Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.

บุคลิกวิปลาส

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

บุคลิกวิปลาส (อังกฤษ: depersonalisation (บริติช) หรือ depersonalization (อเมริกัน)) เป็นความผิดปกติทางการรับรู้ที่รู้สึกว่าตัวเอง หรือบางส่วนของตัวเองไม่เป็นจริง ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกแยกออกจากกายใจของตนเอง หรือกลายเป็นเพียงผู้คอยสังเกตตัวเอง (เช่นสังเกตความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางกาย ร่างกาย หรือการกระทำของตนเอง) อย่างปล่อยวาง บุคคลอาจรู้สึกว่าตนเองได้เปลี่ยนไปและโลกได้กลายเป็นอะไรที่เลือนลาง คล้ายความฝัน ไม่เป็นจริง ไร้ความหมาย หรือรู้สึกว่าอยู่ข้างนอกความจริงโดยที่กำลังมองย้อนกลับเข้าไปดูข้างใน การรับรู้ทางประสาทสัมผัสอาจบิดเบือนไป รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลง รู้สึกว่าตนเองไม่มีหรือไม่จริง ไร้ความรู้สึกทางอารมณ์หรือความรู้สึกทางกาย ภาวะบุคลิกวิปลาสเรื้อรังจัดเป็นโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคบุคลิกวิปลาส (depersonalization/derealization disorrder) ซึ่งคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตรุ่น 5 (DSM-5) จัดเป็นโรคดิสโซสิเอทีฟอย่างหนึ่ง เพราะพบว่า ทั้งบุคลิกวิปลาสและความจริงวิปลาส เป็นอาการชุกในโรคดิสโซสิเอทีฟอื่น ๆ รวมทั้ง dissociative identity disorder (ที่สภาพบุคลิกภาพแตกออกคล้ายเป็นคนหลายคน)

แม้อาการนี้และอาการความจริงวิปลาสสามารถเกิดกับใครก็ได้ที่วิตกกังวลหรือเครียด แต่บุคลิกวิปลาสเรื้อรังมักจะสัมพันธ์กับบุคคลผู้ได้รับความบาดเจ็บทางกายใจที่รุนแรง หรือมีความวิตกกังวล/ความเครียดเป็นเวลานาน บุคลิกวิปลาสและความจริงวิปลาสเป็นอาการสำคัญที่สุดในสเป็กตรัมของโรคดิสโซสิเอทีฟ เริ่มจาก dissociative identity disorder (DID) ไปจนถึง dissociative disorder not otherwise specified (DD-NOS) และยังเป็นอาการเด่นในโรคที่มิใช่โรคดิสโซสิเอทีฟอื่น ๆ รวมทั้งโรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคอารมณ์สองขั้ว, โรคจิตเภท, schizoid personality disorder, ภาวะขาดไทรอยด์ หรือโรคระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ, schizotypal personality disorder, ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง, โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคไมเกรน และภาวะขาดนอน (sleep deprivation) และยังเป็นอาการอย่างหนึ่งสำหรับโรคชักเหตุประสาทบางอย่าง

ในสาขาจิตวิทยาสังคม โดยเฉพาะในทฤษฎี self-categorization theory (ทฤษฎีการจัดตัวเองเข้าในกลุ่มต่าง ๆ) คำภาษาอังกฤษนี้ว่า depersonalization มีความหมายต่างหากอีกอย่างโดยหมายความว่า "การรับรู้เป็นแบบที่เกี่ยวกับตัวเองโดยเป็นตัวอย่างตัวหนึ่งสำหรับหมวดหมู่ทางสังคมที่จำกัดขอบเขต"

ในภาษาไทยยังมีการเรียกภาวะนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า “บุคลิกภาพแตกแยก” “สองบุคลิกภาพ” และ “บุคลิกภาพผิดปกติ” หรือ “บุคลิกภาพผิดปรกติ” อีกด้วย

ลักษณะ

บุคคลที่ประสบกับภาวะนี้จะรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดไปจากตนเองโดยสิ้นเชิง ประหนึ่งว่ากายสัมผัส อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนไม่ใช่ของตนเองหรือของบุคคลคนเดียวกันอีกต่อไป ๆ บุคคลผู้นั้นจึงประหนึ่งเหมือนกับเพียงแต่เฝ้าสังเกตการกระทำ ความรู้สึกของตน บุคคลที่ประสบกับภาวะมักบอกว่า อะไร ๆ ก็ดูจะไม่จริงและเลือนลาง โดยการรู้จำ/การรู้จักตนเองก็เสียไปด้วย ซึ่งอาจทำให้วิตกกังวลอย่างรุนแรง และยิ่งเพิ่มความรู้สึกเนื่องกับภาวะ

บุคลิกวิปลาสเป็นประสบการณ์แบบอัตวิสัยที่รู้สึกว่าตนเอง (ภายใน) ไม่เป็นจริง เทียบกับความจริงวิปลาสที่รู้สึกว่าโลกภายนอกไม่จริง แม้ปัจจุบันนักวิชาการโดยมากจะมองว่าบุคลิกวิปลาสและความจริงวิปลาสเป็นเรื่องที่ต่างกัน แต่หลายคนก็ไม่ต้องการแยกแนวคิดสองอย่างนี้ออกจากกัน

ความชุก

บุคลิกวิปลาสเป็นอาการทางจิตเวชที่สามัญเป็นอันดับ 3 ต่อจากความวิตกกังวลและความซึมเศร้า เป็นอาการของโรควิตกกังวลต่าง ๆ เช่น โรคตื่นตระหนก มันยังอาจเกิดเมื่อขาดนอน มักเกิดกับคนที่อ่อนเพลียเพราะเดินทางในเครื่องบินเป็นเวลานาน (อาการเมาเวลาเหตุการบิน) เกิดกับไมเกรน, กับโรคลมชัก (โดยเฉพาะโรคลมชักที่มีเหตุจากสมองกลีบขมับ, และ complex-partial seizure ทั้งช่วงที่เป็นอาการบอกเหตุคือ aura และในช่วงชัก), กับโรคย้ำคิดย้ำทำ, กับความเครียดมากหรือการบาดเจ็บทางกายใจ, กับความวิตกกังวล, กับการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชา, สารก่อประสาทหลอน, ketamine และ MDMA (ectasy), กับการทำสมาธิบางอย่าง, กับการสะกดจิดแบบลึก, กับการเพ่งลูกแก้ว (เพื่อทำนายทายทัก), กับการขาดความรู้สึกทางประสาท (sensory deprivation) และกับการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะระดับเบาจนถึงปานกลางโดยไม่หมดสติหรือหมดสติน้อย (มีโอกาสน้อยกว่าถ้าหมดสติเกินกว่า 30 นาที) วิธีรักษาโรคตื่นตระหนกที่ไม่ใช้ยาแบบ interoceptive exposure อาจใช้ก่อภาวะบุคลิกวิปลาสได้

ในกลุ่มประชากรทั่วไป ประสบการณ์บุคลิกวิปลาสและความจริงปลาสเป็นเรื่องสามัญ โดยมีความชุกชั่วชีวิตที่ระหว่าง 26-74% การสำรวจชุมชนโดยเลือกผู้ใหญ่ที่เข้าร่วม 1,000 คนในชนบทสหรัฐโดยสุ่มพบความชุกการเกิดบุคลิกวิปลาสตลอด 1 ปีที่อัตราร้อยละ 19 งานศึกษาหลายงาน แต่ไม่ทุกงาน พบอายุว่าเป็นปัจจัยสำคัญ วัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยต้นในกลุ่มประชากรปกติมีอัตราการเกิดสูงสุด ในงานศึกษาหนึ่ง นักศึกษามหาวิทยาลัย 46% รายงานการเกิดเหตุการณ์บุคลิกวิปลาสในระดับสำคัญอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา ในงานศึกษาอีกงานหนึ่ง คนไข้ 20% ผู้บาดเจ็บที่ศีรษะในระดับเบา ๆ ประสบกับอาการบุคลิกวิปลาสและความจริงวิปลาสในระดับสำคัญ งานศึกษาหลายงานพบว่า บุคคล 66% ที่ประสบอุบัติเหตุอันเสี่ยงชีวิตรายงานอาการบุคลิกวิปลาสอย่างน้อยก็ชั่วคราวไม่ว่าจะในระหว่างหรือหลังจากอุบัติเหตุ บุคลิกวิปลาสเกิดในหญิงในอัตรา 2-4 เท่าของชาย

แนวคิดที่คล้ายกันและคาบเกี่ยวกันเรียกว่า self-disorder/ipseity disturbance อาจเป็นกลไก/กระบวนการหลักในสเปกตรัมโรคจิตเภท แต่ความพิเศษของสเปกตรัมโรคจิตเภทก็คือ "การแยกออกของทัศนคติบุคคลที่หนึ่งโดยที่ตนเองกับคนอื่น หรือตนเองกับโลกดูเหมือนจะแยกกันไม่ออก หรือที่ตนเองหรือขอบเขตการรับรู้ของตนเองกลายเป็นไม่สำคัญเทียบกับโลกที่เป็นปรวิสัย" (ตัวเน้นคล้ายจุดที่บทความอ้างอิงเน้น) การประเมินภาวะบุคลิกวิปลาสสามารถทำได้ด้วยแบบวัดชนิดต่าง ๆ งานศึกษากับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยพบว่า ผู้ที่มีคะแนนสูงในด้านบุคลิกวิปลาส/ความจริงวิปลาส (depersonalization/derealization subscale) ที่วัดด้วยแบบวัด Dissociative Experiences Scale ตอบสนองโดยหลั่งฮอร์โมนเครียดคือคอร์ติโซล (cortisol) มากกว่า ส่วนคนที่มีคะแนนสูงในด้านสมาธิ (absorption) ซึ่งวัดการมีสมาธิจนไม่รู้เหตุการณ์อื่น ๆ ตอบสนองโดยหลั่งฮอร์โมนเครียดคือคอร์ติโซลน้อยกว่า

ในทหารราบและหน่วยรบพิเศษ ค่าวัดบุคลิกวิปลาสและความจริงวิปลาสจะเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญหลังจากรับการฝึกที่ได้ประสบความเครียดที่ตนควบคุมไม่ได้ อดอาหาร นอนไม่พอ และไม่สามารถควบคุมดูแลความสะอาดร่างกาย หรือไปไหนมาไหนตามประสงค์ สื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นตามต้องการได้

เหตุทางเภสัชวิทยาและทางสถานการณ์

มีคนที่จัดบุคลิกวิปลาสว่าเป็นภาวะที่น่าชอบใจ โดยเฉพาะบุคคลที่ประสบกับมันโดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มันเป็นฤทธิ์ของยากลุ่มดิสโซสิเอทีฟและสารก่ออาการโรคจิต (psychedelic) และอาจเป็นผลข้างเคียงของกาเฟอีน แอลกอฮอล์ แอมเฟตามีน และกัญชา มันเป็นอาการขาดยาคลาสสิกที่เกิดกับยาหลายอย่าง

การติดยาเบ็นโซไดอาเซพีน ซึ่งอาจเกิดเมื่อกินเป็นระยะยาว อาจก่อภาวะบุคลิกวิปลาสและปัญหาทางการรับรู้ที่เรื้อรังในบุคคลบางพวก แม้ในคนที่กินยาขนาดเดียวกันเป็นประจำทุกวัน และยังอาจเป็นส่วนของอาการขาดยาเมื่อหยุดกินยาอีกด้วย

มีนักเขียนจิตวิทยาผู้เป็นทหารเก่า (Dave Grossman) ที่เขียนในหนังสือของเขา (On Killing) ไว้ว่า การฝึกทหารเท่ากับเป็นการสร้างภาวะบุคลิกวิปลาสในทหาร เพื่อระงับความเห็นอกเห็นใจและทำให้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ส่วนนักจิตวิทยาชาวแคนาดาอีกท่าน (Graham Reed) อ้างในปี 1974 ว่า บุคลิกวิปลาสเกิดในประสบการณ์การตกหลุมรัก

โดยเป็นกลไกของจิต-ชีวภาพ

บุคลิกวิปลาสเป็นการตอบสนองแบบคลาสสิกต่อการบาดเจ็บทางกายใจ และอาจเกิดชุกมากในบุคคลที่ประสบกับเหตุการณ์ก่อความบาดเจ็บรวมทั้งอุบัติเหตุรถยนต์ ทารุณกรรมทางอารมณ์หรือทางวาจา และการถูกจองจำ

เหมือนกับการแยกตัว (dissociation) ออกจากเหตุการณ์โดยทั่วไป บุคลิกวิปลาสสามารถมองได้ว่าเป็นกลไกการรับมือกับเหตุการณ์อย่างหนึ่ง ในกรณีนี้ เป็นการเกิดภาวะอย่างไม่ได้ตั้งใจเพื่อลดความรุนแรงของประสบการณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดแบบน้อย ๆ หรืออะไรที่หนักกว่าเช่นความวิตกกังวลอย่างรุนแรงซึ่งเป็นอย่างเรื้อรัง หรือความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) การลดทั้งความวิตกกังวลและความตื่นตัวทางจิต-ชีวภาพจะช่วยสงวนรักษาพฤติกรรมที่เป็นการปรับตัวและทรัพยากรทางกายใจเมื่ออยู่ในอันตราย แต่ก็เป็นปฏิกิริยาที่ทั่วไป คือไม่ได้เพียงลดประสบการณ์ที่เป็นทุกข์ แต่ลดปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ทำให้รู้สึกแยกตนออกจากโลกแล้วประสบกับเหตุการณ์อย่างเฉย ๆ แต่ก็ต้องแยกแยะระหว่างบุคลิกวิปลาสที่เป็นปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่รุนแรง เกิดในระยะสั้น กับบุคลิกวิปลาสที่เรื้อรังซึ่งมีเหตุจากความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงเช่น PTSD และ Dissociative Identity Disorder (คือมีบุคลิกภาพหลายบุคลิก) อาการที่เรื้อรังอาจเป็นความคงยืนของภาวะบุคลิกวิปลาสเกินเหตุการณ์ที่มีอัตราย

การรักษา

ภาพวาดของจิตกรที่พยายามแสดงภาวะบุคลิกวิปลาส

การบำบัดรักษาภาวะบุคลิกวิปลาสต้องกระทำโดยพิจารณาไปตามเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุทางกายหรือใจ ถ้าเป็นโรคทางประสาท (neurological disease) การวินิจฉัยและการรักษาโรคนั้น ๆ ก็จะเป็นสิ่งพึงกระทำเป็นอันดับแรก บุคลิกวิปลาสอาจเป็นอาการทางความคิด/ประชานของโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อสมองรวมทั้งอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส (ALS), โรคอัลไซเมอร์, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) และโรคอื่น ๆ สำหรับบุคคลที่มีภาวะบุคลิกวิปลาสกับไมเกรน แพทย์มักรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic antidepressant

ถ้ามีเหตุทางจิตเช่นเพราะได้รับบาดเจ็บทางกายใจในวัยเด็ก การรักษาจะขึ้นอยู่กับวินิจฉัยโรค สำหรับโรค dissociative identity disorder (DID) หรือ DD-NOS ซึ่งความบาดเจ็บทางกายใจที่รุนแรงได้สร้างปัญหาไม่ให้เกิดบุคลิกภาพบุคลิกเดียวที่เชื่อมเป็นอันเดียวกัน การรักษาต้องทำด้วยจิตบำบัด (psychotherapy) ที่เหมาะสม และถ้ามีโรคที่เกิดร่วมอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของการรับประทาน อาจต้องใช้คณะผู้เชี่ยวชาญประคบประหงมผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ภาวะยังอาจเป็นอาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ซึ่งสามารถรักษาในระยะยาวด้วยจิตบำบัดและยารักษาอาการทางจิต

การรักษาภาวะบุคลิกวิปลาสเรื้อรังอาจทำสำหรับบุคคลที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกวิปลาส (depersonalization disorder) งานศึกษาปี 2001 ในรัสเซียแสดงว่า naloxone ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาพิษของโอปิออยด์ อาจใช้รักษาบุคลิกวิปลาสอย่างมีประสิทธิผล ตามงานศึกษา "ในคนไข้ 3 คนจาก 14 คน บุคลิกวิปลาสหายไปโดยสิ้นเชิ้งโดยคนไข้ 7 คนดีขึ้นอย่างสำคัญ ผลรักษาของ naloxone เป็นหลักฐานว่าระบบโอปิออยด์ของร่างกายมีบทบาทในพยาธิกำเนิดของบุคลิกวิปลาส"

ยาแก้ชัก คือ Lamotrigine มีประสิทธิผลบ้างในการรักษาอาการบุคลิกวิปลาส บ่อยครั้งใช้กับยากลุ่ม selective serotonin re-uptake inhibitor และใช้เป็นยารักษาบุคลิกวิปลาสอันดับแรกในหน่วยวิจัยบุคลิกวิปลาสที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน

สื่อ วัฒนธรรม และกรณีเด่น

  • ในภาพยนตร์เรื่อง “นัมบ์” (อังกฤษ: Numb) ที่นายแมททิว เพอร์รี (Matthew Perry) เป็นพระเอก ตัวละครที่ชื่อ “ฮัดสัน มิลแบงก์” (Hudson Milbank) ประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส
  • ลิงคินพาร์กอันเป็นวงดนตรีร็อกชื่อดัง ได้ร้องเพลงเกี่ยวกับภาวะบุคลิกวิปลาสไว้หลายเพลง เช่น เพลง “นัมบ์” และเพลง “ครอวลิง”
  • ในหนังสือเรื่อง “ออนคิลลิง” (อังกฤษ: On Killing) ผู้เขียนคือพันโทแดฟ กรอสมัน (Dave Grossman) ได้กล่าวว่าการฝึกทหารนั้นมีเป้าเพื่อให้ทหารประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส จะได้ไร้ตัวไร้ตน และสังหารบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น
  • ปรัชญาสายอัตถิภาวนิยมใช้คำ “บุคลิกวิปลาส” (อังกฤษ: depersonalization) ในความหมายอื่น โดยใช้หมายถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่นประหนึ่งว่าเขาเป็นวัตถุสิ่งของหรือโดยไม่สนความรู้สึกนึกคิดของเขา
  • นางซูซานนา เคย์ซัน (Susanna Kayson) เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของตนซึ่งต่อมาได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือชื่อ “เกิร์ลอินเทอร์รัปเทด (อังกฤษ: Girl, Interrupted) เกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตของเธอว่า ได้ใช้สว่านเจาะมือตัวเองเพื่อดูว่ามีกระดูกหรือไม่ ก่อนได้รับวินิจฉัยว่าประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส
  • ในหนังสือเรื่อง “อเมริกันไซโค” (อังกฤษ: American Psycho) ของนางเบรต อีสตัน เอลลิส (Bret Easton Ellis) ที่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกัน นายแพทริก เบตมัน (Patrick Bateman) มือสังหารต่อเนื่องซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง พูดกับตัวเองซ้ำ ๆ ว่าเขากำลังประสบภาวะบุคลิกวิปลาส และตลอดเรื่องก็ปรากฏว่ามีอาการข้างเคียงของภาวะดังกล่าว
  • ละครไทยเรื่อง “สาปภูษา” ที่ฉายทางช่อง 3 เมื่อ พ.ศ. 2552 ไหมพิม (อิศริยา สายสนั่น) นางเอกของเรื่อง ถูกผีเจ้าสีเกด (ธัญญาเรศ รามณรงค์) สิงให้กระทำการต่าง ๆ นานาโดยไม่รู้ตัวเอง ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าไหมพิมประสบภาวะบุคลิกวิปลาส
  • ในภาพยนตร์เรื่อง “บอดี้..ศพ*19” ตัวละครที่ชื่อ “หมอสุธี” ประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส
  • ละครไทยเรื่อง "ล่า" ที่ฉายทางช่องวัน เมื่อ พ.ศ. 2560-2561 "มธุสร" (ลลิตา ปัญโญภาส) ตัวละครเอกของเรื่องประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส จากการถูกฉุดไปข่มขืนจนบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ จนนำไปสู่การคิดสั้นด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้เธอสร้าง "รุ้ง" ซึ่งเป็นตัวตนอีกหนึ่งบุคลิกขึ้นในจิตใต้สำนึกโดยไม่ได้ตั้งใจ แพทย์ผู้รักษาลงความเห็นว่ามธุสรประสบกับภาวะบุคลิกวิปลาส

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  • Loewenstein, Richard J; Frewen, Paul; Lewis-Fernández, Roberto (2017). "20 Dissociative Disorders". ใน Sadock, Virginia A; Sadock, Benjamin J; Ruiz, Pedro (บ.ก.). Kaplan & Sadock's Comprehensive Textbook of Psychiatry (10th ed.). Wolters Kluwer. ISBN 978-1-4511-0047-1.

Новое сообщение