Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ญาณ
ส่วนหนึ่งของ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ญาณ (บาลี: ญาณ ñāṇa; สันสกฤต: ज्ञान ชฺญาน) แปลว่า ความรู้ คือ ปรีชาหยั่งรู้ ปรีชากำหนดรู้ หรือ กำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการทำสมาธิและวิปัสสนา เรียกว่า วิชชา บ้าง
ญาณ เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา แต่มักใช้ในความหมายที่จำเพาะกว่า คือเป็นปัญญาที่ทำงานออกผลมาเป็นเรื่อง ๆ มองเห็นสิ่งนั้น ๆ หรือเรื่องนั้น ๆ ตามสภาวะจริง
มีการกล่าวถึงญาณในหลายลักษณะ หรืออาจจัดแบ่งญาณได้เป็น ญาณ 3 (3 หมวด) และ ญาณ 16 (ในวิปัสสนาญาณ) ดังนี้
ญาณ 3 ได้แก่ วิชชา 3
คำว่า 'ญาณ' 3 อาจหมายถึงวิชชา 3 คือ
- บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ การระลึกชาติของตนได้
- จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง
- อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวะให้สิ้นไป
ญาณ 3 ในส่วนอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน
ญาณ 3 อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่
- อตีตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนอดีต
- อนาคตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนอนาคต
- ปัจจุปปันญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนปัจจุบัน
ญาณ 3 ในการหยั่งรู้อริยสัจ
ญาณ 3 อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่
- สัจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง
- กิจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจในอริยสัจ
- กตญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ
ญาณ 16
ญาณ 16 ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกภาษาบาลีโดยตรงทั้งหมด แต่วิปัสสนาจารย์สายพม่าได้เรียบเรียงจากญาณที่ระบุในปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค รวมกัน 16 ขั้น เรียกว่า ญาณ 16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา โดยลำดับตั้งแต่ต้น จนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ได้แก่
- นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป
- นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณจับปัจจัยแห่งนามรูป
- สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณที่เห็นสังขตลักษณะคือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของนามรูป และเริ่มเห็นไตรลักษณ์ เห็นตรุณอุทยัพพยญาณหรืออุทยัพพยญาณอย่างอ่อน วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
- อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า อุพยัพพยญาณ) หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป เห็นพลวอุทยัพพยญาณหรืออุทยัพพยญาณอย่างแก่ จัดว่าจิตเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาญาณที่แท้จริง (ระหว่างเกิดถึงดับ เห็นเป็นดุจกระแสน้ำที่ไหล)
- ภังคานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า ภังคญาณ) หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมาอย่างเดียว
- ภยตูปัฏฐานญาณ (เรียกโดยย่อว่า ภยญาณ) หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ไม่แน่นอน ดุจกลัวต่อมรณะที่จะเกิด
- อาทีนวานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า อาทีนวญาณ) หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษภัยของสิ่งทั้งปวง ผันผวนแปรปรวน พึ่งพิงมิได้
- นิพพิทานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า นิพพิทาญาณ) หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย
- มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย
- ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า ปฏิสังขาญาณ) หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางหนี
- สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขาร
- สัจจานุโลมิกญาณ (เรียกโดยย่อว่า อนุโลมญาณ) หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ สามารถเห็นไตรลักษณ์ ด้วยภาวนามยปัญญาได้(พิจารณาวิปัสสนาญาณทั้ง๘ที่ผ่านมา ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เห็น สมุทัย นิโรธ มรรค โดยแต่ละญาณเป็นเหตุเกิดมรรค ทั้ง๘ ตามลำดับ)
- โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน (ถ้าเป็นอริยบุคคลแล้ว จะเรียกว่าวิทานะญาณ)เห็นความทุกข์จนไม่กลัวต่อความว่าง ดุจบุคคลกล้าโดดจากหน้าผาสู่ความว่างเพราะรังเกียจในหน้าผานั้นอย่างสุดจิตสุดใจ
- มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค
- ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล
- ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน (ว่ากิเลสใดดับไป กิเลสยังเหลืออยู่ กิจที่ต้องทำยังมีอยู่หรือไม่ พิจารณาสัจจานุโลมมิกญาณอีก)
วิปัสสนาญาณ 9
แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง 9 ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งในวิสุทธิ 7) ที่บรรยายคัมภีร์ในวิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น 10 ขั้น) เมื่อโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์ครบ 7 ข้อ จิตจึงมีกำลังสามารถเห็นวิปัสสนาญาณได้ และใช้วิปัสสนาที่ปรากฏขึ้นมาเป็นเครื่องมือนำไปสู่มรรค ผล นิพพาน
- วิปัสสนาญาณคืออุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นอนิจจัง
- วิปัสสนาญาณคือภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นทุกขัง
- วิปัสสนาญาณคือมุจจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเบกขาญาณ นั้นเห็นอนัตตา
ญาณ16 จัดเข้าในวิสุทธิ 7
- นามรูปปริทเฉทญาณ จัดเข้าใน ทิฏฐิวิสุทธิ
- นามรูปปัจจยปริคคหญาณ จัดเข้าในกังขาวิตรณวิสุทธิ
- สัมมสนญาณและอุทธยัพพยญาณอย่างอ่อน จัดเข้าในมัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ
- วิปัสสนาญาณทั้ง 9 จัดเข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
- โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ
ลักษณะ 3 อย่างในญาณ 16
- สภาวะลักษณะ เห็นลักษณะที่ปรากฏจากความเป็นไปของธาตุ ปรากฏตั้งแต่ยังไม่ได้ญาณถึงนามรูปปัจจยปริคหญาณ
- สังขตลักษณะ เห็นลักษณะคือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปรากฏตั้งแต่สัมมสนญาณ
- สามัญญลักษณะ เห็นลักษณะทั้งสามหรือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏตั้งแต่อุทธยัพพยญาณ
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พุทธธรรม".
- พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค] ญาณกถา