Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
รีเฟล็กซ์
รีเฟล็กซ์ หรือ ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (อังกฤษ: Reflex) เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยนอกการควบคุมของจิตใจ (involuntary) ที่เกิดขึ้นอย่างแทบฉับพลันทันที (instantaneous) เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น (stimulus) โดยปกติและเมื่อหมายถึงรีเฟล็กซ์ของมนุษย์แล้ว รีเฟล็กซ์จะเกิดผ่านระบบการนำกระแสประสาทที่เรียกว่า วงรีเฟล็กซ์ (reflex arc) ซึ่งเมื่อกล่าวถึงสัตว์ประเภทอื่นๆ คำว่ารีเฟล็กซ์อาจมีรายละเอียดของความหมายที่แตกต่างกันออกไปได้
เวลาตอบโต้
เวลาตอบโต้ (reaction time หรือ latency) คือช่วงเวลาที่ร่างกายเริ่มรับสัญญาณความรู้สึกจากสิ่งกระตุ้น จนร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นนั้น
เวลาของปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นสามารถมองเห็นได้ มักอยู่ในช่วงเวลา 150 ถึง 300 มิลลิวินาที (millisecond)
รีเฟล็กซ์ในมนุษย์
รีเฟล็กซ์ทั่วไป
รีเฟล็กซ์ทั่วไป (Typical Reflex) คือ รีเฟล็กซ์ที่มีรูปแบบโดยทั่วไป คือ วงจรเซลล์ประสาทที่รับรู้และทำให้เกิดรีเฟล็กซ์ ได้แก่
- เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory neuron)
- เซลล์ประสาทที่สื่อสารภายในระบบประสาทส่วนกลาง (interneuron)
- เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron)
รีเฟล็กซ์เอ็นลึก
รีเฟล็กซ์เอ็นลึก (deep tendon reflexes) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนรยางค์ โดยปกติหากร่างกายมนุษย์มีรีเฟล็กซ์ที่ลดลง มักหมายถึงร่างกายมีความผิดปกติในระบบประสาทส่วนรยางค์ แต่หากมีรีเฟล็กซ์มากเกินไป มักหมายความว่าระบบประสาทส่วนกลางอาจมีความผิดปกติได้
- รีเฟล็กซ์ไบเซ็ปส์ (Biceps reflex) (ใช้ C5, C6)
- รีเฟล็กซ์เบรกิโอเรเดียลิส (Brachioradialis reflex) (ใช้ C5, C6, C7)
- รีเฟล็กซ์เอกซ์เทนเซอร์ ดิจิทอรุม (Extensor digitorum reflex) (ใช้ C6, C7)
- รีเฟล็กซ์ไตรเซ็ปส์ (Triceps reflex) (ใช้ C6, C7, C8)
- รีเฟล็กซ์เอ็นสะบ้า (Patellar reflex) หรือ รีเฟล็กซ์เข่า (knee-jerk reflex) (ใช้ L2, L3, L4)
- รีเฟล็กซ์ข้อเท้า (Ankle jerk reflex) หรือ รีเฟล็กซ์เอ็นร้อยหวาย (Achilles reflex) (ใช้ S1, S2)
- รีเฟล็กซ์ฝ่าเท้า (Plantar reflex) หรือ รีเฟล็กซ์บาบินสกี (Babinski reflex) (ใช้ L5, S1, S2)
- รีเฟล็กซ์ปรับสายตา (Accommodation reflex) (ใช้ CN II, CN III)
- รีเฟล็กซ์ขากรรไกร (Jaw jerk reflex) (ใช้ CN V)
- รีเฟล็กซ์กระจกตา หรือ รีเฟล็กซ์กะพริบตา (Corneal reflex or blink reflex) (ใช้ CN V, VII)
- การทดสอบรีเฟล็กซ์แคลอริก หรือ รีเฟล็กซ์เวสทิบูโลโอคิวลาร์ (Caloric reflex test/Vestibulo-ocular reflex) (ใช้ CN VIII, CN III, CN IV, CN VI)
- รีเฟล็กซ์ขย้อน (Gag reflex) (ใช้ CN IX, X)
รีเฟล็กซ์ที่มักพบเฉพาะในทารก
เด็กแรกเกิดจะมีรีเฟล็กซ์บางอย่างที่มักไม่พบในผู้ใหญ่ เรียกว่า รีเฟล็กซ์ดั้งเดิม (primitive reflexes) เช่น
- อะซิมเมทริเคิล โทนิค เน็ค รีเฟล็กซ์ (Asymmetrical tonic neck reflex ย่อว่า ATNR)
- แกรสป รีเฟล็กซ์ (Grasp reflex)
- แฮนด์ทูเมาธ์ รีเฟล็กซ์ (Hand-to-mouth reflex)
- มอโร รีเฟล็กซ์ หรือสตาเติล รีเฟล็กซ์ (Moro reflex หรือ the startle reflex)
- การดูด (Sucking)
- ซิมเมทริเคิล โทนิค เน็ค รีเฟล็กซ์ (Symmetrical tonic neck reflex ย่อว่า STNR)
- โทนิค แลบีริงธีน รีเฟล็กซ์ (Tonic labyrinthine reflex ย่อว่า TLR)
การวัดระดับรีเฟล็กซ์
มักเป็นระบบที่ให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 4:
เกรด | ความหมาย |
0 | ไม่มี (Absent) |
1+ หรือ + | น้อยไป (Hypoactive) |
2+ หรือ ++ | ปกติ (Normal) |
3+ หรือ +++ | มากไปแต่ไม่มีโคลนัส (Hyperactive without clonus) |
4+ หรือ ++++ | มากไปและมีโคลนัส (Hyperactive with clonus) |
- ทั้งนี้ โคลนัส คือ อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนอกเหนืออำนาจจิตใจเมื่อมีการยืดตัวของกล้ามเนื้ออย่างทันที