Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
การคิดวิเคราะห์
การคิดวิเคราะห์, การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (อังกฤษ: critical thinking) เป็นกระบวนการทางจิตสำนึกเพื่อวิเคราะห์ หรือ ประเมินข้อมูล ในคำแถลง หรือ ข้อเสนอที่มีผู้แถลงหรืออ้างว่าเป็นความจริง การคิดวิเคราะห์เป็นรูปแบบของกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นความหมายของคำแถลง (statement) และการตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับการไต่ตรองด้วยเหตุและผล แล้วจึงทำการตัดสินคำแถลงหรือข้อเสนอที่ถูกอ้างว่าเป็นความจริงนั้น
การคิดวิเคราะห์อาจทำได้จากการรวบรวมข้อมูล การสังเกตการณ์ ประสบการณ์ หลักแห่งเหตุและผล หรือการสื่อความ การคิดวิเคราะห์ต้องมีพื้นฐานของคุณค่าเชิงพุทธิปัญญาที่สูงเลยไปจากการเป็นเพียงการแบ่งเนื้อหาที่รวมไปถึง ความกระจ่างชัด ความแม่นยำ ความต้องตรงเนื้อหา หลักฐาน ความครบถ้วนและความยุติธรรม
ความหมายหรือนิยามการคิดวิเคราะห์มีมากมายและหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ไปในแนวเดียวกันคือการใช้เหตุผล หลักฐานและตรรกะมาวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อนลงความเห็นหรือตัดสิน
ภาพรวม
ภายใต้กรอบแห่ง “ความน่าสงสัย” (skepticism) กระบวนการคิดวิเคราะห์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสืบหาข้อมูลและการประเมินข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือคำตอบที่เชื่อถือได้ การคิดวิเคราะห์ประกอบด้วย “ตรรกะที่ไม่เป็นทางการ” (informal logic) ผลการวิจัยด้านการรับรู้เชิงจิตวิทยา (cognitive psychology) ทำให้นักการศึกษาเริ่มเชื่อมากขึ้นว่าสถาบันการศึกษาทุกแห่งควรเน้นการสอนทักษะการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้นแทนการสอนให้เรียนรู้แบบท่องจำ
กระบวนการของการคิดวิเคราะห์สามารถตอบสนองประเด็นและสถานการณ์ได้หลาย ๆ อย่างและทำให้เราสามารถสืบเสาะหาสิ่งเชื่อมโยงระหว่างกันได้ด้วย ดังนั้น การคิดวิเคราะห์จึงเป็นตัวสร้างระบบช่องความคิดต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ หลักเหตุผลทางศีลธรรม และปรัชญา
เราอาจแบ่งการคิดวิเคราะห์ได้เป็นสองลักษณะได้แก่
- ชุดของทักษะการรับรู้ (cognitive skill) และ
- ความสามารถและการใช้ทักษะนั้น ๆ เพื่อเป็นแนวทางแห่งประพฤติกรรม
การคิดวิเคราะห์ไม่เป็นเพียงการหาและการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือการเป็นเพียงผู้มีทักษะแต่ไม่ได้ใช้อย่างสม่ำเสมอ การคิดวิเคราะห์จึงไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกฝนทักษะเพื่อการไม่ยอมรับรองผลเพียงอย่างเดียว
กรรมวิธีของการคิดวิเคราะห์
การคิดวิเคราะห์มีขั้นตอนการคิดที่มีประโยชน์ดังนี้
- การจำแนกความเห็นในประเด็นปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและการจัดเก็บข้อโต้แย้งที่มีตรรกะที่สนับสนุนในแต่ละฝ่าย
- แตกข้อโต้แย้งออกเป็นส่วน ๆ ตามเนื้อหาของคำแถลงและดึงเอาเนื้อหาส่วนเพิ่มเติมที่มีความหมายตรงนัยของคำแถลง
- ตรวจสอบคำแถลงและความหมายตามนัยเหล่านี้เพื่อหาความขัดแย้งในตัวเอง
- บ่งชี้เนื้อหาการอ้างที่ขัดแย้งกันในบรรดาข้อถกเถียงต่าง ๆ ที่มีแล้วจึงใส่น้ำหนักหรือคะแนนให้ข้ออ้างนั้น ๆ
- เพิ่มน้ำหนักเมื่อข้ออ้างมีหลักฐานสนับสนุนที่เด่นชัด โดยเฉพาะการมีเหตุมีผลที่สอดคล้องกัน หรือมีหลักฐานจากแหล่งใหม่ ๆ หลายแหล่ง ลดน้ำหนักเมื่อข้ออ้างมีความขัดแย้งกัน
- ปรับน้ำหนักขึ้นลงตามความสอดคล้องของข้อมูลกับประเด็นกลาง
- จะต้องมีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับใช้ในการตัดสินข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมิฉะนั้น จะต้องไม่นำประเด็นการกล่าวอ้างดังกล่าวมาประกอบการตัดสิน
- ประเมินน้ำหนักด้านต่าง ๆ ของข้ออ้าง
ผังมโนภาพ (Mind maps) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดรูปและการประเมินค่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขั้นสุดท้าย เราอาจกำหนดน้ำหนักเป็นตัวเลขสำหรับแต่ละแขนงของแผนที่ในใจ
การคิดวิเคราะห์ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ประกันว่าได้บรรลุถึงความจริง หรือ ข้อสรุปที่ถูกต้องแล้ว ประการแรก เราอาจไม่สามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องได้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ข้อมูลที่มีความสำคัญอาจยังไม่มีการค้นพบ หรือยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร ประการที่สอง ความลำเอียงของคนการปิดบังหรือถ่วงประสิทธิภาพในการเก็บ ประเมินข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
การเอาชนะความลำเอียง
เพื่อลดความลำเอียง ผู้คิดจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อใช้ในกระบวนการของการคิดวิเคราะห์ แทนที่จะตั้งคำถามว่า “เรื่องนี้มีประเด็นที่ค้านกับความเชื่อของเราหรือไม่” ควรถามว่า “ประเด็นนี้มีความหมายอย่างไร”
ในขั้นแรก ๆ ของการเก็บรวบรวมและประเมินข้อมูล สิ่งแรกสุดที่ผู้คิดจะต้องทำคือ “การไม่ด่วนตัดสิน” (เหมือนที่ทำในการอ่านนิยายหรือดูภาพยนตร์) วิธีการนี้รวมถึงการสำเหนียก (perceptive) มากกว่าการตัดสิน (judgmental) นั่นคือการหลีกเลี่ยงการเลื่อนไหลจากใช้การมองกว้างไปสู่การตัดสิน ในคำเทคนิคของ "เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน ในหมวกความคิด 6 ใบ” ใช้ หมวกขาว หรือหมวกน้ำเงิน สำหรับการคิด และชะลอการคิดแบบหมวกดำ ไว้ในระยะหลัง
เราพึงตระหนักถึงข้อข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับตนเองได้แก่
- การยอมรับว่าทุกคนมีความลำเอียงอยู่ในจิตใต้สำนึก และมักจะตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การตัดสินที่นึกไว้แล้ว
- ยอมรับการไร้อัตตา และควรตั้งทีท่าเป็นคนถ่อมตัว
- ย้อนนึกถึงความเชื่อมั่นเดิม ๆ ที่เคยมีและถูกหักล้างไปด้วยจริงหรือความถูกต้อง
- ยอมรับว่าทุกคนยังมี จุดบอด อยู่มากทั้ง ๆ ที่รู้แล้ว
เราจะขจัดความลำเอียงได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คำตอบที่เป็นไปได้อาจเป็นได้ว่า ด้วยการอิงการคิดวิเคราะห์ไว้กับ “แนวคิดมนุษย์” (concept of man – Erich Fromm) ซึ่งอาจทำให้เห็นการคิดวิเคราะห์และการสร้างสมจรรยาบรรณที่มั่นคงสร้างองค์รวมทั้งหมดขึ้นมา แต่เป็นองค์รวมซึ่งยังคงจำกัดอยู่ ยังขาดการสนับสนุนจากแนวคิดของมวลมนุษย์
ในท้ายที่สุด อาจต้องใช้คำถามแบบโสกราตีส และ กรรมวิธีโสกราตีส (Socratic method) สำหรับการประเมินข้อขัดแย้งที่ถามคำถามแบบเปิด เช่น
- สิ่งนี้มีความหมายว่าอย่างไร
- ข้อสรุปได้มาอย่างไร
- เชื่อได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
- แหล่งข้อมูลที่ใช้มาจากใหน
- ถ้าผิดจะเกิดอะไรขึ้น
- ให้บอกแหล่งหรือบุคคลอ้างอิงที่เห็นแย้งพร้อมกับคำอธิบายสักสองราย
- ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ
- จะรู้ได้อย่างไรว่าคน ๆ นั้นพูดความจริง
- คำอธิบายที่เป็นทางเลือกอื่นสำหรับประเด็นนี้มีอะไรบ้าง
การมุ่งสู่การสรุป
มุมมองที่เป็นประโยชน์ในการคิดวิเคราะห์เกี่ยวพันถึง “ใบมีดโกนของอ็อกแคม” (Occam's Razor) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักการแห่งความตระหนี่ถี่ถ้วน” ซึ่งกล่าวไว้ว่าเราไม่ควรตั้งสมมุติฐานมากเกินความจำเป็น หรืออีกนัยหนึ่งคือ “การทำให้เรียบง่าย” โดยธรรมชาติของกระบวนการ การคิดวิเคราะห์ไม่มีความเป็นที่สิ้นสุด เราอาจมาถึงข้อสรุปเบื้องต้นได้หากมีการประเมินหลักฐานมาแล้ว อย่างไรก็ดี ข้อสรุปทุกครั้งควรจะต้องเปิดช่องให้มีการประเมินได้อีกเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม
การคิดวิเคราะห์ในห้องเรียน
ในระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษมีการกำหนดการคิดวิเคราะห์ไว้เป็นวิชาเรียนสำหรับนักเรียนวัย 17-18 ปี ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกสอบในหัวเรื่อง “ความเป็นที่น่าเชื่อถือได้ของหลักฐาน” (Credibility of Evidence) หรือ “การประเมิน/การสร้างข้อโต้เถียง” (Assessing/Developing Argument) นักเรียนทั่วไปถือว่าวิชาในส่วนนี้สนุกและเป็นประโยชน์เพราะสามารถรู้เรื่องและปฏิบัติได้หลังการเข้าเรียนเพียงไม่กี่ครั้ง
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ของประชาชนโดยรวมลดลงมาก ประชาชนถูกชักจูงและหลงเชื่อการบอกเล่าหรือเชื่อปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ง่าย แม้ส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนาแต่ก็มิได้ตระหนักถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้คิดเชิงการคิดวิเคราะห์ คือ ปุจฉาวิสัชนา และการสอนไม่ให้เชื่อในสิ่ง "เขาว่ามา" ให้สืบสวนไต่ตรองให้รอบคอบก่อนจึงค่อยเชื่อ การสอนการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนชั้นมัธยมปลายดังที่ประเทศอังกฤษปฏิบัติอยู่จึงน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นรีบด่วน
คำคม
วิลเลี่ยม แกรแฮม ซัมเนอร์ ได้เสนอข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ยิ่งเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์
การคิดวิเคราะห์คือการตรวจสอบและการทดสอบประเด็นของคำเสนอทุกประเภทที่ผ่านเข้ามาขอการยอมรับ เพื่อดูว่าคำเสนอนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์เป็นผลที่เกิดจากการศึกษาและการฝึกฝน จนเป็นนิสัยและเป็นพลังทางใจ การคิดวิเคราะห์เป็นเงื่อนไขสำคัญแห่งความผาสุกของปวงชน เป็นสิ่งมนุษย์ทั้งหญิงและชายพึงฝึกฝนให้ชำนาญ การคิดวิเคราะห์คือหลักประกันที่สามารถปกป้องการบิดเบือน การหลงละเมอ การหลอกลวง การเชื่อผีสางและการหลงผิดของเราและสิ่งล้อมรอบตัวเรา
คำวิจารณ์ มิอาจตัดสินคน
— ขงจื๊อ
ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโทษกระจกเงา ใบหน้าของท่านต่างหากที่ขี้เหร่
— นิรนาม
การคิดวิเคราะห์ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรระดับสูงของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ ทุกประเทศตื่นตัวนำการคิดวิเคราะห์บรรจุเป็นวิชาหรือส่วนของการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นระดับประถมถึงอุดมศึกษา
ด้วยกระแสแห่งความการยอมรับที่แพร่หลาย นิยามของการคิดวิเคราะห์จึงหลากหลาย ข้อความข้างล่างนี้คือนิยามที่รวบรวมจากแหล่งต่าง ที่มาของนิยามปรากฏตามโยงที่อยู่ที่ท้ายของแต่ละนิยาม
นิยามของการคิดวิเคราะห์
โดยที่แนวคิดเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์เพิ่งเป็นที่แพร่หลายและมีความสำคัญต่อสังคมแห่งโลกไร้พรมแดนมากขึ้นเป็นลำดับ จึงมีผู้เขียนหนังสือและมีการเปิดสอนวิชานี้อย่างแพร่หลายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นความหมายและนิยามของ "การคิดวิเคราะห์" จึงมีความหลากหลายดังนิยามที่ได้รวมรวมไว้ข้างล่างนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาเห็นภาพที่กว้างขึ้น แหล่งที่มาได้ให้ไว้ที่ท้ายของแต่ละนิยามแล้ว
- การคิดวิเคราะห์หมายถึงชนิดของกิจกรรมทางจิตที่แจ่มแจ้ง แม่นยำและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ปกติจะเกี่ยวโยงกับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในโลกของความเป็นจริง เป็นการสร้างทางแก้ปัญหาเชิงซ้อน เป็นการหยิบยกความแตกต่าง การสังเคราะห์และบูรณาการข้อมูลข่าวสาร ชูความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น หรือการอนุมาณศักยภาพของผลที่จะตามออกมา แต่การคิดวิเคราะห์ยังโยงไปถึงกระบวนการประเมินคุณภาพในความคิดของตนเองได้ด้วย[1] เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์หมายถึงความสามารถในการประเมินข้อมูลและความเห็นอย่างมีระบบ มีเป้าหมายที่ชัดเจนและถูกต้องและด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ [2]
- การคิดวิเคราะห์คือเครื่องมือที่จำเป็นยิ่งยวดเพื่อการตัดสินหรือลงความเห็นด้ววิธีสืบเสาะ กำหมดเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจนและการบังคับตนเองไม่ให้ถูกชักจูง เพื่อให้ได้มาซึ่งการแปลความหมาย การวิเคราะห์ การประเมินและการลงความเห็นตลอดจนการอธิบายพยานหลักฐานหรือสิ่งอ้างอิง แนวคิด วิธีการ การกำหนดกฎเกณฑ์หรือบริบทของข้อพิจารณาที่เป็นที่มาของข้อสรุป ความเห็น หรือข้อตัดสิน[3] เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
-
การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการรับรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสะท้อนความคิดและการอดทน (ต่อการหาความกระจ่าง) ในความคลุมเครือไม่ชัดเจนซึ่งมีลักษณะประจำดังนี้
- มีวินัยและชี้นำตนเอง
- หันเหไปทางการสืบค้น วิเคราะห์และวิจารณ์
- ใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบหลายมิติและหลายตรรกะมากกว่าการแก้แบบมิติเดียว ตรรกะเดียว หรือ ใช้ความรู้คิดยาวไปทางเดียว จะต้องใช้ความสามารถสร้างทางเลือกหลายทางที่นำไปสู่การชั่งใจตัดสินที่ปราศจากการเอนเอียง[4] เก็บถาวร 2007-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือการสะท้อนความคิดที่มีเหตุผลโดยการพุ่งประเด็นไปเน้นที่การตัดสินใจที่จะเชื่อหรือตัดสินใจที่จะกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล่าวให้ชัดก็คือการประเมินในความจริง ความแม่นยำ และ/หรือคุณค่าของความรู้หรือข้อถกเถียงที่ได้รับ ในการนี้ต้องการการวิเคราะห์ความรู้หรือความเชื่อที่ได้รับรู้มาอย่างระมัดระวัง ตรงจุด เกาะติดและเป็นรูปธรรมที่มีเหตุผล เพื่อให้สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งนั้น ๆ จริงหรือมีคุณค่าจริงหรือไม่[5] เก็บถาวร 2007-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการประเมินข้อเสนอหรือสมมุติฐานที่ได้รับแล้วทำการไตร่ตรองตัดสินบนพื้นฐานแห่งพยานหลักฐานที่นำมาสนับสนุน ตัวอย่าง: พิจารณาตาม 5 ขั้นตอนของการคิดวิเคราะห์
- เรากำลังถูกบอกให้เชื่อหรือยอมรับอะไร? สมมุติฐานในเรื่องนี้คืออะไร?
- มีพยานหลักฐานใดที่ใช้สนับสนุนในเรื่องนี้? และหลักฐานนี้เชื่อถือได้และหนักแน่นแล้วหรือ?
- มีทางเลือกอื่นใดอีกหรือไม่สำหรับใช้ในการตีความพยานหลักฐานนี้
- มีหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกหรือไม่ที่จะนำมาช่วยประเมินทางเลือกเหล่านั้น
- ข้อสรุปใดที่มีเหตุผลมากที่สุดตามพยานหลักฐานและคำอธิบายของทางเลือก[6] เก็บถาวร 2007-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือการเจาะมุ่งเฉพาะจุด การจัดรูปความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความสัมพันธ์กันในระหว่างความคิดต่าง ๆ ในหลักฐานที่แน่ชัดและในความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น[7] เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือความมุ่งมั่นยึดติดกับการตรวจสอบหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อ ทางแก้ปัญหา หรือข้อสรุปการยอมรับ การคิดวิเคราะห์หมายถึงความสามารถในการคิดอย่างกระจ่าง การวิเคราะห์และการมีให้เหตุผลอย่างมีตรรกะ[8] เก็บถาวร 2007-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือการแสดงให้เห็นถึงหรือความต้องการการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังก่อนการตัดสิน[9] เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือการให้เหตุผลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ที่รวมถึงการตะล่อมและการมีตรรกะในของการคิดที่อยู่ในระดับสูง[10] เก็บถาวร 2005-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือการเก็บเกี่ยวทักษะเชิงวิเคราะห์ที่จะช่วยให้นิสิตนักศึกษามีความสามารถในการแก้แนวคิดหรือปัญหาต่าง ๆ ที่ซับซ้อนได้[11] เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือเซทที่ซับซ้อนของทักษะการรับรู้ที่ต้องใช้ในการแก้ปัญหาและการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างมีปัญญาและนวัตกรรม[12] เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการที่ท้าทายให้บุคคลใช้การไตร่ตรอง เหตุผล การคิดอย่างมีหลักเพื่อรวบรวม แปลความหมายและประเมินข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สามารถตัดสิน กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการคิดที่ล่วงเลยไปมากกว่าการให้เหตุผลเพียงอันเดียวสำหรับนำมาใช้ในการตัดสินว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด[13] เก็บถาวร 2007-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันที่สูงกว่านั้น เป็นการค้นหาความหมายที่อยู่เบื้องใต้ของคำแถลง กวีนิพนธ์ บทบรรณาธิการ รูปภาพ การโฆษณา หรือข้อเขียนใด ๆ ด้วยการใช้การวิเคราะห์ นักคิดเชิงวิจารณ์จะแยกคำแถลงหรือข้อเขียนนั้นออกเป็นส่วน ๆ เพื่อค้นหาความหมาย ความสัมพันธ์และสมมุติฐานอาจอาจถูกฝังไว้ในนั้นต่อไป[14]
- การคิดวิเคราะห์คือหนทางแห่งการตัดสินที่ต้องใช้การไตร่ตรองอย่างระมัดระวังว่าจะยอมรับ บอกปัดหรือพักคำแถลงนั้นไว้ก่อน[15]
- การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการที่มีเหตุผลและที่สะท้อนถึงการชั่งใจตัดสินในสิ่งต่าง ๆ กระบวนการนี้ให้ความสำคัญในความเป็นเอกเทศและกึ่งเอกเทศในการตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ยังรวมถึงความสามารถในการจัดการกับความคลุมเครือซึ่งเป็นสิ่งที่มีประจำในบทบาทและประสบการณ์ของมนุษย์ทั่วไป
[16] เก็บถาวร 2005-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการที่มีระบบการใช้ปัญญาเพื่อการวางแนวความคิด การประยุกต์ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และ/หรือประเมินข้อมูลด้วยทักษะที่กระตือรือล้นด้วยการสังเกต การเข้าไปมีประสบการณ์ การสะท้อนกลับ การให้เหตุผลและ/หรือด้วยการสื่อ เพื่อใช้เป็นแนวทางไปสู่ความเชื่อหรือการปฏิบัติ
- การคิดวิเคราะห์ไม่ใช่การเสาะหาหรือการคงไว้ซึ่งข้อมูลแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่เป็นการพัฒนาเซทเฉพาะของทักษะ และ/หรือการประยุกต์ทักษะเหล่านั้นซ้ำ ๆ โดยปราศจากประเมินผลลัพธ์เชิงวิจารณ์
- การคิดวิเคราะห์ครอบคลุมถึงองค์ประกอบของเหตุผลทั้ง 8 นั่นคือ ความมุ่งหมาย จุดความเห็น คำถามของประเด็น ข้อมูลข่าวสาร การแปลความหมายและการอนุมาน แนวคิดหรือมโนทัศน์ ข้อสมมติ การชี้บ่งเป็นนัยและผลที่จะตามมา [17]
- การคิดวิเคราะห์คือกระบวนการทางจิตที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือประเมินข้อมูล ข้อมูลดังกล่าวอาจเก็บรวบรวมจากการสังเกตการณ์ ประสบการณ์ การใช้เหตุผล หรือจากการสื่อความ การคิดวิเคราะห์มีพื้นฐานของมันเองทางคุณค่าแห่งพุทธิปัญญาที่ล้ำลึกไปจากการแบ่งเรื่องราวโดยรวมถึง ความกระจ่างแจ้ง ความแม่นยำ การมีพยานหลักฐาน การครบถ้วนและการมีความยุติธรรม
แหล่งข้อมูลอื่น
- การคิดวิเคราะห์, เว็บไซต์แก่นสาระ-สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
- การคิดวิเคราะห์ใน YouTube โดยมูลนิธิการคิดวิเคราะห์
-
ชุมชนนักคิดเชิงวิจารณญาณ-เว็บไซต์มูลนิธิการคิดวิเคราะห์ (ภาษาอังกฤษ) เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การสอนการคิดวิเคราะห์ในระดับชั้นประถมศึกษาต้น อนุบาล- ป.3 (ภาษาอังกฤษ)
- การสอนการคิดวิเคราะห์ในระดับชั้นประถมศึกษาปลาย ป. 4-6 (ภาษาอังกฤษ)
- การสอนการคิดวิเคราะห์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาต้น ม. 1-3 (ภาษาอังกฤษ)
- คู่มือการสอนการคิดวิเคราะห์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ม. 4-6 (ภาษาอังกฤษ)
- คู่มือการสอนการคิดวิเคราะห์ในระดับอุดมศึกษาปริญญาตรี (ภาษาอังกฤษ)
- การคิดวิเคราะห์คืออะไร เหตุใดจึงสำคัญ (ภาษาอังกฤษ)
- Paul, R. and Elder L. 2002. Critical Thinking: Tools for Taking Charge of Your Professional and Personal Life. Published by Financial Times Prentice Hall. ISBN 0-13-064760-8.
- Paul, R., Elder, L., and Bartell T. 1997. California Teacher Preparation for Instruction in Critical Thinking: Research Findings and Policy Recommendations. California Commission on Teacher Credentialing. Foundation for Critical Thinking, Sacramento California.
- Whyte, P. 2003. Bad Thoughts - A Guide to Clear Thinking. Published by Corvo. ISBN 0-9543255-3-2.
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด "คำวัด" วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ การคิดเชิงวิพากษ์ Success Media กรุงเทพฯ พ.ศ. 2549. ISBN 974-489-440-7