Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ตับอักเสบ บี
ตับอักเสบ บี (Hepatitis B) | |
---|---|
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แสดงให้เห็นเชื้อไวรัสตับอักเสบบี | |
สาขาวิชา | Infectious disease, gastroenterology |
อาการ | None, yellowish skin, tiredness, dark urine, abdominal pain |
ภาวะแทรกซ้อน | Cirrhosis, liver cancer |
การตั้งต้น | Symptoms may take up to 6 months to appear |
ระยะดำเนินโรค | Short or long term |
สาเหตุ | Hepatitis B virus spread by some body fluids |
ปัจจัยเสี่ยง | Intravenous drug use, sexual intercourse, dialysis, living with an infected person |
วิธีวินิจฉัย | Blood tests |
การป้องกัน | Hepatitis B vaccine |
การรักษา | Antiviral medication (tenofovir, interferon), liver transplantation |
ความชุก | 356 million (2015) |
การเสียชีวิต | 65,400 direct (2015), >750,000 (total) |
ตับอักเสบ บี (อังกฤษ: hepatitis B) เป็นโรคตับชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ปัสสาวะเข้ม และปวดท้องได้ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และมีเพียงส่วนน้อยที่อาการดำเนินไปอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตในการติดเชื้อครั้งแรกนี้ ระยะฟักตัวอาจยาวนานได้ถึง 30-180 วัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ตั้งแต่แรกเกิดจะเกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ถึง 90% ในขณะที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในภายหลังที่อายุมากกว่า 5 ปี จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังเพียง 10% ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอยู่เป็นเวลานาน แต่ในระยะท้าย ๆ อาจเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับขึ้นได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 15-25% ของผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง ในพื้นที่ที่มีความชุกสูง มักพบว่าผู้ป่วยที่พบบ่อยที่สุดคือทารกที่ติดเชื้อจากแม่ในขณะคลอด หรือเด็กที่ได้สัมผัสเลือดของผู้ที่มีเชื้อ ส่วนในพื้นที่ที่มีความชุกต่ำ ผู้ป่วยที่พบบ่อยได้แก่ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดและผู้ป่วยที่รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (เช่น ทำงานในโรงพยาบาล) การรับเลือด การฟอกเลือด การใช้ชีวิตอยู่กับผู้ติดเชื้อ การเดินทางไปยังประเทศที่มีความชุกของโรคสูง และการเป็นผู้อาศัยในสถานบำบัด ในสมัยคริสตทศวรรษ 1980 มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับเชื้อผ่านการสักและการฝังเข็ม แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีปลอดเชื้อเจริญรุดหน้ามากขึ้นก็พบผู้ติดเชื้อผ่านช่องทางเหล่านี้น้อยลง เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการจับมือ ใช้อุปกรณ์ในการกินอาหารร่วมกัน การจูบ การกอด การไอ จาม หรือการให้นมบุตร ปัจจุบันสามารถตรวจพบเชื้อได้เร็วที่สุดประมาณ 30-60 วันหลังได้รับเชื้อ การวินิจฉัยส่วนใหญ่ทำได้โดยการตรวจเลือดหาชิ้นส่วนของไวรัส (แอนติเจน) และการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซึ่งสร้างโดยร่างกายของผู้ติดเชื้อ (แอนติบอดี) ไวรัสนี้เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งจากทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี
ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีขึ้นสำเร็จองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทารกแรกเกิดทุกรายรับวัคซีนนี้ทันทีที่เกิดหากสามารถทำได้ หลังจากนั้นทารกต้องรับวัคซีนซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เมื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ ซึ่งเมื่อให้อย่างถูกต้องวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้ถึง 95% วัคซีนนี้ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในรายการวัคซีนมาตรฐานที่รัฐบาลสร้างนโยบายสนับสนุนแล้วในกว่า 180 ประเทศ นอกจากการใช้วัคซีนแล้วยังมีการสนับสนุนมาตรการการป้องกันการติดเชื้อด้วยวิธีอื่นๆ อีก ได้แก่ การตรวจหาเชื้อในเลือดบริจาค การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น จะช่วยลดไวรัสตับอักเสบบี ในระยะแรกของการติดเชื้อ การรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดกับผู้ป่วย (เช่น ยาลดไข้ ยาต้านการอาเจียน) ส่วนในผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรังนั้นอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสเช่นทีโนโฟเวียร์ หรืออินเตอร์เฟียรอน แต่ยาเหล่านี้ยังมีราคาสูง ในบางรายหากตับอักเสบเรื้อรังรุนแรงมากจนเสียการทำงานถาวร (เช่น ตับแข็ง) อาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
ประมาณไว้ว่าประชากรโลกราวหนึ่งในสามจะต้องเคยรับเชื้อนี้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ในจำนวนนี้นับรวมถึงผู้ติดเชื้อแบบเรื้อรัง 343 ล้านคน ปี ค.ศ. 2013 มีผู้ติดเชื้อแบบเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีก 129 ล้านคน ในปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตจากโรคตับอักเสบ บีกว่า 750,000 คน ในจำนวนนี้ 300,000 คนเสียชีวิตจากมะเร็งตับ ปัจจุบันโรคนี้พบได้บ่อยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและแอฟริกาใต้สะฮารา ในพื้นที่นี้ประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 5-10% จะมีการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ในขณะที่ในยุโรปและอเมริกาเหนือจะพบได้ไม่ถึง 1% แต่เดิมนั้นโรคนี้เคยมีชื่อว่า serum hepatitis (ตับอักเสบชนิดซีรัม) งานวิจัยในปัจจุบันกำลังพยายามผลิตวัคซีนต่อไวรัสตับอักเสบบีที่สามารถผสมได้ในอาหาร นอกจากพบในมนุษย์แล้วยังอาจพบเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคในสัตว์วงศ์ลิงใหญ่ได้อีกด้วย
การติดต่อ
เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถติดต่อทาง เลือด น้ำเชื้อ และน้ำหลั่งอย่างอื่น เช่น น้ำเหลือง ท่านสามารถรับเชื้อได้โดยวิธี
มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยาง การจูบกันจะไม่ติดต่อถ้าปากไม่มีแผล ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน และการเจาะหู ใช้แปรงสีฟันร่วมกัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ แม่ที่มีเชื้อสามารถติดต่อไปยังลูกได้ขณะคลอด ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90% และให้นมตัวเอง ถูกเข็มตำจากการทำงาน รักร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้ออยู่ โดยการสัมผัสกับ เลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล เชื้อนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหาร หรือน้ำดื่ม การให้นม การจูบกัน
อาการ
การติดเชื้ออย่างเฉียบพลันของไวรัสตับอักเสบบีเกี่ยวโยงกับไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการตั้งแต่การป่วยโดยทั่วไป การไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามร่างกาย ไข้อ่อน ๆ และปัสสาวะสีเข้ม จากนั้นอาการอาจพัฒนาเป็นโรคดีซ่าน โดยมีบันทึกว่าอาการคันเป็นหนึ่งในตัวชี้ถึงอาการของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกสายพันธุ์ อาการป่วยจะคงอยู่ไม่กี่สัปดาห์และจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น มีเพียงไม่กี่คนที่อาการอาจพัฒนาสู่อาการตับวายและอาจเสียชีวิต การติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการจึงทำให้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว
การติดเชื้อแบบเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบบีอาจไม่แสดงอาการ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อตับเรื้อรัง (ตับอักเสบเรื้อรัง) ไปจนถึงโรคตับแข็งในเวลาหลายปี การติดเชื้อชนิดนี้เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเซลล์ตับ (มะเร็งตับ) อย่างมาก ทั่วทวีปยุโรป โรคไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งเซลล์ตับในประมาณ 50% ของผู้ป่วย คนที่เป็นพาหะนำโรคแบบเรื้อรังได้รับคำแนะนำให้งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ไวรัสตับอักเสบบีถูกพบว่าเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาของ membranous glomerulonephritis (MGN)
อาการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับตับพบได้ใน 1-10% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ได้แก่ โรค serum-sickness–like โรคโพลีอาเทอร์ไรติส โนโดซา (โรคแพน) เมมเบรนัสโกลเมอรูโลสเคลอโรซิส (membranous glomerulonephritis) และ กลุ่มอาการจานอตตี–กรอสตี โรค serum-sickness–like ที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบีมักตามด้วยโรคดีซ่าน อาการได้แก่มีไข้ ผื่นบนผิวหนัง และโรคโพลีอาเทอร์ไรติส โนโดซา ประมาณ 30–50% ของคนที่มีอาการโรคโพลีอาเทอร์ไรติส โนโดซาเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ โรคไตที่มาจากไวรัสตับอักเสบพบได้ในผู้ใหญ่บางส่วน ทว่าส่วนใหญ่แล้วพบในเด็ก
การวินิจฉัย
การรักษา
การติดเชื้อตับอักเสบบีส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากผู้ติดเชื้อแทบทั้งหมดสามารถกำจัดเชื้อได้เอง มีไม่ถึง 1% ที่อาจต้องได้รับการรักษาในระยะแรกด้วยยาต้านไวรัส ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง (ตับอักเสบเต็มขั้น) หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ในทางกลับกันบางครั้งก็จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยตับอักเสบบีเรื้อรัง เพื่อลดโอกาสการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ผู้ป่วยกลุ่มที่ควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น ผู้ติดเชื้อเรื้อรังที่มีระดับเอนไซม์ ALT สูงตลอด และตรวจพบดีเอ็นเอของไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ระยะในการรักษาอยู่ที่ 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ชนิดยาและพันธุกรรมของผู้ป่วย
การป้องกัน
แหล่งข้อมูลอื่น
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |