Продолжая использовать сайт, вы даете свое согласие на работу с этими файлами.
วัคซีนเชื้อลดฤทธิ์
วัคซีนเชื้อลดฤทธิ์ (อังกฤษ: attenuated vaccine, live attenuated vaccine) เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อจุลชีพก่อโรคโดยลดศักยภาพก่อโรคของเชื้อ แต่เชื้อก็ยังสามารถแพร่พันธุ์ได้อยู่ คือยังเป็น ๆ อยู่ (live) วัคซีนนี้ต่างกับวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)
วัคซีนลดฤทธิ์สามารถกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองอย่างเข้มแข็งโดยคงอยู่นาน เมื่อเทียบกับวัคซีนที่ฆ่าแล้ว วัคซีนที่ลดฤทธิ์ก่อภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งกว่า คงยืนกว่า และตอบสนองเร็วกว่า วัคซีนลดฤทธิ์ทำงานโดยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานและเซลล์ภูมิคุ้มกันที่จำโรค (memory immune cells) เพื่อตอบสนองต่อจุลชีพก่อโรคโดยเฉพาะ ๆ ตัวอย่างวัคซีนลดฤทธิ์ที่สามัญรวมวัคซีนโรคหัด หัดเยอรมัน ไข้เหลือง และไข้หวัดใหญ่บางประเภท
การพัฒนา
ไวรัสลดฤทธิ์
ไวรัสสามารถลดฤทธิ์โดยวิธีการทางวิวัฒนาการที่เรียกว่า serial passage คือการส่งไวรัสผ่านเซลล์ถูกเบียนต่าง ๆ เป็นอนุกรม เช่นส่งผ่าน
- เนื้อเยื่อที่เลี้ยงไว้
- ไข่ที่มีตัวอ่อน (มักเป็นไข่ไก่)
- สัตว์เป็น ๆ
ไวรัสก่อโรคดั้งเดิมจะนำไปติดเซลล์ถูกเบียนอื่น ๆ และเพราะความผันแปรได้ทางพันธุกรรมหรือเพราะการกลายพันธุ์ที่สร้างขึ้น อนุภาคไวรัสส่วนน้อยส่วนหนึ่งก็จะติดเซลล์ถูกเบียนชนิดใหม่ สายพันธุ์นี้จะขยายพันธุ์และวิวัฒนาการต่อไปภายในเซลล์ใหม่ แล้วไวรัสก็จะค่อย ๆ เสียประสิทธิภาพการก่อโรคในเซลล์ดั้งเดิมเพราะความกดดันทางวิวัฒนาการ กระบวนการเช่นนี้ทำให้ไวรัสปรับตัวเข้ากับเซลล์ถูกเบียนใหม่จนกระทั่งไม่ก่อโรคต่อคนที่ได้วัคซีนเป็นไวรัสนี้ ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถกำจัดไวรัสได้ง่ายกว่า แล้วสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบจำโรค ซึ่งป้องกันการติดเชื้อไวรัสคล้าย ๆ กันที่เกิดในธรรมชาติ
ไวรัสยังสามารถลดฤทธิ์โดยวิธีการทาง reverse genetics ที่สร้างไวรัสลดฤทธิ์โดยผสมยีนของไวรัสพันธุ์ที่ต้องการป้องกัน กับไวรัสพันธุ์คล้ายกันแต่ที่ลดฤทธิ์แล้ว การลดฤทธิ์โดยวิธีพันธุศาสตร์ยังใช้ในการสร้างไวรัสสลายเนื้องอก (oncolytic virus) ได้อีกด้วย
แบคทีเรียลดฤทธิ์
แบคทีเรียก็สามารถลดฤทธิ์โดยนำไปผ่านเซลล์ถูกเบียนอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับที่ทำกับไวรัส การน๊อกเอ๊าท์ยีนอาศัยผลที่ได้จากวิธีการทาง reverse genetics ก็ใช้ได้ด้วย
การให้วัคซีน
วัคซีนลดฤทธิ์สามารถให้ได้หลายวิธี
- การฉีด
- ใต้ผิวหนัง (เช่น วัคซีน MMR, วัคซีนโรคอีสุกอีใส และวัคซีนไข้เหลือง)
- ใต้หนังกำพร้า (เช่น วัคซีนวัณโรค วัคซีนโรคฝีดาษ)
- ทางเยื่อเมือก
- ทางจมูก (เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดฤทธิ์ที่ยังเป็น)
- ทางปาก (เช่น วัคซีนโปลิโอที่ให้ทางปาก, วัคซีนอหิวาตกโรคแบบลูกผสม ลดฤทธิ์ ยังเป็นอยู่, วัคซีนไข้รากสาดน้อยที่ให้ทางปาก, วัคซีนโรตาไวรัสที่ให้ทางปาก)
กลไก
วัคซีนทำงานโดยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ต่าง ๆ เช่น CD8+ (Cytotoxic T cell) และ CD4+ T lymphocytes (เซลล์ทีเฮลเปอร์) หรือโมเลกุลต่าง ๆ เช่น สารภูมิต้านทาน ที่เฉพาะเจาะจงกับจุลชีพก่อโรค เซลล์หรือโมเลกุลที่ว่าสามารถป้องกันหรือลดโรคโดยฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อหรือสร้างไซโตไคน์คือ Interleukin วัคซีนแต่ละอย่างจึงก่อผลโดยเฉพาะ ๆ ที่ไม่เหมือนกัน วัคซีนแบบลดฤทธิ์ที่ยังเป็นมักช่วยสร้างเซลล์ CD8+ และสารภูมิต้านทานที่อาศัยเซลล์ T วัคซีนยังคงมีประสิทธิผลตราบเท่าที่ร่างกายยังดำรงการมีเซลล์เหล่านี้ วัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็นสามารถสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว อาจถึงตลอดชีวิต โดยไม่ต้องให้วัคซีนหลายครั้ง และยังสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ที่ไม่ได้อาศัยสารภูมิต้านทานอย่างเดียว แต่อาศัยเซลล์ภูมิต้านทานเช่น เซลล์ T หรือ macrophage ด้วย
ความปลอดภัย
วัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็นกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และคงยืนอยู่นาน เพราะจุลชีพลดฤทธิ์แล้ว ปกติจึงไม่กลับคืนไปยังสภาพก่อโรคแล้วทำให้ติดโรค อนึ่ง ในบรรดาวัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็น 5 อย่างที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ วัคซีนวัณโรค วัคซีนโปลิโอที่ให้ทางปาก วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรตาไวรัส และวัคซีนไข้เหลือง ผลไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงก็มีน้อยมาก แต่ก็เหมือนกับยาและหัตถกรรมทางแพทย์อื่น ๆ วัคซีนก็ไม่ได้ผลหรือปลอดภัยเต็มร้อย
บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ทำเคมีบำบัด มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหลายอย่างร่วมกัน) ปกติไม่ควรรับวัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็น เพราะอาจไม่เกิดภูมิคุ้มกันเพียงพออย่างปลอดภัย แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ยังสามารถรับวัคซีนลดฤทธิ์ เพราะไม่ได้เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อ ยกเว้นวัคซีนโปลิโอที่ให้ทางปาก
เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน วัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็นไม่ควรให้แก่หญิงมีครรภ์ เพราะแม่มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังทารก โดยเฉพาะก็คือ วัคซีนโรคอีสุกอีใสและวัคซีนไข้เหลืองปรากฏว่ามีผลไม่พึงประสงค์ต่อทารกในครรภ์และทารกที่กินนมแม่
วัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็นบางอย่างยังมีผลไม่พึงประสงค์แบบเบาแต่สามัญเนื่องกับช่องทางที่ให้ ยกตัวอย่าง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบลดฤทธิ์แต่ยังเป็นซึ่งให้ทางจมูกสัมพันธ์กับอาการคัดจมูก เทียบกับวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนลดฤทธิ์ที่ยังเป็นมักเกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ขนส่ง และแจกจำหน่าย เพราะต้องแช่เย็นอย่างเข้มงวดและต้องเตรียมวัคซีนอย่างระมัดระวังก่อนให้
ประวัติ
ประวัติของการพัฒนาวัคซีนได้เริ่มขึ้นเมื่อแพทย์ชาวอังกฤษเอดเวิร์ด เจนเนอร์ ได้สร้างวัคซีนฝีดาษขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือหมอพบว่า การปลูกฝีให้กับมนุษย์ด้วยไวรัสฝีดาษของสัตว์ (วงศ์ Poxviridae) ทำให้มนุษย์มีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษมนุษย์ ซึ่งจัดเป็นโรคที่สร้างความเสียหายมากที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ แม้วัคซีนฝีดาษดั้งเดิมบางครั้งจะจัดว่าเป็นวัคซีนลดฤทธิ์เพราะยังเป็นอยู่ แต่ถ้าเข้มงวดก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้ทำมาจากไวรัสฝีดาษมนุษย์โดยตรง คือทำมาจากไวรัสฝีดาษในวัวควาย (cowpox)
การค้นพบว่าจุลชีพก่อโรคสามารถลดฤทธิ์ได้เกิดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศสหลุยส์ ปาสเตอร์ สร้างไวรัสลดฤทธิ์จากอหิวาตกโรคในไก่ ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้ความรู้นี้พัฒนาวัคซีนแอนแทรกซ์แล้วแสดงประสิทธิภาพของมันในการทดลองที่ทำเป็นสาธารณะ หลังจากนั้น เขาและเพื่อนร่วมงาน (Émile Roux) จึงได้พัฒนาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยเพาะเชื้อไวรัสในกระต่าย แล้วทำเนื้อเยื่อประสาทที่ติดโรคให้แห้ง
ส่วนเทคนิคการเพาะไวรัสซ้ำ ๆ ในที่เพาะเลี้ยงแล้วสะกัดเอาสายพันธุ์ที่ก่อโรคได้น้อยกว่าเริ่มที่แพทย์ชาวฝรั่งเศส Albert Calmette และนักวิทยาภูมิคุ้มกันชาวฝรั่งเศส Camille Guérin ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้พัฒนาวัคซีนวัณโรคลดฤทธิ์ที่เรียกว่าวัคซีนบีซีจี ต่อมา เทคนิคนี้ก็ได้ใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนไข้เหลือง (โดย Jean Laigret และ Max Theiler เป็นต้น) ซึ่งวัคซีนหนึ่งที่พัฒนาขึ้นได้ผลดีมาก จึงได้ช่วยจัดตั้งแนวปฏิบัติและกฎควบคุมวัคซีนอื่น ๆ ต่อมา รวมทั้งการเพาะไวรัสในเนื้อเยื่อเป็นหลัก (เช่น ในตัวอ่อนของไก่) ไม่เพาะในสัตว์ และระบบที่ใช้สต๊อกไวรัสลดฤทธิ์แล้วดั้งเดิมโดยไม่ใช้ไวรัสที่สืบ ๆ มา เพื่อลดความแปรปรวนในการพัฒนาวัคซีน และลดโอกาสเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีงานของนักไวรัสวิทยาเด่น ๆ มากมาย และได้เกิดวัคซีนลดฤทธิ์ที่ทำสำเร็จหลายอย่างรวมทั้งวัคซีนโปลิโอ วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคคางทูม และวัคซีนโรคหัดเยอรมัน
ข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี
- เลียนการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ดี
- มีประสิทธิภาพก่อปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันอย่างเข้มแข็งโดยทั้งสารภูมิต้านทานและเซลล์ภูมิคุ้มกัน
- สร้างภูมิคุ้มกันเป็นระยะยาวหรือตลอดชีวิต
- มักต้องใช้เพียงแค่หนึ่งหรือสองโดส
- สร้างภูมิต้านทานได้เร็ว
- ราคาถูก (เทียบกับการรักษาอื่น ๆ)
- อาจมีผลป้องกันโรคอื่น ๆ (non-specific effect) เป็นผลพลอยได้
ข้อเสีย
- ในกรณีที่มีน้อย โดยเฉพาะเมื่อให้วัคซีนในกลุ่มประชากรไม่พอ การกลายพันธุ์ที่เกิดเมื่อไวรัสลดฤทธิ์ขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัสกับไวรัสอื่น ๆ ที่เป็นญาติกัน อาจทำให้ไวรัสลดฤทธิ์กลับคืนสภาพกลายเป็นไวรัสดั้งเดิม หรือกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจก่อโรคและติดต่อได้
- มักไม่แนะนำให้ใช้ในบุคคลที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องเพราะเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจรุนแรง
- สายพันธุ์ที่ยังเป็นอยู่มักต้องเก็บรักษาดีมาก เช่น แช่เย็นหรือให้อาหารใหม่ ทำให้ขนส่งไปยังเขตห่างไกลได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง
รายกายวัคซีนลดฤทธิ์
ที่ปัจจุบันใช้อยู่
วัคซีนแบคทีเรีย
- วัคซีนแอนแทรกซ์
- วัคซีนอหิวาตกโรค
- วัคซีนกาฬโรค
- วัคซีน Salmonella
- วัคซีนวัณโรค
- วัคซีนไข้รากสาดน้อย
วัคซีนไวรัส
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดฤทธิ์ที่ยังเป็น (Live attenuated influenza vaccine, LAIV)
- วัคซีนไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น
- วัคซีนโรคหัด
- วัคซีนโรคคางทูม
- วัคซีน MR (โรคหัดและหัดเยอรมัน)
- วัคซีน MMR (โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน )
- วัคซีน MMRV (โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส)
- วัคซีนโปลิโอ
- วัคซีนโรตาไวรัส
- วัคซีนโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีนฝีดาษ
- วัคซีนโรคอีสุกอีใส
- วัคซีนไข้เหลือง
- วัคซีนงูสวัด
กำลังพัฒนา
วัคซีนแบคทีเรีย
- วัคซีนป้องกันเชื้อ Enterotoxigenic Escherichia coli ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่ออาการท้องร่วงหลัก ๆ อย่างหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา
วัคซีนไวรัส
เชิงอรรถ
แหล่งข้อมูลอื่น
- Global Polio Eradication Initiative: Advantages and Disadvantages of Vaccine Types
- CDC H1N1 Flu / 2009 H1N1 Nasal Spray Vaccine Q&A at the website of the US Centers for Disease Control and Prevention
การพัฒนา | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
กลุ่ม | |||||||||||
การจัดการ |
|
||||||||||
วัคซีน |
|
||||||||||
เรื่องโต้แย้ง | |||||||||||
บทความที่สัมพันธ์กัน | |||||||||||