Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การตัดหลอดนำอสุจิ

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
การตัดหลอดนำอสุจิ
Vasectomy diagram-en.svg
ความรู้พื้นฐาน
ประเภทการคุมกำเนิด การทำหมัน
เริ่มใช้ครั้งแรก พ.ศ. 2442 (มีการทดลองตั้งแต่ พ.ศ. 2328)
อัตราการล้มเหลว (ในปีแรกของการใช้)
เมื่อใช้อย่างถูกต้อง 0.10%
เมื่อใช้แบบทั่วไป 0.15%
"Vas-Clip" เกือบ 1%
การใช้
ระยะเวลาที่มีผล ถาวร
การย้อนกลับ เป็นไปได้แต่ค่าใช้จ่ายสูง
สิ่งที่ผู้ใช้ควรรู้ การตรวจน้ำอสุจิสองครั้งเพื่อยืนยันว่าไม่มีตัวอสุจิ
ข้อดีข้อเสีย
ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ป้องกัน
ข้อดี ไม่ต้องใช้ยาสลบ ค่าใช้จ่ายและลุกล้ำน้อยกว่าการทำหมันหญิง
ความเสี่ยง การอักเสพของอัณฑะชั่วคราว, อาการเจ็บหลังการทำหมัน
ถุงอัณฑะหลังการตัดท่อนำอสุจิ แสดงรอยช้ำ รอยเย็บ และการโกนขนบนถุงอัณฑะ

การตัดหลอดนำอสุจิ หรือ การทำหมันชาย (อังกฤษ: vasectomy) เป็นขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อทำหมันชายหรือเพื่อเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร ประกอบด้วยการตัดหรือผูกหลอดนำอสุจิเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปยังท่อปัสสาวะ และเป็นการป้องกันการปฏิสนธิ การตัดหลอดนำอสุจิมักทำในคลินิกทางการแพทย์ หรือคลินิกสัตวแพทย์หากทำในสัตว์ ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและรอยแผลขนาดเล็ก ผู้เข้ารับการผ่าตัดจึงมักไม่ต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลหลังการผ่า

มีหลายวิธีที่ศัลยแพทย์อาจใช้เพื่อตัดหลอดนำอสุจิ โดยทุกวิธีมีการอุดท่อนำอสุจิอย่างน้อยหนึ่งข้าง เพื่อลดความกังวลสำหรับผู้ที่กลัวเข็มอาจใช้ยาชาแบบ "ไร้เข็ม" ส่วนเทคนิก "ไร้มีดผ่าตัด" หรือ "ปลายเปิด" อาจช่วยลดเวลาฟื้นตัว

การตัดหลอดนำอสุจิมักใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยความเรียบง่ายของการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังพักระยะหนึ่ง (มักไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง) ด้วยวิธีที่แทบไม่ลุกล้ำเลย ทำให้ผู้ป่วยหลายคนสามารถกลับมาร่วมเพศโดยปกติได้ภายในหนึ่งอาทิตย์หลังผ่าตัด โดยแทบไม่รู้สึกเจ็บ

ความที่เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรทำให้การย้อนกลับเป็นไปได้ยาก ผู้ชายมักได้รับคำแนะนำให้คิดถึงผลกระทบระยะยาวของการทำหมันต่อทั้งอารมณ์และร่างกายของคนไข้ ผู้ชายวัยหนุ่มที่ยังไม่แต่งงานไม่ได้รับการแนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะทำให้แทบไม่มีโอกาสมีลูกเลยแบบถาวร วิธีนี้ไม่ค่อยถูกใช้ในสุนัข (ที่มักใช้การตอน) แต่มักใช้กับวัวตัวผู้

การใช้ทางการแพทย์

การตัดหลอดนำอสุจิถูกใช้เพื่อหยุดการเจริญพันธุ์ในผู้ชาย โดยทำให้แน่ใจว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดจะเป็นหมัน วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีถาวรด้วยความที่การย้อนการทำหมันมีค่าใช้จ่ายสูงและมักไม่สามารถย้อนปริมาณและคุณภาพของการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิกลับมาได้เท่าระดับก่อนการผ่าตัด ผู้ชายที่ผ่านการทำหมันแทบไม่มีโอกาส (เกือบศูนย์) ทำผู้หญิงตั้งท้องได้เลย ทว่าการทำหมันไม่มีผลกระทบต่ออัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หลังการตัดหลอดนำอสุจิลูกอัณฑะยังคงอยู่ในถุงอัณฑะ และเซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) ยังคงผลิตเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่น ๆ เข้ายังกระแสเลือด บางงานวิจัยพบว่าความต้องการทางเพศอาจลดลงเล็กน้อยหลังตัดหลอดนำอสุจิ

หลังการตัดหลอดนำอสุจิ ตัวอสุจิไม่สามารถออกจากร่างกายผ่านองคชาต แม้อัณฑะยังคงผลิตอสุจิ ไม่นาตัวอสุจิก็จะถูกย่อยและดูดซึมเข้าร่างกาย ของเหลวส่วนใหญ่ถูกดูดซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ในเอพิดิไดมิส และของแข็งส่วนใหญ่ถูกย่อยสลายโดยมาโครเฟจและได้รับการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือกอีกครั้ง ตัวอสุจิเติบโตในเอพิดิไดมิสเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนก่อนออกจากอัณฑะ หลังการตัดหลอดนำอสุจิ เยื่อหุ้มเซลล์ต้องขยายขนาดเพื่อดูดซึมของเหลวในประมาณมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มจำนวนมาโครเฟจจำเพื่อมาดูดซับส่วนที่เป็นของแข็ง ภายในหนึ่งปีหลังการตัดหลอดนำอสุจิ 65–70% ของผู้เข้าผ่าตัดมีสารภูมิต้านทานต้านทานอสุจิ (antisperm antibodies) ในบางกรณี อาจเกิด vasitis nodosa บนเนื้อเยื่อบุผิวท่อ การสะสมของอสุจิเพิ่มแรงดันภายในหลอดนำอสุจิและเอพิดิไดมิส  หากตัวอสุจิเข้าไปยังถุงอัณฑะ ร่างกายอาจผลิต แกรนูโลมาของอสุจิ (sperm granulomas) เพื่อซึมซับอสุจิที่ร่างกายมองว่าเป็นวัตถุแปลกปลอม (คล้ายไวรัสหรือแบคทีเรีย)

ประสิทธิผล

การตัดหลอดนำอสุจิเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรที่มีประสิทธิผลสูงสุดสำหรับผู้ชาย โดยดีกว่าการผูกท่อนำไข่ (การผ่าตัดทำหมันหญิง) ในแทบทุกทาง การผูกท่อนำไข่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า, ลุกล้ำน้อยกว่า, ย้อนกลับง่ายกว่า และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดน้อยกว่า อัตราการล้มเหลวระยะแรก อีกนัยหนึ่งคือการตั้งครรภ์ภายในไม่กี่เดือนหลังการทำหมัน มักเกิดจากการร่วมเพศโดยไม่ป้องกันเร็วเกินไปหลังผ่าตัด ทำให้อสุจิบางส่วนยังคงเคลือนตัวผ่านท่อนำอสุจิเข้าไปปฏิสนธิ แพทย์หรือศัลยแพทย์มักแนะนำให้ตรวจสอบอสุจิหนึ่ง (บางทีสอง) ครั้งเพื่อยืนยันความสำเร็จของการผ่าตัด อย่างไรก็ตามผู้ชายหลายคนไม่กลับไปยืนยัน โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวก, อาย, ลืม หรือแน่ใจอยู่แล้วว่าเป็นหมัน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2541 องค์การอาหารและยารับรองชุดตรวจทางบ้านที่มีชื่อว่า SpermCheck Vasectomy ที่ทำให้ผู้รับการผ่าตัดสามารถตรวจสอบยืนยันด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามอัตราการให้ความร่วมมือในการวิเคราะห์น้ำอสุจิหลังการผ่าตัดก็ยังคงต่ำ 

เหตุการณ์การล้มเหลวระยะหลังหรือการตั้งครรภ์หลังท่อนำอสุจิกลับมาต่อกันเองอีกครั้งก็ได้รับการบันทึกไว้เช่นกัน Royal College of Obstetricians and Gynaecologists กล่าวว่าอัตราการล้มเหลวของการตัดท่อนำอสุจิอยู่ที่ 1 ในการผ่าตัด 2000 ครั้ง ซึ่งดีกว่าการผูกท่อนำไข่ซึ่งมีอัตราการล้มเหลวอยู่ที่ 1 ใน 200 ถึง 300 ครั้ง รายงานจาก พ.ศ. 2548 รวมอัตราการล้มเหลวทั้งในระยะแรกและระยะหลังจำนวนทั้งหมด 183 ครั้งที่ท่อนำอสุจิกลับมาต่อกันเอง จากการตัดท่อนำอสุจิทั้งหมด 43,642 ครั้ง (0.4%) และเกิดการตั้งครรภ์ 60 ครั้งหลังการตัดท่อนำอสุจิ 92,184 ครั้ง (0.07%)

ความแพร่หลาย

อัตราการตัดท่อนำอสุจิแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ การทำหมันหญิงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยมีผู้หญิงจำนวน 223 ล้านคนที่พึ่งการทำหมันหญิง ทว่ามีผู้หญิงเพียง 28 ล้านคนที่พึ่งการทำหมันชายของคู่เพื่อคุมกำเนิด ใน 69 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลกโดยเฉลี่ยมีเพียง 0.1% ของผู้ชายเท่านั้นที่ทำหมัน จากทั้ง 54 ประเทศในทวีปแอฟริกามีเพียงสิบประเทศเท่านั้นที่มีรายงานการใช้การตัดท่อนำอสุจิที่สามารถวัดได้ และมีเพียงในประเทศสวาซิแลนด์ ประเทศบอตสวานา และประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้นที่ความแพร่หลายมากกว่า 0·1% ตารางแสดงอัตราของผู้หญิงทั้งหมดที่พึ่งพาการตัดท่อนำอสุจิเพื่อคุมกำเนิดในแต่ละประเทศ

ประเทศ การใช้การตัดท่อนำอสุจิ
แคนาดา 22%
สหราชอาณาจักร 17% - 21%
นิวซีแลนด์ 17% - 21%
เกาหลีใต้ 17% - 21%
ออสเตรเลีย ~10%
เบลเยียม ~10%
เดนมาร์ก ~10%
สเปน ~10%
สวิตเซอร์แลนด์ ~10%
สวาซิแลนด์ 0.3%
บอตสวานา 0.4%
แอฟริกาใต้ 0.7%

แหล่งข้อมูลอื่น


Новое сообщение