Мы используем файлы cookie.
Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว

ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว

Подписчиков: 0, рейтинг: 0

ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว หรือ ภาวะเสียการระลึกรู้ความเคลื่อนไหว หรือ ภาวะบอดความเคลื่อนไหว (อังกฤษ: akinetopsia หรือ cerebral akinetopsia หรือ motion blindness) เป็นโรคทางประสาทจิตวิทยาที่มีน้อยมากอย่างหนึ่ง ที่คนไข้ไม่สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวในลานสายตา ถึงแม้ว่าจะสามารถเห็นวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร คือ โลกปรากฏโดยปราศจากความเคลื่อนไหว ความรู้ที่มีเกี่ยวกับภาวะนี้ ได้มาจากกรณีศึกษาในคนไข้ผู้หนึ่งเรียกว่า "แอลเอ็ม" ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลสำหรับผู้มีภาวะนี้

ประเภทของโรค

ภาวะบอดความเคลื่อนไหวรู้จักกันว่าเป็นโรคทางประสาทจิตวิทยา เพราะว่า ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสมอง (โดยทั่วไปคือรอยโรค) เข้าไปรบกวนระบบการทำงานที่ทำเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึก ซึ่งในกรณีนี้ก็คือข้อมูลทางสายตา การประมวลผลความเคลื่อนไหวทางตา เป็นกิจของสมองเฉพาะที่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีความเสียหายต่อการรับรู้ความเคลื่อนไหวทางตาเท่านั้น เหมือนกับปัญหาการรับรู้สีที่เกิดขึ้นโดยลำพังในภาวะเสียการระลึกรู้สี

ลักษณะของโรค

ภาวะบอความเคลื่อนไหวเป็นความไม่สามารถที่จะเห็นความเคลื่อนไหว แม้ว่าจะมีความชัดเจนของการเห็น การตรวจจับแสงกระพริบ การเห็นแบบสองตา และการเห็นสีที่เป็นปกติ ระบบอื่นๆที่ไม่มีปัญหา (คือไม่เป็นเหตุแห่งภาวะบอความเคลื่อนไหว) รวมทั้ง การรับรู้ปริภูมิทางตา การบ่งบอกรูปร่าง การบ่งบอกวัตถุ และการบ่งบอกใบหน้า นอกจากเข้าไปรบกวนการรับรู้ความเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานแล้ว ภาวะบอดความเคลื่อนไหวยังรบกวนการเคลื่อนไหวทางกายที่ประสานกับตา เช่นการเอื้อมมือออกไปหยิบจับวัตถุ และการรับวัตถุ เพราะว่าเมื่อทำกิจการงานทางกาย การรับรู้ความเคลื่อนไหวของตนปรากฏว่ามีความสำคัญ

คนไข้ภาวะนี้ต้องผจญกับปัญหาต่างๆ มากมายในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย ในคนไข้คนหนึ่งที่เรียกว่า แอลเอ็ม (LM) คนไข้พรรณนาการเทน้ำชาหรือกาแฟลงใส่ถ้วยว่าเป็นสิ่งที่ยาก "เพราะว่าน้ำนั้นปรากฏเหมือนกับน้ำแข็ง เหมือนกับธารน้ำแข็ง"

เธอไม่รู้จักว่าควรจะหยุดเทเมื่อไร เพราะไม่สามารถรู้ความเคลื่อนไหวของน้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในถ้วย LM และคนไข้อื่นๆ ยังบ่นด้วยว่า มีปัญหาในการติดตามประเด็นในการสนทนา เพราะว่า ความเคลื่อนไหวของปากและการแสดงออกทางสีหน้า ไม่ปรากฏ

LM กล่าวว่า เธอไม่รู้สึกปลอดภัยเมื่อมีคน 2 คนเดินไปมาในห้อง เพราะว่า "คนนี้เดี๋ยวก็ไปอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวก็ไปอยู่ตรงโน้น แต่ฉันไม่เห็นเขาเดินไป" คนไข้ต้องอนุมานความเคลื่อนไหวโดยเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งของวัตถุหรือบุคคล LM และคนไข้อื่นๆ ได้พรรณนาว่า การข้ามถนนและการขับรถก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง LM ต้องเริ่มฝึกตนให้ประเมินระยะห่างของวัตถุโดยเสียง

สาเหตุ

รอยโรคในสมอง

ภาวะบอดความเคลื่อนไหวเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลัง คือไม่ได้เกิดแต่กำเนิด ที่เกิดจากรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตา และเพราะว่า เซลล์ประสาทของคอร์เทกซ์กลีบขมับกลาง (คือเขตสายตา MT) ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่เคลื่อนไหว ดังนั้น MT จึงเป็นเขตที่ประมวลผลความเคลื่อนไหวในเปลือกสมอง ในกรณีของ LM รอยโรคที่เกิดขึ้นมีในทั้งสองซีกของสมอง และสมมาตรกัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีขนาดเล็กพอที่จะไม่ทำลายระบบทางสายตาอย่างอื่นๆ

แต่ว่า รอยโรคในซีกเดียวของสมองบางกรณี ก็เข้าไปทำการรับรู้ความเคลื่อนไหวให้เสียหายเช่นกัน ภาวะบอดความเคลื่อนไหวโดยรอยโรคนั้นมีน้อย เพราะว่า ความเสียหายในสมองกลีบท้ายทอย มักจะทำระบบอื่นๆ เกี่ยวกับการเห็นให้เสียหายด้วย ภาวะนี้มีปรากฏสืบเนื่องมาจาก traumatic brain injury (แผลบาดเจ็บในสมอง ตัวย่อ TBI) ด้วย

การกระตุ้นด้วยแม่เหล็กผ่านกะโหลก

ภาวะบอดความเคลื่อนไหวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดได้โดยลำพังและชั่วคราว โดยเทคนิคการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กผ่านกะโหลก (transcranial magnetic stimulation ตัวย่อ TMS) ที่เขตสายตา MT (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เขตสายตา V5) ในบุคคลปกติ ซึ่งทำที่พื้นผิวขนาด 1 ซม² ของกะโหลกที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของเขตสายตา V5. ด้วยพลัง TMS เป็นระยะเวลา 800 ไมโครวินาทีและตัวกระตุ้นทางตาที่ปรากฏเป็นระยะเวลา 28 มิลลิวินาทีเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 11 องศาต่อวินาที V5 จะระงับการทำงานเป็เวลา 20-30 มิลลิวินาที เทคนิคนี้ได้ผล -20 มิลลิวินาที และ +10 มิลลิวินาที ก่อนและหลังการเริ่มของตัวกระตุ้น ส่วนการเข้าไประงับเขตสายตา V1 ด้วยเทคนิคนี้เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะนี้ 60-70 วินาทีหลังการเริ่มของตัวกระตุ้น การใช้เทคนิคนี้กับ V1 จึงไม่มีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำภาวะบอดความเคลื่อนไหวเท่ากับใช้กับ V5

โรคอัลไซเมอร์

นอกจากปัญหาในด้านการทรงจำแล้ว คนไข้โรคอัลไซเมอร์อาจจะมีภาวะบอดความเคลื่อนไหวในระดับต่างๆ กัน ซึ่งเพิ่มความงุนงงสับสนให้กับคนไข้ แม้ว่า เพแลคและฮอยต์จะได้ทำข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้โรคอัลไซเมอร์กรณีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำเป็นจริงเป็นจังในเรื่องนี้

เขตสายตาที่เกี่ยวข้อง

เขตสายตาสองเขตที่เกี่ยวข้องในการประมวลผลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวก็คือ เขตสายตา V5 และ เขตสายตา V1 เขตสองเขตนี้มีหน้าที่ต่างๆ กัน ถ้าแบ่งเขตในสมองออกโดยกิจ เขตโดยกิจ ก็คือ นิวรอนเซตหนึ่งที่มีการกระตุ้นและการเลือกตัวกระตุ้นที่เหมือนกัน คือมีการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นโดยพฤติกรรมแบบเดียวกันนั่นเอง มีเขตที่มีกิจเฉพาะอย่างในคอร์เทกซ์สายตาถึง 30 เขตที่ค้นพบแล้ว

เขตสายตา V5

เขตสายตา V5 หรือที่รู้จักกันว่า เขตสายตา MT อยู่ทางด้านข้างและด้านล่างของสมองกลีบขมับ ใกล้จุดเชื่อมของส่วนที่ยื่นขึ้นของร่องกลีบขมับด้านล่าง (inferior temporal sulcus) และ ร่องกลีบท้ายทอยด้านข้าง (lateral occipital sulcus) เซลล์ประสาททั้งหมดใน V5 เลือกตัวกระตุ้นโดยความเคลื่อนไหว และโดยมากเลือกความเคลื่อนไหวที่มีทิศทางเฉพาะ หลักฐานของกิจเฉพาะของ V5 พบครั้งแรกในไพรเมต รอยโรคหรือการระงับการทำงานของ V5 ทำให้เกิดภาวะบอดความเคลื่อนไหว

เขตสายตา V1

V1 หรือที่รู้จักกันว่าคอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม เป็นส่วนเดียวกับเขตบร็อดแมนน์ 17 ความสามารถในการประมวลข้อมูลทางสายตาของ V1 เป็นที่รู้จักกันดี แต่ว่า ในปัจจุบัน เป็นที่รู้กันว่า V1 ไม่ใช่เป็นทางเข้าทางประสาททางเดียวที่นำไปสู่การรับรู้คือการเห็นในคอร์เทกซ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลทางตาที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวสามารถเดินทางไปถึง V5 ได้โดยไม่ต้องผ่าน V1 และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสัญญาณป้อนกลับจาก V5 ไปสู่ V1 เพื่อเห็นความเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเดินทางไปถึง V1 (60–70 มิลลิวินาที) and V5 (< 30 มิลลิวินาที) รวดเร็วไม่เท่ากัน โดยที่ V5 มีการทำงานที่เป็นอิสระจาก V1

คนไข้ภาวะเห็นทั้งบอดมีความเสียหายใน V1 แต่เพราะว่า V5 ไม่มีความเสียหาย คนไข้ยังสามารถมีความรู้สึกต่อความเคลื่อนไหวทั้งๆ ที่ไม่มีการรับรู้(คือว่าคนไข้แจ้งว่าไม่เห็นอะไรแต่กลับมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวนั้น) นั่นก็คือ การระงับการทำงานของ V1 จำกัดการเห็นความเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ระงับโดยสิ้นเชิง

ทางสัญญาณด้านล่างและด้านหลัง

ทฤษฎีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการจัดระเบียบของสมองที่เอื้ออำนวยการเห็น ก็คือ สมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง ซึ่งประกอบด้วยทางสัญญาณด้านล่างสำหรับการเห็น และทางสัญญาณด้านหลังสำหรับการการกระทำ (เช่นการหยิบจับหรือการคว้าจับ) มีการเสนอว่า เขตสายตา V5 ส่งสัญญาณให้กับทางสัญญาณทั้งสองคือเพื่อการเห็นและเพื่อการกระทำ

กรณีศึกษา

คนไข้ของพ็อตเซิล และเร็ดลิช

ในปี ค.ศ. 1911 พ็อตเซิลและเร็ดลิช รายงานถึงคนไข้หญิงวัย 58 ปีผู้หนึ่ง ผู้มีความเสียหายในสมองด้านหลังทั้งสองซีก เธอได้พรรณนาถึงการเคลื่อนไหวเหมือนกับว่า วัตถุอยู่นิ่งๆ แต่ปรากฏในตำแหน่งต่างๆ สืบต่อกัน นอกจากนั้นแล้ว เธอยังสูญเสียลานสายตาไปมาก และมี ภาวะเสียการสื่อความโดยชื่อ (anomic aphasia)

คนไข้ของโกลด์สไตน์และเก็ลบ์

ในปี ค.ศ. 1918 โกลด์สไตน์และเก็ลบ์ รายงานถึงชายวัย 24 ปีผู้ประสบกับแผลกระสุนปืนในสมองด้านหลัง คนไข้รายงานว่าไม่มีการรับรู้ความเคลื่อนไหว คือ เขาสามารถกำหนดตำแหน่งใหม่ของวัตถุหนึ่ง เช่นซ้าย ขวา บน ล่างได้ แต่ว่า ไม่เห็น "อะไรๆ ในระหว่าง"

แม้ว่า โกลด์สไตน์และเก็ลบ์ได้เชื่อว่า คนไข้มีความเสียหายในสมองกลีบท้ายทอยซีกซ้ายส่วนข้าง (lateral) และส่วนกลาง (medial) ภายหลังกลับปรากฏว่าสมองกลีบท้ายทอยทั้งสองซีกมีปัญหา เพราะปรากฏความสูญเสียลานสายตาร่วมศูนย์กลาง (คือเป็นวงกลมเริ่มจากศูนย์กลาง) ทั้งสองข้าง คือคนไข้เสียลานสายตาไปมากกว่า 30 องศาและไม่สามารถบ่งชี้วัตถุทางตาโดยชื่อ

คนไข้ชื่อแอลเอ็ม

รายละเอียดที่รู้กันทุกวันนี้เกี่ยวกับภาวะบอดความเคลื่อนไหว มาจากการศึกษาคนไข้ชื่อ แอลเอ็ม (LM) เป็นหญิงวัย 43 ปีที่รับเข้าโรงพยาบาลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1978 ผู้บ่นถึงอาการปวดศีรษะและอาการรู้สึกหมุน LM ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (thrombosis) ใน superior sagittal sinus (โพรงไซนัสแบ่งซ้ายขวาด้านบน) ซึ่งมีผลให้เกิดรอยโรคในคอร์เทกซ์สายตาด้านหลังที่สมมาตรในสมองทั้งสองข้าง รอยโรคเหล่านี้ถูกยืนยันด้วยภาพสมองโดยโพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟี (PET) และการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) ในปี ค.ศ. 1994

LM มีการรับรู้ความเคลื่อนไหวที่น้อยมาก ซึ่งอาจจะได้รับการรักษาไว้โดยเป็นกิจของ V1 หรือกิจของเขตสายตาในชั้นสูงๆ ขึ้นไป หรือกิจที่ไม่ถูกทำลายใน V5

LM ไม่พบวิธีรักษาใดๆ ที่ได้ผล ดังนั้น จึงฝึกที่จะหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่มีตัวกระตุ้นที่เคลื่อนไหวหลายๆ ตัว เช่นโดยไม่มองหรือไม่เพ่งดูตัวกระตุ้นเหล่านั้น เธอได้พัฒนาวิธีการบรรเทาปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ นอกจากนั้นแล้ว เธอยังสามารถประเมินระยะทางของยานพาหนะที่เคลื่อนไหวโดยใช้เสียง เพื่อที่จะข้ามถนนได้

LM ถูกทดสอบในในความสามารถ 3 อย่างเทียบกับหญิงวัย 24 ปีผู้มีการเห็นที่ปกติ คือ

การเห็นทางตาอย่างอื่น ๆ นอกจากการเห็นความเคลื่อนไหว

ไม่ปรากฏหลักฐานว่า LM มีความบกพร่องในการแยกแยะสีไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนนอกของลานสายตา เวลาในการรู้จำวัตถุและศัพท์ทางตา สูงกว่าปกติเล็กน้อยเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความหมายที่สำคัญทางสถิติ เธอมีลานสายตาที่เป็นปกติและไม่มีดวงมืดในลานเห็น (scotoma)

ปัญหาในการเห็นความเคลื่อนไหว

ความรู้สึกของ LM เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับทิศทางของความเคลื่อนไหว (คือแนวนอน หรือแนวตั้ง) ความเร็ว และถ้าเธอเพ่งตรึงอยู่ที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว หรือติดตามวัตถุนั้นด้วยตาหรือไม่ แสงสว่างวงกลมถูกใช้เป็นตัวกระตุ้นเป้าหมาย

ในการทดลองหลายงาน LM แจ้งว่า มีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในแนวนอนที่ความเร็ว 14 องศาต่อวินาที ในจุดลานสายตาหนึ่ง เมื่อกำลังเพ่งตรึงดูที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว โดยมีความยากลำบากในการเห็นความเคลื่อนไหวที่มีความเร็วที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้ ถ้าสามารถติดตามแสงทดลองที่กำลังเคลื่อนอยู่ด้วยตา เธอจะมีการเห็นการเคลื่อนไหวแนวนอนบางอย่างจนกระทั่งถึงระดับความเร็ว 18 องศาต่อวินาที

สำหรับการเคลื่อนไหวแนวตั้ง LM สามารถเห็นความเคลื่อนไหวที่มีความเร็วน้อยกว่า 10 องศาต่อวินาที ถ้าเพ่งตรึง (ที่ตรงกลางของทางการเคลื่อนไหว), หรือจนกระทั่งถึงความเร็ว 13 องศาต่อวินาที ถ้าติดตามจุดที่กำลังเคลื่อนไหวด้วยตา เธอพรรณนาประสบการณ์รับรู้ของตัวกระตุ้นที่มีความเร็วสูงกว่า 18 (แนวนอน) และ 13 (แนวตั้ง) องศาต่อวินาทีว่า "จุดแสงหนึ่งซ้ายหรือขวา" หรือ "จุดแสงบนหรือล่าง" และ "บางครั้ง ตำแหน่งต่างๆ ในระหว่างไปตามลำดับ" แต่ไม่เคยเลยว่า เป็นความเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวในแนวลึก

เพื่อที่จะกำหนดการรับรู้ความเคลื่อนไหวในแนวลึก ผู้ทำการทดลองได้ทำการเคลื่อนลูกบาศก์ไม้สีดำบนโต๊ะ ไปทางคนไข้หรือไปจากคนไข้ ในเขตที่คนไข้เห็นได้ หลังจากการทดลอง 20 ครั้งที่ความเร็ว 3 หรือ 6 องศาต่อวินาที คนไข้ไม่มีความรู้สึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่ว่า เธอรู้ว่า วัตถุนั้นได้เปลี่ยนตำแหน่ง รู้ขนาดของลูกบาศก์นั้น และสามารถตัดสินระยะห่างของลูกบาศก์นั้นกับวัตถุอื่นที่อยู่ใกล้ๆ ได้อย่างถูกต้อง

ส่วนในและส่วนนอกของลานสายตา

การตรวจจับความเคลื่อนไหวในส่วนในและส่วนนอกของลานสายตาถูกทดสอบ ภายในลานสายตาด้านใน LM สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวบางอย่างได้ โดยที่ความเคลื่อนไหวในแนวนอนง่ายที่จะแยกแยะกว่าความเคลื่อนไหวในแนวตั้ง ในลานสายตารอบนอก LM ไม่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวในทิศทางใดๆ เลย ความสามารถในการตัดสินความเร็วก็ถูกทดลองด้วย เธอประเมินความเร็วที่สูงกว่า 12 องศาต่อวินาทีต่ำเกินไป

ปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหว และปรากฏการณ์ฟาย

การทดลองด้วยปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหว (motion aftereffect) โดยใช้ลายริ้วในแนวตั้งที่เคลื่อนไปในแนวขวาง และลายก้นหอยที่หมุนไป เธอสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวในลายทั้งสอง แต่แจ้งว่า มีปรากฏการณ์หลังตัวกระตุ้นเคลื่อนไหวของลายริ้วในการทดลอง 3 ครั้งใน 10 และไม่รายงานปรากฏการณ์หลังของลายก้นหอยเลยโดยประการทั้งปวง นอกจากนั้นแล้ว เธอก็ไม่แจ้งถึงความเคลื่อนไหวในแนวลึกของลายก้นหอยเลย

ส่วนในการทดลองด้วยปรากฏการณ์ฟาย (phi phenomenon) จุดกลมๆ 2 จุดปรากฏโดยสลับกัน สำหรับคนปกติแล้ว ย่อมปรากฏว่า จุดหนึ่งเคลื่อนที่จากตำหน่งหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง แต่สำหรับ LM แล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร เธอก็ไม่เห็นการเคลื่อนไวใดๆ เลย เธอแจ้งทุกครั้งว่า เป็นจุดแสง 2 จุดที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน

การเคลื่อนมือและตา โดยอาศัยการติดตามด้วยตา

LM สามารถติดตามทิศทางของเส้นลวดที่ยึดไว้กับแผ่นกระดานด้วยนิ้วชี้มือขวา การทดลองทำโดยอาศัยสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น (โดยปิดตา) หรืออาศัยตาอย่างเดียวเท่านั้น (มีกระจกปิดกระดานอยู่) หรือโดยสัมผัสและตา เธอทำได้ดีที่สุดในกรณีสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น และแย่ที่สุดในกรณีตาอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว เธอไม่ได้รับประโยชน์อะไร ๆ จากข้อมูลทางตาในกรณีสัมผัสและตา เธอรายงานว่า ปัญหาอยู่ระหว่างนิ้วกับตา คือ เธอไม่สามารถติตตามนิ้วของเธอด้วยตาได้ ถ้าเธอเคลื่อนนิ้วของเธอเร็วเกินไป

การทดลองอื่นๆ

คนไข้โรคอัลไซเมอร์ของเพแลคและฮอยต์

ในปี ค.ศ. 2000 ชายวัย 70 ปี ปรากฏอาการของภาวะบอดความเคลื่อนไหว เขาได้หยุดขับรถเมื่อ 2 ปีก่อนเพราะว่าไม่สามารถ "เห็นความเคลื่อนไหวเมื่อขับรถ" ได้ ภรรยาของเขาสังเกตเห็นว่า เขาไม่สามารถตัดสินความเร็วหรือระยะห่างของรถอีกคันหนึ่ง เขามีปัญหาในการดูโทรทัศน์ที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวมาก เช่นการกีฬา หรือทีวีโชว์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรม

เขามักจะวิจารให้ภรรยาของตนฟังว่า เขาไม่สามารถเห็นอะไรๆ ที่เกิดขึ้นได้ เมื่อวัตถุหนึ่งเริ่มเคลื่อนไหว มันก็จะหายไป แต่ว่า เขาสามารถดูข่าวได้ เพราะว่าไม่มีการเคลื่อนไหวมาก นอกจากนั้นแล้ว เขายังปรากฏอาการของ Balint's syndrome คือ simultanagnosia อย่างอ่อนๆ optic ataxia และ oculomotor apraxia

คนไข้ TBI ของเพแลคและฮอยต์

ในปี ค.ศ. 2003 ชายวัย 60 ปีบ่นว่าไม่สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวทางตาที่เกิดขึ้นหลัง traumatic brain injury (แผลบาดเจ็บในสมอง ตัวย่อ TBI) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่เสาไฟต้นสนขนาดใหญ่หักลงมาตีศีรษะของตน เขาได้ให้ตัวอย่างปัญหาของตนในฐานะผู้ล่าสัตว์ คือ เขาไม่สามารถสังเกตเห็นสัตว์ที่ล่า ไม่สามารถติดตามนักล่าคนอื่น และไม่สามารถเห็นสุนัขของตนที่เข้ามาหา แทนที่การเห็นโดยปกติ วัตถุเหล่านี้ปรากฏแก่เขาในตำแหน่งหนึ่ง แล้วก็อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่เห็นการเคลื่อนไหวใดๆ ในระหว่างตำแหน่ง 2 ที่เหล่านั้น เขามีปัญหาในการขับรถและติดตามการสนทนาเป็นกลุ่ม เขาจะหลงตำแหน่งเมื่ออ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นในแนวตั้งหรือในแนวนอน และไม่สามารถจินตนาการภาพ 3 มิติจากแผนผัง 2 มิติ


Новое сообщение