Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขา
ผู้เล่นทีมชาติเฮติแข่งขันกับทีมซาร์แย็ง (Zaryen), ปอร์โตแปรงซ์ (9 มกราคม 2011)
| |
สมาพันธ์สูงสุด | World Amputee Football Federation |
---|---|
ลักษณะเฉพาะ | |
ผู้เล่นในทีม | 7 คน |
หมวดหมู่ | กีฬากลางแจ้ง, ประเภททีม |
อุปกรณ์ | ลูกฟุตบอล |
ฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขา (อังกฤษ: amputee football) เป็นกีฬาฟุตบอลสำหรับผู้พิการโดยมีผู้เล่นฝ่ายละเจ็ดคน (ผู้เล่นในสนามหกคนและผู้รักษาประตูหนึ่งคน) โดยผู้เล่นในสนามเป็นผู้ถูกตัดขาส่วนล่างหนึ่งข้าง และผู้รักษาประตูเป็นผู้ถูกตัดแขนส่วนล่างหนึ่งข้าง ผู้เล่นในสนามจะใช้ไม้ค้ำยัน (สวมปลายแขน) และเล่นโดยไม่ใช้ขาเทียม
ประวัติ
เกมนี้ถูกสร้างโดยดอน เบ็นเนตต์ (Don Bennett) ชาวอเมริกันใน ค.ศ. 1982 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเตะลูกบาสเก็ตบอลโดยไม่ได้ตั้งใจขณะที่เขาใช้ไม้ค้ำยัน ต่อมากีฬานี้ได้พัฒนาเป็นเกมระดับนานาชาติโดยได้รับความช่วยเหลือจากบิล แบร์รี ผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลในปี 1985
ใน ค.ศ. 2023 มาร์ซิน ออแล็กซือ (Marcin Oleksy) ชาวโปแลนด์กลายเป็นนักฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาคนแรกที่ได้รับรางวัลปุชกาชของฟีฟ่า (FIFA Puskás Award) สำหรับ "ประตูที่สวยที่สุดแห่งปี" ในพิธีมอบรางวัลฟุตบอลยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2022
ทั่วโลก
มีสมาคมฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาหลายแห่งทั่วโลก ตัวอย่างเช่น สมาคมผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาแห่งอังกฤษและสมาคมฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาแห่งไอร์แลนด์ แต่ละองค์กรส่งเสริมความก้าวหน้าของกีฬาและเพิ่มการยอมรับของสังคม สมาคมฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาแห่งอังกฤษระบุอุดมการณ์หลักบนเว็บไซต์ของสมาคมว่า: "เป้าหมายของสมาคมฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาแห่งอังกฤษคือสนับสนุนผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาทุกคน รวมถึงผู้พิการขาขาดแต่กำเนิดและบุคคลที่สามารถใช้แขน-ขาได้จำกัด ได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลในระดับท้องถิ่น, ระดับประเทศ จนถึงในระดับสากล"
การแข่งขันหลัก
ฟุตบอลโลกผู้พิการถูกตัดแขนหรือขา
ดูบทความหลักที่: Amputee Football World Cup
ค.ศ. | เจ้าภาพ | ผลการแข่งขัน | |||
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ | อันดับ 3 | |||
1998 | แมนเชสเตอร์ (อังกฤษ) | รัสเซีย | อุซเบกิสถาน | บราซิล | |
2000 | ซีแอตเทิล (สหรัฐ) | บราซิล | รัสเซีย | ยูเครน | |
2001 | รีโอเดจาเนโร (บราซิล) | บราซิล | รัสเซีย | อังกฤษ | |
2002 | โซชี (รัสเซีย) | รัสเซีย | บราซิล | อุซเบกิสถาน | |
2003 | ทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) | รัสเซีย | ยูเครน | บราซิล | |
2005 | รีโอเดจาเนโร (บราซิล) | บราซิล | รัสเซีย | อังกฤษ | |
2007 | อันทัลยา (ตุรกี) | อุซเบกิสถาน | รัสเซีย | ตุรกี | |
2010 | เกรสโป (อาร์เจนตินา) | อุซเบกิสถาน | อาร์เจนตินา | ตุรกี | |
2012 | คาลีนินกราด (รัสเซีย) | อุซเบกิสถาน | รัสเซีย | ตุรกี | |
2014 | กูเลียกัน (เม็กซิโก) | รัสเซีย | แองโกลา | ตุรกี | |
2018 | ซานฮวนเดโลสลาโกส (เม็กซิโก) | แองโกลา | ตุรกี | บราซิล | |
2022 | อิสตันบูล (ตุรกี) | ตุรกี | แองโกลา | อุซเบกิสถาน |
ฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขาชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
ดูบทความหลักที่: European Amputee Football Championship
ค.ศ. | เจ้าภาพ | ผลการแข่งขัน | |||
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ | อันดับ 3 | |||
1999 | เคียฟ (ยูเครน) | บราซิล | รัสเซีย | อุซเบกิสถาน | |
2008 | อิสตันบูล (ตุรกี) | รัสเซีย | ตุรกี | อังกฤษ | |
2017 | อิสตันบูล (ตุรกี) | ตุรกี | อังกฤษ | โปแลนด์ | |
2021 | กรากุฟ (โปแลนด์) | ตุรกี | สเปน | โปแลนด์ |
การแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติรายการอื่น
ค.ศ. | รายการแข่งขัน | เจ้าภาพ | วันที่ | ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ | อันดับ 3 |
---|---|---|---|---|---|---|
2006 | Volgograd Open Championships | วอลโกกราด | 24–30 กันยายน | รัสเซีย | อังกฤษ | อุซเบกิสถาน |
2007 | 1st All-Africa Amputee Soccer Tournament | ฟรีทาวน์ | กุมภาพันธ์ | กานา | ไลบีเรีย | เซียร์ราลีโอน |
2017 | 6th Amp Futbol Cup | วอร์ซอ | 24–25 มิถุนายน | อังกฤษ | โปแลนด์ | ญี่ปุ่น |
กติกา
กติกาอย่างเป็นทางการของฟีฟ่าคือ:
- ผู้พิการหมายถึงบุคคลที่ 'ถูกตัด' ที่หรือใกล้กับบริเวณข้อเท้าหรือข้อมือ
- ผู้เล่นในสนามอาจมีสองมือแต่มีขาเดียว ในขณะที่ผู้รักษาประตูอาจมีสองเท้าแต่มีมือเดียว
- เกมนี้เล่นโดยใช้ไม้ค้ำโลหะและไม่ใส่ขาเทียม ข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือผู้พิการขาขาดทั้งสองข้างอาจเล่นโดยใส่ขาเทียมข้างหนึ่งได้
- ผู้เล่นไม่สามารถใช้ไม้ค้ำเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้า ควบคุม หรือปิดกั้นลูกบอล การกระทำดังกล่าวจะถูกลงโทษในลักษณะเดียวกับการทำแฮนด์บอล อย่างไรก็ตาม การสัมผัสโดยไม่ตั้งใจระหว่างไม้ค้ำกับลูกบอลสามารถทำได้
- ผู้เล่นต้องไม่ใช้แขนขาที่เหลืออยู่ของข้างที่พิการเพื่อเล่น ควบคุม หรือปิดกั้นลูกบอลโดยสมัครใจ การกระทำดังกล่าวจะถูกลงโทษในลักษณะเดียวกับการทำแฮนด์บอล อย่างไรก็ตาม สามารถสัมผัสโดยบังเอิญระหว่างส่วนปลายแขนขาข้างที่ขาดและลูกบอลได้
- ต้องใส่สนับแข้ง
- การใช้ไม้ค้ำกระทำกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะถูกไล่ออกจากเกมและให้เป็นลูกโทษสำหรับทีมตรงข้าม
- ขนาดของสนามแข่งขันสูงสุดคือ 70 x 60 เมตร
- ขนาดของประตูสูงสุดคือ สูง 2.2 เมตร x กว้าง 5 เมตร x ลึก 1 เมตร
- ใช้ลูกฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่า
- เกมประกอบด้วยสองครึ่งเวลา ครึ่งละ 25 นาที (แปรผันตามทัวร์นาเมนต์) โดยมีช่วงพักระหว่างกลาง 10 นาที
- ทั้งสองทีมสามารถขอเวลานอกได้ 2 นาทีต่อเกม
- กฎการล้ำหน้าใช้ไม่ได้กับฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขา
- กติกาสากลกำหนดให้ทีมประกอบด้วยผู้เล่นในสนามหกคนและผู้รักษาประตูหนึ่งคน อย่างไรก็ตามบางทัวร์นาเมนต์ต้องการทีมที่มีผู้เล่นในสนามสี่คน และผู้รักษาประตูหนึ่งคน เช่นกรณีในประเทศเซียร์ราลีโอน
- ผู้รักษาประตูไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ของตน หากกรณีนี้เกิดขึ้นโดยจงใจ ผู้รักษาประตูจะถูกไล่ออกจากเกมและทีมตรงข้ามได้เตะลูกโทษ
- สามารถเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัดจำนวน ณ เวลาใดก็ได้ระหว่างเกม
แหล่งข้อมูลอื่น
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ฟุตบอลผู้พิการถูกตัดแขนหรือขา |
- worldamputeefootball.org. World ampuree football news.
- American Amputee Soccer Association. History of the game [archived 2021-02-02; cited 2023-03-02].