Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น
คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น | |
---|---|
ไฟล์:KarenWetterhahn.jpg | |
เกิด | 16 ตุลาคม ค.ศ. 1948(1948-10-16) แพลตต์สเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ |
เสียชีวิต | 8 มิถุนายน ค.ศ. 1997(1997-06-08) (48 ปี) เลบานอน รัฐนิวแฮมป์เชอร์ สหรัฐ |
ชื่ออื่น | คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น เจนเน็ตต์ |
ศิษย์เก่า | |
มีชื่อเสียงจาก |
|
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
สถาบันที่ทำงาน | วิทยาลัยดาร์ตมัธ |
วิทยานิพนธ์ | Metallointercalation reagents: synthesis, physical properties and their interaction with nucleic acids (1975) |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | สตีเฟน เจ. ลิปพาร์ด |
ได้รับอิทธิพลจาก | คริสตีน อาเลวีน |
คาเรน เอลิซาเบ็ท เวตเทอร์ฮาห์น (อังกฤษ: Karen Elizabeth Wetterhahn) หรือคาเรน เวตเทอร์ฮาห์น เจนเน็ตต์ (อังกฤษ: Karen Wetterhahn Jennette) เป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีประจำวิทยาลัยดาร์ตมัธ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพิษจากการได้รับโลหะหนัก เธอเสียชีวิตจากภาวะพิษปรอท (mercury poisoning) ขณะอายุได้ 48 ปีหลังจากที่เธอได้รับไดเมทิลเมอร์คิวรี (Hg(CH3)2) เนื่องจากหยดสารซึมทะลุผ่านถุงมือที่เธอใช้
ประวัติและอาชีพ
เวตเทอร์ฮาห์นเกิดที่เมืองแพลตต์สเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเซนต์ลอว์เรนซ์ใน ค.ศ. 1970 และระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียใน ค.ศ. 1975 โดยอาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกได้แก่สตีเฟน เจ. ลิปพาร์ด เธอเข้าทำงานที่วิทยาลัยดาร์ตมัธใน ค.ศ. 1975 และตีพิมพ์ผลงานกว่า 85 ฉบับ เธอมีส่วนร่วมก่อตั้งโครงการส่งเสริมนักศึกษาหญิงในสาขาวิทยาวิทยาศาสตร์ (WISP; Women in Science Project) ขึ้นที่ดาร์ตมัธใน ค.ศ. 1990 ซึ่งเพิ่มจำนวนนักศึกษาหญิงในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์จากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 25 และกลายเป็นต้นแบบสำหรับสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นในสหรัฐ
อุบัติเหตุและการเสียชีวิต
วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1996 เวตเทอร์ฮาห์นกำลังศึกษาอันตรกิริยาระหว่างไอออนปรอทและแคดเมียมกับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ ในการทดลองเธอใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ 199
Hg นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ (NMR) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สารประกอบของปรอทในขณะนั้น
เวตเทอร์ฮาห์นจำได้ว่าหยดไดเมทิลเมอร์คิวรีสองสามหยดกระเด็นจากปลายปิเปตต์ที่เธอใช้อยู่และตกลงบนถุงมือยางที่เธอใช้ เธอไม่คิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น เนื่องจากเธอทำตามมาตรการป้องกันทุกประการที่มีกำหนดไว้ เธอทำความสะอาดพื้นที่ที่เธอทำงานก่อนที่จะถอดอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีออก อย่างไรก็ตาม การทดสอบในภายหลังพบว่าไดเมทิลเมอร์คิวรีสามารถซึมผ่านถุงมือยางและผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ภายใน 15 วินาทีเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์หาปริมาณปรอทในเส้นผมซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณปรอทในเส้นผมเพิ่มขึ้นอย่างมาก 17 วันหลังได้รับสาร และเพิ่มถึงจุดสูงสุด 39 วันหลังได้รับสาร ก่อนที่จะลดลงอย่างช้า ๆ
ประมาณสามเดือนหลังได้รับสาร เวตเทอร์ฮาห์นเริ่มมีอาการปวดท้องและผมร่วงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่อาการด้านประสาทวิทยาได้แก่การเสียความสามารถในการทรงตัวและการพูดที่ช้าลงเริ่มปรากฏในเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 หรือห้าเดือนหลังได้รับสาร ซึ่งที่ระยะนี้ การทดสอบพบว่าเธอมีภาวะปรอทในเลือดสูง ปริมาณปรอทในเลือดและในปัสสาวะวัดได้ 4,000 µg L−1 และ 234 µg L−1 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปริมาณขั้นต่ำที่ถือว่าเป็นพิษได้แก่ 200 µg L−1 ในเลือดและ 50 µg L−1 ในปัสสาวะ (ในคนปกติ เลือดและปัสสาวะจะมีปริมาณปรอทอยู่ 1–8 µg L−1 และ 1–5 µg L−1 ตามลำดับ)
แม้ว่าแพทย์จะใช้คีเลชันเพื่อบำบัดพิษปรอทอย่างเต็มที่ก็ตาม อาการของเวตเทอร์ฮาห์นก็แย่ลงอย่างรวดเร็ว สามสัปดาห์หลังเริ่มปรากฏอาการทางประสาทวิทยา เธอเริ่มมีอาการคล้ายสภาพผักสลับกับอาการกระตุกอย่างรุนแรง นักศึกษาคนหนึ่งของเธอเล่าว่า "สามีของเธอเห็นน้ำตาไหลบนหน้าเธอ ฉันถามว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดไหม หมอบอกว่าดูเหมือนกับว่าสมองเธอไม่น่าจะรับรู้ความเจ็บปวดแล้ว" เวตเทอร์ฮาห์นเสียชีวิตในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากได้รับสารปรอท
การเสียชีวิตของเวตเทอร์ฮาห์นชี้ให้เห็นว่ามาตรการป้องกันในสมัยนั้น (ซึ่งเวตเทอร์ฮาห์นทำถูกต้องทุกประการ) ยังไม่เพียงพอสำหรับสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงอย่างเช่นไดเมทิลเมอร์คิวรีองค์การอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐหรือ OSHA แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรีเท่าที่จะทำได้ และในกรณีที่ต้องใช้สารนี้ ผู้ใช้ต้องสวมถุงมือเคลือบพลาสติก (SilverShield) นอกจากนี้ ได้มีความพยายามที่จะหาสารอื่นเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ของปรอทแทนที่ไดเมทิลเมอร์คิวรี
สิ่งสืบเนื่อง
การเสียชีวิตของเวตเทอร์ฮาห์นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนอกเหนือจากภายในภาควิชาเคมีที่วิทยาลัยดาร์ตมัธ ผลกระทบยังส่งไปถึงองค์การด้านความปลอดภัยเนื่องจากกรณีของเธอชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าเธอจะทำตามมาตรการป้องกันที่กำหนดไว้ทุกประการ เช่นการใช้ถุงมือยาง ตู้ดูดควัน และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น หลังจากที่ทราบว่าเวตเทอร์ฮาห์นล้มป่วยเนื่องจากพิษปรอท เพื่อนร่วมงานของเธอได้ทดสอบถุงมือชนิดต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการและพบว่าไดเมทิลเมอร์คิวรีสามารถซึมผ่านถุงมือส่วนใหญ่ได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ ในปัจจุบันจึงแนะนำให้ใช้ถุงมือเคลือบพลาสติกเพื่อป้องกันไดเมทิลเมอร์คิวรี
ในขณะนั้นไดเมทิลเมอร์คิวรีนิยมใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ 199
Hg นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์เนื่องจากมีคุณสมบัติบางประการดีกว่าสารอื่น อย่างไรก็ตาม หลังจากกรณีการเสียชีวิตของเธอ ได้มีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ไดเมทิลเมอร์คิวรี การเสียชีวิตของเธอนั้นนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการขนานใหญ่
วิทยาลัยดาร์ตมัธได้ก่อตั้งโครงการสำหรับให้ทุนนักวิจัยได้แก่ Karen E. Wetterhahn Graduate Fellowship in Chemistry ใน ค.ศ. 1998 โดยได้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนอนุสรณ์คาเรน อี. เวตเทอร์ฮาห์น (Karen E. Wetterhahn Memorial Fund) เพื่อส่งเสริมนักศึกษาหญิงให้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Institute of Environmental Health Sciences) ได้ก่อตั้งรางวัลอนุสรณ์คาเรน เวตเทอร์ฮาห์น (Karen Wetterhahn Memorial Award) ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอก