Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง

ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง (อังกฤษ: self-serving bias) เป็นกระบวนการทางประชานหรือการรับรู้ที่มีการบิดเบือนเพื่อที่จะพิทักษ์รักษาหรือเพิ่มความภูมิใจของตน (self-esteem) เมื่อเราปฏิเสธคำวิจารณ์เชิงลบ เพ่งดูแต่ข้อดีและความสำเร็จของตน แต่มองข้ามข้อเสียและความล้มเหลว หรือให้เครดิตตนเองมากกว่าผู้อื่นในงานที่ทำเป็นกลุ่ม เรากำลังพิทักษ์รักษาอัตตาจากความคุกคามหรือความเสียหาย ความโน้มน้าวทางประชานและการรับรู้เช่นนี้ทำให้เกิดการแปลสิ่งเร้าผิดและความผิดพลาด แต่เป็นความจำเป็นในการรักษาความภูมิใจในตนเอง ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะอ้างความเฉลียวฉลาดและความขยันของตน ว่าเป็นเหตุของการได้เกรดดีในการสอบ แต่อ้างการสอนของคุณครูหรือคำถามที่ไม่ยุติธรรมว่า เป็นเหตุของการได้เกรดไม่ดี ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมที่มีความเอนเอียงเช่นนี้ งานวิจัยต่าง ๆ ได้แสดงแล้วว่า การอ้างเหตุผลอย่างเอนเอียงเช่นนี้ ก็มีในสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย รวมทั้งในที่ทำงาน ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการกีฬา และในการตัดสินใจของผู้บริโภค

ทั้งกระบวนการแรงจูงใจ (เช่น การยกตนเอง [self-enhancement] การรักษาภาพพจน์ [self-presentation]) และกระบวนการทางประชาน (เช่น locus of control, ความภูมิใจในตน [self-esteem]) ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความเอนเอียงนี้ ความเอนเอียงมีความแตกต่างกันทั้งในวัฒนธรรมต่าง ๆ (เช่นความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบในวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง และวัฒนธรรมที่เน้นส่วนรวม) และในคนไข้บางโรค (เช่นผู้มีภาวะเศร้าซึม) งานวิจัยโดยมากเกี่ยวกับความเอนเอียงนี้ ใช้การอ้างเหตุผลที่ผู้ร่วมการทดลองรายงาน (self-reports) ในการทดลองที่มีการปรับเปลี่ยนผลของงาน (ที่ไม่ใช่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ร่วมการทดลอง) และในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจริง ๆ แต่ว่า งานวิจัยที่ทันสมัยกว่านั้น จะใช้การปรับเปลี่ยนทางกายภาพ เช่นการทำให้เกิดอารมณ์ หรือการกระตุ้นการทำงานในระบบประสาท เพื่อที่จะเข้าใจกลไกทางชีวภาพที่มีส่วนให้เกิดความเอนเอียงรับใช้ตนเองได้ดีขึ้น

ประวัติ

ทฤษฎีความเอนเอียงรับใช้ตนเองเกิดขึ้นระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 และเมื่องานวิจัยในประเด็นนี้เริ่มมีเพิ่มขึ้น นักวิชาการบางท่านมีความวิตกกังวลว่า ทฤษฎีนี้จะกลายเป็นเรื่องล้มเหลวเหมือนกับทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เคยมีอย่างหนึ่ง แต่ว่า ในปัจจุบันนี้ ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ทฤษฎีนี้เริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับ attribution bias (ความเอนเอียงในการอ้างเหตุผล) คือนักวิจัยผู้หนึ่งพบว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยชัดเจน เราจะทำการอ้างเหตุผล (คือยกย่องความดีหรือโทษความชั่ว) ที่เป็นไปเพื่อความต้องการของตนเอง เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาความภูมิใจในตนและมุมมองของตน ความโน้มเอียงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เป็นแนวโน้มที่เรียกว่าเป็นการ "รับใช้ตนเอง" (self-serving) งานศึกษาในปี ค.ศ. 1975 เป็นงานรุ่นแรก ๆ ที่ตรวจสอบทั้งเรื่องความเอนเอียง และรายละเอียดเกี่ยวกับการอ้างเหตุผล ทั้งเมื่อมีความสำเร็จและเมื่อมีความล้มเหลว

วิธีการ

การทดสอบในแล็บ

การตรวจสอบความเอนเอียงนี้ในห้องแล็บมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการทดลอง แต่ก็จะมีหลักพื้นฐานที่คล้าย ๆ กันบ้าง คือจะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองทำงานบ่อยครั้งเกี่ยวกับเชาวน์ปัญญา ความอ่อนไหวทางสังคม ความสามารถในการสอน และทักษะในการบำบัดโรค ซึ่งอาจจะให้ทำคนเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม หลังจากเสร็จแล้ว จะมีการให้คำวิจารณ์หรือคะแนนที่กุขึ้นโดยสุ่ม ในงานทดลองบางงาน จะมีการจูงใจให้เกิดอารมณ์บางอย่างเพื่อตรวจสอบอิทธิพลของอารมณ์ต่อความเอนเอียง ท้ายสุดแห่งการทดลอง จะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ้างเหตุผลเกี่ยวกับผลที่ได้ (ว่าทำไม่ถึงออกมาดีหรือไม่ดี) ผู้ทำงานวิจัยจะทำการประเมินการอ้างเหตุผล เพื่อสำรวจว่ามีความเอนเอียงรับใช้ตนเองในระดับไหน

การทดลองทางระบบประสาท

งานทดลองที่ทันสมัยกว่า จะใช้การสร้างภาพสมองเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มจากวิธีการทดลองแบบอื่น ๆ ด้วย มีการตรวจสอบประสาทสัมพันธ์ (Neural correlates) ของความเอนเอียงรับใช้ตนเองโดยทั้งการสร้างภาพแบบการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และโดย fMRI เทคนิคเหล่านี้ช่วยสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบริเวณสมองที่มีการทำงานเมื่อเกิดความเอนเอียงนี้ และช่วยในการแยกแยะการทำงานของสมองในคนปกติและในคนไข้

วิธีตรวจสอบโดยธรรมชาติ

การประเมินผลงานย้อนหลังสามารถใช้ในการตรวจสอบความเอนเอียง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการรายงานงบกำไรขาดทุนของบริษัท ก็จะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ้างเหตุผลของผลที่ได้ ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจสอบดูว่า พนักงานและผู้บริหารงานมีทัศนคติอย่างไรเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของบริษัท วิธีนี้สามารถรวบรวมตัวแปรต่าง ๆ มากมาย เพื่อใช้ในการกำหนดว่ามีความเอนเอียงแบบนี้หรือไม่

องค์ประกอบและตัวแปร

แรงจูงใจ

มีแรงจูงใจสองอย่างที่มีผลต่อความเอนเอียงนี้ คือ การยกตนเอง (self-enhancement) และการรักษาภาพพจน์ (self-presentation) การยกตัวเองมีจุดมุ่งหมายเพื่อพิทักษ์คุณค่าของตนไว้ คือการอ้างเหตุความสำเร็จภายใน และอ้างเหตุความล้มเหลวภายนอก จะช่วยในการรักษาคุณค่าของตนไว้ ส่วนการรักษาภาพพจน์หมายถึงความต้องการที่จะแสดงภาพพจน์ให้คนอื่นเห็น โดยใช้การอ้างเหตุผลรับใช้ตนเองเพื่อรักษาภาพพจน์ที่คนอื่นมีเกี่ยวกับตน ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถอ้างความสำเร็จว่าเป็นของตน แต่หลีกเลี่ยงความล้มเหลว เพื่อรักษาภาพพจน์ของตนต่อผู้อื่น แรงจูงใจต่าง ๆ จะทำงานร่วมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ทางประชาน เพื่อสร้างการอ้างเหตุผลที่น่าพึงใจต่อตนเอง ซึ่งเป็นการพิทักษ์ภาพพจน์ของตน สำหรับผลที่ได้นั้น

โลคัสของการควบคุม

โลคัสของการควบคุม (Locus of control) เป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งของสไตล์การอ้างเหตุผล (attribution style) บุคคลที่มีโลคัสภายในจะเชื่อว่า ตนมีอำนาจเหนือสถานการณ์และพฤติกรรมของตนจะมีผล ส่วนบุคคลที่มีโลคัสภายนอกจะเชื่อว่า ปัจจัยภายนอก เคราะห์ และโชค จะเป็นตัวกำหนดสถานการณ์และพฤติกรรมของตนจะไม่มีผล ผู้ที่มีโลคัสภายนอกมีโอกาสที่จะแสดงความเอนเอียงประเภทนี้เมื่อเกิดความล้มเหลว มากกว่าผู้ที่มีโลคัสภายใน สไตล์การอ้างเหตุผลระหว่างผู้มีโลคัสสองอย่าง จะไม่แตกต่างกันมากเมื่อเกิดความสำเร็จ เพราะว่า บุคคลทั้งสองประเภทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิทักษ์ภาพพจน์ของตนเองในเมื่อเกิดความสำเร็จ นักบินผู้มีโลคัสภายใน มีโอกาสมากกว่าที่จะแสดงความเอนเอียงนี้ ในเรื่องทักษะการบินและประวัติความปลอดภัยของตน

เพศ

งานวิจัยหลายงานแสดงความแตกต่างกันเล็กน้อย ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ในเรื่องความเอนเอียงนี้ ในงานสำรวจที่ให้คำตอบเอง ที่ตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ผู้ชายมักจะอ้างว่าเป็นความผิดของคู่ มากกว่าผู้หญิง นี้อาจจะเป็นหลักฐานว่า ผู้ชายมีความเอนเอียงนี้มากกว่าผู้หญิง แม้ว่า งานทดลองนี้จะไม่ได้ตรวจสอบการอ้างเหตุผลเมื่อมีผลบวก

อายุ

ผู้ใหญ่วัยสูงกว่า โทษเหตุภายในเมื่อมีผลลบมากกว่า สไตล์การอ้างเหตุผลที่แตกต่างกันตามอายุแสดงว่า ความเอนเอียงนี้อาจมีน้อยกว่าในผู้สูงอายุกว่า แต่ว่าผู้ใหญ่สูงอายุที่โทษเหตุภายในว่า เป็นเหตุของผลลบเหล่านี้ ประเมินตนเองด้วยว่ามีสุขภาพไม่ดี และดังนั้น องค์ประกอบทางอารมณ์เชิงลบ อาจจะเป็นตัวแปรสับสนของอายุ (คือทำให้ไม่ชัดเจนว่า อายุหรืออารมณ์เชิงลบ เป็นเหตุแห่งความแตกต่างของระดับความเอนเอียงนี้ในผู้สูงอายุ)

วัฒนธรรม

มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง (individualistic) เปรียบเทียบกับสังคมอื่นที่เน้นส่วนรวม (collectivistic) คือ ประโยชน์จุดมุ่งหมายของครอบครัวและชุมชนจะมีความสำคัญกว่าในวัฒนธรรมที่เน้นส่วนรวม และโดยเปรียบเทียบกัน ประโยชน์จุดมุ่งหมายของตนและความเป็นตัวของตัวเองที่เน้นในสังคมตะวันตก จะเพิ่มความจำเป็นสำหรับคนในวัฒนธรรมเช่นนี้ ในการพิทักษ์และเพิ่มพูนความภูมิใจในตนเอง ถึงจะมีงานวิจัยที่แสดงความแตกต่างเช่นนี้ ก็ยังมีงานวิจัยที่แสดงผลขัดกัน คือแสดงการอ้างเหตุผลที่คล้ายกันระหว่างสังคมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเองและสังคมที่เน้นส่วนรวม โดยเฉพาะก็คือ ระหว่างประเทศเบลเยี่ยม เยอรมนีตะวันตก เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร งานวิจัยเหล่านี้มักจะรวบรวมข้อมูลจากงานทดลองที่ออกแบบและทำกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ส่วนงานที่ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่จริง ๆ ระหว่างบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นพบว่า

  • ทั้งบริษัทอเมริกันและญี่ปุ่นทำการอ้างเหตุเกี่ยวกับผลบวก มากกว่าผลลบ
  • บริษัทอเมริกันจะเน้นการกล่าวถึงผลบวกมากกว่าบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งแสดงว่าบริษัทญี่ปุ่นสามารถยอมรับข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับองค์กรได้มากกว่า
  • ทั้งบริษัทอเมริกันและญี่ปุ่นจะอ้างเหตุภายในสำหรับผลบวก (คืออ้างว่าผลบวกเกิดจากความสามารถการกระทำของบริษัท)
  • บริษัทญี่ปุ่นจะโทษปัจจัยภายนอกสำหรับผลลบมากกว่าบริษัทอเมริกัน

ดังนั้น โดยรวม ๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีมติร่วมกันว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีผลต่อความเอนเอียงนี้อย่างไร แต่ว่า ดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมอื่น ๆ

บทบาท

งานวิจัยที่แยกบทบาทของผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้ทำงานหรือผู้สังเกตการณ์ผู้ทำงาน พบความคล้ายคลึงกับปรากฎการณ์ actor-observer asymmetry (อสมมาตรระหว่างผู้ทำงานกับผู้สังเกตการณ์) คือ ผู้ทำงานจะแสดงความเอนเอียงรับใช้ตนเองในการให้เหตุผลความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงาน แต่ผู้สังเกตการณ์ผลงานของผู้อื่นจะมีการให้เหตุผลที่ต่างกัน คือ ผู้สังเกตการณ์มักจะมีความเป็นกลางมากกว่าในการยกปัจจัยภายในและภายนอกว่าเป็นเหตุของผลงานที่ได้ นี้อาจจะเป็นเพราะว่า นี่เป็นเรื่องของภาพพจน์ของผู้ทำงานโดยตรง และดังนั้น ผู้ทำงานจะต้องพิทักษ์ภาพพจน์ของตน ส่วนผู้สังเกตการณ์ไม่มีความโน้มเอียงในการพิทักษ์ภาพพจน์ของผู้อื่น

ความภูมิใจในตนและอารมณ์

อารมณ์ต่าง ๆ สามารถมีอิทธิพลต่อความรู้สึกภูมิใจในตน (self-esteem) ซึ่งก็จะมีผลต่อความรู้สึกว่าต้องทำการปกป้องภาพพจน์ของตน เชื่อกันว่าบุคคลที่มีความภูมิใจในตนสูง จะมีการพิทักษ์รักษาภาพพจน์ของตนมากกว่า และดังนั้น ก็จะแสดงความเอนเอียงรับใช้ตนมากกว่าผู้ที่มีความภูมิใจในตนที่ต่ำกว่า ในงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองที่ทำให้เกิดอารมณ์คือความรู้สึกผิด หรือขยะแขยง มีโอกาสน้อยลงที่จะอ้างเหตุรับใช้ตนเองในความสำเร็จ และอ้างเหตุปกป้องตนเองในความล้มเหลว นักวิจัยในงานนี้สรุปว่า อารมณ์คือความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกขยะแขยงลดระดับความภูมิใจในตน และดังนั้น จึงลดระดับความเอนเอียงรับใช้ตน

ความสำนึกตนและโอกาสพัฒนา

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความสำนึกตน (self awareness) และความรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะพัฒนา มีอิทธิพลต่อความเอนเอียงนี้ คือ บุคคลที่มีความสำนึกตนสูง จะอ้างเหตุภายในว่าทำให้เกิดความล้มเหลวเมื่อรู้สึกว่า มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาในงานนั้น แต่ว่า จะเกิดความเอนเอียงนี้ คือโทษปัจจัยภายนอก เมื่อรู้สึกว่า มีโอกาสน้อยที่จะพัฒนาในงานนั้น ส่วนบุคคลที่มีความสำนึกตนน้อย จะโทษปัจจัยภายนอกไม่ว่าโอกาสการพัฒนาในงานจะมีแค่ไหน

ผลของความเอนเอียงในสถานการณ์จริง ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

การแสดงออกของความเอนเอียงนี้อาจขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกันระหว่างบุคคล คือความสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อทำงานเป็นคู่ในงานที่สืบเนื่องกัน คู่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดจะไม่แสดงความเอนเอียงนี้ ในขณะที่คู่ที่มีความสัมพันธ์ห่างกันจะแสดง งานศึกษาความเอนเอียงในสังคมหนึ่งเสนอว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดจะจำกัดความโน้มเอียงในการยกตนของแต่ละบุคคล คือแต่ละคนจะถ่อมตัวกว่าเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะใช้ความสัมพันธ์นั้นเพื่อประโยชน์ตน แม้ว่า ความเข้าใจว่าทำไมคู่ที่มีความสัมพันธ์เช่นนี้จึงเว้นจากความเอนเอียงนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่อาจจะอธิบายได้โดยส่วนหนึ่ง โดยความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันและกัน งานวิจัยอีกงานหนึ่งพบผลที่คล้ายคลึงกัน เมื่อตรวจสอบเพื่อนและคนแปลกหน้า มีการให้ผู้ร่วมการทดลองเป็นคู่ ๆ ทำงานสร้างสรรค์ที่สืบเนื่องกัน แต่บอกว่าผลงานเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวโดยกุขึ้น คนแปลกหน้ามักจะแสดงความเอนเอียงนี้ในการอ้างเหตุผล ส่วนผู้เป็นเพื่อนมักจะยกคุณและโทษให้ทั้งตนเองและเพื่อนเท่า ๆ กันทั้งกรณีสำเร็จและกรณีล้มเหลว ซึ่งนักวิจัยถือเอาเป็น "ขอบเขตของการยกตนเอง"

ในที่ทำงาน

มีงานวิจัยที่แสดงว่า ผลการสมัครงานสามารถอธิบายได้ด้วยความเอนเอียงนี้ ถ้าได้งานเราจะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุภายใน แต่ถ้าไม่ได้งานก็จะอ้างว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอก แต่ว่า เมื่อมีการตรวจสอบคำอธิบายความว่างงานด้วยการทดลอง โดยการให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการถึงงานที่กำลังรับสมัคร และความเป็นไปได้ในระดับต่าง ๆ ของการได้งาน จะไม่พบความเอนเอียงชนิดนี้ นักวิจัยอ้างว่า นี้อาจจะเป็นเพราะความแตกต่างกันระหว่างบทบาทของผู้กระทำ-ผู้สังเกตการณ์ ในการแสดงความเอนเอียงนี้ ในที่ทำงานจริง ๆ ผู้ที่รับความบาดเจ็บต่ออุบัติเหตุที่รุนแรงมักจะโทษปัจจัยภายนอก แต่ว่า เพื่อนร่วมงานและผู้บริหารมักจะโทษการกระทำของผู้ที่รับความบาดเจ็บ

ความต่าง ๆ กันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของความเอนเอียง ที่กล่าวถึงในหัวข้อที่แล้ว จะมีผลต่อการอ้างเหตุของผลที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ในงานทดลองหนึ่งที่ตรวจสอบพลวัตของกลุ่ม มีการให้ผู้ร่วมการทดลองซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม ทำงานตัดสินใจผ่านการสื่อสารกับสมาชิกอื่น ๆ ทางคอมพิวเตอร์ ผลงานทดลองว่า ในผลล้มเหลว ผู้ร่วมการทดลองจะมีความเอนเอียงนี้ และความห่างไกลกันเพราะเหตุความสัมพันธ์ที่มีผ่านคอมพิวเตอร์ จะเพิ่มระดับการยกโทษให้กันและกันในกรณีล้มเหลว

มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่า ความรักตัวเอง (narcissism) มีความสัมพันธ์กับการให้คะแนนตัวเองสูงขึ้นของหัวหน้ากลุ่ม ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2006 นักวิจัยก็พบเหมือนกันว่า ความรักตัวเองมีความสัมพันธ์กับการชื่มชมตัวเองของหัวหน้ากลุ่ม แต่ว่า ความรักตัวเองของหัวหน้ากลุ่มจะมีผลลบต่อการให้คะแนนหัวหน้าจากลูกน้อง และงานวิจัยก็แสดงด้วยว่า ความรักตัวเองของหัวหน้า จะมีผลเป็นการให้คะแนนบวกกับตัวเองแม้ในการกระทำที่มีผลลบต่อองค์กร และในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะแตกต่างจากคะแนนที่ลูกน้องให้กับหัวหน้า และเพราะว่าความรักตัวเองหมายถึงทั้งการชื่มชมตัวเองที่มีกำลัง และความโน้มน้าวทางพฤติกรรมอย่างอื่น ๆ ที่อาจจะดูไม่ดีสำหรับคนอื่น เป็นไปได้ที่ความรักตัวเองจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองและความรู้สึกเกี่ยวกับผู้อื่นที่ต่าง ๆ กัน และความเข้าใจในเรื่องนี้อาจสำคัญเพราะว่า ความแตกต่างของความรู้สึกต่อตนเองและต่อผู้อื่น เป็นรากฐานของการบริหารการปฏิบัติงานและการพัฒนาบางวิธี

ในห้องเรียน

งานวิจัยทั้งในห้องแล็บทั้งในเหตุการณ์จริง ๆ พบว่า ทั้งคุณครูทั้งนักเรียนต่างก็มีความเอนเอียงรับใช้ตนเอง เกี่ยวเนื่องกับผลที่ได้ในห้องเรียน การยกย่องตนเองและโทษปัจจัยอื่น อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคุณครูกับนักเรียน เพราะว่า ต่างคนต่างไม่รับผิดชอบ (ผลไม่ดีที่เกิดขึ้น) คือ นักเรียนอาจจะโทษคุณครู ในขณะที่คุณครูก็จะถือเอาว่าเป็นหน้าที่ของนักเรียน แต่ว่า ทั้งคุณครูทั้งนักเรียนต่างก็มีความเข้าใจว่า อีกฝ่ายหนึ่งมีความเอนเอียง ซึ่งอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจจะมีวิธีแก้ปัญหานี้

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต มีงานวิจัยที่แสดงว่า เราอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ เหมือนกับมีกับบุคคลอื่น โดยที่เป็นไปใต้จิตสำนึก การมีปฏิสัมพันธ์เยี่ยงนี้ บวกกับทฤษฎีความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ดูเหมือนจะแสดงว่า ผู้บริโภคที่ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อสินค้า อาจจะยกเครดิตให้ตนเองเมื่อการซื้อสินค้านั้นสำเร็จลงด้วยดี แต่จะโทษคอมพิวเตอร์เมื่อมีผลลบ แต่ก็มีผลงานวิจัยที่พบว่า ผู้บริโภคจะให้เครดิตคอมพิวเตอร์เมื่อเกิดความสำเร็จและจะไม่โยนโทษให้เมื่อมีความล้มเหลว ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เหตุผลที่ไม่โทษคอมพิวเตอร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราคุ้นเคยต่อความใช้งานได้ที่ไม่ค่อยดี ลูกเล่นสมรรถภาพที่ใช้ยาก จุดบกพร่องต่าง ๆ และความล้มเหลวฉับพลัน ที่พบในโปรแกรมประยุกต์ (ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน) โดยทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยบ่นเกี่ยวกับปัญหาคอมพิวเตอร์ และกลับเชื่อว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่จะต้องเข้าใจปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และที่จะหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ปรากฎการณ์ที่แปลกนี้ พบในงานตรวจสอบปฏิสัมพันธระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์หลายงานเมื่อไม่นานนี้

การกีฬา

มีหลักฐานว่า นักกีฬามีความเอนเอียงรับใช้ตนเองเมื่อพิจารณาผลของการแข่งขัน ในงานวิจัยหนึ่ง ที่นักกีฬามวยปล้ำระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงเหตุของผลการแข่งขัน ผู้ชนะจะมีโอกาสมากกว่าผู้แพ้ ที่จะอ้างเหตุภายใน (คือชมว่าเป็นความสามารถของตน) นักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า มวยปล้ำเป็นการแข่งขันหนึ่งต่อหนึ่งและมีผู้ชนะที่ชัดเจน ดังนั้น กีฬาชนิดอื่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน อาจจะมีปรากฎการณ์ของความเอนเอียงคล้าย ๆ กัน แต่ว่ากีฬาทีม หรือกีฬาที่มีการแพ้ชนะที่ไม่ชัดเจน อาจจะไม่มีรูปแบบความเอนเอียงในลักษณะเดียวกัน

ภาวะซึมเศร้า

คนไข้ภาวะซึมเศร้ามักจะมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่น้อยกว่าคนปกติ ในงานทดลองหนึ่งที่สำรวจผลของพื้นอารมณ์ (mood) ต่อความเอนเอียงนี้ โดยที่พื้นอารมณ์ของผู้ร่วมการทดลอง จะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปทางเชิงบวกหรือเชิงลบ ผู้มีพื้นอารมณ์เชิงลบ มีโอกาสที่จะให้เครดิตตัวเองเพราะผลสำเร็จน้อยกว่าผู้มีพื้นอารมณ์เชิงบวก โดยไปให้เครดิตปัจจัยภายนอกแทน มีการเสนอว่า พื้นอารมณ์เชิงลบของผู้มีภาวะซึมเศร้า และความใส่ใจที่มุ่งไปในตน เป็นตัวอธิบายว่า ทำไมคนไข้คลินิกที่มีภาวะซึมเศร้า จึงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะแสดงความเอนเอียงนี้เทียบกันคนปกติ

งานวิจัยทางประสาท

fMRI

มีการใช้เทคนิค fMRI ในการสร้างภาพสมองของคนปกติเมื่อเกิดความเอนเอียงนี้ เมื่ออ้างเหตุผลที่มีความเอนเอียง สมองจะเกิดการทำงานในเขต dorsal striatum ซึ่งมีบทบาทในพฤติกรรมที่ประกอบกับแรงจูงใจ และในเขต dorsal anterior cingulate แต่ในคนไข้โรคซึมเศร้า จะมีการเชื่อมต่อกันที่อ่อนกว่าระหว่างเขต dorsomedial prefrontal cortex และระบบลิมบิก ดังนั้น การทำงานเชื่อมต่อกันนี้ อาจมีบทบาทเกี่ยวกับการอ้างเหตุผลรับใช้ตนเอง

EEG

ในงานวิจัยหนึ่งที่ใช้เทคนิคการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ในการเช็คการทำงานของสมอง ผู้ร่วมการทดลองจะได้รับฟังผลงานที่กุขึ้น แล้วให้ให้เหตุผล ปฏิกิริยาที่รับใช้ตนเองจะไม่แสดงการทำงานในระดับที่สูงขึ้นของ dorsomedial frontal cortex ก่อนจะอ้างเหตุผล โดยต่างจากปฏิกิริยาที่ไม่รับใช้ตนเอง การไม่มีทำงานของสมองในเขตนี้บ่งว่า การควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมองส่วน dorsomedial frontal cortex จะไม่เกิดขึ้นเมื่อรับใช้ตนเอง ในระดับเดียวกันกับเมื่อไม่รับใช้ตนเอง

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Campbell, W.K.; Sedikides, C. (1999). "Self-threat magnifies the self-serving bias: A meta-analytic integration". Review of General Psychology. 3: 23–43. doi:10.1037/1089-2680.3.1.23.

Новое сообщение