Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
คาโรชิ
คาโรชิ (ญี่ปุ่น: 過労死; โรมาจิ: Karōshi) แปลตรงตัวว่า "ตายจากการทำงานหนัก" เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตโดยฉับพลันที่เกิดจากการทำงาน สาเหตุทางการแพทย์ส่วนใหญ่ของคาโรชิคือหัวใจขาดเลือดเฉียงพลันและเส้นเลือดในสมองแตกฉับพลัน เป็นผลมาจากความเครียดและการขาดอาหารหรือการอดอาหาร ความเครียดทางใจจากที่ทำงานสามารถทำให้เกิดคาโรชิผ่านการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน โดยผู้ที่ฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักเกินไปจะเรียกว่า คาโรจิซัตสึ (過労自殺; karōjisatsu)
กรณีแรกของคาโรชิในญี่ปุ่นมีรายงานในปี ค.ศ. 1969 เป็นกรณีของชายวัย 29 ปี พนักงานขนส่งของบริษัทหนังสือพิมพ์เจ้าใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกฉับพลัน ผลการสำรวจในปี ค.ศ. 1988 โดย Labor Force Survey รายงานว่าเกือบหนึ่งในสี่ของลูกจ้างชายทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งคิดเป็นมากกว่าหนึ่งครึ่งเท่าของเวลาการทำงานต่อสัปดาห์โดยปกติที่ควรเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความแพร่หลายและความหนักของปัญหานี้ทำให้นักกฎหมายและแพทย์จำนวนหนึ่งรวมตัวจัดตั้ง "สายด่วนคาโรชิ" ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ทุกคนในญี่ปุ่นที่ต้องการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับคาโรชิ
การเติบโตขึ้นของญี่ปุ่นหลังความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่สองสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประกอบกับค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลนั้นเชื่อกันว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดคาโรชิในระดับที่เรียกว่าเป็นโรคระบาดทั่ว มีรายงานยืนยันแล้วว่าหากลูกจ้างทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ยาวนาน 6–7 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลาหลายปีจะส่งผลให้เกิดความทรมานทางกายภาพและทางจิต
ลักษณะ
ในบทความขององค์การแรงงานสากลมียกตัวอย่างกรณีของคาโรชิที่พบได้ทั่วไปอยู่สี่กรณี คือ นาย ก เป็นลูกจ้างในบริษัทแปรรูปขนมขนาดใหญ่ ทำงานยาวนานถึง 110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สิริอายุ 34 ปี, นาย ข เป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ทำงานสะสม 3,000 ชั่วโมงต่อปี และไม่ได้หยุดงานในรอบ 15 วัน ก่อนที่จะเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกฉับพลัน สิริอายุ 37 ปี, นาย ค เป็นลูกจ้างในบริษัทสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ในโตเกียว ทำงานสะสม 4,320 ชั่วโมงต่อปี (รวมการทำงานนอกเวลาในตอนกลางคืน) เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกฉับพลัน สิริอายุ 58 ปี ภรรยาได้รับเงินชดเชยใน 14 ปีหลังนาย ค เสียชีวิต และ นาย ง เป็นพยาบาลวิชาชีพ เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหลังทำงานอยู่เวร 34 ชั่วโมงต่อกันเป็นเวลา 5 ครั้งในเดือนนั้น สิริอายุ 22 ปี
นอกจากนี้ ปัญหาความเครียดยังมีส่วนสำคัญในการก่อคาโรชิ รายงานของ ILO ได้ระบุรายการปัญหาความเครียดจากที่ทำงานที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายของลูกจ้างไว้ ได้แก่ การทำงานข้ามคืน ทำงานตอนดึกดื่น ทำงานแม้ในวันหยุด โดยเฉพาะในยุค "ทศวรรษที่สูญหาย" ของญี่ปุ่น ฟองสบู่แตก บริษัทจ้างงานลดลง ภาระงานต่อหัวจึงเพิ่มขึ้นตาม, ความเครียดสะสมจากความหงุดหงิดใจที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทได้, การบังคับลาออก (แม้แต่ลูกจ้างที่ทำงานมานานและถูกมองว่า "ซื่อสัตย์" ต่อบริษัท) การถูกปฏิเสธ หรือ การกลั่นแกล้ง เป็นต้น
ในประเทศอื่น
ปรากฏการณ์การเสียชีวิตจากการทำงานมากเกินยังพบแพร่หลายในพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชีย มีรายงานการเสียชีวิต 745,194 กรณีที่สามารถย้อนเหตุมาจากการทำงานมากเกิน ในรายงานของ WHO/ILO ในปี ค.ศ. 2016
จีน
ในจีน แนวคิด "การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก" เรียกว่า กั้วเหลาสื่อ (จีนตัวย่อ: 过劳死; จีนตัวเต็ม: 過勞死; พินอิน: Guò láo sǐ) ทั้งในจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย นักธุรกิจหลายคนทำงานยาวนานภายใต้ความกดดันของการจ้องขยับขยายเส้นสายและเพื่อให้คนในเส้นสายพอใจ ระบบเส้นสายนี้เรียกว่ากวงสี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในระบบธุรกิจของประเทศจีน แรงกดดันจากระบบกวงสีให้ตั้งใจทำงานมีผลให้เกิดกั้วเหลาสี่ตามมา นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันให้นักธุรกิจในการต้องดื่มหนักและไปสถานบันเทิงยามค่ำคืนทุก ๆ คืนเหมือนกัน เพื่อยืนยันและสร้าง "ความมีชีวิตชีวา" ให้กับลูกจ้างคนอื่น ๆ
เกาหลีใต้
ในเกาหลีใต้มีคำเรียกว่า ควาโรซา (เกาหลี: 과로사; ฮันจา: 過勞死; อาร์อาร์: gwarosa; เอ็มอาร์: kwarosa) สำหรับเรียกการเสียชีวอนจากการทำงานหนัก เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีชั่วโมงทำงานยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มากกว่าญี่ปุ่น โดยอยู่ที่ 42 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ปัญหานี้มีมายาวนาน แต่เพิ่งมาได้รับความสนใจจากสื่อหลังมีการเสียชีวิตแบบควาโรซาในลูกจ้างของหน่วยงานรัฐบาล ในปี ค.ศ. 2018 รัฐบาลเกาหลีได้ผ่านกฎหมายลดชั่วโมงการทำงานสูงสุดลงจาก 68 เหลือ 52 ชั่วโมง
แหล่งข้อมูลอื่น
- Japan Work Culture เก็บถาวร 2021-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Report on Karoshi (1997) from the Job Stress Network website of the Center For Social Epidemiology (Link not working)
- Japan working itself to an early grave (statistics for 2006)
- Article in The Economist, December 2007
- Yahoo! News article, 7/8/2008
- Picture of a T-shirt warning of karoshi