแพทย์ปรากฏในรายงานที่บันทึกโดยละเอียดพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันในปี ค.ศ. 1908 โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันที่โด่งดังคือ ดร.เคิรต์ โกลด์สตีน ในรายงานนั้น ดร.โกลด์สตีนได้พรรณนาถึงหญิงถนัดมือขวาคนหนึ่งที่ประสบกับโรคหลอดเลือดสมองที่มีผลเสียหายต่อกายด้านซ้ายของเธอ ที่เธอได้ฟื้นตัวเป็นบางส่วนแล้วเมื่อเขาได้พบกับเธอ ถึงแม้กระนั้น แขนซ้ายของเธอดูเหมือนว่าจะเป็นของ ๆ อีกบุคคลหนึ่งและมักจะทำกิริยาต่าง ๆ ที่เป็นอิสระจากเจตนาของเธอ
เธอบ่นถึงความรู้สึกแปลกปลอมที่มีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมายของมือซ้ายของเธอ และยืนยันว่า "คนอื่น" เป็นคนขยับมือซ้ายนั้น และเธอเองไม่ได้เคลื่อนมือนั้น ดร.โกลด์สตีนรายงานว่า "เพราะเหตุนั้น ในตอนแรก คนไข้จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทแบบระแวง (paranoia)"
เวลาที่มือซ้ายของเธอฉวยจับสิ่งของ เธอก็ไม่สามารถที่จะปล่อยมือตามใจได้ ความรู้สึกทางกายด้านซ้ายของเธอมีความบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความรู้สึกเกี่ยวข้องกับตำแหน่งทิศทางของแขนขา เธอมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากบางอย่างในมือซ้าย เช่นการเช็ดหน้าหรือขยี้ตา แม้ว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ปกติเธอต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อที่จะทำอะไรที่เป็นของง่าย ๆ ด้วยแขนข้างซ้ายเพื่อทำตามคำสั่งที่ให้กับเธอ ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวอย่างนั้นก็เป็นไปอย่างช้า ๆ และบางครั้งก็ไม่สมบูรณ์ แม้ว่าการเคลื่อนไหวแบบเดียวกันจะเป็นไปอย่างง่ายดายแต่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจในขณะที่ควบคุมโดย "คนแปลกหน้า" (หรือบุคคลอื่น)
โดยใช้สังเกตการณ์เหล่านี้เป็นฐาน ดร.โกลด์สตีนได้ค้นคิด "หลักของภาวะเสียการรู้ปฏิบัติ" (doctrine of motor apraxia) ซึ่งเขากล่าวถึงกระบวนการเกิดขึ้นของการกระทำที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ และได้อธิบายสังเกตการณ์เหล่านี้ โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ค้นคิดขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เวลาสถานที่และแผนที่ในสมองที่เป็นแบบจำลองของเวลาสถานที่ รวมประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำ เจตนาความจำนงค์ใจ และกระบวนการรับรู้ระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างอื่น ๆ
ดร. โกลด์สตีนเชื่อว่า องค์รวมที่มาสัมพันธ์กันทั้งหมดเกี่ยวกับกาลเวลาสถานที่ที่มีการรับรู้ทั้งหมดทั้งจากภายในกาย (โดย interoception) และทั้งจากภายนอกกาย (โดย exteroception) มีความสำคัญทั้งในการรับรู้วัตถุต่าง ๆ ทั้งในการกระทำต่าง ๆ ทางกายที่มีเป้าหมาย โดยสัมพันธ์กับพื้นที่รอบ ๆ ตัวและวัตถุที่รับรู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ในเอกสารคลาสสิกที่สำรวจกลุ่มอาการหลงผิดมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะพยาธิในสมองโดยเฉพาะ นอร์แมน เกชวินด์ ได้กล่าวไว้ว่า ดร.โกล์ดสไตน์ "อาจจะเป็นบุคคลแรกที่เน้นความไม่เป็นเอกภาพของบุคลิกภาพในคนไข้ที่ได้รับการตัด corpus callosum ออก และผลทางจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการผ่าตัดนั้น"
ความคล้ายคลึงกับ anarchic hand syndrome
กลุ่มอาการมือไร้กฏบังคับ (anarchic hand syndrome) และ กลุ่มอาการมือต่างดาว (alien hand syndrome) มีความคล้ายคลึงกันแต่เป็นความผิดปกติที่แตกต่างกัน ในกรณีทั้งสอง จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ตั้งใจแต่มีเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นเองของมือและแขน และมีความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างด้านซ้ายขวาของกาย คนไข้ปกติจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีมือไร้กฏบังคับแทนมือต่างดาวถ้าอาการมักจะเกี่ยวข้องกับความบกพร่องในการเคลื่อนไหว (motor impairments) แต่คนไข้ยังยอมรับว่ามือที่มีความบกพร่องนั้นเป็นของตนแต่ว่าเบื่อหน่ายกับการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจของมือนั้น ส่วนคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีมือต่างดาวมักจะปรากฏความบกพร่องทางประสาทสัมผัส และมักจะแยกตนเองออกจากมือและการกระทำของมือ โดยบ่อยครั้งกล่าวว่า การกระทำของมือนั้นไม่ใช่เป็นของตน
อาการ
คนไข้ที่มีอาการมือต่างดาวยังมีความรู้สึกปกติในมือและขา แต่มีความเชื่อว่า ถึงแม้ว่ามือนั้นจะยังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของตน แต่มีความประพฤติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากความประพฤติปกติของตน คือ คนไข้สูญเสียความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายของมือนั้นเป็นของตน แม้ว่าจะยังรู้สึกว่ามือนั้นยังเป็นของตนอยู่ และคนไข้รู้สึกว่า ตนไม่สามารถจะควบคุมการเคลื่อนไหวของมือต่างดาวได้ คือรู้สึกว่า มือนั้นสามารถทำการได้โดยตนเอง เป็นอิสระจากการควบคุมใต้อำนาจจิตใจของคนไข้ มือนั้นเหมือนกับว่า มีเจตนาความจงใจที่เป็นของตนเอง
"ความประพฤติต่างดาว" สามารถแยกได้จากรีเฟล็กซ์ (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางกายนอกอำนาจจิตใจ) คือความประพฤติต่างดาวนั้นสามารถมีเป้าหมายหลายหลาก แต่รีเฟล็กซ์เกิดขึ้นแบบเดียวเป็นแบบบังคับ บางครั้ง คนไข้จะไม่รู้ว่ามือต่างดาวนั้นกำลังทำอะไรอยู่จนกระทั่งคนอื่นบอกคนไข้ หรือว่า จนกระทั่งมือนั้นทำอะไรที่เรียกร้องให้คนไข้สนใจพฤติกรรมของมือนั้น คนไข้มีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมของมือทั้งสอง คือคนไข้พิจารณามือที่มีปัญหาว่า "เอาแต่ใจ" และบางครั้ง "ดื้อ" และโดยทั่ว ๆ ไปไม่ได้อยู่ในอำนาจจิตใจ ในขณะที่มือที่ไม่มีปัญหาเป็นปกติเป็นมือที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจของตน บางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้ที่มีความเสียหายที่ไม่มีการฟื้นฟูใน corpus callosum ที่เชื่อมต่อซีกสมองซ้ายขวา มือทั้งสองจะปรากฏว่า ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน
ประสาทแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า ฟราซัว เรอร์มิตต์ ได้พรรณนาถึงกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกันที่คนไข้ไม่มีความยับยั้งใจในการใช้วัตถุต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว คือ คนไข้ไม่สามารถระงับตนเองจากพฤติกรรมการใช้สิ่งของที่อยู่รอบตัวตามที่ของนั้นจะใช้ได้ (เช่นเมื่อคนไข้เห็นลูกบิดประตู ก็จะต้องบิดลูกบิดนั้นโดยที่ห้ามตนเองไม่ได้)
กลุ่มอาการนี้ ซึ่งเรียกว่า utilization behavior มักเกิดขึ้นเมื่อคนไข้มีความเสียหายในสมองกลีบหน้าอย่างกว้างขวาง และอาจจะคิดได้ว่า เป็นกลุ่มอาการมือต่างดาวที่เกิดขึ้นทั้งในสองด้านของร่างกาย คือคนไข้ถูกควบคุมพฤติกรรมอย่างไม่สามารถระงับใจได้โดยตัวแปรในสิ่งแวดล้อม (เช่นมีแปรงผมอยู่บนโต๊ะข้างหน้า ทำให้คนไข้เริ่มแปรงผม) และไม่สามารถยับยั้งหรือห้ามโปรแกรมปฏิบัติการในสมองที่สัมพันธ์กับวัตถุภายนอกที่อยู่รอบ ๆ ตัว ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นในสมองกลีบหน้าทั้งสองซีก และเกิดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก คนไข้อาจสูญเสียความสามารถในการกระทำที่มีความตั้งใจที่เกิดขึ้นในตน และต้องอาศัยตัวแปรต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง เพื่อที่จะช่วยนำการกระทำของคนไข้ในสังคมสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Dependency Syndrome)
เพื่อที่จะรับมือกับอาการมือต่างดาว คนไข้บางพวกจะเริ่มตั้งชื่อให้กับมือที่มีปัญหา ชื่อเหล่านี้มักเป็นชื่อที่ไม่ดี จากชื่อย่อม ๆ เช่น "ไอ้ตัวทะลึ่ง" จนกระทั่งถึงชื่อที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปเช่น "ไอ้สัตว์ประหลาดจากดวงจันทร์" ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยดูดี้และแจงโควิกพรรณนาถึงคนไข้คนหนึ่งซึ่งเรียกมือต่างดาวของเธอว่า "ทารกโจเซ็ฟ" เมื่อมือนั้นกระทำการแบบขี้เล่นแต่สร้างปัญหาเช่นบีบหัวนมของเธอ (ซึ่งเหมือนกับทารกกัดนมแม่เมื่อกำลังดูดนม ดังนั้น เธอจึงเรียกมือของเธอด้วยชื่อนั้น) เธอก็จะรู้สึกขำและจะบอกทารกโจเซ็ฟว่า "หยุดซนนะ" ส่วนนักวิจัยโบเก็นเสนอว่า บุคลิกภาพบางอย่างของคนไข้เช่น บุคลิกหรูหราที่มีสีสัน มักจะนำไปสู่การตั้งชื่อของมือที่มีปัญหานั้น
เหตุในสมองที่สัมพันธ์กับโรค
งานวิจัยด้วยการสร้างภาพทางสมอง (neuroimaging) และทางพยาธิวิทยาแสดงว่า รอยโรคที่สมองกลีบหน้า โดยเฉพาะที่อยู่ทางด้านหน้า และ corpus callosum เป็นเหตุเกิดทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการมือต่างดาวมากที่สุด เขตสมองเหล่านี้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการวางแผนพฤติกรรมและเป็นวิถีประสาทช่วงสุดท้ายก่อนที่พฤติกรรมจะเกิดขึ้น
อาการที่เกิดจากรอยโรคที่ corpus callosum รวมการเคลื่อนไหวของมือที่ไม่ถนัดโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยที่คนไข้มักจะมีความขัดแย้งกันระหว่างมือทั้งสอง คือ มือหนึ่งจะทำงานเป็นปฏิปักษ์กับอีกมือหนึ่ง ตัวอย่างเช่น คนไข้คนหนึ่งยกบุหรี่ขึ้นมาที่ปากของตนด้วยมือที่ไม่มีปัญหาอะไร (คือมือขวาที่เธอถนัด) หลังจากนั้น มือต่างดาวข้างซ้ายที่ไม่ใช่มือถนัดก็จับตัวบุหรี่นั้น ดึงบุหรี่ออกจากปาก แล้วโยนมันทิ้งก่อนที่มือขวาที่ถนัด ที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ จะจุดบุหรี่นั้นได้ ดังนั้น คนไข้จึงคาดการณ์ว่า "ดิฉันเดาว่า 'เขา' คงไม่ต้องการให้ดิฉันสูบบุหรี่ม้วนนั้น" ส่วนคนไข้อีกคนหนึ่ง กำลังติดกระดุมเสื้อของตนด้วยมือถนัดที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ในขณะที่มือที่ไม่ถนัดเป็นมือต่างดาวก็พยายามจะถอดกระดุมเสื้อ
ส่วนอาการที่เกิดจากรอยโรคที่สมองกลีบหน้ามักจะมีผลต่อมือที่ถนัด แต่ก็มีผลต่อมือข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับซีกสมองกลีบหน้าด้านใน (medial) ที่เกิดความเสียหาย และมักจะมีผลเป็น grasp reflex, การลูบคลำวัตถุที่บังคับไม่ได้ และความยากลำบากในการปล่อยวัตถุที่อยู่ในมือ
แต่ในกรณีโดยมาก อาการมือต่างดาวแบบคลาสสิกเกิดจากความเสียหายในสมองกลีบหน้าด้านใน (medial) พร้อมกับ corpus callosum ในคนไข้พวกนี้ เหตุหลักของความเสียหายก็คือเนื้อคอร์เทกซ์ตายเหตุขาดเลือด (infarction) ที่มีในซีกสมองข้างเดียวหรือสองข้างในเขตที่หลอดเลือดแดง anterior cerebral artery หรือหลอดเลือดอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกันเป็นทางส่งเลือด หลอดเลือดแดง anterior cerebral artery ส่งเลือดพร้อมด้วยออกซิเจนไปยังส่วนด้านใน (medial) ต่าง ๆ โดยมากของสมองกลีบหน้าและไปยัง 2/3 ส่วนหน้าของ corpus callosum และเนื้อคอร์เทกซ์ตายอาจจะมีผลเป็นความเสียหายในจุดต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องกันในสมองที่รับเลือดมาจากหลอดเลือดนั้น เพราะว่าความเสียหายต่อสมองกลีบหน้าด้านในมักจะเกิดพร้อมกับรอยโรคใน corpus callosum อาการของโรคที่เกิดจากสมองกลีบหน้าอาจจะเป็นไปพร้อมกับอาการของโรคที่เกิดจากรอยโรคใน corpus callosum แต่ความเสียหายที่จำเพาะเจาะจงต่อ corpus callosum เท่านั้น มักจะไม่มีอาการของโรคที่เกิดจากสมองกลีบหน้า
ประเภทย่อย
มีประเภทย่อย ๆ ที่แตกต่างกันหลายประเภทของอาการนี้ที่ปรากฏสัมพันธ์กับความบาดเจ็บของสมองส่วนต่าง ๆ
Corpus callosum
ความเสียหายต่อ corpus callosum อาจจะก่อให้เกิดการกระทำมีเป้าหมายในมือที่ไม่ถนัดของคนไข้ คือ คนไข้ที่ถนัดขวามีสมองด้านซ้ายเป็นหลักก็จะประสบอาการนี้ในมือซ้าย และคนไข้ที่ถนัดซ้ายมีสมองด้านขวาเป็นหลักก็จะประสบอาการนี้ในมือขวา
ในประเภทย่อยนี้ มือต่างดาวของคนไข้ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อมือดีที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ อาการอื่นที่มักจะพบในคนไข้ประเภทย่อยนี้ก็คือ agonistic dyspraxia และ diagonistic dyspraxia
Agonistic dyspraxia มีอาการเป็นการเคลื่อนไหวอัตโนมัติอย่างบังคับไม่ได้ของมือหนึ่งเมื่อบอกให้คนไข้ทำการด้วยอีกมือหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อบอกคนไข้ที่มี Corpus callosum เสียหายให้ดึงเก้าอี้มาข้างหน้า มือที่มีปัญหาก็จะผลักเก้าอี้ไปข้างหลังอย่างไม่ลังเลและบังคับไม่ได้ ดังนั้น Agonistic dyspraxia จึงมองได้ว่าเป็นการกระทำแข่งขันกันที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจจิตใจระหว่างมือสองมือ มีเป้าหมายในการทำการงานที่ต้องการให้สำเร็จ โดยที่มือที่มีปัญหาแข่งกับมือที่ไม่มีปัญหา เพื่อทำงานมีจุดมุ่งหมายที่ตอนแรกตั้งใจให้มือที่ไม่มีปัญหาทำ
โดยเปรียบเทียบกันแล้ว Diagonistic dyspraxia เป็นการทำการขัดแย้งกันระหว่างมือที่ดีและมือที่มีปัญหาที่ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อจุดประสงค์ของการงานที่มุ่งหมายให้มือที่ไม่มีปัญหาทำ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้ได้รับการผ่าตัดที่ corpus callosum เพื่อที่จะลดระดับการชักเหตุโรคลมชัก มือต่างดาวข้างซ้ายของคนไข้คนหนึ่งมักจะทำการเป็นปฏิปักษ์กับมือขวา เช่น ในขณะที่กำลังจะพลิกหน้าหนังสือไปยังหน้าต่อไปด้วยมือขวา มือซ้ายก็พยายามที่จะปิดหนังสือ
ในอีกกรณีหนึ่งของมือต่างดาวที่เกิดจาก corpus callosum คนไข้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นปฏิปักษ์ของมือทั้งสอง แต่ว่ามีปัญหาจากมือที่มีปัญหาเคลื่อนไหวเลียนแบบมือที่ดีอย่างไม่ได้ตั้งใจ คือ เมื่อบอกคนไข้ให้เคลื่อนไหวมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งก็จะทำการเลียนแบบมืออีกข้างหนึ่งอย่างไม่มีเจตนา และเป็นไปอย่างนี้จนกระทั่งเตือนสติคนไข้ให้รับทราบถึงกิริยาของมือที่มีปัญหา แล้วให้คนไข้เลิกทำอาการเลียนแบบนั้น คนไข้คนนี้มีหลอดเลือดโป่งพองที่แตกออก (ruptured aneurysm) ใกล้กับหลอดเลือดแดง anterior cerebral artery ซึ่งมีผลให้มือซ้ายทำการเคลื่อนไหวเลียนแบบมือขวา คนไข้เล่าว่า มือซ้ายมักจะทำการเป็นปฏิปักษ์และเข้าไปควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่คนไข้พยายามจะทำด้วยมือขวา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพยายามที่จะจับแก้วน้ำด้วยมือขวาจากด้านขวา มือซ้ายก็จะยื่นออกไปจับแก้วจากด้านซ้าย
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ของเกชวินและคณะ เล่ากรณีของหญิงคนหนึ่งที่มีโรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง (ICD-10 I25.1) ขั้นรุนแรง คือ ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการผ่าตัดหัวใจแบบ bypass เธอสังเกตว่า มือซ้ายของเธอเริ่มจะ "มีชีวิตของมันเอง" มือนั้นบางครั้งพยายามปลดกระดุมเสื้อของเธอ บางครั้งพยายามจะบีบคอเธอเมื่อกำลังนอนหลับ และจะทำการต่อสู้กับมือขวาในการตอบโทรศัพท์อย่างไม่มีเจตนา เธอต้องยับยั้งมือที่มีปัญหาด้วยมือขวาโดยใช้กำลังเพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนั้นแล้ว มือซ้ายของเธอยังมีอาการ ideomotor apraxia ที่รุนแรงอีกด้วย คือมันยังสามารถที่จะลอกเลียนแบบการกระทำอยู่แต่ต้องทำพร้อมกับมือขวาที่ทำการลอกเลียนแบบไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้เครื่อง MRI เกชวินและคณะพบความเสียหายที่ครึ่งหลังของ corpus callosum โดยเว้นครึ่งหน้าและ splenium และยื่นเข้าไปเล็กน้อยใน white matter ของ cingulate cortex ในสมองซีกขวา
สมองกลีบหน้า (สมองด้านหน้า)
ความเสียหายด้านใน (medial) ต่อสมองกลีบหน้าซีกเดียวอาจมีผลเป็นการยื่นมือ การจับ และการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายอย่างอื่น ๆ ในมือด้านตรงข้าม ถ้าเป็นความเสียหายส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) ต่อสมองกลีบหน้า การเคลื่อนไหวมักจะเป็นแบบยื่นไปเพื่อสำรวจ โดยมักจะจับวัตถุภายนอกและใช้วัตถุนั้นตามกิจ ทั้ง ๆ ที่คนไข้ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองกำลัง "ควบคุม" การเคลื่อนไหวนั้น ๆ เมื่อจับวัตถุนี้ไว้ในมือแล้ว คนไข้ประเภทมีความเสียหายต่อ "สมองด้านหน้า" นี้ มักมีปัญหาในการปล่อยวัตถุจากมือ และบางครั้งอาจจะใช้มืออีกข้างหนึ่งที่ควบคุมได้ในการดึงนิ้วของมือต่างดาวออกจากวัตถุเพื่อที่จะปล่อยวัตถุนั้น นักวิชาการบางพวก (เช่นประสาทแพทย์ชาวนิวซีแลนด์ชื่อว่า เดเร็ก เด็นนี่-บราวน์) เรียกพฤติกรรมนี้ว่า magnetic apraxia (แปลว่า ภาวะเสียการรู้ปฏิบัติแบบแม่เหล็ก)
โกลด์เบอร์กและบลูมกล่าวถึงหญิงผู้หนึ่งซึ่งมีเนื้อตายเหตุขาดเลือด (infarction) ขนาดใหญ่ด้านหน้าของผิวด้านใน (medial) ของสมองกลีบหน้าซีกซ้าย ที่มีผลเป็นมือต่างดาวข้างขวา คนไข้ไม่ปรากฏว่ามี corpus callosum ที่ขาดหรือที่เสียหายใด ๆ คนไข้มี grasp reflex บ่อย ๆ คือ มือขวาของเธอจะยื่นออกไปแล้วจับวัตถุโดยที่ไม่สามารถจะปล่อย คนไข้ยิ่งพยายามที่จะปล่อยมือเท่าไร มือก็จะจับแน่นขึ้นเท่านั้น แต่ด้วยความพยายามที่มีสมาธิ ในที่สุดคนไข้ก็จะสามารถปล่อยวัตถุนั้นได้ แต่ถ้าไม่ใส่ใจเมื่อไร พฤติกรรมอย่างนี้ก็จะเริ่มขึ้นอีก คนไข้จะปล่อยมือโดยดึงนิ้วของตนเองออกจากวัตถุด้วยมือที่ไม่มีปัญหาโดยใช้กำลังก็ยังได้ นอกจากนั้นแล้ว มือที่มีปัญหาก็จะเกาขาของคนไข้จนกระทั่งว่าต้องใส่เครื่องป้องกันไม่ให้เกิดแผล ส่วนคนไข้อีกคนหนึ่งไม่เพียงแจ้งถึงการจับสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ โดยไม่ปล่อย แต่ว่ามือต่างดาวนั้นก็ยังจับองคชาตของคนไข้แล้วเริ่มทำการสำเร็จความใคร่ต่อหน้าคนอื่น
สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย (สมองด้านหลัง)
ส่วนประเภทอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการมือต่างดาวมีความเกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อสมองกลีบข้างหรือ/และสมองกลีบท้ายทอย คือเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจาก "สมองด้านหลัง" อาการแบบนี้มักจะดึงฝ่ามือออกไม่ให้กระทบสัมผัสอะไรนาน ๆ มากกว่าที่จะยื่นออกไปจับวัตถุเพื่อจะให้เกิดการเร้าที่ฝ่ามือเหมือนในอาการที่เกิดจาก สมองด้านหน้า คือ ในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหน้า การกระทบสัมผัสที่ฝ่ามือหรือหน้านิ้วมีผลเป็นการงอนิ้วกำวัตถุโดยผ่านกระบวนการสัญญาณป้อนกลับเชิงบวก (คือ ตัวกระตุ้นก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ส่งเสริม เพิ่มกำลัง และทรงไว้ซึ่งสัญญาณกระตุ้นที่เริ่มกระบวนการมาตั้งแต่ทีแรก)
ในนัยตรงกันข้าม ในอาการที่เกิดจากสมองด้านหลัง จะมีการหลีกเลี่ยงการกระทบสัมผัสที่ฝ่ามือหรือหน้านิ้วโดยการคลายนิ้วและถอนฝ่ามือออก เป็นกระบวนการสัญญาณป้อนกลับเชิงลบ (นั่นก็คือ ตัวกระตุ้นก็ดี หรือแม้แต่การคำนึงถึงตัวกระตุ้นก็ดี ที่ฝ่ามือ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวมือและนิ้วที่ลด ขัดขวาง และกำจัดตัวกระตุ้นที่เริ่มกระบวนการนั้น หรือ ในกรณีที่เป็นเพียงแต่การคำนึงถึงการกระทบที่ฝ่ามือหรือนิ้ว ก็จะลดโอกาสที่จะทำให้เกิดการกระทบสัมผัสอย่างนั้น)
การเคลื่อนไหวต่างดาวในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหลังมักจะมีการประสานงานกันในระดับที่ต่ำกว่า และมักจะปรากฏการเคลื่อนไหวแบบไม่ละเมียดละไมที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานงานกันที่ปกติไม่พบในกลุ่มอาการที่เกิดจากสมองด้านหน้า เชื่อกันว่าอาการอย่างนี้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (ataxia) ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นเนื่องจากว่า อาการจะเกิดขึ้นเพราะมีการเห็นวัตถุทางตาและมีการใส่ใจในวัตถุนั้น อาการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกันอาจจะเกิดขึ้นเพราะการทำงานขัดแย้งกันระหว่างความโน้มเอียงในการหลีกเลี่ยงการกระทบสัมผัสวัตถุที่นำไปสู่การถอยออกจากวัตถุ และการจับตาที่วัตถุซึ่งมักจะนำไปสู่การเข้าไปหาวัตถุ
แขนขาต่างดาวที่เกิดจากสมองด้านหลังอาจมีอาการ "ลอยขึ้นไปในอากาศ" คือมีการดึงแขนขาออกจากการสัมผัสพื้นผิวของวัตถุโดยการใช้กล้ามเนื้อที่ต่อต้านแรงโน้มถ่วง และมือต่างดาวที่เกิดจากสมองด้านหลังอาจจะปรากฏท่าทางที่เป็นแบบอย่างอย่างหนึ่ง คือ จะมีการยืดนิ้วทั้งหมดออกไปโดยมีการยืดข้อระหว่างนิ้ว (interphalangeal) ออก, มีการยืดในระดับสูง (hyper-extension) ซึ่งข้อที่โคนนิ้ว (metacarpophalangeal) ออก, และมีการดึงฝ่ามือออกจากผิววัตถุต่าง ๆ ที่เข้ามาใกล้หรือดึงขึ้นมาไม่ให้กระทบกับผิวของพื้น ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวแบบต่างดาวก็ยังปรากฏโดยมีเป้าหมาย ซึ่งเป็นอาการที่แยกกลุ่มอาการนี้จากการเคลื่อนไหวแขนขานอกอำนาจจิตใจอย่างอื่น ๆ เช่น athetosis, chorea, หรือกล้ามเนื้อกระตุกรัว (myoclonus)
ความคล้ายคลึงกันระหว่างอาการที่เกิดจากสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง
ในอาการที่เกิดจากทั้งสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง การตอบสนองของคนไข้ต่อการที่มือสามารถทำการงานอย่างมีจุดมุ่งหมายเป็นอิสระจากอำนาจจิตใจมีความคล้ายคลึงกัน และในกรณีทั้งสองนั้น อาการมือต่างดาวเกิดขึ้นที่มือตรงข้ามกับซีกสมองที่มีความเสียหาย
ทฤษฎีที่ใช้อธิบาย
องค์ประกอบที่เหมือนกันในอาการมือต่างดาวก็คือ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของมือถูกแยกออกจากคอร์เทกซ์ก่อนสั่งการ (premotor cortex) แต่ไม่มีความเสียหายในการปฏิบัติการเคลื่อนไหวของมือ
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 ที่ใช้ fMRI ในการสังเกตลำดับการทำงานของเครือข่ายคอร์เทกซ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจของคนปกติ พบ "ลำดับการทำงานจากหน้าไปหลัง จาก supplemental motor area, ผ่าน premotor cortex และ motor cortex, ไปยัง posterior parietal cortex" ดังนั้น ในการเคลื่อนไหวแบบปกติ ความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency) ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับการทำงานไปตามลำดับ ที่ในตอนแรกเกิดขึ้นที่สมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับ supplementary motor complex ในผิวด้านในของซีกสมองส่วนหน้า) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการทำงานของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิที่รอยนูนก่อนร่องกลาง (pre-central gyrus ที่ด้านข้างของซีกสมอง) ซึ่งเป็นที่ที่การสั่งการเคลื่อนไหวของมือเกิดขึ้น หลังจากการทำงานของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ ที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติการ (การเคลื่อนไหว) โดยส่งพลังประสาทเข้าไปในลำเส้นใยประสาทคอร์เทกซ์-ไขสันหลัง (corticospinal tract) ก็จะมีการติดตามด้วยการทำงานใน posterior parietal cortex ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการรับสัญญาณป้อนกลับของความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นที่ปลายประสาทเพราะการเคลื่อนไหว และจะมีการแปลผลประสานกับก๊อปปี้สัญญาณ efference copy ที่ได้รับมาจากคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ จึงมีผลให้การเคลื่อนไหวนั้นปรากฏว่าเป็นของตน ไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวมีเหตุจากปัจจัยภายนอก
นั่นก็คือ efference copy ยังสมองให้สามารถแยกแยะความรู้สึกทางกายที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดจากภายใน และความรู้สึกที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีปัจจัยภายนอก ความล้มเหลวของกลไกนี้ อาจส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะระหว่างการเคลื่อนไหวแขนขาที่มีกำเนิดในตน และที่เกิดจากเหตุภายนอก สถานการณ์ที่ผิดปกติเช่นนี้สามารถนำไปสู่การแปลผลที่ผิดพลาดจากความจริงว่า การเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดจากภายในจริง ๆ เป็นเหมือนกับการเคลื่อนไหวที่เกิดจากภายนอก ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการสร้างความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency) สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวที่มีกำเนิดในตน
ส่วนงานวิจัยปี ค.ศ. 2007 ซึ่งสำรวจความแตกต่างกันของแบบการทำงานในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่างดาวเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ ในคนไข้คนหนึ่งที่มีอาการมือต่างดาว พบว่า การเคลื่อนไหวต่างดาวมีการทำงาน "เป็นต่างหาก" อย่างผิดปกติของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิในซีกสมองที่มีความเสียหายซึ่งอยู่ในด้านตรงข้ามกับมือต่างดาว ในขณะที่การเคลื่อนไหวปกติมีกระบวนการทำงานเป็นลำดับดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิในซีกสมองที่ไม่เสียหายมีการทำงานร่วมกับ premotor cortex ที่อยู่ข้างหน้า และ posterior parietal cortex (ที่อยู่ข้างหลัง) โดยสันนิษฐานว่า premotor cortex ส่งสัญญาณเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่ต้องการให้กับคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (ที่ทำการสั่งการเคลื่อนไหว) และระบบรับความรู้สึกทางกายส่งสัญญาณเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นให้กับ posterior parietal cortex อย่างทันที
โดยประมวลผลงานวิจัยที่ใช้ fMRI ทั้งสองนี้ ก็จะสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่า พฤติกรรมต่างดาวที่ไม่เป็นไปพร้อมกับความรู้สึกว่าเป็นตน เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานที่เกิดขึ้นเองของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ ที่เป็นอิสระจากอิทธิพลก่อนการสั่งการเคลื่อนไหวของ premotor cortex ที่ปกติมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่าเป็นตนเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวนั้น
และดังที่กล่าวไว้แล้วด้านบน สมมุติฐานนี้ก็สามารถเชื่อมกับความคิดเกี่ยวกับ efference copy และข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว คือ efference copy เป็นสัญญาณที่มีสมมุติฐานว่า เกิดใน premotor cortex (ที่ปกติเกิดขึ้นในกระบวนการเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใน) ที่ส่งไปสู่คอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายในสมองกลีบข้าง ก่อนที่คอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายจะรับสัญญาณป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ที่มาจากอวัยวะที่รับสัญญาณสั่งการเคลื่อนไหวนั้น
โดยทั่วไปแล้ว เชื่อกันว่า สมองสามารถรู้จำการเคลื่อนไหวหนึ่งว่าตนเป็นต้นกำเนิด เมื่อสัญญาณ efference copy มีค่าเท่ากับสัญญาณป้อนกลับที่ส่งมาจากอวัยวะ คือ สมองสามารถสัมพันธ์สัญญาณป้อนกลับที่มาจากอวัยวะกับสัญญาณของ efference copy เพื่อที่จะแยกแยกสัญญาณป้อนกลับที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของตนและสัญญาณที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยภายนอก และถ้าสมองไม่สร้าง efference copy ไว้ สัญญาณป้อนกลับที่มากจากอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตนก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เพราะว่า สมองไม่สามารถสัมพันธ์การเคลื่อนไหวนั้นกับ efference copy ดังนั้น ความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้เกิดจากตนแม้ว่าจริง ๆ แล้วจะเกิดขึ้นในตน (คือการไม่มีความรู้สึกว่าเป็นของตนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวนั้น) อาจจะเป็นตัวชี้ว่า มีความล้มเหลวในการสร้างสัญญาณ efference copy ที่ปกติแล้วเกิดขึ้นในกระบวนการก่อนการสั่งการ (premotor process) ที่ซึ่งจะมีการวางแผนการเคลื่อนไหวก่อนที่จะเกิดการปฏิบัติการ
เนื่องจากว่า ความรู้สึกว่าเป็นอวัยวะของตนไม่มีความเสียหายในกรณีนี้ และไม่มีคำอธิบายที่ดีว่า อวัยวะของตนนั้นเคลื่อนไหวไปเองอย่างมีเป้าหมายโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตนได้อย่างไร ความไม่ลงรอยกันทางปริชาน (cognitive dissonance) ก็จะเกิดขึ้นซึ่งสามารถแก้ได้โดยสมมุติว่า การเคลื่อนไหวมีเป้าหมายนั้น เกิดจากพลังของมนุษย์ต่างดาว (หรือของคนอื่น) ที่ไม่สามารถจะกำหนดได้ เป็นพลังภายนอกที่สามารถอำนวยการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายในอวัยวะของตนได้
ทฤษฎีการขาดความเชื่อมต่อ
มีสมมุติฐานว่า อาการมือต่างดาวเกิดขึ้นเมื่อมีการขาดความเชื่อมต่อกันระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ เขตต่าง ๆ ในสมองสามารถที่จะสั่งการเคลื่อนไหว แต่ไม่สามารถที่จะสร้างความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ดังนั้น จึงเกิดความเสียหายหรือความสูญเสียของความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency) ที่ปกติเกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ คือ มีการแยกออกระหว่างกระบวนการที่ทำการปฏิบัติการเคลื่อนไหวอวัยวะทางกายภาพจริง ๆ และกระบวนการที่สร้างความรู้สึกภายในว่า เป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวเหล่านั้นโดยเจตนา โดยที่กระบวนการหลังนี้ปกติก่อให้เกิดความรู้สึกภายในใจว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่มีการเกิดขึ้น การควบคุม และการปฏิบัติการโดยตนเองที่กำลังกระทำการเคลื่อนไหวนั้นอยู่
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้สำรวจความสัมพันธ์ทางประสาทของการเกิดความรู้สึกว่าเป็นตน (sense of agency) ในกรณีปกติ และดูเหมือนว่า จะมีความสอดคล้องกันระหว่างสัญญาณที่เกิดขึ้นแล้วส่งไปทางประสาทนำออกสู่กล้ามเนื้อในร่างกาย กับสิ่งที่รู้สึกได้ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลในประสาทส่วนปลายที่สืบเนื่องมาจากสัญญาณนำออกที่เป็นตัวสั่งการนั้น แต่ในกลุ่มอาการมือต่างดาว กลไกประสาทที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความสอดคล้องนี้อาจจะเกิดความเสียหาย นี่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกลไกทางสมองที่แยกแยะระหว่างสัญญาณป้อนกลับที่เกิดจากการเคลื่อนไหว (re-afference) (คือ ความรู้สึกป้อนกลับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ตนเองเป็นผู้ให้เกิดขึ้น) และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวของอวัยวะเพราะปัจจัยภายนอกเป็นเหตุโดยที่ตนเองไม่ได้ทำอะไร
มีการเสนอว่า กลไกทางสมองอย่างนี้ เป็นไปพร้อมกับการสร้างก๊อปปี้ของสัญญาณสั่งการที่เรียกว่า efference copy (ก๊อปปี้ของสัญญาณส่งออก) แล้วส่งไปในเขตสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับความรู้สึกทางกาย แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณที่เรียกว่า corollary discharge (ผลที่ควรจะขจัดออก) ซึ่งควรจะมีความสัมพันธ์กับสัญญาณนำเข้าจากประสาทส่วนปลายที่เกิดขึ้นจากการกระทำการตามการสั่งการของสัญญาณที่ส่งออก ดังนั้น สหสัมพันธ์ระหว่างสัญญาณ corollary discharge กับสัญญาณนำเข้าจริงที่ป้อนกลับมาจากประสาทส่วนปลาย ก็จะสามารถใช้ในการตัดสินว่า การกระทำที่ต้องการได้เกิดขึ้นตามที่คาดหวังหรือไม่ เมื่อผลจริงของการกระทำที่ได้รับทางความรู้สึกมีความสอดคล้องกันกับผลที่คาดหวัง การกระทำนั้นก็จะได้รับการระบุว่า เป็นสิ่งที่ตนทำให้เกิด และได้รับการสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าเป็นตน
แต่ว่า ถ้ากลไกทางประสาทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างระบบสั่งการและระบบความรู้สึกเกี่ยวกับการกระทำที่ตนก่อให้เกิดขึ้นมีความเสียหาย ก็จะหวังได้ว่า ความรู้สึกว่าเป็นตนในการกระทำนั้น จะไม่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไว้แล้วในส่วนก่อน ๆ
ทฤษฎีการสูญเสียการควบคุมแบบยับยั้งของผู้กระทำ
อีกทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการเสนอเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ เสนอว่า มีระบบประสาทส่วน premotor และส่วน "ผู้กระทำ" ที่แยกออกจากกัน ที่มีส่วนในกระบวนการแปลความตั้งใจในการกระทำไปเป็นการกระทำจริง ๆ คือ ระบบสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) ส่วนที่เป็น premotor ร่วมการทำงานในกระบวนการอำนวยการกระทำแบบสำรวจหรือเข้าไปหาวัตถุ ที่อาศัยความผลักดันภายในเป็นฐาน โดยการปล่อยหรือลดการควบคุมแบบยับยั้งต่อการกระทำเหล่านั้น
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้งานหนึ่งที่รายงานการบันทึกสัญญาณประสาทระดับนิวรอนในสมองกลีบหน้าด้านในในมนุษย์ แสดงการทำงานของนิวรอนที่ระบุในบริเวณนี้ก่อนการเคลื่อนไหวจริง ๆ ของนิ้วที่เป็นไปใต้อำนาจจิตใจ ก่อนถึง 2–3 ร้อยมิลลิวินาที และผู้เขียนสามารถตั้งแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ (computational model) ที่สามารถพยากรณ์เจตนาของการกระทำเมื่อความเปลี่ยนแปลงของอัตราการยิงสัญญาณของกลุ่มนิวรอนในสมองเขตนี้ข้ามขีดเริ่มเปลี่ยน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในระบบสมองส่วนนี้ ทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุมแบบยับยั้งและนำไปสู่การกระทำเกี่ยวกับการสำรวจและการถือเอาวัตถุที่เป็นไปอย่างอิสระ
ส่วนระบบประสาท premotor ที่ตั้งอยู่ที่จุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายทอย ส่วนหลังด้านข้าง (posterolateral) ก็มีทั้งการควบคุมแบบยับยั้งคล้าย ๆ กัน ต่อการกระทำที่ถอยออกจากวัตถุในสิ่งแวดล้อม และทั้งการควบคุมแบบเร้าให้เกิดการกระทำ ที่อาศัยความผลักดันจากสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างจากความผลักดันที่เกิดขึ้นในภายใน ระบบสองระบบที่อยู่ในสมองซีกเดียวกันนี้ (คือสมองกลีบหน้าและกลีบสมองส่วนหลัง) แต่ละระบบก่อให้เกิดการทำงานแบบตรงกันข้ามกัน ทำงานร่วมกันโดยการยับยั้งการกระทำตรงกันข้ามกัน โดยสร้างเสถียรภาพระหว่าง การเข้าไปหาวัตถุ (คือความตั้งใจที่จะถือเอา ที่จะแตะต้องและจับเอาวัตถุที่กำลังใส่ใจ) กับการถอยออกจากวัตถุ (คือความตั้งใจที่จะหลีกออก ที่จะหนีห่างออกจากวัตถุที่กำลังใส่ใจ) อันเป็นโปรแกรมพฤติกรรมของอวัยวะด้านตรงข้ามของซีกสมอง และโดยร่วมกันแล้ว ระบบเหล่านี้ประกอบประสานกันเป็นระบบ "ผู้กระทำ" ที่ควบคุมอวัยวะทั้งสองข้าง
เมื่อระบบสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน (anteromedial) มีความเสียหาย การเคลื่อนไหวที่ประกอบด้วยจุดมุ่งหมายแต่ไม่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ที่เข้าไปสำรวจ เข้าไปจับ (เป็นพฤติกรรมที่ นักวิจัยเด็นนี่-บราวน์เรียกว่า "positive cortical tropism ความเบนแบบบวกของคอร์เทกซ์") ก็ถูกปล่อยออก (คือไม่มีการยับยั้ง) ในอวัยวะด้านตรงกันข้ามของซีกสมอง นี้เรียกว่า positive cortical tropism เพราะว่าสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส เช่นความรู้สึกสัมผัสที่เกิดขึ้นที่ด้านหน้าของนิ้วหรือฝ่ามือ มีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวที่เพิ่มหรือยกระดับการเร้าผ่านการเชื่อมต่อป้อนกลับแบบบวก (ดูที่กล่าวมาแล้วด้านบนเกี่ยวกับ "สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย")
แต่ถ้าระบบประสาทที่จุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายท้อย ส่วนหลังด้านข้าง (posterolateral) เกิดความเสียหาย การเคลื่อนไหวประกอบด้วยจุดมุ่งหมายที่อยู่นอกอำนาจจิตใจที่เป็นไปในลักษณะของการปล่อยและการดึงออก เช่นการยกขึ้นหรือการหลีกเลี่ยงโดยสัญชาตญาณ (เป็นพฤติกรรมที่เด็นนี่-บราวน์เรียกว่า "negative cortical tropism ความเบนแบบลบของคอร์เทกซ์") ก็ถูกปล่อยออก (คือไม่มีการยับยั้ง) ในอวัยวะด้านตรงกันข้ามของซีกสมอง นี้เรียกว่า negative cortical tropism เพราะว่าสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส เช่นความรู้สึกสัมผัสที่เกิดขึ้นเนื่องจากด้านหน้าของนิ้วหรือฝ่ามือ มีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวที่ลดหรือกำจัดการเร้าผ่านการเชื่อมต่อป้อนกลับแบบลบ (ดูที่กล่าวมาแล้วด้านบนเกี่ยวกับ "สมองกลีบข้างและสมองกลีบท้ายทอย")
ระบบผู้กระทำในแต่ละซีกสมองมีความสามารถในการควบคุมแขนขาในด้านตรงข้ามอย่างเป็นอิสระ (จากกันและกัน) แม้ว่า การควบคุมที่มีการประสานงานกันของมือทั้งสองจะเป็นไปโดยปกติเพราะมีการสื่อสารกันระหว่างซีกสมองทั้งสอง โดยการส่งแอกซอนข้าม corpus callosum ในระดับเปลือกสมอง และข้ามเส้นประสาทเชื่อมโยง (commissures) อื่น ๆ ในระดับใต้เปลือกสมอง (subcortical)
ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างซีกสมองทั้งสองข้าง ก็คือการเชื่อมต่อโดยตรง ระหว่างระบบผู้กระทำของซีกสมองหลัก (คือซีกสมองด้านตรงข้ามกับมือที่ถนัด) กับระบบการเข้ารหัสซึ่งตั้งอยู่โดยหลักในซีกสมองหลัก ที่เชื่อมการกระทำกับกำเนิดของการกระทำ และการกระทำกับการแปลผลเป็นภาษาและความคิดที่ใช้ภาษา นั่นก็คือ ระบบผู้กระทำหลักในสมองที่ไม่มีปัญหาอยู่ในซีกสมองหลักซึ่งมีการเชื่อมต่อกับระบบภาษา มีการเสนอว่า แม้ว่าระบบสั่งการจะได้รับการพัฒนาก่อนระบบภาษาในช่วงพัฒนาการ แต่ว่า ก็จะมีกระบวนการในช่วงพัฒนาการที่ระบบภาษาจะรับการเชื่อมต่อกับระบบสั่งการ เพื่อที่จะสร้างสมรรถภาพการเข้ารหัสความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำโดยใช้ภาษา
เมื่อมีการขาดการเชื่อมต่อกันอย่างสำคัญระหว่างซีกสมองทั้งสองข้างที่เกิดจากความเสียหายที่ corpus callosum ระบบผู้กระทำในซีกสมองหลักที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ซึ่งยังสามารถควบคุมแขนขาที่ถนัดก็จะสูญเสียโดยระดับหนึ่ง ซึ่งความสามารถในการควบคุมโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งผู้กระทำที่อยู่ในซีกสมองที่ไม่เป็นใหญ่ และซึ่งแขนขาที่ไม่ถนัด เป็นแขนขาที่ก่อนหน้านั้นตอบสนองและ "เชื่อฟัง" ผู้กระทำหลัก ดังนั้น การกระทำมีจุดมุ่งหมายที่เกิดขึ้นนอกเหนืออิทธิพลของผู้กระทำหลัก ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และสมมุติฐานพื้นฐาน (ที่สมองมีอยู่) ว่า มือทั้งสองนั้นมีการควบคุมโดยผู้กระทำหลัก ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความรู้สึกว่าเป็นตนที่ปกติเกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวของแขนขาที่ไม่ถนัด ก็จะไม่เกิดขึ้นในกรณีนี้ หรือว่า เกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏให้รับรู้ได้ ดังนั้น คนไข้จึงต้องสร้างคำอธิบายใหม่ เพื่อที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ผู้กระทำในซีกสมองที่ไม่เป็นหลักสามารถที่จะก่อให้เกิดการทำงานในแขนขาที่ไม่ถนัด
ในกรณีเช่นนี้ ผู้กระทำที่แยกออกเป็นสองพวกสามารถควบคุมการกระทำที่เกิดขึ้นได้อย่างพร้อม ๆ กันในแขนขาทั้งสองข้าง แต่กลับทำการมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันข้ามกันแม้ว่ามือที่ถนัดก็ยังมีความสืบเนื่องจากผู้กระทำหลัก ที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่สามารถจะเข้าถึง (คือรับรู้) ได้ และที่ปรากฏว่า "ยังอยู่ใต้อำนาจจิตใจ" และยังเชื่อฟังต่อเจตนาความมุ่งหวัง คือยังสามารถควบคุมได้โดยความคิด
แต่ในขณะเดียวกัน มือที่ไม่ถนัดกลับได้รับการอำนวยการโดยผู้กระทำที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่มีเจตนาความจงใจที่ผู้กระทำหลักสามารถรู้ได้โดยอ้อมหลังเหตุการณ์เท่านั้น คือมือนั้นขาดการเชื่อมต่อและไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้กระทำหลักอีกต่อไป และดังนั้น มือนั้นจึงได้รับการระบุจากผู้กระทำหลักที่เชื่อมต่อกับระบบภาษา ที่สามารถควบคุมได้ ว่ามีผู้กระทำต่างดาว (หรือผู้กระทำอื่น) อีกพวกหนึ่งที่เข้าถึงไม่ได้ และมีความเป็นไปแยกอยู่ออกต่างหาก
เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้ จึงสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของพฤติกรรมต่างดาวในแขนขาที่ไม่ถนัด และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันระหว่างแขนขาทั้งสอง เมื่อมีความเสียหายต่อ corpus callosum และอาการมือต่างดาวที่ต่าง ๆ กันที่เกิดจากความเสียหายในสมองกลีบหน้าส่วนหน้าด้านใน และ/หรือในส่วนเชื่อมต่อของสมองกลีบขมับ สมองกลีบข้าง และสมองกลีบท้ายทอย ส่วนหลังด้านข้าง สามารถอธิบายได้โดยความเสียหายในซีกสมองเฉพาะส่วนซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบผู้กระทำส่วนหน้า หรือส่วนหลัง โดยที่อาการต่าง ๆ ของมือต่างดาวที่สัมพันธ์กับความเสียหาย ที่เฉพาะเจาะจง ย่อมเกิดขึ้นที่แขนขาด้านตรงกันข้ามของซีกสมองที่มีความเสียหาย
การบำบัดรักษา
ยังไม่มีวิธีรักษากลุ่มอาการมือต่างดาว แต่ว่า สามารถลดและบริหารอาการต่าง ๆ ได้โดยระดับหนึ่งโดยให้ใช้มือต่างดาวทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นให้ถือวัตถุในมือ นอกจากนั้นแล้ว การเรียนรู้เพื่อทำการงานอาจจะฟื้นฟูการควบคุมมือใต้อำนาจจิตใจได้ในระดับที่มีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น คนไข้คนหนึ่งมีอาการมือต่างดาวแบบสมองด้านหน้าเสียหาย และมักจะยื่นมือออกไปจับวัตถุต่าง ๆ (เช่นลูกบิดประตู) เมื่อกำลังเดิน คุณหมอจึงได้ให้ถือไม้เท้าในมือเมื่อเดิน แม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ไม้เท้าในการทรงตัวหรือในการเดิน แต่เมื่อถือไม้เท้านั้นไว้มั่นในมือต่างดาว มือก็จะไม่ปล่อยแล้วทิ้งไม้เท้าลงเพื่อจะออกไปถือเอาอะไรอย่างอื่นอีก เทคนิคอย่างอื่น ๆ อีกที่ได้ผลมีทั้ง เอามือหนีบไว้ในระหว่างขา หรือตีมือนั้น และการใช้น้ำอุ่น ๆ รด หรือการให้มองหรือแตะที่อื่น นอกจากนั้นแล้ว วูและคณะ ยังพบว่า การใช้สัญญาณเตือนที่น่ารำคาญที่เริ่มทำงานเมื่อมือต่างดาวทำการที่นอกอำนาจจิตใจ ลดช่วงเวลาที่มือต่างดาวนั้นเข้าไปถือเอาวัตถุ
ถ้ามีความเสียหายเพียงข้างเดียวต่อซีกสมอง โดยทั่ว ๆ ไป พฤติกรรมต่างดาวก็จะค่อย ๆ ลดความถี่ลงตามกาลเวลา และการควบคุมที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจก็จะดีขึ้นในมือที่มีปัญหา คือ จริง ๆ แล้ว เมื่ออาการมือต่างดาวเกิดขึ้นโดยฉับพลันเพราะความเสียหายที่ไม่กระจัดกระจายไป (คืออยู่เฉพาะที่) การฟื้นตัวมักจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี ทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายการฟื้นฟูนี้ได้ ก็คือว่า สภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuroplasticity) ในซีกสมองทั้งสองข้างและในระบบประสาทใต้เปลือกสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ อาจเป็นเหตุในการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการปฏิบัติการกับกระบวนการให้กำเนิดความรู้สึกว่าเป็นตนขึ้นใหม่ แต่กระบวนการเช่นนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจดี
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการแจ้งถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอาการมือต่างดาว เมื่อมีความเสียหายเพียงแค่ซีกเดียวของสมอง และในบางกรณี คนไข้อาจจะต้องใช้วิธีจำกัดการกระทำที่นอกลู่นอกทาง ไม่น่าพึงใจ และบางครั้งทำให้เกิดความอาย ของมือที่มีปัญหา โดยจับแขนของมือนั้นด้วยมือที่ไม่มีปัญหา
โดยอีกวิธีหนึ่ง หมอสอนคนไข้ให้ทำการงานอย่างหนึ่ง เช่นเอามือต่างดาวไปแตะวัตถุหนึ่ง หรือแตะจุดเป้าหมายที่เด่นชัดเทียบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งที่คนไข้สามารถฝึกมือให้เป็นไปตามอำนาจจิตใจโดยอาศัยความตั้งใจและสมาธิ เพื่อที่จะครอบงำพฤติกรรมต่างดาวเสีย เป็นไปได้ว่า วิธีการฝึกเหล่านี้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบใหม่ของนิวรอนในระบบ premotor ในซีกสมองที่มีความเสียหาย หรือโดยอีกทฤษฎีหนึ่ง ก็คือ สมองข้างเดียวกันที่ไม่มีปัญหาอาจจะขยายการควบคุมแขนที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น
อีกวิธีหนึ่งก็คือการบรรเทาการกระทำของมือต่างดาว และการจำกัดสัญญาณความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มาจากมือนั้น โดยปิดมือโดยเครื่องปกคลุมเช่นอุปกรณ์พยุง (orthosis) เฉพาะกิจที่ทำด้วยโฟม หรือแม้แต่ถุงมือทำครัว (ที่ใช้เพื่อป้องกันความร้อน) คนไข้บางพวกรายงานว่า ได้ใช้อุปกรณ์พยุงที่ห้ามการยึดจับที่ไม่ยอมเลิก หรือยับยั้งมือต่างดาวโดยผูกไว้ที่เสาเตียง แต่ว่า วิธีเหล่านี้จำกัดคนไข้จากการใช้มือที่มีปัญหานั้นในการทำการงานอย่างอื่น ซึ่งอาจจะพิจารณาได้ว่า เป็นวิธีที่จำกัดมากเกินไป และอีกอย่างหนึ่ง ตามทฤษฎีแล้ว วิธีนี้อาจจะทำกระบวนการฟื้นฟูการควบคุมมือต่างดาวนั้นให้เนิ่นช้า คือ สภาพพลาสติกของระบบประสาท (neuroplasticity) ที่เป็นผลจากการฟื้นฟูอาจต้องอาศัยการฝึกควบคุมมือนั้นซ้ำ ๆ กันในการทำกิจต่าง ๆ และอาจต้องอาศัยการเสริมกำลังโดยผ่านประสบการณ์ที่สำเร็จผลในการปราบปรามพฤติกรรมต่างดาวที่เกิดขึ้นในขณะฝึกมือนั้น
ที่ปรากฏในสื่อ
- ในภาพยนตร์ Dr. Strangelove ของ สแตนลีย์ คูบริก ปี ค.ศ. 1964 ตัวละครชื่อเดียวกับภาพยนตร์ที่เล่นโดยปีเตอร์ เซ็ลเลอร์ส มีอาการมือต่างดาว ดังนั้น อาการกลุ่มนี้จึงมักจะเรียกโดยนามของภาพยนตร์นี้
- ในละครชุดเฮาส์ เอ็ม.ดี.ตอน Both Sides Now (แปลว่า คราวนี้ เอาทั้งสองข้างนะ!) คนไข้มีอาการมือต่างดาว
- ในนวนิยาย L'Arbre des Possibilitées (ต้นไม้แห่งความเป็นได้) ของเบอร์นารด์ เวอร์เบอร์ นายตำรวจผู้หนึ่งมีมือข้างหนึ่งที่ทำฆาตกรรมในช่วงที่เขามีอาการมือต่างดาว
- ในหนังสารคดี Dark Matters (เรื่องลึกลับ) ที่ฉายผ่านช่อง Science เล่าถึงอาการมือต่างดาวและถึงความเป็นมาของโรค
- ในภาพยนตร์ Evil Dead II ตัวละครแอชถูกบีบบังคับให้ตัดมือขวาของตัวเองออกเมื่อมือถูกผีสิง ภายหลังเขาทดแทนมือของตนด้วยเลื่อยยนต์เพื่อสู้กับพวกซอมบี
- ในละครตลกร้ายชุด "The League of Gentlemen (สันนิบาตสุภาพบุรุษ)" ตอน "The One-Armed Man is King (คนแขนเดียวนั่นแหละเป็นพระราชา)" ผู้ถูกตัดแขนแลนซ์ได้รับแขนมาจากหญิงคนหนึ่งที่มีจิตใจของตนเอง คือแขนนั้นมีพฤติกรรมเหมือนกับแขนของเจ้าของคนก่อน
- ในภาพยนตร์ "Idle Hands (มือไร้งาน)" ตัวละครแอนตันถูกบีบบังคับให้ตัดมือขวาของตนเองออกเมื่อมือนั้นถูกผีสิงและฆ่าคนโดยที่เขาไม่รู้ตัว
- มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ของจิม แคร์รี่ย์เรื่อง "ขี้จุ๊เทวดาฮากลิ้ง (Liar Liar)" ที่ตัวร้ายสูญเสียการควบคุมมือขวาของเขาอย่างชั่วคราว แล้วมือนั้นก็เขียนคำว่า "blue (น้ำเงิน)" บนใบหน้าของเขาซ้ำ ๆ กัน
- ในนวนิยาย "Peace on Earth (สันติสุขบนโลก)" ผู้เขียนสแตนิสลาฟ เล็ม ใช้การผ่าตัด corpus callosumออก เป็นส่วนสำคัญของโครงเรื่อง
ดูเพิ่ม
บรรณานุกรม
- Bellows, Allen (19 พฤศจิกายน 2005). "Alien Hand Syndrome". Damn Interesting. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2011.
- "Definition of Alien Hand Syndrome". MedicalNet.com. 15 ธันวาคม 2000. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
- Cross reference articles on Alien Hand Syndrome by LA Scepkowski & A Cronin-Golomb
- Editorial paper regarding the different forms of Alien Hand Syndrome by G Goldberg
- Recent review article from the Archives of Neurology by I. Biran and A. Chatterjee
- Information about the rare disorder, as well as how many times it has influenced the media.
- BBC Video: Woman with Alien Hand Syndrome