Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การครุ่นคิด (จิตวิทยา)

การครุ่นคิด (จิตวิทยา)

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

การครุ่นคิด (อังกฤษ: Rumination) เป็นการใส่ใจอย่างหมกมุ่นในอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับความทุกข์/ปัญหาของตน และในเหตุและผลที่อาจเป็นไปได้ของความทุกข์ แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา ทั้งความครุ่นคิดและความกลุ้มใจ (worry) สัมพันธ์กับความวิตกกังวล (anxiety) และอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ แต่ว่าก็ยังไม่มีวิธีการเดียวที่ตกลงใช้วัดระดับของมัน

ตามทฤษฎี Response Styles Theory เสนอในปี 1998 (โดย Nolen-Hoeksema) ความครุ่นคิดนิยามว่าเป็น "การใส่ใจอย่างหมกมุ่นในอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับความทุกข์/ปัญหาของตน และในเหตุและผลที่อาจเป็นไปได้ของความทุกข์ แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา" และเพราะว่าทฤษฎีนี้ได้หลักฐานเชิงประสบการณ์สนับสนุน ดังนั้นจึงเป็นแบบจำลองของความครุ่นคิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด แต่ว่าก็ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่เสนอนิยามอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในทฤษฎี Goal Progress Theory ความครุ่นคิดไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาวะของพื้นอารมณ์ แต่เป็น "การตอบสนองต่อความล้มเหลวที่จะก้าวหน้าอย่างน่าพอใจไปยังเป้าหมายอย่างหนึ่ง" บทความนี้แสดงแบบจำลองหลายอย่างของความครุ่นคิดและหมายจะแยก "ความครุ่นคิด" จากแนวคิด/โครงสร้างทางจิตวิทยาอื่น ๆ ที่อาจดูคล้ายกันหรือเหลื่อมกัน

ทฤษฎี

Response styles theory

ทฤษฎีสไตล์การตอบสนอง (อังกฤษ: Response styles theory, ตัวย่อ RST) ดั้งเดิมนิยามความครุ่นคิดว่า เป็นการใส่ใจอย่างไม่ได้ตั้งใจ (passive) และอย่างซ้ำ ๆ ในอาการซึมเศร้าของตน และในเหตุและผลที่เป็นไปได้ของอาการเหล่านั้น หลักฐานที่ยืนยันนิยามนี้มาจากผลงานวิจัยที่แสดงว่า การครุ่นคิดมีส่วนทำให้เกิด ดำรงรักษา และทำอาการซึมเศร้าต่าง ๆ ให้แย่ลง และมีส่วนในการสำแดงอาการ (episodes) ของโรคซึมเศร้า ในปี 2008 ผู้ตั้งทฤษฎีได้ขยายนิยามของความครุ่นคิดนอกเหนือไปจากความซึมเศร้า โดยรวมการใส่ใจอาการของความทุกข์ที่ไม่ได้ตั้งใจและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยทั่วไป เพราะว่าความครุ่นคิดปรากฏกว่ามีส่วนร่วมกับความผิดปกอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ความซึมเศร้า ทฤษฎี RST ยังยืนยันด้วยว่า การหันไปใส่ใจเรื่องที่ดี (positive distraction) เป็นทางเลือกที่ดีแทนการครุ่นคิด คือใส่ใจในสิ่งเร้าเชิงบวกเรื่องอื่นแทนที่จะใส่ใจในความทุกข์ของตน แต่ว่า ก็มีวรรณกรรมอื่น ๆ ที่แสดงว่า การหันไปใส่ใจเรื่องที่ดี อาจไม่สามารถช่วยเท่ากับที่เคยคิดมาก่อน

Self-regulatory executive function model

แบบจำลอง self-regulatory executive function (S-REF) เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปรกติทางอารมณ์ (affective dysfunction) ยืนยันว่า ความครุ่นคิดสามารถอธิบายได้อย่างแม่นยำภายในแบบจำลองของการควบคุมตัวเองแบบหลายระดับ (multilevel model of self-regulation) โดยเฉพาะแล้ว แบบจำลอง S-REF นิยามการครุ่นคิดไว้ว่า "ความคิดซ้ำ ๆ ที่เกิดจากความพยายามเพื่อรับมือความขัดแย้งในตัวเอง (self-discrepancy) โดยมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติการต่อข้อมูลเกี่ยวกับตนเองเป็นหลักและไม่ใช่เพื่อการกระทำมีเป้าหมายแบบทันที" หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อบุคคลกำลังครุ่นคิด เขามุ่งที่จะตอบคำถามอย่างเช่น

  • ฉันรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้
  • ฉันจะเปลี่ยนความคิดความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
  • ฉันจะป้องกันความคิดความรู้สึกที่ไม่ดีในอนาคตได้อย่างไร

แต่ว่า ในการตอบปัญหาเหล่านี้ คนที่กำลังครุ่นคิดมักจะใส่ใจที่อารมณ์ของตนเอง (คือ ปฏิบัติการต่อข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง) แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา (คือ การกระทำที่มีเป้าหมาย) ความสำนึกรู้ความคิดของตนเอง (Metacognition) เป็นส่วนสำคัญของแบบจำลอง S-REF และช่วยอธิบายการเชื่อมต่อกันระหว่างการครุ่นคิดและความซึมเศร้า โดยเฉพาะก็คือ ผู้ที่เชื่อในเชิงบวก (เป็น metacognitive belief) ว่าการครุ่นคิดมีประโยชน์ (เช่น ฉันต้องครุ่นคิดเหตุการณ์ร้ายในอดีตเพื่อที่จะเข้าใจ) จะมีแรงจูงใจในการครุ่นคิดต่อไป และเมื่อเริ่มครุ่นคิดแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับการครุ่นคิดจะเปลี่ยนเป็นเชิงลบ คือว่ามันเป็นทุกข์ (เช่น การครุ่นคิดทำให้ฉันป่วยทางกาย) ควบคุมไม่ได้ (เช่น การครุ่นคิดหมายถึงฉันควบคุมตัวเองไม่ได้) และมีผลลบทางสังคม ความเชื่อ (ที่เป็น metacognitive belief) เชิงลบจะมีส่วนให้เกิดและดำรงความซึมเศร้า

Goal progress theory

ทฤษฎี Goal progress theory (ตัวย่อ GPT) อธิบายการครุ่นคิดว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะก็คือ GPT มองการครุ่นคิดว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Zeigarnik effect ซึ่งแสดงว่า บุคคลจะจำข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ยังไม่เสร็จได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว จากมุมมองนี้ GPT นิยามการครุ่นคิดไว้ว่า "ความโน้มเอียงที่จะคิดถึงบ่อย ๆ ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญ และสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่ยังไม่ได้" หรือที่ยังไม่ก้าวหน้าอย่างเพียงพอ ทฤษฎี GPT พยากรณ์ว่า บุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่คิดถึงได้ง่ายมีโอกาสสูงกว่าที่จะครุ่นคิด ซึ่งเป็นการพยากรณ์ที่มีหลักฐานจากงานศึกษาหลายงาน

พยาธิสภาพ

งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับผลของการครุ่นคิด หรือความโน้มเอียงที่จะพิจารณาตัวเอง (self-reflect) แสดงว่าการครุ่นคิดเชิงลบจะขัดขวางสมาธิในการแก้ปัญหา และมีผลเป็นการหมกมุ่นอยู่ในความคิดเชิงลบเกี่ยวกับความล้มเหลวในอดีต หลักฐานจากงานศึกษาแสดงว่า ผลลบของการครุ่นคิดมากจากความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) เช่นความเอนเอียงทางความจำหรือการใส่ใจ ซึ่งทำให้บุคคลคิดเลือกเอาแต่สิ่งเร้าเชิงลบ ความโน้มเอียงที่จะครุ่นคิดในเชิงลบดำรงอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เพียงแค่คนครุ่นคิดเป็นประจำเท่านั้นที่เกิดความซึมเศร้า งานศึกษาแบบทดลองได้แสดงแล้วว่า บุคคลที่ถูกชักจูงให้ครุ่นคิดประสบกับความรู้สึกซึมเศร้ามากกว่า มีหลักฐานด้วยว่า การครุ่นคิดสัมพันธ์กับความวิตกกังวลทั่วไป ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ การดื่มเหล้าเพื่อให้เมา (binge drinking) ความผิดปกติในการรับประทาน และพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

ความครุ่นคิดตอนเแรกเชื่อกันว่า เป็นตัวพยากรณ์ช่วงเวลาของอาการซึมเศร้า กล่าวอีกอย่างก็คือ การครุ่นคิดถึงปัญหา สมมุติว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการซ้อมความจำ (memory rehearsal) ซึ่งเคยเชื่อว่าทำประสบการณ์ซึมเศร้าให้ยาวนานขึ้น แต่หลักฐานปัจจุบันแสดงว่า แม้ว่าการครุ่นคิดจะมีส่วนก่อความซึมเศร้า แต่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับช่วงเวลาการเกิดอาการ

รูปแบบและเรื่องที่คิด

การพยากรณ์ว่าอะไรเป็นเรื่องที่บุคคลครุ่นคิด ต่าง ๆ กันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของทฤษฎี ทฤษฎีบางอย่างเสนอว่า การครุ่นคิดจะสนใจที่ความรู้สึกเชิงลบ และ/หรือ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้น (รวมทั้งทฤษฎี RST, rumination on sadness, Trapnell and Campbell, stress-reactive rumination, post-event processing model) มีทฤษฎีอื่นที่พยากรณ์ว่า เป็นการคิดถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างสถานะของตนในปัจจุบันและสถานะที่ต้องการ (goal progress, conceptual evaluative model of rumination) และทฤษฎีอื่น ๆ เสนอว่า ตีมเชิงลบในเรื่องความควบคุมไม่ได้และความเสียหายที่จะมีใน metacognition เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ความคิดสามัญที่เป็นลักษณะของการครุ่นคิดก็คือการถามความอยู่เป็นสุขของตนเอง และการสนใจในเรื่องเหตุและผลของอาการซึมเศร้าของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น "ทำไมฉันจึงเป็นคนไม่เอาไหนเช่นนี้" "ทำไมฉันจึงอารมณ์ไม่ดีอย่างนี้" หรือว่า "ทำไมฉันไม่รู้สึกอยากจะทำอะไรเลย"

ความแตกต่างทางทฤษฎีอีกอย่างก็คือกาลเวลาของเรื่องที่คิด โดยมีหลายทฤษฎีสมมุติว่า สามารถเกี่ยวข้องทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ส่วนบางทฤษฎีสมมุติว่า เป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบัน แต่ว่า ก็มีรายงานที่สม่ำเสมอว่า การครุ่นคิดเมื่อเทียบกับความกลุ้มใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต แต่ว่างานศึกษาในปี 2007 พบว่า เวลาจะเปลี่ยนไปในช่วงการครุ่นคิด คือบุคคลจะเริ่มที่เรื่องในอดีตก่อน แล้วเพิ่มความคิดเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นต่อมา ดังนั้น การครุ่นคิดอาจจะซับซ้อนกว่าที่เคยคิด และไม่ใช่เป็นเรื่องอดีตล้วน ๆ

มีการเสนอแบบการครุ่นคิดเหล่านี้ คือ

  • State rumination (การครุ่นคิดถึงสภาวะ) ซึ่งเป็นการหมกมุ่นในเรื่องผลและความรู้สึกที่สัมพันธ์กับความล้มเหลวในอดีต การครุ่นคิดเช่นนี้เป็นเรื่องสามัญกว่าในบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย มีบุคลิกภาพแบบ neuroticism และอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเชิงลบ (negative attributional style)
  • Action rumination (การครุ่นคิดถึงการกระทำ) เป็นกระบวนการคิดที่สนใจในสิ่งที่จะทำ โดยพุ่งความสนใจไปที่การถึงเป้าหมายและการแก้ไขความผิดพลาด
  • Task-irrelevant rumination (การครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง) ซึ่งคิดถึงเหตุการณ์หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ไม่สามารถเข้าถึง เพื่อที่จะเปลี่ยนความสนใจไปจากความล้มเหลว

การวัด

ความครุ่นคิดสามารถวัดได้โดย Ruminative Responses Scale จากชุดคำถาม Response Styles Questionnaire ซึ่งให้ผู้รับการทดสอบแสดงว่า ตนมีความคิดหรือพฤติกรรม 22 อย่างบ่อยแค่ไหนเมื่อรู้สึกเศร้าใจหรือซึมเศร้า

ความแตกต่างระหว่างเพศ

ตาม ศ. จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลท่านหนึ่ง หญิงมักจะครุ่นคิดเมื่อเศร้า เทียบกับชายที่มักจะหันไปสนใจเรื่องอื่น ความแตกต่างในการตอบสนองเช่นนี้ชี้ว่า ทำไมหญิงจึงมีอัตราความซึมเศร้าสูงกว่าชาย นักวิจัยอื่น ๆ ได้พบหลักฐานยืนยันว่าหญิงมีโอกาสสูงกว่าที่จะครุ่นคิด แม้ว่า หลักฐานที่แสดงว่าชายมักหันไปสนใจเรื่องอื่นจะมีหลักฐานที่ไม่สม่ำเสมอ

การเปิดเผยแบบดี

แม้ว่าการครุ่นคิดโดยทั่วไปจะไม่ดีและสัมพันธ์กับความซึมเศร้า การคิดถึงและกล่าวถึงความรู้สึกตนเองมีประโยชน์ในสถานการณ์บางอย่าง ตาม ศ. ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน การเปิดเผยตนเองที่ดีสามารถลดความเครียดและความครุ่นคิด ถ้าการเปิดเผยนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเหตุของปัญหา ดังนั้น ถ้าบุคคลแชร์ความรู้สึกตนเองกับผู้อื่นที่ตนมีความสัมพันธ์ที่ดี นี่อาจจะเป็นความเจริญงอกงาม โดยเปรียบเทียบกัน เมื่อบุคคลครุ่นคิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ และหมกหมุ่นอยู่ในปัญหาเดียวกันโดยที่ไม่ก้าวหน้า ก็จะมีโอกาสเกิดความซึมเศร้ามากขึ้น

ความสัมพันธ์กับแนวคิดอื่น ๆ

ความครุ่นคิด (Rumination) คล้ายกันหรือเหลื่อมกันกับแนวคิด/โครงสร้างอื่น ๆ เช่น ความกลุ้มใจ (Worry) และความคิดเชิงลบอัตโนมัติ (negative automatic thought)

ความกลุ้มใจ

ความครุ่นคิดปรากฏว่าสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความกลุ้มใจ (Worry) โดยสามารถนิยามความกลุ้มใจได้ว่า "ลูกโซ่ของความคิดและจินตภาพ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์เชิงลบ และค่อนข้างควบคุมไม่ได้ เป็นการพยายามแก้ปัญหาในใจเกี่ยวกับประเด็นที่มีผลไม่แน่นอน แต่มีโอกาสที่จะมีผลลบอย่างน้อยหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น" มีการเปรียบเทียบความครุ่นคิดกับความกลุ้มใจ ซึ่งในทฤษฎีบางอย่าง ความครุ่นคิดเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลุ่มใจ (เช่น S-REF) นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยหลายคนได้ให้ข้อสังเกตว่า มีความเกิดร่วมกันของโรค (comorbidity) สูงระหว่างโรควิตกกังวล (GAD) และโรคซึมเศร้า (MDD) คือ คนไข้ 60% ที่มีอาการของ GAD สามารถวินิจฉัยว่ามี MDD ด้วย การเกิดร่วมอย่างสำคัญเช่นนี้ทำให้มีวรรณกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างความครุ่นคิด ซึ่งบ่อยครั้งศึกษาในเรื่อง MDD กับความกลุ้มใจ ซึ่งบ่อยครั้งศึกษาในเรื่อง GAD

ค่าวัดของความครุ่นคิดและความกลุ้มใจมีสหสัมพันธ์สูง เหนือกว่าค่าวัดอาการความวิตกกังวลและความซึมเศร้า (r=.66; Beck & Perkins, 2001) ทั้งความครุ่นคิดและความกลุ้มใจเหลื่อมกันในความสัมพันธ์กับโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แม้ว่าจะมีงานศึกษาที่แสดงความจำเพาะ (specificity) ของความครุ่นคิดกับโรคซึมเศร้าและความกลุ้มใจกับโรควิตกกังวล นอกจากนั้นแล้ว มีการพบว่า ความครุ่นคิดสามารถพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงของอาการซึมเศร้าและของอาการวิตกกังวล และคนไข้ MDD รายงานระดับความกลุ้มใจคล้ายกับคนไข้ GAD ดังนั้นโดยองค์รวมแล้ว งานวิจัยเหล่านี้แสดงว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจไม่ใช่แค่สัมพันธ์กันเท่านั้น เพราะแต่ละอย่างยังสัมพันธ์กับอาการของทั้งความซึมเศร้าและความวิตกกังวลอีกด้วย

มีงานศึกษาที่แสดงว่า เรื่องที่กลุ้มใจกับเรื่องที่ครุ่นคิดแตกต่างกัน ความกลุ้มใจบ่อยครั้งเป็นเรื่องการแก้ปัญหาและเกี่ยวกับอนาคต ในขณะที่ความครุ่นคิดมักจะเป็นเรื่องความสูญเสียและเกี่ยวกับอดีต ความครุ่นคิด เมื่อเทียบกับความกลุ้มใจ สัมพันธ์กับความพยายามและความมั่นใจที่น้อยกว่าในการแก้ปัญหา มีการเสนอว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจมีหน้าที่ต่างกัน คือ ความครุ่นคิดสัมพันธ์กับความเชื่อว่าตัวเองมีส่วนในสถานการณ์มากกว่าและจำเป็นต้องเข้าใจมากกว่า เทียบกับความกลุ้มใจที่สัมพันธ์กับความต้องการหลีกเลี่ยงความคิดที่ทำให้กลุ้มใจ (Watkins 2004b) ยังมีสมมติฐานอีกด้วยว่า ความกลุ้มใจเป็นเรื่องจินตนาการมากกว่าความครุ่นคิด แต่ว่าหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ลงรอยกัน ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว งานศึกษาเหล่านี้แสดงว่า ความกลุ้มใจและความครุ่นคิดเป็นแนวคิดที่สัมพันธ์กันและทั้งสองต่างก็นำไปสู่ความซึมเศร้าและความวิตกกังวล เป็นไปได้ว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจเป็นแบบการคิดซ้ำ ๆ ที่สัมพันธ์กัน และอาจจะชัดเจนกว่าถ้าจัดเป็นแบบย่อยของโครงสร้างที่ครอบคลุมแนวคิดทั้งสอง เช่น เป็นกลยุทธ์รับมือปัญหาแบบหลีกเลี่ยง (avoidant coping strategy)

ความคิดเชิงลบอัตโนมัติ

มีการเปรียบเทียบความครุ่นคิดกับความคิดเชิงลบอัตโนมัติ (negative automatic thoughts) ที่นิยามว่าเป็นความคิดซ้ำ ๆ ที่มีตีมเกี่ยวกับความสูญเสียหรือความล้มเหลวส่วนบุคคล ตาม ศ. จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล (2004) เธอยืนยันว่า ความครุ่นคิด (ดังที่นิยามใน RST) ต่างจากความคิดเชิงลบอัตโนมัติ เพราะว่า ความคิดเชิงลบอัตโนมัติเป็นการประเมินแบบรวบรัด ถึงเรื่องความสูญเสียและความล้มเหลวในโรคซึมเศร้า ในขณะที่ความครุ่นคิดเป็นลูกโซ่ของความคิดที่ซ้ำ ๆ วนเวียน เป็นเรื่องลบ เกี่ยวกับตนเอง ที่อาจเกิดขึ้นโดยตอบสนองต่อความคิดเชิงลบอัตโนมัติในเบื้องต้น เธอยังเสนอด้วยว่า ความครุ่นคิดอาจมีตีมเชิงลบที่พบในความคิดเชิงลบอัตโนมัตินอกเหนือไปจากการวิเคราะห์อาการ เหตุ และผลของความรู้สึก หนังสือปี 2004 ยังให้หลักฐานที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ คือ นักเขียนพบว่า ความครุ่นคิดสามารถพยากรณ์ความซึมเศร้าแม้เมื่อควบคุมการคิดเชิงลบ (negative cognition) ซึ่งแสดงว่า แนวคิดทั้งสองไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และมีคุณค่าการพยากรณ์ที่ต่างกัน แต่แม้ว่า จะมีการอ้างว่า ความครุ่นคิดและความคิดเชิงลบอัตโนมัติเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ว่า Response Style Questionnaire ก็ได้ถูกคัดค้านในประเด็นว่ามีส่วนเหลื่อมกับความคิดเชิงลบอัตโนมัติ

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Pedersen, C. W.; Denson, T. F.; Goss, R.; Vasquez, E. A.; Kelley, N. J.; Miller, N (2011-06). "The impact of rumination on aggressive thoughts, feelings, arousal, and behaviour". British Journal of Social Psychology. 50 (2): 281–301. doi:10.1348/014466610X515696. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  • Tsai, W. (2011-09). "An examination of happiness as a buffer of the rumination-adjustment link: Ethnic differences between European and Asian American students". Asian American Journal of Psychology. 2 (3): 168–180. doi:10.1037/a0025319. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Baer, R.; Sauer, S. E. (2010-11). "Relationships between depressive rumination, anger rumination, and borderline personality features". Personality Disorders: Theory, Research, And Treatment. 2 (2): 142–150. doi:10.1037/a0019478. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  • Simonson, J. (2011-11). "Socialized to ruminate? Gender role mediates the sex difference in rumination for interpersonal events". Journal of Social and Clinical Psychology. 30 (9): 937–959. doi:10.1521/jscp.2011.30.9.937. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Dickson, K.; Ciesla, J. A.; Reilly, L. C. (2011-12). "Rumination, worry, cognitive avoidance, and behavioral avoidance: Examination of temporal effects". Behavior Therapy. 43 (3): 937–959. doi:10.1016/j.beth.2011.11.002. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)

Новое сообщение