Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ชีวกโกมารภัจจ์
ชีวกโกมารภัจจ์ | |
---|---|
รูปเคารพแบบไทย ไว้เคราขาว สวมชุดขาว สวมประคำ
| |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | |
มรณภาพ | ราชคฤห์, มคธ |
ศาสนา | พุทธ |
สัญชาติ | มคธ |
บิดามารดา |
|
สำนักศึกษา | ตักษศิลา |
รู้จักจาก | อายุรเวท, การนวดแผนไทย |
วิชาชีพ | แพทย์ |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ครู | อาเตรยะ |
วิชาชีพ | แพทย์ |
ตำแหน่ง | แพทย์ประจำพระองค์พระโคตมพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู |
ชีวกโกมารภัจจ์ (บาลี: Jīvaka Komārabhacca) หรือ ชีวกกุมารภฤต (สันสกฤต: Jīvaka Kumārabhṛta) มักย่อว่า ชีวกะ (Jīvaka) เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระโคตมพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ อาศัยอยู่ในราชคฤห์ช่วง 600–500 ปีก่อนคริสตกาล มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องเล่าขานของเอเชียในฐานะแพทย์ตัวอย่าง ทั้งได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์ต้นแบบของแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศแถบเอเชีย
เรื่องราวของชีวกะพบได้ในเอกสารพุทธสมัยเริ่มแรกของหลาย ๆ วัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมบาลีและวัฒนธรรมมูลสรวาสติวาท ตลอดจนเอกสารสมัยหลังอย่างพระสูตรและอปทาน เอกสารเหล่านี้ระบุสอดคล้องกันว่า ชีวกะเป็นบุตรของหญิงงามเมืองผู้หนึ่ง ถูกมารดาทิ้งแต่กำเนิด ชาววังพระเจ้าพิมพิสารมาพบเข้าจึงเก็บไปเลี้ยง ครั้นเติบใหญ่ขึ้น เขาเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์เจ็ดปี สำเร็จแล้วก็เริ่มรักษาคนในราชคฤห์ ความสำเร็จในการรักษาของเขาทำให้เขามีชื่อเสียงเลื่องลือ ทั้งได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสารและพระโคตมพุทธเจ้า ยิ่งเขาถวายงานต่อพระพุทธเจ้า เขาก็ยิ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนา ที่สุดจึงได้เป็นอุปถัมภกคนสำคัญของศาสนานี้ ทั้งได้สร้างวัดนามว่า "ชีวการามวิหาร" ถวายพระพุทธเจ้าด้วย ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรู พระโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเพื่อชิงบัลลังก์ ชีวกะก็มีบทบาทในการทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูยอมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกในบาปกรรม
เอกสารข้างต้นมักพรรณนาวิธีการซับซ้อนที่ชีวกะใช้ในการแพทย์ เช่น วิธีการบางอย่างที่อาจตีความได้ว่า เป็นการผ่าตัดสมอง แต่คุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของเนื้อหาเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในหมู่นักวิชาการ ถึงกระนั้น ชาวพุทธก็ยกย่องชีวกะตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์ของเอเชีย ทั้งแพทย์ที่มิใช่ชาวพุทธก็นับถือเขาในระดับหนึ่งโดยยกย่องเป็นแพทย์ตัวอย่างและเป็นนักบุญ นอกจากนี้ มีเอกสารการแพทย์จำนวนหนึ่งจากยุคกลางของอินเดียและจีนที่เชื่อว่า ชีวกะเป็นผู้แต่ง ปัจจุบัน ชาวอินเดียและชาวไทยยกย่องเขาเป็นผู้โอบอุ้มการแพทย์แผนโบราณ ทั้งเขายังมีบทบาทหลักในพิธีกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย อนึ่ง ที่ผ่านมา บทบาทของชีวกะในทางตำนานก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้เลื่อมใสและสร้างความชอบธรรมให้แก่พุทธศาสนา โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดบางประการให้สอดรับกับบริบทของแต่ละท้องที่
ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พระถังซัมจั๋งรับราชโองการจักรพรรดิถังไท่จงไปเชิญพระไตรปิฎกมาจากอินเดีย ได้พบวัดแห่งหนึ่ง และระบุว่า เป็นวัดชีวการามวิหารของหมอชีวกะ สถานที่ที่พระถังซัมจั๋งค้นพบนั้นได้รับการขุดค้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และถือเป็นหนึ่งในพุทธสถานอันเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข้อมูล
ชีวิตของชีวกะนั้นปรากฏในเอกสารพุทธสมัยเริ่มแรกหลายฉบับ เช่น พระไตรปิฎกภาษาบาลี, เอกสารภาษาสันสกฤต, เอกสารภาษาจีน (อย่าง ธรรมคุปตกะ, มหีศาสกะ, และสรวาสติวาท ที่แปลจากต้นฉบับภาษาอินเดียเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล), และเอกสารภาษาทิเบต
เอกสารเก่าแก่ที่สุดที่ว่าด้วยชีวิตของชีวกะนั้น คือ พระวินัยในพระไตรปิฎก ซึ่งสามารถกำหนดอายุย้อนไปได้ถึงราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล พระวินัยนี้นอกจากมีส่วนที่ว่าด้วยกฎระเบียบทางการแพทย์แล้ว ยังบรรยายชีวิตและผลงานของชีวกะ ซึ่งได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา
ส่วนพระไตรปิฎกภาษาจีนที่เรียกว่า "พระไตรปิฎกไทโช" นั้น มีเนื้อหาสองส่วนที่เกี่ยวกับชีวกะและไม่ได้อยู่ในพระวินัย คือ พระสูตรสองบทที่เรียกว่า "อามรปาลิชีวกสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นก่อนศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล กับ "อามรปาลิชีวกอวทานสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7–10 พระสูตรทั้งสองใช้เอกสารภาษาสันสกฤตหรือเอกสารจากเอเชียกลางเป็นแหล่งข้อมูล เชื่อกันมาตลอดว่า ผู้ประพันธ์พระสูตรทั้งสอง ได้แก่ อาน ชื่อเกา (安世高) แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า ความเชื่อนี้เป็นเพียงความพยายามจะทำให้พระสูตรดูเก่าแก่และมีความชอบธรรม นักวิชาการอย่าง C. Pierce Salguero เห็นว่า พระสูตรดังกล่าวน่าจะใช้แหล่งข้อมูลที่จู๋ ฝ่าฮู่ (竺法護) แปลมา รวมถึงพระวินัย และเอกสารพุทธสมัยหลังพระไตรปิฎก มากกว่า โดยเป็นการปรับปรุงให้เข้าถึงผู้อ่านที่เป็นฆราวาสมากขึ้น เพราะเนื้อหาในพระวินัยนั้นเน้นให้พระสงฆ์อ่าน อนึ่ง เป็นไปได้ว่า เนื้อหาของอามรปาลิชีวกสูตรนั้นประพันธ์ขึ้นโดยรวมเอาและบางทีตั้งใจจะใช้ทดแทนเรื่องราวจากพระวินัยในสมัยแรก ๆ ที่พบในมหีศาสกะและสรวาสติวาท ส่วนอามรปาลิชีวกอวทานสูตรก็น่าจะอ้างอิงอามรปาลิชีวกสูตรอีกที แต่ขยายความโดยใช้พระวินัยฉบับธรรมคุปตกะเป็นแหล่งข้อมูล
นอกจากเอกสารข้างต้นแล้ว ยังมีเอกสารประเภทอวทานอีกหลายฉบับที่ว่าด้วยชีวกะ ทั้งยังปรากฏการอ้างถึงเขาในวรรณกรรมอินเดียหลายเรื่องที่ไม่ใช่ของพุทธศาสนา เช่น มาฐรวฤตติ ซึ่งเป็นคำอธิบายขยายความสางขยสูตร ตลอดจนกวีนิพนธ์แนวเสียดสีเรื่อง กเษเมนทระ ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นภาษากัศมีร์
นักวิชาการอย่าง Kenneth Zysk และ C. Pierce Salguero เปรียบเทียบเนื้อหาฉบับต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของชีวกะแล้ว เชื่อว่า ไม่มีฉบับไหนที่เป็นเนื้อหาดั้งเดิมเลย ชีวประวัติดั้งเดิมของชีวกะเป็นอย่างไรนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ นอกจากนี้ ทั้งสองยังเห็นว่า เนื้อหาฉบับต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับความนิยมในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น Salguero เห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในพระสูตรเกี่ยวกับชีวกะซึ่งอยู่นอกพระวินัยนั้นเขียนขึ้นโดยอาศัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน ทั้งวิธีทางแพทย์ที่ทั้งพระวินัยและพระสูตรบรรยายว่า เป็นของชีวกะนั้น ก็ดูจะเป็นการแพทย์แผนจีนมากกว่าแผนอินเดีย อนึ่ง คติสอนใจหลาย ๆ อย่างในเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของชีวกะนั้นก็ปรากฏว่า ดึงมาจากตำนานเกี่ยวกับแพทย์ชาวจีนหลายคน Zysk เห็นว่า เอกสารฉบับภาษาบาลีนั้นมีความเป็นจริงมากกว่าเอกสารที่ได้รับอิทธิพลจากคติมหายานที่มีเนื้อหาไปในเชิงเวทมนตร์ปาฏิหาริย์เสียมาก เขายังเห็นว่า เอกสารภาษาทิเบตและสันสกฤตพรรณนาการรักษาโรคไว้มากกว่าที่ปรากฏในเอกสารอินเดียดั้งเดิมอย่างอายุรเวท เนื้อหาแต่ละฉบับยังบรรยายโรคภัยไว้ตามความเข้าใจในท้องถิ่นแล้วดำเนินเรื่องโดยให้หมอชีวกะมารักษา แต่ข้อความที่บรรยายในแต่ละฉบับก็คล้ายคลึงกันในหลายส่วนอยู่
เรื่องราว
บุตรที่ถูกทิ้ง
เอกสารภาษาบาลีซึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่ที่สุด รวมถึงเอกสารภาษาจีนอย่างธรรมคุปตกะและอามรปาลิชีวกอวทานสูตร ระบุว่า ชีวกะเกิดในราชคฤห์ เมืองหลวงของมคธซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์ มารดาของชีวกะเป็นหญิงงามเมือง พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับธรรมคุปตกะระบุนามของนางว่า "สลาวตี" (หรือ "สาลวดี" ในฉบับภาษาไทย) หญิงงามเมืองนั้นเมื่อคลอดบุตรชายแล้วก็ให้คนรับใช้นำบุตรไปทิ้งขยะ Jonathan Silk มองว่า เหตุผลที่นางทิ้งบุตรชาย คงเพราะเห็นว่า มีประโยชน์น้อยกว่าบุตรหญิง (ที่จะได้เอามาเลี้ยงเป็นหญิงงามเมืองเหมือนกัน) ส่วน Y.B. Singh อธิบายว่า นางคงเกรงว่า การมีบุตรจะทำให้ชื่อเสียงและรายได้ในฐานะหญิงงามเมืองของนางถดถอย
เอกสารบาลีว่า เมื่อชีวกะถูกมารดานำมาทิ้งไว้บนกองขยะแล้ว อภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้า และตรัสถามคนรอบข้างว่า เด็กนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือ ผู้คนทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าชายอภัยราชกุมารจึงทรงเก็บเด็กนั้นมาเลี้ยง ประทานนามว่า "ชีวกะ" แปลว่า "ผู้มีชีวิต" เอกสารภาษาบาลีกล่าวอีกว่า ชีวกะได้ชื่อที่สองว่า "โกมารภัจจ์" อันแปลว่า "ผู้รับใช้กุมาร" นั้น เนื่องจากพระราชกุมารทรงเลี้ยงดูอุ้มชูมา แต่นักวิชาการแย้งว่า ชื่อนี้น่าจะมีที่มาจากคำเรียกกุมารแพทย์ตามตำราอายุรเวทของอินเดียโบราณ มากกว่า
ตามเอกสารบาลี เมื่อชีวกะเติบใหญ่ขึ้น เขาค้นพบชาติกำเนิดอันต่ำต้อยของตน และตกลงใจจะเรียนให้สูงเพื่อทดแทนภูมิหลังดังกล่าว เขาจึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์ โดยมิได้แจ้งเจ้าชายอภัยราชกุมาร
เอกสารสมัยต่อ ๆ มา เช่น ชีวกสูตรของจีน เจียระไนเรื่องให้ดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น โดยระบุว่า อามรปาลี หญิงงามเมืองซึ่งภายหลังได้เป็นสาวกของพระโคตมพุทธเจ้านั้น เป็นมารดาของชีวกะ ส่วนบิดาของชีวกะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในเอกสารสมัยก่อนหน้านั้นก็กลายเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เช่น เอกสารสันสกฤตและเอกสารทิเบตสมัยแรกที่แปลมาจากวัฒนธรรมมูลสรวาสติวาทระบุว่า ชีวกะเป็นโอรสลับของพระเจ้าพิมพิสารกับภริยาของพ่อค้าคนหนึ่ง แต่เอกสารสันสกฤตและทิเบตไม่ระบุนามของภริยาพ่อค้าดังกล่าว และระบุว่า อามรปาลีเป็นมารดาของอภัยราชกุมาร พระโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร แทนที่จะเป็นมารดาของชีวกะ เอกสารกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์ลับกับหญิงที่เป็นภริยาพ่อค้านั้น เมื่อทรงทราบว่า นางตั้งครรภ์ ก็ตรัสต่อนางว่า ถ้าคลอดเป็นชาย ให้นำมาถวายตัว จะได้ทรงชุบเลี้ยงในราชสำนัก เมื่อนางคลอดออกมาเป็นชาย คือ ชีวกะ นางจึงเอาทารกชายนั้นใส่หีบมาทิ้งไว้หน้าพระราชวัง พระเจ้าพิมพิสารก็ให้นำหีบนั้นเข้ามา และตรัสถามว่า เด็กในนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือ เมื่อข้าราชสำนักทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าพิมพิสารจึงเรียกเด็กนั้นว่า "ชีวกะ" อันแปลว่า "ผู้มีชีวิต" นอกจากนี้ เอกสารสันสกฤตและทิเบตยังพยายามพรรณนาให้ชีวกะกลายเป็น "หมอเทวดา" เหมือนแพทย์จีนอย่างเปี่ยน เชฺว่ (扁䳍) และหฺวา ถัว (華佗) โดยใส่ปาฏิหาริย์เข้าไป เช่น กล่าวว่า ชีวกะเกิดมามีเข็มฉีดยาและสมุนไพรอยู่ในมือ เอกสารสันสกฤตและทิเบตพรรณนาอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงอุ้มชูชีวกะให้อยู่ในราชสำนักจนเติบใหญ่ เมื่อชีวกะพบแพทย์หลวงคนหนึ่ง ก็สนใจในวิชาแพทย์ จึงตัดสินใจไปตักษศิลาเพื่อเรียนแพทย์
ส่วนพระวินัยของธรรมคุปตกะและชีวกสูตรของจีนกล่าวว่า ชีวกะเห็นว่า แพทย์ในวังหลวงมีความรู้น้อยกว่าตน จึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ที่เก่งกาจ
ดูเพิ่ม
บรรณานุกรม
- Buswell, Robert E. Jr.; Lopez, Donald S. Jr. (2013), Princeton Dictionary of Buddhism, Princeton University Press, ISBN 978-0-691-15786-3
- Granoff, P. (1998), "Cures and Karma II. Some Miraculous Healings in the Indian Buddhist Story Tradition", Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient, 85 (1): 285–304, doi:10.3406/befeo.1998.3834
- Le, Huu Phuoc (2010), Buddhist Architecture, Grafikol, ISBN 978-0-9844043-0-8
- Malalasekera, G.P. (1960), Dictionary of Pāli Proper Names, Pali Text Society, OCLC 793535195
- Rabgay, Lobsang (2011), "The Origin and Growth of Medicine in Tibet", The Tibet Journal, 36 (2): 19–37, JSTOR tibetjournal.36.2.19
- Salguero, C. Pierce (2009), "The Buddhist Medicine King in Literary Context: Reconsidering an Early Medieval Example of Indian Influence on Chinese Medicine and Surgery", History of Religions, 48 (3): 183–210, doi:10.1086/598230, JSTOR 10.1086/598230, S2CID 162211011
- Salguero, C. Pierce (2014), Translating Buddhist Medicine in Medieval China, University of Pennsylvania Press, ISBN 978-0-8122-4611-7
- Silk, Jonathan A. (2007), "Child Abandonment and Homes for Unwed Mothers in Ancient India: Buddhist Sources", Journal of the American Oriental Society, 127 (3): 297–314, JSTOR 20297277
- Singh, J.; Desai, M. S.; Pandav, C. S.; Desai, S. P. (2011), "Contributions of Ancient Indian Physicians: Implications for Modern Times", Journal of Postgraduate Medicine, 58 (1): 73–8, doi:10.4103/0022-3859.93259, PMID 22387655
- Singh, Y. B. (1993), "Roots of the Gaṇikā-Culture of Early India", Annals of the Bhandarkar Oriental Research Institute, 74 (1/4): 181–90, JSTOR 43977198
- Zysk, Kenneth G. (1998), Asceticism and Healing in Ancient India: Medicine in the Buddhist Monastery, Motilal Banarsidass Publishers, ISBN 978-81-208-1528-5
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชีวกโกมารภัจจ์
ภิกษุ |
พระอัญญาโกณฑัญญะ • พระอุรุเวลกัสสปะ • พระสารีบุตร • พระมหาโมคคัลลานะ • พระปุณณมันตานีบุตร • พระกาฬุทายี • พระนันทะ • พระราหุล • พระอุบาลี • พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร • พระอนุรุทธะ • พระอานนท์ • พระโมฆราช • พระปิณโฑลภารทวาชะ • พระมหากัจจายนะ • พระสีวลี • พระโสณกุฏิกัณณะ • พระมหากัสสปะ • พระราธเถระ • พระลกุณฏกภัททิยเถระ • พระทัพพมัลลบุตร • พระพากุละ • พระวักกลิ • พระมหากัปปินะ • พระอุปเสนะ • พระขทิรวนิยเรวตะ • พระสุภูติ • พระพาหิยะ • พระวังคีสะ • พระโสณโกฬิวิสะ • พระโสภิตะ • พระนันทกะ • พระกังขาเรวตะ • พระมหาปันถกะ • พระจูฬปันถกะ • พระกุณฑธานะ • พระรัฐปาละ • พระกุมารกัสสปะ • พระมหาโกฏฐิตะ • พระสาคตะ • พระปิลินทวัจฉะ
|
|
---|---|---|
ภิกษุณี | ||
อุบาสก | ||
อุบาสิกา | ||
ดูเพิ่ม |
บุคคลในพุทธประวัติ
| ||
---|---|---|
พระบรมศาสดา | ||
พระอัครสาวก | ||
พุทธอุปัฎฐาก | ||
พระมหากษัตริย์ | ||
ภิกษุ | ||
ภิกษุณี | ||
สามเณร | ||
อุบาสก อุบาสิกา | ||
ศัตรู |
ทั่วไป | |
---|---|
หอสมุดแห่งชาติ | |
อื่น ๆ |