Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ปรากฏการณ์บูบา/กิกี
ปรากฏการณ์บูบา/กิกี (อังกฤษ: bouba/kiki effect) เป็นการจับคู่เสียงพูดกับรูปร่างที่เห็นทางตาอย่างไม่บังเอิญ โวลฟ์แกง โคฮ์เรอร์ ผู้เป็นนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน-อเมริกัน สังเกตพบปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1929 คือ ในการทดลองทางจิตวิทยาที่เกาะเตเนรีเฟ ที่ซึ่งภาษาหลักเป็นภาษาสเปน โคฮ์เรอร์แสดงรูปร่างคล้ายกับรูปที่แสดงด้านบน แล้วถามผู้ที่เข้าร่วมการทดลองว่า รูปไหนเป็น "ตาเก็ตตี" และรูปไหนเป็น "บาลูบา" (เรียกว่า "มาลูมา" ในการทดลองปี ค.ศ. 1947) ข้อมูลของเขาแสดงแนวโน้มสำคัญในการจับคู่รูปร่างหยัก ๆ กับคำว่า "ตาเก็ตตี" และรูปร่างโค้ง ๆ กับคำว่า "บาลูบา"
ในปี ค.ศ. 2001 รามจันทรันและฮับบาร์ด ทำการทดลองของโคฮ์เรอร์ซ้ำโดยใช้คำว่า "กิกี" และ "บูบา" แล้วถามนักศึกษาชั้นปริญญาตรีชาวอเมริกันและผู้พูดภาษาทมิฬในประเทศอินเดียว่า "รูปร่างไหนเป็นบูบา และรูปร่างไหนเป็นกิกี" ในผู้รับการทดลองทั้งสองพวกตามลำดับ 95% และ 98% เลือกรูปร่างมีเส้นโค้งว่า เป็นบูบา และรูปร่างเป็นหยัก ๆ ว่า เป็นกิกี ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สมองมนุษย์สามารถดึงคุณสมบัติทางนามธรรม (abstract properties) จากรูปร่างและเสียงได้อย่างคงเส้นคงวา งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ของดาฟน์ มอเรอร์ และคณะ แสดงว่า แม้แต่เด็กมีอายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ซึ่งเด็กเกินไปที่จะอ่านหนังสือได้ ก็อาจจะประสบกับปรากฏการณ์นี้ด้วย
รามจันทรันและฮับบาร์ดเสนอว่า ปรากฏการณ์กิกี/บูบาอาจจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของภาษา เพราะว่า การบัญญัติชื่อวัตถุต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นไปโดยบังเอิญตามอำเภอใจ รูปโค้ง ๆ อาจจะควรเรียกว่า "บูบา" เพราะต้องทำปากเป็นรูปกลม ๆ เพื่อจะกล่าวคำนั้น และรูปหยัก ๆ อาจจะควรเรียกว่า "กิกี" เพราะต้องทำปากให้ตึงประกอบเป็นมุม เพื่อจะกล่าวคำนั้น นอกจากนั้นแล้ว เสียง "ก" แข็งกว่า ต้องกล่าวด้วยกำลังที่เหนือกว่าเสียง "บ" ปรากฏการณ์นี้ซึ่งคล้ายกับภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia) คือการที่เสียงซึ่งมาจากทางประสาทหนึ่งคือหู แปลไปเป็นรูปร่างซึ่งเกี่ยวข้องกับอีกทางประสาทหนึ่งคือตา อย่างไม่บังเอิญ บอกเป็นนัยว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะเป็นมูลฐานในระบบประสาทของการใช้เสียงสื่อความ (sound symbolism) ซึ่งเสียงหนึ่ง ๆ แปลไปเป็นวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกอย่างเฉพาะเจาะจง
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้แสดงว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะเป็นกรณีหนึ่งของ ideasthesia
ผู้มีโรคออทิซึมไม่แสดงแนวโน้มในการจับคู่เสียงและรูปในระดับที่เท่ากับบุคคลปกติ แม้ว่า ประมาณ 88% ของเด็กที่ยังเจริญวัยอยู่ประสบกับปรากฏการณ์นี้ แต่ว่าผู้มีโรคออทิซึมกลับประสบเพียงแค่ 56%