Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

การรับรู้อากัปกิริยา

Подписчиков: 0, рейтинг: 0
ซีรีบรัมเป็นส่วนในสมองที่มีหน้าที่ประสานงานเกี่ยวข้องกับการรับรู้อากัปกิริยา

การรับรู้อากัปกิริยา หรือการรู้ตำแหน่งข้อและการเคลื่อนไหว (อังกฤษ: proprioception มาจากคำว่า "proprius" ซึ่งแปลว่า "ของตน" หรือ "แต่ละบุคคล" และคำว่า "perception" ซึ่งแปลว่า "การรับรู้") เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่ง (limb position sense) และเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย (kinesthesia หรือ motion sense) ที่ไม่สืบเนื่องกับการมองเห็น เป็นกระบวนการที่ต่างจาก exteroception ซึ่งเป็นการที่บุคคลรับรู้ตัวกระตุ้นภายนอกร่างกาย และ interoception ซึ่งเป็นการที่บุคคลรับรู้ความรู้สึกเป็นต้นว่า ความเจ็บปวดและความหิว และการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน

ประวัติ

ควมรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้รับการพรรณนาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1557 โดยจูเลียส ซีซาร์ สคาลิเกอร์ ว่าเป็น "การรับรู้ความเคลื่อนไหว" (sense of locomotion) ในปี ค.ศ. 1826 ชาลส์ เบ็ลล์ พรรณนาความคิดของเขาในเรื่องของการรับรู้ในกล้ามเนื้อ ซึ่งได้รับเครดิตว่า เป็นงานวิจัยงานแรกที่พรรณนาถึงกลไกที่ส่งข้อมูลทางกายภาพแบบป้อนกลับไปยังสมอง ความคิดของเบ็ลล์ก็คือการสั่งงานเกิดขึ้นในสมองแล้วส่งไปที่กล้ามเนื้อ และรายงานเกี่ยวกับสภาพกล้ามเนื้อก็จะส่งกลับไปที่สมอง

ในปี ค.ศ. 1880 เฮ็นรี ชาลส์ตัน บาสเชียน เสนอว่าคำว่า "การรับรู้การเคลื่อนไหว (kinaesthesia)" แทนคำว่า "การรับรู้ในกล้ามเนื้อ (muscle sense)" เพราะเหตุว่า ข้อมูลที่ส่งไปทางใยประสาทนำเข้ากลับไปยังสมอง มาจากโครงสร้างอื่น ๆ นอกจากกล้ามเนื้อ รวมทั้งเส้นเอ็น ข้อต่อ และผิวหนัง

ในปี ค.ศ. 1889 แอลเฟร็ด โกลด์เชเดอร์ เสนอการแบ่งประเภทของการรับรู้การเคลื่อนไหวออกเป็น 3 อย่างรวมทั้ง ความรู้สึกในกล้ามเนื้อ ความรู้สึกในเส้นเอ็น และความรู้สึกเกี่ยวกับข้อต่อ

ในปี ค.ศ. 1906 ชาลส์ สก็อตต์ เชอร์ริงตัน พิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญที่เสนอศัพท์ของกระบวนการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ รวมทั้งคำว่า "proprioception" "interoception" และ "exteroception" exteroceptor เป็นอวัยวะมีหน้าที่สร้างข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะภายนอกร่างกายรวมทั้ง ตา หู ปาก และผิวหนัง ส่วน interoceptor สร้างข้อมูลเกี่ยวกับอวัยวะภายใน ในขณะที่คำว่า proprioception (คือการรับรู้อากัปกิริยา) หมายถึงความสำนึกรู้การเคลื่อนไหวที่ได้มาจากข้อมูลทางกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ เพราะการแบ่งประเภทโดยวิธีนี้ นักสรีรวิทยาและนักกายวิภาคศาสตร์จึงได้สืบต่อการค้นหาปลายประสาทที่มีกิจหน้าที่โดยเฉพาะในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อต่อและความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ (เช่นปลายประสาทที่เรียกว่า muscle spindle และ Pacinian corpuscles เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า muscle spindle มีบทบาทที่สำคัญในการรับรู้อากัปกิริยา เพราะ ปลายประสาทที่สำคัญที่สุดของ muscle spindle ตอบสนองต่อระดับความเปลี่ยนแปลงของความยาวและความเร็วในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงมีบทบาทในการรับรู้ทั้งตำแหน่งทั้งการเคลื่อนไหวของอวัยวะ ส่วนปลายประสาทที่สำคัญรองลงมา ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงความยาวของกล้ามเนื้อ และดังนั้น จึงส่งข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ตำแหน่งของอวัยวะเพียงเท่านั้น โดยย่อ ๆ แล้ว muscle spindle ก็คือ ปลายประสาทรับรู้การขยายออกของกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นที่ยอมรับว่า ปลายประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังคือ cutaneous receptor ก็มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับรู้อากัปกิริยา โดยให้ข้อมูลการรับรู้ที่แม่นยำเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ รวมเข้าไปกับข้อมูลที่มาจาก muscle spindle

องค์ประกอบ

การรับรู้การเคลื่อนไหว

การรับรู้การเคลื่อนไหว (อังกฤษ: kinesthesia หรือ kinaesthetic หรือ motion sense) ซึ่งเป็นองค์ประกอบแรกในการรับรู้อากัปกิริยา เป็นความสำนึกรู้การเคลื่อนไหวรวมทั้งตำแหน่งของอวัยวะในร่างกาย โดยใช้อวัยวะรับรู้ความรู้สึกที่เรียกว่า ปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา หรือ ตัวรู้อากัปกิริยา (อังกฤษ: proprioceptor) ในข้อต่อและกล้ามเนื้อ การค้นพบการรับรู้การเคลื่อนไหว เป็นส่วนเบื้องแรกของศึกษาการรับรู้อากัปกิริยา และถึงแม้ว่าคำว่า การรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) และการรับรู้ความเคลื่อนไหว (kinesthesia) มักจะใช้แทนกันและกัน แต่ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว กระบวนการเหล่านั้นมีองค์ประกอบที่ต่างกันหลายอย่าง

อย่างแรกก็คือ การรับรู้การเคลื่อนไหวไม่รวมการรับรู้การทรงตัวหรือความสมดุล (equilibrium หรือ balance) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากหูชั้นใน เป็นองค์ประกอบ ต่างจากการรับรู้อากัปกิริยาซึ่งรวมข้อมูลเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ความอักเสบของหูชั้นในอาจจะทำความรู้สึกความสมดุลให้เสียหาย ดังนั้น ก็ทำให้การรับรู้อากัปกิริยาให้เสียหาย แต่ไม่ทำการรับรู้ความเคลื่อนไหวให้เสียหาย (เพราะนิยามของการรับรู้ความเคลื่อนไหว ไม่รวมการรับรู้การทรงตัวว่าเป็นองค์ประกอบ) ผู้ที่มีความเสียหายอย่างนี้ สามารถจะเดินได้โดยต้องอาศัยการเห็นเพื่อทรงตัว คือบุคคลนั้นจะไม่สามารถเดินได้โดยปิดตา

ความแตกต่างอีกอย่างก็คือ การรับรู้การเคลื่อนไหวพุ่งความสนใจไปที่การเคลื่อนไหวของร่างกาย ในขณะที่การรับรู้อากัปกิริยาเป็นความสำนึกในการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับรู้การเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (behavioral) มากกว่า ในขณะที่การรับรู้อากัปกิริยาเกี่ยวข้องกับการรับรู้ (cognitive) มากกว่า

การรับรู้การเคลื่อนไหวหมายเอาการเคลื่อนไหวทั้งที่ทำเองและคนอื่นทำให้ (เช่นขยับแขนขาให้ไปที่อื่น)

การรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ

องค์ประกอบสำคัญรองลงมาของการรับรู้อากัปกิริยาก็คือ การรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ (อังกฤษ: joint position sense ตัวย่อ JPS) ซึ่งวัดได้โดยการให้ผู้รับการทดสอบจับคู่ตำแหน่งของข้อต่อ ที่จะกล่าวถึงต่อไป

บ่อยครั้ง มักเข้าใจว่า ความสามารถในการรับรู้ความเคลื่อนไหวและในการรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ ทั้งสองอย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน แต่จริง ๆ แล้ว หลักฐานแสดงว่า ความสามารถทั้งสองอย่างนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างสำคัญ นี้บอกเป็นนัยว่า แม้ความสามารถเหล่านั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้อากัปกิริยาเหมือนกัน แต่ก็เกิดจากระบบทางกายภาพที่ต่างกัน

การรับรู้ความเคลื่อนไหว มีองค์ประกอบที่สำคัญของทักษะการเคลื่อนไหวกายด้วยกล้ามเนื้อ (muscle memory) และทักษะการประสานงานระหว่างมือและตา การฝึกหัด (หรือการหัดซ้อม) สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ อีกอย่างหนึ่ง ความสามารถในการหวดไม้กอล์ฟหรือในการรับลูกบอล ขาดการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีไม่ได้ นั่นก็คือ การรับรู้อากัปกิริยาต้องทำให้เป็นอัตโนมัติผ่านการฝึก เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลใส่ใจในเรื่องอื่น เช่นการรักษากำลังใจของตน หรือการเห็นว่าคนอื่น ๆ อยู่ที่ไหน (แทนที่จะต้องมากังวลเหมือนกับตอนเริ่มฝึกใหม่ ๆ ว่า มีท่าทางเหมาะสมถูกต้องในการทำกิจกรรมนั้นไหม)

การเกิดขึ้นของการรับรู้อากัปกิริยา

การรับรู้อากัปกิริยาเริ่มต้นที่การทำงานของปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา (proprioceptor) ในระบบประสาทส่วนปลาย เป็นกระบวนการซึ่งเชื่อว่าได้รับข้อมูลมาจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกในหูชั้นใน (ซึ่งบอกการเคลื่อนไหวและการทรงตัว) จากปลายประสาทรับรู้การขยายออก (stretch receptor) ในกล้ามเนื้อ และจากเส้นเอ็นรั้งข้อต่อ (ซึ่งบอกตำแหน่งของกาย) มีปลายประสาทที่ทำหน้าที่การรับรู้อย่างนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า ปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา (proprioceptor) เหมือนกับมีปลายประสาทรับความรู้สึกเฉพาะอย่างสำหรับแรงกด แสง อุณหภูมิ เสียง และความรู้สึกทางประสาทอื่น ๆ

TRPN ซึ่งเป็นประตูไอออนอย่างหนึ่งในตระกูล transient receptor potential channel ได้รับการวิจัยว่ามีหน้าที่รับรู้อากัปกิริยาในแมลงวันทอง ในหนอนนีมาโทดา ใน Xenopus laevis และในปลาม้าลาย แต่ว่า ยังไม่มีการค้นพบหน่วยรับรู้อากัปกิริยาเช่น TPRN ในมนุษย์

ถึงแม้ว่า จะเป็นที่รู้กันว่าการรับรู้การเคลื่อนไหวของนิ้วมืออาศัยความรู้สึกที่ผิวหนัง แต่ว่างานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า การรู้จำวัตถุโดยสัมผัส (haptic perception) ที่อาศัยการรับรู้ความเคลื่อนไหวเหมือนกัน ก็ต้องอาศัยแรงกลต่าง ๆ ที่ประสบในขณะสัมผัสด้วย ผลงานวิจัยนี้เป็นปัจจัยในการสร้างรูปร่างต่าง ๆ แบบเสมือน (virtual คือไม่มีอยู่จริง ๆ เหมือนกับ virtual realitiies) รู้ได้ทางสัมผัสที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน

การรับรู้อากัปกิริยาที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจและนอกอำนาจจิตใจ

ในมนุษย์ การรับรู้อากัปกิริยาแยกออกเป็นแบบที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจและที่นอกอำนาจจิตใจ

การตอบสนองนอกอำนาจจิตใจเห็นได้ในรีเฟล็กซ์การรับรู้อากัปกิริยาในมนุษย์ที่เรียกว่า righting reflex คือ เมื่อกายเอียงไปทางด้านไหนก็ตาม บุคคลนั้นก็จะตั้งหัวให้ตรง เป็นการปรับระดับตาให้เสมอกับแนวนอน ปฏิกิริยานี้เห็นได้แม้ในเด็กทารกเมื่อเด็กเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอได้ การควบคุมกล้ามเนื้อคอได้มีซีรีเบลลัมเป็นเหตุ ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่อิทธิพลในการทรงตัว

การประยุกต์ใช้

การวินิจฉัยโรคทางประสาท

มีการทดสอบที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงที่ทดสอบความสามารถในการรับรู้อากัปกิริยาของสัตว์ที่รับการทดสอบ เป็นการวินิจฉัยโรคทางประสาท (neurological disorder) รวมการทดสอบที่ตรวจสอบรีเฟล็กซ์โดยใช้ตาหรือสัมผัสเป็นต้นว่า placing reflexes ซึ่งเป็นการทดสอบการรับรู้อากัปกิริยาโดยสัมผัสในสัตว์โดยเฉพาะของแมวและสุนัข

เพื่อการวินิจฉัยรักษาพยาบาลในมนุษย์ การทดสอบต่อไปนี้วัดความสามารถของบุคคลในการรับรู้อากัปกิริยาโดยไม่ใช้ตาช่วย

ให้จับคู่ตำแหน่งข้อต่อ

การจับคู่ตำแหน่งข้อต่อ (อังกฤษ: joint position matching) เป็นวิธีการวัดการรับรู้อากัปกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการวัดความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ โดยที่ไม่อาศัยข้อมูลจากตาหรือระบบการทรงตัว (vestibular system) เป็นตัวช่วย เพื่อทำการทดสอบนี้ พึงให้ผู้รับการทดสอบปิดตา แล้วเคลื่อนข้อต่อหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็นำข้อต่อนั้นกลับมาที่เดิม หลังจากนั้น ก็ให้ผู้รับการทดสอบเคลื่อนข้อต่อไปยังตำแหน่งนั้น โดยวัดความผิดพลาด ความสามารถในการบ่งชี้มุมของข้อต่อในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็จะวัดได้ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบันในการวัดการรับรู้อากัปกิริยา (โดยที่ไม่วัดความสามารถอย่างอื่นร่วมด้วย)

งานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า ความถนัดซ้ายขวา อายุ การเคลื่อนไหวเองหรือให้ผู้อื่นเคลื่อนให้ และระยะเวลาที่ให้ข้อต่อดำรงอยู่ในมุมเป้าหมาย มีอิทธิพลต่อความสามารถในการจับคู่ตำแหน่งข้อต่อ การจับคู่ตำแหน่งข้อต่อใช้ในการวินิจฉัยรักษาทั้งในอวัยวะเบื้องบนและเบื้องล่าง

ให้ชี้ทิศทางการเคลื่อนไหว

เพื่อทดสอบนิ้วมือหรือข้อมือ หรือนิ้วโป้งเท้า ให้คนไข้หลับตา แล้วขยับนิ้วมือหรือข้อมือหรือนิ้วโป้งเท้าของคนไข้ขึ้นหรือลง โดยที่ไม่ต้องขยับเกิน 1-2 มิลลิเมตร ปกติคนไข้จะสามารถบอกทิศทาง ความเร็ว และมุมของการเคลื่อนไหวนั้นได้

เพื่อทดสอบข้อต่อที่สะโพกและหัวเข่า ให้คนไข้นอนหงายแล้วปิดตา แล้วขยับขาของคนไข้ไปยังตำแหน่งใหม่ แล้วให้คนไข้บอกทิศทางของการเคลื่อนไหว

การทดสอบไหล่และข้อศอก

เพื่อทดสอบไหล่และข้อศอก ให้คนไข้หลับตา แล้วเอานิ้วชี้มาวางที่ปลายจมูกของตน

การทดสอบโดยการทรงตัว

สามารถใช้ Roberg's test ซึ่งเป็นวิธีทดสอบการทรงตัวในการทดสอบอากัปกิริยาได้ ให้คนไข้ยืนขาชิดกันแล้วปิดตา ผลการทดสอบเป็นบวกถ้าคนไข้ยืนส่ายไปมาหรือล้มเมื่อปิดตา ซึ่งอาจจะบ่งถึงรอยโรคที่ dorsal column ความบกพร่องของหูชั้นใน รอยโรคที่ซีรีเบลลัม หรือภาวะ sensory ataxia ซึ่งเกิดจากรอยโรคใน dorsal column เช่นกัน

การทดสอบความเมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอเมริกันทดสอบความมึนเมาจากสุรา โดยใช้วิธีทดสอบการรับรู้อากัปกิริยาที่เรียกว่า "การทดสอบความไม่เมาในสนาม (field sobriety test)" คือให้ผู้รับการทดสอบแตะจมูกในขณะที่ปิดตา ผู้ที่มีการรับรู้อากัปกิริยาที่เป็นปกติจะทำการไม่พลาดเกินกว่า 20 มิลลิเมตร ในขณะที่ผู้ที่มีการรับรู้อากัปกิริยาในระดับที่ลดลง (ซึ่งเป็นอาการของคนเมาสุรา) จะสอบไม่ผ่าน เพราะความยากลำบากในการกำหนดตำแหน่งของแขนขาโดยสัมพันธ์กับจมูกของตน

การเรียนรู้ทักษะใหม่

เพราะมีการรับรู้อากัปกิริยา เราจึงสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อจะเดินในที่มืดสนิดโดยไม่เสียการทรงตัว และในขณะที่กำลังเรียนทักษะ เรียนการเล่นกีฬา หรือเรียนวิธีการสร้างศิลปะใหม่ ๆ ปกติแล้วจะขาดความคุ้นเคยเกี่ยวกับอากัปกิริยาของร่างกายที่มีในการทำกิจกรรมนั้น ๆ ไม่ได้ ถ้าไม่มีการประสานข้อมูลเกี่ยวกับอากัปกิริยาของร่างกายที่เหมาะสม นักวาดรูปย่อมไม่สามารถป้ายสีที่ผ้าใบโดยที่ไม่แลดูมือของตนที่กำลังเคลื่อนพู่กันไปที่ส่วนต่าง ๆ ของผ้าใบได้ คนขับรถก็จะไม่สามารถขับรถ เพราะไม่สามารถมองดูพวงมาลัย ดูคันเร่ง และดูถนนหนทางที่อยู่ข้างหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ ผู้พิมพ์คีย์บอร์ดก็จะไม่สามารถพิมพ์แบบสัมผัสโดยไม่ต้องแลดูแป้นพิมพ์ได้ นักเต้นบัลเล่ย์ก็จะไม่อาจเต้นให้งดงามได้ และคนโดยทั่ว ๆ ไปก็จะไม่สามารถแม้แต่จะเดินโดยไม่มองดูที่ที่ตนต้องวางเท้าได้

น.พ. โอลิเว่อร์ แซกส์ ครั้งหนึ่งได้รายงานกรณีของหญิงสาวผู้สูญเสียการรับรู้อากัปกิริยาเพราะการติดเชื้อไวรัสที่ไขสันหลัง เมื่อเริ่มมีปัญหานี้ใหม่ ๆ เธอไม่สามารถแม้แต่จะเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นปกติ ไม่สามารถจะควบคุมน้ำเสียงของเธอ เพราะการควบคุมเสียงอาศัยการรับรู้อากัปกิริยา ต่อมา เธอต้องฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ใหม่โดยใช้ตากับระบบรับรู้การทรงตัว (vestibular system) ในหูชั้นใน ในการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่มีข้อมูลจากระบบการรับรู้อากัปกิริยา และใช้หูเพื่อช่วยควบคุมน้ำเสียงของเธอ ในที่สุด เธอจึงจะสามารถทำการเคลื่อนไหวที่แข็ง ๆ และช้า ๆ และใช้คำพูดด้วยน้ำเสียงที่เกือบเป็นปกติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความสำเร็จผลดีที่สุดที่เป็นไปได้ในกรณีที่ขาดการรับรู้อากัปกิริยาอย่างนี้ เธอไม่สามารถแม้จะรู้ระดับกำลังที่ต้องใช้ในการหยิบจับวัถถุ ดังนั้น เธอจึงจับวัตถุต่าง ๆ เกินกำลังจนกระทั่งรู้สึกเจ็บปวด เพื่อให้แน่ใจว่า เธอจะไม่ทำวัตถุเหล่านั้นตก

การฝึก

การฝึกอวัยวะส่วนล่าง

การรับรู้อากัปกิริยาสามารถฝึกได้โดยหลายวิธี การโยนของสลับมือในการเล่นกล เป็นวิธีฝึกการตอบสนองให้ว่องไวขึ้น ฝึกการกำหนดตำแหน่งของอวัยวะในปริภูมิ และฝึกการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพไม่สิ้นเปลืองความพยายาม ส่วนการใช้กระดานทรงตัวสามารถฟื้นฟูหรือเพิ่มความสามารถในการรับรู้อากัปกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยเป็นวิธีฟื้นฟูบำบัดความบาดเจ็บที่ข้อเท้าหรือเข่า ส่วนการยืนบนขาเดียว หรือวิธีดัดกายอย่างอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของกายบริหารแบบโยคะ หวิงชุน และไท่เก็ก ที่สามารถใช้พัฒนาการรับรู้อากัปกิริยาเช่นเดียวกัน

งานวิจัยหลายงานแสดงว่า การดัดกายเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถ้าปิดตาทำ เพราะว่า ข้อมูลจากตาเป็นข้อมูลป้อนกลับสำคัญที่ใช้ในการทรงตัว (และดังนั้น เมื่อปิดตาจึงต้องอาศัยการรับรู้อากัปกิริยามากขึ้นในการทรงตัว)

มีอุปกรณ์อย่างอื่นที่ใช้เพิ่มการรับรู้อากัปกิริยาโดยเฉพาะ เช่นลูกบอลเพื่อออกกำลังกาย ซึ่งช่วยการทรงตัวและบริหารกล้ามเนื้อท้องและหลัง

ความบกพร่อง

การสูญเสียหรือความบกพร่องของการรับรู้อากัปกิริยาแบบชั่วคราว อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงพัฒนาการ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่อาจจะมีผลต่อความบกพร่องของการรับรู้อากัปกิริยา คือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วของน้ำหนักตัวหรือขนาดตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นลดลงอย่างรวดเร็วของไขมัน เช่นโดยการดูดไขมันออกเป็นต้น และ/หรือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้อ เพราะการเพาะกาย การใช้อะนาบอลิกสเตอรอยด์ และความอดอยากเป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีความอ่อนตัว (flexibility) ความยืดหยุ่นได้ (stretching) และความบิดตัวได้ (contortion) ที่สูงขึ้น อวัยวะที่สามารถเคลื่อนไหวได้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าไม่สามารถทำได้หลังจากวัยเด็ก อาจจะทำความสับสนให้กับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ อาการที่จะเกิดขึ้นได้แก่ เกิดความรู้สึกอย่างเฉียบพลันว่า เท้าหรือขาของตนหายไป เกิดความจำเป็นในการดูแขนขาของตนเพื่อจะให้แน่ใจว่ายังอยู่ และมีการหกล้มในขณะที่เดินโดยเฉพาะเมื่อกำลังใส่ใจในสิ่งอื่นนอกจากการเดิน

การรับรู้อากัปกิริยาบางครั้งอาจมีความบกพร่องขึ้นมาเฉย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเหนื่อย กายของตนอาจจะรู้สึกใหญ่เกินหรือเล็กเกิน หรืออวัยวะบางส่วนอาจจะเหมือนกับมีขนาดผิดไป ปรากฏการณ์ที่คล้ายกันอาจจะเกิดขึ้นในขณะชัก หรือในขณะมีสัญญาณบอกเหตุไมเกรน (migraine auras) ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับสันนิษฐานว่าเกิดจากการกระตุ้นแบบผิดปกติของส่วนในสมองกลีบข้าง ซึ่งมีหน้าที่ประสานข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ยังมีเทคนิคหลอกระบบการรับรู้อากัปกิริยาอีกด้วย เช่นการหลอกด้วย Pinocchio illusion

ความรู้สึกถึงการรับรู้อากัปกิริยามักจะไม่ปรากฏเพราะว่ามนุษย์โดยมากจะปรับตัวต่อตัวกระตุ้นที่มีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "habituation (ความเคยชิน)", "desensitization (การลดความรู้สึก)", หรือ "adaptation (การปรับตัว)" ผลก็คือความรู้สึกเกี่ยวกับการรับรู้อากัปกิริยาย่อมอันตรธานไป เหมือนกับกลิ่นที่อันตรธานไปเมื่อเคยชิน จุดดีอย่างหนึ่งก็คือ กิจกรรมหรือความรู้สึกที่ไม่ได้รับการสังเกต สามารถดำเนินต่อไปเป็นเบื้องหลัง ในขณะที่บุคคลนั้นใส่ใจในเรื่องอื่น

บุคลลผู้มีการตัดแขนขาอาจจะมีความรู้สึกที่สับสนเกี่ยวกับความมีอยู่ของอวัยวะนั้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (phantom limb syndrome) ความรู้สึกเกี่ยวกับอวัยวะแฟนตอม (คืออวัยวะที่ไม่มีแต่รู้สึกเหมือนว่ามี) อาจเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกทางอากัปกิริยาว่า มีอยู่ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือความรู้สึกว่า มีการเคลื่อนไหว มีแรงกด มีความเจ็บปวด มีความคัน หรือความรู้สึกร้อนเย็น มีทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับสมุฏฐานของความรู้สึกและประสบการณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับอวัยวะแฟนตอม แจ็ค เซ้า ผู้เป็นนายแพทย์ประจำ ร.พ. วอลเตอร์ รีด ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เสนอทฤษฎีบนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ "ความทรงจำในการรับรู้อากัปกิริยา" (proprioceptive memory) ทฤษฎีนี้เสนอว่า สมองดำรงความทรงจำเกี่ยวกับตำแหน่งเฉพาะที่ ๆ ของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมีการตัดอวัยวะออก ก็จะมีข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างระบบสายตา ซึ่งเห็นความที่อวัยวะนั้นไม่มีอยู่จริง ๆ และระบบความทรงจำซึ่งยังจำว่าอวัยวะนั้นเป็นส่วนประกอบที่ยังมีอยู่ในร่างกาย ความรู้สึกและความเจ็บปวดในอวัยวะแฟนตอม อาจเกิดขึ้นหลังจากตัดอวัยวะอื่น ๆ นอกจากแขนขาในร่างกาย เช่นการตัดเต้านม การถอนฟัน (มีผลเป็นกลุ่มอาการหลงผิดว่าฟันยังคงอยู่) และการตัดตาออก (มีผลเป็นกลุ่มอาการหลงผิดว่าตายังคงอยู่)

ความบกพร่องแบบชั่วคราวของระบบรับรู้อากัปกิริยา สามารถเกิดจากการใช้วิตามิน B6 (pyridoxine และ pyridoxamine) เกินขนาด ความบกพร่องจะกลับไปสู่ภาวะปกติหลังจากที่การบริโภควิตามินกลับไปสู่ระดับปกติ นอกจากนั้น ความบกพร่องอาจเกิดขึ้นเพราะเกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) เช่นเพราะเคมีบำบัด (การให้คีโม)

มีการเสนอว่า แม้อาการมีเสียงในหู (tinnitus) และการไม่ได้ยินเสียงในความถี่บางระดับ ก็อาจจะก่อให้เกิดข้อมูลอากัปกิริยาที่ผิดพลาด ซึ่งเมื่อศูนย์สมองที่ประมวลผลได้รับแล้ว อาจจะก่อให้เกิดความสับสนอย่างอ่อน ๆ

การรับรู้อากัปกิริยาอาจจะมีความเสียหายอย่างถาวรในคนไข้ที่มีโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวข้อต่อเกินขนาด หรือ Ehlers-Danlos Syndrome ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมมีผลให้เนื้อเยื่อยึดต่อ (connective tissue) ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่แข็งแรง หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะการติดเชื้อไวรัสดังที่รายงานโดย น.พ. แซกส์ (ดูด้านบน) ส่วนผลของการสูญเสียการรับรู้อากัปกิริยาที่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงได้รับการตรวจสอบโดย โรเบรส์-เดอ-ลา-ทอร์ ในปี ค.ศ. 2006

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ


Новое сообщение